พรรณไม้และสัตว์ป่า..น้ำตกกรุงชิง อุทยานฯเขาหลวง

หนานฝนแสนห่า

                             น้ำตกกรุงชิงตั้งอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ขล.3(น้ำตกกรุงชิง) ประมาณ 3.70 กม. ต้องเดินเท้าเข้าไปชม(ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชม.) ตามทางเดินไม่มีห้องน้ำและร้านค้า จึงควรเตรียมน้ำดื่มและอาหารว่างติดตัวไปด้วย รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันตัวทาก ซึ่งจะพบมากหากมีฝนตก

                             เป็นทางเดินเด่นชัด ตามทางเดินมีป้ายสื่อความหมายฯเพื่อช่วยให้เราได้รับรู้และเข้าใจธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นแหล่งดูนกหายากหลายชนิด เช่น นกคอสามสี นกเขียวปากงุ้ม นกกางเขนน้ำหลังแดง เป็นต้น ช่วงแรกทางเดินค่อนข้างลาดชันเล็กน้อย เมื่อพ้นบันไดสามขั้น(ชื่อสถานที่ในสมัยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์)ก็จะเป็นที่ราบไปตลอด จนถึงช่วงสุดท้ายที่ใกล้ถึงน้ำตก ทางเป็นบันไดและค่อนช้างชัน ขาเดินลงไม่เท่าไร แต่ขากลับที่เดินขึ้นเรียกเหงื่อได้ดีทีเดียว

                             ชื่อ“กรุงชิง” มาจากคำว่า“ต้นชิง”(Licuala peltata var. peltata วงศ์ Arecaceae) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลปาล์มที่มีอยู่มากมายในผืนป่าบริเวณนี้

                             น้ำตกกรุงชิงเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกันผ่านหุบผาหินแกรนิต แล้วลดระดับตามความลาดเอียงของภูเขา ก่อเกิดเป็นชั้นน้ำตกงดงาม 7 ชั้น โดยตามทางเดิน เราจะพบชั้นแรกคือชั้นที่7ที่อยู่ตอนบนสุด มีชื่อว่าวังเรือบิน” มีลักษณะเป็นวังน้ำสีเขียวอ่อน

                             ชั้นที่6 มีชื่อว่าต้นตอ” เพราะมีต้นสะตอป่าสูงใหญ่หลายต้นขึ้นขนาบอยู่สองฝั่ง น้ำตกมีลักษณะไหลลาดตามหน้าผาหักชันสูงประมาณ 20 เมตร ลงสู่วังน้ำสีเขียวอ่อนขนาดกว้างใหญ่และลึกมาก

                             ชั้นที่5 มีชื่อว่าหนานจน” ตัวน้ำตกสูงราว 20 เมตร มีลักษณะเป็นสายน้ำแผ่กว้างราวผืนผ้า เหตุที่เรียกว่า“หนานจน” เพราะต้องเดินเลาะเลียบลำธารลงไปจนถึงแอ่งน้ำตกที่เป็นหน้าผาชันสองฟากฝั่ง ก็จะพบว่าสายน้ำหักชันพุ่งตกลงไปเบื้องล่างราว 30 เมตร ซึ่งเป็นจุดจนหนทาง ไม่มีทางเดินเลาะลงไปตามลำธารอีก ถึงกระนั้นจากมุมนี้ก็จะพบเห็นสายน้ำไหลลงไปกระทบโขดหินจนเกิดเป็นละอองน้ำลอยกระเซ็นปกคลุมไปทั่วบริเวณ

                             ชั้นที่4 มีชื่อว่า“หนานโจน” สายน้ำไหลรวมตัวเป็นเกลียวกระโจนผ่านโขดหินผาลงมาเป็นวงโค้งสู่แอ่งน้ำสีเขียวแก่ที่ลึก

ลำธารใกล้ที่ทำการหน่วยฯ ซึ่งเป็นแหล่งดูผีเสื้อและแมลงปอ

                             ชั้นที่3 มีชื่อว่า“หนานปลิว” เป็นน้ำตกสูงราว 40 เมตร สายน้ำไหลผ่านช่องผาลงมาเป็น2สายแล้วตกกระทบโขดหินขนาดใหญ่จนเกิดเป็นละอองน้ำประกอบกับเป็นช่องลมที่พัดพาละอองน้ำปลิวปกคลุมไปทั่ว
                             ชั้นที่2 มีชื่อว่า“หนานฝนแสนห่า” เป็นชั้นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามที่สุด สูงราว 100 เมตร สายน้ำไหลแผ่กว้างลงมากระแทกกับเพิงผาและโขดหินจนเกิดเป็นละอองดั่งเม็ดฝนคล้ายฝนตกปกคลุมไปทั่วบริเวณ ความสวยงามของน้ำตกชั้นนี้ทำให้ได้รับการตีพิมพ์ลงในธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท เมื่อปี พ.ศ.2535 ปัจจุบันเป็นธนบัตรฯที่หาชมได้ยากแล้ว

                             ชั้นที่1 มีชื่อว่า“หนานมัดแพ” สายน้ำไหลโอบชะง่อนหินผาลงมาเป็น2สาย ก่อนรวมตัวกันตกสู่ลำธารน้ำเบื้องล่าง เหตุที่เรียกว่ามัดแพ เพราะเป็นจุดที่ชาวบ้านสมัยก่อนใช้มัดแพไม้ไผ่เพื่อล่องตามน้ำออกสู่ชุมชน

                             เป็นข้อมูลคร่าวๆสำหรับผู้ที่สนใจไปท่องเที่ยว ส่วนพรรณไม้และสัตว์ป่าที่ผู้เขียนได้ไปเยือนและพบเห็นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(12 ชนิด) , เห็ด(4 ชนิด) , สัตว์ป่าทั่วไป ยกเว้นนก(21 ชนิด) และนก(12 ชนิด)


พรรณไม้ป่า


                             บันทึกภาพได้ 12 ชนิด(เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา) โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. ยายปลัง

ชื่อท้องถิ่น : ยายปลั๋ง(สุราษฎร์ฯ) ; ยายกลัง , ยายคลัง(นครศรีฯ) ; กะแตมือกา(มลายู-นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseuderanthemum teijsmannii (T.Anderson) Stapf

วงศ์ : Acanthaceae

ใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า..ยายปลัง

                             ไม้พุ่ม ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามตามข้อ รูปไข่ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายยอด ขนาดดอก 3.5 ซม. ดอกสีแดงอมขาว สีม่วง หรือสีขาว กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนธันวาคม – เดือนพฤษภาคม

                             พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 130 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 14 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ชื้นแฉะใต้ร่มเงาไม้ในป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-300 เมตร ทางภาคใต้ โดยพบมีมากที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.พังงา และ จ.ตรัง

                             แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไทย และมาเลเซีย

2. ค้างคาวใหญ่

ชื่อท้องถิ่น : ดีงูหว้า(ภาคเหนือ) ; บีเมย(ภูไท-นครพนม) ; ดีปลาช่อน(ตราด) ; คลุ้มเลีย , ว่านหัวลา , ว่านหัวเสีย(จันทบุรี) ; ค้างคาวดำ , เนระพูสีไทย , มังกรดำ , ว่านค้างคาว(กทม.) ; หมากแฟล(ภาคใต้) ; ม้าถอนหลัก(ชุมพร) ; นิลพูสี(ตรัง) ; กลาดีกลามูยี(มลายู-ปัตตานี) ; ว่านพังพอน(ยะลา) ; ละเบ๊าะบูเก๊ะ(มลายู-ยะลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca chantrieriAndré

วงศ์ : Dioscoreaceae

ค้างคาวใหญ่

                             ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 30-90 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปวงรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกใบ 1-3 ช่อ ก้านช่อดอกชูช่อกลางกอสูงราว 30-70 ซม. ช่อละ 4-6 ดอก หรือมากกว่า 20 ดอก แต่มักจะทยอยออกดอกบานทีละ 1-2 ดอก รูปดอกคล้ายค้างคาวกำลังกางปีกบิน ดอกจะบานในช่วงเวลากลางคืน แต่ละดอกใช้เวลากว่าจะบานเต็มที่ราว 7-10 วัน มีกลิ่นสาบเฉพาะตัว ดอกสีม่วงแกมเขียวถึงสีม่วงดำ ดอกเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น6กลีบ เรียงเป็น2วง รูปใบหอก เกสรตัวผู้เป็นเส้นเรียวยาวคล้ายหนวด 8-10 เส้น ใบประดับขนาดใหญ่2คู่ดูคล้ายปีกค้างคาว สีเขียวอมขาว สีเขียวอ่อนอมม่วง จนถึงสีม่วงดำ เรียงตั้งฉากกัน ใบประดับคู่นอกรูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 6 ซม. ส่วนใบประดับคู่ในรูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ยาว 7-20 ซม. ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนกันยายน

ค้างคาวใหญ่

                             ผลรูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม สีน้ำตาลอมม่วง มีสันเป็นคลื่นตามยาว6สัน มีหลายเมล็ด รูปคล้ายไต

                             พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในวงศ์ Taccaceae ทั่วโลกพบ 18 ชนิด ในไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชื้นแฉะหรือใกล้ริมลำธารตามป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,000 เมตร ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคใต้

                             แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ทิเบต จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

                             ชื่อสกุล Tacca มาจากภาษาพื้นเมืองในอินโดนีเซียคำว่า taka laoet ที่ใช้เรียกท้าวยายม่อม(Tacca leontopetaloides Kuntze)

3. ข้าวเย็นปักษ์ใต้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trigonostemon aurantiacus (Kurz ex Teijsm. & Binn.) Boerl.

วงศ์ : Euphorbiaceae

ข้าวเย็นปักษ์ใต้ ดอกเพศผู้

                             ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กลับ รูปใบหอกกลับ หรือรูปรี ออกดอกแยกเพศต่างช่อ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ดอกสีเหลืองอมส้ม ช่อดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ กลีบดอก5กลีบ รูปแถบหรือรูปขอบขนาน ส่วนช่อดอกเพศเมียออกไปทางกลายปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 15 ซม. มี 2-3 ดอก กลีบดอก5กลีบ รูปไข่กลับ

ข้าวเย็นปักษ์ใต้ ดอกเพศผู้

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ 76 ชนิด ในไทยพบประมาณ 14 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 50-300 เมตร เฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น

                             แพร่กระจายในหมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

                             ชื่อสกุล Trigonostemon มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า trigonos แปลว่า สามมุม และคำว่า stemon แปลว่า เกสรตัวผู้ ความหมายก็คือ“จำนวนเกสรตัวผู้ที่ส่วนมากมี3อัน”

4. เถาไฟ

ชื่อท้องถิ่น : ชิงโคย่าน(ภาคใต้) ; โยทะกา(กทม.) ; ปอลิง(สุราษฎร์ธานี) ; ชงโคย่าน , ย่านชงโค(ตรัง) ; เล็บควายใหญ่(ปัตตานี , ยะลา) ; ดาโอะ(นราธิวาส) ; กุกูกูด้อ , กุกูกูบา(มลายู-ปัตตานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phanera integrifolia (Roxb.) Benth.

วงศ์ : Fabaceae

เถาไฟ

                             ไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีมือเกาะเป็นเส้นม้วนงอ โดยออกเป็นคู่ที่ก้านใบและก้านดอก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กว้างเกือบกลม ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นและแยกแขนงตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ช่อละ 15-30 ดอก ขนาดดอก 3-4 ซม. ดอกสีเหลืองอมส้ม ก่อนเปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดง ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดแยกเป็น5กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม

เถาไฟ

                             พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในสกุล Bauhinia ทั่วโลกพบสกุลนี้ 95 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าดิบที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 900 เมตร เฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น โดยพบครั้งแรกในประเทศฯบนเขาพับผ้า จ.พัทลุง

                             แพร่กระจายในฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

                             ชื่อสกุล Phanera มาจากภาษากรีกคำว่า phaneros แปลว่า ชัดเจน ความหมายก็คือ“มีลักษณะดอกที่ค่อนข้างใหญ่ เห็นได้ชัดเจน”

5. ฉัตรฟ้า

ชื่อท้องถิ่น : ปิ้งแดง(ภาคเหนือ) ; พวงพีเหลือง(เลย) ; เข็มฉัตร , เข็มชาด(นครพนม) ; ปิ้งจงวา(เขมร-สุรินทร์) ; สาวสวรรค์(นครราชสีมา) ; หัวลิง(สระบุรี) ; นมสวรรค์ , พนมสวรรค์ , มาลี(ภาคกลาง , ภาคใต้) ; พู่หมวก(กรุงเทพฯ) ; พนมสวรรค์ป่า(ยะลา) ; นมหวัน , น้ำนมสวรรค์(มลายู-นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum paniculatumL.

วงศ์ : Lamiaceae

ฉัตรฟ้า ดอกเพศผู้

                             ไม้พุ่มผลัดใบ สูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปฝ่ามือ รูปไข่ หรือค่อนข้างกลม สีเขียวแกมดำ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตั้งตรงและแยกแขนงเป็นรูปฉัตรหรือรูปพีระมิดขนาดใหญ่ตามปลายยอด ช่อดอกกว้าง 20-30 ซม. สูง 30-50 ซม. ก้านช่อดอกเป็น มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกแยกเพศและบานทนนานราว1สัปดาห์ ดอกเพศผู้มีสีขาวหรือสีซีดจางเกือบขาว ส่วนดอกเพศเมียมีสีแดง สีส้ม หรือสีส้มแดง ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขนาดไม่เท่ากัน ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในช่วงฤดูฝน

ฉัตรฟ้า ดอกเพศเมีย

                             พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 258 ชนิด ในไทยพบกว่า 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่รกร้างหรือพื้นที่โล่ง ริมลำน้ำ ชายป่า เชิงเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 800 เมตร ทั่วทุกภาค

                             แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน จีนด้านตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวกินี

                             ชื่อสกุล Clerodendrumมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า kleros แปลว่า โอกาส หรือโชคชะตา และคำว่า dendron แปลว่า ต้นไม้ ความหมายก็คือ“ต้นไม้แห่งโอกาสที่หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร”

6. เอื้องหวายตะมอย

ชื่อท้องถิ่น : บวบกลางหาว , บัวกลางหาว(เชียงใหม่) ; ดอกไม้ไหว(ภาคตะวันออก) ; แส้พระอินทร์ , เอื้องแส้พระอินทร์(จันทบุรี) ; นกกระยาง(ชลบุรี) ; เอื้องมะลิ(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium crumenatumSw.

วงศ์ย่อย : Epidendroideae

วงศ์ : Orchidaceae

เอื้องหวายตะมอย

                             ลำต้นเป็นรูปแท่งดินสอทรงกระบอกเรียวยาว หรือรูปรี ทอดเอนหรือห้อยลง ยาวได้ถึง 60-70 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยออกตามช่วงบนของลำต้น และอาจลดรูปลงในช่วงปลายต้น รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน มักทิ้งใบร่วงหล่นก่อนออกดอก  ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อตามข้อลำต้นที่ไม่มีใบ ช่อละ 1-2 ดอก ขนาดดอก 1.5-4 ซม. กลิ่นหอมฉุน ดอกบานพร้อมกันทุกต้นที่อยู่ในกอเดียวกัน แต่บานเพียงวันเดียวก็จะร่วงหล่น ดอกสีขาว หรือสีขาวนวล มีแต้มสีเหลืองที่กลางปากดอก ออกดอกเกือบตลอดปี แต่มีมากในราวเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม

ผลของเอื้องหวายตะมอย

                             พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,586 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 166 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าชายหาด ป่าดิบชื้น หรือป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 800 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้

                             แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา หมู่เกาะอันดามัน จีนตอนใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวกินี

                             ชื่อสกุล Dendrobium มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า dendro แปลวา ไม้ต้น และคำว่า bios แปลว่า สิ่งมีชีวิต ความหมายก็คือ“สิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนต้นไม้”

                             ชื่อชนิด crumenatum แปลว่า ดอกที่มีคางคล้ายถุง

7. เอื้องดอกมะเขือใต้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium linguella Rchb.f.

วงศ์ย่อย : Epidendroideae

วงศ์ : Orchidaceae

เอื้องดอกมะเขือใต้

                             ลำต้นเป็นรูปเรียวยาวผอมโค้งห้อยเป็นสาย โดยยาวถึง 1 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะ ช่อย่อยช่อละ 2-8 ดอก ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกสีขาวจนถึงสีชมพูอมม่วงอ่อน ออกดอกในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม

                             พบอิงอาศัยตามต้นไม้และก้อนหินในป่าดิบเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น

                             แพร่กระจายในไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

8. อ้ายเบี้ยว

ชื่อท้องถิ่น : คะน้าฤาษี , ผักกาดเขา(ภาคใต้) ; หูหมี(ชุมพร) ; ดาฮง , ผักป่า , สะบือเลาะ(ยะลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pentaphragma begoniifolium (Roxb.) G.Don

วงศ์ : Pentaphragmataceae

อ้ายเบี้ยว

                             ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน และเบี้ยว ออกดอกเป็นช่อวงแถวเดียวตามปลายยอดหรือซอกใบ 1-2 ช่อ ยาว 3-5 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมากเรียงเป็นสองแถว ดอกสีขาว กลีบดอก5กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน

อ้ายเบี้ยว

                             พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 31 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 500 เมตร เฉพาะภาคใต้เท่านั้น

                             แพร่กระจายในเมียนมา ไทย และมาเลเซีย

                             ชื่อสกุล Pentaphragma มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า pente แปลวา ห้า และคำว่า phragma แปลว่า แนวรั้ว ความหมายก็คือ“ลักษณะวงเกสรตัวเมียที่แยกจากฐานดอกตามรอยน้ำต้อย5ต่อม เหมือนแนวรั้ว”

9. แก้มขาว

ชื่อท้องถิ่น : พอแต(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; กำเบ้อ , ผีเสื้อ(เพชรบูรณ์) ; กะเบ้อขาว(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mussaenda sanderiana Ridl.

วงศ์ : Rubiaceae

แก้มขาว

                             ไม้พุ่มรอเลื้อยผลัดใบ สูง 1-2 เมตร เมื่อต้นเติบโตสูงเต็มที่ก็จะทานน้ำหนักกิ่งก้านและใบไม่ไหว ทำให้กิ่งก้านราบลู่ลงกับพื้นหรือพาดพิงไปตามต้นไม้อื่นจนดูคล้ายไม้เลื้อย ซึ่งทอดยาวไปได้ไกล 10-15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปใบหอก รูปรี หรือรูปดาบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก แต่จะทยอยออกดอกบานทีละ 2-4 ดอก ขนาดดอก 1 ซม. ดอกสีเหลือง หรือสีส้ม ดอกเป็นหลอดคล้ายแจกันทรงสูง ปลายหลอดดอกแยกออกเป็น5กลีบคล้ายรูปดาว กลีบดอกรูปสามเหลี่ยม ออกดอกตลอดปี

แก้มขาว

                             พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 183 ชนิด ในไทยพบประมาณ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามข้างทางที่ชุ่มชื้น ชายป่าดิบ หรือริมลำธารในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                             แพร่กระจายในจีน เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม ชื่อสกุล Mussaenda เป็นชื่อพื้นเมืองในศรีลังกาที่ใช้เรียก M. frondosa L.

10. หญ้าตีนมือตุ๊ดตู่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ophiorrhiza trichocarpos Blume

วงศ์ : Rubiaceae

หญ้าตีนมือตุ๊ดตู่

                             ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ทอดนอนที่โคนต้น แล้วชูยอดสูงได้ถึง 15 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปรี หรือเกือบเป็นรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 0.6-1 ซม. ดอกสีขาว หรือสีขาวแกมชมพูอ่อน ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม

หญ้าตีนมือตุ๊ดตู่

                             พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 368 ชนิด ในไทยพบประมาณ 18 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

                             แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

11. เปราะป่าใต้

ชื่อท้องถิ่น : ว่านนกคุ้มใต้(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia pulchra Ridl.

วงศ์ : Zingiberaceae

เปราะป่าใต้

                             ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 3-5 ซม. ต้นหนึ่งมี 1-3 ใบ แต่มักพบ2ใบ แทงขึ้นมาจากเหง้า มักแผ่ขนานไปกับพื้น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่จนถึงรูปค่อนข้างกลม ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อละ 10-12 ดอก โดยทยอยออกทีละดอก ดอกสีม่วง ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดแยกออกเป็น3กลีบขนาดเท่าๆกัน รูปขอบขนาน มีเกสรตัวผู้เป็นหมันเปลี่ยนรูปไปคล้ายกลีบดอก3กลีบ กลีบล่างหรือกลีบปากรูปไข่กลับ ปลายกลีบแฉกลึกจรดโคนดูคล้าย2กลีบ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม

เปราะป่าใต้

                             พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 51 ชนิด ในไทยพบกว่า 30 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 200 เมตร ทางภาคใต้เท่านั้น

                             แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย

                             ชื่อสกุล Kaempferia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Engelbert Kaempfer (1651-1716) นายแพทย์และนักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน

12. ขิงเขาหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber newmanii Theilade & Mood

วงศ์ : Zingiberaceae

ขิงเขาหลวง

                             ไม้ล้มลุก มีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ แตกใบบริเวณยอด รูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดจากเหง้าใต้ดิน โดยแทงโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน ช่อดอกรูปไข่ มีใบประดับรูปไข่กลับเรียงซ้อนเหลื่อมชิดกัน สีแดง แต่ละใบประดับมีดอกเดียว ดอกสีขาว กลีบดอก3กลีบ รูปขอบขนาน มีเกสรตัวผู้เป็นหมันเปลี่ยนรูปไปคล้ายกลีบดอก3กลีบ กลีบล่างหรือกลีบปากสีม่วงแกมน้ำตาลและมีจุดสีครีมกระจาย ออกดอกในราวเดือนเมษายน – เดือนตุลาคม

ขิงเขาหลวง

                             พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 198 ชนิด ในไทยพบกว่า 60 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งและป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 150-400 เมตร ทางภาคใต้เท่านั้น

                             บางตำราบอกว่าเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย แต่คาดว่าน่าจะมีการพบในมาเลเซียด้วย

                             ชื่อสกุล Zingiber มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า zingiberis ที่ใช้เรียกพวกขิงข่า


เห็ด


                             บันทึกภาพได้หลายชนิด แต่ที่น่าสนใจมี 4 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. เห็ดขอนขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lentinus squarrosulus Mont.

วงศ์ : Polyporaceae

เห็ดขอนขาว

                             ดอกเห็ดมีขนาด 2-7 ซม. หมวกเห็ดเป็นแอ่งจนถึงกรวย ขอบบาง ม้วนงอลงเล็กน้อย เป็นคลื่นลอน ฉีดขาดง่าย ดอกเห็ดสีขาว เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอ่อน ก้านดอกรูปทรงกระบอก สีขาว

                             พบเป็นดอกเดี่ยวหรือขึ้นเป็นกลุ่มเล็กๆบนขอนไม้และตอไม้ผุ

2. เห็ดหิ้งขนเทา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trametes hirsuta (Wulf. ex Fr.) Pilat.

วงศ์ : Polyporaceae

เห็ดหิ้งขนเทา

                             ดอกเห็ดแบนคล้ายพัด ออกซ้อนกันเป็นกลุ่ม ขนาดดอกกว้าง 4-10 ซม. หนา 0.5-1 ซม. ผิวด้านบนหลากสี เช่น สีเหลือง สีเทา จนถึงสีเทาอมส้ม มีขนขาวสีเทาปกคลุมแน่นดูคล้ายกำมะหยี่ ผิวด้านล่างสีขาวจนถึงสีเหลือง จำนวนรู 2-4 รู/มม. สร้างสปอร์รูปรี เป็นปรสิตเล็กน้อยกับไม้ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ

                             ปกติพบในช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม แต่หากพื้นที่ใดที่ชุ่มชื้นสูงก็อาจพบได้ตลอดปี

3. เห็ดถ้วยส้ม

ชื่อท้องถิ่น : เห็ดถ้วยแชมเปญส้ม , เห็ดถ้วยแดงอมชมพู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cookeina sulcipes (Bk.) Kuntze

วงศ์ : Sarcoscyphaceae

เห็ดถ้วยส้ม

                             ดอกเห็ดคล้ายถ้วยแชมเปญ ขนาดของถ้วยแตกต่างกันไป กว้าง 0.5-4.5 ซม. ลึก 0.8-3 ซม. มีสีขาว สีชมพู สีส้มอมแดง สีแดงอมชมพู จนถึงสีแดงเข้ม ผิวด้านในสีเข้มกว่าผิวด้านนอก มีขนสั้นเรียงเป็นแถวตามขอบถ้วยด้านนอก ก้านดอกรูปทรงกระบอก สีขาว ภายในถ้วยเป็นที่เกิดของสปอร์ ซึ่งจะพ่นออกมาเป็นควันจางๆ

                             พบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มบนไม้ผุในป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

4. เห็ดถ้วยส้มขนยาว

ชื่อท้องถิ่น : เห็ดกรวยแดงขนแวววาว , เห็ดถ้วยแชมเปญขนยาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cookeina tricholoma (Mont.) Kuntze

วงศ์ : Sarcoscyphaceae

(ใส่รูป29-30 ใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า..เห็ดถ้วยส้มขนยาว)

                             ดอกเห็ดรูปถ้วย หรือรูปกรวย กว้าง 1-3 ซม. ลึก 1-2 ซม. สีแดง สีส้ม สีส้มอ่อน หรือสีชมพู ขอบดอกงุ้มเล็กน้อย ผิวด้านในสีเข้มกว่าผิวด้านนอก ผิวด้านในเรียบ ผิวด้านนอกและขอบถ้วยมีขนแข็ง ยาวราว 0.2-0.3 ซม. สีขาวใส สะท้อนแสง ก้านดอกรูปทรงกระบอก สีขาว และมีขนเล็กน้อยปกคลุมตอนบน

                             พบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มบนกิ่งไม้หรือขอนไม้ที่ตายแล้วในป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคใต้ ปัจจุบันไม่มีข้อมูลว่าเห็ดชนิดนี้ทานได้

                             แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก


สัตว์ป่าทั่วไป (ยกเว้นนก)


                             บันทึกภาพได้ 21 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. กิ้งก่าแก้วใต้

ชื่อสามัญ : Southern Forest Crested Lizard

ชื่ออื่นๆ : Forest Crested Lizard , Forest Garden Lizard

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calotes emma emma J.E.Gray, 1845

วงศ์ย่อย : Agaminae

วงศ์ : Agamidae

กิ้งก่าแก้วใต้

                     เป็นกิ้งก่าขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 8.5-12 ซม. หางยาว 24-28 ซม. หางยาวมากกว่า 2-3 เท่าของความยาวหัวกับลำตัว หัวค่อนข้างใหญ่และกว้างกว่าลำคอเล็กน้อย รอบดวงตามักมีลายเส้นรัศมีสีดำ มีหนามเหนือตา 1 อัน ขนาดใหญ่ชัดเจน ไม่น้อยกว่าครึ่งตา(ต่างจากกิ้งก่าแก้วเหนือ Calotes emma emma ซึ่งหนามเหนือตามีขนาดเล็ก ไม่เกินครึ่งตา) หนามบริเวณเหนือช่องเปิดหู 2 อัน ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดแข็งปกคลุม เกล็ดบนหัวมีขนาดไม่เท่ากันและเป็นสัน เกล็ดบนหลังและด้านข้างลำตัวมีขนาดไม่เท่ากันและเป็นสัน โดยเกล็ดด้านข้างลำตัวใหญ่กว่าเกล็ดบนหลังเล็กน้อย สันของเกล็ดหลังและทางด้านบนของลำตัวเรียงเป็นแถว เป็นสันพอประมาณ ไม่ถึงกับคมกริบชัดเจนอย่างกิ้งก่าแก้วใต้ มีส่วนปลายของสันชี้ไปทางด้านท้ายในลักษณะเฉียงขึ้น แต่สันของเกล็ดที่ด้านล่างของลำตัวจะมีแนวเฉียงลงทางด้านล่าง เกล็ดด้านข้างลำตัวมีจำนวนเกล็ดมากกว่ากิ้งก่าแก้วใต้ เกล็ดบนหางเป็นสัน เกล็ดด้านท้องเล็กกว่าเกล็ดบนหลัง

                     มีรอยพับของผิวหนังที่หัวไหล่ ซึ่งภายในปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กสีดำเป็นจำนวนมาก ด้านบนและค่อนมาทางด้านท้ายของตามีหนามสั้น 1 อัน ด้านบนและค่อนมาทางด้านท้ายของแผ่นเยื่อแก้วหูมีหนามสั้น 1 อัน มีแผงหนามจากท้ายทอยต่อเนื่องไปตามแนวสันหลัง โดยมีหนามยาวหลายอันที่ล้อมรอบด้วยหนามสั้น และมีหนามต่อเนื่องไปบนหลังจนถึงโคนหาง โดยหนามมีขนาดสั้นลงตามลำดับ

กิ้งก่าแก้วใต้

                     ลำตัวพบมีสีได้หลากหลาย ตั้งแต่สีเทา สีเทาอมน้ำตาล สีน้ำตาลอมเขียว สีน้ำตาลคล้ำ หรือบางครั้งสีน้ำตาลออกแดง บนหัวมีสีคล้ำกว่าลำตัว ด้านข้างของหัวมีแถบสีดำจากส่วนปลายของปากลากผ่านตาไปสิ้นสุดที่แผ่นเยื่อแก้วหู พื้นที่ด้านบนของแถบสีดำนี้บางครั้งเป็นลายเลอะของสีดำ และบางครั้งเป็นสีดำทั้งหมด ขอบปากบนและขอบปากล่างสีขาว อาจมีลายแถบสีขาว 2 แถบ ขนานแนวสันหลัง บนหลังมีแถบกว้างสีดำพาดขวาง 6 แถบ และมีแถบยาวสีน้ำตาลเหลืองหรือสีน้ำตาลจางพาดยาวจากด้านท้ายของตาไปที่โคนหาง หางมีทางสีเข้มและจางพาดขวางเป็นปล้อง 12-13 แถบ ใต้คางและลำคอสีดำ โดยเฉพาะใต้คอมีประด้วยจุดสีส้มจางๆ ใต้ท้องสีน้ำตาลออกเหลือง หรือสีน้ำตาลอมเทา และบางบริเวณมีประสีเหลืองด้วย ขาหน้าและขาหลังยาวและแข็งแรง มีแถบพาดขวางสีจางๆ นิ้วตีนเรียวยาว และปลายนิ้วตีนทุกนิ้วมีเล็บ

                     ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้ชนิดย่อยนี้มีหัวสีส้มแดง ใบหน้ามีแถบสีดำสลับกับขีดสีขาวลากไปจนถึงโคนหาง ส่วนตัวเมียมีสีเขียว (ต่างจากกิ้งก่าแก้วเหนือที่ตัวผู้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะมีลำตัวสีชมพูอมส้ม มีแถบสีขาวสลับสีดำบนหน้าดูคล้ายใส่หน้ากาก และมีแถบสีดำบนหลัง ด้านข้างหัว และใต้คางกับลำคอ เห็นได้ชัดเจนมาก ส่วนตัวเมียมีแถบสีขาวข้างลำตัว และมีแถบสีคล้ำพาดสั้นๆบริเวณคอ)

กิ้งก่าแก้วใต้

                             ผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝนหรือราวเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และเริ่มวางไข่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม โดยตัวเมียจะใช้เท้าหน้าขุดดินบนพื้นเป็นหลุมเพื่อวางไข่ ขนาดหลุมลึก 7 ซม. กว้าง 5 ซม. วางไข่ขนาดยาว 1.5 ซม. กว้าง 0.8 ซม. ครั้งละประมาณ 7-12 ฟอง หลังจากวางไข่เสร็จแล้ว ตัวแม่จะนอนคอยเฝ้าอยู่ใกล้ๆหลุมไข่ ระยะฟักไข่นานประมาณ 60-70 วัน ลูกแรกเกิดมีสีน้ำตาลอ่อน และจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียว

                     กิ้งก่าแก้วใต้แตกต่างกับกิ้งก่าแก้วเหนือ..ตรงเกล็ด เกล็ดของชนิดย่อยนี้จะมีขนาดใหญ่และเป็นสันมากกว่า เมื่อเทียบกับชนิดทางเหนือ และเขาบริเวณหลังตาและท้ายทอยมีขนาดใหญ่กว่าด้วย แต่มีขนาดตัวเล็กกว่าชนิดทางเหนือ

                     ออกหากินในเวลากลางวันตามต้นไม้ บางครั้งก็ลงพื้น ส่วนกลางคืนจะเกาะนอนตามกิ่งไม้ขนาดเล็ก หรือลำต้นไม้ขนาดเล็ก โดยกินแมลงขนาดใหญ่เป็นอาหารหลัก เมื่อถูกรบกวนมักอ้าปากเพื่อใช้ข่มขู่

กิ้งก่าแก้วใต้

                             สกุลนี้ทั่วโลกพบ 23 ชนิด ในไทยพบประมาณ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความชื้นสูง ป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ โดยมีรายงานพบตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไป

                             เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง พ.ศ.2562

                             ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย

2. แมงมุมนุ่งซิ่นหลากสี

ชื่อสามัญ : Multi-Coloured St.Andrew’s Cross Spider

ชื่ออื่นๆ : St.Andrew’s Cross Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argiope versicolor Doleschall, 1859

วงศ์ย่อย : Araneinae

วงศ์ : Araneidae

แมงมุมนุ่งซิ่นหลากสี เพศเมีย

                             เพศผู้มีขนาดลำตัวยาว 0.35-0.49 ซม. มีสีน้ำตาลและสีครีม ส่วนเพศเมียมีขนาดลำตัวยาว 1.2-1.5 ซม. หัวและอกแบน แต่ส่วนหัวจะนูนกว่าเล็กน้อย หัวและอกสีน้ำตาล ปกคลุมด้วยขนสีเงิน มีฟันแถวหน้า 4 ซี่ แถวหลัง 3 ซี่ หลังมีลายขวางสีน้ำตาลอมแดงและขาวอมเหลืองจนถึงสีเหลือง บนลายสีน้ำตาลอมแดงมีจุดรูปเหลี่ยมกระจายตามแนวขวาง ท้องรูปห้าเหลี่ยมและมีสีสันคล้าย A. pulchella มาก แต่มีขนาดรูปร่างเล็กกว่า ก้นลักษณะกลมและป่อง ขายาวสีน้ำตาลอมแดงสลับกับสีเหลืองเป็นลายปล้อง

                             มักเกาะกลางใยรูปกลม และเอาขาแนบติดกันเป็นคู่ โดยแต่ละคู่จะกางขาเป็นรูปกากบาท หรือรูป X

                             ทั่วโลกพบแมงมุมสกุลนี้ 49 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนผลไม้ ชายป่า และพื้นที่โล่งในป่าโปร่งที่มีลมค่อนข้างแรง โดยพบได้ทุกฤดู ทั่วทุกภาค

                             ชื่อแมงมุมนุ่งซิ่น เพราะลวดลายด้านหลังเป็นลายขวางเหมือนผ้าซิ่นนั่นเอง

                             แพร่กระจายจากจีนลงมาจนถึงอินโดนีเซีย

แมงมุมนุ่งซิ่นหลากสี เพศเมีย

                             แมงมุมสกุล Argiope เป็นแมงมุมใยกลมที่มีชื่อเสียงทางด้านความสวยงามของลวดลายและสีสันที่ฉูดฉาดที่บริเวณส่วนหลัง แต่ละชนิดจะมีสีสันและขนาดตัวที่แตกต่างกัน เกือบทุกชนิดสร้างใยกลมดักเหยื่อตามต้นไม้ พุ่มไม้ และหญ้า มักไม่พบอาศัยตามพื้นดิน ใยดักเหยื่อมีลักษณะสวยงามและประดับด้วยแถบซิกแซกที่บริเวณกลางใย แต่ละชนิดมีลักษณะของใยแตกต่างกันบ้าง ซึ่งสกุล Argiope พบได้มากในนาข้าว แมงมุมวงศ์นี้มีบทบาทในการกำจัดแมลงศัตรูพืชเศรษฐกิจ เช่น เพลี้ยไก่แจ้ส้ม เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน ผีเสื้อ ตั๊กแตน แมลงวันผลไม้ เป็นต้น

3. แมงมุมใยทองลายขนาน

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมต้นไม้ยักษ์ , แมงมุมทรงกระบอกสีทอง , แมงมุมใยทองท้องขนาน

ชื่อสามัญ : Giant Golden Orb-weaver Spider

ชื่ออื่นๆ : Giant Golden Orb-weaving Spider , Giant Long-jawed Orb-weaver , Giant Orb-weaver Spider , Giant Wood Spiders , The Golden Web Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nephila pilipes Fabricius, 1793

วงศ์ย่อย : Nephilinae

วงศ์ : Araneidae

แมงมุมใยทองลายขนาน เพศเมีย

                             เพศผู้มีขนาด 0.6-0.9 ซม. สีส้มแกมแดง ส่วนเพศเมียมีขนาด 4-6 ซม. หัวและอกสีเทาอมน้ำตาลเข้ม และมีขนสีขาวปกคลุม ท้องเป็นรูปทรงกระบอกยาว สีดำ และมีลายขีดสีเหลืองขนาดใหญ่ 2 ขีด ขนานอยู่ตรงกลางตามความยาวของท้อง ขาทั้ง8ขาไม่มีขน

                             ชอบชักใยขนาดใหญ่ตามแนวดิ่งระหว่างไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่ม มักเกาะตรงกลางของใย เมื่อถูกรบกวนจะไต่ไปตามใยและหลบในใบไม้หรือพุ่มไม้

แมงมุมใยทองลายขนาน เพศเมีย

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 20 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนผลไม้ สวนยางพารา สวนป่า และป่าทุกประเภท ทั่วทุกภาค

                             แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลียตอนเหนือ

4. มอธนกฮูก

ชื่อสามัญ : Owlet Moth

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erebus caprimulgus Fabricius, 1781

วงศ์ย่อย : Erebinae

วงศ์ : Erebidae

มอธนกฮูก

                             มีขนาด 7-7.8 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนคู่หน้ามีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม กลางปีกคู่หน้าใกล้ขอบบนมีจุดขนาดใหญ่คล้ายตานกฮูก ส่วนปีกคู่หลังมีพื้นปีกสีอ่อนกว่า บางตัวอาจพบว่าปีกทั้งสองคู่มีแถบหยัก ยาว และสั้น กระจายอยู่ทั่วปีก บางตัวก็ไม่พบ ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีอ่อนกว่า และมีจุดสีบริเวณขอบปีก หนวดแบบเส้นด้าย

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ 35 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบ และป่าโปร่งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 500 เมตร ทั่วทุกภาค

                             แพร่กระจายในอินเดีย ภูฏาน ศรีลังกา เมียนมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

5. แมลงปอเข็มน้ำตกสีดำ

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอเข็มหางโป่งสีนิล

ชื่อสามัญ : Black Velvetwing

ชื่อวิทยาศาสตร์Euphaea masoni Selys, 1879
วงศ์ : Euphaeidae

แมลงปอเข็มน้ำตกสีดำ

                             มีขนาด 6-6.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หลัง) เป็นแมลงปอเข็มขนาดกลาง ปีกคู่หน้าบริเวณที่ติดกับลำตัวและปลายปีกมีลักษณะใส หนวดแบบเส้นขน ตาเดี่ยวมี3ตา ตารวมมี2ตา ลำตัวยาว 5.5-5.74 ซม. ตัวผู้อายุน้อยจะมีอกสีเหลืองและมีลายคาดด้วยแถบสีดำ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีดำทั้งหมดเมื่อมีอายุมากขึ้น ปีกคู่หน้ามีแถบสีดำคาดอยู่ตรงกลางปีก และปีกคู่หลังมีสีดำเกือบทั้งปีก ท้องสีดำ ส่วนตัวเมียมีอกมีสีเหลืองคาดด้วยแถบสีดำ ท้องสีดำ และมีลายด้านข้างท้องสีเหลือง

                             มักเกาะพักตามต้นพืชริมลำธาร กินแมลงแทบทุกชนิดที่อ่อนแอกว่า

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 34 ชนิด ในไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามที่โล่งแจ้งริมลำธารทั่วทุกภาค แต่จะพบได้น้อยในภาคใต้ โดยพบได้ตลอดทั้งปี

                             แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

6. มอธ Eupterote asclepiades

ชื่อสามัญ : Giant Lappet Moth

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eupterote asclepiades Felder, 1874

วงศ์ย่อย : Eupterotinae

วงศ์ : Eupterotidae

Eupterote asclepiades

                             ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงทราบแต่ว่ามีขนาด 6.1-10 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีสีน้ำตาลแกมเหลือง และมีลวดลายสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วปีก ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีอ่อนกว่า

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ 40 ชนิด ในไทยพบตามชายป่าดิบ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

                             แพร่กระจายในอินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน

                             มีขนาด 5-5.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมมากกว่าผีเสื้อปีกกึ่งหุบชนิดอื่นๆ และบริเวณปลายแหลมมีสีขาว

                             ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวพาดจากกลางขอบปีกด้านนอกไปยังมุมปลายปีกหลัง ปีกคู่หลังที่มุมปลายปีกหน้ามีจุดสีดำเรียงกัน2จุด

                             ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่พื้นปีกเป็นสีน้ำตาลอ่อน

                             ทั่วโลกมี 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ chelina Fruhstorfer, 1904

                             พบได้ตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

                             ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

7. มดตะลานยักษ์ปักษ์ใต้

ชื่อท้องถิ่น : มดไม้ยักษ์ , มดยักษ์ปักษ์ใต้

ชื่อสามัญ : Giant Forest Ant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dinomyrmex gigas Latreille, 1802

วงศ์ : Formicidae

มดตะลานยักษ์ปักษ์ใต้

                             เป็นมดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมดวรรณะงานมีขนาดและรูปร่างหลายรูปแบบ(polymorphism) มีขนาด 2.09 ซม. ส่วนมดวรรณะทหารจะมีขนาด 2.81 ซม.

                             มดชนิดนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ ส่วนหัวและส่วนอกมีสีดำ ในขณะที่บริเวณส่วนท้องมีสีน้ำตาลอมแดง มีเอว1ปล้องสังเกตเห็นได้ชัด มดงานมีขนาดและรูปร่างหลายรูปแบบ (polymorphism) เป็นมดที่มีความว่องไวเป็นพิเศษในเวลากลางคืน(nocturnal insect) จะบริโภคอาหารหลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำหวาน(เป็นอาหารหลักร่วม90%) แมลงขนาดเล็ก มูลเหลวของนก เป็นต้น พบมากตามบริเวณพื้นป่าดิบจนถึงระดับไม้เรือนยอดในพื้นที่มีความชื้นค่อนข้างสูง ซึ่งพบบ่อยในช่วงที่อากาศชื้นและมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง

มดตะลานยักษ์ปักษ์ใต้

                              จากการศึกษาของ Pfeiffer และ Linsenmair ในปี ค.ศ.2001 ได้รายงานเพิ่มเติมว่ามดชนิดนี้มีพฤติกรรมครอบครองอาณาเขต และแก่งแย่งแข่งขันระหว่างชนิดและภายในชนิด และที่น่าทึ่งกว่านั้นมดชนิดนี้สามารถยกวัตถุหรืออาหารที่หนักกว่าน้ำหนักตัวมันเองได้ถึง 50 เท่า

                             เป็นมดประจำถิ่น(native) พบในป่าดิบชื้นที่มีการรบกวนน้อย โดยพบตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป ซึ่งจากการที่พบเฉพาะในป่าดิบชื้นที่มีการรบกวนน้อย จึงเสมือนเป็นดัชนีใช้บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบชื้นได้

                             แพร่กระจายในฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน

8. ผีเสื้อพเนจร

ชื่อสามัญ : Vagrant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vagrans sinha sinha Kollar, 1844

วงศ์ย่อย : Heliconiinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อพเนจร ชนิดย่อย sinha

                             มีขนาด 5.5-6.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาล ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่มีสีดำ และขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมเด่นชัด ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า

                             วงจรชีวิตระยะไข่ 4-7 วัน ระยะหนอน 11-27 วัน และระยะดักแด้ 8-19 วัน

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้เพียงชนิดเดียว ในไทยพบตามริมลำธารชายป่าดิบ ป่าไผ่ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

                             แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

9. ผีเสื้อมาควิสใหญ่

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อมาคีใหญ่

ชื่อสามัญ : Great Marquis

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euthalia dunya Doubleday, 1848

วงศ์ย่อย : Limenitidinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อมาควิสใหญ่

                             มีขนาด 8.5-10 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาล กลางปีกทั้งสองคู่มีจุดสีเหลืองครีมเรียงต่อกันห่างๆ ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า

                             ทั่วโลกพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ dunya Doubleday, 1848

                             ทั่วโลกพบ 387 ชนิด ในไทยพบประมาณ 19 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่าดิบ ป่าไผ่ และป่าโปร่งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 10-550 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

                             แพร่กระจายในเมียนมา ไทย ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

10. ผีเสื้อดุ๊กจุดแดง

ชื่อสามัญ : Redspot Duke

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euthalia evelina Stoll,1790

ชื่อพ้อง : Dophla evelina Stoll, 1790

วงศ์ย่อย : Limenitidinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อดุ๊กจุดแดง ชนิดย่อย compta

                             ปีกคู่หน้ามีขนาด 7.5-10 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกคู่หลังมีขนาด 7-7.2 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หลัง) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลหม่นและมีลวดลายสีน้ำตาลเข้ม ปลายปีกคู่หน้าเป็นเหลี่ยม กลางขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หน้ามีจุดสีแดงข้างละ1จุด กลางปีกคู่ล่างมีจุดสีน้ำตาลข้างละ1จุด

                             ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลปนขาว บริเวณใกล้โคนปีกคู่บนและปีกคู่ล่างมีสีขาวปนน้ำตาล และมีแถบสีขาวปนแดงกระจายตามโคนปีก

                             หนวด(แบบกระบอง) ตา และลำตัวมีสีน้ำตาล จากหัวถึงปลายส่วนท้องยาวราว 2.6 ซม. อกมีขนสีน้ำตาลเข้มปกคลุม เป็นผีเสื้อที่พบเจอไม่บ่อยนัก มักหากินตามผลไม้เน่าตามสวนผลไม้ ไม่ค่อยพบลงโป่ง ขณะเกาะมักกางปีกราบ หากต้องการถ่ายภาพปีกด้านล่าง ต้องรอเวลาให้ผีเสื้อขยับปีก ซึ่งน้อยครั้งมาก

                             ตัวเมียวางไข่แบบฟองเดียวบนใบไม้ที่ระยะหนอนกินเป็นอาหาร เช่น มะพลับ เป็นต้น ช่วงแรกไข่มีสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาจะเริ่มคล้ำขึ้นจนเกือบดำ ระยะไข่ 6-7 วัน

                             หนอนระยะแรกมีสีขาว ลำตัวเป็นเหมือนหนามชี้ออกไปจากลำตัวทางด้านข้าง หัวสีน้ำตาลเข้ม และมีขนสีดำปกคลุมทั้งตัว

                             หนอนระยะที่สองเมื่อลอกคราบใหม่ๆมีลำตัวสีเหลือง แต่ผ่านไปสักระยะจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว มีหนาม10คู่โผล่ออกทางด้านข้างลำตัวเป็นสีเขียวสลับสีดำและสีขาว หัวสีน้ำตาล

                             หนอนระยะที่สามมีลำตัวสีเขียว เริ่มมีแถบสีม่วงสลับเขียวที่กลางหลัง หนามมีสีเขียวสลับสีม่วง หัวสีม่วง

                             หนอนระยะที่สี่มีลำตัวสีเขียวเข้ม ปลายขนเริ่มมีสีม่วงเข้ม กลางหลังมีแต้มสีม่วงเรียงกันจากหัวไปท้าย และจะเห็นจุดสีเหลืองที่กลางหลังเป็นวงกลมใหญ่ 1 วง

                             หนอนระยะที่ห้า ตัวจะอวบอ้วนกว่าทุกระยะ ขนเริ่มสั้นลงเล็กน้อย เมื่อใกล้เข้าระยะดักแด้ ลำตัวจะหดลง ก่อนเข้าดักแด้ หนอนจะชักใยที่ใต้ใบไม้ แล้วห้อยหัวลงมา เมื่อจะลอกคราบเป็นดักแด้ หนอนจะงอตัวเอาหัววนไปหาก้น ทำตัวเป็นวงกลม

                             ดักแด้มีสีเขียว ด้านหน้ามีทรงเหลี่ยมเหมือนพีรามิด มีแถบสีเหลืองพาดยาว 1 แถบ และมีจุดสีเหลือง 5 จุด ด้านหลังโค้งมน สีเขียว ไม่มีจุด และไม่เป็นเหลี่ยม ระยะดักแด้ 11-14 วัน

ผีเสื้อดุ๊กจุดแดง ชนิดย่อย compta

                             ทั่วโลกพบ 17 ชนิดย่อย ในไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่

                             – ชนิดย่อย annamita Moore, 1879 ปีกด้านบนนั้น ตัวผู้มีแต้มสีขาวที่มุมปลายปีกคู่หน้า ส่วนตัวเมียจะมีแต้มสีขาวที่ปีกคู่หน้าราวครึ่งปีก ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีเทาทั้งสองเพศ แต่ตัวเมียจะมีแต้มสีขาวมากกว่าตัวผู้ ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แพร่กระจายในจีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

                             – ชนิดย่อย compta Fruhstorfer, 1899 ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

                             – ชนิดย่อย vallona Fruhstorfer, 1913 ในไทยมีรายงานการพบที่ จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก และภาคตะวันตก แพร่กระจายในเมียนมา และไทย

                             พบตามสวนผลไม้และริมลำธารในป่าละเมาะ ป่าดิบชื้น ป่าไผ่ และป่าโปร่ง

11. ผีเสื้อบารอนเหลือง

ชื่อสามัญ : Yellow Baron

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euthalia kanda Moore,1859

วงศ์ย่อย : Limenitidinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อบารอนเหลือง ชนิดย่อย marana

                             ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของผีเสื้อชนิดนี้มากนัก คงรู้แต่ว่าปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาล และมีลวดลายสีน้ำตาลเข้ม ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะเดียวกัน แต่พื้นปีกมีสีอ่อนกว่า

                             ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                             – ชนิดย่อย elicius Nicéville, 1890 ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลออกเหลือง และมีลวดลายสีน้ำตาลเข้ม ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะเดียวกัน แต่พื้นปีกมีสีอ่อนกว่า ในไทยพบ จ.ระนอง จ.สุราษฎร์ธานี จ.ตรัง และ จ.ยะลา แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ และไทย

ผีเสื้อบารอนเหลือง ชนิดย่อย marana

                             – ชนิดย่อย marana Corbet, 1937 ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลหม่น และมีลวดลายสีน้ำตาลเข้ม ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะเดียวกัน แต่พื้นปีกมีสีอ่อนกว่า ในไทยพบ จ.นครศรีธรรมราช จ.ตรัง และ จ.ยะลา แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย

12. ผีเสื้อมาควิสแถบโค้ง

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อมาคีแถบโค้ง

ชื่อสามัญ : Banded Marquis

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euthalia teuta Doubleday,1848

วงศ์ย่อย : Limenitidinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อมาควิสแถบโค้ง ชนิดย่อย goodrichi เพศเมีย

                             มีขนาด 6.5-8.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีดำ ปีกทั้งสองคู่มีแถบสีขาวพาดกลางต่อเนื่องกัน ปีกด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ส่วนปีกด้านบนของเพศเมียมีสีน้ำตาล ปีกทั้งสองคู่มีแถบสีขาวพาดกลางต่อเนื่องกัน ปีกด้านล่างมีสีอ่อนกว่า

                             เพศผู้ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายเพศผู้ของผีเสื้อมาควิสแถบตรง(E. recta) ต่างกันที่แถบสีขาวที่พาดกลางปีกทั้งสองคู่ มีส่วนปลายที่เยื้องไปทางโคนปีกคู่หน้า ส่วนของผีเสื้อมาควิสแถบตรงจะเรียงกันเป็นแนวตรง อีกทั้งชนิดนี้ไม่มีแต้มสีแดงที่มุมปลายปีกตอนล่างของปีกคู่หลัง

ผีเสื้อมาควิสแถบโค้ง ชนิดย่อย goodrichi เพศเมีย

                             ทั่วโลกพบ 18 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่

                             – ชนิดย่อย affinis Lathy, 1900 เพศเมียมีลวดลายคล้ายชนิดย่อย goodrichi แต่ต่างกันเล็กน้อยที่รูปทรงของแต้มสีขาวบนปีกด้านบน เป็นสัตว์ถิ่นเดียวของไทย พบตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 50-550 เมตร ทางภาคตะวันออก และ จ.สุราษฎร์ธานี(เกาะพะงัน และเกาะสมุย)

                             – ชนิดย่อย goodrichi Distanteday,1886 ในไทยพบตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 20-450 เมตร โดยพบตั้งแต่ จ.ตาก ลงมาจนถึงภาคใต้ แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

ผีเสื้อมาควิสแถบโค้ง ชนิดย่อย goodrichi เพศเมีย

                             – ชนิดย่อย rayana Morishita, 1968 ในไทยพบตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 10-30 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบบนเกาะตะรุเตา จ.สตูล แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย(เกาะลังกาวี)

                             – ชนิดย่อย teuta Doubleday,1848 เพศเมียมีลวดลายคล้ายเพศผู้ ในไทยพบตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,000 เมตร ทางภาคเหนือ และ จ.ชัยภูมิ แพร่กระจายในอินเดีย ไทย ลาว และเวียดนาม

13. ผีเสื้ออาชดุ๊คธรรมดา

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้ออ๊าชดุ๊คธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Archduke

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lexias pardalis Moore,1878

วงศ์ย่อย : Limenitidinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้ออาชดุ๊คธรรมดา ชนิดย่อย dirteana เพศผู้

                             มีขนาด 8-10.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีดำ ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่มีสีเขียวอมฟ้า ใกล้ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หน้ามีจุดสีเหลืองประปราย ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล มีแต้มสีเหลืองเรียงกันเป็นแถวทั่วทั้งปีก

                             ปีกด้านล่างของตัวผู้มีพื้นปีกสีขาวขุ่น ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกและลวดลายคล้ายปีกด้านบน

ผีเสื้ออาชดุ๊คธรรมดา ชนิดย่อย dirteana เพศผู้

                             ขณะเกาะมักกางปีก โดยจะวนเวียนหากินอยู่บริเวณเดิมตลอดทั้งวัน เมื่อตกใจมักบินหนีไปไม่ไกล และจะย้อนกลับมาที่เดิม

                             ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                             – ชนิดย่อย dirteana Corbet, 1941 ในไทยพบตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 10-550 เมตร เฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

ผีเสื้ออาชดุ๊คธรรมดา ชนิดย่อย dirteana เพศผู้

                             – ชนิดย่อย jadeitina Fruhstorfer, 1913 ในไทยพบตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-1,300 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ 5 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบ ป่าไผ่ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

14. ผีเสื้อไวส์เคาท์มลายู

ชื่อสามัญ : Malay Viscount

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tanaecia pelea Fabricius, 1787

วงศ์ย่อย : Limenitidinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อไวส์เคาท์มลายู ชนิดย่อย pelea

                        มีขนาด 5-7 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม และมีลวดลายสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วปีก และมีแถบลายสีน้ำตาลสลับขาวใกล้ขอบปีกตอนล่างทั้งสองคู่ กลางปีกตอนบนใกล้ขอบปีกของปีกคู่หน้ามีแต้มสีฟ้า ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า

                             ทั่วโลกพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ pelea Fabricius, 1787

ผีเสื้อไวส์เคาท์มลายู ชนิดย่อย pelea

                             ทั่วโลกพบ 7 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 50-550 เมตร เฉพาะทางภาคใต้

                             แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

15. ผีเสื้อสายัณห์สีตาลใหญ่

ชื่อสามัญ : Great Evening Brown

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melanitis zitenius Herbst, 1796

วงศ์ย่อย : Satyrinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อสายัณห์สีตาลใหญ่ ชนิดย่อย auletes เพศเมีย

                        มีขนาด 7-9.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ตาและหนวดสีน้ำตาล ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาล ปลายปีกคู่บนเว้าโค้งที่ขอบปีกด้านนอก และมีแถบสีน้ำตาลอมเหลืองจนถึงสีน้ำตาลอมส้มค่อนไปทางปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้า มีแต้มสีน้ำตาลเข้มเกือบดำประดับบนแต้มสีส้มอมน้ำตาล(ในช่วงฤดูฝนจะไม่พบแต้มสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ) ข้างแถบสีน้ำตาลเข้มเกือบดำมีจุดสีอ่อนข้างละ1จุด ขอบปีกด้านล่างของปีกคู่หลังยื่นออกเป็นติ่ง ใกล้ขอบด้านล่างประดับด้วยจุดสีขาวแกมเหลืองขนาดเล็กข้างละ 2-3 จุด ส่วนปีกด้านล่างของตัวผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลปนสีขาวประปราย ตัวเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อนออกส้ม ตามแนวขอบปีกด้านข้างมีจุดเล็กๆเรียงกัน แต่ไม่เด่นชัด

                             ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลคล้ายผีเสื้อสายัณห์สีตาลไหม้(M. phedima) แต่ชนิดนี้มีสีอ่อนกว่า และมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย

                             วงจรชีวิตระยะไข่ 6 วัน ระยะหนอน 33 วัน และระยะดักแด้ 9-11 วัน

                             หนอนระยะที่3 มีลำตัวสีเหลืองอมเขียว และมีลวดลายเส้นขาวพาดจากหัวไปท้าย มีหาง 1 คู่ สีเหลือง หัวสีเขียวและมีขนสีดำ มีเขา 1 คู่ ปลายเขาสีดำ

                             หนอนระยะที่4 มีลำตัวสีเขียว และมีเส้นสีขาวพาดยาวจากหัวไปท้าย หางยาวขึ้นและเเหลมขึ้น หัวสีเขียว ข้างหัวมีเส้นสีขาว เขาสีเหลือง ปลายเขาสีดำ

ผีเสื้อสายัณห์สีตาลใหญ่ ชนิดย่อย auletes เพศเมีย

                             หนอนระยะที่5 เส้นสีขาวที่พาดจากหัวไปท้ายจะมีสีที่เข้มขึ้น

                             ดักแด้มีสีเขียวทั่วทั้งตัว รูปค่อนข้างกลม หนอนจะทำดักแด้ใต้ใบไม้ แต่เวลาเข้าดักแด้จะไม่ทำรังใกล้กันเหมือนตอนเป็นหนอน

                             มักพบชอบอยู่ในที่มีแสงรำไรหรือค่อนข้างมืดครึ้มตามที่รกทึบหรือป่าไผ่ ส่วนใหญ่ชอบเกาะตามพื้น นานๆครั้งจึงจะพบเกาะใบไม้ ขณะเกาะมักหุบปีก

                             ทั่วโลกพบ 13 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ auletes Fruhstorfer, 1908

                             ทั่วโลกพบ 12 ชนิด ในไทยพบทั้ง 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่าดิบ ป่าไผ่ และป่าโปร่งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 30-2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

                             ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในเมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซียด้านตะวันตก

16. ผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง

ชื่อสามัญ : Common Bushbrown

ชื่อสามัญ : Dingy Bushbrown

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycalesis perseus Fabricius, 1775

วงศ์ย่อย : Satyrinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง ชนิดย่อย cepheus

                             มีขนาด 3.5-4.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดวงกลมและสีดำที่กลางปีกคู่หน้า 1 จุด ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดเรียงกันตามขอบปีกด้านข้างที่ปีกคู่หน้า 4 จุด ปีกคู่หลัง 7 จุด ถัดจากจุดเข้ามาบริเวณกลางปีกมีเส้นสีขาวพาดยาวต่อเนื่องกันบนปีกทั้งสองคู่

                             ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียง(Mycalesis mineus Linnaeus, 1758) แต่ต่างกันที่ปีกด้านล่างของชนิดนี้มีจุดขนาดเล็กบนปีกคู่หน้า 4 จุด ส่วนผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียงมีเพียง 2 จุด

                             ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                             – ชนิดย่อย cepheus Butler, 1867 ในไทยพบตามชายป่าและพื้นที่โล่งในป่าทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

                             – ชนิดย่อย tabitha  Fabricius,1793 ในไทยพบตามป่าโปร่งเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา ภูฎาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

17. ผีเสื้อเณรส่าหรี

ชื่อสามัญ : Chocolate Grass Yellow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema sari Horsfield, 1829

วงศ์ย่อย : Colladinae

วงศ์ : Pieridae

ผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง ชนิดย่อย cepheus

                             มีขนาด 3.6-4.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลืองคล้ายผีเสื้อเณรธรรมดา(E. hecabe) แต่ลักษณะสีดำที่ขอบปีกจะต่างกันเล็กน้อย ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายผีเสื้อเณรภูเขา(E. simulatrixi)

                             ทั่วโลกพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย sodalis Moore,1886

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 61 ชนิด ในไทยพบประมาณ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามชุมชน ทุ่งหญ้า ริมลำธาร ป่าชายเลน และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

                             แพร่กระจายในเมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

18. ผีเสื้อเณรภูเขา

ชื่อสามัญ : Hill Grass Yellow

ชื่ออื่นๆ : Changeable Grass Yellow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema simulatrixi Staudinger, 1891

วงศ์ย่อย : Colladinae

วงศ์ : Pieridae

ผีเสื้อเณรภูเขา ชนิดย่อย tecmessa

                             มีขนาด 3.4-4.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ผีเสื้อกลุ่มนี้จำแนกชนิดได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีสีออกไปทางสีเหลือง และปีกด้านล่างไม่มีลวดลายใดๆ แต่ละชนิดมีสีสันที่คล้ายกัน นอกจากจะใช้สีดำที่บริเวณขอบปีกบนเป็นจุดสังเกตแล้ว จุดแต้มสีน้ำตาลเล็กๆที่กระจายอยู่บนแผ่นปีกด้านล่างก็มีส่วนช่วยในการแยกแต่ละชนิด

                             ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลืองกำมะถัน ขอบปีกสีดำ บริเวณสีดำที่ต่อกับสีเหลืองนั้นในปีกคู่หน้าจะหยักเว้าแตกต่างจากปีกคู่หลัง

                             ปีกด้านล่างของปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลที่มุมปลายปีกคู่หน้า และมีขีดสีน้ำตาลประปรายทั่วทั้งแผ่นปีกคู่หน้าและคู่หลัง

                            ลำตัวเป็นปล้องๆรูปทรงกระบอก ลำตัวสีเทาอมเขียว ข้างลำตัวทั้งสองด้านมีแถบสีเหลืองอ่อน1เส้นพาดตามยาว หนวดจะค่อยๆขยายใหญ่ขึ้นไปทางตอนปลายจนมีรูปคล้ายกระบอง ตารวม1คู่ ปีกแบบบางใส มีเกล็ดปกคลุมเนื้อปีก

                             วงจรชีวิตระยะไข่ 3 วัน ระยะหนอน 16-17 วัน(กินใบพืช) และระยะดักแด้ 7 วัน ช่วงระยะดักแด้นั้นจะใช้ใยเส้นหนึ่งยึดท้ายของลำตัวติดกับพืช และใยอีกเส้นหนึ่งคล้องรอบลำตัว ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานจากดอกไม้

                             พบได้ตามทุ่งหญ้า พุ่มไม้ และริมลำธารบนภูเขา ทั่วทุกภาค

                             ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 4 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                             – ชนิดย่อย sarinoides Fruhstorfer, 1910 มีขนาด 2.14-2.65 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ในไทยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

                             – ชนิดย่อย tecmessa Nicville, 1896 มีขนาด 2.2-2.46 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลืองสว่างกว่าชนิดย่อยแรก ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

19. ด้วงกว่างสามเขาชิรอนใต้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chalcosoma chiron kirbyi

วงศ์ย่อย : Dynastinae

วงศ์ : Scarabaeidae

ด้วงกว่างสามเขาชิรอนใต้ เพศผู้

                             เป็นด้วงที่มีขนาดใหญ่ ตัวผู้มีขนาดยาวได้ถึง 12 ซม.(วัดจากปลายเขาจนถึงก้น) ลำตัวสีดำเป็นมัน ส่วนหัวมี3เขา เขาหน้ายาวโค้ง หนวดแบบเส้นด้าย ปีกคู่หน้าแข็งและหนา ปีกคู่หลังบางใส ระยะตัวหนอนจะเจาะกินเนื้อไม้ ตัวเต็มวัยกัดกินใบพืชเป็นอาหาร

                             ในไทยพบอย่างน้อย 2 ชนิด สำหรับชนิดย่อยนี้พบเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น

                             แพร่กระจายในญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย

20. แมลงนูนเขียวธรรมดา

ชื่อท้องถิ่น : แมลงกินูนเขียว , แมลงกินูนเหลื่อม(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ด้วงนูนเขียวธรรมดา(ทั่วไป)

ชื่อสามัญ : Large Green Chafer Beetle

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anomala cupripes Hope, 1839

วงศ์ย่อย : Rutelinae

วงศ์ : Scarabaeidae

แมลงนูนเขียวธรรมดา

                             มีขนาดราว 2.5 ซม. ลักษณะเด่น คือ ปล้องหนวดมี 9 ปล้อง ขอบปีกมีสันหนาชัดเจน ขอบปีกล่างไม่มีการแบนขยาย สีเหลือบทองแดง ผิวก้อนเป็นร้อยริ้วแน่นตามขวาง

                             ดำรงชีวิตอยู่ได้ราวๆ 3-4 เดือน พบอาศัยอยู่ในดินตามรากต้นไม้หรือกองใบไม้ใต้ต้นไม้ในเวลากลางวัน ถึงเวลากลางคืนจึงจะขึ้นไปกินใบอ่อนของใบไม้เป็นอาหาร เช่น ผักติ้ว ส้มเสี้ยว มะม่วง เป็นต้น

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 1,200 ชนิด ในไทยพบกว่า 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามชายป่าและป่าทั่วไป ทั่วทุกภาค โดยพบได้ตลอดทั้งปี

                             แพร่กระจายในอินเดีย จีน ไต้หวัน เกาหลี ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

21. มอธเหยี่ยวลายใบไม้แห้ง

ชื่อท้องถิ่น : มอธจรวด

ชื่อสามัญ : Large Banded Hawkmoth

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elibia dolichus Westwood, 1848

วงศ์ย่อย : Macroglossinae

วงศ์ : Sphingidae

มอธเหยี่ยวลายใบไม้แห้ง

                             มีขนาด 9.5-14.6 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) หนวดแบบเส้นด้าย ด้านบนของอกและท้องมีเส้นสีขาวหรือสีขาวแกมส้มพาดยาวตลอดลำตัว

                             ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้เกือบดำ ปีกคู่หน้ามีลายเส้นตามแนวยาวของปีกดูคล้ายใบไม้แห้ง ส่วนปีกด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน ปีกคู่หน้ามีแถบสีน้ำตาลเข้มและแถบสีน้ำตาลอ่อนเรียงสลับกันตลอดพื้นปีก กลางปีกมีจุดสีน้ำตาลเข้มข้างละ1จุด ปีกคู่หลังสีน้ำตาลเข้ม บริเวณโคนปีกมีขนปุยสีน้ำตาลเข้ม

มอธเหยี่ยวลายใบไม้แห้ง

                             มักบินเข้าหาแสงไฟในยามค่ำคืน

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ 2 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว มักพบเกาะอยู่ตามต้นไม้ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าพรุ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

                             แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ จีน ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย


นก


                             บันทึกภาพได้ 12 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. นกเงือกหัวหงอก

ชื่อสามัญ : White-crowned Hornbill

ชื่ออื่นๆ : Long-crested Hornbilll

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Berenicornis comatus Raffles, 1822

วงศ์ : Bucerotidae

ใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า..นกเงือกหัวหงอก ตัวผู้

                             เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 90 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวมีขนยาวเป็นพุ่มสีขาวดูคล้ายหงอน ปากสีเทาดำ โหนกแข็งขนาดเล็ก ตาสีเหลือง ลำตัวด้านบนสีดำ ปลายขนปีกบินสีขาว เห็นได้ชัดขณะกางปีกหรือบิน หางยาวสีขาว

                             ตัวผู้บริเวณหัว คอ อก และท้องสีขาว ท้องตอนล่างสีดำ ส่วนตัวเมียมีใบหน้า คอ และลำตัวด้านล่างสีดำ

                     ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่สีสันของลำตัวเป็นสีน้ำตาล ปลายปีกมีแถบกว้างสีขาว ปลายขนปกคลุมปีกสีขาว หางสีดำ

                     ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์อาจพบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็กๆ บินเกือบจะไม่มีเสียง อันเนื่องมาจากการกระพือปีกค่อนข้างเร็วติดต่อกัน กินผลไม้ต่างๆเป็นอาหาร โดยเฉพาะลูกไทร ลูกหว้า และลูกตาเสือ โดยเกาะกิ่งที่มีผลไม้ แล้วใช้ปลายปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว ก่อนอ้าปากกลืนกินทั้งผล หรือโยนขึ้นไปกลางอากาศแล้วอ้าปากรับ บางครั้งพบลงมายังพื้นดินเพื่อกินสัตว์ต่างๆ เช่น กิ้งก่า นกขนาดเล็ก และหอย เป็นต้น

                             ส่งเสียงร้องขณะบินว่า“ฮู” และจะส่งเสียงร้องเดียวกันนี้ขณะหาอาหาร แต่ซ้ำๆกันประมาณ 10-12 ครั้งๆละ 3-4 พยางค์ ว่า“ฮู-ฮู-ฮู”

                     ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงต้นไม้ ซึ่งมักจะเป็นโพรงที่เกิดตามธรรมชาติ ปกติมักจะใช้โพรงเดิมทำรังทุกปี หากไม่มีสัตว์หรือนกอื่นมาแย่งโพรงทำรังไปก่อน และตัวเองไม่สามารถขับไล่สัตว์หรือนกนั้นออกไปได้

                     เมื่อตัวเมียเข้าไปในโพรงก็จะใช้มูลของตนเอง ผสมเศษอาหารและโคลนปิดปากโพรงด้านใน ขณะตัวผู้ก็จะใช้วัสดุเช่นเดียวกันปิดปากโพรงด้านนอก คงเหลือเป็นช่องรูที่ตัวเมียจะยื่นปากออกมารับอาหารจากตัวผู้ ขณะตัวเมียออกไข่และฟักไข่ในโพรง ตัวผู้ก็จะคอยหาอาหารมาป้อนตัวเมีย ปกติวันละประมาณ 3-4 ครั้ง

ใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า..นกเงือกหัวหงอก ตัวผู้

                     เป็นนกที่ค่อนข้างตื่นตกใจง่าย หากมีสิ่งรบกวนมาใกล้กับรัง ตัวผู้ก็จะไม่มาป้อนอาหารให้ตัวเมียเลย ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆไม่มีขนปกคลุมร่างกาย ช่วงนี้ตัวผู้จะต้องหาอาหารเพิ่มมากขึ้นเพื่อมาป้อนทั้งตัวเมียและลูกๆ วันละไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง แต่หากเป็นครอบครัวที่เคยมีลูกมาในปีก่อนแล้ว ก็มักจะมีลูกๆมาช่วยหาอาหารให้แม่และน้องๆ เมื่อลูกนกโตพอประมาณและมีขนปกคลุมเต็มตัวแล้ว ตัวผู้ก็จะทำหน้าที่เปิดปากโพรงเพื่อให้ตัวเมียและลูกๆออกมา โดยใช้เวลาไม่นานนับจากเปิดโพรงก็จะทิ้งรังไป

                     ชื่อสกุล Berenicornis มาจากคำ2คำ คือ คำว่า Berenice ซึ่งเป็นมเหสีของ Ptolomey Euergetes กษัตริย์ของอียิปต์เมื่อ 248 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นผู้มีผมที่สวยงามมาก และคำว่า orni,=s,-th,-tho เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่า นก ความหมายก็คือ“นกที่มีขนบนหัวสวยงาม”

                     ชื่อชนิด comatus มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คำว่า =coma,-to แปลว่า ขน ความหมายก็คือ“นกที่มีขนบนหัวลักษณะคล้ายขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้เพียงชนิดเดียว ในไทยพบอาศัยตามป่าดิบที่ราบต่ำ แต่ก็อาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้กว่า 1,000 เมตร โดยพบตั้งแต่ จ.เพชรลงบุรี ลงไปทางภาคใต้

                             แพร่กระจายในเมียนมา ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

2. นกเขียวก้านตองใหญ่

ชื่อสามัญ : Great Green Leafbird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloropsis sonnerati Jardine & Selby, 1827

วงศ์ : Chloropseidae

นกเขียวก้านตองใหญ่ ตัวผู้

                             เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 20.5-22.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) เป็นนกเขียวก้านตองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีปากใหญ่ บริเวณขนลำตัว ปีก และหางสีเขียวสด ตัวผู้มีใบหน้าและคอหอยสีดำ มีแถบหนวดสีฟ้าวาวแกมม่วง และปากหนา ส่วนตัวเมียไม่มีสีดำที่หน้า บริเวณวงรอบตา คาง และคอหอยสีเหลืองอ่อน และแถบหนวดไม่ชัดเจน

                     ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายนกตัวเมีย แถบมุมปากสีเหลือง

                     พบเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆ อาศัยและหากินตามยอดไม้ในระดับที่ค่อนข้างสูง อาหารได้แก่ น้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้ แมลง หนอน และแมงมุม โดยชอบมุดไปตามพุ่มไม้เพื่อจิกกินแมลงที่ซ่อนอยู่ใต้ใบไม้

                             พฤติกรรมการกินน้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้นั้น นกจะบินไปเกาะตามกิ่งก้านที่มีดอกไม้หรือผลไม้ สามารถเกาะได้ทุกๆแนว ไม่ว่าจะเป็นด้านบน ด้านข้าง และด้านล่าง แล้วใช้ปากแหย่เข้าไปในดอกเพื่อดูดกินน้ำหวาน หรือใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว จากนั้นใช้ปากบีบผลไม้ให้แตกแล้วกินเฉพาะเนื้อข้างใน โดยเฉพาะลูกไทร หว้า และตะขบ สำหรับอาหารจำพวกแมลงและแมงมุมนั้นจะใช้ปากจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับกลางอากาศ แต่ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะมากนัก

นกเขียวก้านตองใหญ่ ตัวเมีย

                             ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยตามปลายกิ่งไม้หรือแขวนระหว่างกิ่งไม้ดูคล้ายเปลญวน ปกติรังจะอยู่สูงจากพื้นดินราว 6-9 เมตร แต่บางครั้งก็พบรังในระดับต่ำเพียง 1-2 เมตร วัสดุทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ รากไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบหญ้า ใบไม้ และเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

                     เสียงร้องเป็นทำนองไพเราะดังว่า“วี่-วิด”

                     ชื่อชนิด sonnerati เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล คือ Pierre Sonnerat (ค.ศ.1748-1814) นักธรรมชาติวิทยาและนักสะสมตัวอย่างสัตว์ชาวฝรั่งเศส โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

                     ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย zosterops Vigors, 1830 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า zoster แปลว่า วงรอบ และคำว่า ops แปลว่า ตา ความหมายก็คือ“วงรอบเบ้าตามีลักษณะเด่น” โดยพบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

นกเขียวก้านตองใหญ่ ตัวเมีย

                     ทั่วโลกพบสกุลนี้ 12 ชนิด ในไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นราบ ป่าชายเลน และป่าดิบที่มีพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,000 เมตร โดยพบตั้งแต่ จ.กาญจนบุรี ลงไปทางภาคใต้

                     ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในเมียนมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

3. นกกระจิบธรรมดา

ชื่อท้องถิ่น : นกกระจิบสวน , นกกระจิบหางยาว

ชื่อสามัญ : Common Tailorbird

ชื่ออื่นๆ : Long-tailed Tailorbird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthotomus sutorius Pennant, 1769

วงศ์ : CISTICOLIDAE

นกกระจิบธรรมดา ชนิดย่อย inexpectatus ตัวเมีย

                             เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 11-13 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผากและกระหม่อมสีน้ำตาลแดง บริเวณหัวตา คิ้ว และหน้าสีเนื้อ หรือสีขาวแกมเทา ลำตัวด้านบนสีเขียวจนถึงสีเขียวแกมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีเนื้ออ่อน สีขาวมอๆแกมเหลืองอ่อน จนถึงสีขาว บางครั้งบริเวณอกและคอหอยมีโคนขนเป็นสีเข้ม ทำให้ดูคล้ายกับมีลายสีเทาพาด บางครั้งใต้คอเห็นเป็นสีดำโดยเฉพาะขณะร้อง ดูคล้ายนกกระจิบคอดำ(Dark-necked Tailorbird) แต่ชนิดนี้มีก้นสีขาว ไม่มีสีเหลืองแซมเหมือนนกกระจิบคอดำ

                     ตัวผู้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะมีขนหางคู่กลางหรือคู่ในสุดยาวมากและปลายแหลม โดยหางจะยาวมากกว่า 3.75 ซม.

                     นกที่ยังไม่โตเต็มวัยมีสีสันคล้ายตัวเมีย แต่หน้าผากไม่มีสีน้ำตาลแดง และมีสีหม่นกว่า

                                    มักพบหากินโดดเดี่ยว บางครั้งพบกินเป็นคู่ แต่แยกย้ายหากินอยู่ห่างๆ เป็นนกที่ว่องไวคล่องแคล่ว มักพบเกาะและกระโดดไปตามกิ่งก้านล่างของต้นไม้สูงหรือตามไม้พุ่ม รวมถึงกอหญ้าและพืชต่างๆ ขณะที่เกาะนั้นหางมักจะตั้งขึ้นในแนวเกือบตั้งฉากกับลำตัว บินได้ดี แต่มักบินในระยะทางสั้นๆระหว่างกิ่งไม้ ต้นไม้ หรือพืชต่างๆ

                     อาหารหลักได้แก่ แมลง และหนอนต่างๆที่อยู่ตามกิ่งไม้ ใบไม้ และดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่ากินน้ำหวานจากดอกไม้บางชนิดด้วย

                             ช่วงผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน แต่บางพื้นที่จะพบว่าช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม ซึ่งในช่วงนี้จะพบอยู่เป็นคู่ๆ ส่งเสียงร้องไม่ขาดระยะ ทำรังตามต้นไม้หรือพุ่มไม้ที่มีใบค่อนข้างใหญ่ เช่น มะเดื่อ แสงจันทร์ จำปี จำปา เป็นต้น ตัวผู้และตัวเมียช่วยกันเลือกสถานที่ทำรัง จากนั้นหาวัสดุมาช่วยกันทำรังที่อยู่สูงจากพื้นราว 1-3 เมตร ด้วยการโน้มใบพืชของต้นที่สร้างรัง 2-3 ใบ มารวมกัน จากนั้นใช้ปากที่แหลมคมเจาะขอบใบไม้ทั้ง 2-3 ใบ ที่อยู่ชิดติดกันให้เป็นรูตรงกันหลายๆรู แล้วใช้ใยแมงมุมเย็บหรือเชื่อมขอบใบพืชให้ติดกันเป็นรังรูปกระเปาะกรวย บางครั้งพบใช้ใบไม้ขนาดใหญ่เพียงใบเดียว มีก้นรังลึกราว 7-10 ซม. มีทางเข้าออกอยู่ด้านบน โดยมีขนาดราว 4-5 ซม. สีสันของรังก็คือใบพืชของต้นที่สร้างรัง จึงยากที่จะสังเกตเห็นได้ง่าย ภายในรังจะมีวัสดุมารองอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะดอกหญ้า ใบไม้แห้ง ขนสัตว์ หรือเส้นใยพืช วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ขนาดไข่ 1.16 x 1.64 ซม. ไข่เป็นรูปค่อนข้างยาวแหลม มีสีพื้นเป็นหลายสีแตกต่างกัน คือ สีขาว สีครีม สีชมพูอ่อน สีน้ำเงินอ่อน หรือสีเขียวแกมน้ำเงิน และมีลายจุดสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาล สีดำ หรือสีดำแกมแดงกระจายอยู่ทั่วไข่ โดยเฉพาะบริเวณด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้ระยะเวลาฟักไข่ 11-13 วัน ลูกนกที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆมีรูปร่างเทอะทะ หัวโต ตาโต ท้องป่อง ยังไม่ลืมตา และไม่มีขนคลุมร่างกาย พ่อแม่นกต้องช่วยกันกก โดยให้ลูกนกซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และช่วยกันหาอาหารมาป้อน ส่วนใหญ่ได้แก่หนอน ลูกนกเจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว อายุเพียง 3-4 สัปดาห์ ก็จะมีขนาดโตพอๆกับพ่อแม่นก และมีขนคลุมเต็มตัว แต่สีขนยังไม่เหมือนพ่อแม่นก โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากที่ยังไม่ออกเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อลูกนกบินได้แข็งแรง จึงจะทิ้งรังไป

                             เสียงร้องใสดังก้องติดต่อกันเป็น 2-3 พยางค์ ว่า“จิบ-จิบ-จิบ”หรือ“วิด-วิด-วิด” ขณะกระโดดหากินก็มักจะร้องไปด้วย มีพลังเสียงมากอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะร้องมักกระดกหางขึ้นๆลงๆหรือแกว่งไปซ้ายขวาตลอดเวลา

                     ชื่อชนิด sutorius เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า sutor แปลว่า ช่างทำรองเท้า มีความหมายเกี่ยวกับรังของนกชนิดนี้ที่ใช้ใบไม้2ใบมาเย็บรวมกันดูคล้ายกับรองเท้าที่ช่างทำรองเท้าทำขึ้นมา ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศศรีลังกา

                     ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                     – ชนิดย่อย inexpectatus La Touche, 1922 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า inexpectata แปลว่า ไม่คาดหมาย อาจจะหมายยถึงพบโดยบังเอิญ ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศจีน ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาด้านตะวันออก ไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ

                     – ชนิดย่อย maculicollis Moore, 1855 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า macula,-t แปลว่า ลายจุด และคำว่า coll,-i หรือ collis แปลว่า คอ ความหมายก็คือ“บริเวณคอเป็นลายจุด” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศมาเลเซีย ในไทยพบทางภาคใต้ แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ ไทย กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

                     นกสกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามสวนสาธารณะใกล้ชุมชน สวนผลไม้ ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ชายป่า ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,525 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่ จ.ชุมพร จนถึง จ.ภูเก็ต และ จ.นครศรีธรรมราช

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

4. นกกาฝากท้องสีส้ม

ชื่อสามัญ : Orange-bellied Flowerpecker

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicaeum trigonostigma Scopoli, 1786

วงศ์ : Dicaeidae

นกกาฝากท้องสีส้ม ชนิดย่อย trigonostigma ตัวผู้

                             เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 9-9.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีปากแหลมยาวกว่า หัวถึงท้ายทอย ปีก และหางสีเทาแกมฟ้า คอและอกสีเทาอ่อน หลังถึงตะโพกและอกถึงก้นมีสีส้มแกมเหลืองสด ลำตัวด้านบนส่วนที่เหลือสีน้ำเงินแกมเทา

                     ส่วนตัวเมียมีหัวและลำตัวด้นบนสีน้ำตาลแกมเขียวคล้ำ อกและลำตัวด้านล่างสีเทาแกมเขียวจนถึงสีเทาจาง กลางท้องถึงก้นสีเหลืองจนถึงสีส้มแกมเหลืองจางๆ ตะโพกสีเข้มกว่าตัวผู้

                     ตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวเมียของนกสีชมพูสวน(Scarlet-backed Flowerpecker)และตัวเมียของนกกาฝากอกสีเลือดหมู(Crimson-breasted Flowerpecker) แต่ต่างกันตรงที่ชนิดนี้มีปากยาวและเรียวกว่า ตะโพกมีลายพาดสีเขียวอ่อนแกมเหลือง บางครั้งมีลายแต้มสีส้ม ลำตัวด้านล่างสีเทาแกมเขียวจนถึงสีเทาจาง บริเวณตรงกลางของอกตอนล่าง ท้อง และขนคลุมโคนขนหางด้านล่างมีสีเหลืองจนถึงสีส้มแกมเหลืองจางๆ

                     ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่บริเวณคอหอย อก และสีข้างมีสีเขียวอ่อนแกมเทา

                     มักพบอยู่เป็นคู่ อาศัยและหากินตามกิ่งก้านและยอดไม้ ทั้งไม้พุ่มและไม้ยืนต้นขนาดกลาง เวลาบินหรือหากินจะส่งเสียงร้องดังว่า“ติดช-ติดช”หรือ“ซิ่ด-ซิ่ด-ซิ่ด” เป็นนกที่ไม่อยู่นิ่ง จะกระโดดไปมาเพื่อหาอาหารอยู่ตลอดเวลา อาหารได้แก่ น้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้ แมลง ตัวหนอน และแมงมุม

                     ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปกระเปาะแขวนตามกิ่งไม้ในระดับที่ไม่สูงมากนัก มีทางเข้าออกทางด้านข้าง วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยใบไม้ ใบหญ้า และดอกหญ้า โดยเชื่อมวัสดุให้ติดกันด้วยใยแมงมุม วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาดไข่ 1.23×1.67 ซม. ไข่สีนวล ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

                     ชื่อชนิด trigonostigma เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า trigon,-o หรือ trigonos แปลว่า สามเหลี่ยม และคำว่า stigm,=a,-at,-ato,-o หรือ stigme แปลว่า ลาย ความหมายก็คือ“นกที่มีลายเป็นรูปสามเหลี่ยมบริเวณหลังและตะโพก” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่ประเทศมาเลเซีย

                     ทั่วโลกพบกว่า 15 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                     – ชนิดย่อย rubropygium Stuart Baker, 1921 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์2คำ คือ คำว่า rubr,-i หรือ ruber เป็นรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่า สีแดง และคำว่า pyg,=a,-o หรือ puge เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่า ตะโพก ความหมายก็คือ“บริเวณตะโพกเป็นสีแดง” โดยพบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ประเทศเมียนมา ในไทยพบทางภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตั้งแต่ จ.ระนอง จนถึง จ.กระบี่ แพร่กระจายในบังกลาเทศตอนใต้ เมียนมาตอนใต้ และไทย

                     – ชนิดย่อย trigonostigma Scopoli, 1786 ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชนิด ในไทยพบทางภาคใต้ในส่วนที่เหลือจากชนิดย่อยแรก แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะ Satellite

                     ทั่วโลกพบสกุลนี้ 42 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามแหล่งพื้นที่กสิกรรมต่างๆ สวนผลไม้ ป่ารุ่น สวนป่า ชายป่า ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 900 เมตร

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

5. นกกาฝากอกเหลือง

ชื่อสามัญ : Yellow-breasted Flowerpecker

ชื่ออื่นๆ : Yellow-throated Flowerpecker

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prionochilus maculatus Temminck, 1836

วงศ์ : Dicaeidae

นกกาฝากอกเหลือง ชนิดย่อย septentrionalis

                             เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 9.5-10 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากหนา ลำตัวด้านบนสีเขียวแกมเหลือง ปีกสีเหลืองมากกว่า มีจุดใหญ่กลางกระหม่อมเป็นสีส้มแดง แถบหนวดสีขาว มีเส้นสีดำจากมุมปากต่อเนื่องกับขีดหนาสีเขียวอ่อนจนถึงสีเขียวคล้ำแกมดำกระจายที่อกและข้างลำตัว ลำตัวด้านล่างสีเหลือง

                     ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายกับตัวไม่เต็มวัยของนกกาฝากอกแดง(Scarlet-breasted Flowerpecker) ซึ่งยากที่จะแยกชนิดได้ แต่ต่างกันตรงที่ชนิดนี้บริเวณอกตอนล่างและท้องมีสีเหลืองมากกว่าลำตัวด้านล่างส่วนอื่นๆ

                     อาจพบเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆ อาศัยและหากินตามพุ่มไม้และยอดไม้ กินน้ำหวานจากดอกไม้โดยเฉพาะดอกของพืชกาฝาก และผลไม้เนื้ออ่อน นอกจากนี้ยังกินแมลงที่มาตอมดอกไม้และแมงมุม บางครั้งพบกระโดดไปมาตามกิ่งไม้เพื่อจิกแมลงและตัวหนอนต่างๆ โดยส่งเสียงร้องดังว่า“ทชิชิชีท”

                     ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังห้อยหรือแขวนตามกิ่งไม้ที่อยู่สูงจากพื้นดินราว 3-6 เมตร ปกติจะสร้างรังตามกิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบ รังเป็นรูปกระเปาะ กว้าง 6-7 ซม. ยาว 8-10 ซม. มีทางเข้าออกด้านข้าง วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยดอกหญ้า ใบหญ้า ใบไม้ เส้นใยมะพร้าว และใยแมงมุม นกจะนำวัสดุเหล่านี้มาสานสอดเข้าด้วยกัน หรือเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม วางไข่ครั้งละ 3 ฟอง ไข่สีนวล ไม่มีจุดหรือลายใดๆ ทั้งตัวผู้ตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

                     ชื่อชนิด maculatus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือคำว่า =macula,-t หรือ maculare แปลว่า ลายจุด ความหมายก็คือ“นกที่มีลายเป็นลายจุด” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย

นกกาฝากอกเหลือง ชนิดย่อย septentrionalis

                     ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                     – ชนิดย่อย obitus Mayr, 1938 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า obit,=us แปลว่า ลักษณะใกล้เคียงกัน ความหมายก็คือ“ลักษณะคล้ายกับนกชนิดย่อยอื่นๆ” โดยพบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ประเทศมาเลเซีย ในไทยพบตั้งแต่ จ.ตรัง ลงไป แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย

                     – ชนิดย่อย septentrionalis Robinson and Boden Kloss. 1921 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า septentrion,-al แปลว่า ตอนเหนือ ความหมายก็คือ“นกที่พบทางตอนเหนือ” โดยพบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ จ.ระนอง ประเทศไทย ในไทยพบทางภาคใต้ตอนบนจาก จ.ระนอง จนถึง จ.ตรัง แพร่กระจายในเมียนมา และไทย

                     ทั่วโลกพบสกุลนี้ 6 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่ารุ่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,600 เมตร

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

6. นกโพระดกคางแดง

ชื่อสามัญ : Red-throated Barbet

ชื่ออื่นๆ : Gaudy Barbet

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psilopogon mystacophanos Temminck, 1824

ชื่อพ้อง : Megalaima mystacophanos Temminck, 1824

วงศ์ : Megalaimidae

นกโพระดกคางแดง ตัวผู้

                             เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 20-24 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากยาว และลำตัวสีเขียว ตัวผู้มีคอสีแดง ต่อด้วยแถบสีน้ำเงินและแต้มเล็กๆสีแดงที่ข้างคอ หน้าผากสีเหลือง แถบตาสีดำ ท้ายทอยสีแดง ส่วนตัวเมียมีลำตัวสีเขียว หน้าและคอมีสีฟ้าจางๆ ท้ายทอยมีแถบสีแดงจางๆ

                             มักพบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรืออาจพบอยู่รวมกันเป็นฝูงในต้นไม้ที่กำลังออกผลสุกและเป็นชนิดผลไม้ที่ชื่นชอบ ปกติมองเห็นตัวได้ยาก เพราะสีกลมกลืนกับสีของใบไม้ แต่มักจะได้ยินเสียงร้องเป็นประจำ

                             อาหารได้แก่ ผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะไทร หว้า ตะขบ และส้านใบเล็ก โดยจะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้ยังกินกลีบดอกและน้ำหวานของดอกไม้บางชนิด เช่น ทองกวาว ทองหลาง และงิ้ว เป็นต้น บางครั้งก็กินแมลงและสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ เช่น กิ้งก่า ปาด เป็นต้น

                     เสียงร้องก้องดังติดต่อกันว่า“ชุก-ชุก”

                             ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงของต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ตอไม้ หรือต้นไม้ผุ แต่บางครั้งก็พบทำรังในต้นไม้เนื้ออ่อนที่ยังมีชีวิตอยู่ ปกติจะขุดโพรงเอง แต่ก็อาจใช้โพรงที่เกิดเองตามธรรมชาติ หรือโพรงที่นกและสัตว์อื่นทำทิ้งเอาไว้ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ไข่รูปรียาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

นกโพระดกคางแดง ตัวเมีย

                     ชื่อชนิด mystacophanos เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า myst,-ac,=ax,-ic หรือ mustax แปลว่า เครา หรือคาง และคำว่า phanos หรือ phaino แปลว่า สดใส ความหมายก็คือ“นกที่มีเคราหรือคางเด่น หรือมีสีสดใส” พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

                     ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย mystacophanos Temminck, 1824 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด

                     ทั่วโลกพบสกุลนี้ 32 ชนิด ในไทยพบ 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบชื้นและพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 750 เมตร ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไปทางภาคใต้

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

                     แพร่กระจายในเมียนมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

7. นกกินปลีคอสีน้ำตาล

ชื่อสามัญ : Brown-throated Sunbird

ชื่ออื่นๆ : Plain-throated Sunbird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthreptes malacensis Scopoli, 1786

วงศ์ : Nectariniidae

นกกินปลีคอสีน้ำตาล ตัวเมีย

                             เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 13.5-14 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้ด้านข้างของหัวถึงหลังตอนบนมีสีเขียวแกมเหลืองจนถึงสีเขียวเข้มเหลือบเป็นมัน ข้างแก้มและคอสีน้ำตาล กลางคอจางหรือแกมขาวกว่าส่วนอื่น แถบหนวดและไหล่มีสีม่วงเหลือบเป็นมัน โคนปีกสีน้ำตาลแดง ตะโพกและขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีน้ำเงินแกมม่วงเหลือบเป็นมัน และมีลายแต้มเล็กน้อยสีเขียวบริเวณขนคลุมปีก ลำตัวด้านล่างสีเหลืองเข้ม หางสีเขียวคล้ำ นกตัวผู้ในช่วงเวลาที่ถูกแสงแดดจะมีสีสันสวยงาม แต่หากเกาะในที่ร่มครึ้มจะเห็นเป็นสีมืดๆที่มีท้องเหลืองเท่านั้น

                             ส่วนตัวเมียมีขนาดใหญ่ว่านกกินปลีอกเหลือง(Olive-backed Sunbird) ลำตัวด้านบนสีเหลืองแกมเขียว ลำตัวด้านล่างสีเหลืองแกมเขียวสด เหนือตาและใต้ตามีเส้นสีเหลืองอ่อนคล้ายวงตา แต่ไม่ต่อเนื่องกัน ปลายหางไม่มีสีจาง อาจมีสีขาวบริเวณขอบตอนปลายขนหาง

                             มักพบเป็นคู่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแมลง นอกจากนี้ยังกินน้ำหวานจากดอกไม้ต่างๆอีกด้วย โดยเฉพาะน้ำหวานจากดอกมะพร้าว มันจะใช้ปากที่หนาและสั้น(เมื่อเทียบกับนกกินปลีชนิดอื่น)ง้างกลีบดอกมะพร้าวที่หนาออก แล้วใช้ลิ้นยาวๆของมันเลียกินน้ำหวาน หาอาหารด้วยการบินไปเกาะตามยอดไม้หรือดอกไม้ คอยจิกแมลงต่างๆที่มาตอมดอกไม้นั้น หรือใช้ปากสอดเข้าไปในดอกไม้เพื่อดูดกินน้ำหวาน

                             เสียงร้องแหลมก้องดัง ว่า“ชิป” และ“ชิป-ชิป-ชิป-ชิป-ชิป”

                     ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปกระเปาะตามกิ่งก้านของพุ่มไม้ที่อยู่สูงจากพื้นดินไม่มากนัก โดยรังด้านหัวและท้ายเรียว ตรงกลางป่อง ตอนท้ายอาจมีลักษณะคล้ายหางยื่นยาวออกไป มีทางเข้าออกรังอยู่ทางด้านข้าง วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยต้นหญ้า ใบหญ้า และใบไม้ โดยเชื่อมเข้ากันด้วยใยแมงมุม ภายในรังอาจรองพื้นด้วยดอกหญ้าและวัสดุอ่อนนุ่มต่างๆเพื่อรองรับไข่ วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ขนาดไข่ 1.40 x 1.80 ซม. ไข่สีชมพู มีลายขีดสีเทาและลายจุดสีดำค่อนข้างหนาแน่น เฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่หาวัสดุและสร้างรังทั้งหมด ส่วนตัวผู้จะคอยป้องกันอาณาเขตไม่ให้ตัวอื่นๆเข้าไปรบกวนหรือแย่งวัสดุทำรัง แต่ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

นกกินปลีคอสีน้ำตาล ตัวเมีย

                     ชื่อชนิด malacensis เป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ เมือง Malacca ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก

                                    ทั่วโลกพบประมาณ 16 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย malacensis Scopoli, 1786 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาเช่นเดียวกับชื่อชนิด

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ 14 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามพื้นราบ สวนสาธารณะ สวนผลไม้ พื้นที่เกษตรกรรม ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าชายหาด และป่าละเมาะ ในอดีตพบเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่ปัจจุบันพบได้ทุกภาค โดยพบประปรายในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

                             ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในเมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

8. นกกินปลีแก้มสีทับทิม

ชื่อสามัญ : Ruby-cheeked Sunbird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chalcoparia singalensis Gmelin, 1788

ชื่อพ้อง : Anthreptes singalensis Gmelin, 1788

วงศ์ : Nectariniidae

นกกินปลีแก้มสีทับทิม ชนิดย่อย interposita ตัวผู้

                             เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 10.5-11 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีม่านตาสีแดง ตัวผู้มีหัวและลำตัวด้านบนสีเขียวเหลือบเป็นมัน แก้มสีน้ำตาลแดงจนถึงสีแดงแกมสีทองแดงเหมือนกับทับทิม ใต้แก้มมีขนสีม่วงเหลือบ คอหอยและอกตอนบนสีน้ำตาลแดงแกมสีเนื้อ จนถึงสีส้ม อกตอนล่างและท้องสีเหลืองสด บริเวณขนคลุมขนปีก ตะโพก และขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีเขียวเป็นมัน

                     ส่วนตัวเมียมีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว สีเขียวแกมเหลือง จนถึงสีเขียวไพล คอหอยและอกสีน้ำตาลแดงแกมสีเนื้อ จนถึงสีส้ม แต่สีอ่อนกว่าตัวผู้เล็กน้อย ลำตัวด้านล่างสีเหลือง

                     ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่คอหอยและอกมีสีเหลือง ดูคล้ายนกกินปลีตัวเมียชนิดอื่น เช่น นกกินปลีอกเหลือง(Olive-backed Sunbird) นกกินปลีคอสีน้ำตาล(Brown-throated Sunbird) เป็นต้น

                     พบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ โดยจะกระโดดลัดเลาะไปตามเปลือกไม้และใบไม้เพื่อสำรวจหาแมลง นอกจากนี้มันยังสามารถตีปีกบินอยู่กับที่และห้อยโหนตีลังกาเพื่อจับแมลงกินได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว

                     ไม่ได้กินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหารหลัก แต่ยังชอบจับแมลงกินเป็นอาหารอีกด้วย

                     เสียงร้องดังว่า“วี-อิ๊ดซ” ฟังคล้ายเสียงนกกระจิ๊ดธรรมดา(Yellow-brown Warbler)

                     ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม ทำรังเป็นรูปกระเปาะหางยาวแขวนตามกิ่งก้านของไม้พุ่มที่ค่อนข้างทึบ หรือภายใต้ร่มเงาของไม้ต่างๆ โดยอยู่สูงจากพื้นดินไม่มากนัก วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยใบไม้ ใบหญ้า และต้นหญ้า โดยเชื่อมวัสดุให้ติดกันด้วยใยแมงมุม ภายในรังอาจรองพื้นด้วยดอกหญ้าหรือวัสดุอื่นๆที่อ่อนนุ่ม วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ขนาด 1.03×134 ซม. ไข่สีครีม มีลายจุดและลายคล้ายก้อนเมฆสีม่วงแกมเทา เฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่สร้างรัง ส่วนตัวผู้จะคอยป้องกันอาณาเขตไม่ให้ตัวอื่นๆเข้าไปรบกวนหรือแย่งวัสดุทำรัง แต่ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

นกกินปลีแก้มสีทับทิม ชนิดย่อย interposita ตัวผู้

                     ชื่อชนิด singalensis เป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศศรีลังกา ซึ่งชาวพื้นเมืองของศรีลังกา ภาษาอังกฤษเรียกว่า singalensis อันเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก

                     ทั่วโลกพบ 11 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่

                                    – ชนิดย่อย assamensis Kloss, 1930 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย อันเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลก ในไทยพบทางภาคเหนือ แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน เมียนมาตอนเหนือ และไทย

                                    – ชนิดย่อย internota Deignan, 1955 ชื่อชนิดย่อยอาจจะมาจากคำ2คำ คือคำว่า inter เป็นรากศัพท์ละติน แปลว่า ระหว่าง และคำว่า not,-o เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่า ทิศใต้ หรือภาคใต้ ความหมายก็คือ“นกที่พบระหว่างรอยต่อของภาค” โดยพบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ในไทยพบทางภาคตะวันตก และภาคกลางจนถึง จ.ระนอง แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ และไทย

                                    – ชนิดย่อย interposita Robinson & Kloss, 1921 ชื่อชนิดย่อยอาจจะมาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือคำว่า inter แปลว่า ระหว่าง และคำว่า posit แปลว่า สถานที่ ความหมายก็คือ“นกที่พบระหว่างพื้นที่2แห่ง” โดยพบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกบริเวณพื้นที่ระหว่าง จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.พังงา ในไทยพบตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป เป็นสัตว์ชนิดย่อยถิ่นเดียวในไทย

                                    – ชนิดย่อย koratensis Kloss, 1918 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ โคราช หรือ จ.นครราชสีมา ประเทศไทย อันเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลก ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในไทย ลาว และเวียดนาม

                     ทั่วโลกพบสกุลนี้เพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามป่าชายเลน สวนผลไม้ ชายป่า และใกล้น้ำตกในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,370 เมตร

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

9. นกปรอดโอ่งแก้มเทา

ชื่อสามัญ : Grey-cheeked Bubul

ชื่ออื่นๆ : Grey-cheeked Bearded Bubul , Olive White-throated Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alophoixus bres Lesson, 1832

วงศ์ : Pycnonotidae

นกปรอดโอ่งแก้มเทา

                     เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 21.5-22 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีหงอนสั้น แต่ไม่เด่นชัดเหมือนนกปรอดโอ่งชนิดอื่น หัวสีน้ำตาลแกมแดงเล็กน้อย หน้าและข้างแก้มสีเทา คอสีขาว อกสีเหลืองแกมเขียว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียวหรือสีไพล ปีกและหางออกน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างสีเหลืองคล้ำ ขนคลุมโคนขนหางด้านบนมีสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดง

                     ตัวไม่เต็มวัยมีแก้มสีน้ำตาล ปีกออกสีน้ำตาลแดงมากกว่า

                     พบเป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ อาศัยและหากินตามกิ่งไม้พุ่มไม้ที่ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก อาหารได้แก่ ผลไม้ หนอน และแมลง โดยมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่ต่างจากนกปรอดอื่นๆ

                             ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยตามกิ่งก้านของไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือกอไผ่ วัสดุทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า แล้วรองพื้นรังด้วยใบไม้และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่ง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

                     เสียงร้องแหลมสูงดังว่า“วี้-อี้ว-วิ-วิ-ดิ๊”

                     ชื่อชนิด bres เป็นชื่อที่ใช้เรียกนกชนิดนี้โดยเฉพาะ พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่ประเทศญี่ปุ่น

นกปรอดโอ่งแก้มเทา

                     ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย tephrogenys Jardine and Selby, 1833 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า tephr,-o หรือ tephra แปลว่า สีเทา และคำว่า geny,-o,=s แปลว่า คาง หรือขากรรไกร ความหมายก็คือ“นกที่มีคางเป็นสีเทา” พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ประเทศมาเลเซีย

                     ทั่วโลกพบสกุลนี้ 7 ชนิด ในไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบ ตลอดจนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯ 915 เมตร ทางภาคใต้

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

                     แพร่กระจายในเมียนมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

10. นกปรอดอกลายเกล็ด

ชื่อสามัญ : Scaly-breasted Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixidea squamatus Temminck, 1828

ชื่อพ้อง : Pycnonotus squamatus Temminck, 1828

วงศ์ : Pycnonotidae

นกปรอดอกลายเกล็ด

                     เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 14-16 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวสีดำ คอหอยและท้องสีขาว อกและข้างลำตัวมีลายเกล็ดสีดำขอบขาว ลำตัวด้านบนและตะโพกสีเหลืองไพล ก้นสีเหลืองสด หางสีดำ ปลายขนหางคู่นอกสีขาว

                     พบเป็นคู่หรือฝูงเล็กๆตามเรือนยอดของต้นไม้ ไม่ค่อยพบตามพุ่มไม้ อาหารได้แก่ ผลไม้ หนอน และแมลง โดยมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่ต่างจากนกปรอดอื่นๆ

                             ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยตามกิ่งก้านของไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือกอไผ่ วัสดุทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า แล้วรองพื้นรังด้วยใบไม้และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่ง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

                     เสียงร้องดังติดต่อกันเป็นชุดว่า“วิดๆๆๆๆๆ”

                    ชื่อชนิด squamatus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือคำว่า squam,=a,-at,-i,-o แปลว่า เกล็ด และคำว่า -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีลายเป็นเกล็ด” พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

นกปรอดอกลายเกล็ด

                     ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย weberi Hume, 1879 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ จ.ภูเก็ต

ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด

                     ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า ป่าดิบชื้น ตลอดจนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,000 เมตร ทางภาคใต้

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

                     แพร่กระจายในเมียนมา ไทย และมาเลเซีย

11. นกปรอดสีน้ำตาลตาแดง

ชื่อสามัญ : Red-eyed Bulbul

ชื่ออื่นๆ : Asian Red-eyed Bulbul , Red-eyed Brown Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus brunneus Blyth,1845

วงศ์ : Pycnonotidae

นกปรอดสีน้ำตาลตาแดง

                     เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 19 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมแดง ขนบริเวณหูสีน้ำตาล ไม่มีลายขีดใดๆ บริเวณคอหอย อก และขนคลุมโคนขนหางด้านล่างมีสีน้ำตาลแกมเหลือง ขนปีกสีน้ำตาล โดยมีสีไพลแต้ม

                     มีลักษณะคล้ายนกปรอดสีน้ำตาลตาขาว(Cream-vented Bulbul) แต่ต่างกันที่ชนิดนี้ตาสีแดงเข้ม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมแดงกว่าเล็กน้อย ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาล

                     ตัวไม่เต็มวัยมีลำตัวด้านบนสีจางกว่า ตาสีน้ำตาลแดง

                     มักพบเป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ อาหารได้แก่ ผลไม้ หนอน และแมลง โดยมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่ต่างจากนกปรอดอื่นๆ

                             ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน ทำรังเป็นรูปถ้วยตามกิ่งก้านของไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือกอไผ่ วัสดุทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า แล้วรองพื้นรังด้วยใบไม้และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่ง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

                     เสียงร้องแหบสูงและรัวดังว่า“พริ-พริ-พริ-พิ-พิด”

นกปรอดสีน้ำตาลตาแดง

                     ชื่อชนิด brunneus เป็นคำในภาษาละตินสมัยใหม่ แปลว่า สีน้ำตาล ความหมายก็คือ“นกที่มีสีน้ำตาล” พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศมาเลเซีย

                     ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย brunneus Blyth,1845ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด

                     ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 49 ชนิด ในไทยพบประมาณ 17 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่ารุ่น ชายป่า ป่าดิบชื้น และป่าโปร่งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,000 เมตร ทางภาคใต้

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

                     แพร่กระจายในเมียนมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

12. นกปรอดคอลาย

ชื่อท้องถิ่น : นกกรงคอลาย

ชื่อสามัญ : Stripe-throated Bulbul

ชื่ออื่นๆ : Streak-throated Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus finlaysoni Strickland, 1844

วงศ์ : Pycnonotidae

นกปรอดคอลาย ชนิดย่อย finlaysoni

                     เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 19-20 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและลำตัวด้นบนสีน้ำตาลแกมเขียว แถบตาสีดำ ลำตัวด้านบนสีเขียวแกมน้ำตาลหรือสีเขียวไพลแกมเหลือง ท้องตอนหน้าสีขาวแกมเทา ท้องทางด้านท้ายและก้นสีเหลือง หางยาว ขนคลุมใต้หางสีน้ำตาลอมเหลือง ลักษณะเด่นอยู่ที่หน้าผาก ใบหน้า และคอถึงอกตอนบนมีลายขีดสีเหลืองสดกระจายเห็นได้ชัดเจน

                     มักอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆ ออกหากินผลไม้ป่า หนอน และแมลง ตามพุ่มไม้รกๆ ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก และชอบส่งเสียงร้องดังเซ็งแซ่ให้ได้ยินอยู่ตลอดเวลา

                             ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยตามพุ่มไม้หรือกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ วัสดุทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ใบไม้ ใบหญ้า และต้นหญ้า รองพื้นรังด้วยใบไม้แห้ง ชีววิทยาการสืบพันธุ์ไม่แตกต่างจากนกปรอดอื่นๆ

                     เสียงร้องค่อนข้างแหบ แต่ไพเราะ ดังว่า“วีก-วี้ก-อิ-วีก” ปัจจุบันมีการลักลอบจับนำมาเลี้ยงเช่นเดียวกับนกปรอดหัวโขน(Red-whiskered Bulbul) หรือที่คนไทยทั่วไปมักเรียกว่า“นกกรงหัวจุก” ซึ่งนกชนิดนี้ชาวบ้านที่จับมาเลี้ยงตั้งชื่อเยใหม่ว่า“นกกรงคอลาย”

                     ชื่อชนิด finlaysoni มีที่มาจากชื่อของบุคคล คือ George Finlayson นักธรรมชาติวิทยาและศัลยแพทย์ชาวสก็อตแลนด์ ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศมาเลเซีย

นกปรอดคอลาย ชนิดย่อย finlaysoni)

                     ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                     – ชนิดย่อย eous Riley, 1940 ชื่อชนิดย่อยอาจมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือคำว่า eos แปลว่า เช้าตรู่ หรือทิศตะวันออก ความหมายก็คือ“นกที่พบทางด้านทิศตะวันออก” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเวียดนาม แพร่กระจายในจีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

                     – ชนิดย่อย finlaysoni Strickland, 1844 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาเช่นเดียวกับชื่อชนิด แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคใต้

                     พบตามชายป่า ทุ่งโล่ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 900 เมตร

                     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

การเดินทางและสิ่งอำนวยความสะดวก

                             น้ำตกกรุงชิงตั้งอยู่ที่ ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ อยู่ในพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ขล.3(น้ำตกกรุงชิง) อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช โดยอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 100 กิโลเมตร

บ้านพักฯ

                             จากตัวเมืองนครศรีธรรมราชไปตามทางหลวงหมายเลข 4015 แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4016 ผ่านทางเข้าน้ำตกพรหมโลก น้ำตก อ้ายเขียว น้ำตกยอดเหลือง ถึงทางแยกนาเหรงก็ไปตามทางหลวงหมายเลข 4186 จนถึงบ้านห้วยพาน จึงเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4188 ก็จะพบป้ายทางเข้าน้ำตกกรุงชิงอยู่ทางซ้ายมืออีกราว 15 กิโลเมตร(รวมระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร)

                             บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ขล.3(น้ำตกกรุงชิง) มีสถานที่กางเต็นท์ ห้องน้ำ บ้านพัก และร้านค้าสวัสดิการ

หนานฝนแสนห่า

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..