พรรณไม้และสัตว์ป่า..ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
นั่งเล่นริมน้ำคลายร้อนที่ห้วยซ่งไท้
ในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนและผองเพื่อนพี่น้อง ได้มีโอกาสเข้าไปท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก หลายคนบอกว่าฤดูร้อนเช่นนี้คงมีอากาศร้อนตับแลบไม่น้อย ใช่เลยครับว่าช่วงนั่งรถกระบะ4WDเข้าไปนั้น แดดที่ร้อนแรงเล่นเอาคนที่นั่งกระบะตอนหลังที่ไม่มีหลังคารู้สึกแผดเผาจนไม่กล้าเงยหน้าชมวิวสองข้างทาง แต่ต่อเมื่อถึงหน่วยฯทินวย ซึ่งเป็นด่านแรกของเขตรักษาพันธุ์ฯทุ่งใหญ่นเรศวรฯ และใกล้ๆกันยังเป็นที่ตั้งของที่ทำการเขตฯ สภาพป่าที่ร่มรื่นไปด้วยไม้น้อยใหญ่ มีสายลมโชยมาตลอดเวลาทำให้อากาศเย็นสบาย และเสียงเหล่าสกุณาที่ร่ำร้องขับขานรับต่อกันเป็นทอดๆ ทำให้พวกเราเพลิดเพลินและรู้สึกตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยือนผืนป่าใหญ่แห่งนี้อีกครั้ง บริเวณหน่วยฯแห่งนี้มีลานกางเต็นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งห้องน้ำ-ห้องสุขาที่มีอยู่อย่างพอเพียง นอกจากนี้ยังมีบริการให้เช่าเต็นท์ขนาด 2-3 คน พร้อมเครื่องนอน รวมทั้งมีบริการให้เช่ากล้องส่องดูนกแบบ2ตา แบบตาเดี่ยว และหนังสือดูนก ปกติจะมีนักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบดูนกเดินทางมาท่องเที่ยวกันอยู่เป็นประจำ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกในพื้นที่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ และ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,331,602 ไร่(หรือ 2,123 ตร.กม.)
ทิศเหนือ จรดเขตรักษาพันธุ์ฯอุ้มผาง จ.ตาก
ทิศใต้ จรดอุทยานฯเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานฯลำคลองงู และอุทยานฯเขาแหลม จ.กาญจนบุรี
ทิศตะวันออก จรดเขตรักษาพันธุ์ฯห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และเขตรักษาพันธุ์ฯทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จ.ตาก
ทิศตะวันตก จรดอุทยานฯเขาแหลม จ.กาญจนบุรี และประเทศเมียนมา
ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกตั้งอยู่ทางตอนล่างของเทือกเขาตะนาวศรี ลักษณะของภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อน และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของลำน้ำแควน้อยและลำน้ำแควใหญ่ มียอดเขาใหญ่(ไถ่ผะ) สูงจากระดับทะเลฯ 1,830 เมตร เป็นยอดเขาสูงสุด ทิวเขาส่วนใหญ่วางพาดจากเหนือลงสู่ใต้ พื้นที่ที่มีลักษณะเด่นคือพื้นที่ราบสูงสลับเนินเขาและแนวเขาหินปูน ได้แก่ ทุ่งใหญ่ ทุ่งกระทิง บริเวณตอนกลางของพื้นที่เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย ได้แก่ ห้วยโรคี่ และแม่น้ำรันตี ไหลลงลำแควน้อย ห้วยเซซาโว่ ห้วยดงวี่ และห้วยซ่งไท้ ไหลลงสู่ลำน้ำแคว ห้วยหม่องดง แม่น้ำแม่กษัตริย์ใหญ่ และแม่น้ำสุริยะไหลลงสู่ประเทศเมียนมา พื้นที่ตอนล่างเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของห้วยลำคลองงู และห้วยดีกะ(ห้วยคลิตี้)
ต่างคงรู้กันดีว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ มีความต่อเนื่องและเป็นแกนกลางของผืนป่าตะวันตก ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อุทัยธานี จ.กาญจนบุรี และจ.ตาก เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายหลักของประเทศหลายสาย เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำท่าจีน และบางส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นผืนป่าธรรมชาติที่รวบรวมไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ มีความงดงามตามธรรมชาติและมีความสมบูรณ์ โดยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในปี พ.ศ.2543
ความสำคัญของป่าอนุรักษ์ทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ได้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ตลอดจนนักวิจัยชาวไทยและชาวต่างชาติว่าเป็นผืนป่าธรรมชาติที่รวมไว้ซึ่งความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ตลอดจนแมลงป่าอีกหลายชนิด ตัวอย่างเช่น จากการสำรวจของผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ของประเทศอังกฤษในช่วงเวลาเพียง 2-3 วัน ในพื้นที่โดยประมาณ 1 ตร.กม. ของป่าดงดิบชื้นในหุบเขาแม่จัน เขตรักษาพันธุ์ฯทุ่งใหญ่นเรศวร ปรากฏว่าเฉพาะด้วงปีกแข็งอย่างเดียว มีอยู่ถึง 10,000 ชนิด ผลจากการสำรวจในครั้งนั้นรวมกับการสำรวจแมลงโดยผู้เชี่ยวชาญแมลงในครั้งก่อนๆเท่าที่ได้ทำมาแล้วในป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง สามารถกล่าวได้ว่าป่าแห่งนี้ได้เป็นที่รวมเอาความหลากหลายของแมลงชนิดต่างๆที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียอาคเนย์ แมลงบางชนิดที่ได้สำรวจพบแล้ว เป็นแมลงที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน หรือบางชนิดก็เป็นชนิดที่หาอยากมากในภูมิภาคแห่งนี้ บางชนิดกำลังได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศว่าเป็นแมลงชนิดใหม่หรือไม่ เพราะยังไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของแมลงที่ได้ถูกกำหนดว่าเป็นสัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 แต่ก็มีความสำคัญและน่าสนใจในการศึกษาวิวัฒนาการตามธรรมชาติของป่าไม้และ สัตว์ป่าที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อความสมดุลตามธรรมชาติ
โป่งเทียม ณ หน่วยฯทิคอง
ส่วนด้านพรรณไม้นั้น ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันท์ เขียนไว้ในบทความเรื่องสภาพพันธุ์พืชในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2530 ว่าเป็นที่รวมของพันธุ์พืชของ 3 เขตภูมิศาสตร์คือ Indo Burma , Annametic และ Malasia และมีพืชประจำถิ่นที่หายากไม่น้อยกว่า 50 ชนิด และจากผลการสำรวจของ ดร.จิรายุพิณ จันทรประสงค์ และคณะจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ & nbsp ในช่วงเวลาเพียง 5 วัน ก็ได้พบพืชประจำถิ่น(endemic species) เพิ่มขึ้นอีก 6 ชนิด ผลจากการศึกษาที่ผ่านมาถึงแม้จะยังไม่ได้ทำกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็สามารถกล่าวได้ว่าป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง เป็นศูนย์รวมการการกระจายของพืชพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อย่างแท้จริง
จากหน่วยฯทินวย ซึ่งเป็นด่านแรกของเส้นทางสายนี้ เรานั่งรถมุ่งหน้าสู่หน่วยฯทิคองที่อยู่ลึกเข้าไปราว20กว่ากิโลฯ แต่ต้องใช้เวลาร่วม2ชั่วโมง ด้วยสภาพถนนในป่าตามธรรมชาติ ราวเที่ยงกว่าเราก็ถึงหน่วยฯทิคอง เป็นหน่วยฯเล็กๆที่เราตั้งใจมาพักกัน4วัน3คืน มีสถานที่กางเต็นท์และห้องน้ำห้องสุขาไว้รองรับ รวมทั้งไฟฟ้าจากโซลาร์เซล ด้านหน้าที่ทำการหน่วยฯยังมีโป่งเทียมเล็กๆไว้ให้สัตว์ป่า ดูจากร่องรอยเท้าที่ลงมากินโป่งก็พบมีแต่เก้งและกวาง ยิ่งยามนี้ที่มีแสงแดดแรงกล้า เหล่าผีเสื้อหลากชนิดก็ลงมาดูดเกลือแร่กันอย่างเอร็ดอร่อย และฝั่งตรงข้ามก็ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ รวมทั้งโป่งใหญ่อีกแห่ง โดยบ่ายวันนี้จะเดินศึกษาธรรมชาติรอบๆหน่วยฯ พรุ่งนี้จึงจะเดินลึกเข้าไปตามทางถนน แล้วนัดรถให้เข้าไปรับ ก่อนนั่งรถไปสู่หน่วยฯซ่งไท้(มหาราช) ที่แต่เดิมเป็นที่ตั้งของที่การเขตฯ ก่อนกลับมาพักที่หน่วยฯทิคอง วันต่อไปก็จะเดินย้อนกลับไปตามทางที่เรานั่งรถเข้ามาจากหน่วยฯทินวย แล้วให้รถไปรับกลับมา ส่วนวันสุดท้ายก็จะนั่งรถออกจากป่า โดยกำหนดว่าจะไปปล่อยให้เราเดินแถวๆป่าดิบแล้งก่อนถึงหน่วยฯทินวยราวๆ 5-6 กม.
จากหน่วยฯทิคอง ออกเดินชมธรรมชาติในยามเช้า
ตลอดระยะเวลา4วัน3คืนในป่าแห่งนี้ เราได้พบพรรณไม้และสัตว์ป่ามากมาย เฉพาะที่บันทึกภาพได้นั้น แบ่งออกเป็นพรรณไม้(ที่เด่นสะดุดตา) 25 ชนิด(ไม้ป่าทั่วไป 16 ชนิด และกล้วยไม้ 9 ชนิด) และสัตว์ป่า 49 ชนิด(สัตว์ป่าทั่วไป 5 ชนิด , แมงและแมลง 26 ชนิด และนก 18 ชนิด)
ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(16 ชนิด) , กล้วยไม้(9 ชนิด) , สัตว์ป่าทั่วไป(5 ชนิด) แมงและแมลง(29 ชนิด) และนก(18 ชนิด) โดยเรียงลำดับตามวงศ์ วงศ์ย่อย สกุล และชนิด
พรรณไม้ป่า
บันทึกภาพได้ 16 ชนิด(เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผล/ต้นที่เด่นสะดุดตา) ได้แก่
1. โมกใหญ่
ชื่อท้องถิ่น : มูกมันน้อย , มูกมันหลวง , มูกหลวง , โมกเขา , โมกทุ่ง , โมกหลวง(ภาคเหนือ) ; ซอที , พอแก , ส่าตี(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; หนามเนื้อ(เงี้ยว-ภาคเหนือ) ; ยางพูด(เลย) ; พุทธรักษา(เพชรบุรี) ; พุด(กาญจนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don
วงศ์ : Apocynaceae
โมกใหญ่
โมกใหญ่
โมกใหญ่
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 5-15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกทยอยบานใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ขนาดดอก 1.5-3.5 ซม. กลิ่นหอม ดอกบานเพียงวันเดียวก็เริ่มโรย ดอกสีขาวนวล กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาล
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,100 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และทวีปแอฟริกาด้านตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อสกุล Holarrhena มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า holos แปลว่า ทั้งหมด และคำว่า arrhen แปลว่า เพศชาย ความหมายก็คือ“เกสรตัวผู้ทั้งหมดอยู่ภายในหลอดกลีบดอก” ส่วนชื่อชนิด pubescens แปลว่า ขนสั้นนุ่ม หมายถึงขนตามกิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนสั้นนุ่ม
2. Ophiopogon sp.
วงศ์ : Asparagaceae
Ophiopogon sp.
Ophiopogon sp.
ยังไม่รู้ชนิด คงรู้แต่ว่าพืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 81 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 10 ชนิด
3. เป้งดอย
ชื่อท้องถิ่น : เป้ง , เป้งนา , เป้งบก , เป้งป่า(ภาคเหนือ) ; ตุหลุโคดือ , หน่อไคว้เส่(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phoenix loureiri Kunth.
วงศ์ : Arecaceae
เป้งดอย
เป้งดอย
ส่วนมากมีลำต้นเดี่ยว หากขึ้นในที่โล่งหรือบนเขาหินปูนจะมีลำต้นเล็กและเรือนยอดเล็ก ถ้าไม่มีลำต้นโผล่พ้นดินก็จะมีลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน แต่หากขึ้นตามพื้นที่ที่ไม่มีไฟป่าจะสูงได้ถึง 6 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มีใบย่อยข้างละ 25-130 ใบ ใบย่อยออกเป็นกระจุก 3-4 ใบ รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อระหว่างกาบใบใกล้โคนต้น ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกสีขาวครีม ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยงอัดกันแน่น ช่อดอกเพศผู้มีช่อย่อย 25-30 ช่อ ดอกย่อยเพศผู้มีขนาด 2-4 ซม. ส่วนช่อดอกเพศเมียนั้นมีขนาดดอก 0.3-0.4 ซม. ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกรกฎาคม ผลออกเป็นช่อโค้งลง ผลย่อยรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีเนื้อหุ้มบางๆด้านนอก ผลสุกสีแดงเข้มเกือบดำ มีเมล็ดเดียว ผลสุกทานได้ มีรสหวานชุ่มคอคล้ายลูกหว้า
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,500 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ และพบมากทางภาคเหนือ
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และฟิลิปปินส์
ชื่อสกุล Phoenix มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณคำว่า phoinix หรือ phoinikos ที่ใช้เรียกต้นอินทผลัม
4. คำยอด
ชื่อท้องถิ่น : ผักขนนกดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Youngia japonica (L.) DC.
วงศ์ : Asteraceae
คำยอด
คำยอด
ไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว สูง 10-150 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มักออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้นใกล้พื้น รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นตามปลายยอด ช่อดอกย่อยเป็นช่อกระจุก ช่อละ 10-25 ดอก ขนาดดอก 0.7-1.3 ซม. ดอกสีเหลืองสด กลีบดอกเรียงซ้อนกันแน่น ออกดอกในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนเมษายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 42 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นทั่วไปตามที่รกร้าง ริมทาง ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก
แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ทิเบต จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
5. ปรงป่า
ชื่อท้องถิ่น : ผักกูดบก(ภาคเหนือ) ; โกโล่โคดึ , ตาซูจือดึ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; กุ้นผง(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ปรงเหลี่ยม(ตราด) ; ตาลปัตรฤาษี(ภาคตะวันตก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cycas siamensis Miq.
วงศ์ : Cycadaceae
ปรงป่า
ปรงป่า
ไม้ยืนต้น ลำต้นตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายต้นปาล์มหรือต้นมะพร้าว สูง 1.5-3 เมตร บางครั้งพบสูงได้ถึง 6 เมตร ปลายยอดต้นแก่มักแตกกิ่งก้านออกเป็นหลายยอด ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว(ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงกันข้าม) โดยออกเป็นกระจุกตามปลายยอด มีใบย่อย 50-110(140) คู่ ใบย่อยเป็นรูปเส้นแคบยาว เป็นพืชไม่มีดอก คงมีแต่กาบดอกซึ่งแยกเพศอยู่คนละต้น โคน(Cone)เพศผู้มักจะออกก่อนเพศเมีย โดยเป็นรูปโคมยาวแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-8.5 ซม. ยาว 10-30 ซม. ส่วนโคน(Cone)เพศเมียแผ่เป็นแผ่นคล้ายกาบ กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 10-10.5 ซม. ออกดอกในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนมกราคม บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาล
cone เพศเมีย
ทั่วโลกพบวงศ์นี้เพียง 1 สกุล ประมาณ 117 ชนิด ในไทยพบประมาณ 12 ชนิด ปรงป่าตัวผู้จะพบขึ้นตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีกรวดลูกรังหรือโขดหินแกรนิตในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 20-1,000 เมตร ส่วนปรงป่าตัวเมียจะพบในป่าเสื่อมโทรมและสภาพป่าเช่นเดียวกับปรงป่าตัวผู้ แต่มีความสูงจากระดับทะเลฯต่ำกว่า 500 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
แพร่กระจายในเมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
6. ส้านหลวง
ชื่อท้องถิ่น : มะส้านหลวง , มะส้านหิ่ง , ส้านแว้(เชียงใหม่) ; ปังดาว(ละว้า-เชียงใหม่) ; มะส้าน(เลย , นครราชสีมา) ; ส้าน(ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dillenia aurea Sm.
วงศ์ : Dilleniaceae
ส้านหลวง
ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 4-15 เมตร บางครั้งพบสูงได้ถึง 30 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปไข่แกมรูปรี รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ออกดอกก่อนผลิใบหรือพร้อมใบ โดยออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกละ2ดอกตามปลายกิ่งสั้นๆ ขนาดดอก 10-13 ซม. ดอกสีเหลืองสด กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 60 ชนิด ในไทยพบ 11 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับฯทะเลตั้งแต่ 200-1,300 เมตร ส่วนใหญ่พบตามริมลำธาร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา
ชื่อสกุล Dillenia ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Johann Jacob Dillen (ค.ศ.1684-1747) นักพฤกษศาสตร์และแพทย์ชาวอังกฤษ และเป็นประธานคนแรกของสมาคมพฤกษศาสตร์แห่งลอนดอน
7. กระพี้หยวก
ชื่อท้องถิ่น : กะปี(สุรินทร์) ; อีเม็ง(อุบลราชธานี) ; ขี้มอด , ประดงเหลือง(ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia lanceolaria Niyomdham & P.H.Hô
วงศ์ : Fabaceae
กระพี้หยวก
กระพี้หยวก
กระพี้หยวก
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มีใบย่อย 7-13 ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกรูปดอกถั่ว ขนาดดอก 0.6-0.7 ซม. สีขาว หรือสีขาวแกมม่วงน้ำเงิน กลีบดอก5 ออกดอกในราวเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 274 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 21ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 75-500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก
แพร่กระจายในเมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ชื่อสกุล Dalbergia ตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน Carl Gustav Dahlberg (ค.ศ.1753-1775) และพี่ชาย Nils E. Dahlberg (ค.ศ.1730-1820)
8. ซ้อ
ชื่อท้องถิ่น : เฝิง(ภาคเหนือ) ; แต้งขาว(เชียงใหม่) ; แม่ะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; เป้านก(อุตรดิตถ์) ; สันปลาช่อน(สุโขทัย) ; แก้มอ้น(อุดรธานี , นครราชสีมา) ; ท้องแมว(สุพรรณบุรี , ราชบุรี) ; กำม่าทุ , ร่มม้า , รำม้า(กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร , กาญจนบุรี) ; ม้าเหล็ก(ละว้า-กาญจนบุรี) ; ช้องแมว(ชุมพร) ; เมา(สุราษฎร์ธานี) ; เซาะแมว(มลายู-นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gmelina arborea Roxb. ex Sm.
วงศ์ : Lamiaceae
ซ้อ
ซ้อ
ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 15-30 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก โดยออกเป็นกลุ่มตามปลายกิ่งก้าน รูปหัวใจ หรือรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงสั้นๆตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกบานเพียงไม่กี่วันก็หลุดร่วงหล่น ขนาดดอก 2.5-3.5 ซม. ดอกสีน้ำตาลแดง กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 32 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นทั่วไปตามพื้นที่กึ่งโล่งแจ้งในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน เนปาล ภูฎาน จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ชื่อสกุล Gmelina ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Johann George Gmelin (ค.ศ.1709-1755) นักพฤกษศาสตร์และนักธรณีวิทยาชาวเยอรมัน
9. อินทนิลบก
ชื่อท้องถิ่น : จ้อล่อ , จะล่อ , จะล่อหูกวาง , หูกวาง(ภาคเหนือ) ; ปะหน่าฮอ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; กาเสลา , กาเสา(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; กากะเลา(อุบลฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia macrocarpa Kurz
วงศ์ : Lythraceae
อินทนิลบก
อินทนิลบก
ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 8-20 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่กลับ รูปรีป้อมๆ รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตั้งตรงตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 6-12 ซม. ดอกสีม่วงสด แล้วค่อยๆซีดจนออกสีชมพูอมม่วง และสีชมพูแกมขาว ก่อนหลุดร่วง กลีบดอก6กลีบ ออกดอกในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 48 ชนิด ในไทยพบประมาณ 17 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
แพร่กระจายในบังกลาเทศ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ชื่อสกุล Lagerstroemia ตั้งโดย Carl Linnaeus (ค.ศ.1707-1778) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน และเป็นบิดาทางอนุกรมวิธาน ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Magnus von Lagerstrom (ค.ศ.1696-1769) พ่อค้าและนักสำรวจชาวสวีเดนที่เก็บตัวอย่างพรรณไม้สกุลนี้
10. โคลงเคลงขี้นก
ชื่อท้องถิ่น : อ้า , อ้าหลวง(ภาคเหนือ) ; กะช้างลิ , ตะลาเด๊าะ , ปอฮี้แท้(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ซอลาเปล(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; อี้สี่(มูเซอ-เชียงใหม่) ; ซือจือท่ง(ม้ง-แพร่) ; ซิซะโพะ(กะเหรี่ยง-กาญจนฯ) ; ขันก๋าง(เพชรบูรณ์) ; โคลงเคลงขี้หมา(ตราด) ; จุกนารี(กทม.) ; เบร์ , มะเหร , มังเคร่ , มังเร้ , สาเร , สำเร(ภาคใต้) ; กะดูดุ , กาดูโด๊ะ(มลายู-ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melastoma malabathricum L.
วงศ์ : Melastomataceae
โคลงเคลงขี้นก
โคลงเคลงขี้นก
โคลงเคลงขี้นก
ไม้พุ่มผลัดใบ สูง 1-4 เมตร บางครั้งพบสูงได้ถึง 6 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปยาวรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง ช่อละ 3-7 ดอก ขนาดดอก 4-5 ซม. ดอกสีชมพูเข้ม สีชมพูอมม่วง สีม่วงอมชมพู หรือสีม่วงแดง ส่วนน้อยเป็นดอกสีขาว กลีบดอก5กลีบ ปกติออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนกรกฎาคม บางครั้งอาจพบได้ในช่วงนอกฤดูกาล
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 100 ชนิด ในไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นราบที่ชุ่มชื้น ขอบป่าพรุ พื้นที่โล่งแจ้งบริเวณทุ่งหญ้า ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ทิเบต จีน ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก
ชื่อสกุล Melastoma มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า melas แปลว่า สีดำ และคำว่า stoma แปลว่า ปาก จากลักษณะผลของพืชสกุลนี้บางชนิด เมื่อทานผลเข้าไป ทำให้ปากดำ
11. คำบอกหลวง
ชื่อท้องถิ่น : คำมอกช้าง , คำมอกหลวง(ภาคเหนือ) ; แสลงหอมไก๋ , หอมไก๋(ลำปาง) ; ไข่เน่า(นครพนม) ; ผ่าด้าม , ยางมอกใหญ่(นครราชสีมา) ; ยางบอกใหญ่(กทม.)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gardenia sootepensis Hutch.
วงศ์ : Rubiaceae
คำบอกหลวง
คำบอกหลวง
ไม้ยืนต้น สูง 5-20 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเดี่ยวตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ขนาดดอก 5-10 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ก่อนมีกลิ่นหอมแรงเมื่อดอกใกล้ร่วงโรย โดยดอกบานเพียง 1-2 วัน ก็ร่วงโรย ดอกสีขาวนวลหรือสีเขียวอ่อนเมื่อแรกบาน ก่อนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดหรือสีเหลืองทอง กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนมกราคม – เดือนกันยายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 128 ชนิด ในไทยพบ 13 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามหุบเขาหรือที่ลาดชันใกล้ลำธารในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่อยู่สูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,600 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
แพร่กระจายใน จีนตอนใต้ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ชื่อสกุล Gardenia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Alexander Garden นักพฤกษศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยาชาวสก็อต ส่วนชื่อชนิด sootepensis หมายถึง ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ Dr.Kerr พบไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก
12. ยอดิน
ชื่อท้องถิ่น : สลักบ้าน , สลักป่า(ภาคเหนือ) ; ชรักดง , ติ่งใส(เชียงใหม่) ; สลัก(ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda angustifolia Roxb.
วงศ์ : Rubiaceae
ยอดิน
ยอดิน
ไม้พุ่ม สูง 1-6 เมตร แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปรี รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกทยอยบาน 1-3 ดอก ดอกสีขาว กลีบดอก 4-6 กลีบ ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนเมษายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 42 ชนิด ในไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมา ไทย และลาว
ชื่อสกุล Morinda มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า morus แปลว่า หม่อน และคำว่า indicus แปลว่า อินเดีย ตามชื่อสามัญ Indian mulberry
13. มะเนียงน้ำ
ชื่อท้องถิ่น : ขล่ำปอง , มะเกียน้ำ , หมากขล่ำปอง(ภาคเหนือ) ; จอหว่อปื่อ(ละว้า-เชียงใหม่) ; ปวกน้ำ(ลำปาง) ; จอบือ(กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร) ; โปตานา(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aesculus assamica Griff.
วงศ์ : Sapindaceae
มะเนียงน้ำ
มะเนียงน้ำ
มะเนียงน้ำ
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 15–30 ม. ใบประกอบรูปพัดหรือรูปฝ่ามือ ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม มีใบย่อย 5–9 ใบ รูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับแคบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนง มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 2.5-3 ซม. ดอกสีขาว และมีปื้นสีเหลือง หรือสีชมพูที่โคนกลีบ กลีบดอก4กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม
ทั่วโลกพบ 12 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง หรือตามที่ลาดชันในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,300 เมตร ทางภาคเหนือ และ จ.กาญจนบุรี
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม
ชื่อสกุล Aesculus เป็นภาษาละตินที่ใช้เรียกพืชคล้ายพวก oak ชนิดหนึ่ง
14. Tetrastigma sp.
วงศ์ : Vitaceae
Tetrastigma sp.
Tetrastigma sp.
ยังไม่รู้ชนิด คงรู้แต่ว่าพืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 137 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 31 ชนิด
15. ข่าโคมใหญ่
ชื่อท้องถิ่น : ข่าคม , ข่าป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia malaccensis (Burm.f.) Roscoe
วงศ์ : Zingiberaceae
ข่าโคมใหญ่
ข่าโคมใหญ่
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีหัวหรือเหง้าใต้ดิน ลำต้นเทียมขนาดใหญ่เกิดจากกาบใบซ้อนทับกันขึ้นมาสูงราว 1.5-3 เมตร บางครั้งพบสูงได้ถึง 4 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะตามปลายอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีขาวขุ่นปนเหลืองและแดง กลีบดอก3กลีบ มีเกสรตัวผู้เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก กลีบคู่ด้านข้างลดรูปคล้ายเขาขนาดสั้นหรือไม่มี อีก1กลีบเรียกกว่ากลีบปากหรือปากดอก รูปไข่กลับ สีเหลือง มีแถบและลายสีแดง ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนสิงหาคม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 246 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ ทิเบต จีน เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
ชื่อสกุล Alpinia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Prospero Alpino (ค.ศ.1553–1617) นักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาลี
16. มหากำลัง
ชื่อท้องถิ่น : ว่านชักมดลูกตัวผู้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma latifolia Roscoe
วงศ์ : Zingiberaceae
มหากำลัง
มหากำลัง
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน รูปไข่ ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 1.5-1.8 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปทรงกระบอกแทงขึ้นมาจากเหง้าและแทรกระหว่างซอกใบ ยาว 13-15 ซม. ก้านช่อดอกยาว 12-20 ซม. ใบประดับรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน สีขาว และมีริ้วสีเขียวอ่อน ใบประดับส่วนยอดสีชมพู ส่วนปลายสีเข้มกว่าจนถึงสีแดง ดอกออกตามซอกใบประดับ ดอกออกตามซอกใบประดับ ดอกสีขาว กลีบดอก3กลีบ เกสรตัวผู้ที่เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ สีเหลืองอ่อน และมีแถบสีเหลืองสดพาดกลางปากดอก ออกดอกในราวเดือนเมษายน – เดือนกันยายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 160 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 51 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้าป่าผลัดใบที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-1,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ชื่อสกุล Curcuma มีรากศัพท์มาจากภาษาอาราบิกคำว่า Kurkum แปลว่า สีเหลือง ความหมายก็คือ“หัวหรือเหง้ามีสีเหลือง”
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา และไทย
กล้วยไม้
บันทึกภาพได้ 9 ชนิด(เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผล/ต้นที่เด่นสะดุดตา) ได้แก่
1. สิงโตสยาม
ชื่อท้องถิ่น : ลิ้นฟ้า(เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum lobbii Lindl.
วงศ์ย่อย : Epidendroideae
วงศ์ : Orchidaceae
สิงโตสยาม
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปไข่ ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปแถบแกมรูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวตามข้อของเหง้า ขนาดดอก 3-6 ซม. ดอกสีเหลือง หรือสีเหลืองครีม และมีขีดสีแดงเข้มหรือสีม่วงอมแดงหลายเส้นพาดตามความยาวของดอก ปากดอกรูปสามเหลี่ยม หรือรูปรีแกมรูปไข่ สีเหลือง และมีจุดประสีม่วงอมแดง ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนเมษายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 2,167 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 170 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามก้อนหินหรือต้นไม้ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-2,100 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ ทิเบต จีน เมียนมา ไทย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบชนิดนี้ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ.1867 ชนิดนี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิดย่อย ในไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ subsp. breviflorum (J.J.Sm.) Mangal, F.Velazquez & J.J.Verm. แพร่กระจายในไทย(ภาคใต้) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย , subsp. lobbii แพร่กระจายในเมียนมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และ subsp. siamense (Rchb.f.) Mangal, F.Velazquez & J.J.Verm. แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ ทิเบต จีน เมียนมา ไทย(ภาคตะวันตก) กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ชื่อสกุลตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1822 โดย Louis Marie Aubert du Petit Thouars นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อสกุล Bulbophyllum มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า bolbos แปลว่า หัว และคำว่า phyllon แปลว่า ใบ ตามลักษณะลำลูกกล้วยที่ช่อดอกและใบออกจากโคนหรือปลายลำลูกกล้วย
2. เอื้องสายล่องแล่ง
ชื่อท้องถิ่น : เอื้องย้อยไม้ , เอื้องสายไหม(ภาคเหนือ) ; เอื้องล่องแล่ง(เชียงใหม่) ; เอื้องงวงช้าง(แม่ฮ่องสอน) ; พอทุกิ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; มอกคำเครือ(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ; เอื้องไข่เน่า , เอื้องสายไม้(ลำปาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium aphyllum (Roxb.) C.E.C.Fisch.
วงศ์ย่อย : Epidendroideae
วงศ์ : Orchidaceae
เอื้องสายล่องแล่ง ดอกเริ่มโรย
เอื้องสายล่องแล่ง ดอกเริ่มโรย
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปแท่งกลม ผอมเรียวยาว และห้อยลงเป็นสาย ยาวได้ถึง 1 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่แกมรี หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ออกดอก 1-3 ดอก ตามข้อเกือบตลอดต้นดูคล้ายเป็นช่อ ขนาดดอก 3-5 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีชมพูอ่อน สีม่วงอ่อน หรือสีม่วงระเรื่อๆ ปากดอกขนาดใหญ่ผายบานเป็นรูปไข่กว้างหรือเกือบกลม มีสีขาวครีม สีขาวอมเหลืองจางๆ หรือสีม่วงจาง และมีขนละเอียดปกคลุม ขอบปากดอกหยักริ้วและมีขนสั้นละเอียดสีเหลืองอ่อน โคนปากดอกมีเส้นประสีม่วงจำนวนมาก ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,606 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 166 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 400-1,400 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ หมู่เกาะอินเดีย เนปาล จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย ชื่อสกุลตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1799 โดย Peter Olof Swartz นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน
ชื่อสกุล Dendrobium มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า dendron แปลว่า ต้นไม้ และคำว่า bios แปลว่า สิ่งมีชีวิต ความหมายก็คือ“ลักษณะวิสัยของพืชสกุลนี้ที่มักอิงอาศัยบนต้นไม้” ส่วนชื่อชนิด aphyllum มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า a แปลว่า ไม่มี และคำว่า phyllon แปลว่า ใบ ความหมายก็คือ“ช่วงออกดอกจะผลัดใบจนหมด” ชนิดนี้พบครั้งแรกบนเทือกเขาหิมาลัย
3. เอื้องคำ
ชื่อท้องถิ่น : เอื้องคำตา(เชียงใหม่) ; พอนี้โคะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium chrysotoxum Lindl.
วงศ์ย่อย : Epidendroideae
วงศ์ : Orchidaceae
เอื้องคำ
เอื้องคำ..ดอกตูม
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปกระสวยตั้งตรงหรือทอดเอน สีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จัดจะมีสีเหลืองเข้มหรือค่อนข้างเหลือง สูง 15-40 ซม. ต้นหนึ่งมี 2-6 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกใกล้ยอด รูปยาวรี รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะยาวห้อยโค้งตามข้อตอนปลายของลำต้น ช่อละ 12-15 ดอก หรือมากกว่า แต่ละดอกออกเวียนรอบก้านช่อดอกโดยเว้นระยะกันพองาม ขนาดดอก 2.5-4 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีเหลืองสด สีเหลืองทอง หรือสีเหลืองเข้ม ปากดอกแผ่เป็นรูปทรงกลมมีสีเหลืองส้มหรือสีเหลืองเข้มกว่ากลีบเลี้ยงและกลีบดอก และมีขนละเอียดนุ่มปกคลุม ออกดอกในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาล
พบอิงอาศัยอยู่ตามต้นไม้ในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100 เมตร ขึ้นไป พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก
แพร่กระจายในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ ภูฎาน จีนตอนใต้ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ชื่อชนิด chrysotoxum มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า chrysotoxum แปลว่า สีทอง ความหมายก็คือ“ดอกสีเหลืองทอง” ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย
4. เอื้องคำปอน
ชื่อท้องถิ่น : เอื้องคำป่า , เอื้องคำปิว , เอื้องคำแส้ , เอื้องเดือน , เอื้องเทียน , เอื้องไผ่(ภาคเหนือ) ; เอื้องใบไผ่(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium dixanthum Rchb.f.
วงศ์ย่อย : Epidendroideae
วงศ์ : Orchidaceae
เอื้องคำปอน
เอื้องคำปอน
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปแท่งดินสอเรียวยาว ห้อยลงหรือทอดเอียง สีเหลืองถึงเหลืองสดคล้ายเทียน ยาว 20-50 ซม. ใบรูปใบหอกจนถึงรูปแถบ ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้นๆตามข้อตอนปลายลำต้น ช่อละ 2-5 ดอก ขนาดดอก 2-3.5 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานทนนานกว่าสัปดาห์ ดอกสีเหลืองสด ปากดอกรูปเกือบกลม มีลายสีแดงพาดตามยาวเป็นจำนวนมากและมีขนปกคลุมหนาแน่น ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน
พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก
แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม ชนิดนี้พบครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา
5. เอื้องตาลหม่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrolirium tomentosum (J.Koenig) S.C.Chen & J.J.Wood
วงศ์ย่อย : Epidendroideae
วงศ์ : Orchidaceae
เอื้องตาลหม่น ดอกยังตูม
เอื้องตาลหม่น ดอกยังตูม
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปรี ต้นหนึ่งมี 3-4 ใบ รูปแถบแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะแทงขึ้นมาจากหน่อใหม่ ช่อละ 5-7 ดอก ดอกออกค่อนไปทางปลายช่อ ขนาดดอก 1.5-2 ซม. ดอกสีเขียวอ่อนอมน้ำตาล จนถึงสีน้ำตาล ปากดอกรูปขอบขนาน ออกดอกในราวเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม
ทั่วโลกพบสกุลนี้ 12 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามลานหินและต้นไม้ในป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-750 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทย จากการสำรวจของ Johann Gerhard Konig และตั้งชื่อพฤกษศาสตร์เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1791 ว่า Epidendrum tomentosum J.Koenig ต่อมาในปี ค.ศ.1890 Joseph Dalton Hooker ศึกษาทบทวนและย้ายมาอยู่ในสกุล Eria โดยใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Eria tomentosa (J.Koenig) Hook.f. ก่อนเปลี่ยนมาเป็นสกุล Dendrolirium ในปัจจุบัน สำหรับชื่อชนิด tomentosum มาจากภาษาละตินคำว่า tomentosa แปลว่า ขน ความหมายก็คือ“ขนที่ปกคลุมผิวด้านนอกของกลีบเลี้ยง”
6. เอื้องจุกนม
ชื่อท้องถิ่น : กระสุนพระอินทร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thelasis pygmaea (Griff.) Lindl.
วงศ์ย่อย : Epidendroideae
วงศ์ : Orchidaceae
เอื้องจุกนม
เอื้องจุกนม
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปกลมและแป้น ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นที่ปลายยอด รูปแถบ หรือรูปรีแกมรูปแถบ ออกดอกเป็นช่อที่โคนลำต้น มีดอกย่อยจำนวนมากเรียงชิดกันที่ปลายช่อ ขนาดดอก 0.3-0.4 ซม. ดอกสีเขียวอ่อน ดอกบานเต็มที่ไม่แผ่กลีบเลี้ยงและกลีบดอกบานออก ปากดอกมีขนาดเล็ก รูปไข่ และซ่อนอยู่ภายใน ออกดอกในราวเดือนมีนาคม – เดือนสิงหาคม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 27 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 27 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าผลัดใบ และป่าดิบ ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวกินี
ชื่อสกุลตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1825 โดย Carl Ludwing van Blume ชื่อสกุล Thelasis มาจากภาษากรีกคำว่า thele แปลว่า หัวนม ความหมายก็คือ“จงอยเล็กๆที่ปลายเส้าเกสรมีลักษณะคล้ายหัวนม” ส่วนชื่อชนิด pygmaea มาจากภาษาละตินคำว่า pygmaeus แปลว่า แคระ ความหมายก็คือ“เป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดเล็ก” ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศเนปาล โดย William Griffith
7. ว่านหัวครู
ชื่อท้องถิ่น : ว่านกบ , ว่านดิน , เอื้องพร้าว(ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eulophia nuda Lindl.
วงศ์ย่อย : Vandoideae
วงศ์ : Orchidaceae
ว่านหัวครู
ว่านหัวครู
เป็นกล้วยไม้ดิน มีหัวหรือเหง้าแบบหัวเผือกอยู่ใต้ดิน รูปรีค่อนข้างกลม ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือดินจะมีเฉพาะช่วงฤดูฝน-ฤดูหนาว ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ต้นหนึ่งมี 2-4 ใบ รูปใบหอก หรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรงหรือทอดเอนเล็กน้อยจากโคนต้น ช่อละ 5-15 ดอก ขนาดดอก 1.5-3 ซม. ดอกมีหลายสีตั้งแต่สีขาวอมเขียว สีเขียวอ่อน สีขาวอมเหลือง สีชมพู จนถึงสีแดงอมม่วงหรือสีม่วง ปากดอกรูปขอบขนานแกมรูปรี มีสีเข้มกว่ากลีบอื่นและมีแต้มสีเหลืองเข้มที่กลางปากดอก ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมิถุนายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 280 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 19 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งโล่งในป่าเต็งรัง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-2,100 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และหมู่เกาะแปซิฟิก
สกุลนี้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1823 โดย Robert Brown และ Sir John Lindley ชื่อสกุล Eulophia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า eu แปลว่า สมบูรณ์ และคำว่า lophos แปลว่า ขนนก ความหมายก็คือ“หงอนที่อยู่บนกลีบปากดอก”
8. เอื้องเขากวางอ่อน
ชื่อท้องถิ่น : ม้าลาย , เอื้องเขากวาง , เอื้องจะเข็บ(เชียงใหม่) ; เอื้องม้าลายเสือ(กทม.)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phalaenopsis cornu-cervi (Breda) Blume & Rchb.f.
วงศ์ย่อย : Vandoideae
วงศ์ : Orchidaceae
เอื้องเขากวางอ่อน
เอื้องเขากวางอ่อน
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปเรียว สูง 5-10 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจะและแยกแขนงตามซอกใบ ช่อละ 2-8 ดอก ดอกทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ขนาดดอก 1.5-4 ซม. ดอกบานทนเป็นเวลานาน ดอกสีเหลือง หรือสีเหลืองแกมเขียวอ่อน มักมีจุดหรือขีดตามขวางสีน้ำตาลแดงหรือสีแดงอิฐทั่วกลีบ ปากดอกรูปช้อนและแยกออกเป็น3แฉก สีเหลืองอ่อนหรือสีขาว และมีริ้วสีชมพูอมม่วงกระจายอยู่ทั่ว ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 79 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้หรือลานหินในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในบังกลาเทศ เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
สกุลนี้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1825 โดย Carl Ludwing von Blume ชื่อสกุล Phalaenopsis มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก2คำ คือ คำว่า phalaina แปลว่า ผีเสื้อกลางคืน และคำว่า opsis แปลว่า เหมือน ความหมายก็คือ“รูปดอกดูคล้ายผีเสื้อกลางคืน” ส่วนชื่อชนิด cornu-cervi หมายถึง แกนช่อดอกที่แบนดูคล้ายเขากวาง ชนิดนี้พบครั้งแรกบนหมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
9. เอื้องลิ้นกระบือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phalaenopsis marriottiana (Rchb.f.) Kocyan & Schuit.
วงศ์ย่อย : Vandoideae
วงศ์ : Orchidaceae
เอื้องลิ้นกระบือ
เอื้องลิ้นกระบือ
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย รูปทรงกระบอกและแข็ง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจะ ยาว 1.6-6.5 ซม. ช่อละ 4-10 ดอก ขนาดดอก 2.8-4 ซม. ดอกสีเหลืองอ่อนและมีแต้มสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดงประปรายทั่วกลีบ ปากดอกสีชมพูแกมแดงจนถึงสีม่วงแกมแดง ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน
พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,300 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก
แพร่กระจายในจีนด้านตะวันออกเฉียงใต้ เมียนมา และไทย
สัตว์ป่าทั่วไป
บันทึกภาพได้ 5 ชนิด ได้แก่
1. กิ้งก่าบินปีกส้ม
ชื่อท้องถิ่น : กิ้งก่าบินปีกจุด
ชื่อสามัญ : Spotted Flying Dragon
ชื่ออื่นๆ : Asian Gliding Lizard ; Orange-winged Flying Lizard ; Spotted Gliding Lizard
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Draco maculates Gray, 1845
วงศ์ย่อย : Agaminae
วงศ์ : Agamidae
กิ้งก่าบินปีกส้ม
เป็นกิ้งก่าบินขนาดเล็ก ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6-8.2 ซม. หางยาว 9.3-11.5 ซม. ลำตัวเรียวยาว ด้านบนสีน้ำตาลแดง และมีลายประสีคล้ำดูคล้ายเปลือกไม้ จึงสามารถพรางตัวได้เป็นอย่างดีบนต้นไม้ ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่า หัวมีขนาดเล็ก ใต้คางมีแผ่นหนัง1คู่ รูปกลมมน อยู่สองข้างลำคอ ตรงกึ่งกลางระหว่างแผ่นหนังคู่นี้ยังมีแผ่นหนังรูปยาวรีอีกแผ่นหนึ่ง ซึ่งแผ่นหนังนี้สามารถยกขึ้นลงได้ และมีขนาดโตเห็นได้ชัดเจนในตัวผู้ มีสีเหลืองออกส้ม บริเวณโคนมีแถบสีฟ้าพาดยาวเห็นชัด ข้างลำตัวระหว่างขาคู่หน้ากับขาคู่หลังมีแผ่นหนังแผ่ออกไปด้านข้าง(เพื่อใช้ในการร่อน) สีออกส้มและมีลายพาดตามยาวสีจางๆ ใต้แผ่นปีกมีจุดกลมๆสีดำ 1-2 จุด
อาศัยอยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่บนต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มักชอบต้นไม้ที่มีเปลือกต้นผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ
หากินบนต้นไม้ที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน ช่วงเช้ามืดและพลบค่ำจะซ่อนตัวอยู่สูงในพุ่มใบและกะอยู่นิ่งๆ เคลื่อนไหวน้อยมาก ต่อเมื่อมีแสงแดดส่องมากระทบกับต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ก็จะออกมาอาบแดดนานเพียงพอที่จะเคลื่อนไหวออกหากิน ส่วนช่วงเวลากลางวันจะไต่ขึ้นลงตามลำต้นหรือร่อนไปมาตามต้นไม้ 3-5 ต้น ในบริเวณนั้น
ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ในช่วงฤดูฝน โดยตัวเมียจะวางไข่ในหลุมดินที่ขุดไว้ตามซอกพูพอนของต้นไม้ที่อาศัยอยู่และมีแสงแดดส่องถึง วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง
ชนิดนี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิดย่อย ในไทยพบทั้ง 4 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. divergens Taylor, 1934 ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกบนดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ มีชื่อไทยว่า“กิ้งก่าบินปีกส้มดอยสุเทพ” ชื่อสามัญ Doi Suthep Orange-winged Flying Lizard ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6.9 ซม. หางยาว 10.5 ซม. มีแผ่นหนังใต้คอซึ่งมีกระดูกอ่อนยึด สามารถหุบและกางออกได้ แผ่นหนังนี้สีออกเขียว บริเวณโคนมีสีส้ม ส่วนปลายมีจุดสีฟ้า แผ่นหนังบริเวณสีข้างเป็นแผ่นใหญ่ดูคล้ายปีก มีกระดูกซี่โครงยึด ด้านบนสีส้มแดง มีลายจุดสีดำกระจายอยู่ด้านใน บริเวณกระหม่อมมีลายจุดสีเทาจางๆ มีแถบสีดำพาดระหว่างตา สองข้างคอด้านบนมีจุดสีดำรูปร่างคล้ายหัวศร ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเทา หลังมีแต้มสีดำ1คู่ ท้องสีเทา และหางมีลายแถบพาดขวาง พบตามป่าดิบ เป็นสัตว์ชนิดย่อยถิ่นเดียวในไทย
– subsp. haasei Boettger, 1893 ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่ จ.จันทบุรี มีชื่อไทยว่า“กิ้งก่าบินปีกส้มจันทบูรณ์” ชื่อสามัญ Chantabun Orange-winged Flying Lizard ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6.5 ซม. หางยาว 11.3 ซม. มีแผ่นหนังใต้คอซึ่งมีกระดูกอ่อนยึด สามารถหุบและกางออกได้ แผ่นหนังนี้สีส้มเข้ม ไม่มีจุดสีฟ้า ส่วนแผ่นหนังบริเวณสีข้างเป็นแผ่นใหญ่ดูคล้ายปีก มีกระดูกซี่โครงยึด ด้านบนสีส้ม มีลายเส้นสีขาวตามยาว มีลายจุดสีดำกระจายอยู่ด้านใน ด้านล่างสีส้มมีจุดสีดำ 1-2 จุด มีลายจุดสีดำบนหัว 3 จุด และคอด้านบนมีจุดสีดำ1คู่ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดง ในไทยพบตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(แม่น้ำสระน้อย จ.อุบลราชธานี , อุทยานฯเขาใหญ่) และภาคตะวันออก(เกาะช้าง จ.ตราด , อุทยานฯปางสีดา จ.สระแก้ว , เขตรักษาพันธุ์ฯเขาสอยดาว และอุทยานฯเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี , เขตรักษาพันธุ์ฯเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี) แพร่กระจายในไทย กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้
กิ้งก่าบินปีกส้ม
– subsp. maculatus Gray, 1845 ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกบนเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย มีชื่อไทยว่า“กิ้งก่าบินปีกส้มมลายู” ชื่อสามัญ Malayan Orange-winged Flying Lizard ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 8.7 ซม. หางยาว 13.8 ซม. มีแผ่นหนังใต้คอซึ่งมีกระดูกอ่อนยึด สามารถหุบและกางออกได้ บริเวณโคนมีจุดสีฟ้า ส่วนแผ่นหนังบริเวณสีข้างเป็นแผ่นใหญ่ดูคล้ายปีก มีกระดูกซี่โครงยึด ด้านบนสีส้มแดง มีเส้นบางๆสีเหลืองอมชมพู มีลายจุดสีดำเรียงเป็นแถบตามขวาง 5-6 แถบ ด้านล่างมีจุดสีดำ 2-3 จุดด้านนอก ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเทา บริเวณคอด้านบนมีจุดสีดำ และมีลายบั้งสีดำบริเวณไหล่ ท้องสีเหลือง หางมีลายแถบพาดขวาง ในไทยพบตามสวนผลไม้ และป่าดิบทางภาคตะวันตก(เขตรักษาพันธุ์ฯห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี , เขตรักษาพันธุ์ฯทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานฯเอราวัณ และอุทยานฯไทรโยค จ.กาญจนบุรี) ภาคกลาง(อุทยานฯแก่งกระจาน ด้านป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์) และภาคใต้(อ.เมือง จ.ระนอง , เกาะสมุย , เขตรักษาพันธุ์ฯคลองแสง และอุทยานฯเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี , หาดในเพลา , อุทยานฯน้ำตกโยง และอุทยานฯเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช , เขตรักษาพันธุ์ฯเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ , ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาช่อง จ.ตรัง , เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง และอุทยานฯน้ำตกโตนงาช้าง จ.สงขลา ) แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย
– subsp. whiteheadi Boulenger, 1900 ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่มณฑลไหหนาน ประเทศจีน มีชื่อไทยว่า“กิ้งก่าบินปีกส้มไหหลำ” ชื่อสามัญ Hainan Orange-winged Flying Lizard ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6.4 ซม. หางยาว 10.2 ซม. คางสีดำ มีแผ่นหนังใต้คอซึ่งมีกระดูกอ่อนยึด สามารถหุบและกางออกได้ บริเวณโคนมีสีดำ ส่วนที่เหลือมีสีส้มแดงหรือสีขาว ส่วนแผ่นหนังบริเวณสีข้างเป็นแผ่นใหญ่ดูคล้ายปีก มีกระดูกซี่โครงยึด ด้านบนสีน้ำตาลเทา มีจุดสีดำกระจาย ด้านล่างสีเทา มีลายขีดโค้งสีดำบริเวณขอบนอก มีจุดสีดำบนหัวและคอ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเทา มีลายสีเทาจางๆ หางมีลายแถบพาดขวาง ในไทยพบตามป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ(จ.เชียงใหม่ และ จ.แพร่) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง จ.เลย , เขตรักษาพันธุ์ฯภูเขียว จ.ชัยภูมิ และเขตรักษาพันธุ์ฯภูวัว จ.บึงกาฬ) แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไทย และเวียดนามตอนเหนือ
สกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 100 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 10 ชนิดสำหรับชนิดนี้พบได้ตลอดปีตามอาคารบ้านเรือนที่ติดกับป่า ริมถนน และในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซียตอนบน
2. กระทิง
ชื่อท้องถิ่น : เมย(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อสามัญ : Gaur
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bos gaurus Smith, 1827
วงศ์ : Bovidae
กระทิง
เป็นวัวป่าขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างล่ำใหญ่ ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ความยาวลำตัว(วัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง) 25-300 ซม. หางยาว 70-105 ซม. สูง 170-187 ซม. และมีน้ำหนักประมาณ 650-900 กิโลกรัม หน้าผากมีขนสีขาวเทาหรือสีเหลืองปกคลุมเรียกว่า“หน้าโพ” ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเขา เขาตีวงไปข้างๆ ปลายเขาโค้งและชี้ออกด้านหน้าเล็กน้อย ปลายเขาสีดำ ตอนกลางสีเหลืองแกมเขียว โคนเขาสีน้ำตาลดำ มีรอยหยักเรียกว่า“รอยพาลี” ซึ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นตามอายุ ระยะห่างระหว่างโคนเขาทั้งสองประมาณ 20-25 ซม. คอสั้นหนา ลำตัวสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ บริเวณหลังมีหนอกสูง ไม่มีวงรอบก้น ขาทั้งสี่ข้างตั้งแต่เหนือเข่าลงไปจนถึงกีบเท้ามีสีขาวแกมเทาหรือเหลือง มองดูคล้ายสวมถุงเท้า
สีขาวเทาหรือสีเหลืองที่เห็นบนหน้าผากและขาที่ดูคล้ายถุงเท้า เกิดจากคราบน้ำมันในเหงื่อของกระทิง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ชนิดนี้ คราบน้ำมันพบในกระทิงที่มีอายุไม่มากนัก และจะลดน้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น
ปกติจะอยู่รวมกันเป็นฝูงราว 6-20 ตัว ยกเว้นตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะหากินตามลำพัง ภายในฝูงจะมีตัวเมียและลูกๆของตัวเมียแต่ละตัว บางครั้งอาจมีตัวผู้ขนาดใหญ่ติดตามฝูงไปด้วย ลูกกระทิงเมื่อโตเต็มวัยจะถูกขับไล่ออกจากฝูง ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์กันเองในหมู่เครือญาติ เมื่อกระทิงหนุ่มมีอายุมากขึ้นก็อาจเข้าไปต่อสู้กับจ่าฝูงของกระทิงฝูงอื่น เพื่อเข้าครอบครองตัวเมียในฝูงนั้นๆ หากชนะก็จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียในฝูงนั้น แต่ถ้าพ่ายแพ้ก็ต้องเป็นกระทิงโทนต่อไป
เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่นเดียวกับวัวแดงและควายป่า อาหารหลักได้แก่ หญ้า และใบไม้ทุกชนิดที่กินได้(ประมาณ 90 ชนิด) นอกจากนี้ยังกินดินโป่งเพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้แก่ร่างกายอีกด้วย
กระทิง
ออกหากินช่วงสั้นๆในเวลาเช้า จนกระทั่งราว9โมงเช้าจึงหลบเข้าไปพักนอนเคี้ยวเอื้องในบริเวณป่าที่ค่อนข้างทึบ หรืออาจเข้าไปนอนอยู่บนสันเขาสูง การนอนนั้นจะแยกกันนอนในระยะที่ไม่ห่างกันมากนัก ลูกตัวเล็กที่สุดจะอยู่ใกล้แม่มากที่สุด รูปแบบการนอนนั้นมีทั้งนอนราบกับพื้นและยืนนอน แม้เป็นช่วงเวลาพักผ่อน แต่สายตาหลายคู่มักจ้องมองออกไปทางด้านนอก จมูกและหูคอยจำแนกสิ่งผิดปกติอยู่ตลอดเวลา เมื่อถูกรบกวนก็จะเปลี่ยนที่นอนไปเรื่อยๆ แล้วจะเริ่มออกหากินอีกครั้งหลังเวลา 15.00 น. เรื่อยไปจนถึงเวลากลางคืน อาจแวะลงกินโป่งและน้ำซับตามโป่งต่างๆที่พบบนเส้นทางหากิน ช่วงเวลานี้จะใช้เวลาหากินนานกว่าช่วงเช้า
ช่วงฤดูหลังไฟไหม้ กระทิงจะออกหากินยอดพืชอ่อนและหญ้าระบัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมากตามทุ่งหญ้าและป่าเต็งรัง ในช่วงฤดูฝนมักหากินหน่อไม้ตามป่าไผ่ และบ่อยครั้งเดินตามโขลงช้างป่าเพื่อกินยอดไผ่ที่ช้างทิ้งไว้
กระทิงมักอาศัยอยู่ในป่าลึกมากกว่าวัวแดง แต่อดน้ำได้ไม่เก่งเท่ากับวัวแดง
สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม ตัวเมียตั้งท้องนาน9เดือน ออกลูกครั้งละ1ตัว ลูกกระทิงที่คลอดใหม่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายวัวแดง(Banteng) เมื่อมีอายุ 4-5 เดือน จึงจะเปลี่ยนเป็นสีดำ กระทิงมีอายุยืนประมาณ 25-30 ปี
ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. hubbacki Lydekker, 1907 ชนิดย่อยนี้จะไม่มีเหนียงคอห้อยลงมาจากคอ ในไทยพบตั้งแต่คอคอกระลงไป แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย
– subsp. readei Lydekker, 1903 ชนิดย่อยนี้จะมีเหนียงคอห้อยลงมาจากคอ ในไทยสมัยอดีตพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่คอคอกระลงไป ปัจจุบันคงพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก แพร่กระจายในเมียนมา ไทย และมาเลเซีย
กระทิง
สกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 15 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามพื้นที่ที่ค่อนข้างชุ่มชื้นในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และบางครั้งก็พบในป่าดิบเขา ซึ่งไม่ไกลจากแหล่งน้ำ เนื่องจากอดน้ำไม่เก่ง แต่ออกหากินตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะตามแนวเชื่อมต่อระหว่างป่าผสมผลัดใบกับป่าดิบ รวมทั้งออกหากินตามทุ่งโล่งกลางป่าในบางโอกาส พบตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,600 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
3. เก้ง
ชื่อท้องถิ่น : ฟาน , เก้งใต้ , อีเก้ง
ชื่อสามัญ : Barking Deer
ชื่ออื่นๆ : Common Barking Deer , Indian Muntjac , Red Muntjac
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntiacus muntjak Zimmermann, 1780
วงศ์ : Cervidae
เก้ง
ความยาวลำตัว(วัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง) 90-105 ซม. หางยาว 17-19 ซม. สูง 50-56 ซม. และมีน้ำหนักประมาณ 20-28 กิโลกรัม ลำตัวมีขนสีน้ำตาลแดง บริเวณใต้คอ ท้อง โคนขาด้านใน และใต้หางมีสีขาว หางด้านบนสีน้ำตาลแดง ขนบริเวณหน้าผากสีน้ำตาลไหม้ ดูคล้ายรูปตัววี(V) ตั้งแต่บริเวณหลังหูไปจนถึงสันคอมีสีดำเป็นแนวยาวเรื่อยลงมาจนถึงจมูก มีต่อมน้ำตาขนาดใหญ่และแอ่งน้ำตาลึก
ตัวผู้มีเขาสั้นยาวประมาณ 15 ซม. และมีแขนงเล็กแตกออกข้างละ2กิ่ง กิ่งยื่นออกมาด้านหน้าเรียกว่า“กิ่งรับหมา” ยาวประมาณ 5 ซม. กิ่งด้านหลังจะยาวกว่า ปลายโค้งเข้าด้านใน นอกจากนี้มีเขี้ยวยาวยื่นออกมานอกริมฝีปาก ส่วนตัวเมียไม่มีเขา แต่มีกระจุกขนแข็งสั้นๆแทน และมีเขี้ยวขนาดเล็กกว่า
มักชอบอาศัยอยู่ตามลำพังตัวเดียวตามพงหญ้าและป่าทั่วไป ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อน ออกหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่เป็นช่วงเช้าตรู่จนถึงยามสาย และช่วงยามเย็นจนถึงพลบค่ำ ช่วงกลางวันมักหลับนอนตามพุ่มไม้ เก้งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง คือมีกระเพาะที่เอาไว้ใช้เก็บอาหาร และจะเอาออกมาทำการย่อยอีกที โดยการขยอกอาหารออกมา แล้วเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนเข้าไป โดยจะทำเช่นนี้เมื่ออยู่ในที่ที่ปลอดภัย เป็นสัตว์ที่กระหายน้ำเก่ง อาหารที่กินจึงต้องฉ่ำน้ำ ได้แก่ ใบไม้อ่อน ยอดไม้ ยอดหญ้า เปลือกไม้ หน่อไม้อ่อน ผลมะขามป้อม[] และผลมะม่วงป่า[]
เป็นสัตว์ที่มีประสาทการรับกลิ่นดี แต่ตาไม่ค่อยมีการพัฒนามากนัก เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้อง“เอิ๊บ-เอิ๊บ-เอิ๊บ”คล้ายเสียงสุนัขเห่า
เก้ง
สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนพฤษภาคม ช่วงนี้ตัวผู้จะใช้เขาต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย เก้งเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมาอายุ1ปีครึ่ง ตัวเมียตั้งท้องนาน6เดือน ออกลูกครั้งละ1ตัว ลูกเก้งที่คลอดใหม่จะมีจุดสีขาวตามตัว และจะค่อยๆหายไปเมื่อมีอายุได้ราว6เดือน เก้งมีอายุยืนประมาณ 10-15 ปี
สกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 9 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยได้ทุกสภาพป่า พบตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,500 เมตร แต่พบมากในช่วงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และหมู่เกาะซุนดาใหญ่
4. ค้างคาวขอบหูเล็ก
ชื่อท้องถิ่น : ค้างคาวหน้าหมา
ชื่อสามัญ : Forest Short-nosed Fruit Bat
ชื่ออื่นๆ : Lesser Dog-faced Fruit Bat ; Lesser Short-nosed Fruit Bat
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cynopterus brachyotis Muller, 1838
วงศ์ : Pteropodidae
ค้างคาวขอบหูเล็ก
เป็นค้างคาวขนาดเล็ก ขนาดหัวและลำตัว(วัดจากปลายจมูกหรือส่วนหน้าสุดของหัวจนถึงโคนหาง) 8-9.6 ซม. ขนาดหู(วัดจากขอบใบหูด้านล่างจนถึงปลายหู ไม่รวมขน) 1.45-1.8 ซม. กลางปีก(วัดจากข้อพับจนถึงโคนนิ้วที่1)ยาว 5.73-6.33 ซม. ขนาดหาง(วัดจากปลายหางจนถึงรูก้น) 0.2-1.3 ซม. ตีนหลังหรือขาหลัง(วัดจากส้นจนถึงปลายนิ้วที่ยาวที่สุด ไม่รวมเล็บ)ยาว 1.1-1.5 ซม. มีน้ำหนัก 28-40 กรัม มีจุดเด่นคือขอบใบหูทั้งสองข้างมีขอบสีจางหรือสีขาว อันเป็นที่มาของชื่อ ขอบใบหูด้านล่างอาจมีขนคลุม หัวสั้น รูปร่างใบหน้าเหมือนสุนัข จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“ค้างคาวหน้าหมา” จมูกเด่นเห็นชัดเจน ตามีขนาดใหญ่ ขนบริเวณคอ รอบหัวไหล่ ใต้หู และหน้าอกมีสีหลากหลาย ตั้งแต่สีเทา สีน้ำตาลจางๆ สีน้ำตาลค่อนข้างเหลือง สีน้ำตาลเข้ม จนถึงสีน้ำตาลแดง มีอวัยวะดมกลิ่นดีมาก หางสั้น ปลายหางเป็นอิสระ จากพังผืดขานิ้วที่1และที่2 มีเล็บเด่น พังผืดปีกออกจากสีข้างค่อนข้างกว้าง ตัวผู้นั้น บริเวณคอมีพุ่มขน
อยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็กๆตามต้นไม้ กินทั้งผลไม้และดอกไม้เป็นอาหาร เช่น มะม่วง ไทร มะเดื่อ และน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เป็นต้น เกาะนอนตามใต้ใบไม้ โดยเฉพาะพืชจำพวกปาล์ม มะพร้าว ตาล หมาก กะพ้อ อาคารบ้านเรือน เพิงหิน หรือปากถ้ำ
ค้างคาวขอบหูเล็ก
มีการผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี และตั้งท้องเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน อันเป็นช่วงฤดูมีผลไม้สุก ตัวเมียตกลูกครั้งละ 1 ตัว
มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการช่วยผสมเกสรดอกไม้ให้ผลไม้ติดดอกออกผล เช่น เงาะ ทุเรียน ลำไย ลองกอง และช่วยกระจายเมล็ดไม้ แต่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตัวทำลายพืชผลทางการเกษตร
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 7 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ ตามปากถ้ำ และในป่าที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,600 เมตร ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
5. จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ
ชื่อสามัญ : Spotted Forest Skink
ชื่ออื่นๆ : Common Forest Skink ; Maculated Forest Skink ; Streamside Forest Skink
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sphenomorphus maculatus Blyth, 1853
วงศ์ย่อย : Lygosominae
วงศ์ : Scincidae
จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ
เป็นจิ้งเหลนขนาดเล็ก มีขนาด 5.3-7 ซม.(วัดจากปลายปากถึงรูทวาร) หางยาวราว 9.5 ซม. หรือประมาณ 2 เท่าของความยาวลำตัว ลำตัวเรียวยาว หัวแบน หัวสีคล้ำกว่าลำตัวและหาง ส่วนหัวกว้างกว่าลำคอเล็กน้อย ปลายหัวมน
ลำตัวด้านหลังสีเขียวมะกอก สีน้ำตาล สีน้ำตาลอมเทา หรือสีน้ำตาลบรอนซ์ บนหลังของบางตัวอาจเป็นสีน้ำตาลและไม่มีลวดลาย แต่บางตัวมีจุดกลมสีดำเรียงตัวคล้ายกับเป็นแถว 2 แถวในแนวกลางตัวที่ส่วนต้นของลำตัว แล้วเหลือเพียงแถวเดียวทางส่วนท้ายของลำตัว ด้านข้างของหัวมีเส้นสีดำพาดยาวจากส่วนปลายของปากผ่านตา แล้วขยายเป็นแถบกว้างทางด้านท้ายของตาผ่านไปทางด้านบนของช่องเปิดหูและทางด้านข้างลำตัวกับทางด้านข้างของหางจนถึงปลายหาง บางตัวอาจมีจุดสีครีมกระจายทั่วในแถบสีดำ ขอบของแถบสีดำที่ด้านข้างลำตัวเป็นเส้นค่อนข้างตรง แต่ที่ด้านข้างของหางเป็นเส้นหยัก ด้านล่างของแถบสีดำเป็นแถบสีขาวพาดยาวจากทางด้านท้ายของตาผ่านช่องเปิดหูและต่อไปทางด้านข้างลำตัวจนถึงส่วนต้นของหาง และทางด้านล่างของแถบสีขาวเป็นประสีดำจากส่วนปลายของปากไปถึงซอกขาหนีบ บริเวณคาง ท้องสีเหลืองอ่อนอมน้ำตาล หรือสีขาวอมเหลือง ใต้หางมีสีขาว หรือสีขาวอมเหลือง ขาหน้าและขาหลังสีน้ำตาลและมีลายเลอะสีเข้ม นิ้วตีนยาว มีสีน้ำตาลเข้มกับจางพาดขวางเป็นปล้อง ปลายนิ้วตีนทุกนิ้วมีเล็บ
ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมและพื้นผิวเกล็ดเรียบเป็นมัน เกล็ดบนหัวเป็นแผ่นกว้าง เปลือกตาล่างมีเกล็ดปกคลุมและแผ่นเกล็ดโปร่งใส เกล็ดปลายจมูกแบนราบหรือบุ๋มลงเล็กน้อย เกล็ดบนหลังและทางด้านบนของหางมีขนาดใหญ่ เกล็ดด้านข้างลำตัวมีขนาดเล็ก เกล็ดด้านท้องใหญ่กว่าเกล็ดด้านข้างลำตัวเล็กน้อย เกล็ดใต้หางขยายกว้าง เกล็ดรอบลำตัวในตำแหน่งกึ่งกลางตัวมีจำนวน 38-44 เกล็ด
ออกหากินเวลากลางวัน มักหากินอยู่บนพื้นดินใกล้ลำห้วย/คลองหรือบนลานหินที่กระจายอยู่ข้างลำหวย/คลอง แต่ในฤดูฝนที่พื้นดินมีความชุ่มชื้นจะเคลื่อนย้ายไปหากินอยู่ตามพื้นล่างของป่า เดินและวิ่งหากินและหยุดพักเป็นระยะ ในช่วงที่หยุดนิ่งมักยกหัวสูงขึ้นมาจากพื้นดิน เมื่อถูกรบกวนจะวิ่งหลบหนีเข้าซอกหินที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือวิ่งเข้าไปใต้กองใบไม้ที่อยู่ตามพื้นล่างของป่า อันเป็นลักษณะเดียวกับแย้ธรรมดา
อาหารหลัก ได้แก่ หนอน จิ้งหรีด แมงมุม ผีเสื้อ แมงและแมลงขนาดเล็ก และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ
จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกันยายน – เดือนกุมภาพันธ์ บริเวณท้องจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และใต้หางเป็นสีเหลืองอมส้ม วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง
พบใกล้ลำธาร ตามก้อนหิน พื้นทราย ใต้กองใบไม้ ขอนไม้ ทั้งพื้นราบ และบนภูเขาในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค
ชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. maculatus Blyth, 1853 แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย(เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้) กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวกินี
– subsp. mitanensis Annandale, 1905 แพร่กระจายในเมียนมา และไทย(ภาคใต้)
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย นิวกินี และเกาะซุนดา
แมงและแมลง
บันทึกภาพได้ 26 ชนิด ได้แก่
1.Sinomantis denticulata Beier, 1933
ชื่อสามัญ : Glass Mantis
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sinomantis denticulata Beier, 1933
วงศ์ : Iridopterygidae
Sinomantis denticulata
Sinomantis denticulata
ยังไม่มีข้อมูล คงรู้แต่ว่าเป็นตั๊กแตนตำข้าวขนาดเล็ก สกุลนี้ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว
แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ฮ่องกง และไทย
- ผีเสื้อฟ้าขอบขนธรรมดา
ชื่อสามัญ : Common Ciliate Blue
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthene emolus Godart, 1824
วงศ์ย่อย : Polyommatinae
วงศ์ : Lycaenidae
ผีเสื้อฟ้าขอบขนธรรมดา
มีขนาด 2.8-3.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้าค่อนข้างแหลม ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำเงินอมม่วง ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล โคนปีกมีสีน้ำเงิน
ปีกด้านล่างทั้งสองเพศคล้ายกัน มีพื้นปีกสีน้ำตาลจางๆ และเส้นลวดลายสีขาว ปีกคู่หลังมีจุดสีดำแต้มสีส้มใกล้มุมปลายปีกหลัง และจุดสีดำ1จุดที่ขอบปีกด้านใน
ตัวหนอนกินใบราชพฤกษ์[Cassia fistula L.] เครืออวดเชือก[Combretum latifolium Blume] จางจืด[Heynea trijuga Roxb. ex Sims] ชมพู่น้ำดอกไม้[Syzygium jambos (L.) Alston] สกุลอินทนิล[Lagerstroemia spp.] โสก[Saraca indica L.] และโสกเหลือง[Saraca thaipingensis Cantley ex Prain]
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 120 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามทุ่งหญ้า ริมลำน้ำ และป่าโปร่ง
ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. emolus Godart, 1824 พบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. goberus Fruhstorfer, 1916 พบเฉพาะภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
- ผีเสื้อฟ้าลาย
ชื่อสามัญ : Zebra Blue
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leptotes plinius Fabricius,1793
วงศ์ย่อย : Polyommatinae
วงศ์ : Lycaenidae
ผีเสื้อจันทรา ตัวผู้
ผีเสื้อจันทรา ตัวผู้
มีขนาด 2.2-3 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีเส้นขนเล็กๆข้างละ 1 เส้น ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อนและสีม่วงจางๆ ขอบปีกสีน้ำตาล ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล กลางปีกมีสีฟ้าอ่อน
ปีกด้านล่างทั้งสองเพศคล้ายกัน มีพื้นปีกสีน้ำตาล และมีลายเส้นสีขาวทั่วทั้งปีก มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีจุดสีดำแต้มสีส้ม2จุด
ตัวหนอนกินใบเจตมูลเพลิงขาว[Plumbago zeylanica L.] สกุลครามใหญ่[Indigofera ssp.] และโสนคางคก[Sesbania bispinosa (Jacq.) W.Wight]
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 24 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามทุ่งหญ้า ริมลำน้ำ และพื้นดินชื้นๆในป่าโปร่ง เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย นิวกินี และออสเตรเลีย
- ผีเสื้อหางพลิ้ว
ชื่อสามัญ: Fluffy Tit
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypolycaena amasa Hewitson, 1865 (แต่นักวิชาการบางท่านบอกว่าชื่อวิทยฯนี้เป็นชื่อพ้องของ Zeltus etolus Fabricius, 1787)
วงศ์ย่อย : Theclinae
วงศ์ : Lycaenidae
ผีเสื้อหางพลิ้ว
มีขนาด 2.8-3.2 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) จุดเด่นคือมุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีลักษณะยื่นยาวดูคล้ายหาง ข้างละ2เส้น ต่างจากผีเสื้อขาวหางริ้ว(Common Imperial)
ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกคู่หน้าสีน้ำเงิน ปีกคู่หลังสีขาว ยกเว้นมุมปลายปีกหน้ามีสีน้ำเงิน ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีขาวขุ่น ปีกคู่หน้าตั้งแต่กลางปีกไปจนถึงมุมปลายปีกหน้ามีสีน้ำตาลออกเหลือง ปีกคู่หลังที่ขอบปีกด้านนอกมีจุดสีดำ1จุด และที่มุมปลายปีกหลังใกล้กับส่วนหางมีอีก2จุด
ปีกด้านบนของเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีฟ้าอ่อน ปลายปีกมีสีเหลือง-น้ำตาล และมีลวดลายเส้นสีน้ำตาลเข้มทั่วทั้งปีก
ตัวหนอนกินใบจำปาแขกหรือกะนานปลิง[Pterospermum acerifolium (L.) Willd.)
ในไทยพบสกุลนี้ประมาณ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพุ่มไม้ริมทางเดิน หรือดูดน้ำใกล้แหล่งน้ำตามทุ่งหญ้าและริมลำน้ำในป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. amasa Hewitson, 1865 พบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. maximinianus Fruhstorfer, 1912 พบเฉพาะภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
5. ผีเสื้อเจ้าชายดำจีน
ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อเจ้าชายดำขอบปีกเรียบ
ชื่อสามัญ : Tonkin Black Prince
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rohana tonkiniana Fruhstorfer, 1906
วงศ์ย่อย : Apaturinae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อเจ้าชายดำจีน
ผีเสื้อเจ้าชายดำจีน
มีขนาด 4.5-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีดำแบบกำมะหยี่ ขอบปีกด้านข้างมีขลิบสีขาว ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้
ปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้ และมีจุดสีดำและสีขาวประปราย
ผีเสื้อชนิดนี้มีลักษณะคล้ายผีเสื้อเจ้าชายดำสยาม(Siamese Black Prince) แต่ต่างกันที่ชนิดนี้มีขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้าโค้งเรียบ ไม่หยักเว้า และมีขลิบสีขาวที่ขอบปีกทั้ง2คู่
ตัวหนอนกินใบเทียนดอย[Impatiens violiflora Hook.f.] ขี้หนอนควาย[Celtis tetrandra Roxb.] แก้งขี้พระร่วง[Celtis timorensis Span.] และทลายเขา[Celtis philippensis Blanco]
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 24 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. siamensis Fruhstorfer, 1913 ในไทยพบตามริมลำน้ำ ป่าไผ่ และป่าโปร่งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ไทย และลาว
6. ผีเสื้อจันทรา
ชื่อสามัญ : Eastern Courtier
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sephisa chandra Moore, 1858
วงศ์ย่อย : Apaturinae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อจันทรา ตัวผู้
ผีเสื้อจันทรา ตัวผู้
มีขนาด 7.5-9 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีดำ กลางปีกทั้งสองคู่มีแต้มสีส้ม ปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวเรียงกันกลางปีก ใกล้มุมปลายปีกหน้ามีจุดสีขาว2จุด ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน
เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ แต่แถบสีส้มลดลงเหลือเพียงจุดในเซลปีกคู่หน้าเท่านั้น มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มุมปลายหน้าของปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวเรียงกัน ขอบปีกด้านนอกมีแต้มสีส้ม ปีกคู่หลังมีแต้มสีขาวเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านล่าง ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน
ตัวหนอนกินใบก่อ(Quercus spp.)
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 3 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบได้ตามป่าไผ่ และป่าโปร่ง ทางภาคเหนือ จ.เลย จ.ชัยภูมิ และ จ.กาญจนบุรี
แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน ฮ่องกง เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย
7. ผีเสื้อม้าขาวโคนปีกดำ
ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อเหลืองหนามใหญ่โคนปีกดำ
ชื่อสามัญ : Great Nawab
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyura eudamippus Doubleday,1843
วงศ์ย่อย : Charaxinae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อม้าขาวโคนปีกดำ
ผีเสื้อม้าขาวโคนปีกดำ
มีขนาด 7.5-10 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) จุดเด่น คือ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมคล้ายหนาม2แฉก ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลืองอ่อน ขอบปีกด้านนอกจนถึงโคนปีกและขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้ามีสีดำแต้มด้วยจุดสีเหลืองประปราย ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีสีดำและแต้มสีเหลืองเรียงกัน
ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีขาว ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาล มีแถบสีน้ำตาลพาดขวางจากขอบปีกด้านนอกมายังมุมปลายปีกหลัง ใกล้โคนปีกมีแถบสีน้ำตาล-ส้มรูปตัววาย(Y) ข้างๆมีจุดสีดำ2จุดเรียงกัน ส่วนปีกคู่หลังนั้น ขอบปีกมีสีน้ำตาลอ่อน ถัดเข้ามามีจุดสีดำเรียงกัน ต่อด้วยเส้นสีดำและแถบสีน้ำตาล กลางปีกมีแถบสีน้ำตาล-ส้มพาดยาวจากขอบปีกด้านนอกมายังใกล้มุมปลายปีกหลัง ขณะหุบปีกจะเห็นแถบสีน้ำตาล-ส้มนี้ยาวต่อเนื่องกับแถบรูปตัววาย(Y)บนปีกคู่หน้า
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 26 ชนิด ในไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบเกาะดูดน้ำตามพื้นดินริมลำธาร หรือก้อนหินที่เปียกน้ำ ในป่าโปร่ง และป่าดิบ ทั่วทุกภาค
ชนิดนี้ทั่วโลกพบ 18 ชนิดย่อย ในไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. jamblichus Fruhstorfer, 1914 พบใน จ.กาญจนบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แพร่กระจายในเมียนมา และไทย
– subsp. nigrobasalis Lathy, 1898 พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง แพร่กระจายในเมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. peninsularis Pendlebury, 1933 พบทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย
8. ผีเสื้อแผนที่ธรรมดา
ชื่อสามัญ : Common Map
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrestis thyodamas Doyère, 1840
วงศ์ย่อย : Cyrestinae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อแผนที่ธรรมดา
ผีเสื้อแผนที่ธรรมดา
มีขนาด 5-6 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบนมีพื้นปีกสีขาว มีลายเส้นสีดำหลายเส้นพาดยาวต่อเนื่องและคดไปมาดูคล้ายแผนที่ ขอบปีกด้านข้างมีสีน้ำตาลเข้มและหยักดูคล้ายรอยขาด มุมปลายปีกหลังของปีกทั้งสองคู่มีแต้มสีส้ม ปีกคู่หลังมีติ่งแหลมยื่นออกมาเล็กน้อย
ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีของลวดลายจะอ่อนกว่า
ตัวหนอนกินใบลิ้นแรด[Tetracera scandens (L.) Merr.] มะเดื่ออุทุมพร[Ficus racemose L.] ไกร[Ficus superba (Miq.) Miq.] เดื่อโพรง[Ficus variegata Blume] และมะเดื่อทอง[Fius vasculosa Wall. ex Miq.]
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 27 ชนิด ในไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักพบเกาะแผ่ปีกดูดน้ำและเกลือแร่ตามพื้นที่ชื้น และโป่ง ตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
ชนิดนี้ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 4 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. thyodamas Doyère, 1840
แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ทิเบต จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
9. ผีเสื้อจรกามลายู
ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อจรกาเหลือบฟ้า
ชื่อสามัญ : Blue King Crow
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euploea camaralzeman Butler, 1866
วงศ์ย่อย : Danainae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อจรกามลายู
มีขนาด 11-13 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ผีเสื้อในสกุลนี้จำแนกได้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ต้องดูจากจุดสีขาวที่ปีกด้านบน ซึ่งมีพื้นปีกสีดำเหลือบน้ำเงิน เมื่อแสงส่องกระทบจะเห็นเป็นสีน้ำเงินแวววาว
ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ กลางปีกคู่หน้ามีสีเหลือบน้ำเงิน และมีจุดสีขาวบริเวณขอบปีกด้านข้าง ปีกคู่หลังบริเวณขอบปีกด้านข้างมีจุดสีขาวเรียงกัน 2 แถว ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกบน แต่ไม่มีสีเหลือบน้ำเงิน
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 63 ชนิด ในไทยพบประมาณ 13 ชนิด สำหรับชนิดนี้ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. camaralzeman Butler, 1866 มีลักษณะตามที่กล่าวมาข้างต้น พบตามป่าโปร่งเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในเมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. malayica Butler, 1878 มีจุดสีขาวที่ปีกคู่หน้าบริเวณกลางปีกไปจนถึงมุมปลายปีก พบทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
10. ผีเสื้อลายเสือขีดยาว
ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อหนอนใบรักขีดยาว
ชื่อสามัญ : Common Glassy Tiger
ชื่ออื่นๆ : Glassy Tiger
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parantica aglea Stoll, 1782
วงศ์ย่อย : Danainae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อลายเสือขีดยาว
มีขนาด 7.5-8.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีแถบและจุดสีฟ้าอ่อนทั่วทั้งปีก ลักษณะคล้ายผีเสื้อลายเสือชนิดอื่น แต่ชนิดนี้ภายในเซลปีกคู่หน้ามีขีดสีขาวขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายปลายพู่กัน และเส้นสีขาว2เส้นที่อยู่ถัดจากเซลปีก มีความยาวกว่าผีเสื้อลายเสือชนิดอื่น ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า
วงจรชีวิตระยะไข่ 4-6 วัน , ระยะหนอน 15-22 วัน และระยะดักแด้ 9-29 วัน
ตัวหนอนกินใบนวลนกเขา[Parsonsia alboflavescens (Dennst.) Mabb.] เถาเอ็นอ่อน[Cryptolepis buchananii R.Br. ex Roem. & Schult.] รัก[Calotropis gigantean (L.) W.T.Aiton] จมูกปลาหลด[Vincetoxicum flexuosum (R.Br.) Kuntze] และคันธุลี[Vincetoxicum indicum (Burm.f.) Mabb.]
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 37 ชนิด ในไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่โล่ง ดอกไม้ โดยเฉพาะดอกงวงช้าง ในป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
ชนิดนี้ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 7 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. melanoides Moore, 1883
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
11. ผีเสื้อพเนจร
ชื่อสามัญ : Vagrant
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vagrans sinha Kollar, 1844
วงศ์ย่อย : Heliconiinae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อพเนจร
ผีเสื้อพเนจร
มีขนาด 5.5-6.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ลำตัวสีน้ำตาลอมเหลือง หนวดแบบกระบอง ตาแบบตารวม ปากแบบดูดกิน ปีกบางใส มีเกล็ดปกคลุมเนื้อปีก ขณะเกาะมักกางปีก
ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลส้มหรือสีน้ำตาลเหลือง ปีกคู่หน้ามีรูปยาว บริเวณสันปีกใกล้โคนปีก มีลายพาดลงมาตามขวางสีน้ำตาลเข้ม ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้ง2คู่มีสีดำ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมเล็กน้อย และมีจุดสีน้ำตาลเข้มในช่องเซลปีกบริเวณใกล้ขอบปีก
ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า
วงจรชีวิตระยะไข่ 4-7 วัน ระยะหนอน 11-27 วัน และระยะดักแด้ 8-19 วัน
ตัวหนอนกินใบส้านดำ[Dillenia excelsa (Jack) Martelli ex Gilg.]
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามลำธาร ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
12. ผีเสื้อกะลาสีลายทึบ
ชื่อสามัญ : Clear Sailor
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neptis clinia Moore,1872
วงศ์ย่อย : Limenitidinae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อกะลาสีลายทึบ
ผีเสื้อกะลาสีลายทึบ
มีขนาด 4.5-6 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) โดยปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลดำ มีลายแถบและแต้มสีขาวเรียงกันตามแนวขวางของลำตัว ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่หยักเล็กน้อย ปีกด้านล่างคล้ายปีกด้านบน แต่สีพื้นปีกอ่อนกว่า
มีลักษณะและลวดลายคล้ายผีเสื้อกะลาสีธรรมดา(Common Plain Sailor) ส่วนของเส้นสีขาวที่เซลปีกคู่หน้าด้านบนและสามเหลี่ยม มีรอยคอดเล็กน้อย แต่เมื่อสังเกตจากปีกด้านล่างมีเส้นสีขาวในเซลปีกและสามเหลี่ยมเกือบต่อกันหรอต่อกัน นอกจากนี้ส่วนของแต้มสีขาวในปีกคู่หลังด้านบน 2แต้มซ้ายและขวาสุดของชนิดนี้นั้น ด้านนอกสุดจะมีขนาดเล็กกว่า
ตัวหนอนกินใบนุ่น[Ceiba pentandra (L.) Gaertn.] ปอตูบหูช้าง[Sterculia villosa Roxb. ex Sm.] และปอขี้ไก่[Trema tomentosum (Roxb.) H.Hara]
สกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 150 ชนิด ในไทยพบประมาณ 19 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักพบเกาะดูดน้ำตามพื้นทรายชื้นๆ ริมน้ำ หรือบนไม้พุ่มเตี้ยในป่าโปร่ง และพื้นที่โล่งในป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค
ในไทยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. susruta Moore,1872 พบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทิเบต จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. leuconata Pinratana, 1979 พบเฉพาะภาคใต้ แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย
13. ผีเสื้อบารอนม่วงดำ
ชื่อสามัญ : Plain Earl
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tanaecia jahnu Moore, 1858
วงศ์ย่อย : Limenitidinae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อบารอนม่วงดำ ตัวผู้
มีขนาด 6-8 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีลายขีดสีดำประปราย ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีสีขาว
ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่มีสีอ่อนกว่า
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 32 ชนิด ในไทยพบประมาณ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าไผ่ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค โดยพบได้น้อยทางภาคใต้
แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
14. ผีเสื้อเคาท์เทา
ชื่อสามัญ : Grey Count
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tanaecia lepidea Butler, 1868
วงศ์ย่อย : Limenitidinae
วงศ์ : Nymphalidae
ผีเสื้อเคาท์เทา ตัวผู้
ขนาด(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) 6.5-8 ซม. ปลายปีกคู่หน้าเป็นเหลี่ยม ปีกด้านบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้ ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่มีแถบสีเทาเกือบขาว แถบนี้บนปีกคู่หลังมีขนาดเกือบครึ่งปีก ส่วนเพศเมียมีลักษณะคล้ายเพศผู้ แต่จะมีแต้มสีขาวบริเวณกลางปีกคู่หน้าด้วย
ปีกด้านล่าง(หรือท้องปีก)ทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีแถบสีเทา
ตัวหนอนกินใบกระโดน[Careya arborea Roxb.] โคลงเคลงขี้นก[Melastoma malabathricum L.] จิกนา[Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.] และพิกุล[Mimusops elengi Linn.]
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 32 ชนิด ในไทยพบประมาณ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักพบเกาะกางปีกผึ่งแดดตามพุ่มไม้เตี้ย หรือตามโป่งในป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณที่ชุ่มชื้น และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค
ผีเสื้อเคาท์เทา ตัวผู้
ในไทยแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่ subsp. cognata Moore, 1859 พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และ subsp. sthavara Fruhstorfer, 1913 พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมา ไทย และลาวตอนเหนือ
15. ผีเสื้อหางดาบภูเขา
ชื่อสามัญ : Fourbar Swordtail
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Graphium agetes Westwood,1843
วงศ์ย่อย : Papilioninae
วงศ์ : Papilionidae
ผีเสื้อหางดาบภูเขา
มีขนาด 7.5-9 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ผีเสื้อในกลุ่มนี้มีจุดเด่นอยู่ที่มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังยื่นยาวเป็นปลายแหลมดูคล้ายดาบ อันเป็นที่มาของชื่อไทย
เพศผู้มีต่อมเก็บกลิ่นบนแผ่นปีกใกล้กับขอบปีกด้านในของปีกคู่หลัง มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้าเป็นรูปสามเหลี่ยมและจะบางใส และชอบดูดน้ำและเกลือแร่ตามพื้นดินที่ชื้นแฉะและกองมูลสัตว์
ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีขาวอมเขียว มีแถบสีดำพาดขวางกลางปีก4แถบ แถบสีดำกลางปีกคู่หลังมีขีดสีแดง ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่มีสีดำ มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีแถบสีแดง ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน
ลำตัวด้านบนมีสีชมพู ด้านข้างมีแถบสีดำพาดยาวตลอดลำตัว
ตัวหนอนกินใบเถาเอ็นอ่อน[Cryptolepis buchanani R.Br. ex Roem. & Schult.]
ผีเสื้อหางดาบภูเขา
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 108 ชนิด ในไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นดินชื้นและริมลำน้ำในป่าโปร่ง และป่าดิบ ทั่วทุกภาค
นักวิชาการบางท่านแยกชนิดนี้ออกเป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. agetes Westwood,1843 พบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม
– subsp. iponus Frushtorfer, 1902 พบเฉพาะภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
16. ผีเสื้อหนอนจำปีจุดต่อขอบ
ชื่อสามัญ : Veined Jay
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Graphium chironides Honrath,1884
วงศ์ย่อย : Papilioninae
วงศ์ : Papilionidae
ผีเสื้อหนอนจำปีจุดต่อขอบ
มีขนาด 7-10 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีแถบและจุดสีเขียว-ฟ้าอ่อนทั่วทั้งปีก ดูคล้ายผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก(Common Jay) แต่ชนิดนี้แถบบริเวณโคนปีกคู่หลังมีสีเหลือง และมีแถบสีเหลืองอ่อนเกือบขาวเพิ่มอีก 1 แถบ ยาวขนานกับแถบตามแนวขอบปีกด้านใน แต่สั้นกว่า ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน
ตัวหนอนกินใบสกุลจำปา[Magnolia spp.]
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 108 ชนิด ในไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นดินชื้นและริมลำน้ำในป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. chironides Honrath,1884 พบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย
– subsp. malayanum Eliot, 1982 พบเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย
17. ผีเสื้อม้าลายธรรมดา
ชื่อสามัญ : Lesser Zebra
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Graphium macareus Godart,1819
วงศ์ย่อย : Papilioninae
วงศ์ : Papilionidae
ผีเสื้อม้าลายธรรมดา
มีขนาด 8-10 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีแถบสีขาว-ครีมตามแนวช่องเส้นปีก ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้ามีจุดกลมเรียงกัน ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีแต้มรูปจันทร์เสี้ยวเรียงกัน
เพศเมียบางชนิดย่อย เช่น astyna ไม่มีแถบสีขาวบริเวณกลางปีก มีเพียงพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม เป็นการเลียนแบบผีเสื้อสกุลจรกา แต่ปีกด้านบนจะไม่มีสีเหลือบน้ำเงินเหมือนผีเสื้อสกุลจรกา
ปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 108 ชนิด ในไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบดูดน้ำตามพื้นที่ชื้นๆริมลำน้ำในป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
ในไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. burmensis Moonen, 1984 พบทางภาคเหนือด้านตะวันตก แพร่กระจายในเมียนมา และไทย
– subsp. indochinensis Frushstorfer, 1901 พบทางภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. perakensis Frushstorfer, 1899 พบทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย
18. ผีเสื้อหางมังกรขาว
ชื่อสามัญ : White Dragontail
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lamproptera curius Fabricius, 1787
วงศ์ย่อย : Papilioninae
วงศ์ : Papilionidae
ผีเสื้อหางมังกรขาว
เป็นผีเสื้อในวงศ์หางติ่ง(Papilionidae)ที่มีขนาดเล็กที่สุด โดยมีขนาด 4-5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ในไทยพบสกุลนี้ 2 ชนิด อีกชนิด คือ ผีเสื้อหางมังกรเขียว(Green Dragontail) ซึ่งทั้ง2ชนิดมีลักษณะรูปร่างและสีสันที่คล้ายกันมาก รวมทั้งแหล่งที่พบ มีรูปร่างปีกแตกต่างไปจากผีเสื้อวงศ์หางติ่งในสกุลอื่น คือ ปีกมีขนาดเล็กมาก โดยเฉพาะปีกคู่หลังที่แคบและเรียวยาว ขณะบินดูคล้ายแมลงปอ มักพบผีเสื้อทั้ง2ชนิดนี้หากินอยู่ใกล้ๆกันตามพื้นดินพื้นหินที่ชื้นแฉะ ร่องน้ำหรือลำห้วยที่ไม่ลึกมากนัก พบอยู่รวมกันตั้งแต่ 1-2 ตัว จนถึงเป็นฝูงใหญ่ได้ถึง 20 ตัว
ชนิดนี้ต่างจากผีเสื้อหางมังกรเขียว ตรงที่พื้นปีกบริเวณที่บางใสของปีกคู่หน้าจะแคบกว่า และกลางปีกทั้งสองคู่ไม่มีสีฟ้า
ปีกด้านบนบริเวณปลายปีกคู่หน้าบางใส มีขอบปีกสีดำ กลางปีกทั้งสองคู่มีแถบสีขาวยาวต่อเนื่อง ปลายปีกคู่หลังยื่นออกเป็นหางยาวมาก ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน
วงจรชีวิตระยะไข่ 5 วัน ระยะหนอน 20 วัน และระยะดักแด้ 9-12 วัน
ทั่วโลกพบสกุลนี้ 2 ชนิด ในไทยพบทั้ง 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นดินชื้นและริมลำน้ำในป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. curius Fabricius, 1787
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
19. ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู
ชื่อสามัญ : Common Rose
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pachliopta aristolochiae Fabricius, 1775
วงศ์ย่อย : Papilioninae
วงศ์ : Papilionidae
ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู
มีขนาด 8-11 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน คือ อกและท้องมีสีชมพู-แดง และมีแต้มสีดำบริเวณด้านบนและด้านข้างของลำตัว ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวคล้ายหาง
ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีดำ มีเกล็ดสีเทาระบายรอบเส้นปีกและครึ่งหนึ่งของเซลปีกดูคล้ายเป็นเงาสีขาวจางๆ กลางปีกคู่หลังมีแถบสีขาว5แถบตามช่องเส้นปีก แถบที่อยู่ใกล้ขอบปีกด้านในมีสีขาวอมชมพู มีจุดแต้มสีชมพู6จุดเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน
วงจรชีวิตระยะไข่ 5 วัน ระยะหนอน 16-17 วัน(ลำตัวเป็นปล้องๆ สีดำ มีหนามสีแดงกระจายอยู่บนลำตัว บริเวณกลางลำตัวมีแถบและหนามสีขาว1แถบพาดขวางลำตัว) และระยะดักแด้ 11-12 วัน(ใช้ใยยึดส่วนท้ายของลำตัวติดกับพืชและอีกเส้นหนึ่งคล้องรอบลำตัว)
ตัวหนอนกินกระเช้าถุงทอง[Aristolochia pothieri Pierre ex Lecomte] กระเช้าผีมด[Aristolochia acuminata Lam.] และหูหมี[Thottea parviflora Ridl.]
ตัวผู้มักชอบหากินตามพื้นที่ที่ชื้นแฉะ ริมลำห้วย ริมลำน้ำ มูลสัตว์ และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 18 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามสวนผลไม้ ป่าละเมาะ และริมลำน้ำในป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. asteris Rothschild, 1908 พบเฉพาะภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และตอมอร์เลสเต
– subsp. goniopeltis Rothschild, 1908 พบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และฟิลิปปินส์
20. ผีเสื้อหางติ่งนางละเวง
ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อถุงเงิน , ผีเสื้อหางติ่งนางระเวง
ชื่อสามัญ : Great Mormon
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio memnon Linnaeus, 1758
วงศ์ย่อย : Papilioninae
วงศ์ : Papilionidae
ผีเสื้อหางติ่งนางละเวง ตัวเมีย
มีขนาด 12-15 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เพศผู้ขณะบินนั้นเกล็ดปีกจะสะท้อนแสงเป็นสีเงิน อันเป็นที่มาของชื่อ“ผีเสื้อถุงเงิน”
ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีดำ บางส่วนของปีกคู่หน้ามีสีออกเทาเล็กน้อย ปีกคู่หลังมีสีเหลือบน้ำเงิน ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีดำ มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีสีแดงและแต้มสีดำ
ตัวผู้และตัวเมียต่างกันเด่นชัดที่ตัวผู้มีแต้มสีแดงเฉพาะโคนปีกด้านล่างทั้ง2คู่ ส่วนตัวเมียมีแต้มสีแดงทั้งที่โคนปีกด้านบนและโคนปีกด้านล่างทั้ง2คู่ นอกจากนี้ตัวเมียมีสีสันและลวดลายบนปีกที่แตกต่างจากตัวผู้อย่างชัดเจน
วงจรชีวิตระยะไข่ 3-7 วัน ระยะหนอน 15-19 วัน และระยะดักแด้มากกว่า 11 วัน
ตัวหนอนกินใบส้มโอ[Citrus maxima (Burm.) Merr.] ส่องฟ้าดง[Clausena harmandiana (Pierre) Guillaumin] เขยตาย[Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.] น้ำข้าวเขา[Glycosmis chlorosperma (Blume) Spreng.] และช้างงาเดียว[Luvunga scandens (Roxb.) Buch.-Ham. ex Wight & Arn.]
สกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 250 ชนิด ในไทยพบประมาณ 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามที่ชื้นแฉะ ริมลำธาร และตามทางเดินในป่าที่มีแสงแดดสาดส่อง ตัวผู้มักพบเกาะดูดน้ำตามที่ชื้นแฉะและริมลำธาร ส่วนตัวเมียจะชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้ โดยพบได้ตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ริมลำน้ำในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค
ผีเสื้อหางติ่งนางละเวง ตัวเมีย
ทั่วโลกพบตัวผู้เพียงชนิดเดียว ส่วนตัวเมียมีถึง 14 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 7 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. agenor Linnaeus, 1758 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ปีกคู่หลังมีแถบสีขาวและแต้มสีดำเรียงกันตามช่องเส้นปีก ในเมืองไทยพบทั่วทุกภาค แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
– subsp. alcanor Cramer, 1777 ลำตัวส่วนท้องมีสีเหลือง ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาว มีแถบสีขาวข้างละ4จุด และมีแต้มสีแดงที่ขอบปีกด้านล่างคล้ายตัวเมียของผีเสื้อหางติ่งธรรมดา(Common Mormon) แต่ต่างกันที่ขนาดและพื้นสีดำของปีกชนิดนี้มีมากกว่า
– subsp. butlerianus Rothschld, 1895 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่พื้นปีกคู่หน้ามีสีขาวจางๆ
– subsp. distantianus Rothschld, 1895 ลำตัวส่วนท้องมีสีเหลือง ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาว มีแถบสีขาวและสีแดงคล้ายผีเสื้อหางติ่งธรรมดา แต่ชนิดนี้มีขนาดปีกที่ใหญ่กว่ามาก
– subsp. esperi Butler, 1879 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีแต้มสีขาวที่ปีกคู่หน้า
– subsp. rhetenorina Jordan, 1909 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีสีซีดกว่า และบริเวณโคนปีกมีสีแดงและสีดำเข้ม มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีแต้มสีแดงและสีดำ
– subsp. vinius Linnaeus, 1758 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ปีกคู่หลังบริเวณใกล้ขอบปีกด้านในมีสีขาวจางๆ
21. ผีเสื้อหางติ่งปารีส
ชื่อสามัญ : Paris Peacock
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio paris Linnaeus, 1758
วงศ์ย่อย : Papilioninae
วงศ์ : Papilionidae
ผีเสื้อหางติ่งปารีส
มีขนาด 12-14 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีดำ แทรกด้วยเกล็ดสีน้ำเงินแกมเขียวสะท้อนแสง กลางปีกคู่หลังมีแถบขนาดใหญ่สีฟ้าอมเขียวสะท้อนแสง ขณะเกาะนิ่งนั้นแถบสีนี้จะถูกปิดทับด้วยปีกคู่หน้า มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีแต้มสีชมพูรูปจันทร์เสี้ยว และขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวคล้ายหาง
ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีดำ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีแต้มสีดำและขอบสีชมพูจนถึงสีแดงวางเรียงกัน
เพศผู้มักพบเกาะดูดน้ำตามที่ชื้นแฉะและริมลำธาร ส่วนเพศเมียจะชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้
ผีเสื้อหางติ่งปารีส
ตัวหนอนกินใบสกุลส้ม[Citrus spp.] สามง่าม[Tetradium glabrifolium (Champ. ex Benth.) T.G.Hartley] เพี้ยลูนา[Melicope lunu-ankenda (Gaertn.) T.G.Hartley] เพี้ยกระทิง[Melicope pteleifolia (Champ. ex Benth.) T.G.Hartley] และกำจัดหน่วย[Zanthoxylum nitidum (Roxb.) DC.]
สกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 250 ชนิด ในไทยพบประมาณ 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นดินที่ชื้นแฉะ และริมลำธารในป่าโปร่ง และป่าดิบ ทั่วทุกภาค
ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ subsp. paris Linnaeus, 1758
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน ฮ่องกง เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
22. ผีเสื้อเหลืองสยามขอบดำ
ชื่อสามัญ : Lesser Gull
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cepora nadina Lucas, 1852
วงศ์ย่อย : Pierinae
วงศ์ : Pieridae
ผีเสื้อเหลืองสยามขอบดำ ตัวผู้อยู่ด้านหน้า ตัวเมียอยู่ด้านหลัง
มีขนาด 5.5-6.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีขาว มุมปลายปีกหน้าและขอบปีกของปีกคู่หน้ามีสีเขียวขี้ม้า-สีดำ โคนปีกสีขาว เส้นปีกสีน้ำตาล ปีกคู่หลังมีพื้นปีกสีเหลืองอมเขียว ส่วนเพศเมียปีกคู่หน้ามีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หลังมีพื้นปีกสีเขียวขี้ม้า กลางปีกทั้งสองคู่มีแถบสีขาว
ปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน พื้นปีกคู่หน้าสีขาว ขอบปีกด้านนอกมีสีเหลืองปนน้ำตาล ส่วนพื้นปีกคู่หลังมีสีเหลืองปนน้ำตาล
ทั่วโลกพบสกุลนี้ 23 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นดินชื้น ทุ่งหญ้า และริมลำน้ำในป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. andersoni Distant, 1885 พบใน จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย
– subsp. nadina Lucas, 1852 พบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ ฮ่องกง หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
23. แมลงปอเข็มน้ำตกปีกดำธรรมดา
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอเข็มก้นสั้นปีกเหลือบม่วง , แมลงปอเข็มน้ำตกสั้นผู้ดำ
ชื่อสามัญ : Peacock Jewel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aristocypha fenestrella Rambur, 1842
วงศ์ : Chlorocyphidae
แมลงปอเข็มน้ำตกปีกดำธรรมดา ตัวผู้
เป็นแมลงปอเข็มขนาดเล็ก ความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 2.5-2.65 ซม. เพศผู้นั้นอกมีสีดำ คาดด้วยเส้นสีเหลืองขนาดเล็ก ด้านหน้าอกมีแถบรูปสามเหลี่ยมสีชมพู เมื่อหุบปีกจะเห็นปีกมีสีเข้มเกือบเต็มปีก ตาปีกสีชมพูม่วง ภายในแถบสีเข้มมีแถบสีม่วงอมชมพูสะท้อนแสงกระจายทั่ว
ส่วนเพศเมียต่างจากเพศผู้ตรงที่เมื่อหุบปีกจะเห็นปีกมีสีออกน้ำตาลเหลือง ท้องสีดำสลับกับลายสีเหลือง
ทั่วโลกพบสกุลนี้ 12 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามลำธารกลางแจ้ง ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
24. แมลงปอบ้านสองสีฟ้า
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านคู่เขียวฟ้า , แมลงปอบ้านฟ้าเขียว , แมลงปอบ้านสองสีเขียวฟ้า
ชื่อสามัญ : Chalky Percher
ชื่ออื่นๆ : Blue Percher ; Green-and-Blue Skimmer ; Ground Skimmer ; Little Blue Darter
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diplacodes trivialis Rambur, 1842
วงศ์ : Libellulidae
แมลงปอบ้านสองสีฟ้า ตัวผู้
เป็นแมลงปอบ้านขนาดเล็ก ความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 2.1-2.8 ซม. ความยาวส่วนท้อง(วัดจากโคนท้องถึงปลายท้อง) 1.9-2.2 ซม. ตาสีฟ้า ตัวผู้อายุน้อยมีอกสีน้ำตาลเหลือง สีเหลืองนวล หรือสีเขียวอ่อนอมเหลือง ท้องสีเหลืองนวลและมีลายสีดำชัดเจน เมื่อมีอายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าแกมเทาเกือบทั้งตัว ท้องปล้องที่7 หรือปล้องที่ 8-10 มีสีดำ ปลายท้องสีขาวครีม รยางค์สีเหลืองนวล ปีกใส โคนปีกมีแต้มสีน้ำตาลส้มเล็กน้อย ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวผู้อายุน้อย ปลายท้องสีดำ และปีกใส
ทั่วโลกพบสกุลนี้ 13 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและไม้พุ่มเตี้ยที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามป่าละเมาะ ทั่วทุกภาค โดยพบตลอดทั้งปี
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ติมอร์เลสเต ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลีย
25. แมลงปอบ้านใหม่กลม
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านตาลปลายปีกใส
ชื่อสามัญ : Fulvous Forest Skimmer
ชื่ออื่นๆ : Cleartip Widow ; Russet Percher
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neurothemis fulvia Drury, 1773
วงศ์ : Libellulidae
แมลงปอบ้านใหม่กลม ตัวผู้
เป็นแมลงปอบ้านขนาดกลาง ลำตัวยาว 4.9 ซม. ความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 2.5-3.3 ซม. ท้องค่อนข้างแบน ความยาวส่วนท้อง(วัดจากโคนท้องถึงปลายท้อง) 2-2.6 ซม. ตัวผู้มีอกและท้องสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาลแดง จนถึงสีแดงเข้ม ซึ่งสีจะเข้มขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ปีกมีแถบสีแดงคลุมเกือบทั้งหมด ยกเว้นปลายปีกที่ใสและมีลักษณะคล้ายวงกลม ขอบปีกด้านบนใกล้ปลายปีกมีแถบ1แถบ ตาเดี่ยวมี3ตา รวมมี2ตา หนวดเป็นแบบเส้นขน ปากเป็นแบบกัดกิน ระหว่างรอยต่อแต่ละปล้องท้องมีสีเข้ม รยางค์ปลายท้องสีแดง ขาเป็นแบบขาเดิน ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่อกและท้องสีน้ำตาลแกมเหลือง ปีกมีแถบสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดงคลุมเกือบทั้งหมด ยกเว้นปลายปีกที่ใส
แมลงปอบ้านใหม่กลม ตัวผู้
ทั่วโลกพบสกุลนี้ 18 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบเกาะข้างลำธารที่แสงแดดส่องถึงตามป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค โดยพบได้ตลอดทั้งปี
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฎาน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
26. แมลงปอเข็มท้องเข็มดำ
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอเข็มเรียวดำ , แมลงปอเข็มหางเข็มดำ
ชื่อสามัญ : Black Threadtail
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prodasineura autumnalis Fraser, 1922
วงศ์ : Platycnemididae
แมลงปอเข็มท้องเข็มดำ ตัวเมีย
เป็นแมลงปอเข็มขนาดเล็ก ความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 1.7-2 ซม. ความยาวส่วนท้อง(วัดจากโคนท้องถึงปลายท้อง) 2.7-3.2 ซม.
เพศผู้มีลำตัวสีดำเกือบทั้งตัว อกด้านล่างออกสีเทาขาวจนถึงสีขาว ท้องขนาดเล็กเรียวยาวสีดำ และขยายออกที่ส่วนปลายเล็กน้อย ในเพศผู้อายุน้อยจะมีแถบสีขาว สีเหลือง หรือสีส้ม พาดตามยาวข้างอกแต่ละข้าง 1-2 แถบ
ส่วนเพศเมียนั้นอกมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ มีแถบสีขาวหรือสีเขียวจางๆพาดตามยาวข้างอกแต่ละข้าง 2 แถบ ท้องสีดำ มีลายข้างท้องและปลายท้องสีขาว
แมลงปอเข็มท้องเข็มดำ ตัวเมีย
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 46 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามแหล่งน้ำและน้ำไหลได้ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เนปาล จีนตอนใต้ ฮ่องกง ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
นก
บันทึกภาพได้ 18 ชนิด ได้แก่
1. เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน
ชื่อสามัญ : Chinese Sparrowhawk
ชื่ออื่นๆ : Chinese Goshawk , Grey Frog Hawk , Horsfield’s Goshawk
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Accipiter soloensis Horsfield, 1821
วงศ์ : Accipitridae
เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน
เป็นนกอพยพผ่าน มีขนาด 29-35 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลักษณะที่ต่างจากเหยี่ยวนกเขา(Sparrowhawk)ชนิดอื่นๆ คือ ไม่มีลายใดๆที่ลำตัวด้านล่าง
ตัวตัวผู้มีหัวและลำตัวด้านบนสีเทาแกมฟ้าเข้มกว่าเหยี่ยวนกเขาชิครา(Shukra) ตาสีแดง หลังคลุมจมูกสีส้มแกมเหลืองสดกว่าชนิดอื่น คอหอยสีขาว ไม่มีลายใดๆ อกสีส้มอ่อนเรียบหรือมีลายขวางจางๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว ด้านล่างของขนกลางปีกและขนปลายปีกส่วนใหญ่มีสีขาว ตัดกับด้านล่างของขนปลายปีกด้านนอกที่มีสีดำ ขณะบินจึงมองเห็นใต้ปีกสีขาวและมีปลายปีกสีดำได้ชัดเจน ขนคลุมใต้ปีกสีส้มจางๆ ส่วนตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ หัวและลำตัวด้านบนสีออกแกมน้ำตาลมากกว่า ตาสีเหลือง มีเส้นกลางคอจางๆ อกลายสีเข้มกว่า ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างมีสีขาว มีลายพาดสีจางๆที่หาง ยกเว้นขนหางคู่กลาง
นกวัยอ่อนมีหัวสีเทาเข้ม มีลายขีดที่คอและอกสีน้ำตาลแดงเข้ม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวด้านล่างมีลายพาดสีเข้ม หางมีแถบ4แถบ ขณะบินใต้หางเห็น3แถบ ขนคลุมใต้ปีกสีน้ำตาลส้ม ไม่มีลาย ขนบินปีกด้านในมีลายตามยาว2แถบ ปลายปีกสีเทาเข้มหรือสีดำ
ออกหากินในเวลากลางวัน โดยพบเป็นคู่หรือโดดเดี่ยว อาจเกาะตามกิ่งไม้ หรือบินร่อนเหนือระดับยอดไม้ การบินร่อนอาจบินเป็นวงกลมหรือบินแบบไม่มีจุดหมาย อาหารได้แก่ สัตว์ และแมลงต่างๆ โดยเฉพาะนกขนาดเล็ก ขณะที่เกาะตามกิ่งไม้หรือร่อนกลางอากาศ ตาจะคอยจ้องหาเหยื่อตามต้นไม้หรือบนพื้นดิน เมื่อพบก็จะบินลงมาโฉบจับเหยื่อด้วยกรง จากนั้นนำไปฉีกกินบนต้นไม้
ไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ในประเทศไทย
เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน
ชื่อชนิด soloensis เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบชนิดนี้เป็นครั้งแรก คือ Solo(Surakarta) เป็นชื่อเมืองบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 45 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าโปร่ง บางครั้งพบตามสวนสาธารณะ และสวนผลไม้ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,135 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินี
- เหยี่ยวผึ้ง
ชื่อสามัญ : Oriental Honey-buzzard
ชื่ออื่นๆ : Crested Honey Buzzard , Crested Honey-buzzard , Eurasian Honey-buzzard
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pernis ptilorhynchus Temminck, 1821
วงศ์ : Accipitridae
เหยี่ยวผึ้ง
มีทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพผ่าน มีขนาด 55-65 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีลักษณะที่ต่างจากเหยี่ยวชนิดอื่นๆ คือ ปากเรียวเล็ก หัวเล็ก คอค่อนข้างยาว ท้ายทอยมีหงอนสั้นๆ หางยาว ปลายหางมน
นกชนิดนี้อาจมีภาวะรูปร่างหลายแบบ ปกติมีขนยื่นยาวออกไปจากหัว สั้นบ้าง ยาวบ้าง บางตัวยาวได้ถึง 7 ซม. ลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนลำตัวด้านล่างมีสีแตกต่างกันมากในแต่ละตัว อาจเป็นสีขาวทั้งหมด จนถึงสีน้ำตาลเข้มทั้งหมด แต่ละแบบอาจมีลวดลายต่างกัน คือ ลายจุด ลายแถบ ลายทาง หรือไม่มีลวดลายใดๆ แต่ทุกแบบมีเหมือนกันหมด คือ คอค่อนข้างยาว หัวเล็กเรียว บริเวณด้านข้างหรือแก้มและคางจะมีขนสั้นๆ มองดูคล้ายกับเกล็ดสีขาวหรือสีเทา ปากเรียวเล็ก ตัวเต็มวัยในขณะบินจะเห็นปีกกว้างและยาว หางตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีลายแถบสีเข้มที่ปลายหาง และแถบเล็กๆอีก 2-3 แถบ ที่โคนหางติดกับลำตัว ขนปีกสีขาวและมีลายแถบสีเข้ม
ตัวผู้มีตาสีน้ำตาลแดง ส่วนใหญ่หัวและหน้ามีสีเทา คอสีขาวและมีเส้นดำรอบ อาจมีเส้นกลางคอ ขนคลุมใต้ปีกสีน้ำตาลเหลืองจนถึงสีน้ำตาล มีลายตามยาวสีเข้ม ขนปีกบินสีขาวหรือสีเทา แถบขาวใต้หางกว้างกว่า ปลายหางมีแถบสีดำกว้างกว่า ตัวเมียมีตาสีเหลือง แถบขาวใต้หางแคบกว่า มองเห็นแถบสีดำ4แถบ
นกวัยอ่อนนั้น บริเวณหัวและลำตัวด้านล่างมักมีสีจางออกขาว ลายใต้ปีกจางกว่า และลายใต้หางมี 3-4 แถบ
ออกหากินในเวลากลางวัน โดยพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นฝูงเล็กๆ ชอบเกาะตามกิ่งไม้ ขณะเกาะมักจะห้อยขาหรือปีกข้างใดข้างหนึ่ง การเคลื่อนที่จากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่งใช้วิธีกระโดด บางครั้งก็พบลงมาหาอาหารตามพื้นและใช้วิธีกระโดดเช่นกัน บางครั้งพบบินร่อนเป็นวงกว้างเหนือระดับยอดไม้ อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผึ้ง ตัวอ่อนของผึ้ง และรังผึ้ง จึงได้ชื่อว่า“เหยี่ยวผึ้ง” โดยเกาะใกล้ๆกับรังผึ้งแล้วจิกกิน เมื่อตัวผึ้งมาตอมมากๆก็จะคาบรังผึ้งบางส่วนไปกินที่อื่น ก่อนย้อนกลับมากินต่อที่รังจนอิ่ม บางครั้งก็กินสัตว์อื่นๆ เช่น นกขนาดเล็ก ลูกไก่ และงู รวมทั้งผลไม้เนื้ออ่อนบางชนิด พฤติกรรมการล่าเหยื่อเช่นเดียวกับเหยี่ยวชนิดอื่นๆ คือ ขณะที่เกาะตามกิ่งไม้หรือร่อนกลางอากาศ ตาจะคอยจ้องหาเหยื่อตามต้นไม้หรือบนพื้นดิน เมื่อพบก็จะบินลงมาโฉบจับเหยื่อด้วยกรง จากนั้นนำไปฉีกกินบนต้นไม้
ยังไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ในประเทศไทย
เสียงร้องว่า“หวิว-หวิว-หวิว”
ชื่อชนิด ptilorhynchus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า ptil,-o,=um หรือ ptilon แปลว่า ขนอุย ขน หรือปีก และคำว่า rhynch,-o,=us หรือ rhunkhos แปลว่า ปาก ความหมายก็คือ“เหยี่ยวที่บริเวณมุมปากมีขนคลุม” พบครั้งแรกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. gurneyi Stresemann, 1940 ชื่อชนิดย่อยเป็นชื่อที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– subsp. orientalis Taczanowski, 1891 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า orient,-al แปลว่า ทิศตะวันออก ความหมายก็คือ“นกที่พบทางทิศตะวันออก” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่ทะเลสาบไบคาล ประเทศรัสเซีย ลักษณะมีหงอนสั้นมากหรือมองเห็นไม่ชัด ลำตัวขนาดใหญ่และปีกยาวกว่าชนิดย่อยอื่นๆ และมักมีแถบสร้อยคอ ในไทยเป็นชนิดย่อยอพยพ โดยพบทางภาคใต้ แพร่กระจายในรัสเซีย จีน มองโกเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะซุนดาใหญ่
– subsp. ruflicollis Lesson, 1830 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือคำว่า ruf,-esc,-i หรือ rufus แปลว่า สีแดง และคำว่า coll,-i หรือ collis แปลว่า คอ ความหมายก็คือ“นกที่บริเวณคอสีออกแดง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ชนิดย่อยนี้บางตัวมีหงอนที่ท้ายทอยค่อนข้างยาว ในไทยเป็นชนิดย่อยประจำถิ่น โดยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้เหนือคอคอดกระ แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฎาน จีน เมียนมา และไทย
– subsp. torquatus Lesson, 1830 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำในภาษาละตินคำว่า torquat หรือ torquis หรือ torques แปลว่า รอบคอ ความหมายก็คือ“นกที่มีลายแถบรอบคอ” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ลักษณะมีหงอนยาวที่ท้ายทอย เห็นได้ชัดเจน บางตัวมีสีสันดูคล้ายเหยี่ยวดำท้องขาว(Blytrh’s Hawk Eagle) ในไทยเป็นชนิดย่อยประจำถิ่น โดยพบทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 4 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามแหล่งกสิกรรม ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในตุรเคีย ซีเรีย อิรัก อิหร่าน ซาอุดอาระเบีย เยเมน โอมาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฎาน จีน มองโกเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และออสเตรเลีย
- นกกก
ชื่อท้องถิ่น : นกกะวะ , นกกาฮัง
ชื่อสามัญ : Great Hornbill
ชื่ออื่นๆ : Great Indian Hornbill ; Great Pied Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Buceros bicornis Linnaeus, 1758
วงศ์ : Bucerotidae
นกกก
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 120-140 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากและโหนกใหญ่สีเหลือง ปลายปากสีส้ม โหนกมีความแข็ง ด้านบนโหนกแบนหรือนูนเล็กน้อย โหนกตอนหน้าจะแตกออกเป็น2กิ่ง ปลายกิ่งอาจแหลมหรือทู่ โหนกตอนท้ายจะเว้า ใบหน้าสีดำ คอและท้องสีขาวหรือสีขาวแกมเหลือง ลำตัวด้นบนสีดำ ปีกสีดำและมีแถบกว้างสีขาวหรือสีขาวอมเหลืองพาดกลางปีก แถบนี้เห็นได้ชัดขณะบิน ขอบขนปีกบินสีขาว ขอบปีกด้านท้ายสีขาว หางสีขาวและมีแถบสีดำพาดค่อนไปทางปลายหาง
ตัวผู้อาจมีขนาดถึง 150 ซม. มีตาสีแดง วงรอบตาสีดำ และโหนกด้านหน้ามีแถบสีดำพาด ส่วนตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า ตาสีขาว วงรอบตาสีแดง และโหนกด้านหน้าไม่มีสีดำ
ตัวที่ไม่เต็มวัยมีโหนกขนาดเล็ก และส่วนหน้าของโหนกแบน
ชอบอยู่เป็นคู่ หรือรวมกันเป็นฝูงขนาดเล็ก 3-5 ตัว แต่บางครั้งก็พบเป็นฝูงใหญ่ตั้งแต่ 30 ตัว ขึ้นไป ในบริเวณที่มีต้นไม้ออกลูกสุกเต็มต้น
เป็นนกที่มีอายุยืนได้ถึง 50 ปี ปกติจะพบเกาะตามกิ่งไม้บนเรือนยอดที่มีผลไม้ป่าเป็นอาหาร โดยเฉพาะลูกไทร ยางโอน พีพวน ตาเสือใหญ่ ตาเสือเล็ก หว้า ปอ ส้านเล็ก ฯลฯ หากต้นไม้นั้นมีลูกสุกเต็มต้น ก็จะมากินทุกวันจนกว่าจะหมด จึงจะไปหาแหล่งใหม่ นานๆครั้งจะพบกระโดดกินผลไม้ที่ร่วงหล่นตามพื้น นอกจากนี้ยังจับสัตว์อื่นๆกินเป็นอาหารอีกด้วย เช่น งู กิ้งก่า หนู และลูกนกต่างๆ โดยจะจับสัตว์เหล่านี้ตามโพรงไม้หรือโพรงดิน
กินผลไม้ ด้วยการใช้ปลายปากปลิดผลไม้ออกจากกิ่ง แล้วโยนขึ้นไปในอากาศและอ้าปากรับผลไม้ ก่อนกลืนลงคอทั้งลูก บางครั้งก็ใช้ปากคาบผลไม้ไว้ แล้วเงยหน้าชูปากสูงขึ้น ก่อนอ้าปากให้ผลไม้หล่นลงคอทั้งลูก
นกกก
เป็นนกที่ขณะบินจะเกิดเสียงดังมาก ได้ยินไปไกล บางครั้งก็ใช้วิธีการร่อน โดยเฉพาะเมื่อใกล้จะถึงที่เกาะ นกชนิดนี้ใช้เส้นทางเดิมๆทุกวันในการบินออกหาอาหารและกลับแหล่งที่อยู่อาศัย โดยจะบินไปกลับรวมกันเป็นฝูง ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์
เกาะหลับนอนตามกิ่งไม้ที่อยู่เกือบสูงสุดของต้นไม้สูงใหญ่ โดยอยู่กันหลายตัวหรือเป็นฝูง ขณะนอนนกชนิดนี้จะพับคอเข้าไปใต้รักแร้ โดยที่ปากจะชี้ทำมุมตั้งขึ้น
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในระหว่างเดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม โดยตัวผู้จะเป็นฝ่ายเกี้ยวพาราสีตัวเมีย และเสาะหาโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ที่เกิดตามธรรมชาติ หรือสัตว์อื่นทำทิ้งไว้ เนื่องจากนกกกไม่สามารถที่จะเจาะโพรงเองได้ เพราะจะงอยปากไม่แข็งแรงพอ โพรงมักจะอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 15-25 เมตร ซึ่งนกกกจะชอบใช้โพรงเดิมเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับนกเงือกชนิดอื่นๆ
ตัวเมียจะใช้เวลาตัดสินใจเข้าโพรงนานอาจนานเป็นสัปดาห์ ทั้งนี้เพราะระยะเวลาที่ตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงเพื่อวางไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนกินเวลานาน 80-90 วัน ในระยะนี้นกกกตัวผู้จะเอาใจตัวเมียเป็นพิเศษด้วยการบินออกอาหารมาป้อนตัวเมียอยู่สม่ำเสมอ ขณะที่ตัวเมียเมื่อเข้าไปในโพรงแล้วจะปิดปากโพรงด้วยมูล เศษอาหาร และเศษไม้ในโพรง เหลือเพียงช่องพอให้ปากของตัวผู้ส่งอาหารมาได้เท่านั้น
ปกติวางไข่ครั้งละฟอง แต่อาจวางไข่ได้ถึง 2 ฟอง ไข่สีขาว หรือสีขาวอมครีม ตัวเมียใช้เวลากกไข่ราว 30-31 วัน ช่วงนี้ตัวเมียจะสลัดขนออกเพื่อกกไข่ กรณีที่มีไข่ 2 ฟอง และลูกนกฟักเป็นตัว ลูกนกตัวที่อ่อนแอกว่าอาจตายไป อันเป็นวิถีตามธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่
เมื่อลูกนกฟักเป็นตัว พ่อนกต้องออกหาอาหารมากยิ่งขึ้น อาจมากถึงวันละ 10 เที่ยว ในระยะทางอาจไกลได้ถึง 10 กิโลเมตร เพื่อป้อนให้แม่นกและลูก
หากช่วงนี้ถ้าพ่อนกตายไป ทั้งแม่นกและลูกก็จะอดตายไปด้วย เพราะแม่นกยังไม่แข็งแรงพอที่จะพังโพรงและออกมาหาอาหาร
เมื่อลูกนกมีอายุราว 30-45 วัน จะมีขนปกคลุมลำตัวและแข็งแรงพอประมาณ เนื้อที่ในโพรงเริ่มคับแคบ พ่อนกจะเปิดปากโพรงให้แม่นกออกมา หลังจากแม่นกออกจากโพรง ลูกนกจะปิดปากโพรงด้านในตามที่แม่นกสอน เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่างๆ ซึ่งเป็นการสอนที่จะตกทอดต่อไปเรื่อยๆจากรุ่นต่อรุ่น
ช่วงนี้แม่นกจะช่วยพ่อนกหาอาหารมาป้อนลูก ต่างจากนกเงือกชนิดอื่นๆที่แม่นกไม่ได้ช่วยพ่อนกหาอาหารมาให้ลูก พ่อนกและแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาให้ลูกอีกราว 3-4 สัปดาห์ จนลูกนกเริ่มแข็งแรงและรู้จักฝึกซ้อมบินด้วยการกระพือปีกในโพรง พ่อนกและแม่นกจะช่วยกันเปิดปากโพรงให้ลูกนกออกจากโพรง เพื่อให้ลูกนกเริ่มหัดบินจนบินได้และเริ่มหาอาหารเป็น จึงจะทิ้งโพรงไปรวมฝูง ในระยะแรกพ่อแม่นกจะยังคอยดูแลลูก จนกว่าจะโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้
นกกก
เสียงร้องดังและก้องติดต่อกันว่า“กก-กก” บ้างฟังว่าเป็นเสียง“โตก-โต๊ก” โดยร้องซ้ำกันเว้นระยะพอประมาณ ก่อนจะออกเสียงว่า“กาฮัง-กาฮัง” หรือ“กะวะ-กะวะ” คล้ายเสียงเห่าของสุนัข ขณะร้องนั้นคอจะเหยียดตรง ปากชี้ขึ้นด้านบน มักได้ยินเสียงร้องมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ชื่อชนิด bicornis เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า bi แปลว่า สอง ที่สอง หรือสองเท่า และคำว่า corn,-e หรือ cornum หรือ corni แปลว่า เขาสัตว์ ความหมายก็คือ“นกที่โหนกแข็งมีลักษณะเป็น2แฉก หรือ2ลอน” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกบนเกาะสุมตรา ประเทศอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบทั้ง 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. bicornis Linnaeus, 1758 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาเช่นเดียวกับชื่อชนิด ในเมืองไทยพบตั้งแต่คอคอดกระลงไป
– subsp. homrai Hodgson, 1832 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในประเทศเนปาล ในเมืองไทยพบได้เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 4 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร
นกเงือกทุกชนิดมีบทบาทสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศของป่าดิบเขตร้อน โดยมีบทบาทเด่นชัดในการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้และช่วยควบคุมประชากรสัตว์เล็กในฐานะผู้ล่า ในบางประเทศนั้นได้มีการศึกษาพบว่าต้นไม้บางชนิดเริ่มลดลง บ้างก็สูญพันธุ์ นั่นเป็นเพราะนกเงือกสูญพันธุ์ไปจากประเทศนั้น ทำให้ไม่มีผู้ช่วยกระจายพันธุ์พืชดังกล่าว
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายค่อนข้างกว้างตั้งแต่ทางด้านตะวันตกของอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
- นกบั้งรอกใหญ่
ชื่อสามัญ : Green-billed Malkoha
ชื่ออื่นๆ : Greater Green-billed Malkoha ; Large Green-billed Maalkoha
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phaenicophaeus tristis Lesson, 1830
วงศ์ : Cuculidae
นกบั้งรอกใหญ่
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 51-59 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัว คอ และหลังคอสีเทาอ่อน หนังรอบตาสีแดงสดและมีขนสีขาวโดยรอบ ปากค่อนข้างหนาสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวขุ่น หลังและตะโพกสีเทาแกมเขียวเข้มจนถึงสีเทาเข้ม ปีกแต่ละข้างยาวมากกว่า 14 ซม. ปีกและขนหางสีน้ำตาลเหลือบเขียวจนถึงสีดำเหลือบเขียว ลำตัวด้านล่างสีเทาอ่อนแซมด้วยขีดดำเล็กๆ คอหอยและอกมีสีจางกว่าท้องเล็กน้อย หางยาว 37-38 ซม. ปลายขนหางที่ไล่ลดหลั่นกันลงไปเป็นบั้งๆมีสีขาว5แถบทางด้านล่าง
อยู่กันเป็นคู่เกือบตลอดทั้งปี มักพบกระโดดไปมาตามกิ่งไม้ที่รกทึบ หรือโผบินจากต้นไม้หนึ่งไปยังต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ กินอาหารจำพวกตั๊กแตน จักจั่น แมลง ตัวบุ้ง หนอน ตัวอ่อนของแมลง รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆอย่างกิ้งก่า จิ้งเหลน หรือแม้แต่ลูกนกชนิดอื่นที่อยู่ในรัง เหยื่อขนาดเล็กจะจิกกินกลืนลงคอ แต่ถ้าเป็นเหยื่อขนาดใหญ่จะงับให้ตายแล้วจึงฉีกกินทีละชิ้น
เป็นนกที่ค่อนข้างเฉื่อย มักหลบซ่อนและค่อนข้างสงบเงียบ ปกติจะเกาะตามกิ่งไม้ที่มีใบหนาทึบ สังเกตเห็นได้ยาก นอกจากเห็นขณะบิน ซึ่งจะบินระยะสั้นๆจากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีกระโดดและปีนป่ายคล้ายกระรอก บางครั้งก็ลงมายังพุ่มไม้หรือไม้พื้นล่างที่มีใบแน่นทึบ
ส่วนใหญ่พบเป็นคู่ ไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลใด อาหารได้แก่ หนอน และแมลงต่างๆ นอกจากนี้ยังกินสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น อีกด้วย พฤติกรรมการหาอาหารจะใช้วิธีปีนป่ายตามกิ่งไม้และยอดไม้ เมื่อพบเหยื่อจะใช้ปากจิกกิน หากเหยื่อมีขนาดใหญ่จะใช้ปากงับเหยื่อจนตาย แล้วจิกฉีกเหยื่อกินทีละชิ้น
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนสิงหาคม ทำรังตามยอดไม้หรือยอดไผ่ที่อยู่สูงจากพื้นดินราว 3-7 เมตร รังค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของตัว รังเป็นรูปถ้วยหยาบคล้ายรังนกเขา วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ กิ่งไผ่ และเถาวัลย์ต่างๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 10 นิ้ว กลางรังเป็นแอ่งตื้นๆ และนำใบไม้สดมาวางกลางรังเพื่อรองรับไข่ ทั้งนี้มีการนำใบไม้ใหม่สดมาเปลี่ยนใหม่เสมอ เพื่อควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ไข่รูปค่อนข้างยาว ขนาด 2.58 x 3.38 ซม. สีขาว มีลักษณะคล้ายผงชอล์คเคลือบบางส่วน ทั้งตัวผู้ตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่ลืมตาและไม่มีขนปกคลุมร่างกาย เมื่อลูกนกแข็งแรงและบินได้แล้ว จึงจะทิ้งรังไป
เสียงร้องแหบและสั้นดังว่า“ต็อก-ต็อก”หรือ“เอาะ-เอาะ”
ชื่อชนิด tristis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ trist,-i แปลว่า เศร้า ความหมายก็คือ“นกที่มีสีไม่ฉูดฉาด(หรือสีแห่งความเศร้า)” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกที่รัฐฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. longicaudatus Blyth, 1841 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า long,-i หรือ longus แปลว่า ยาว และคำว่า caudatus (caud,=a) แปลว่า หาง ความหมายก็คือ“นกที่มีหางยาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศเมียนมา ในเมืองไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
– subsp. saliens Mayr, 1938 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ salien,-t แปลว่า กระโดด ความหมายก็คือ“นกที่มักจะกระโดดไปมา” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่ประเทศลาว ในเมืองไทยพบทางภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาตอนเหนือ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 6 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ชายป่า ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,685 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ฮ่องกง เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
- นกคัคคูแซงแซว
ชื่อสามัญ : Square-tailed Drongo-Cuckoo
ชื่ออื่นๆ : Asian Drongo Cuckoo , Drongo Cuckoo , Fork-tailed Drongo Cuckoo
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Surniculus lugubris Horsfield, 1821
วงศ์ : Cuculidae
นกคัคคูแซงแซว
มีทั้งที่เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพ(แต่พบไม่บ่อย) มีขนาด 24 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลำตัวมีขนสีดำเป็นมัน ท้ายทอยและต้นขามีลายแถบเล็กๆสีขาว แต่เห็นได้ยาก หางเว้าตื้น บริเวณตรงกลางของขนปลายปีกมีลายพาดแคบๆสีขาว เห็นได้ชัดขณะบิน บริเวณขนคลุมโคนขนหางทางด้านล่างและขนหางคู่นอกๆมีลายพาดสีขาว นกวัยอ่อนมีสีดำแกมน้ำตาล และมีจุดขาวกระจายทั่วไป
ลักษณะทั่วไปคล้ายกับนกแซงแซวเล็กเหลือบ(Bronzed Drongo)มาก โดยเฉพาะขนาดรูปร่างและพฤติกรรมบางอย่าง แต่นกคัคคูแซงแซวมีปลายหางเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือเป็นแฉกเล็กน้อย ปากยาวและเรียวกว่า รวมทั้งโค้งลงเล็กน้อย และบางส่วนในร่างกายมีสีขาว ส่วนนกแซงแซวเล็กเหลือบไม่มีสีขาวใดๆเลย
อุปนิสัยทั่วไปคล้ายกับนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) แต่ไม่ปราดเปรียวและว่าองไวเท่า มักเกาะตามกิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบ จะเกาะตามกิ่งไม้แห้งและยอดไม้เวลาร้อง โดยเกาะในลักษณะลำตัวตั้ง เวลาร้องนั้นปีกจะตกลงมาทางด้านข้างทั้ง2ปีก
บินโฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้กับที่เกาะคล้ายนกแซงแซวเล็กเหลือบและนกแซงแซวสีเทา(Ashy Drongo) บางครั้งก็บินเกาะแนบกับลำต้นของต้นไม้ เพื่อจับหนอนและแมลงกินเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังกินผลไม้เปลือกอ่อน เช่น ลูกไทร เป็นต้น
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนตุลาคม แต่นกชนิดนี้เป็นนกปรสิตที่ไม่ทำรังของตนเอง แต่จะแอบไปวางไข่ในรังของนกชนิดอื่น เช่น นกแซงแซว(Drongo) นกกางเขนน้ำ(Forktail) นกพญาไฟ(Minivet) เป็นต้น โดยวางไข่ครั้งละ 1-2 ฟอง โดยมีสีสันของไข่คล้ายคลึงกับไข่ของนกเจ้าของรัง หลังจากวางไข่แล้ว จะปล่อยให้เจ้าของรังช่วยฟักและเลี้ยงดูลูกตัวเองให้ ซึ่งระยะเวลาฟักเป็นตัวมีระยะเวลาสั้นกว่าลูกๆของเจ้าของรัง
เสียงร้องแหลมว่า“พวิ้ด-พวิ้ด-พวิ้ด-พวิ้ด-พวิ้ด” หรือ“ปีบ-ปีบ-ปีบ-ปีบ-ปีบ” โดยเสียงจะค่อยๆดังขึ้นตอนท้าย ซึ่งจะส่งเสียงร้องเป็นประจำในช่วงเช้าตรู่และเย็นค่ำของช่วงฤดูผสมพันธุ์ โดยอาจจะร้องทั้งวันในวันที่ฝนตกปรอยๆหรือครึ้มฟ้าครึมฝน และอาจร้องทั้งคืนในช่วงเดือนหงาย
ชื่อชนิด lugubris เป็นคำที่มาจากภาษาละตินคำว่า lugubr แปลว่า เศร้า ความหมายก็คือ“นกที่มีสีดำ(สีที่ไว้ทุกข์)” ชนิดนี้พบครั้งแรกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
นกคัคคูแซงแซว
ทั่วโลกพบประมาณ 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. barussarum Oberholser, 1912 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรก คือ Barussan เป็นชื่อเกาะในมหาสมุทรอินเดีย อยู่นอกเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
– subsp. dicruroides Hodgson, 1839 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก3คำ คือคำว่า dicr,-o หรือ dikros แปลว่า แฉก , คำว่า ur,=a,-o หรือ – ourus แปลว่า หาง และคำว่า -oid แปลว่า เหมือน หรือแบบ ความหมายก็คือ“หางเหมือนเป็นแฉก” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในประเทศเนปาล ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และบางพื้นที่ในภาคกลาง แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และฟิลิปปินส์
ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 4 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,200 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
6. นกแซงแซวสีเทา
ชื่อสามัญ : Ashy Drongo
ชื่ออื่นๆ : Pale Ashy Drongo
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus leucophaeus Vieillot, 1817
วงศ์ : Dicruridae
นกแซงแซวสีเทา
เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 25.5-29 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) นกแซงแซวทั้ง7ชนิดที่พบในไทย ส่วนใหญ่มีสีดำ ยกเว้นนกแซงแซวสีเทาเพียงชนิดเดียวที่ลำตัวมีสีเทา แต่มีความหลากหลายทางสีสันมาก ตั้งแต่สีเทาอ่อนจนถึงสีเทาเข้ม สีเทาเข้มเกือบดำ หรือสีเทาเหลือบฟ้า ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดย่อย ลำตัวด้านบนจะสีเข้มกว่าด้านล่าง บางชนิดย่อยมีลายพาดที่ด้านข้างของหัว ซึ่งอาจเป็นสีขาว สีเทา สีเข้ม หรือไม่มีลายใดๆ
หากดูเฉพาะรูปร่างจะมีลักษณะคล้ายนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) แต่หางแฉกไม่ลึกเท่า
พบทั้งโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ มักเกาะตามกิ่งไม้แห้งและกิ่งไม้ทั่วๆไปในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่านกแซงแซวชนิดอื่น กินแมลงต่างๆด้วยการโฉบจับกลางอากาศบริเวณเรือนยอดไม้หรือระหว่างเรือนยอดไม้ บางครั้งโฉบจับแมลงเกือบถึงพื้นดิน มีนิสัยก้าวร้าวไม่ต่างจากนกแซงแซวชนิดอื่น และป้องกันอาณาเขตที่มันครอบครองอย่างแข็งขัน พร้อมที่จะบินเข้าโจมตีนกล่าเหยื่อจำพวกเหยี่ยวได้ทุกเมื่อ บางครั้งมันก็มีนิสัยเสีย ด้วยการโฉบแมลงที่นกอื่นจับได้มาแย่งกินอีก
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้เกือบปลายกิ่งและอยู่สูงจากพื้นดินราว 10-20 เมตร รังเป็นรูปถ้วยตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ใบไม้ ไลเคนส์ และเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม มีใบหญ้าฉีกเป็นเส้นเล็กๆรองพื้นรัง
วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ขนาดไข่ 1.82 x 2.36 ซม. สีของไข่คล้ายกับไข่ของนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) คือ มีสีขาว หรือสีครีมอมชมพู แต่มีลายจุดและลายดอกดวงมากกว่า ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
เสียงร้องก้องดังว่า“ติ๊ก-วู่-วิด ติ๊ก-วู่-วิด” และเสียงแหบว่า“แอช-แอช” และยังสามารถเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้อีกด้วย
ชื่อชนิด leucophaeus มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และ phae,-o หรือ phaios แปลว่า สีเทา ความหมายก็คือ“นกที่มีสีขาวและสีเทา” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบ 16 ชนิดย่อย ในไทยพบ 6 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. bondi Meyer de Schauensee, 1937 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่ จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาวตอนใต้ กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้) สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก
– subsp. hopwoodi Stuart Baker, 1918 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกในประเทศบังกลาเทศ ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีลำตัวสีเทาเข้มจนเกือบดำ มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเข้ม แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ภูฎาน จีน เมียนมา ลาวตอนใต้ และเวียดนามตอนเหนือ สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบได้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– subsp. leucogenis Walden, 1870 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และคำว่า geni,-o หรือ genus แปลว่า คาง ความหมายก็คือ“บริเวณคางมีสีขาว” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกในประเทศจีน ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาอ่อนที่สุด บริเวณหัวตาและคางมีสีขาว มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีขาว แพร่กระจายในจีน ไทย ลาวตอนเหนือ และกัมพูชา สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จนถึงคอคอดกระ
– subsp. mouhoti Walden, 1870 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แพร่กระจายในเมียนมา ไทย และกัมพูชา สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และอาจจะเป็นนกอพยพที่พบได้เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป
– subsp. nigrescens Oates, 1889 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า nig,-el,=er,-ra,-resc,-ri,-ro แปลว่า สีดำ และคำว่า -escens เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีสีออกดำ” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่เมืองพะโค ประเทศเมียนมา ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาจางกว่าชนิดย่อย hopwoodi แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันออก และตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึง จ.ภูเก็ต โดยมักพบตามป่าชายเลนหรือป่าเสม็ดบริเวณชายฝั่งทะเล
– subsp. salangensis Reichenow, 1890 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ Salanga หมายถึง “เกาะภูเก็ต” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกบนเกาะภูเก็ต ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาเข้มกว่าชนิดย่อย leucogenis แต่ใบหน้ามีสีขาวน้อยกว่า และมีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเทา แพร่กระจายในจีน ไทย และมาเลเซีย สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 29 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้นั้น ชนิดที่เป็นนกประจำถิ่นพบอาศัยตามชายป่า ทุ่งโล่ง ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,565 เมตร ส่วนนกอพยพนั้นจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว สามารถพบได้ตามสวนสาธารณะและสวนผลไม้ด้วย
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
7. นกพญาปากกว้างลายเหลือง
ชื่อสามัญ : Banded Broadbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurylaimus javanicus Horsfield, 1821
วงศ์ : Eurylaimidae
นกพญาปากกว้างลายเหลือง ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 21-23 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากสีฟ้าสว่างสะท้อนแสง บริเวณหัว คอ และลำตัวด้านล่างสีชมพูแกมม่วงคล้ำ ลำตัวด้านบนมีขนสีเหลืองแซมหลัง ปีกส่วนใหญ่มีสีดำและมีขนสีเหลืองเรียงกันเป็นแถบปีก โคนของขนปีกที่มีสีเหลืองนั้นสีจะจางลง ตะโพกสีเหลือง หางสีดำ มีลายจุดสีขาวบริเวณด้านล่างของขนหางใกล้ๆกับปลายหาง ขณะบินจะเห็นลายพาดสีขาวแกมเหลืองบริเวณโคนของขนปลายปีก และตรงกลางของขนกลางปีก
ตัวผู้บริเวณอกมีแถบขวางเป็นเส้นสีดำ ส่วนตัวเมียไม่มี นกวัยอ่อนมีปากสีเหลืองคล้ำหรือออกน้ำตาล หัวสีน้ำตาลแกมเขียว ท้ายทอยสีเทา และมีลายขีดเล็กๆสีเหลืองหนาแน่น อกมีลายขีด ลำตัวด้านล่างสีเหลืองแกมขาวจนถึงสีน้ำตาลแกมเหลือง ปีกมีลายจุดสีเหลืองจากปลายขนคลุมปีกด้านบน ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีเหลือง
นกพญาปากกว้างลายเหลือง ตัวเมีย
มักพบเกาะในลักษณะการปีนป่ายตามกิ่งและยอดไม้ต่างๆ บินได้ดี บางครั้งพบโฉบจับแมลงเหนือยอดไม้ที่เกาะ อาหารได้แก่ แมลงต่างๆ และแมงมุม บางครั้งก็พบกินผลไม้บางชนิด
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังแบบแขวนตามกิ่งก้านของต้นไม้ต่างๆ รังเป็นรูปคล้ายกระเปาะที่มีหางยาวห้อยลงไปข้างล่าง มีทางเข้าออกรังทางด้านข้าง วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยใบไม้ ใบหญ้า ดอกหญ้า และเชื่อมกันด้วยใยแมงมุม วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ไข่สีครีมแกมขาว และมีลายสีน้ำตาลแกมแดงจนถึงสีม่วงบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
เสียงร้องรัวยาวดังคล้ายเสียงของนกพญาปากกว้างเล็ก(Black and Yellow Broadbill)มาก แต่มีเสียงนำขึ้นต้นว่า“แว้ว”
ชื่อชนิด javanicus เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบนกนิดนี้เป็นครั้งแรก คือ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
นกพญาปากกว้างลายเหลือง ตัวเมีย
ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. friedmanni Deignan, 1947 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบครั้งแรกที่ จ.สระบุรี ประเทศไทย ในไทยพบทั่วทุกภาค เฉพาะภาคใต้พบเหนือคอคอดกระขึ้นไป แพร่กระจายในไทย และเวียดนาม
– subsp. pallidus Chasen, 1935 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า pall,-ens,-esc,-id,-or แปลว่า จาง ความหมายก็คือ“นกที่มีสีจาง” พบครั้งแรกที่ จ.สุราษฎร์ธานี ประเทศไทย ในไทยพบเฉพาะภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป แพร่กระจายในเมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
นกพญาปากกว้างลายเหลือง ตัวเมีย
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 2 ชนิด ในไทยพบทั้ง 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,000 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในเมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และบรูไน
8. นกโพระดกหน้าผากดำ
ชื่อสามัญ : Blue-eared Barbet
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psilopogon duvaucelii Lesson, 1830
วงศ์ : Megalaimidae
นกโพระดกหน้าผากดำ
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 17-18 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) บริเวณหัวและกระหม่อมมีสีฟ้า หน้าผากสีดำ แถบตาสีดำ มุมปากมีแถบสีเหลืองต่อเนื่องด้วยแถบสีแดง ข้างท้ายทอยมีแถบเล็กๆสีแดง คอสีฟ้าและมีจุดเล็กๆสีดำ
ลักษณะทั่วไปคล้ายกับนกโพระดกคอสีฟ้า(Blue-throated Barbet) แต่นกโพระดกหน้าผากดำมีขนาดเล็กกว่า และไม่มีสีแดงบริเวณกระหม่อมหรือกลางหัว นอกจากนี้บริเวณหน้าผากมีสีดำ มีแถบสีดำพาดที่แก้มและอกตอนบน และมีแถบเล็กๆสีแดงอีก3แถบพาดที่ด้านข้างของหัว
มักพบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรืออยู่เป็นฝูง โดยเฉพาะต้นไม้ที่กำลังออกผลสุกและนกนิดนี้ชอบ อาจพบอยู่รวมกับนกโพระดกชนิดอื่น โดยเฉพาะนกตีทอง(Coppersmith Barbet) หลังกินอาหารเช้าแล้วมักจะบินมาเกาะไม้แห้ง เช่นเดียวกับเวลาตอนเย็น อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ขนาดเล็กต่างๆ เช่น ไทร หว้า และผลไม้เถาบางชนิด นอกจากนี้ยังกินหนอนและแมลงต่างๆ
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงต้นไม้ ซึ่งเป็นโพรงตามธรรมชาติ สัตว์อื่นทำไว้ หรือขุดเจาะเองตามไม้ยืนต้นตายที่ค่อนข้างผุ หรือไม้เนื้ออ่อนที่ยังมีชีวิต ไม่มีวัสดุใดๆรองรังในโพรง วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ขนาดไข่ 1.83 x 2.45 ซม. สีขาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
เสียงร้องแหลมสูงว่า“โก-เตก โก-เตก” ดังติดต่อกัน2ครั้ง/วินาที บางครั้งก็ร้องเสียง“เปลี่ยว-เปลียว” แต่ละพยางค์ห่างกัน1วินาที เป็นนกที่ร้องเกือบตลอดทั้งวัน แต่จะได้ยินบ่อยมากในช่วงเช้าและช่วงบ่าย มักจะร้องเมื่อเกาะตามยอดไม้และกิ่งไม้แห้ง
ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. cyanotis Blyth, 1847 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า cyan,-e,-i,-o หรือ kuanos แปลว่า สีน้ำเงินแก่ และคำว่า ot,-i,- o หรือ –otis แปลว่า หู ความหมายก็คือ“นกที่บริเวณขนปกคลุมรูหูมีสีน้ำเงินแก่” พบครั้งแรกในประเทศเมียนมา ในไทยพบทางภาคเหนือ แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา และไทย
– subsp. duvaucelii Lesson, 1830ชนิดย่อยนี้มีหน้าสีดำ ไม่มีแถบสีเหลืองที่มุมปาก ด้านข้างหัวมีสีแดง บริเวณมุมปาก ข้างคอ และอกตอนบนมีแถบสีดำ ในไทยพบทางภาคใต้ตอนล่าง แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะซุนดาใหญ่
– subsp. orientalis Robinson, 1915 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือคำว่า orient,-al หรือ orientis หรือ oriens แปลว่า ทิศตะวันออก และคำว่า –alis แปลว่า เป็นของ ความหมายก็คือ“นกที่พบในซีกโลกตะวันออก” พบครั้งแรกในประเทศกัมพูชา ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. stuarti Robinson & Kloss, 1919 ชื่อชนิดย่อยยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบครั้งแรกที่ จ.ภูเก็ต ประเทศไทย ในไทยพบทางภาคตะวันตก และภาคใต้ แพร่กระจายในเมียนมา ไทย และมาเลเซีย
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 32 ชนิด ในไทยพบ 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,500 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในบังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะซุนดาใหญ่
9. นกจับแมลงจุกดำ
ชื่อสามัญ : Black-naped Monarch
ชื่ออื่นๆ : Black-naped Blue Monarch , Black-naped Monarch Flycatcher
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypothymis azurea Boddaert, 1783
วงศ์ : Monarchidae
นกจับแมลงจุกดำ ตัวผู้
มีทั้งที่เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพ มีขนาด 16-17.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีปากกว้างสีฟ้าเข้ม ท้ายทอยมีหงอนสั้นตั้งเป็นสัน ปลายหงอนมีสีดำ หัวตาและแถบคาดอกมีสีดำ บริเวณหัว อก ลำตัวด้านบน และหางมีสีฟ้าเข้ม อกตอนล่างถึงก้นมีสีขาว ส่วนตัวเมียมีสีฟ้าหม่นกว่าตัวผู้ ลำตัวด้านบนสีเทาแกมน้ำตาล อกสีเทาและไม่มีแถบสีคำคาด
มักพบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ และอาจพบรวมอยู่กับนกขนาดเล็กอื่นๆอีกหลายชนิด อาศัยและหากินตามกิ่งก้านของต้นไม้ในระดับสูง แต่ก็อาจพบได้ตามพุ่มไม้และไม้พื้นล่าง เป็นนกที่ไม่ค่อยหยุดนิ่งอยู่กับที่ มักเคลื่อนไหวจากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่งด้วยการกระโดดหรือบิน ขณะเกาะมักจะยกหางขึ้นเล็กน้อย และแผ่ขนหางบางส่วนคล้ายนกอีแพรด อาหารได้แก่ แมลงต่างๆ ด้วยการโฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ หรือจิกกินตามกิ่งก้านและลำต้นของต้นไม้ บางครั้งก็พบจับเหยื่อตามพื้นดิน
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยหรือรูปกรวยหงายตามกิ่งก้านของต้นไม้ที่อยู่สูงจากพื้นราว 3-4 เมตร บางครั้งพบต่ำกว่านี้ไม่ถึง1เมตร วัสดุทำรังประกอบไปด้วยหญ้าและเปลือกไม้ แล้วเชื่อมกันด้วยใยแมงมุม รองพื้นรังด้วยหญ้าละเอียด อาจมีพวกมอสส์มาเสริมขอบนอกของรังเพื่อทำให้หนาขึ้น โดยเชื่อมรังติดกับกิ่งไม้ด้วยวิธีเดียวกับการสร้างรัง วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ขนาดไข่ 1.33 x 1.74 ซม. สีขาวแกมครีม มีลายดอกดวงและลายจุดสีน้ำตาล โดยเฉพาะทางด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
เสียงร้องดังว่า“วิด-วิด-วิด” 5-7 พยางค์ หากมีภัยมารบกวนก็จะส่งเสียงร้องแหบว่า“แอ่ช-แอ่ช”
ชื่อชนิด azurea เป็นคำที่มาจากภาษาละตินคำว่า azureus แปลว่า สีฟ้าสด ความหมายก็คือ“นกที่มีสีฟ้าสด” ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศฟิลิปปินส์
ทั่วโลกพบประมาณ 23 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. galerita Deignan, 1956 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากภาษาละติน2คำ คือคำว่า galer แปลว่า กระหม่อม และคำว่า -ta เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“บริเวณกระหม่อมมีลักษณะเด่น” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในจังหวัดตราด ประเทศไทย ในไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน
– subsp. montana Riley, 1929 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากภาษาละตินคำว่า montanus (mont,-an,-i) แปลว่า ภูเขา ความหมายก็คือ“นกที่พบบริเวณที่สูง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก
– subsp. prophata Oberholser, 1911 ไม่ทราบที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หมู่เกาะซุนดา และเกาะนิโคบาร์
ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 4 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,520 เมตร ในช่วงฤดูอพยพจะพบได้ตามป่าชายเลน และสวนผลไม้
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
10. นกเด้าลมดง
ชื่อสามัญ : Forest Wagtail
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendronanthus indicus Gmelin, 1789
วงศ์ : Motacillidae
นกเด้าลมดง
เป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 17-18 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) คิ้วสีขาว แถบหน้าสีคล้ำ บริเวณอกมีแถบหนาสีดำพาด2แถบ แถบบนเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก แต่แถบล่างไม่ต่อกัน ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมครีม จนถึงสีขาวแกมเหลืองอ่อน ปีกสีดำและมีแถบสีขาวหรือสีขาวแกมเหลืองอ่อน ขนหางคู่นอกสีขาว
มักพบโดดเดี่ยวหรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ หากินส่วนใหญ่ด้วยการวิ่งหรือเดินจิกแมลงตามพื้น จะหยุดเป็นช่วงสั้นๆ ซึ่งขณะหยุดเดินจะส่ายหางและลำตัวตอนท้าย จากนั้นก็จะวิ่งหรือเดินต่อไป เมื่อมีสิ่งรบกวนหรือตกใจจะบินขึ้นไปเกาะกิ่งไม้ ก่อนกลับลงมายังพื้นเพื่อหาอาหารต่อไปเมื่อรู้สึกว่าปลอดภัย เป็นนกที่เกาะกิ่งไม้ได้ดีชนิดหนึ่งเมื่อเทียบกับนกเด้าลม(Wagtail)ชนิดอื่น ในเวลากลางคืนจะเกาะกิ่งไม้หลับนอนตามต้นสกุลกก[Cyperus spp.] หรือตามต้นไม้ทั่วไป ขึ้นอยู่กับแหล่งอาศัย
เสียงร้องใสและกังวานดังว่า“พิ้ง-พิ้ง”
นกเด้าลมดง
ชื่อชนิด indicus เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบชนิดนี้เป็นครั้งแรก คือ ประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบสกุลนี้เพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ป่าชายเลน ชายป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,500 เมตร ทั่วทุกภาค โดยพบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พบมากทางภาคใต้
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน รัสเซีย ญี่ปุ่น หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ หมู่เกาะซุนดา และอินโดนีเซีย
11. นกกางเขนบ้าน
ชื่อท้องถิ่น : นกจีจู๊, นกจีแจ้บ , นกบินหลาบ้าน , นกอีปุ้ย , นกอีพุ้ย
ชื่อสามัญ : Oriental Magpie Robin
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Copsychus saularis Linnaeus, 1758
วงศ์ : Muscicapidae
นกกางเขนบ้าน ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 19-23 ซม.(วัดจากปลายปากพาดผ่านลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้บริเวณหัว คอหอย อก และลำตัวด้านบนสีดำเป็นมันเล็กน้อย ปากเรียวแหลม คอสั้น ปีกยาวแหลมและมีแถบสีขาว หางยาวสีดำ ปลายหางกลม แผ่ออกเล็กน้อยเป็นรูปพัด ขอบหางคู่นอกสีขาว ลำตัวด้านล่างสีขาว ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่หัวและอกสีเทาเข้ม ลำตัวด้านบนสีดำไม่เหลือบเป็นมัน
นกที่ยังโตไม่เต็มวัยนั้นมีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมเทา และคอมีลายเกล็ดสีน้ำตาล
พบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรืออยู่เป็นครอบครัว(พ่อ แม่ และลูก) มักพบเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ สายไฟ รั้วลวดหนาม รั้วไม้ หลังคาบ้าน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ บ่อยครั้งที่เกาะตามพื้นดินหรือสนามหญ้า นอกเหนือจากสีสันที่ใช้จำแนกตัวผู้และตัวเมียแล้ว ขณะเกาะตามสิ่งต่างๆหรือยืนนั้นยังช่วยในการจำแนกตัวผู้ตัวเมียได้อีกด้วย โดยตัวผู้ขณะเกาะหรือยืนมักจะยกหางทำมุมประมาณ 45 องศากับลำตัว ส่วนตัวเมียมักจะไม่ยกหางขึ้น
อาหารได้แก่ แมลง และหนอน โดยกระโดดและจิกกินตามกิ่งก้านของพืชหรือหาเหยื่อตามพื้น เมื่อพบเหยื่อจะโฉบจับด้วยปากแล้วคาบไปกินบริเวณที่เกาะ บ่อยครั้งที่พบกระโดดหรือเดินตามพื้นเพื่อไล่จิกแมลง บ้างก็โฉบจับแมลงกลางอากาศ โดยเฉพาะช่วงหลังฝนตกจะมีแมลงต่างๆอย่างแมลงเม่าบินขึ้นจากรูหรือโพรงดิน
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม บางพื้นที่พบมีช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมกราคม – เดือนกันยายน ทำรังตามโพรงของต้นไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นโพรงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือโพรงที่นกหรือสัตว์อื่นทำทิ้งเอาไว้ บางครั้งก็ทำรังตามคอมะพร้าวที่อยู่ระหว่างลำต้นกับก้านใบ หรือทำรังตามหลืบหรือชายคาบ้านหรือรอยแตกของสิ่งก่อสร้างต่างๆ วัสดุที่ใช้ทำรัง เช่น ใบหญ้า ใบไม้ ใบไผ่ หรือใบมะพร้าว นำมาวางซ้อนทับกัน วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ขนาด 1.67 x 2.24 ซม. สีเขียวอมฟ้า มีลายจุดและลายขีดสีน้ำตาลทั่วฟองไข่ ระยะเวลาฟักไข่ราว 14-15 วัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆจะมีรูปร่างเทอะทะ หัวโต ตาโต ยังไม่ลืมตา และไม่มีขนคลุมร่างกาย ช่วงนี้พ่อแม่นกจะหาอาหารมาป้อน ส่วนใหญ่เป็นหนอน และช่วยกันกกให้ความอบอุ่นแก่ลูก ลูกนกเจริญเติบโตและพัฒนาร่างกายได้ค่อนข้างเร็ว อายุราว 3-5 วัน ก็เริ่มมีขนขึ้นห่างๆ เมื่ออายุได้ 7-9 วัน ขนคลุมร่างกายเกือบเต็มลำตัว อายุราว 10-12 วัน ขนคลุมเต็มตัวและสามารถเดินไปมาภายในรังหรือเกาะตามขอบรัง อายุ 15-16 วัน เริ่มหัดบินในระยะใกล้ๆกับรัง และเมื่ออายุ 20-21 วัน สามารถบินได้แข็งแรงและทิ้งรังไป แต่ยังคงอาศัยอยู่กับครอบครัว ลูกนกจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพังเมื่อโตเต็มที่ เมื่อมีอายุ 1 ปี จึงจะเจริญสืบพันธุ์ได้
นกกางเขนบ้าน ตัวเมีย
นกกางเขนบ้านเป็นสัญลักษณ์ของ“สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
เสียงร้องแหลมสูงหวาน สามารถร้องเป็นท่วงทำนองได้ไพเราะ และร้องได้หลายเสียง ทั้งในรูปแบบการเกี้ยวพาราสี ป้องกันอาณาเขต หรือการเรียกลูกนก บางครั้งเราก็ได้ยินเสียงมันร้องตอนกลางคืนด้วย
ชื่อสามัญมีที่มาจากสีสันขาวดำของนกกางเขนบ้านนั้นดูคล้ายกับ“นกสาลิกาปากดำ”ที่มีชื่อสามัญว่า Common Magpie นกกางเขนบ้านเลยได้ชื่อสามัญว่า Oriental Magpie Robin
ชื่อชนิดทางวิทยาศาสตร์ saularis เป็นคำที่มาจากคำในภาษาฮินดู คือ saulary หมายถึง นกกางเขนบ้านโดยเฉพาะ ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 18 ชนิดย่อย ในไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. erimelas Oberholser, 1923 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า eri แปลว่า มาก และคำว่า =melas แปลว่า สีดำ ความหมายก็คือ“นกที่มีสีดำมากกว่าสีขาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองตะนาวศรี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์ แพร่กระจายในปากีสถานด้านตะวันออกเฉียงเหนือ อินเดีย เนปาล จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก
– subsp. musicus Raffles, 1822 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากคำในภาษาละติน คือ คำว่า musicus แปลว่า เสียงดนตรี บ้างก็ว่ามีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ คำว่า music,-o หรือ mousikos แปลว่า เสียงดนตรีเช่นกัน ความหมายก็คือ“นกที่มีเสียงร้องที่ไพเราะ” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคใต้ ตัวเมียมีหลังสีเทาเข้มกว่าภาคอื่นๆเล็กน้อย
– subsp. saularis Linnaeus, 1758 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด แพร่กระจายในปากีสถานด้านตะวันออกเฉียงเหนือ อินเดีย จีน เมียนมาร์ และไทย สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือด้านตะวันตก
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 13 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้หลากหลาย ทั้งชุมชน สวนสาธารณะ พื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ ชายป่า ป่าชายเลน ป่าโปร่ง ตลอดจนตามภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,830 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน
12. นกขมิ้นหัวดำใหญ่
ชื่อสามัญ : Black-hooded Oriole
ชื่ออื่นๆ : Asian Black-headed Oriole ; Indian Black-headed Oriole
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oriolus xanthornus Linnaeus, 1758
วงศ์ : Oriolidae
นกขมิ้นหัวดำใหญ่
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 25-28 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลำตัวมีสีเหลืองจนถึงสีเหลืองแกมทอง ปีกและหางสีดำแต้มสีเหลือง ตัวผู้มีหัว คอ และอกตอนบนสีดำ ปากสีชมพูแกมแดง ส่วนตัวเมียมีหลังและตะโพกสีเหลืองแกมเขียวมากกว่า มีลายแต้มสีเหลืองขนาดเล็กและจางกว่าที่ปีก นกวัยอ่อนสีคล้ำ วงรอบตาสีเหลือง คอสีขาวจนถึงสีเทาและมีลายขีดสีดำกระจายถึงอกตอนล่าง
พบโดดเดี่ยว เป็นครอบครัว หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ โดยเฉพาะหลังช่วงฤดูผสมพันธุ์อาจพบอยู่ร่วมกับนกกินแมลงและนกปรอดบางชนิด บินได้ดีและแข็งแรง อาศัยและหากินบนต้นไม้ อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ เช่น ไทร หว้า ส้านเล็ก และผลไม้เนื้ออ่อนต่างๆ โดยใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้ยังกินน้ำหวานจากดอกไม้บางชนิด เช่น ทองหลางป่า งิ้ว และกาฝากต่างๆ โดยการเกาะกินตามกิ่งหรือบนดอกไม้ แล้วใช้ปากดูดกิน รวมทั้งยังกินหนอนและแมลงต่างๆ ด้วยการจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้ บางครั้งลงมายังพื้นดินเพื่อจับเหยื่อ
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยตามง่ามไม้เกือบปลายกิ่งที่อยู่สูงจากพื้นราว 4-10 เมตร วัสดุทำรังประกอบไปด้วยใบหญ้า เยื่อไม้ และใยต่างๆ นำมาสานสอดเข้าด้วยกัน วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ขนาด 1.94 x 2.08 ซม. สีชมพู มีลายจุดสีน้ำตาลและสีน้ำตาลแดง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกาย ตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนจนลูกนกแข็งแรง มีขนคลุมเต็มตัว และเมื่อลูกนกหาอาหารเองได้แล้ว ก็จะแยกไปและหากินตามลำพัง
นกขมิ้นหัวดำใหญ่
เสียงร้องดังว่า“คิ้ว-คิ้ว-คิ้ว” 2-3 พยางค์ และเสียงร้องติดต่อกันว่า“เจี้ยวว”หรือ“เปี้ยววว” ดังก้องกังวานคล้ายนกขุนทอง
ชื่อชนิด xanthornus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า xanth,-o หรือ xanthos แปลว่า สีเหลือง และคำว่า orneo หรือ ornus หรือ ornis แปลว่า นก ความหมายก็คือ“นกที่มีสีเหลือง” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. xanthornus Linnaeus, 1758 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด
ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 23 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าชายหาด ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,800 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
13. ไก่ป่า
ชื่อท้องถิ่น : ไก่ป่าตุ้มหูขาว , ไก่ป่าตุ้มหูแดง
ชื่อสามัญ : Red Junglefowl
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gallus gallus Linnaeus, 1758
วงศ์ : Phasianidae
ไก่ป่า ตัวเมีย
เป็นนกประจำถิ่น ตัวผู้มีขนาด 65-78 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวเมียมีขนาด 41-46 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีลักษณะคล้ายไก่แจ้(Bantam) ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีแข้งและนิ้วเท้าสีเทาจนถึงสีดำ
ตัวผู้มีหนังหน้า หงอนสูงขนาดใหญ่ และเหนียงสีแดง จะงอยปากสีดำ สีของลำตัวมีหลากสี โดยขนบริเวณคอ อก และลำตัวตอนหน้ามีสีเหลืองแกมส้มจนถึงสีแดง ขนคลุมปีกแนวแรกและขนโคนปีกมีสีเขียวแกมน้ำเงินเป็นมัน ขนปกคลุมปีกส่วนที่เหลือและขนกลางหลังมีสีแดงเข้มจนถึงสีเลือดหมู ขนกลางปีกสีน้ำตาลเหลือง ขนโคนปีกด้านนอกสีน้ำตาล ขนปลายปีกสีดำ ลำตัวด้านบนตอนท้ายสีน้ำตาลแดงจนถึงสีแดง ตะโพกมีสีขาวเห็นชัดเจน ท้องสีดำ ขนหางยาวและมักโค้งลง ขนหางและขนปกคลุมบนหางสีเขียวเหลือบเป็นมัน ขนปกคลุมหางด้านล่างสีดำ ขนหางคู่กลางยาวโค้งยื่นออกมาจากขนหางอื่น โคนขนหางมีขนฟูสีขาว และขามีเดือยแหลมข้างละอัน
ส่วนตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า อาจมีหงอนเตี้ยและขนาดเล็ก ไม่มีเหนียง หนังหน้าสีชมพูแกมแดง ขนลำตัวสีน้ำตาลและสีเทา ประด้วยสีดำทั่วตัว หางรูปพัด มีความยาวปานกลาง ขาไม่มีเดือย
อยู่แบบโดดเดี่ยวและแบบครอบครัว มีกิจกรรมต่างๆและออกหากินในเวลากลางวัน มักหากินตามพื้นดิน แต่ก็บินได้ดีในระยะทางที่ไม่ไกลและไม่สูงมากนัก ในตอนกลางคืนจะจับคอนนอนตามกิ่งไม้หรือกิ่งไผ่ที่ไม่สูงมากนัก
กินเมล็ดพืชต่างๆเป็นอาหาร โดยเฉพาะเมล็ดหญ้า ขุยไผ่ และผลไม้สุกที่หล่นจากต้น นอกจากนี้ยังกินแมลง หนอน ไส้เดือน และสัตว์ขนาดเล็กต่างๆที่อยู่ตามพื้นดิน วิธีการหาอาหารนั้นส่วนใหญ่ใช้การคุ้ยเขี่ย แล้วใช้ปากจิกกิน บางครั้งพบเกาะคอนตามกิ่งไผ่เพื่อจิกกินขุยไผ่ตามกิ่งที่ยังไม่ร่วงหล่นลงพื้น
การต่อสู้ระหว่างตัวผู้ด้วยกันจะพบได้เสมอๆ ซึ่งมักจะเป็นการล่วงล้ำอาณาเขตและแย่งตัวเมียกัน ลักษณะการต่อสู้ก็เหมือนไก่เลี้ยงทั่วไป คือ การพองขนที่คอ ใช้ปากจิก ขาเตะ บางตัวอาจถึงตายได้เมื่อถูกเดือยแหลมคมที่ใบหน้า คอ หรืออก ตัวผู้ที่ชนะจะเป็นตัวที่ครอบครองอาณาเขตหรือตัวเมียนั้น
จากหลักฐานต่างๆเชื่อว่าไก่ป่าเป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านหรือไก่เลี้ยงในปัจจุบัน
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ช่วงนี้ตัวผู้จะมีขนสีสันสดใสสวยงาม ก่อนเกี้ยวพาราสีนั้น ตัวผู้มักคุ้ยเขี่ยดินแล้วเรียกตัวเมียมาจิกอาหารร่วมกัน การเกี้ยวพาราสีมีลักษณะเหมือนกับไก่แจ้ โดยตัวผู้จะตบปีกทั้ง2ข้างกับลำตัว แล้วโก่งคอขัน จากนั้นจะกางปีกข้างใดข้างหนึ่งห้อยลงเกือบชิดดิน เขยิบด้านข้างเข้าหาตัวเมีย แล้วการผสมพันธุ์จะเกิดขึ้น
ทำรังตามพื้นดิน ด้วยการขุดดินให้เป็นแอ่งเล็กน้อย อาจมีใบไม้ใบหญ้ามาวางตรงแอ่งเพื่อรองรับไข่ บางครั้งก็ทำรังกลางกอไผ่หรือกอหญ้า ตัวผู้ตัวเดียวจะจับคู่กับตัวเมียได้หลายตัวในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ทำให้ช่วงนี้พบตัวเมียอยู่รวมกันเป็นฝูงกับตัวผู้ที่โตเต็มวัย1ตัว วางไข่ครั้งละ 6-12 ฟอง หรืออาจมากกว่า ไข่ส่วนใหญ่เป็นรูปไข่ บางฟองเป็นรูปเกือบกลม ขนาด 3.34-4.41 ซม. สีขาว ไม่มีลายหรือจุดใดๆ ตัวเมียเท่านั้นที่ทำการฟักไข่ ใช้ระยะเวลาราว 21 วัน ลูกไก่ที่ออกจากไข่ใหม่ๆ ลืมตาได้ มีขนอุยปกคลุมตลอดลำตัว โดยเริ่มแรกจะมีสีเหลืองสลับลายดำ เมื่อโตขึ้นจะมีสีสันคล้ายกับตัวเมีย ลูกไก่ออกจากไข่ได้ราว 2-3 ชั่วโมง หรือเมื่อขนปกคลุมลำตัวแห้ง ก็สามารถเดินได้
ตัวเมียจะเป็นฝ่ายเลี้ยงลูกตามลำพัง กกลูก ด้วยการให้ลูกๆซุกใต้ปีก และพาเดินหาอาหาร โดยการคุ้ยเขี่ยดินแล้วเรียกลูกๆมาจิกกิน เมื่อมีภัยแม่ไก่จะส่งเสียงให้ลูกๆรีบหลบซ่อมตามกอหญ้า ส่วนแม่ไก่จะหนีด้วยการบิน เพื่อล่อศัตรูให้หันความสนใจไปที่แม่ และห่างไกลจากที่หลบซ่อนของลูกๆ หากเป็นศัตรูที่แม่ไก่พอจะสู้ได้ แม่ไก่ก็จะปักหลักสู้จนกว่าศัตรูจะหนีไป ขณะลูกไก่หลบซ่อนอยู่นั้น ลูกไก่จะไม่ส่งเสียงร้องใดๆ และจะออกจากที่ซ่อนก็ต่อเมื่อแม่ไก่ส่งเสียงเรียกเท่านั้น ลูกไก่จะติดตามแม่ไปหาอาหารจนกว่าจะแข็งแรง จึงจะแยกตัวออกไปหากินตามลำพัง เมื่อมาอายุ 1 ปี ก็จะเป็นตัวเต็มวัยพอที่จะผสมพันธุ์ได้
เสียงร้องของตัวผู้ดังว่า“เอ้ก-อี-เอ้ก-เอ้ก โดยตัวผู้จะร้องหรือขันต่างกันไปหลายแบบในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เช่น การเกี้ยวพาราสีก่อนผสมพันธุ์กับตัวเมีย และการป้องกันอาณาเขตจากตัวผู้อื่น เป็นต้น ส่วนตัวเมียจะร้องเสียงว่า“กะต๊าก-กะต๊าก” ปกติจะร้องเมื่อตกใจ หรือเมื่อมีสิ่งรบกวน และร้องเพื่อเตือนภัยให้ลูกๆ
ไก่ป่า ตัวเมีย
ไก่ป่าพบครั้งแรกที่ Pulau Condore ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งทะเลประเทศเวียดนาม ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. gallus Linnaeus, 1758 มีหนังคลุมหูสีขาวจนถึงสีขาวแกมชมพู จึงมีชื่อไทยว่า“ไก่ป่าตุ้มหูขาว” พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. spadiceus Bonnaterre, 1792 มีหนังคลุมหูสีแดง จึงมีชื่อไทยว่า“ไก่ป่าตุ้มหูแดง” ชื่อชนิดย่อย spadiceus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินสมัยใหม่ คือคำว่า spadix หรือ spadicis แปลว่า สีน้ำตาลแดง ส่วนชื่อชนิดย่อยที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือคำว่า spadikos แปลว่า สีน้ำตาลเหลือง ความหมายก็คือ“มีแผ่นหนังปิดรูหูเป็นสีออกแดง” พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 4 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,800 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
14. นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง
ชื่อสามัญ : Greater Yellownape
ชื่ออื่นๆ : Greater Yellow-naped Woodpecker , Large Yellow-naped Woodpecker
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysophlegma flavinucha Gould, 1834
วงศ์ : Picidae
นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 31.5-35 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) กระหม่อมมีขนยาวเป็นหงอนสีเหลืองสดยื่นออกมาถึงท้ายทอย บางครั้งแผ่ออกคล้ายพัด คางและคอหอยสีเหลือง ลำตัวด้านบนสีเขียวแกมเหลือง ปีกสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีน้ำตาลแดงและมีลายขวางสีดำ เห็นได้ชัดขณะบิน ลำตัวด้านล่างสีเทาแกมเขียว หางสีดำ ตัวผู้มีสีน้ำตาลแดงที่หน้าผาก คอตอนล่างหรืออกตอนบนสีขาวและมีลายขีดสีน้ำตาลจนถึงสีดำ ส่วนตัวเมียไม่มีสีน้ำตาลแดงที่หน้าผาก แถบหนวดออกสีน้ำตาล คอมีลายมากว่าตัวผู้
มักพบเป็นคู่ หรืออยู่เป็นครอบครัว 4-5 ตัว อาจพบอยู่รวมกับนกชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะนกแซงแซวต่างๆ(Drongo) ยกเว้นนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) หากินส่วนใหญ่ตามลำต้นหรือกิ่งไม้ใหญ่ที่ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก บางครั้งพบลงมาหากินตามพื้น อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ มด ปลวก หนอนของด้วงเจาะไม้ และแมลงต่างๆ นอกจากนี้ยังกินผลไม้และน้ำหวานจากดอกไม้บางชนิดด้วย
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังตามโพรงต้นไม้ที่มีเนื้อไม้อ่อน เนื้อไม้แข็งปานกลาง หรือไม้ยืนต้นตายที่ค่อนข้างผุ โดยอยู่สูงจากพื้นราว 3-6 เมตร ด้วยการใช้ปากขุดเจาะเอง บางครั้งก็ใช้โพรงที่เกิดจากธรรมชาติหรือสัตว์อื่นทำทิ้งไว้ ปากโพรงมีขนาดเข้าออกประมาณ 7-8 ซม. แล้วใช้ปากตบแต่งโพรงให้เหมาะสม ไม่มีวัสดุใดๆรองพื้นในโพรง วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ไข่รูปไข่ ขนาด 2.22 x 2.88 ซม. สีขาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน เมื่อลูกนกแข็งแรงก็จะแยกออกไปหากินตามลำพัง หรืออยู่กับครอบครัวอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง
เสียงร้องสั้นๆ แต่หนักแน่น ว่า“แอ็ก”
ชื่อชนิด flavinucha เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือคำว่า flav หรือ flavus แปลว่า สีเหลือง และคำว่า nuch,=a แปลว่า ท้ายทอย ความหมายก็คือ“นกที่มีท้ายทอย(หงอน)สีเหลือง” พบครั้งแรกที่เมือง Darjeeling ประเทศอินเดีย
นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง ตัวผู้
ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. flavinucha Gould, 1834 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด รวมทั้งสถานที่ที่พบครั้งแรก ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย และเวียดนาม
– subsp. pierrei Oustalet, 1889 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบครั้งแรกที่ Cochin-China ประเทศเวียดนาม ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 3 ชนิด ในไทยพบทั้ง 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,000 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
15. นกปรอดดำ
ชื่อสามัญ : Black Bulbul
ชื่ออื่นๆ : Asian Black Bulbul , Himalayan Black Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypsipetes leucocephalus Gmelin, 1789
วงศ์ : Pycnontidae
นกปรอดดำ
มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 23.5-26.5 ซม.(วัดจากปลายปากพาดผ่านลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากและขาสีแดง ส่วนหัวและลำตัวจะต่างกันไปในแต่ละชนิดย่อย
มักพบเป็นคู่หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ อาศัยและหากินตามยอดไม้ระดับสูง หายากที่จะลงมายังพื้นดิน เป็นนกที่ไม่ค่อยอยู่นิ่ง มักบินจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ นอกจากนี้ยังกินน้ำหวานจากดอกไม้ หนอน และแมลงต่างๆ สำหรับแมลงนั้นบางครั้งโฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
เสียงร้องค่อนข้างแหบว่า“แอ๊-แอ่ต-แอ่ก” หรือ“แอ้-แอ๊ด”
ชื่อชนิด leucocephalus เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก2คำ คือคำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และคำว่า cephal,=a,- o หรือ kephalos แปลว่า หัว ความหมายก็คือ“นกที่มีบริเวณหัวเป็นสีขาว” ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศจีน
ทั่วโลกพบประมาณ 10 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. concolor Blyth, 1849 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือ คำว่า con แปลว่า ด้วยกัน และคำว่า color,-i แปลว่า สี ความหมายก็คือ“มีสีเดียวกันตลอด” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่เมืองตะนาวศรี ประเทศเมียนมา ลำตัวมีสีดำ ปากและขาสีแดง ตัวเมียมีสีจางกว่าตัวผู้เล็กน้อย ในไทยเป็นนกประจำถิ่น โดยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก จ.เลย และ จ.ชัยภูมิ แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนามตอนใต้
– subsp. leucothorax Mayr, 1942 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก2คำ คือคำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และคำว่า thora,-co,=x แปลว่า อก ความหมายก็คือ“อกมีสีขาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในประเทศจีน บริเวณหัวและอกมีสีขาว ซึ่งจะแตกต่างจากนกปรอดเทาหัวขาว(White-headed Bulbul) ตรงที่ชนิดย่อยนี้มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างเป็นสีเทา ในไทยเป็นนกอพยพ โดยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในจีน และไทย
นกปรอดดำ
– subsp. sinensis Touche, 1922 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากภาษาละตินคำว่า sinens แปลว่า แห่งประเทศจีน ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ลำตัวมีสีดำ ปากและขาสีแดง ตัวเมียมีสีจางกว่าตัวผู้เล็กน้อย ในไทยเป็นนกอพยพ โดยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ไทย และลาว
– subsp. stresemanni Mayr, 1942 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน บริเวณหัวมีสีขาว ในไทยเป็นนกอพยพ โดยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไทย และลาว
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 24 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-2,565 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
16. นกปรอดหัวสีเขม่า
ชื่อสามัญ : Sooty-headed Bulbul
ชื่ออื่นๆ : Black-capped Bulbul ; White-eared Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus aurigaster Vieillot, 1818
วงศ์ : Pycnonotidae
นกปรอดหัวสีเขม่า
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 19-21 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวด้านบนสีดำและมีหงอนสั้นเป็นสัน แก้มและคอสีเทาแกมขาว ปากขนาดเล็ก ปลายปากแหลม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทา ตะโพกสีขาว หางสีดำ มีลายพาดสีออกขาวบริเวณขนคลุมโคนขนหางด้านบน ปลายหางสีขาวหรือสีขาวแกมเทา ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเทาจนถึงสีเทา มีภาวะสีขน2แบบ(dimorphic) คือ บางตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีแดง และบางตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง บางตัวอาจดูเป็นสีส้ม
มักพบเป็นคู่หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ ปกติอาศัยหากินตามต้นไม้ ทั้งตามลำต้น กิ่งก้าน และยอดไม้ และบ่อยครั้งลงมายังพื้น อาหารได้แก่เมล็ด ผลไม้ แมลง และหนอน พฤติกรรมการกินอาหารที่เป็นผลไม้นั้น จะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล เช่น ไทร หว้า ตะขบ อบเชย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น มะละกอ ชมพู่ มะม่วง เป็นต้น จะใช้ปากจิกกินผลไม้สุกคาต้นทีละชิ้น โดยไม่มีการเด็ดผลออกจากขั้ว หากเป็นอาหารที่เป็นแมลงและหนอนจะจิกกินตามลำต้น กิ่งก้าน และบนพื้น บางครั้งโฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ชนิดที่มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีแดง อาจพบอยู่ร่วมกับชนิดที่มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีผลกำลังสุก แต่ปกติมักจะแยกฝูงกัน ไม่ค่อยจะอยู่ในฝูงเดียวกัน
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยตามกิ่งก้านของไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือกอไผ่ วัสดุทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า แล้วรองพื้นรังด้วยใบไม้และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่ง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาดไข่ 1.55 x 2.11 ซม. สีขาวแกมชมพู มีลวดลายต่างๆสีน้ำตาลแกมม่วงทั่วฟองไข่ ตัวเมียจะวางไข่ในตอนเช้าตรู่ และวางทุกๆ 24 ชั่วโมง จนกระทั่งครบรัง ระยะเวลาฟักไข่ราว 13-14 วัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
เสียงร้องแหบแห้งว่า“แอ่-แอ่ด”หรือ“วิ-วิ-วี่-วี่” คล้ายเสียงคนบ่นหรือพูดคุยตลอดเวลา
นกปรอดหัวสีเขม่า..ตัวล่าง นกปรอดหัวโขน..ตัวบน
ชื่อชนิด aurigaster เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ 2 คำ คือ คำว่า aur,-ar,-at,-e,-ro หรือ aurum เป็นรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่า สีทอง และคำว่า gast,=er,-ero,-r,-ro เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่า ท้อง ความหมายก็คือ“นกที่มีบริเวณท้องเป็นสีทองหรือสีเหลือง” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศจีน
ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 5 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. germani Oustalet, 1878 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในเมืองโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม ในไทยพบชนิดย่อยนี้ในจังหวัดอุบลราชธานี แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
– subsp. klossi Gyldenstolpe, 1920 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในจังหวัดลำพูน ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แพร่กระจายในเมียนมาด้านตะวันออกเฉียงใต้ และไทย
– subsp. latouchei Deignan, 1949 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในประเทศลาว ในไทยพบชนิดย่อยนี้บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนเหนือในจังหวัดเชียงราย แพร่กระจายในจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ไทย ลาวตอนเหนือ และเวียดนามตอนเหนือ
– subsp. schauenseei Delacour, 1943 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในจังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ และไทย
– subsp. thais Boden Kloss, 1924 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของสถานที่ คือ ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้ทุกตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก แพร่กระจายในไทย และลาว
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 32 ชนิด ในเมืองไทยพบ 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่เกษตรกรรม ชายป่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และพื้นที่เปิดโล่งตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,830 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และอินโดนีเซีย
17. นกปรอดหัวโขน
ชื่อท้องถิ่น : นกกรงหัวจุก , นกปรอดหัวโขนเคราแดง , นกพิชหลิว
ชื่อสามัญ : Red-whiskered Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus jocosus Linnaeus, 1758
วงศ์ : Pycnonotidae
นกปรอดหัวโขน
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 18-20.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวสีดำและมีหงอนขนสีดำเป็นพุ่มตั้งบนหัว แก้มสีขาวและมีแต้มสีแดงที่หลังตา แถบหนวดและข้างอกสีดำ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมดำ คอและลำตัวด้านล่างสีขาว อกด้านข้างมีลายแถบสีน้ำตาล หางสีน้ำตาลดำ ปลายหางสีขาว ก้นสีแดง
ตัวเต็มวัยของชนิดนี้ต่างจากนกปรอดหัวสีเขม่า(Sooty-headed Bulbul) ตรงที่มีหงอนเป็นพุ่มตั้งบนหัว แก้มสีขาว มีแต้มสีแดงที่หลังตา ไม่มีลายพาดสีจางบริเวณขนคลุมโคนขนหางด้านบน ขนหางคู่นอกมีลายแถบสีขาวตอนปลาย
นกวัยอ่อนมีหงอนสั้น หัวและคอสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีแต้มสีแดงที่หลังตา และก้นสีชมพู
ปกติพบเป็นคู่ แต่ก็อาจพบเป็นฝูงได้ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ อาจพบอยู่รวมกับนกปรอดชนิดอื่น หากินตามกิ่งก้านและยอดไม้ บางครั้งก็ลงมายังพื้นดิน อาหารได้แก่ ผลไม้ หนอน และแมลงต่างๆ สำหรับผลไม้ที่มีขนาดเล็ก เช่น ไทร หว้า และตะขบ จะใช้ปากเด็ดจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล แต่หากเป็นผลไม้ขนาดใหญ่เกินกว่าจะกลืนกินทั้งผลได้ ก็จะใช้ปากจิกกินผลไม้สุก โดยจิกกินทีละชิ้น ส่วนหนอนและแมลงจะจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม แต่อาจพบได้เกือบตลอดทั้งปี ทำรังตามง่ามไม้ของพุ่มไม้เตี้ยๆ ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก แต่บางครั้งก็พบทำรังตามต้นไม้ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ รังเป็นรูปถ้วยเล็กๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ขนาดเล็ก ใบไม้แห้ง ต้นหญ้า และใบหญ้า อาจเชื่อวัสดุให้ติดกันด้วยใยแมงมุม ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง โดยวางไข่แต่ละฟองในทุกๆ 24 ชั่วโมง ปกติจะวางไข่ในตอนเช้าตรู่ ไข่สีชมพู มีลายจุด ลายขีด และลายดอกดวงสีม่วง สีแดง และสีน้ำตาลแดง โดยเฉพาะบริเวณไข่ด้านป้าน ใช้เวลาฟักไข่ 12-14 วัน ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆจะไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อนกและแม่นกจะช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อมีอายุได้ 14-16 วัน ก็จะเริ่มบินได้ จากนั้นจะทิ้งรังไป แต่ยังคงอาศัยและหากินร่วมกับพ่อแม่อยู่อีกระยะหนึ่ง ก่อนแยกจากไปหากินเอง
เสียงร้องไพเราะก้องกังวาน ดังว่า“วิ่ดวิ่ด-ปิ๊ด-จะลิ่ว” หรือ“วิด-ตี-วีด” หรือ“พิช-หลิว” โดยร้องซ้ำๆกัน จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก และมีการประกวดเสียงร้องของนกชนิดนี้เสมอในภาคใต้ของไทย โดยจะมีการประกวดในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม แล้วแต่พื้นที่ นอกจากนี้ก็เริ่มมีการประกวดฯในพื้นที่บางแห่งของภาคเหนือด้วย
นกปรอดหัวโขน
ชื่อชนิด jocosus เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ iocosus แปลว่า รื่นเริง สนุกสนาน หรือตลกขบขัน ความหมายก็คือ“นกที่ไม่ชอบอยู่นิ่งกับที่” หรือ“นกที่มีแก้มสีแดงคล้ายกับตัวตลก” พบชนิดนี้เป็นครั้งแรกในประเทศจีน
ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. emeria Linnaeus, 1758 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ emer,-o แปลว่า สัตว์เลี้ยง หรือทำให้เชื่อง ความหมายก็คือ“นกที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่เมืองเบงกอล ประเทศอินเดีย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้เฉพาะภาคตะวันตก
– subsp. pattani Deignan, 1948 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ จังหวัดปัตตานี ประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบครั้งแรกของโลก ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้เกือบทั่วทุกภาค(พบได้น้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ยกเว้นภาคตะวันตก
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 32 ชนิด ในเมืองไทยพบ 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามสวนผลไม้ สวนใกล้ชุมชน ชายป่า พื้นที่เกษตรกรรม ป่าเบญจพรรณ พื้นที่เปิดโล่งในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,800 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และสิงคโปร์
18. นกขุนทอง
ชื่อสามัญ : Common Hill Myna
ชื่ออื่นๆ : Grackle , Hill Myna , Talking Myna
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gracula religiosa Linnaeus, 1758
วงศ์ : Sturnidae
นกขุนทอง
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 27-31 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีติ่งเนื้อหรือหนังสีเหลืองสดบริเวณด้านข้างของหัวและท้ายทอย ขนลำตัวสีดำเป็นมันและเหลือบน้ำเงินเล็กน้อย ปากหนาสีส้มจนถึงสีส้มแดง ปลายปากมักเป็นสีเหลือง มีลายพาดสีขาวบริเวณขนปลายปีก เห็นได้ชัดขณะนกบิน นิ้วสีเหลือง ตัวไม่เต็มวัยขนลำตัวจะมีสีดำไม่เป็นมัน และอาจไม่มีติ่งเนื้อ
มักพบอยู่เป็นครอบครัวหรือฝูงเล็กๆ ชอบเกาะยอดไม้สูง อาศัยและหากินตารมกิ่งก้านของไม้ใหญ่ อาจลงมาหากินตามกิ่งก้านของพุ่มไม้บ้าง แต่มักไม่ลงหากินตามพื้น การเคลื่อนไหวตามกิ่งก้านของต้นไม้มักใช้วิธีกระโดด อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ เช่น ไทร หว้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังกินน้ำหวานจากดอกไม้บางชนิด เช่น ทองหลางป่า งิ้ว เป็นต้น รวมทั้งยังกินหนอน แมลงต่างๆ สัตว์ขนาดเล็ก และกิ้งก่า ด้วยการหากินตามกิ่งไม้ บางครั้งใช้วิธีโฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ อาจพบอยู่ร่วมกับนกชนิดอื่นที่กินผลไม้ เช่น นกเงือก นกโพระดก นกเขาเปล้า เป็นต้น ช่วงกลางวันจะพักเกาะตามกิ่งไม้แห้งหรือภายในเรือนยอดที่มีใบไม้หนาแน่น และมักส่งเสียงร้องตลอดเวลา ในตอนกลางคืนจะเกาะหลับนอนตามกิ่งไม้ หรืออาจเข้าไปหลับนอนตามโพรงไม้
เป็นนกชนิดหนึ่งที่ผู้คนนิยมเลี้ยงกันมาก(ทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย) เพราะสามารถเลียนเสียงของคนได้ดีมาก
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนสิงหาคม ทำรังตามโพรงต้นไม้ที่อยู่สูงจากพื้นราว 10-15 เมตร โดยเฉพาะต้นสกุลตะแบก[Lagerstroemia spp.] ตะเคียนหิน[Hopea ferrea Laness.] กระบก[Irvingia malayana Oliv. ex A.W.Benn.] สกุลสนเขา[Pinus spp.] และสัก[Tectona grandis L.f.] เป็นต้น มักเป็นโพรงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือโพรงเก่าของนกและสัตว์อื่นๆ ปกติไม่มีวัสดุรองรัง แต่บางครั้งพบว่าใช้กิ่งไม้เล็กๆและใบไม้ใบหญ้ามารองรัง วางไข่ครั้งละ 1-4 ฟอง จำนวนไข่ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของแม่นก ขนาดไข่ 2.56 x 3.62 ซม. สีน้ำเงิน มีลายจุดสีน้ำตาลแดงประปรายทั่งฟองไข่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันเลือกสถานที่ทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ช่วงที่ฟักไข่ออกมาเป็นตัว มักจะถูกผู้คนขึ้นไปจับมาเลี้ยงหรือนำไปขาย ทำให้พ่อแม่นกต้องวางไข่อีกครั้ง โดยวางไข่ในรังเดิมหรือรังใหม่ ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกาย เมื่อมีอายุได้7วันจึงจะเริ่มมีขนขึ้นประปราย จวบจน15วันจึงมีขนขึ้นเต็มตัว ต่อเมื่ออายุได้20วันจึงเริ่มออกมาเกาะตามกิ่งไม้ใกล้ๆกับโพรงรัง และเมื่อมีอายุได้30วันก็สามารถบินได้อย่างแข็งแรง ในช่วงที่ลูกนกยังไม่แข็งแรง ตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหาอาหารมาป้อน ส่วนใหญ่เป็นหนอนและแมลง เมื่อมีอายุมากขึ้นจึงเปลี่ยนผลไม้สลับกับหนอนและแมลง โดยลูกนกที่มีอายุ1ปีจึงจะสามารถผสมพันธุ์ได้
เสียงร้องลากสูง แต่มีเสียงต่ำในลำคอ ดังว่า“เกี้ยว”หรือ“เจี้ยว” และอาจทำเสียงได้หลายแบบ
ชื่อชนิด religiosa เป็นคำที่มาจากภาษาละตินคำว่า religiosus แปลว่า ศาสนา หรือการเชื่อถือ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด โดยชาวฮินดูเชื่อถือในนกเอี้ยงสาลิกา(Common Myna)เกี่ยวกับเรื่องศาสนา ไม่ใช่นกขุนทอง ชนิดนี้พบครั้งแรกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
นกขุนทอง
ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– subsp. intermedia Hay, 1845 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า inter แปลว่า ระหว่าง และคำว่า medi,-a,-o แปลว่า กลาง ความหมายก็คือ“นกที่มีขนาดกลาง” หรือ“นกที่มีลักษณะอยู่ระหว่าง2ชนิด” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ชนิดย่อยนี้มีหนังสีเหลืองที่หลังตาและท้ายทอยติดกัน ในไทยเรียกว่า“นกขุนทองเหนือ” พบทางภาคเหนือ บางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก และภาคตะวันตก แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และฟิลิปปินส์
– subsp. religiosa Linnaeus, 1758 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด ชนิดย่อยนี้มีหนังสีเหลืองที่หลังตาและท้ายทอยแยกจากกัน รวมทั้งมีขนาดใหญ่กว่า ในไทยเรียกว่า“นกขุนทองใต้” พบเฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 4-5 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามชายป่า ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,370 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
หมายเหตุ
เขตรักษาพันธุ์ฯทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ได้เปิดให้เข้าพื้นที่เพื่อศึกษาธรรมชาติจำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทางหน่วยฯทินวย – หน่วยฯทิคอง – หน่วยฯซ่งไท้(มหาราช) กำหนดให้ใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติ และเดินทางไป-กลับ ไม่เกิน4วัน3คืน ในแต่ละวันอนุญาตให้มีรถยนต์ใช้เส้นทางได้ไม่เกิน 15 คัน 2) เส้นทางหน่วยฯทินวย – หน่วยฯห้วยคือ กำหนดให้ใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติ และเดินทางไป-กลับ ไม่เกิน2วัน1คืน ในแต่ละวันอนุญาตให้มีรถยนต์ใช้เส้นทางได้ไม่เกิน 5 คัน 3) หน่วยฯสะเนพ่อง – หน่วยฯเกาะสะเดิ่ง กำหนดให้ใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติ และเดินทางไป-กลับ ไม่เกิน3วัน2คืน ในแต่ละวันอนุญาตให้มีรถยนต์ใช้เส้นทางได้ไม่เกิน 10 คัน และ 4) หน่วยฯตะเคียนทอง – น้ำตกสาละวะ กำหนดให้ใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติ และเดินทางไป-กลับ ไม่เกิน2วัน1คืน ในแต่ละวันอนุญาตให้มีรถยนต์ใช้เส้นทางได้ไม่เกิน 5 คัน
เดินตามถนนสายหน่วยฯทิคอง-หน่วยฯทินวย
โดยผู้ที่สนใจเข้าใช้พื้นที่ ต้องทำเรื่องขออนุญาตเข้าพื้นที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน สำเนาบัตรประชาชนของผู้ขออนุญาตและผู้เข้าร่วมคณะทุกคน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ สำเนาทะเบียนรถทุกคัน โดยรถยนต์นั้นต้องมีหน้ายางของล้อกว้างไม่เกิน 10.5 นิ้ว และสูงไม่เกิน 32.5 นิ้ว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เขตรักษาพันธุ์ฯทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก โทร.08-0855-2970 หรือทางเฟสบุ๊ก https://www.facebook.com/Thungyaiwest
(แบบฟอร์มขออนุญาตเข้าพื้นที่ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ทาง QR Code ในเฟสบุ๊กของเขตฯ)
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..