ถอดรหัสธรรมชาติ
โดย..คนเฝ้าดง..
“เรื่องน่ารู้ของต้นไม้”
ป่าใส่เสื้อ..ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
เงื่อนไขของการท่องเที่ยวธรรมชาติด้วยใจรัก ประการสำคัญก็คือเพียงเพื่อแสวงหาทำความรู้จักกับตัวเองและโลกกว้าง ซึ่งเป็นเหตุผลที่หาจุดสิ้นสุดไม่ได้ แม้จนบัดนี้ เชื่อเถอะต่อให้เดินทางกระทั่งถึงวันสุดท้ายก็ยังไม่ถึงจุดหมาย เนื่องจากธรรมชาติแต่ละแห่งและโมงยามแต่ละครั้ง แม้จะคล้ายแต่ก็ไม่เหมือน มันไม่มีที่สิ้นสุดโดยความเป็นจริง สิ่งที่ได้รับชัดเจนที่สุดก็คงจะไม่มีอื่นใดเกิน นั่นคือความเสรีอิสระแห่งแก่นแท้ของมนุษย์ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ มันเป็นที่สุดของที่สุดที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ
ปัจจุบันการไปท่องเที่ยวเพื่อหาแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลินจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ไม่เป็นการเพียงพอ เพราะความจริงแล้วธรรมชาติสามารถให้เราได้มากกว่านั้น ความรู้ที่ได้รับควบคู่ไปกับความสนุกสนานนับว่าเป็นความรู้ที่ไม่รู้เบื่อ การดูนก ดูดาว พรรณไม้ แมงและแมลง และอีกมากมายเกี่ยวกับธรรมชาติที่เราสามารถได้รับจากการไปท่องเที่ยวทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเขาลงห้วย การไปพักผ่อนตามชายทะเลหรือเกาะแก่ง หรือตามชนบทต่างๆ เพราะธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ทั่วทุกผืนพิภพในโลกใบนี้ จึงเป็นเหตุผลที่มาของบทความนี้ เพื่อให้ผู้ชื่นชอบธรรมชาติได้ทำความเข้าใจเรื่องน่ารู้ของพรรณไม้อย่างสนุกสนาน
ต้นไม้ ต้นหญ้า และไม้ดอกเกิดขึ้นได้อย่างไร?
พฤกษชาติทุกชนิดได้เจริญเติบโตขึ้นมาในระยะเวลาเดียวกันกับโลก ซึ่งโลกใบนี้มีชีวิตมาหลายพันล้านปีแล้ว เดิมมีแต่หญ้าทะเลเท่านั้นที่เติบโตอยู่ใต้ทะเลเป็นเวลาอันยาวนาน ส่วนบนภูเขาหรือบนบกไม่มีต้นไม้และต้นหญ้าอยู่เลย กาลเวลาล่วงเลยมาอีกหลายยุคหลายสมัย หญ้าทะเลก็ได้ค่อยๆเคลื่อนมาเติบโตบนบก กลุ่มอพยพจำพวกแรกนี้เป็นพืชจำพวกเดียวกับตะไคร่น้ำที่ขึ้นอยู่ตามที่ชื้นแฉะ จากนั้นการพัฒนาการจากตะไคร่น้ำไปยังต้นหญ้าและต้นไม้ได้ผ่านเวลามาหลายยุคอันยากจะนับได้
เฟินหัวอ้ายเป็ด ชื่อวิทยฯ Cyathea contaminans Copel.วงศ์ CYATHEACEAE
หากคำนวณอย่างหยาบๆก็กล่าวได้ว่าต้นไม้ดึกดำบรรพ์ได้ปรากฏขึ้นเมื่อ 350 ล้านปีก่อน พืชที่ว่านี้คือ“เฟิน” สูงประมาณ 1 ฟุต และเติบโตเฉพาะที่ชื้นแฉะเท่านั้น นับว่าเป็นต้นตระกูลของต้นหญ้าและต้นไม้ ต่อมารากของพืชดึกดำบรรพ์นี้ก็ยาวและแข็งแรงขึ้น สามารถดูดรับเอาน้ำไว้ได้ ผลสุดท้ายก็ขยับขยายออกไปยังที่แห้งผากบนบก และนี้ก็คือต้นไม้บนแผ่นดินนั่นเอง ส่วนต้นไม้ดึกดำบรรพ์ก็เริ่มเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ จนในที่สุดไม้ดอกที่มีดอกอันสวยงามและส่วนกลิ่นหอมชวนดมก็ได้ปรากฏขึ้น
ทำความรู้จัก..พูพอน
หากไม่ใช่คนที่เรียนรู้มาทางด้านพฤกษศาสตร์ หรือมีใจชื่นชอบศึกษาพรรณไม้แล้ว ยากนักที่จะรู้ว่ามันคืออะไร? หากให้เดาหรือทายก็อาจจะได้ใกล้เคียงสุดว่าเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ก่อนอื่นขอแนะนำให้เพื่อนๆที่มีโอกาสเข้าไปท่องป่า สังเกตต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามริมลำห้วย ตามบริเวณที่มีความชื้นมากพอสมควร หรือในป่าดิบที่ไม้ยืนต้นต่างอวดยอดชูสูงขึ้นเพื่อแข่งขันแย่งแสงแดด จะพบว่าบริเวณโคนต้นของต้นไม้เหล่านั้น(ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้เนื้ออ่อน เช่น สมพง กระบาก ตะแบก เสลา อินทนิล เป็นต้น) จะมีลักษณะแผ่ออกมาราวกับปีกที่กางออก ส่วนนี้แหละที่เรียกว่า“พูพอน” ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดมีรูปร่างและขนาดของพูพอนที่แตกต่างกันออกไป จึงช่วยให้เราสามารถจำแนกชนิดของต้นไม้ได้เป็นอย่างดี
คำถามตามมา..หลังจากที่รู้แล้วว่าพูพอนคืออะไร นั่นคือ“ทำไม..ต้นไม้ต้องสร้างพูพอน” อย่างแรกเราต้องรู้ก่อนว่าในป่าเขตร้อน..สภาพอากาศในป่าจะร้อนและมีความชื้นสูง ทำให้ใบไม้กิ่งไม้และอินทรีย์สารต่างๆถูกย่อยสลายอย่างรวดเร็วกลายเป็นแร่ธาตุสะสมอยู่บริเวณผิวดิน ครั้นเข้าสู่ฤดูมรสุม..ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก็จะชะเอาสารอาหารเหล่านี้หายไปกับสายน้ำ คงมีแร่ธาตุส่วนน้อยเท่านั้นที่จะซึมลงในดิน เมื่อแร่ธาตุต่างๆอุดมสมบูรณ์อยู่เฉพาะบริเวณผิวดิน ประกอบกับระบบรากพืชส่วนใหญ่จะกระจายอยู่เป็นวงกว้างตื้นๆใต้ผิวดินเพียงเล็กน้อย เพื่อดูดซึมอาหารแร่ธาตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นไม่ว่าต้นไม้จะสูงใหญ่ขนาดไหนก็ล้วนมีรากแผ่ลงไปไม่ลึกนัก(ยกเว้นรากแก้ว) พืชจึงขยายส่วนโคนลำต้นให้แผ่ออกเพื่อเป็นส่วนค้ำยันลำต้นไม่ให้โค่นล้มได้ง่ายยามเผชิญกับลมพายุ นอกจากนี้พูพอนยังเป็นการปรับตัวอันฉลาดหลักแหลมยิ่งของพืช เพื่อชดเชยระบบรากที่อยู่ตื้น ซึ่งช่วยให้พืชดูดซึมอาหารแร่ธาตุได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้นอีกด้วย
เราอาจพบต้นไม้ที่สร้างพูพอนนั้นไม่ได้อยู่ตามริมลำน้ำหรือบริเวณที่มีความชื้นมาก แต่เนื่องจากใต้พื้นดินบริเวณนั้นมีก้อนหินน้อยใหญ่มากมายที่รากไม่สามารถแทงลงไปยึดเพื่อพยุงลำต้นได้ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตนด้วยการสร้างพูพอนขึ้นมา
หากเพื่อนๆพบเห็นต้นไม้ใดมีพูพอนขนาดสูงใหญ่ล่ะก็! จงอย่าส่งเสียงดัง แล้วค่อยๆหาที่ซุ่มดู ไม่แน่เราอาจจะได้พบเห็นสัตว์ป่าบางชนิดที่เข้ามาหลบอาศัยชั่วคราวอยู่ก็ได้ เหมือนเช่นคราวที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบงูเหลือมขนาดใหญ่กำลังนอนขดอาบแดดที่ส่องแสงอันอบอุ่นลงมาอย่างสำราญใจ
ปุ่มๆปมๆบนต้นไม้..เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ปุ่มปมของต้นไม้เป็นโรคที่เกิดขึ้นในพืชหลายชนิด ตั้งแต่พืชตระกูลหญ้าจนถึงไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่สูงเสียดฟ้า การเกิดปุ่มปมของต้นไม้มีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น จากเชื้อโรค(ซึ่งรวมทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส) และจากสัตว์(ซึ่งรวมถึงไส้เดือนฝอย และแมลง) ตัวการเหล่านี้ทำให้เกิดปุ่มปมได้ในเกือบทุกส่วนของพืช ปุ่มปมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ทำความเสียหายให้แก่พืชเป็นอันมาก โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ แต่ยังดีที่โรคนี้เกิดขึ้นกับไม้บางชนิดเท่านั้น เช่น เต็ง รัง ยาง มะค่าโมง สน เลี่ยน เป็นต้น ลักษณะปุ่มปมมี 2 รูปแบบ คือ
ปุ่มปมของสนสามใบ ชื่อวิทยฯ Pinus kesiya Royle ex Gordon วงศ์ PINACEAE
รูปแบบแรก ปุ่มปมมีลักษณะเป็นเนื้องอกที่ยื่นออกมาเป็นรูปครึ่งวงกลมจากลำต้นหรือกิ่งของต้นไม้ที่มีความสัมพันธ์กับตาไม้(Buds)ตามลำต้นเรียกว่า“BURR” หรือ“BURL” การเกิดปุ่มปมชนิดนี้ยังไม่มีการค้นคว้าศึกษาอย่างจริงจัง บางคนว่าเกิดจากฮอร์โมนบางอย่างในพืช แมลง แบคทีเรีย เห็ดรา การริดกิ่ง หรือการตัดไม้เพื่อให้แตกหน่อ ทำให้มีผลในการกระตุ้นการเกิดปุ่มปมขึ้นมาได้ บ้างว่าน้ำค้างก็มีส่วนทำให้เกิดปุ่มปมได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้บางคนยังบอกว่าเกิดจากการสะสมของเนื้อเยื่อพืชที่ผลิตมาจากเนื้อเยื่อปกติ ขนาดปุ่มปมจะเพิ่มขึ้นพร้อมๆกับเนื้อเยื่อปกติทุกปี แต่การเจริญเติบโตของเนื้อไม้ปกติจะมีการเจริญน้อยกว่าปุ่มปม ซึ่งภายในปุ่มปมมีลักษณะเป็นเส้นใยบิดเบี้ยวและรวนเรประกอบอยู่ด้วยกันอย่างหนาแน่น
รูปแบบที่สอง ปุ่มปมมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อของพืชบวมพอง และเปลี่ยนสีไปจากเดิมเรียกว่า“หูด”(Gall)
นอกจากการแบ่งปุ่มปมตามรูปร่างแล้ว เรายังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 2 ประเภท คือ
1) ปุ่มปมที่แพร่เชื้อติดต่อได้ เรียกว่า“Infectious Gall” เป็นปุ่มปมที่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากผลของแบคทีเรียหรือเห็ดราบางชนิด บางครั้งก็อาจเกิดจากไวรัส แต่บางชนิดก็เกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่พบ สำหรับปุ่มปมที่เกิดจากแบคทีเรียนั้น มักเกิดขึ้นที่ลำต้นใกล้พื้นดิน ตรงบริเวณคอราก ปุ่มปมประเภทนี้เนื้อไม้จะใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะเนื้อไม้เลว และไม่มีสารอินทรีย์อยู่เลย
2) ปุ่มปมที่ไม่สามารถแพร่เชื้อติดต่อได้ เรียกว่า“Noninfectious Gall” เป็นปุ่มปมที่ประกอบด้วยตาไม้ที่หยุดพักการเจริญเติบโตและขึ้นเบียดเสียดอัดกันอยู่อย่างหนาแน่นภายในต้นไม้เป็นจำนวนมาก ตาไม้เหล่านี้มีตั้งแต่ต้นไม้ยังมีอายุน้อยจนกระทั่งเติบใหญ่ ซึ่งตาไม้จะมีการเจริญเติบโตไปพร้อมๆกับการเจริญของปุ่มปมอย่างสมดุล อาทิเช่น ปุ่มปมที่เกิดจากกาฝาก นอกจากนี้ BURR ก็จัดเป็นปุ่มปมที่อยู่ในประเภทนี้
หูดบนต้นเหียง ชื่อวิทยฯ Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq.วงศ์ DIPTEROCARPACEAE
หลายคนอ่านมาถึงตอนนี้อาจจะเริ่มงงหรืองงไปแล้วตั้งแต่เริ่มต้นก็ไม่รู้ ว่าอะไรกันแน่ที่
เป็นสาเหตุของการเกิดปุ่มปมต่างๆของต้นไม้ เอาเป็นว่ามันเกิดได้จากสิ่งมีชีวิตบางอย่าง หรือเกิดจากความผิดปกติในทางสรีรวิทยาของต้นไม้ก็แล้วกัน อย่างไรก็ตามแม้ปุ่มปมจะเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดกับต้นไม้และทำความเสียหายแก่เนื้อไม้ แต่ตัวปุ่มปมของเนื้อไม้กลับมีลวดลายที่สวยงาม โดยเฉพาะปุ่มปมมะค่าโมง
พืชเกาะ และพืชคลุมดิน
สองชื่อนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันซะทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ห่างไกลกันมากนัก เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งเกาะไม้อื่นอยู่ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ติดดิน หากเปรียบเทียบเป็นมนุษย์ก็เหมือนคนหนึ่งที่อยู่สูงเสียดฟ้า ส่วนอีกคนหนึ่งอยู่ต่ำต้อยเพียงดิน ถ้าเปรียบเป็นชายหญิงก็เสมือนคำกล่าวที่ว่า“(ผู้หญิงเป็น)ฟ้าสูง (ผู้ชายเป็น)แผ่นดินต่ำ” ผู้รู้บางท่านจึงเปรียบเปรยความรักของคู่ชายหญิงประเภทนี้ว่าเป็นเสมือน“หมาเห่าเครื่องบิน”นั่นแหละ ซึ่งในอดีต..ไม่มีวันซะหรอกที่หมาจะขึ้นนั่งเครื่องบินได้ง่ายๆ แต่ในปัจจุบันหมาไม่ต้องเห่าแล้ว เพราะเครื่องบินมักลงจอดให้หมาขย้ำได้อย่างตามใจชอบ ตามประสาของหนุ่มสาวชาวไทยในสมัยนี้ที่ใจแตกก่อนถึงวัยอันสมควร
เฟินกระแตไต่ไม้ ชื่อวิทยฯ Drynaria quercifolia (L.) J. Sm. วงศ์ POLYPODIACEAE
กล่าวนอกเรื่องมาพอแล้ว ทีนี้ก็ว่ากันถึงเรื่อง“พืชเกาะ และพืชคลุมดิน”ดีกว่า เหตุที่ผู้เขียนนำมากล่าวถึงพร้อมๆกัน ก็เพราะแต่ละเรื่องเป็นเรื่องสั้นๆที่หลายคนคงจะเคยได้ยินได้เห็นมาบ้างแล้ว แต่มีไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจถึงความหมายของชื่อ 2 ชื่อนี้อย่างถ่องแท้ ผู้เขียนจึงขอเสนอชี้แจงให้กระจ่างกันไว้ ณ ที่นี้
“พืชเกาะ” หรือเรียกว่า“พืชอิงอาศัย” ไม่ใช่พืชกาฝาก เพราะมันไม่ได้แย่งน้ำหรือสารอาหารจากต้นไม้ที่มันเกาะ เพียงแต่อาศัยเกาะอยู่เฉยๆเท่านั้น(โดยอาจจะเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มก็ได้) หลายคนจึงอาจสงสัยว่าแล้วมันจะรับน้ำและแร่ธาตุจากไหนในเมื่อไม่มีรากลงดิน พืชทุกชนิดย่อมมีวิธีการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น เฟินเขากวาง(หรือเฟินชายผ้าสีดา) และเฟินกระแตไต่ไม้ มีใบ 2 แบบๆแรกงอกแผ่ขึ้นไป โดยบริเวณโคนใบจะแนบติดกับลำต้นไม้ที่เกาะอยู่เป็นจำนวนหลายๆใบรวมกันคล้ายตะกร้า เพื่อคอยรองรับน้ำฝนและเศษใบไม้เศษไม้ที่ตกลงมาจากเรือนยอดไม้ที่อาศัยอยู่ สะสมไว้จนเน่าและกลายเป็นดิน ส่วนรากก็จะงอกเข้าไปดูดอาหารจากข้างในตะกร้านี้ สำหรับใบแบบที่ 2 จะงอกชูตั้งขึ้นหรือห้อยรุ่งริ่งลงมา มันเป็นใบที่มีไว้ออกสปอร์แพร่กระจายพันธุ์ อีกตัวอย่างหนึ่งของพืชเกาะก็คือ“กล้วยไม้อากาศ” พวกนี้มีใบหนาอมน้ำ และลำต้นยังเป็นกระเปาะโป่งๆ ทำหน้าที่เก็บน้ำไว้อีก เมื่อถึงช่วงขาดน้ำในหน้าแล้งก็จะอาศัยน้ำที่เก็บไว้มาใช้จนใบและกระเปาะเหี่ยวแฟบ บางสกุลบางชนิดก็ทิ้งใบร่วงหล่น รากของกล้วยไม้จะมีขนาดยาว และขยุกขยุยพันกันยุ่ง จึงช่วยดักเศษใบไม้ไว้ได้พอสมควร เมื่อใบไม้เน่ากลายเป็นดินอยู่ตามโคนต้น กล้วยไม้ก็จะดูดแร่ธาตุจากดินไปใช้ได้ นอกจากนี้รากของกล้วยไม้ยังมีวัสดุพิเศษห่อหุ้มอยู่ ซึ่งมีหน้าที่คล้ายฟองน้ำก็คือดูดซับน้ำฝนหรือความชื้นในอากาศได้ดี อีกทั้งยังมีผิวมันเหลือบสีแวววาว เพื่อช่วยสะท้อนแสงและความร้อนออกไป จึงช่วยลดการระเหยของน้ำที่ราก กล้วยไม้นับเป็นพืชเกาะที่มีรากเยอะมาก บางครั้งมีน้ำหนักรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งต้น
สิงโตก้านหลอด ชื่อวิทยฯ Bulbophyllum capillipes C.S.P.Parish & Rchb. f. วงศ์ ORCHIDACEAE
หากสังเกตให้ดีตามพืชเกาะนั้นมักจะมีมดอาศัยอยู่ด้วยบริเวณโคนของพืชเกาะ เพื่อใช้เป็นบ้านกันฝน ซึ่งขี้มดและเศษซากพืชซากสัตว์ที่มดกินเป็นอาหาร ย่อมช่วยเสริมเป็นดินอย่างดี อนึ่งพันธุ์พืชในป่าดิบเขตร้อนนั้นเป็นพืชเกาะประมาณกว่าร้อยละ 30 ชนิด
“พืชคลุมดิน” ส่วนใหญ่พบตามป่าโปร่งที่มีแสงแดดส่องถึง ส่วนตามป่าดิบจะพบพืชคลุมดินเป็นจำนวนน้อยมาก เพราะเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมเกือบมืดสนิท ส่วนใหญ่จึงมีแต่กล้าไม้ของไม้ใหญ่ และมีใบเพียงหร็อมแหร็มเพื่อใช้สังเคราะห์แสงปรุงอาหารนิดๆหน่อยๆกันตายระหว่างรอให้กิ่งไม้ของเรือนยอดเหนือหัวหักโค่นลงมาหรือรอให้ไม้ใหญ่นั้นโค่นล้ม
พืชคลุมดินที่ไม่ใช่ต้นไม้สูงจึงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มันขึ้นอยู่ เพื่อให้ได้รับแสงแดดมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อาทิเช่น พืชตระกูลปาล์มที่สร้างใบให้มีขนาดใหญ่กางแผ่ออกเพื่อรอรับลำแสงเล็กๆของตะวันที่เคลื่อนไปตลอดวัน โดยที่ใบของมันจะปรับมุมหมุนอย่างเชื่องช้าตามไปด้วย
เปราะป่า ชื่อวิทยฯ Kaempferia laotica Gagnep. วงศ์ ZINGIBERACEAE
คลื่นแสงที่พืชใช้ปรุงอาหารนั้นส่วนใหญ่เป็นคลื่นแสงสีแดง ซึ่งมวลใบไม้ที่อยู่สูงๆได้งาบไปใช้เสียก่อน แสงที่เหลือเล็ดรอดลงมาจึงเป็นคลื่นแสงสีฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเวลาที่เราอยู่ในป่าจึงมักมองเห็นเป็นโทนสีฟ้า พืชคลุมดินบางชนิดจึงมีวิธีการจับคลื่นแสงสีแดงโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น ปกติเมื่อแสงแดดถูกใบไม้ดูดซับ มันก็จะผ่านหลังใบทะลุลงมาออกทางท้องใบ แต่พืชคลุมดินมีวิวัฒนาการ ด้วยการสร้างท้องใบให้เป็นสีแดง สีแดงอมม่วง หรือสีม่วง คลื่นแสงสีแดงจะไม่ทะลุผ่าน แต่กลับสะท้อนแสงขึ้นไปใหม่อีกครั้งหนึ่งราวกับการรีไซเคิล บางชนิดก็มีการสร้างผลึกเม็ดใสๆอยู่รอบคลอโรปลาสหรือเซลล์สังเคราะห์แสงที่มีคลอโรฟิลล์บริเวณหลังใบจนดูราวกับว่าเป็นสีแวววาวเหลือบแสง เพื่อช่วยหักเหลำแสงให้รวมไปลงที่คลอโรปลาสให้มากที่สุด นับว่าพืชคลุมดินชนิดนี้สามารถใช้แสงแดดได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด พืชคลุมดินส่วนใหญ่จะทนแล้งในหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี ด้วยการดึงเอาอาหารจากลำต้นและใบไปเก็บไว้ที่อวัยวะใต้ดินในรูปของราก หัวหรือเหง้า ก่อนทิ้งใบเหี่ยวแห้งไป คล้ายกับการจำศีลของสัตว์ในหน้าแล้ง แม้ว่าอากาศจะแห้งแล้งสักเพียงใดหรือถูกไฟเผาผลาญ อวัยวะที่อยู่ใต้ดินก็จะไม่ถูกกระทบกระเทือน แต่พร้อมจะงอกขึ้นมาใหม่ในหน้าฝนหรือหลังไฟป่าผ่านพ้นไปแล้ว พืชคลุมดินจำพวกนี้ไม่ใช่เป็นแต่เพียงแค่พืชตระกูลหญ้า แต่ยังรวมถึงพืชตระกูลขิงข่า ตระกูลลิลลี่(เช่น พลับพลึง เป็นต้น) ตระกูลบีโกเนีย รวมทั้งกล้วยไม้ดิน
แปร้น้ำเงิน ชื่อวิทยฯ Sonerila maculata Roxb. วงศ์ MELASTOMATACEAE
ไม้เลื้อย และเถาวัลย์
คำสองคำนี้มักเข้าใจกันผิดๆ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไม้เลื้อยแบ่งออกเป็น 2 จำพวกใหญ่ๆ คือ พวกที่เกาะแนบไปกับต้นไม้หรือก้อนหิน และไม้เถา
พวกที่เกาะแนบไปกับต้นไม้หรือก้อนหินจะมีส่วนที่เรียกว่า“รากอากาศ” งอกถี่ๆออกมาจากลำต้นของไม้เลื้อย แล้วยึดราบแน่นไปบนพื้นผิวที่มันเกาะ เช่น ตีนตุ๊กแก(เป็นไทรชนิดหนึ่ง) พลูด่าง เป็นต้น บางชนิดก็มีอวัยวะต่างๆช่วยในการปีนป่าย เช่น ตำลึงมีหนวดไว้ยึดเกาะ เป็นต้น แต่ที่พบเห็นบ่อยมากในป่าก็คือมีหนามเป็นขอเกี่ยว เช่น หวาย เป็นต้น
ใบไม้สีทอง ชื่อวิทยฯ Phanera aureifolia Bandyop., P. P. Ghoshal & M. K. Pathak วงศ์ FABACEAE
ไม้เลื้อยไม่ต้องเสียพลังงานไปสร้างลำต้นที่แข็งแรงที่พอจะค้ำจุนความสูงของตัวเอง มันมุ่งสร้างความยาวเป็นส่วนใหญ่ โดยเลื้อยขึ้นไปตามต้นไม้หรือก้อนหินจนถึงจุดที่สามารถรับแสงแดดมาปรุงเป็นอาหารได้อย่างพอเพียง อาจกล่าวได้ว่าไม้เลื้อยเติบโตเร็วกว่าต้นไม้ที่มันอาศัย และตายยากกว่า เมื่อไม้ที่มันอาศัยอยู่เกิดการโค่นล้มลง มันจะไม่ตายตามไปด้วย แต่มันจะหาทางทอดเลื้อยไปขึ้นยังต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆต่อไป
ไม้เลื้อยที่เป็นสัญลักษณ์ของป่าเขตร้อนก็คือ“เถาวัลย์” โดยพบมีมากในป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,300 เมตร ลงมา
ปกติเถาวัลย์จะเจริญเติบโตจากพื้นล่างโอบรัดต้นไม้เป็นเกลียวขึ้นไป และอาจจะเกาะเกี่ยวจากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งหรืออีกหลายๆต้น แต่เถาวัลย์จะไม่เลื้อยขึ้นไปบนเรือนยอดของไม้ที่มันอาศัยดั่งเช่นไม้เลื้อยทั่วไป แต่มันจะเติบโตพร้อมกับต้นไม้นั้นๆ โดยให้ต้นไม้เป็นผู้ดึงตัวพามันขึ้นไปขณะที่มันเกาะไว้
เถาวัลย์
ประโยชน์ของเถาวัลย์ที่เกาะเกี่ยวต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นก็เพื่อช่วยลดผลกระทบจากพายุลมฝน เพราะรากไม้ในป่าเขตร้อนจะตื้น จึงอาจทำให้ไม้ใหญ่โค่นล้มได้ง่าย
ทีนี้เข้าใจแล้วนะครับว่าไม้เลื้อยและเถาวัลย์แตกต่างกันอย่างเห็นได้เด่นชัด
ไม้ล้ม และไม้ตายยืนต้น
แทบทุกคนคงจะเคยเห็นไม้ล้มและไม้ตายยืนต้น แต่คงมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าไม้ล้มและไม้ตายยืนต้นมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน?
ต้นไม้เมื่อเกิดขึ้นมาก็จะเจริญเติบโตและตายไปเมื่อต้นแก่ แต่มีจำนวนมากที่ตายไปทั้งๆที่ยังไม่ถึงเวลา ด้วยสาเหตุหลายประการ อาทิเช่น ฟ้าผ่า ไฟป่า ลมพายุ หรือโรคร้าย เป็นต้น
ป่าเขตร้อนนับเป็นป่าที่มีคุณค่ามหาศาลต่อโลกใบนี้ ปกติป่าจะยังคงสภาพเป็นป่าตลอดไปตราบเท่าที่ระบบนิเวศวิทยาไม่ถูกทำลายอย่างรุนแรง
น้ำตกหงส์ทอง อุทยานฯภูกระดึง จ.เลย
ป่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่คงที่ เมื่อป่าผืนนั้นสูญเสียต้นไม้ขนาดใหญ่ไป ไม่ว่าจะเพียงต้นเดียวหรือหลายต้นจากภัยทางธรรมชาติ ก็จะเกิดช่องว่างต่างขนาดตามเรือนยอดของต้นไม้ เป็นผลให้แสงแดดสามารถส่องลอดลงมาสู่พื้นดินได้มากขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวดินก็จะสูงขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ได้รับก็จะสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นเร่งเร้าในการเจริญเติบโตของตอไม้ที่มนุษย์หรือสัตว์ป่าเป็นผู้กระทำก็จะแตกหน่อขึ้นมาอีก และเมล็ดพืชที่ฝังในดินก็จะพากันงอกต้นอ่อนขึ้นมาแข่งกันเพื่อแย่งแสงอาทิตย์ ดังนั้นป่าเขตร้อนที่โตเต็มวัยแล้วจะประกอบไปด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิดคละเคล้ากันไปหลายรุ่นหลายขนาด
เราจึงมักพบเห็นช่องว่างหรือที่โล่งในป่าเสมอ และในบริเวณใกล้เคียงกันก็จะพบป่ารุ่นแรกเกิดและป่ารุ่นสองซึ่งเป็นป่าในขั้นการเจริญเติบโต และป่ารุ่นเจริญเต็มวัยซึ่งเป็นช่วงที่สมบูรณ์ที่สุด โดยป่ารุ่นสองนั้นอาจใช้เวลานานนับหลายร้อยปี ในการเจริญเติบโตเป็นป่าช่วงสุดท้าย ซึ่งมีความสมบูรณ์ของพรรณไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่พบบนโลกใบนี้มีจำนวนมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อน
สัตว์ป่าหลายชนิดอพยพย้ายถิ่นเพื่อหาอาหารจากป่าบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะหาอาหารตามบริเวณที่มีต้นไม้เพิ่งล้มใหม่ๆ กินกล้าไม้ที่กำลังแตก และทำรังในลำต้นของต้นไม้ที่ตายแล้ว
พืชต้องการเกลือแร่เพื่อเสริมสร้างความเจริญเติบโต แต่สิ่งเหล่านี้มีปริมาณอันจำกัดในพื้นดินที่บอบบางของเขตร้อน เมื่อสัตว์หรือพืชตายลง มันก็จะเน่าเปื่อยผุพังไปโดยการย่อยสลายของเชื้อราและบัคเตรี และแล้ววัตถุทั้งหลายในซากสัตว์หรือซากพืชก็จะกลับคืนลงสู่พื้นดินอีกครั้ง หารปราศจากระบบของการหมุนเวียนของแร่ธาตุสู่พื้นดินเช่นนี้แล้ว วงจรธรรมชาติทุกอย่างก็จะจบสิ้นลงในไม่ช้า ในป่าเขตร้อนนั้นแร่ธาตุบนผิวดินถูกฝนชะล้างไปได้โดยง่าย ดังนั้นพืชจึงสร้างระบบรากและแม้กระทั่งกิ่งก้านขึ้นมาให้เหมาะสมในการดูดซับแร่ธาตุต่างๆบนผิวดินไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ทางเดินจากม่อนทูเลสู่ม่อนคลุย จ.ตาก
แร่ธาตุที่พืชสามารถดูดขึ้นจากผิวดินร้อยละ 60-70 จะถูกเก็บสะสมไว้ในลำต้นและกิ่งก้าน ซึ่งเมื่อพืชตายลง ลำต้นของมันจะค่อยๆเน่าเปื่อยอย่างช้าๆ เป็นการค่อยๆผ่อนคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ผิวดิน ในทางตรงกันข้ามไฟป่าก่อให้เกิดแร่ธาตุจากเถ้าถ่านจำนวนมาก ทว่าก็ถูกฝนชะล้างไปได้โดยง่าย ปลวกก็มีบทบาทสำคัญในการกัดกินต้นไม้ตายและย่อย พืชและสัตว์อีกมากมายหลายชนิดที่ดำรงชีพอยู่บนผิวดินต่างก็มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของนิเวศวิทยาป่าไม้ทั้งระบบ
จะเห็นได้ว่าการเข้าไปรบกวนระบบนิเวศวิทยาของป่าไม้เขตร้อนนั้นต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง ในธรรมชาติต้นไม้ล้มและไม้ตายยืนต้นไม่ใช่เป็นสิ่งไร้ค่า เราจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังในเรื่องการเกิดทดแทนของป่าไม้ตามธรรมชาติ และกรรมวิธีการตัดไม้เพื่อเลียนแบบพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถปฏิบัติเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่งในประเทศเปรู ด้วยการตัดไม้เป็นท่อนขนาดเท่ากับช่องว่างในป่าที่เกิดขึ้น แล้วชักลากออกโดยใช้วัว เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ระบบนิเวศอันเกิดจากการชักลากไม้ด้วยรถขนาดใหญ่
ความมหัศจรรย์ในการปรับตัว พรางตัว เลียนแบบ และร่วมมือของพืชและสัตว์
ทุกครั้งที่ได้ท่องธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางทะเล หรือขุนเขาสูงเสียดฟ้า นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติที่งดงาม ท่ามกลางสายลม หมู่เมฆ และแมกไม้นานาพรรณแล้ว ผู้เขียนยังชอบสังเกตและบันทึกจดจำ ซึ่งในป่าเขตร้อนอย่างบ้านเรานั้นจักพบสิ่งมีชีวิตอยู่ทั่วไป จนอาจเรียกได้ว่าพื้นที่ว่างทุกตารางนิ้วเป็นบ้านหรือถิ่นที่อยู่อาศัยสำหรับสิ่งมีชีวิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นตัวดักแด้ของผีเสื้อที่อาศัยอยู่ใต้ใบไม้ แมงมุมชักใยระหว่างต้นไม้ ลูกน้ำที่เป็นตัวอ่อนของยุงอาศัยอยู่ในกระป๋องที่มีน้ำฝนขังอยู่ โดยเฉพาะมดที่เดินขบวนเป็นแถวยาวอยู่ทุกหนทุกแห่ง และแม้แต่บนหลังสัตว์บางชนิดก็ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์ชนิดอื่นได้อีก
มดแดงกำลังช่วยกันดึงใบไม้เพื่อสร้างรัง
หลายคนก็คงเคยพบเช่นนี้ แต่จะเหมือนผู้เขียนไหม?ที่มักสงสัยกับสิ่งที่ได้พบเห็น จนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า“ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” อาทิเช่น ทำไมต้นไม้ชนิดนี้ถึงมีหนาม แล้วต้นนั้นทำไมถึงไม่มีหนาม บางชนิดมีหนามในระยะแรก และช่วงแตกกิ่งก้านอ่อน พอโตเต็มที่แล้วก็จะปลิดหนามหลุดหายไป , ทำไมเปลือกต้นนี้ถึงหนาและแข็ง ทีต้นนั้นที่เป็นไม้ยืนต้นเหมือนกันกลับมีเปลือกบาง บ้างล่อนออกดูเป็นด่างเป็นดวง , ทำไมไม้ล้มลุกและไม้พุ่มบนภูเขาสูงมีแผ่นใบหนานุ่ม บ้างก็มีขนปกคลุมหนาแน่น
เหล่านี้ล้วนมีคำตอบแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอิทธิพลต่างๆของสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องมีการปรับตัว รู้จักป้องกันตัวเองจากผู้ล่า และมีเทคนิควิธีในการหลอกล่อเหยื่อ ด้วยการพรางตัว และการเลียนแบบ ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ หรือเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้นักล่าหรือล่าเหยื่อ เพื่อให้ตนมีชีวิตอยู่รอด และมีลูกหลานสืบพันธุ์ต่อไป
การปรับตัวของพืช จำแนกได้ 2 แบบใหญ่ๆ คือ
- การปรับตัวแบบชั่วคราว เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะไปชั่วคราว และเกิดในระยะเวลาสั้น สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ เช่น ต้นไม้ที่อยู่ใต้ชายคาจะเลี้ยวเอียงลำต้นเบนออกไปให้พ้นชายคาเพื่อหาแสงแดด หรือพืชที่ปลูกกลางแจ้งจะเป็นพุ่มสวยงาม เป็นต้น
สลัดไดป่า ชื่อวิทยฯ Euphorbia antiquorum L. วงศ์ EUPHORBIACEAE สร้างหนามตามลำต้นเพื่อป้องกันสัตว์กินลำต้นและใบที่อวบน้ำ
- การปรับตัวแบบถาวร เป็นการปรับตัวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่มองไม่เห็น โดยมีการถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมจากบรรพบุรุษไปยังลูกหลาน ทำให้สิ่งชีวิตปรับตัวอยู่รอดได้ และดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ เพราะพืชไม่อาจจะวิ่งหลบหนีได้ จึงจำต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อดำรงชีวิต หรือเพื่อป้องกันตัวเองจากสัตว์กินพืช เช่น กระบองเพชรเปลี่ยนใบเป็นหนาม เพื่อลดการคายน้ำ และป้องกันสัตว์มากัดกิน รวมทั้งมีลำต้นพองอวบน้ำ เพื่อเก็บสะสมน้ำไว้ในลำต้นมากๆ , ผักกระเฉดมีนวมสีขาวหุ้มลำต้น เพื่อช่วยให้ลำต้นลอยน้ำได้ , ผักตบชวามีลำต้นพองเป็นทุ่น เพื่อช่วยให้ลอยน้ำได้ , พืชที่อยู่ที่แห้งแล้งจะมีรากยาวหยั่งลึกลงในดิน เพื่อดูดน้ำได้ไกลๆ , พืชบางชนิดสร้างส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเป็นหนามและขนแข็ง เพื่อป้องกันสัตว์กินพืช , พืชบางชนิดสร้างสารเคมีในผล เช่น แทนนิน(Tannin) เป็นต้น เพื่อทำให้ผลไม้ดิบมีรสฝาด ซึ่งสัตว์ไม่ชอบกิน ต่อเมื่อผลสุกหอมหวานที่พืชยอมให้สัตว์เข้ามากินได้นั้น เมล็ดในผลก็แก่จนพร้อมที่จะงอกและขยายพันธุ์ต่อไป , พืชบางชนิดสร้างสารนิโคตินและสารมอร์ฟีน บ้างก็ผลิตสารเคมีเลียนแบบฮอร์โมนสัตว์ ทำให้สัตว์ที่หลงมากินได้รับอันตราย และเกิดอาการผิดปกติขึ้นในพัฒนาการของร่างกาย หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ เป็นต้น
การเลียนแบบของพืช หลายคนอาจสับสนระหว่างคำว่า“การพรางตัว”และ“การเลียนแบบ” เพราะมันคล้ายกันมาก เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า“มันพรางตัวด้วยการเลียนแบบสัตว์อื่น” หรือ“มันเลียนแบบธรรมชาติด้วยการพรางตัว” ยิ่งทำให้รู้สึกสับสนงุนงงไปอีก
จึงขออธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับความหมายของคำว่า“การพรางตัว”และ“การเลียนแบบ” เพื่อให้เข้าใจได้ลึกซึ้งมากขึ้น
แมงมุมมดกระโดดแดง ชื่อวิทยฯ Myrmarachne plataleoides O. P.- Cambridge วงศ์ THOMISIDAE พรางตัวคล้ายมดแดง เพื่อป้องกันศัตรู
คำว่า“การพรางตัว”(Camouflage) เป็นวิธีการที่ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาตัวเองให้มีลักษณะรูปร่างภายนอกที่ไปคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อม เพื่อซ่อนตัวรักษาชีวิตจากเหล่านักล่า หรือทำเพื่อตบตาเหยื่อในฐานะเป็นนักล่าเสียเอง เพราะผู้ล่าก็ใช่ว่าจะต้องเล่นเกมรุกเข้าหาเหยื่อเสมอไป นักล่าบางชนิดจึงเลือกที่จะทำตัวกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม เพื่อซุ่มรอเหยื่อที่เข้ามาหามันเองอย่างสงบนิ่ง โดยเฉพาะแมลงเป็นนักพรางตัวที่ยอดเยี่ยม ด้วยการลบเค้าโครงเพื่อให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมจนมองเห็นได้ยาก
ตัวอย่างเช่น แมงมุมดอกไม้(Flower Spiders) พบได้ทั่วไปในเขตร้อน มีมากมายหลายชนิด สีของมันมีทั้งสีแดง สีชมพู สีม่วง สีเหลือง และสีขาว ขึ้นอยู่กับดอกไม้ที่มันอาศัยเป็นแหล่งล่าเหยื่อ แมงมุมพวกนี้ไม่ชักใย แต่จะรอจังหวะอยู่นิ่งๆ ด้วยการพรางตัวให้เป็นสีใกล้เคียงหรือสีเดียวกับบริเวณของดอกไม้ที่มันเกาะอยู่ เมื่อเหล่าแมลงหรือผีเสื้อเคราะห์ร้ายโฉบเข้ามาดอมดมดอกไม้เพื่อเก็บน้ำหวาน มันก็จะถูกเจ้าแมงมุมตัวงามนี้แยกเขี้ยวฝังพิษใส่ในทันที
แมงมุมดอกไม้พรางตัวกับกลีบดอกไม้
กลยุทธ์การพรางตัวของสัตว์แต่ละชนิด มันย่อมเลือกให้เหมาะสมว่าตอนนั้นจะเป็นนักล่าหรือผู้ถูกล่า สิ่งแวดล้อมและเป้าหมายของมันย่อมเป็นตัวกำหนดรูปแบบการพรางตัว ว่าจะเลือกใช้กลิ่นลวงหลอก ตบตาด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น พรางกายให้หายไปกับสภาพแวดล้อม รวมทั้งสร้างเสียงเพื่อให้สับสน กล่าวได้ว่า“ความพยายามของนักพรางกายทั้งหลายสมควรจะได้รางวัลหรือไม่นั้น ไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่การรักษาชีวิตให้คงอยู่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด”
ส่วนคำว่า“เลียนแบบ”(Mimic) เป็นพฤติกรรมการเลียนแบบให้ตัวเองมีลักษณะรูปร่างหรือสีสันเหมือนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เพื่อตบตาสัตว์ต่างๆให้เข้าใจมันผิดไป ซึ่งสัตว์จะเลียนแบบกันด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ เพื่อหลบซ่อน และเพื่อให้เป็นที่สังเกตเด่นชัด
เหตุผลทั้ง 2 ข้อ อาจดูขัดแย้งกัน แต่ก็เพื่อชีวิตที่อยู่รอดเป็นหลัก คำว่า“หลบซ่อน”คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม แต่คำว่า“เพื่อให้สัตว์นักล่าเห็นเด่นชัด” เพราะมันต้องการให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใจผิด คิดว่าตัวมันมีพิษเช่นเดียวกับสัตว์ที่มันเลียนแบบมา ซึ่งผู้ล่าเหล่านี้ต่างเรียนรู้แล้วว่าสีสันอย่างนี้กินไม่ได้
ตัวอย่างเช่น ผีเสื้อหลายชนิดมีลวดลายบนปีกดูคล้ายกับตาของพวกกลุ่มนกฮูกนกเค้าแมว
ปกติเราจะพบว่าการพรางตัวและการเลียนแบบนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์
.Erebus gemmans Guenée วงศ์ NOCTUIDAE เป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีลวดลายบนปีกคล้ายตานกฮูก
รูปแบบของการเลียนแบบนั้นจำเป็นจะต้องมี 2 ตัวการหลัก ตัวแรกเรียกว่า“ตัวต้นแบบ”(Model) ตัวที่สองเรียกว่า“ตัวที่ไปเลียนแบบ”(Mimic)ให้คล้ายกับตัวต้นแบบ โดยเฉพาะแมลงที่เป็นนักเลียนแบบที่ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับการพรางตัว
ส่วนใหญ่“การพรางตัว”และ“การเลียนแบบ”มักเป็นเรื่องของสัตว์ แต่พืชบางชนิดก็รู้จักเลียนแบบเช่นเดียวกับสัตว์ แต่ไม่ใช่เพื่อป้องกันตัวจากศัตรู กลับเป็นวิธีล่อให้แมลงเข้ามาช่วยผสมพันธุ์ บ้างก็ล่อให้แมลงเข้ามาติดกับเป็นเหยื่อ เช่น พืชกินแมลง ไม่ว่าจะเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิง หยาดน้ำค้าง เป็นต้น ซึ่งขอยกยอดไปกล่าวอย่างละเอียดในหัวข้อ“กุศโลบายของดอกไม้”
การร่วมมือระหว่างพืชกับสัตว์ ไม่ว่าจะในสังคมมนุษย์ สังคมสัตว์ และสังคมพืช ล้วนแล้วแต่มีการพึ่งพาอาศัยกันและกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในสังคมเดียวกันหรือต่างสังคมกัน ต่างกันว่ามากหรือน้อยเท่านั้นเอง
พันธมิตรในธรรมชาติที่ผู้เขียนพบเห็น มีด้วยกันเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง แต่เรื่องที่ผู้เขียนประทับใจและเห็นว่าใกล้ตาทุกคนมากที่สุด แต่ไม่ค่อยมีใครสังเกตสังกา ก็คือ “มด และพืช”
รังมดแดง
หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่ามดเป็นสัตว์สังคมประเภทหนึ่งที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และมีการแบ่งงานกันทำเช่นเดียวกับผึ้งและตัวต่อ แต่จะมีใครรู้บ้างว่า มดในโลกใบนี้มีมากกว่า 6,000 ชนิด และหากรวมมดทุกตัวทุกชนิดบนโลกใบนี้แล้วจะมีน้ำหนักโดยรวมมากกว่าสัตว์ชนิดใดๆ แม้ว่าจะเอาสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหลายในป่าผืนใดผืนหนึ่งมารวมกันแล้ว ก็ยังมีน้ำหนักโดยรวมไม่เท่ากับมดในผืนป่านั้น มดมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง และเกี่ยวข้องกับแทบทุกชีวิตในป่า ไม่ว่าเราจะเดิน นั่ง นอน หรือยืนเฉยๆที่ใดในป่า เราก็ย่อมหลีกหนีมดไม่พ้น รังมดมีให้เห็นทั้งตามพื้นดิน พุ่มไม้ และบนต้นไม้ แม้กระทั่งบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,500 เมตร ก็ยังมีมด
มดจะกินอาหารแตกต่างกันไป บางชนิดกินเมล็ดพืช บางชนิดกินน้ำหวานจากดอกไม้ บางชนิดกินซากพืชซากสัตว์ เป็นต้น ความช่วยเหลือเกื้อกูลในหมู่มดเป็นเรื่องที่กล่าวขานกันมานมนานแล้ว และมีมากกว่าสังคมมนุษย์ของเราเสียอีก แต่ความผาสุกของมดยังต้องขึ้นอยู่กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆด้วย ดังนั้นมดจึงต้องมีการสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีกับชีวิตรอบข้าง ซึ่งในบรรดาพันธมิตรที่แสนดียิ่งของมดนั้น “พืช” หรือ “ต้นไม้” จัดอยู่ในอันดับต้นๆเลยทีเดียว และหากต้นไม้พูดได้ ก็คงบอกว่า “ไม่มีมิตรใดอีกแล้วที่จะประเสริฐเท่ากับมด”
คงมีบางคนสงสัยว่า“ทำไมพืชส่วนใหญ่ต้องพึ่งมด?” ก็เพราะว่า“เพื่อป้องกันภัยจากสัตว์นานาชนิดที่นิยมกินใบไม้เป็นภักษาหาร” มดนั้นเป็นสัตว์ขยันขันแข็ง เวลาอยู่กับพืชใดก็ตาม มันจะคอยเก็บกินไข่และตัวอ่อนของแมลงที่เป็นศัตรูพืช ดังนั้นพืชจึงต้องหาทางชักชวนให้มดมาอาศัยอยู่ด้วย อันเป็น กุศโลบายของพืชหลายชนิด โดยเฉพาะพืชในป่าเขตร้อน ซึ่งวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ก็คือ“สร้างน้ำหวานล่อมด” พืชหลายชนิดจึงผลิตน้ำหวานตามจุดและตามเวลาที่รู้ว่าจะมีภัยคุกคามจากสัตว์กินพืช เช่น ตามหน่ออ่อน(ของไผ่) ตามใบอ่อน ตามฐานรองดอก ตามฐานผล เป็นต้น หลังจากหน่อไผ่เติบโตเป็นลำต้นแข็ง ใบอ่อนเป็นใบเต็มวัย ดอกร่วงหล่น และผลร่วงหล่นหรือแตก เพื่อแพร่กระจายเมล็ดสืบพันธุ์ต่อไป น้ำหวานที่พืชผลิตขึ้นมาก็จะหยุดทำการผลิต
พืชในเมืองไทยที่เรามักพบเห็นรังมดอาศัยอยู่มากมายและเห็นได้บ่อยที่สุดคงจะไม่มีพืชใดเด่นเท่า “ต้นมะม่วง” ซึ่งตามลำต้นและใบของต้นมะม่วงจะมีน้ำหวานที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำหรับมด มดจึงนิยมมาทำรังอยู่เต็มไปหมด และมันจะยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่อปกป้องคอนโดฯวิมานสวรรค์เอาไว้ ไม่เชื่อก็ลองปีนต้นไม้ เขย่า หรือใช้ไม้เขี่ยใบหรือผล ชั่วเพียงประเดี๋ยวเดียว.. “มดงาน” จอมขยันที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนคอยกำจัดแมลงศัตรูพืชที่จะกัดกินใบอยู่เสมอ ก็จะชักชวนพรรคพวกมาเป็นฝูง และหากมันมีโอกาสขย้ำหนังของเราให้จมเขี้ยวได้เมื่อไร เราก็จะได้รับรู้ว่ามันเอาจริงแค่ไหน หลายคนโดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดคงทราบดี แต่ชาวกรุงเทพฯโดยกำเนิดคงจะไม่เคยรับรู้ ดีไม่ดี..เด็กบางคนก็อาจจะไม่รู้จักต้นมะม่วงก็เป็นไปได้
มดบางชนิดยังช่วยกำจัดเถาวัลย์ที่มารบกวนต้นไม้ที่มันอาศัย มดบางชนิดจะคอยกัดวัชพืชที่ขึ้นรอบๆจนเตียนโล่ง ทำให้ต้นไม้ชนิดนั้นเจริญเติบโตงอกงามยิ่งขึ้น
พืชบางชนิดสามารถผลิตสารเคมีคล้ายไซยาไนด์เพื่อขับไล่ศัตรูได้ แต่ในพื้นที่บางแห่งและความเหมาะสมของฤดูกาลเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ตลอดเวลา ดังนั่นมันจึงยอมที่จะผลิตน้ำหวานล่อมดมาอาศัยอยู่บนต้นของตน เพราะเล็งเห็นแล้วว่าการกระทำเช่นนี้สิ้นเปลืองน้อยกว่าการป้องกันตัวด้วยตนเอง จึงอาจกล่าวได้ว่า“พืชเป็นนักคำนวณ” ส่วนมดก็รู้ดีว่าการปกป้องพืชที่มันใช้อาศัยอยู่ ย่อมเป็นหลักประกันชั้นหนึ่งว่ามันจะมีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์และเอร็ดอร่อยตลอดทั้งปี
ปล่อยน้ำหวานตามกิ่งก้าน เพื่อให้มดก้นห้อยหลังง่าม ชื่อวิทยฯ Dolichoderus feae Emery วงศ์ FORMICIDAE ช่วยป้องกันสัตว์มากินผล
ด้วยเหตุนี้ สัมพันธไมตรีระหว่างมดกับพืชจึงเกิดขึ้นอย่างแน่นแฟ้น โดยไม่ต้องมีการเจรจาหรือทำสัญญาแต่อย่างใด แต่เป็น“สัญญาใจ”ที่ให้แก่กันและกันก็ว่าได้
ความจริงเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องอันน่าพิศวงของมดกับพืชเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นว่า“สิ่งมีชีวิตใดๆก็ตามในโลกใบนี้จะดำเนินชีวิตอยู่รอดได้จำต้องรู้จักพึ่งพาเพื่อนต่างพันธุ์อย่างน้อยหนึ่งชนิด” สัจธรรมดังกล่าวครอบคลุมถึงมนุษย์เช่นเราเช่นท่านด้วย
อาจกล่าวสรุปได้ว่าการปรับตัว พรางตัว เลียนแบบ และการร่วมมือเพื่อต่อสู้นักล่าหรือล่าเหยื่อ ล้วนมีความเจ้าเล่ห์แสนกลต่างกันไป นับเป็นความสามารถทางวิวัฒนาการของสัตว์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแนบเนียน เพราะผู้ที่แข็งแกร่งและปรับตัวเองตามธรรมชาติได้เท่านั้นจึงจะสามารถอยู่รอด สิ่งเหล่านี้ “Charles Darwin”ได้อธิบายไว้ในกระบวนการที่เรียกว่า“การคัดเลือกโดยธรรมชาติ”(Natural Selection)
ผู้คนในสมัยก่อนก็มีความคิดเช่นเดียวกัน จึงอยู่กับธรรมชาติด้วยการปรับตัวเข้าหาธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัย ทำให้ท้องอิ่ม อยู่ดี มีสุข แต่เมื่อความเจริญแพร่กระจายราวกับเชื้อไวรัส ผู้คนเริ่มมองเห็นคุณค่าทางวัตถุมีค่าสูงยิ่งกว่าธรรมชาติ จึงเริ่มตีตัวออกห่างจากธรรมชาติ ไม่สนใจปกป้องรักษาธรรมชาติ และซ้ำร้ายยังเบียดเบียนทำลายธรรมชาติด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เมื่อธรรมชาติได้รับความเสียหาย ผลกระทบก็ย่อมตามมา เฉกเช่นมหันตภัยน้ำท่วมในคราวนี้
ใบไม้เปลี่ยนสี และเป็นนักอนุรักษ์ดีเด่น
เชื่อหรือไม่ว่าธรรมชาติมีการเอื้ออาทรต่อกันและกันยิ่งกว่ามนุษย์ และธรรมชาติยังรอบคอบพอที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ อย่างป่าผลัดใบที่ต้องผลัดใบ(สมชื่อ)ทุกปีนั้น ไม่ได้เปลี่ยนทีเดียวพร้อมๆกันทุกต้นทุกชนิด แต่ค่อยๆเป็นไป โดยขณะที่ต้นไม้บางต้น..ใบกำลังร่วง บางต้นกำลังผลัดใบ แต่บางต้นก็ยืนเปล่าเปลือยนานแล้วเป็นเดือนๆ
นับเป็นภาพชีวิตที่เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนอย่างมีสีสัน ไม่ได้เป็นเพียงความงามอันเปล่าประโยชน์ แต่เป็นไปเพื่อเกื้อหนุนชีวิตทั้งหมดในพงไพร
ทางเดินสู่ม่อนปุยหมอก อุทยานฯแม่เมย จ.ตาก
ในช่วงปลายเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมกราคม อากาศยังคงเย็นหนาว มีสายหมอกขาวโลมเรี่ยอยู่ตามแนวไพรพฤกษ์ โดยเฉพาะตามหุบเขาที่ถูกขุนเขาน้อยใหญ่วางตัวล้อมรอบ สีเขียวของใบไม้เริ่มรู้ว่าตนต้องรีบยื่นใบลาพักร้อนเดินทางออกจากป่า ไม่ว่าจะเป็นกอไผ่เขียวที่ขึ้นกระจัดกระจายทั่วไป เริ่มคายสีเขียว พร้อมแปลงเปล่งสีเหลืองทองไปทั้งขุนเขา ตัดกับฟ้าครามสดใส ทุ่งหญ้าที่เคยอร่ามเขียวกลายมาเป็นสีเหลือง บ้างน้ำตาล สลับคละเคล้ากันไป ต้นเต็งก็บอกสีเหลืองให้ออกมาโชว์โฉม ต้นปอแดงเห็นเพื่อนพ้องเปลี่ยนชุดสวมใส่ ก็ไม่ยอมน้อยหน้าจึงถอดชุดเก่า เปลี่ยนเป็นชุดสีเหลืองอมน้ำตาล ต้นมะกอกที่มีเปลือกเรียบเกลี้ยง สีนวลเทา ก็อวดเสื้อตัวเก่งเป็นสีเหลืองสดใส ยิ่งเมื่อยามแสงทองผ่องอำไพสาดส่องกระทบใบมะกอกในหน้านี้ก็จะกลายเป็นสีเหลืองมะนาว ดูเด่นสะดุดตา ตะคร้อก็เป็นต้นหนึ่งที่นิยมชมชื่นสีสด จากชุดสีเขียวที่เคยสวมก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนนวล แต่ชุดที่แปรเปลี่ยนเหล่านี้อาจจะยังไม่เป็นที่สาแก่ใจของเหล่าพฤกษา เพราะต่อมาอีกราว 3-5 วัน ชุดสีเหลืองที่แสนเท่ก็ถูกโยนทิ้งเปลี่ยนเป็นสีแดงสีส้มบาดจิตบาดตาไม่น้อยหน้าใบก่วม(หรือที่เรามักเรียกติดปากว่าใบเมเปิ้ล)ถูกนำมาสวมแทน
หากได้ยืนอยู่บนภูเขาสูงในช่วงฤดูกาลนี้ แล้วก้มมองดูผืนป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังที่กำลังเปลี่ยนสี จะเห็นได้ว่าเป็นภาพที่ไม่สามารถจะบรรยายออกมาด้วยคำพูดหรือภาษาเขียน เพื่อบรรยายความงดงามตระการตาของผืนป่าได้ดีพอ รู้แต่ว่าเป็นผืนป่าที่มีสีแดงปานทับทิม สลับไปด้วยสีส้ม สีชมพู และสีเหลือง แพรพรรณปานพรมทองปกคลุมไปทั่วขุนเขาแดนดอย
ความน่าชมของป่ายามเปลี่ยนสีต้องยกให้“ใบไม้” หากมีใครถามว่า“ทำไมต้องเป็นใบไม้?” เรื่องนี้ก็ต้องถามผู้รอบรู้อย่างจักรวาลแห่งธรรมชาติ เพราะได้กำหนดให้ใบไม้เสมือนเป็นบุคคลระดับพิเศษหรือ V.I.P. คือ ใบไม้ต้องมีความแข็งแรง แต่อ่อนนุ่มเบาบางจนแสงผ่านได้ อันเป็นที่ตั้งของโรงครัวขนาดใหญ่ เพื่อปรุงอาหารคาวหวาน หรือเปรียบเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ เพื่อรองรับแร่ธาตุและขนส่งอาหารไปตามเส้นใบ โดยมีปากใบเป็นสำนักงานระบายน้ำไปสู่บรรยากาศแบบระบบปั๊มอัตโนมัติ น้ำที่ผันออกไปจะถูกแทนที่จากน้ำใต้ดินที่รากดูดซึมซับส่งมายังใบไม้
ช่วงป่าผลัดใบ ไม้บางต้นคงเหลือแต่ลำต้นและกิ่งก้านหงิกงอดูเป็นเส้นสายลีลาของงานศิลปะ โดดเดี่ยวท้าทายลมหนาว ชวนให้อารมณ์หมองเศร้า หรือว่าใบไม้ไม่รักต้นแล้วหรือ? จึงเปลี่ยนสีเขียวอ่อนเขียวแก่ เป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง อย่างเริงร่า ราวกับว่ายินดีต่อการจากลาจากต้น กิ่งก้าน ที่เธอเคยห่อหุ้มให้ความร่มเย็น
แต่เมื่อได้เฝ้ามองพิจารณาอย่างละเอียด จึงพบว่าสิ่งที่มองเห็นตอนแรกอย่างหยาบๆ น่าจะเป็นความรู้สึกอ่อนไหวของคนเปลี่ยวเหงาอย่างเรา แท้จริงแล้วมันเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ที่ใบไม้มีให้ต่อต้นไม้ ผืนดิน และชีวิตอีกหลายชีวิตในผืนป่า
สีสันอันร่าเริงของใบไม้ ประกาศถึงความยินดีปรีดาต่อการกระทำครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการยอมสละชีพ เพื่อปกป้องดินแดนของตนให้พ้นจากภัยร้ายที่กำลังจะมาคุกคามก็ตามที
หากการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง คือสัญญาณของชีวิต ป่าเปลี่ยนสีก็คือช่วงเวลาที่มีชีวิตมากที่สุดของพงไพร
ก่วมแดง หรือเมเปิ้ล ชื่อวิทยฯ Acer calcaratum Gagnep. วงศ์ SAPINDACEAE
ช่วงที่ป่าแห้งแล้งยาวนานตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม – เมษายน ทำให้ไม้ในป่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง จำต้องเปลี่ยนสีและผลัดใบ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไป แม้แต่ไม้ล้มลุกจำพวกหญ้าที่เคยชูต้นเป็นเส้นสายอ่อนไหวโอนเอนไปมาเป็นระลอกยามต้องลม ยังเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เพราะน้ำที่อยู่ภายในใบได้แห้งหายไป
เริ่มแรกของใบไม้เปลี่ยนสี มักเป็นไม้เบิกนำ(คือ ในพื้นที่ที่เกิดเป็นช่องว่างจากไม้ใหญ่โค่นล้ม หรือถูกถากถางทำไร่เลื่อนลอย ไม้เหล่านี้จะเป็นแนวหน้าเข้าไปยึดพื้นที่ จึงเรียกว่า“ไม้เบิกนำ”)จำพวกปอแดง สมพง ทองหลางป่า ไผ่ เป็นต้น อันเป็นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่ไว้คอยปรุงอาหาร เพื่อช่วยให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว แถมความใหญ่ของใบยังช่วยป้องกันแสงตะวันไม่ให้เผาดินได้โดยตรง พื้นดินบริเวณนั้นจึงคงความชุ่มชื้น สร้างสภาวะที่เหมาะสมให้แก่ลูกไม้อื่นๆเติบโตขึ้นมา
คงรู้กันอยู่แล้วว่าต้นไม้เติบโตได้จากการปรุงอาหารของใบไม้ โดยดูดน้ำและแร่ธาตุจากดิน สูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แต่เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว โลกหมุนเอาส่วนที่ตั้งของเมืองไทยเอนเอียงออกจากดวงอาทิตย์ มุมแสงตกกระทบมายังเมืองไทยจึงเฉียงมากขึ้น ความเข้มของแสงลดลง ความยาวของชั่วโมงแสงที่ได้รับก็ลดลง ความแห้งของหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามาแทนที่ ความชื้นในอากาศจึงลดลงมาก น้ำในดินจึงถูกดึงให้ระเหยไปในอากาศมากกว่าปกติ ใบไม้ของต้นก็ถูกดึงให้คายน้ำออกไปมากเช่นกัน ขณะที่รากของต้นไม้ก็พยายามที่จะดูดน้ำในดินที่มีอยู่น้อยให้น้อยลงไปอีก ดังนั้นหนทางที่จะช่วยรักษาสมดุลของน้ำในดิน ก็คือลดการใช้น้ำ มิฉะนั้นแล้วความเป็นนักดูดน้ำที่เก่งกาจของไม้เบิกนำ จะไปกระทบกระเทือนต่อน้ำในดิน และเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อไม้ในสังคมพืชอื่นๆอย่างแน่นอน
ไม้เบิกนำจึงเป็นผู้เสียสละกลุ่มแรกที่เปลี่ยนใบจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ก่อนกลายเป็นสีน้ำตาล แล้วปลิดใบลงสู่พื้นในที่สุด เพื่อหยุดยั้งการใช้น้ำ เมื่อปลิดใบจนหมด จึงแลเห็นต้นไม้ที่มีแต่โครงต้นและกิ่งก้าน
กลุ่มต่อมาเป็นไม้ในป่าเต็งรัง เช่น เต็ง รัง ประดู่ ตะคร้อ มะกอก กระโดน เป็นต้น โดยมีต้นเต็งและต้นรังเป็นไม้เด่นของป่านี้ เพราะมีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้มากกว่าพันธุ์ไม้อื่นๆ ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม ใบของมันเริ่มเปลี่ยนแปลงสีสันเจิดจ้า อย่างต้นเต็งและต้นมะกอกเปลี่ยนใบสีเขียวเป็นสีเหลือง ต้นรังเปลี่ยนเป็นสีแดง ต้นตะคร้อเปลี่ยนเป็นสีส้มแสด ต้นกระโดนเปลี่ยนเป็นสีเลือดหมู ทำให้ผืนป่าเต็งรังช่วงนี้กลายเป็นผืนผ้าใบผืนใหญ่ที่ศิลปินธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่ ได้ละเลงปาดป้ายสีอย่างแพรวพราวไปด้วยสีสันแสบตา กระชากอารมณ์แก่ผู้พบเห็นให้เกิดความพลุ่งพล่านอย่างสุดๆ
นอกจาก“คลอโรฟิลล์” อันเป็นโมเลกุลสีเขียวที่มีอยู่ตลอดทั่วทั้งใบ ทำให้เรามองเห็นใบไม้เป็นสีเขียว และทำหน้าที่เสมือนเป็นพ่อครัวใหญ่ ปรุงอาหารหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของต้นไม้ให้เจริญเติบโตแล้ว ในใบไม้ยังมีสาร“แคโรทีนอย”(Carotenoid)ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป้องกันการเสื่อมของคลอโรฟิลล์ในสีเขียว ให้ดูดซับสะสมแสงตะวันได้อย่างขมีขมันเช่นเดิม แต่ช่วงนี้ผู้พิทักษ์ยังคงไม่แสดงตัวเป็นสีสันออกมาอย่างชัดเจน สีเขียวของคลอโรฟิลล์จึงต้องทำหน้าที่ผลิตอาหารส่งไปยังโรงครัว หรือเมืองท่า เพื่อแจกจ่ายไปเลี้ยงส่วนอื่นๆให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้น บางส่วนก็ส่งไปทำการออกดอกออกผล ต่อเมื่อธรรมชาติส่งรหัสสัญญาณเตือนว่าใกล้จะหมดสัญญาการใช้งานจากสีเขียวของใบไม้ ด้วยการส่องแสงตะวันให้สั้นลงในเวลากลางวันของช่วงฤดูหนาว ความชื้นของอากาศและน้ำในดินก็ลดน้อยลง แถมใบไม้ยังต้องคายน้ำออกสู่อากาศมากขึ้น เมื่อเริ่มขาดเครื่องปรุงสำหรับพ่อครัวอย่างคลอโรฟิลล์ ต้นไม้แต่ละชนิดก็จะทำการวางแผนยุทธการทิ้งใบไม้ให้สอดคล้องกันเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและธรรมชาติรอบๆตัว ด้วยการเตรียมดึงคลอโรฟิลล์และดูดแร่ธาตุที่ค้างสต็อกอยู่ในใบ เข้าไปเก็บไว้ในลำต้น พร้อมกับสั่งให้เพื่อนสนิทอย่างแคโรทีนอยทำการเตรียมพร้อมที่จะให้ต้นไม้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาวะวิกฤต คือ หยุดการเจริญเติบโตของต้นไม้ ยับยั้งการแตกใบ และเร่งให้ใบหลุดร่วง ด้วยการปล่อยน้ำยาจำศีลที่เรียกว่า“Abscisic Acid” เป็นเซลล์ขนาดเล็ก บาง และมีจำนวนมาก มาเกาะตัวกันกันอย่างหลวมๆที่ก้านใบ เพื่อเตรียมยางปิดแผลเมื่อใบหลุดร่วง ป้องกันมิให้น้ำไหลออก และยังป้องกันมิให้เชื้อโรคและราต่างๆเข้าไปทำลายต้น
ก่วมแดง หรือเมเปิ้ล ชื่อวิทยฯ Acer calcaratum Gagnep. วงศ์ SAPINDACEAE)
เมื่อทุกฝ่ายพร้อมเพรียง สีเขียวของใบไม้ก็จะเริ่มนับถอยหลัง พร้อมๆกับเพื่อนสนิทอย่างแคโรทีนอยที่มีสีสันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง สีแดง สีส้ม สีเลือดหมู หรือสีน้ำตาล ก็จะก้าวออกมาเท่ากับจำนวนก้าวที่สีเขียวถอนตัวออกไปทีละนิดๆ โดยสีเขียวจะก้าวออกจากด้านที่ร้อนที่สุด หรือออกจากใบที่แก่ที่สุด ช่วงนี้ใบไม้จะมีสีเขียวสลับเหลือง สลับแดง สลับส้ม สลับเลือดหมู แล้วแต่ชนิด ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นสีนั้นๆของแคโรทีนอยเต็มพรืดไปทั้งต้นอย่างสวยสดงดงามตามที่ธรรมชาติอนุญาตให้สีเขียวของคลอโรฟิลล์ลาพักร้อน
งานแสดงแสง สี และเสียง(กรณีมีลมต้องใบ)ของแคโรทีนอย จะใช้เวลาราว 3-7 วัน โดยเฉพาะช่วง3วันแรกเป็นการแสดงชุดใหญ่ที่ผู้แสดงยังกระปรี้กระเปร่า จึงมีสีสันสดใสดูร้อนแรง ก่อนเริ่มเหนื่อยล้าและมีสีสันหมองลง จนกระทั่งครบรอบการแสดงบนเวที จึงทำการกล่าวลาผู้ชมเพื่อปิดฉากการแสดง ด้วยการดิ่งพสุธาของใบไม้ เมื่อสายลมหนาวโชยมาหวีดหวิวไปกระตุกแถบน้ำยาพิเศษบริเวณทำนบของก้านใบให้แยกตัวออกจากกัน ใบไม้หลากหลายสีสันก็ค่อยๆปลิดปลิวหลุดร่วงจากขั้ว พลิ้วไหวไปตามสายลม บ้างลอยอ้อยอิ่ง โยนตัวไปมาทางซ้ายทีขวาที ก่อนทอดร่างนิ่งลงบนพื้น บางช่วงที่สายลมรุนแรงก็หอบเอาใบแก่ร่วงลงมาพราวใหญ่ราวกับ“ฝนใบไม้” ทำให้พื้นป่าหน้านี้ถูกแต่งแต้มด้วยสีสันหลากหลายจากใบไม้ที่ร่วงโรยมาก่อนหน้า กลายเป็น“ถนนใบไม้”ที่คดเคี้ยวไปตามเนินเขา และเต็มไปด้วยสีสันของใบไม้หลากหลายสีงามตา ซึ่งผู้ที่สร้างรังสรรค์ดังกล่าว ย่อมเป็นฝีมือของศิลปินเอกของโลกที่ไม่มีใครสามารถทำได้ นอกจาก“ธรรมชาติ”แต่เพียงผู้เดียว
จากนี้“ธรรมชาติ”ก็จะสั่งให้เปิดการแสดงภาพเขียนว่าด้วยเส้นโค้ง..หวานตรง..เอนเอียง..หรือหยักเป็นระลอกคลื่นน่ารักของกิ่งก้านเปล่าเปลือย ไร้ใบห่อหุ้ม โดยมีลำต้นเป็นประธานยืนต้นโดดเด่น อวดลวดลายบนเปลือกไม้ บางต้นถอดเปลือกออกเป็นเปลือกใหม่ที่สดใสและทนทาน เพื่อเตรียมรับมือกับไฟป่าในหน้าร้อน โดยมีท้องฟ้า แสงแดด และหมอกควัน(มีทั้งหมอกแดด และหมอกจากการเผาไร่นา)เป็นองค์ประกอบ
ทิ้งใบ อวดกิ่งก้าน
ในความแห้งแล้งที่ดูเหมือนว่าจะตายนี้ ไม้หลายชนิดค่อยๆเริ่มผลิดอกชูช่อขึ้นมาแทนใบ อาทิเช่น ดอกสีเหลืองของต้นส้านใหญ่ และส้านหิ่ง ดอกสีชมพูสดของต้นเหียง ต้นเต็ง ต้นรัง และต้นพะยอม ดอกสีม่วงแดงของต้นเก็ดดำ รวมทั้งดอกสีขาวนวลของต้นสัก และต้นสมพง เป็นต้น สีสันของดอกเป็นเครื่องมือในการดึงดูดล่อนกหรือแมลงให้มาช่วยผสมเกสร เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ของตน แต่ต้นไม้ก็ตอบแทนสัตว์เหล่านั้นด้วยน้ำหวาน และหนอนที่เคยหลบซ่อนตัวอยู่ ต้องรีบหาที่อยู่ใหม่ เมื่อต้นไม้ไร้ใบหรือเปลือกไม้บดบังซ่อนเร้น นกหลายชนิดที่หากินตามพื้นดินก็สนุกสนานเพลิดเพลินกับการคุ้ยเขี่ยใบไม้แห้ง หาปลวกที่มากัดกินใบไม้ เป็นอาหารของตนอีกทอดหนึ่ง รวมทั้งใบไม้แห้งเมื่อเปื่อยผุลงแปรรูปเป็นสารและแร่ธาตุคลุกเคล้ากลืนตัวไปกับผืนดินที่มันทอดลง อันเป็นปุ๋ยวิเศษสุดๆสำหรับพืชพันธุ์ทั้งหลาย
งานแสดงนี้จะเริ่มต้นไปจนถึงกลางเดือนเมษายน ลมมรสุมจากมหาสมุทรจะหอบเอาไอน้ำเข้ามาในแผ่นดิน ทำให้ความชื้นในบรรยากาศเพิ่มขึ้น ประกอบกับอุณหภูมิร้อนจัดของปีจะเกิดขึ้น ความร้อนนี้จะพัดเอาอากาศและไอน้ำขึ้นไปในชั้นบรรยากาศสูง จนไอน้ำจับรวมตัวและกลั่นลงมาเป็นหยาดฝน จึงถึงเวลาที่สีเขียวของคลอโรฟิลล์ครบกำหนดวันลาพักร้อน เริ่มทยอยกลับมาทำงาน ยิ่งฝนห่าแรกเทหลั่งลงมาเมื่อใด เจ้าสีเขียวก็รีบกลับมามากขึ้นเท่านั้น แต่มันยังคงอ้อยอิ่ง มิได้พรวดพราดทำงานทันที มันต้องรอคอยให้ต้นไม้ทำลายน้ำยาจำศีลเสียก่อน แล้วเติมฮอร์โมนที่มีชื่อว่า“ออกซิน”เพื่อเร่งการแตกใบอ่อน
เมื่อใบอ่อนผลิแรกแย้ม คลอโรฟิลล์ก็ยังคงติดใจการหยุดพักยาวนาน จึงคงให้แคโรทีนอยที่เป็นเสมือนเพื่อนเหล่าผู้พิทักษ์ความเขียวทำหน้าที่แทน ใบอ่อนจึงมีสีสันสดใสเฉกเช่นเดียวกับใบแก่ที่จะหลุดร่วง แต่ไม่เด่นพร่างพราวไปทั้งป่าเหมือนเท่า ช่วงนี้แมงและแมลง รวมทั้งเหล่าสกุณาจะพากันร่าเริงดีใจ ด้วยการเข้าไปจุมพิตใบไม้สีชมพูโรแมนติก สีส้มสดใส สีแดงร่าเริง หรือสีม่วงชูพลัง ซึ่งมีให้ดูอยู่ไม่กี่วัน เจ้าสีเขียวก็จะกลับมาทำหน้าที่อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง ทำให้กิ่งก้านของต้นประดับประดาไปด้วยใบสีเขียวสดอวบอิ่มดูชื่นตาชื่นใจ ร่มรื่นเย็นสบาย พร้อมกับเร่งปรุงอาหารเพื่อสร้างการเจริญเติบโตให้แก่ตนเองต่อไป และเตรียมเผชิญรับแรงปะทะและลดปริมาณน้ำฝนไม่ให้ชะล้างทำลายหน้าดิน อันอุดมด้วยแร่ธาตุ นับเป็นระบบทางธรรมชาติอันรอบคอบ สอดคล้องกับฤดูกาลที่กำลังมาเยือน
ใบอ่อนของก่วมแดง ดูคล้ายเปลี่ยนสีเตรียมผลัดใบ
“หากการรู้จักใช้และรักษา คือความหมายของการอนุรักษ์ ใบไม้ก็สมควรที่จะได้รับเลือกให้เป็นนักอนุรักษ์ดีเด่น”
หลับตานึกถึงภาพงามตาของป่าเปลี่ยนสีทีไร ก็ยังคงติดตาตรึงใจอยู่ทุกวันนี้ แต่ขอแนะนำผู้ที่สนใจจะเข้าไปชมป่าเปลี่ยนสีเช่นผู้เขียนว่า“แม้จะเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังเช่นเดียวกัน แต่หากอยู่ต่างภูมิภาคกัน ก็จะมีการเปลี่ยนสีสันไม่พร้อมกัน เนื่องจากลักษณะของดิน หิน ปริมาณแสง และภูมิประเทศที่แตกต่างกันนั่นเอง”
ไม่แน่นะ..เพื่อนๆอาจได้พบข้อคิดบางอย่างสำหรับชีวิต เฉกเช่นผู้เขียนที่พบว่า..ใบไม้ที่เคยอยู่สูงลิ่ว ก่อนทิ้งร่างลงดิน ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากชีวิตคนเราเท่าใดนัก เพราะไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ทุกอย่างย่อมมีการเกิดและดับหายไป แต่ใบไม้แม้จะผลัดใบร่วงหล่น มันก็ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สมดั่งคำกล่าวที่ว่า“จากชีวิต..คืนสู่ชีวิต จากดิน..คืนสู่ดิน” แต่ชั่วชีวิตที่ผ่านมาของเราล่ะ! เคยนึกตรองดูไหมว่าเคยทำสิ่งใดบ้างทดแทนคุณแผ่นดินและพ่อหลวงของปวงประชาชาวไทย
กุศโลบายของดอกไม้
คุณเชื่อไหมว่าดอกไม้ก็เหมือนมนุษย์ มีทั้งความเจ้าเล่ห์เพทุบาย และรู้จักแต่งองค์ทรงเครื่องเฉกเช่นเดียวกับหนุ่มสาวที่ต้องการดึงดูดใจเพศตรงข้าม เชื่อหรือไม่..ก็ลองอ่านบทความข้างล่างนี้ แล้วคุณจะร้องว่า “ใช่เลย..โดนใจฉันเลย”
นกกินป
นกกินปลีคอแดง(ตัวผู้) ชื่อสามัญ Crimson Sunbird วงศ์ NECTARINIIDAE
พืชได้เปรียบกว่าสัตว์ทั่วไป ตรงที่หาอาหารได้ไม่ยากนัก อย่างน้อยแสงแดด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็มีอยู่ทั่วไป สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้ตลอดกลางวันแต่ทุกชีวิตมิได้มีหน้าที่เพียงแค่ทำมาหากินเท่านั้น หากยังต้องรู้จักการแพร่พันธุ์อีกด้วย ตรงนี้แหละที่พืชเสียเปรียบสัตว์อย่างยิ่ง เพราะพืชไม่มีปีกไม่มีขา แถมยังมีรากยึดเกาะพื้นดินอย่างเหนียวแน่น จะออกเตร็ดเตร่เที่ยวหาคู่ก็ทำไม่ได้ ครั้นจะสืบพันธุ์ภายในต้นเดียวกัน ธรรมชาติก็ไม่ส่งเสริมเห็นด้วย เพราะจะทำให้พันธุ์เสื่อมถดถอยลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงต้องหาทางผสมพันธุ์ข้ามต้น ในป่าเขตอบอุ่นนั้นปัญหานี้แก้ไม่ยาก เพราะมีลมคอยช่วยแพร่เกสรให้กระจายไป แต่สำหรับพืชในป่าเขตร้อนเช่นเมืองไทย วิธีดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลมากนัก ไม่ใช่เพราะว่าป่าเขตร้อนไม่มีลม ลมน่ะมีแต่ช่วยได้น้อยมาก
การแพร่เกสรด้วยลมจะมีผลก็ต่อเมื่อเป้าหมายที่เกสรต้องการไปหานั้นอยู่ไม่ไกล ซึ่งในป่าเขตอบอุ่นจะมีพืชชนิดเดียวกันขึ้นเป็นกระจุกๆอยู่ใกล้กัน ปล่อยเกสรไปตามแรงลมเมื่อไรก็มั่นใจได้ว่าจะมีพรรคพวกเดียวกันอ้าแขนรอคอยต้อนรับเกสรเอาไปผสมพันธุ์อย่างแน่นอน แต่ในป่าเขตร้อนนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่ามาก หมายความว่าในพื้นที่แห่งหนึ่งจะมีต้นไม้หลากหลายชนิดขึ้นอยู่ แต่ในชนิดเดียวกันกลับหายากมาก ไม่เชื่อก็ลองสังเกตเวลาไปเดินท่องป่าตามป่าดิบ จะเห็นว่ามีต้นไม้หลากรูปลักษณ์หลายสีสัน สูงต่ำต่างๆกันเต็มไปหมด แต่มองหาต้นไม้สองต้นที่ซ้ำกันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หายากมากๆ
เกสรดอกไม้เป็นของที่ต้องลงทุนลงแรงสูงกว่าจะผลิตขึ้นมาได้ ซึ่งอุดมไปด้วย โปรตีน ไขมัน และวิตามิน พืชจึงหวงแหนมาก ถ้าปล่อยไปก็ต้องหวังผล เมื่อพึ่งลมไม่ได้ก็มีอีกทางหนึ่ง คือ พึ่งสัตว์ ดอกไม้ที่มีสีสันสวยงามหรือมีกลิ่นหอม/กลิ่นเหม็น ก็เพื่อดึงดูดสัตว์ที่ตนต้องการให้เข้ามาหา เพื่อจะได้ฝากเกสรติดไปตามปีกตามขา แต่ที่จะดึงดูดสัตว์ได้มากเป็นพิเศษก็คือต้องมีน้ำหวานที่พวกสัตว์ชื่นชอบ เป็นเหยื่อล่อ
แต่เกสรที่ติดไปกับสัตว์ก็อาจจะไม่ถึงเป้าหมายตามที่ต้องการก็เป็นไปได้ อาทิเช่น ผึ้งตัวน้อยตัวนิดอาจมัวไปขลุกอยู่กับดอกไม้อีกชนิดหนึ่ง การผสมพันธุ์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้นพืชทุกชนิดจึงมีโจทย์ให้ขบคิดว่านอกจากจะดึงสัตว์ให้เข้ามาหาแล้ว ยังจะต้องทำอย่างไรให้มันนำเกสรของตนไปยังพืชชนิดเดียวกันที่อยู่อีกต้นหนึ่งได้
นกปลีกล้วยลาย ชื่อสามัญ Streaked Spiderhunter วงศ์ NECTARINIIDAE
ปัญหานี้ทางพืชได้พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความเสน่หาและเหมาะจำเพาะกับสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อสัตว์เกิดติดใจพืชชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วก็ย่อมพอใจที่จะใช้บริการของพืชชนิดเดียวกันอีกอยู่ร่ำไป พูดแบบนักธุรกิจก็คือ ต้องหาทางเจาะกลุ่มเป้าหมายของตนให้ได้ ด้วยเหตุนี้พืชที่ต้องการให้ผีเสื้อกลางวันเป็นตัวกระจายเกสรก็มักจะมีดอกเป็นโทนสีแดงหรือสีส้ม และมีดอกรูปร่างแบนหรือบาน รวมทั้งขึ้นตามพื้นที่โล่งหรือป่าโปร่ง เนื่องจากผีเสื้อเป็น 1 ในแมลงไม่กี่ชนิดที่สามารถมองเห็นสีแดงได้ และต้องการความอบอุ่นจากแสงแดดอยู่บ่อยๆ พืชที่สนใจนกกินปลีก็จะสร้างดอกเป็นรูปกรวยหรือคล้ายท่อยื่นยาวออกมา แม้น้ำหวานของดอกประเภทนี้จะมีแร่ธาตุน้อย แต่ก็มีน้ำตาลมาก เหมาะกับนกจำพวกกินปลีที่มีความปราดเปรียวว่องไว โดยใช้จะงอยปากที่เรียวยาวในการดูดกินน้ำหวาน พืชที่ต้องการให้ผีเสื้อกลางคืนเป็นตัวกระจายเกสรก็จะสร้างดอกสีขาวซึ่งเห็นได้เด่นชัดในเวลากลางคืน และสร้างดอกเป็นรูปคล้ายท่อ ซึ่งเหมาะกับแมลงพวกนี้ที่มีลิ้นยาวถึง 6 นิ้ว อนึ่งนกกินปลีก็ชื่นชอบดอกที่เป็นรูปท่อเช่นกัน พืชชนิดนี้จึงป้องกันนกกินปลีไม่ให้มายุ่งเกี่ยว ด้วยการออกดอกบานเฉพาะกลางคืน เฉกเช่นเดียวกันกับพืชที่ต้องการเฉพาะนกกินปลี ไม่ต้องการให้ผีเสื้อกลางคืนเข้ามาแย่ง จึงออกดอกบานเฉพาะกลางวัน และออกดอกเป็นโทนสีแดง ซึ่งเห็นได้ยากในเวลากลางคืน ทั้งนี้มีพืชบางชนิดที่ออกจะอัตคัดขัดสนในการผลิตน้ำหวานภายในดอก จึงจำต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือกุศโลบาย ซึ่งกล้วยไม้มีความชาญฉลาดนักในเรื่องนี้ โดยกล้วยไม้บางชนิดจะเสกสรรปั้นแต่งจนดูเหมือนมีน้ำหวาน ด้วยการสร้างขนคล้ายเกสรตัวผู้ที่มีละอองอยู่เต็มไปหมด ผึ้งที่ชื่นชอบเก็บละอองเกสรจึงหลงกลเข้าไปขลุกหวังน้ำหวาน แต่ไม่ได้น้ำหวานกลับรังตามต้องการ ขณะที่เกสรกล้วยไม้ ได้ติดแต้มไปตามตัวของมันโดยไม่รู้ตัวเลย กล้วยไม้บางชนิดเก่งกว่านั้นอีก ด้วยการตกแต่งแปลงโฉมดอกจนดูคล้ายกับแมลงตัวเมีย เพื่อล่อให้แมลงตัวผู้หลงกลเข้ามาผสมพันธุ์ และยังมีกล้วยไม้สกุลสิงโตที่เกสรจะสั่นไหวเมื่อมีลมพัดดูคล้ายลูกตากรอกไปมา ทำให้แมลงบางชนิดคิดว่ามีแมลงตัวอื่นรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของตน มันจึงรีบออกไปจัดการเพื่อขับไล่ แต่ปรากฏว่าเกสรก็ติดตัวมันไปเสียแล้ว
สิงโตสมอหิน ชื่อวิทยฯ Bulbophyllum blepharistes Rchb. f. วงศ์ ORCHIDACEAE
ดอกไม้บางชนิด เช่น กล้วยไม้ เป็นต้น ดูๆแล้วอาจจะโกงไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับหลอกจนหมดสิ้นเนื้อประดาตัว และยังมีรางวัลให้แก่เหล่าแมลงที่ลงแรงไปอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าจะไม่มีน้ำหวานเป็นค่าตอบแทน แต่ก็มีกลิ่นที่แมลงนั้นสามารถเก็บเอาไปผสมเป็นน้ำหอมสำหรับหาคู่ครองได้ รางวัลอย่างนี้ถึงจะกินไม่ได้ แต่ก็เท่ชะมัดยาดเลยน่ะ!
ความในใจของผู้เขียน
ป่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ไม่มีในตำราบทเรียน และก็มีน้อยคนนักที่จะเขียนตำราป่าได้อย่างสมบูรณ์ หากเราศึกษาถึงป่าอันอุดมด้วยสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลาย เราพอจะเข้าใจถึงความเป็นป่าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ ป่าเปรียบเป็นสมรภูมิระหว่างผู้ที่เข้มแข็งกว่ากับผู้อ่อนแอกว่า นั่นย่อมหมายถึงว่าผู้ที่อ่อนแอกว่าย่อมเป็นเหยื่อหรือพ่ายแพ้แก่ผู้เข้มแข็งกว่า นั่นเป็นสัจธรรมชีวิตอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับป่า
ศึกษาพรรณไม้ป่า เป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์อย่างหนึ่งสำหรับการท่องธรรมชาติ
ผู้คนในสมัยก่อนก็มีความคิดเช่นเดียวกัน จึงอยู่กับธรรมชาติด้วยการปรับตัวเข้าหาธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัย ทำให้ท้องอิ่ม อยู่ดี มีสุข แต่เมื่อความเจริญแพร่กระจายราวกับเชื้อไวรัส ผู้คนเริ่มมองเห็นคุณค่าทางวัตถุมีค่าสูงยิ่งกว่าธรรมชาติ จึงเริ่มตีตัวออกห่างจากธรรมชาติ ไม่สนใจปกป้องรักษาธรรมชาติ และซ้ำร้ายยังเบียดเบียนทำลายธรรมชาติด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เมื่อธรรมชาติได้รับความเสียหาย ผลกระทบก็ย่อมตามมา เฉกเช่นมหันตภัยน้ำท่วมที่เราเจอกันอยู่แทบทุกปี