เตรียมตัวท่องไพร

การท่องป่าเขาลำเนาไพรในแต่ละฤดูกาลย่อมพานพบสิ่งต่างๆแตกต่างกันไป และการท่องป่าในแต่ละภูมิภาคซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศแตกต่างกันก็ย่อมมีความยากง่ายแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง

“กิ่วแม่ปาน จ.เชียงใหม่”

1. ท่องป่าหน้าหนาว

ปลายเดือนตุลาคม..ฝนจะเริ่มทิ้งช่วงจนกระทั่งขาดเม็ดฝนสนิท ท้องฟ้าที่เคยมืดครึ้มอุ้มฝนมานานหลายเดือนก็เริ่มกระจ่างใสเป็นสีฟ้าเข้ม แม้จะมีเมฆมาแต่งแต้มอยู่บ้าง ก็เป็นเมฆขนนกที่อยู่สูงลิ่ว ผืนป่าที่ชุ่มชื้นด้วยสายฝนเริ่มเหือดแห้ง พร้อมๆกับลมหนาวจากทิศเหนือเริ่มแผ่ไอเย็นเข้ามาปกคลุม สัตว์ป่าน้อยใหญ่แทบทุกชนิดเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ และในยามรุ่งเช้ามักจะก่อเกิดทะเลหมอกหรือสายหมอกขาวโพลนดั่งปุยนุ่นลอยตัวจับเกาะติดกันอยู่หนาแน่นตามหุบเขาและราวป่า นอกจากนี้ป่าหน้าหนาวยังเต็มไปด้วยความหลากหลายสีสันสวยสดงดงามของพรรณไม้ที่กำลังเริ่มผลิดอกออกชูช่อสวยงาม บ้างก็ออกดอกเป็นทุ่งตระการตา

หน้าหนาวจึงเปรียบเสมือนเป็นฤดูอันสดใสของผู้รักธรรมชาติ เพราะการเดินป่าสะดวกสบายกว่าหน้าฝน ตัวทากและแมลงก็มีไม่ชุกชุม อากาศที่เย็นสบายทำให้ไม่เหนียวตัว น้ำตามลำห้วยลำธารก็มีเหลือเฟือและใสแจ๋วปราศจากโคลนตมหรือน้ำขุ่นเหมือนในหน้าฝน จะหุงหาอาหาร ดื่ม และอาบน้ำก็สะดวกสบาย การกินอยู่หลับนอนและหุงหาอาหารก็ไม่ต้องกังวลกับสายฝนที่อาจโปรยปรายหรือซัดกระหน่ำจนเปียกโชกและไม่สบายได้ อาหารสดที่เตรียมไปก็ไม่บูดเสียง่าย และถึงแม้ว่าเราจะไม่มีเต็นท์หรือเปลสนามติดตัวมาตั้งแค้มป์ ก็อาจใช้เพียงผ้าสักผืนมาปูพื้นนอนใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ใบหนาทึบเพื่อป้องกันน้ำค้างที่โปรยลงมาตอนดึกโดยเฉพาะหัวรุ่งก็เพียงพอแล้ว

ปัญหาเพียงอย่างเดียวของการท่องป่าหน้านี้ก็คือ“ความหนาวเย็นของอากาศ” ยิ่งเป็นขุนเขาสูงมากเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มความหนาวเหน็บมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะตามขุนเขาสูงทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนจะมีความหนาวเย็นยะเยือกต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส และบางปีก็ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหรือ 0 องศาเซลเซียส จนทำให้น้ำค้างที่พรมอยู่ตามพื้นและยอดหญ้าในตอนรุ่งเช้ากลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งเล็กๆขาวโพลนเต็มไปหมดเรียกว่า“เหมยขาบ”(ภาษาคำเมือง)หรือ“แม่คะนิ้ง”(ภาษา จ.เลย) ซึ่งเป็นอากาศหนาวที่คนไทยไม่คุ้นเคยสักเท่าไรนัก และหากบริเวณแค้มป์เป็นที่โล่งแจ้งที่มีลมพัดโกรกอยู่ตลอดเวลาก็จะยิ่งรู้สึกหนาวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ทำให้นักท่องเที่ยวที่เตรียมอุปกรณ์กันหนาวมาไม่พร้อมจำต้องลุกจากที่นอนมาหาไออุ่นอยู่ข้างๆกองไฟ และมีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องนั่งหลับนกหรือสัปหงกอยู่ข้างๆกองไฟตลอดทั้งคืนยันเช้า

“เหมยขาบ หรือแม่คะนิ้ง”

“เส้นทางเดินสายเด่นหญ้าขัด-เมืองคอง จ.เชียงใหม่”

2. ท่องป่าหน้าร้อน

กาลเวลาคืบคลานผ่านไปจวบจนเข้าสู่ช่วงปลายหนาวต้นร้อนราวเดือนมกราคม ผืนป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังจะเริ่มเปลี่ยนสีผลัดใบเพื่อลดการคายน้ำเมื่ออากาศร้อนจัด ช่วงเวลาก่อนที่ใบไม้จะผลัดใบร่วงหล่นนี้ มันจะเปลี่ยนสีจากสีเขียวไปเป็นสีต่างๆที่เด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไม้ชนิดนั้น เช่น ต้นไผ่จะเปลี่ยนสีลำไผ่และใบไผ่เป็นสีเหลืองทองสลับกัน บ้างก็ออกดอกออกขุยดูเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งป่า ใบต้นมะกอกป่าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดใส..ซึ่งในยามเช้าเมื่อต้องแสงอาทิตย์จะมีสีเหลืองแบบผิวมะนาวดูเด่นสะดุดตาสวยงามยิ่ง ใบต้นเต็งจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบต้นรังเปลี่ยนเป็นสีแดงอ่อนสีแดงเข้ม ใบต้นปอแดงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล ใบต้นตะคร้อเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีส้มแสด ใบกระโดนเปลี่ยนเป็นสีเลือดหมู เป็นต้น ดูแล้วอาจจะไม่มีความหมายสำหรับเราสักเท่าใดต่อการเปลี่ยนสีของใบไม้ แต่หากเราได้มองภาพมุมกว้างของผืนป่าดังกล่าวจากยอดดอยสูงลงมาก็จะเห็นภาพ

ป่าเปลี่ยนสีที่งดงามดั่งคำกล่าวว่า “ป่างามเมื่องามยามแล้ง”ก็ดูจะไม่ผิดนัก ต่อมาใบไม้เหล่านั้นก็จะเริ่มปลิดปลิวหลุดจากขั้วลงมาปกคลุมตามพื้นป่าดูราวกับเป็น“ถนนใบไม้” ส่วนต้นไม้ดังกล่าวก็จะมองเห็นแต่ทรวดทรงลำต้นอันว่างเปล่าและกิ่งก้านหงิกๆงอๆมาประชันแข่งกันดูแปลกตาน่าอัศจรรย์ ในที่สุดต้นไม้บางต้นก็จะเริ่มออกดอกสีสันสดใสเพื่อล่อแมลงและนกให้มาช่วยผสมเกสรดอกไม้ เช่น ต้นเสี้ยวป่าออกดอกสีขาวหรือสีชมพู ต้นงิ้วและทองหลางป่าออกดอกสีแดง ต้นเสลา ต้นตะแบก และต้นอินทนิลออกดอกสีม่วง เป็นต้น นอกจากนี้ตามคาคบไม้ที่มีกล้วยไม้อิงอาศัยอยู่ก็จะผลิดอกสีเหลือง สีขาว สีชมพู สีม่วง และบ้างสีส้ม

การท่องป่าหน้าร้อนอาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนหน้าหนาว แต่ก็มีความสวยงามอันเป็นลักษณะเฉพาะของป่าฤดูนี้ที่ไม่มีฤดูใดเหมือน ไม่ว่าจะเป็นป่าเปลี่ยนสี หรือกล้วยไม้ป่านานาชนิด

ปัญหาของการท่องป่าในหน้านี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนอบอ้าวและรู้สึกเหนียวตัว ป่าไม้อยู่ในช่วงทิ้งใบทำให้ไม่มีความร่มเย็นแก่ผู้ที่ต้องการพักพิง เหนื่อยง่ายและหิวกระหายน้ำบ่อย ซึ่งน้ำในลำห้วยลำธารบางสายจะแห้งขอด บ้างคงไหลรินเพียงน้อยนิด และอาจจะเกิดความสกปรกหรือเป็นแหล่งเชื้อโรคจากซากใบไม้ที่ร่วงหล่นและเน่าเปื่อย เหล่าสัตว์ป่าและหมู่สกุณาจะพากันอพยพเข้าสู่ป่าทึบที่มีความชุ่มชื้นและมีแหล่งอาหารแหล่งน้ำที่พอจะอาศัยหากินได้ แมลงชุกชุม อาหารสดที่เตรียมไปกินในป่าจะบูดเสียได้ง่าย และท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยหมอกแดด นอกจากนี้ยังต้องคอยระมัดระวังภยันตรายจาก“ไฟป่าตามธรรมชาติ”หรือ“ไฟป่าจากมนุษย์ที่เป็นผู้ก่อขึ้น” ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลาในช่วงฤดูนี้

“ไฟป่า”

3. ท่องป่าหน้าฝน

กเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปฝนจะเริ่มตกปรอยๆ จวบจนกลางเดือนกรกฎาคมฝนก็จะเริ่มตกชุกและมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆไปจนถึงปลายเดือนตุลาคมนั่นแหละฝนจึงจะซาและหยุดสนิท หากดินฟ้าลมฝนไม่เพี้ยนไปเสียก่อน ฝนหรือหยดน้ำจากฟ้าทำให้ป่าเขียวชอุ่มชุ่มชื้นหรือตื่นจากการหลับใหล เพราะฤดูนี้ป่าจะสว่างไสวไปด้วยสีสันของมวลชีวิต ไม้น้อยใหญ่ต่างผลิใบอ่อน ต้นหญ้าแตกยอดระบัดใบ สิ่งมีชีวิตนับล้านๆชีวิตเริ่มก่อกำเนิดจากใต้ผืนดิน และสรรพสัตว์ต่างเริงร่าดีใจเมื่อฝนมาเยือน หลายคนชอบท่องป่าหน้าฝนโดยให้เหตุผลนอกเหนือจากที่กล่าวมาว่า“ป่าหน้าฝนมีความพิสุทธิ์และบ่งบอกลักษณะแห่งป่าอย่างแท้จริง เวลาเดินทางก็เย็นสบายสดชื่นจากสายฝนผสมผสานกลิ่นดินและกลิ่นหมอกไอฝน เวลาเดินป่าไม่เหนื่อยง่ายเหมือนหน้าหนาวหน้าร้อน แถมอาหารการกินในป่าก็อุดมสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ เห็ด หรือผักป่า ทำให้ไม่ต้องจำเจกับอาหารกระป๋องหรือบะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเบื่อชะมัดยาด เพียงแค่กล่าวถึงก็รู้สึกเลี่ยนคอเสียแล้ว นอกจากนี้ยังจะดาษดื่นไปด้วยพรรณไม้หลากชนิดที่ชูช่อออกดอกบานสะพรั่งไปทั่วผืนป่าราวกับสวรรค์บนดิน” นักเดินป่าที่นิยมชมชอบท่องป่าหน้านี้มักกล่าวว่า“ป่าหน้าฝนเป็นเสมือนสวรรค์ของนักนิยมไพร”

แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบเดินป่าหน้าฝน เพราะเห็นว่าเป็นการเดินทางที่เปียกแฉะอยู่ตลอดเวลา ทำให้ป่วยเป็นไข้ได้ง่ายๆ ที่แน่ๆก็คือไข้หวัด แถมทางเดินก็ค่อนข้างลื่นจนอาจได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บได้ การตั้งแค้มป์และการก่อกองไฟหุงหาทำอาหารก็แสนลำบากยุ่งเหยิง อีกทั้งยังมีภยันตรายจากป่าหน้าฝนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำป่าที่ไหลหลากอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าจะเพ่นพ่านมากกว่าปกติ เนื่องจากแหล่งน้ำแหล่งอาหารมีอยู่แทบทั่วทุกอณูของผืนป่า โดยเฉพาะตามป่าดิบชื้นๆจะมี“ทาก”..สัตว์ตระกูลเดียวกับปลิงที่หลายคนมักกลัวหรือเกลียดขยะแขยงกำลังชูหัวสลอนไปมาเป็นวงกลมราวกับเรดาร์เพื่อรอคอยดูดเลือดจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่เดินผ่านมา นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักกล่าวถึงป่าหน้าฝนว่า“เป็นการเดินป่าที่อันตรายที่สุด” บ้างก็ให้สมญานามอย่างน่ากลัวว่า“ขุมนรกแห่งการเดินทาง

“ภูกระดึง จ.เลย”

จากประสบการณ์ชีวิตของข้าพเจ้าซึ่งพิสมัยการเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจนั้น ยอมรับว่าการเดินป่าในช่วงหน้าหนาวหรือหน้าร้อน ไม่ลำบากเท่ากับการเดินป่าในช่วงหน้าฝน แต่ไม่ว่าหน้าไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการเดินป่าหน้าฝนจำต้องเตรียมตัวมากขึ้นเป็นพิเศษกว่าฤดูกาลใด สำหรับผู้ที่เพิ่งริเริ่มเข้าป่าหรือเป็นนักเดินป่ามือใหม่ควรที่จะเดินป่าครั้งแรกในหน้าหนาว เพราะการเดินป่าหน้าร้อนหรือหน้าฝนอาจสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้นั้นจนมีความรู้สึกเกลียดป่าฝังใจไปเลยก็ได้ และนักเดินป่าทุกคนควรที่จะเรียนรู้จักการเอาตัวรอดหรือที่เรียกว่า “เทคนิคการยังชีพในป่า” อาทิเช่น การเลือกทำเลที่ตั้งแค้มป์และการตั้งแค้มป์ การเลือกเส้นทางเดินและดูทิศทางเป็น การรู้จักสังเกตรอยเท้าและมูลสัตว์ การรู้จักหาอาหารป่า ภัยจากสัตว์และพืชมีพิษ รวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นต้น

4. การเตรียมตัวก่อนการเดินทาง

สิ่งสำคัญสำหรับการเตรียมตัวก่อนการเดินทางท่องเที่ยวที่จะต้องกระทำทุกครั้งเสมอไป ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแบบแค้มปิ้ง หรือเที่ยวแบบสบายๆ มีอยู่ 3 ประการ คือ “การหาข้อมูล การวางแผน และการเตรียมตัวเดินทาง”

“แผนที่เดินทางสู่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน จ.เชียงใหม่”

1. การหาข้อมูล ก่อนเดินทางต้องเลือกจุดหมายปลายทางหรือสถานที่ที่เราจะไปแค้มปิ้งให้ได้เสียก่อน รวมทั้งต้องดูด้วยว่าสถานที่ดังกล่าวเหมาะสมกับฤดูกาลในการไปท่องเที่ยวยังสถานที่นั้นๆหรือไม่ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

2. การวางแผน เมื่อได้กำหนดสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว โดยเฉพาะหากเป็นสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ก็ต้องวางแผนกันว่าจะเดินทางไปกันอย่างไร ค้างคืนกี่คืนและแต่ละคืนนอนที่ไหน รวมทั้งกินอยู่อย่างไร หากเป็นสถานที่แค้มปิ้งก็ต้องวางแผนเพิ่มเติมเป็นพิเศษ อาทิเช่น ต้องติดต่อและทำการขออนุญาตล่วงหน้าก่อนหรือไม่ ลูกหาบแบกสัมภาระมีหรือไม่ และใครจะเป็นผู้นำทาง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คงต้องอาศัยข้อมูลที่รวบรวมมาได้จากแหล่งต่างๆ ถ้าเป็นไปได้ควรสอบถามจากผู้ที่เคยไปมาก่อน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องวางโปรแกรมการเดินทางว่าจะท่องเที่ยวกันอย่างไร และช่วยพิจารณาทบทวนกันอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ และมีสิ่งใดที่ยังขาดตกบกพร่อง อนึ่งก่อนการเดินทางควรติดต่อสิ่งต่างๆล่วงหน้าให้เรียบร้อยอย่างน้อย 7-10 วัน แต่หากเป็นช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่มีระยะยาวก็ควรติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นเดือนๆ

“ดอยเสมอดาว จ.น่าน”

3. การเตรียมตัวเดินทาง หมายถึง การตระเตรียมสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสถานที่ใด สภาพของการเดินทางเป็นเช่นไร มีลูกหาบแบกสัมภาระหรือไม่ และอยู่ในช่วงฤดูกาลใด นอกจากนี้“การเตรียมใจและร่างกายให้พร้อม”ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ เพื่อที่จะได้ผจญภัยกับสิ่งต่างๆอย่างไม่ย่อท้อ

5. หลักการเตรียมอุปกรณ์เดินป่า

หลักการนั้นมีง่ายๆอยู่เพียง 3 ประการ คือ “เบา คล่องตัว และมีประโยชน์” ซึ่งอุปกรณ์ทุกชิ้นจะต้องพิจารณาหลักการทั้ง 3 ประการนี้เป็นสิ่งสำคัญ เหล่านี้ว่ากันแบบนักเดินป่ามืออาชีพที่เดินป่ากันเป็นวันๆ และนอนค้างอ้างแรมในป่า ซึ่งจะมีลูกหาบช่วยแบกให้หรือแบกเองก็ตาม ไม่ใช่แบกขึ้นรถไปแล้วขับไปจอดยังจุดตั้งแค้มป์ แบบนั้นจะเอาไปยังไงก็ได้ แล้วแต่กำลังของรถและพื้นที่ในรถ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเห็นว่าการเตรียมตัวแบบมืออาชีพน่าจะดีกว่า เพราะไม่มีสัมภาระมากมายให้ต้องกังวล หรืออาจกล่าวได้ว่าต้องใช้ทุกชิ้นให้เป็นประโยชน์ได้เต็มที่ว่างั้นเถอะ

6. อุปกรณ์เดินป่า

แบ่งออกได้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน และอุปกรณ์ที่เป็นของใช้ส่วนตัว จึงควรมีการทำรายการสิ่งของที่จำเป็นต้องนำไปใช้ แต่หากคิดว่ามีมากเกินไปและหนักเกินกว่าที่ตนเองจะแบกได้(กรณีเป็นการเดินป่าที่ไม่มีลูกหาบหรือเพื่อนช่วยแบก) ก็ให้ตัดรายการที่คิดว่ามีความจำเป็นน้อยที่สุดออกไป ซึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญๆสำหรับการท่องป่า ได้แก่

“แม่ตะมาน จ.เชียงใหม่”

1. เต็นท์/เปลสนาม/ฟลายชีท เต็นท์เปรียบเสมือนเป็นบ้านชั่วคราวในระหว่างการเดินทางรอนแรมกลางป่าเขาลำเนาไพร โดยมีหลักอยู่ว่าเต็นท์ยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไรก็ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หากเที่ยวป่าแบบนั่งรถไปถึงจุดตั้งแค้มป์หรือมีลูกหาบช่วยแบกขึ้นเขาก็สามารถนำเต็นท์ขนาดใหญ่แค่ไหนไปด้วยก็ได้ ส่วนการเดินย่ำต๊อกเข้าไปตั้งแค้มป์ในป่าที่ไม่มีลูกหาบ ควรที่จะใช้เต็นท์ขนาด 2 คน หรือ 2-3 คน เพราะมีขนาดไม่ใหญ่โต น้ำหนักพอเหมาะ ใช้พื้นที่กางเต็นท์เพียงเล็กน้อย และกางง่ายเก็บง่ายกว่าเต็นท์ขนาดใหญ่

สำหรับเปลสนาม มีขนาดเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาสะดวก และใช้ง่ายเก็บง่าย เหมาะสำหรับการเดินป่าที่ต้องการความคล่องตัวสูง หรือสภาพพื้นที่ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นไม่เหมาะต่อการกางเต็นท์ หรือเป็นคนชอบนอนคนเดียวไม่ปะปนกับผู้อื่น แต่ข้อเสียของการใช้เปลสนามก็คือ หากผูกเปลไม่ตึงและไม่เคยนอนเปลมาก่อนจะรู้สึกปวดเมื่อยแผ่นหลังและอาจนอนตกเปลได้ง่าย นอกจากนี้ในช่วงหน้าหนาวและหน้าฝนก็จะรู้สึกหนาวเย็นบริเวณแผ่นหลังเป็นพิเศษ เพราะมีลมหนาวและอากาศเย็นชื้นพัดผ่านปะทะแผ่นหลังอยู่ตลอดเวลา

ในช่วงหน้าฝนนอกจากจะมีฟลายชีท(หรือผ้าคลุมเต็นท์)เพื่อใช้คลุมเต็นท์/เปลสนามแล้ว ควรมีฟลายชีทขนาดใหญ่อีกสักผืนใช้ทำเป็นเพิงเสมือนโรงอาหาร เพื่อประกอบหุงหาอาหารและเป็นสถานที่ทานอาหาร

2. ถุงนอน หากเต็นท์เปรียบเสมือนบ้าน ถุงนอนก็เปรียบเสมือนเป็นผ้าห่ม แต่มีขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา และสะดวกในการพกพา ซึ่งภายในถุงนอนจะบรรจุใยสังเคราะห์พิเศษที่เป็นฉนวนเก็บความร้อน จึงช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ถุงนอนแต่ละรุ่นก็จะมีการบรรจุปริมาตรของใยสังเคราะห์ไม่เท่ากัน เพื่อความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่มีอากาศแตกต่างกัน

3. เป้สะพายหลัง ควรเลือกเป้ที่มีโครงใน ซึ่งจะช่วยกระจายน้ำหนักไปทั่วแผ่นหลัง ไม่รู้สึกหนักกดทับบริเวณก้นกบเหมือนเป้ฯที่ไม่มีโครงฯ แผ่นหลังของเป้ฯหนานุ่มป้องกันการกระแทก สำหรับขนาดของเป้ฯนั้นขึ้นอยู่กับสรีระร่างกายของผู้ใช้แต่ละคน ความกว้างของเป้ฯควรพอดีหรือเกินขนาดลำตัวของผู้ใช้เพียงเล็กน้อย เพราะขณะที่เราเดินผ่านสิ่งกีดขวาง เราย่อมนึกถึงขนาดตัวของเราเอง ไม่ได้นึกเผื่อถึงขนาดเป้ฯ ซึ่งบ่อยครั้งที่นักเดินทางได้รับอุบัติเหตุอย่างไม่คาดฝัน ความสูงของเป้ฯเมื่อลองสวมสะพาย ควรมีความสูงไม่เกินต้นคอของผู้ใช้ เพื่อเวลาเงยมองสิ่งใดจะได้สะดวก ไม่ติดขัดหัวเป้ฯ

“ดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่”

4. เสื้อผ้า บางคนอาจจะนำไปใส่วันละชุด แต่ถ้าเป็นนักเดินป่ามืออาชีพจะนำไปเพียงน้อยชุด เพื่อต้องการให้มีน้ำหนักเบาและมีความคล่องตัวสูง เราสามารถแบ่งเสื้อผ้าออกได้เป็น2ประเภท ได้แก่ ชุดเดินป่า และชุดนอน ทั้งนี้ไม่รวมถึงชุดใส่ไปและใส่กลับ ซึ่งเราสามารถฝากเอาไว้ที่หน่วยงานดูแลพื้นที่นั้นๆหรือพาหนะรถยนต์ที่จอดรอรับก็ได้

“สู่น้ำตกปิตุ๊โกร จ.ตาก”

(1) ชุดเดิน ควรเป็นชุดรัดกุมที่ปกปิดทุกส่วนของร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากแมลงและพืชมีพิษ ได้แก่ เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่สวมใส่ได้พอดี ไม่คับไม่หลวม และมีเนื้อผ้าไม่หนาไม่บางจนเกินไป ขอแนะนำไม่ควรสวมใส่ชุดยีนส์ เพราะเป็นเนื้อผ้าแข็งและหนัก ยิ่งหากเป็นช่วงหน้าฝนก็ยิ่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว อนึ่งในกรณีหน้าฝนควรที่จะสวมกางเกงขาสั้นไว้ข้างในอีกชั้นหนึ่งขณะเดินป่า เพื่อป้องกันการเสียดสีของเนื้อผ้าโดยเฉพาะตะเข็บกางเกงกับเนื้ออ่อนๆตรงโคนขา ซึ่งมักจะถูกเสียดสีจนเนื้อถลอกเป็นแผลอักเสบ ทำให้เวลาเดินรู้สึกเจ็บปวดทรมานยิ่งนัก นอกจากนี้ควรมีชุดกันฝนติดตัวไปด้วย แต่ต้องเป็นชุดที่ไม่รุ่มร่าม หากเป็นชุดกันฝนที่แยกเสื้อและกางเกงออกจากกันได้ยิ่งดี

เมื่อหมดภาระการเดินป่าในแต่ละวันควรถอดชุดเดินป่าแขวนผึ่งลมผึ่งแดดไว้ แล้วสวมชุดนอนแทน พอรุ่งเช้าก็สวมใส่ชุดเดินป่าชุดเดิม แต่ควรทำความสะอาดเสียบ้างด้วยการอังไฟไล่ความอับชื้น หรืออาจจะสวมใส่เสื้อตัวใหม่ แต่กางเกงยังตัวเดิมก็ได้

(2) ชุดนอน ควรสวมเสื้อยืดแขนยาวและกางเกงขายาว เพราะสภาพอากาศยามค่ำคืนในป่าของทุกฤดูกาล ย่อมมีอากาศหนาวเย็นอยู่เสมอ สำหรับกางเกงนั้นเป็นไปได้ควรเป็นกางเกงวอร์มได้ก็ยิ่งดี เนื่องจากตะเข็บกางเกงไม่แข็ง เวลานอนจึงหลับสบาย

ที่กล่าวมาทั้งชุดเดินป่าและชุดนอนล้วนแต่เป็นชุดนอก ส่วนชุดในจำพวกกางเกงใน(และเสื้อชั้นในสำหรับผู้หญิง)ไม่นับ แล้วแต่ว่าใครจะขนไปเท่าไร แต่ในความเป็นจริงแล้วเวลานอนก็ไม่ต้องใส่หรอก เพียงสวมชุดนอนสีเข้มและเป็นผ้าเนื้อหนา โดยเฉพาะถ้าเราไม่ถอดให้เห็นซะอย่าง ใครหน้าไหนจะเห็นได้..จริงไหม นอกจากนี้ควรมีผ้าขาวม้าหรือผ้าถุงเพื่อใช้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าหรืออาบน้ำตามลำน้ำติดตัวไปด้วยก็ดี

5. หมวก ถุงมือ และผ้าเช็ดหน้า

(1) หมวกนั้นจริงๆแล้วหมวกแก๊ปทั่วไปหรือหมวกปีกกว้างที่ใช้กันแดด ไม่ใช่อุปกรณ์จำเป็นสักเท่าไรในการเดินป่า แต่หมวกที่ควรมีติดตัวอยู่เสมอก็คือ“หมวกไหมพรม”หรือที่มักเรียกติดปากว่า“ไอ้โม่ง” เป็นหมวกชนิดที่คลุมศีรษะจนถึงคอ โผล่ให้เห็นเพียงแค่ลูกกะตาและจมูกเท่านั้น เหมาะสำหรับการสวมใส่นอนเพื่อช่วยให้ความอบอุ่นเมื่อมีอากาศหนาวเย็นเช่นเดียวกับถุงเท้าและถุงมือ และยังช่วยป้องกันแมลงเข้าหูขณะหลับนอน

 

 

 

(2) ถุงมือ นอกจากช่วยให้ความอบอุ่นแก่มือแล้ว ยังใช้จับภาชนะร้อนๆขณะหุงหาอาหาร ใช้ในการปีนป่ายตามภูเขาหินปูนที่แหลมคม และใช้ขณะเดินลุยป่ารกหรือบริเวณที่มีพืชมีพิษขึ้นอยู่เป็นดงหนาแน่น

“ภูวัว จ.หนองคาย”

(3) ผ้าเช็ดหน้า ควรเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบฟอกที่ยืดหยุ่นได้บ้าง ไม่เป็นผ้าขุยหรือเกิดเป็นเส้นใยเม็ดๆเมื่อซัก และเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีขนาดกว้างยาวราว 35-40 นิ้ว ประโยชน์ของผ้าเช็ดหน้ามีมากมาย นอกจากจะใช้ซับเหงื่อหรือชุบน้ำเช็ดหน้าเช็ดตา และป้องกันฝุ่นแล้ว ยังสามารถใช้เป็นผ้าเอนกประสงค์ เช่น ผ้าพันแผล เข้าเฝือก ฯลฯ

6. รองเท้าเดินป่า และถุงเท้า

(1) รองเท้าเดินป่า ควรมีลักษณะดังนี้

– ควรเป็นรองเท้าที่เคยสวมใส่อยู่บ่อยๆ แต่ต้องไม่เก่าจนใกล้จะขาด

– ควรมีขนาดใหญ่กว่าเท้าของเราเล็กน้อย แต่ต้องไม่หลวมหรือพอดีจนเกินไป

“เก่าไปจนขาด ต้องนั่งเย็บในป่า”

– ควรมีพื้นหรือดอกยางที่มีร่องละเอียดพอควร คือ ไม่หยาบหรือละเอียดจนเกินไป เพราะถ้าพื้นหยาบก็จะเกิดอาการลื่นได้ง่ายขณะเดินตามริมลำน้ำโดยเฉพาะบนก้อนหิน ซึ่งข้อเท้าอาจจะแพลงได้ ส่วนพื้นรองเท้าที่ละเอียดเกินไปนั้นในช่วงหน้าฝนจะมีดินเข้าไปอัดแน่นจนเต็มร่องและทำให้ลื่นล้มได้ง่ายเช่นกัน

– ควรมีน้ำหนักเบา และภายในนุ่มลดแรงกระแทก

โดยปกติรองเท้าเดินป่าที่นิยมกันมากที่สุดก็คือ“รองเท้ากีฬา” เพราะไม่อุดอู้ ถอดหรือสวมใส่ก็ง่าย หากเปียกก็ผิงไฟให้แห้งได้ไว ส่วนเรื่องที่ว่ายี่ห้อไหนดีก็แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนว่าชอบความสวยหรู โก๋เก๋ แพงๆ ยี่ห้อดัง หรือสวมใส่ยี่ห้ออะไรก็ได้ที่แข็งแรงทนทานและมีราคาถูก นอกจากนี้ควรมีรองเท้าแตะหรือรองเท้าฟองน้ำติดตัวไปด้วย ซึ่งหากเป็นแบบมีสายรัดข้อเท้าได้ด้วยก็ยิ่งดี เพื่อไว้ใช้สวมใส่ขณะอยู่แค้มป์ ทำให้สุขภาพของเท้าไม่อุดอู้หรือเกิดเชื้อราที่เกิดจากความอับชื้น และยังเป็นการผ่อนคลายเท้าที่ถูกบีบรัดมาตลอดทั้งวัน รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ในยามฝนตกฟืนเปียกอีกด้วย นั่นคือใช้เป็นเชื้อไฟเพื่อก่อกองไฟ

(2) ถุงเท้า ควรมีถุงเท้าขนาดยาวและเนื้อหนาๆ2คู่เป็นอย่างน้อย คู่แรกเอาไว้ใส่เดินป่าโดยสวมทับปิดปลายขากางเกง บางคนอาจบอกว่าขณะเดินไม่สวมถุงเท้าไม่ได้หรือ? ได้ครับ แถมเท่ด้วย ยิ่งใส่กางเกงขาสั้นด้วยแล้ว ยิ่งเท่ระเบิดเทิดเถิง เพราะจะช่วยทำให้รองเท้าคู่สวยและขาอันเรียวงามของเราดูเด่นสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น แต่หากลองก้มดูข้อเท้าของเรากันสักหน่อยก็จะเห็นเส้นเลือดปูดๆโปนๆอยู่ข้างๆข้อเท้าทั้งด้านในและด้านนอก ซึ่งไม่ใช่เส้นเล็กๆเสียด้วย แล้วขณะเดินป่าที่ไม่ใช่เดินตามท้องถนนในเมือง ย่อมมีอันตรายมากมายสารพัด ไม่ว่าจะเป็นหนามไหน่ ตอไม้หรือแง่หินคมๆ พืชมีพิษ และสัตว์มีพิษ ส่วนที่ต้องสวมถุงเท้าปิดปลายขากางเกงก็เพื่อป้องกันกิ่งไม้หรือสิ่งต่างๆแทงหรือลอดเข้าไปในกางเกงได้ง่าย รวมทั้งป้องกันสัตว์และแมลงมีพิษกัดต่อย สำหรับถุงเท้าคู่ที่สองเอาไว้ใส่นอนเพื่อช่วยป้องกันความหนาวเย็นที่เท้า ซึ่งเท้าหนาๆของเรานี้แหละเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของมนุษย์ นอกเหนือไปจากริมฝีปาก โหนกแก้ม ใบหู ลำคอ และมือ ซึ่งจะรับสัมผัสความหนาวเย็นได้ดีเป็นพิเศษ ส่วนคู่ที่เหลือก็สำรองไว้เผื่อคู่ใดคู่หนึ่งขาด หรือไว้เปลี่ยนสวมใส่คู่ถุงเท้าที่ใช้เดินป่า เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราที่เท้า

7. มีด และเชือก

(1) มีดเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้นิยมการใช้ชีวิตกลางแจ้ง มักจะมีติดตัวอยู่เสมอ ราวกับเป็น“มีดคู่มือ”หรือ“มีดประจำตัว” มีให้เลือกมากมายหลายแบบหลายขนาด แต่หลักสำคัญในการเลือกซื้อมีดเดินป่านั้น มีข้อควรพิจารณาดังนี้

– ควรเป็นมีดที่ใช้งานได้ทุกประเภท เพราะการไปตั้งแค้มป์แต่ละครั้ง เครื่องมือในการช่วยหาฟืน หากิ่งไม้มาทำขาตั้งหม้อสนามหรือทำเพิงที่พักต่างๆ เราก็ต้องใช้มีดสนามหรือมีดเดินป่า ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมากมาย

– ควรเป็นมีดที่มีขนาดกลาง น้ำหนักพอเหมาะที่จะใช้ฟันกิ่งไม้ท่อนไม้ได้ ไม่ควรใช้มีดที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป และมีดที่เรานำติดตัวไปนั้น ควรต้องมีปลอกมีดด้วย

นอกจากนี้นักเดินป่าทุกคนควรมีมีดพับติดตัวไปด้วยเสมอ ซึ่งมีดพับบางรุ่นบางชนิดจะมีอุปกรณ์มากมายซ่อนอยู่ในด้ามมีดนั่นเอง

“น้ำตกปิตุ๊โกร จ.ตาก”

“น้ำตกถ้ำฝุ่น จ.บึงกาฬ”

(2) เชือก ควรมีความเหนียวและแข็งแรงทนทานพอที่จะรับน้ำหนักตัวผู้ใหญ่ได้ และมีความยาวราว 10-20 เมตร เผื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

8. ยาเวชภัณฑ์ การท่องเที่ยวแต่ละครั้งเราไม่อาจจะรู้ได้ว่าจะมีโรคภัยไข้เจ็บเมื่อใด ดังนั้นควรเตรียมหยูกยาไปให้พร้อมซึ่งนอกจากจะมียาสามัญประจำบ้านแล้ว ก็ควรมียาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ยาแก้พิษงู(ปัจจุบันมีผลิตออกมาเป็นเซรุ่มเม็ด) ยาทากันยุงและแมลง ยาแก้แพ้ ยาแก้คัน ยาลดกรดในกระเพาะ ยาขับลม ยาช่วยย่อย ยาเฉพาะโรคประจำตัวของแต่ละคน(ถ้ามี) เกลือแร่แบบซอง และหากมียาชาและเข็มเย็บแผลไปด้วยก็ดี แต่ต้องทำความรู้จักให้ถ่องแท้และใช้เป็น ยาเหล่านี้ควรเก็บไว้ในภาชนะกันชื้นและป้องกันน้ำได้ รวมทั้งอยู่ในที่ที่หยิบฉวยได้ง่าย อาจเป็นกระเป๋าข้างๆเป้ฯหรือกระเป๋าคาด

9. เชื้อเพลิง และไฟฉาย

(1) เชื้อเพลิงในที่นี้ ได้แก่ ไฟแช็คแก๊ส ไม้ขีดไฟ เทียนไข ขี้ไต้ หรือเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อกองไฟเพื่อหุงหาอาหาร ให้ความสว่าง ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย รวมทั้งยังช่วยป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้ย่างกรายเข้ามาใกล้

(2) ไฟฉาย ควรเป็นขนาดที่พอเหมาะ ไม่เล็กหรือใหญ่ทะเล่อทะล่าจนเกินไป มีแสงส่องสว่างได้กว้างไกล และควรมีอะไหล่สำหรับหลอดไฟฉายและถ่านไฟฉายสำรองติดตัวไปด้วย

10. เข็มทิศ ไม่จำเป็นต้องเป็นเข็มทิศขนาดใหญ่แบบทหารใช้กัน ขอเพียงมันสามารถบอกทิศเหนือได้อย่างถูกต้องก็เพียงพอแล้ว

11. หม้อสนาม ใช้ในการหุงหาอาหาร ไม่ว่าจะเป็นหุงข้าว แกง ต้ม หรือผัด มีขนาดกะทัดรัด และสะดวกต่อการพกพา ปกติหุงข้าวหม้อสนาม 1 ใบ(เต็มหม้อ) สามารถใช้ทานได้ประมาณ 4-6 คน

“โหล่นแต้ จ.เลย”

12. อาหาร การจะท่องเที่ยวให้สนุกนั้นท้องของเราก็ต้องอิ่มด้วย ดั่งคำกล่าวที่ว่า“กองทัพเดินด้วยท้อง” อาหารจะมีจำนวนมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ร่วมเดินทางและระยะเวลาของการท่องป่าในครั้งนั้น ทั้งนี้ควรคำนึงถึงเรื่องน้ำหนักของอาหาร และตรวจสอบข้อมูลดูว่าพื้นที่นั้นมีลูกหาบให้ว่าจ้างช่วยแบกสัมภาระได้หรือไม่

– อาหารแห้ง เช่น หมูแห้ง เนื้อแห้ง ปลาแห้ง กุนเชียง บะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น อาหารประเภทนี้สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่ต้องกลัวเสียหรือเน่า

– อาหารกระป๋อง มีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบแกง ผัด อบ หรืออย่างแห้ง ปัจจุบันได้มีการผลิตข้าวกระป๋องสำเร็จรูปออกมาขายอีกด้วย เวลาซื้อก็ควรสำรวจดูว่าหมดอายุเมื่อใด แต่การเลือกอาหารประเภทนี้เข้าป่าควรเลือกเป็นตัวสุดท้าย เพราะมีน้ำหนักมากกว่าชนิดใด และยังก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ หากนักท่องเที่ยวไม่ช่วยขนซากกระป๋องออกมาทิ้งลงในภาชนะที่ทางพื้นที่นั้นได้จัดไว้ต่างหาก

– อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ และผักสด เป็นต้น อาหารประเภทนี้เก็บไว้ไม่ได้นาน แต่ถ้าต้องการนำเข้าป่าก็จะต้องมีเทคนิคที่ทำให้อาหารอยู่ได้นาน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน อาทิเช่น หากเป็นเนื้อสัตว์ทั้งก้อนก็ควรรมควัน หรือย่าง แต่หากเป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกหั่นชิ้นเล็กๆก็ให้คั่วหรือรวนให้สุก ส่วนผักสดก็ควรเลือกผักที่เหี่ยวเฉาได้ค่อนข้างช้า เป็นต้น ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการนำอาหารสดเข้าป่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และยังเสียเวลาในการประกอบอาหารอีกด้วย

13. นกหวีด และถุงพลาสติก

(1) นกหวีด บางคนอาจจะหัวเราะเยาะแกมขบขันและคิดว่ามันจะมีประโยชน์อะไร? ทั้งๆที่มันนี้แหละคือสิ่งที่เราจะใช้ขอความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิเช่น หลงป่า ได้รับอุบัติเหตุจนเดินไม่ได้ เป็นต้น นกหวีดมีหลายแบบหลายชนิด จะเลือกแบบใดก็ได้ ขอให้มันสามารถทำหน้าที่ส่งเสียงดังปรี๊ดๆลั่นป่าให้ได้ก็แล้วกัน

(2) ถุงพลาสติก เพื่อไว้ใช้ห่อเสื้อผ้าและสัมภาระที่หากถูกเปียกน้ำแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ไม่ว่าจะเป็นการท่องป่าในฤดูกาลใด เพราะไม่มีใครยืนยันนั่งยันได้ว่าจะไม่มีฝนตกในฤดูหนาวและฤดูร้อน หรือขณะเดินข้ามลำน้ำเราอาจจะลื่นหกล้มจนทำให้สัมภาระภายในเป้ฯเปียกน้ำก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น ใช้เป็นโคมไฟเทียมเพื่อป้องกันลมพัดดับ และยังช่วยให้เปลวเทียนส่องแสงสว่างมากขึ้น หรือใช้บรรจุน้ำจากลำห้วยไปยังแค้มป์ที่พัก ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำอยู่เลย เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมีจาน ช้อน แก้วน้ำ และของใช้ส่วนตัวประเภทสบู่ ยาสระผม แปรงสีฟัน และยาสีฟัน ซึ่งคงไม่ต้องบอกหรอกนะว่าจะต้องนำไปด้วยหรือไม่ ที่สำคัญอุปกรณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ต้องอยู่บนหลักที่ว่า“เบา คล่องตัว และมีประโยชน์”

7. การเลือกทำเลที่ตั้งแค้มป์ และการตั้งแค้มป์
ทุกครั้งก่อนตั้งแค้มป์ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยทั่วไปนักเดินป่าผู้ชำนาญไพรจะพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้ เพื่อสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมาท่ามกลางธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ได้แก่

1. ควรเลือกสถานที่ตั้งแค้มป์ไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่ใช่หอบสัมภาระเดินทะเล่อทะล่าไปโดยไม่มีจุดหมาย

2. ควรทำการขออนุญาตเจ้าของพื้นที่นั้นๆเสียก่อนที่จะเข้าไปตั้งแค้มป์ จงอย่าคิดว่าขอนอนสักคืนสองคืนเท่านั้น แล้วจะต้องไปขออนุญาตให้เสียเวลาทำไม ควรระลึกอยู่เสมอว่า“แปลกที่แปลกทางแล้ว อย่าริทำตัวเป็นคนแปลกหน้า”

3. หาข้อมูลเกี่ยวกับบริเวณสถานที่ที่เราจะไปตั้งแค้มป์จากชาวบ้านแถบนั้นหรือเจ้าของพื้นที่นั้นๆว่าจะมีอันตรายจากธรรมชาติและสัตว์ป่าหรือไม่?

“ดอยกิ่วลม อุทยานฯฟ้าห่มปก จ.เชียงใหม่”

4. ควรฝึกหัดกางเต็นท์และเก็บเต็นท์ให้ชำนาญเสียก่อนที่จะไปท่องป่า มิฉะนั้นอาจจะเสียเวลาพอดูโดยใช่เหตุ

5. ควรตั้งแค้มป์ก่อนพระอาทิตย์ตกดินอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลาตั้งแค้มป์และตระเตรียมสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะมืด เพราะท่ามกลางความมืดมิดแม้ว่าจะมีไฟฉายก็ตาม อาจจะทำให้เราทำอะไรได้ค่อนข้างลำบากและสับสนวุ่นวายไม่น้อย โดยเฉพาะนักเดินป่ามือใหม่

6. ควรสังเกตพื้นที่ที่จะตั้งแค้มป์ว่าเป็นทางเดินของสัตว์ป่าหรือที่เรียกว่า“ด่านสัตว์”หรือไม่ โดยสังเกตได้จากรอยเท้าของสัตว์ที่ย่ำไปย่ำมาในบริเวณนั้น หากเห็นว่าไม่ปลอดภัยก็ควรย้ายทำเลที่ตั้งแค้มป์เสียใหม่

7. ควรตั้งแค้มป์ในบริเวณที่มีแสงแดดยามเช้าส่องเข้ามายังบริเวณแค้มป์ได้ทั่วถึง

8. ควรตั้งแค้มป์บริเวณที่มีพื้นราบเรียบปราศจากโขดหินระเกะระกะหรือมีตอไม้ แต่หากจำเป็นต้องตั้งแค้มป์ในบริเวณดังกล่าวก็ควรที่จะรองพื้นด้วยใบไม้ใบหญ้าที่สดๆ แล้วกางเต็นท์ทับอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เวลานอนไม่รู้สึกเจ็บหลัง สำหรับใบไม้ที่นำมาปูรองให้สังเกตดูว่าเป็นใบไม้ที่มีพิษหรือไม่ โดยสังเกตได้ง่ายๆว่าใบไม้มีพิษแทบทุกชนิดจะมีขนเล็กๆปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ

9. ควรดูทางหนีทีไล่รอบๆแค้มป์ เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินจะได้หลบหนีภัยได้อย่างถูกทิศทางและปลอดภัย ซึ่งเป็นไปได้ควรกำหนดสถานที่ที่จะหลบหนีภัยไว้อย่างชัดเจน และทุกคนในกลุ่มได้ทราบกันถ้วนหน้า

10. ก่อนกางเต็นท์ต้องตรวจดูทิศทางลมเสียก่อนว่าลมพัดจากทิศไหนไปทิศไหน จากนั้นจึงกางเต็นท์บริเวณต้นลม แล้วก่อกองไฟเพื่อประกอบอาหารและเพื่อความอบอุ่นแก่ร่างกายบริเวณตรงกลาง ส่วนห้องส้วมที่เราสร้างขึ้นหรือห้องส้วมตามธรรมชาติที่เรียกว่า“ถ่ายทุกข์ตามทุ่ง” ควรอยู่ใต้ลม เพื่อป้องกันควันไฟและกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาจากการปล่อยทุกข์รบกวนบริเวณแค้มป์จนทำให้เรานอนไม่หลับ อนึ่งหากตั้งแค้มป์ตามลานโล่งแจ้งบนภูเขาสูงก็ต้องทำใจกับควันไฟและกลิ่นเหม็น เพราะลมจะมีการแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

11. ก่อนตั้งแค้มป์ควรที่จะปัดกวาดใบไม้ใบหญ้าที่เรี่ยราดอยู่ตามพื้นออกไปสุมกองไฟให้หมด เพราะใบไม้เหล่านั้นอาจเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษร้ายแรงบางชนิด

“ดอยผาโง้ม อุทยานฯขุนแจ”

12. ควรแบ่งงานให้เพื่อนๆในกลุ่มได้มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น คนนี้มีหน้าที่กางเต็นท์ คนนั้นมีหน้าที่หาฟืน และคนนู้นมีหน้าที่หุงหาอาหาร เป็นต้น เพื่อทำให้การตั้งแค้มป์เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีระบบ

13. การก่อกองไฟนั้นควรให้อยู่ห่างจากเต็นท์พอควร เพราะลมอาจพัดสะเก็ดลูกไฟปลิวว่อนจนถูกเต็นท์และเกิดเป็นรูโหว่ขึ้นมาได้ ซึ่งดีไม่ดีอาจจะกลายเป็นการวางเพลิงแค้มป์ของตัวเองเสียอีก

14. ควรสำรองฟืนไว้ให้มากพอสำหรับการสุมไฟตลอดคืน โดยเลือกเนื้อไม้แข็งจะติดไฟได้ดีกว่าไม้เนื้ออ่อน ส่วนการหาฟืนนั้นควรเลือกเฉพาะไม้ล้มและตายแล้ว ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าพื้นที่ที่เราเข้าไปตั้งแค้มป์อนุญาตให้ก่อกองไฟได้หรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ส่วนใหญ่กำหนดห้ามก่อกองไฟอย่างเด็ดขาด ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปตั้งแค้มป์จำต้องเตรียมอุปกรณ์การหุงต้มไปให้พร้อม อาทิเช่น เตาแก๊สปิกนิก เป็นต้น

15. หากบริเวณกางเต็นท์ สงสัยว่าจะมีแมลงมีพิษและสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษ ควรนำขี้เถ้าแห้งจากกองไฟที่คลายร้อนแล้ว มาโรยรอบๆเต็นท์แต่ละหลัง

“ดอยลังกาน้อย อุทยานฯแม่ตะไคร้”

16. ภาชนะที่ใส่น้ำดื่มควรมีฝาปิดมิดชิด

17. หากจำต้องปลดทุกข์ตามท้องทุ่งหรือธรรมชาติ ควรเลือกทำเลที่ห่างจากลำห้วยลำธาร และก่อนถ่าย..ควรใช้สิ่งใดก็ได้ขุดหลุมเพื่อถ่ายทุกข์ จากนั้นเมื่อเสร็จกิจธุระแล้วจึงกลบหลุมให้มิดชิด พร้อมทั้งทำสัญลักษณ์เหนือหลุม เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้ว่าบริเวณนี้เป็นที่ปลดทุกข์

18. ก่อนหลับนอนควรเก็บสิ่งของต่างๆที่วางระเกะระกะให้เรียบร้อย เผื่อตกดึกมีเพื่อนคนใดเดินออกมาเพื่อทำธุระส่วนตัว จะได้ไม่เดินสะดุดหกล้มจนได้รับอันตรายบาดเจ็บ

19. จรรยาจรรยาบรรณข้อสุดท้ายในการตั้งแค้มป์ คือ การไม่ทำให้คนอื่นเขาด่าสรรเสริญตามหลัง อาทิเช่น ไม่เที่ยวถ่ายเรี่ยราดจนเป็นพาหะแพร่เชื้อร้ายใส่ธรรมชาติ ไม่ทิ้งขยะจนก่อให้เกิดเป็นภาวะมลพิษ เป็นต้น ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่จะย้ายแค้มป์หรือเดินทางออกจากป่าจะต้องทำความสะอาดบริเวณแค้มป์อยู่เสมอ และนำขยะทิ้งลงในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ แต่ถ้าป่านั้นไม่มีภาชนะดังกล่าวก็ต้องนำออกจากป่ามาด้วย เพื่อช่วยกันรักษาธรรมชาติให้คงอยู่คู่กับเราตลอดไป

ข้อควรระวังเป็นพิเศษในการตั้งแค้มป์ฤดูฝน ได้แก่

– อย่าตั้งแค้มป์ในที่โล่งจนเกินไป เนื่องจากในช่วงฤดูกาลนี้จะมีลมค่อนข้างแรง และอาจจะมีพายุอีกด้วย แต่กรณีที่จำเป็นจริงๆก็ควรกางเต็นท์ให้มั่นคงและแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยตัดไม้ที่มีขนาดพอเหมาะมาทำเป็นสมอบกเสริมขึ้น แล้วนำเชือกมาผูกยึดระหว่างสมอบกกับตัวเต็นท์ให้แข็งแรงเพิ่มขึ้น หรืออาจจะใช้ก้อนหินที่มีน้ำหนักพอเหมาะมาทำเป็นสมอบกเสริมก็ได้

“พายุฤดูร้อนมักมีลูกเห็บตกลงมาเสมอ”

– อย่าตั้งแค้มป์ใต้ต้นไม้ซึ่งขึ้นอยู่โดดเดี่ยวหรือใต้ต้นไม้แห้งที่ตายซาก เพราะต้นไม้ที่ขึ้นโดดเดี่ยวจะเป็นสื่อชนวนให้เกิดฟ้าผ่าได้ง่าย ส่วนต้นไม้แห้งที่ตายซากก็อาจจะถูกลมแรงพัดจนทำให้กิ่งหรือลำต้นหักโค่นลงมาและได้รับอันตรายได้

– อย่าตั้งแค้มป์ตามชายเนินเขาหรือไหล่เขา จริงอยู่ที่น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำในลักษณะที่ผ่านไปเลย แต่หากเป็นน้ำป่าไหลบ่าลงมารุนแรงอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

– อย่าตั้งแค้มป์ใกล้ถ้ำ หากจำเป็นก็ต้องตรวจร่องรอยอย่างละเอียดว่าเป็นแหล่งหลบพักอาศัยของสัตว์ป่าที่หนีฝนเข้าไปในถ้ำหรือไม่

– อย่าตั้งแค้มป์ในบริเวณที่มีหญ้ารกหรือมีน้ำขังเฉอะแฉะ เพราะมักเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงและสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษบางชนิด

– อย่าตั้งแค้มป์ใกล้หนองบึงที่มีลักษณะเป็นน้ำนิ่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีร่องรอยปลักโคลนของสัตว์ป่าต่างๆยิ่งควรหลีกเลี่ยง เพราะมันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไข้มาลาเรียมาสู่ตัวเรา

– การตั้งแค้มป์ตามดงไม้ทึบ ควรเลือกบริเวณต้นไม้เตี้ยๆและอยู่ให้ห่างจากต้นไม้สูงเอาไว้ โดยกะระยะว่าจะปลอดภัยกรณีที่มันเกิดล้มขึ้นมาเพราะฟ้าผ่าหรือลมพัดก็ตามแต่

“ลานภูสอยดาว”

– การตั้งแค้มป์ใกล้แหล่งน้ำนับว่าเป็นสิ่งดี แต่ควรที่จะตั้งแค้มป์บนตลิ่งที่สูงกว่าระดับน้ำในระยะที่ปลอดภัย(โดยดูจากร่องรอยเก่าของระดับน้ำที่สูงที่สุด) เพื่อป้องกันน้ำป่าที่หลากไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

– ควรขุดร่องน้ำรอบๆเต็นท์เพื่อป้องกันสายฝนไหลผ่านใต้เต็นท์ ซึ่งจะทำให้เกิดความชื้นที่พื้นเต็นท์ และซึมเข้าสู่เต็นท์จนทำให้สัมภาระและตัวเราเปียกได้ หรืออาจจะแก้ไขด้วยการใช้ผ้ายางหรือผ้าพลาสติกกันน้ำปูพื้น แล้วกางเต็นท์ทับอีกชั้นหนึ่ง

– ควรเลือกที่พักภายใต้โขดหินที่เงื้อมหรือยื่นออกมา เพราะมันสามารถป้องกันกิ่งไม้ที่ตกหล่น ต้นไม้โค่นล้ม ลมพายุที่พัดแรง และสายฝนที่ชุ่มฉ่ำได้เป็นอย่างดี

ข้อควรระวังเป็นพิเศษในการตั้งแค้มป์ฤดูร้อน ได้แก่

– อย่าตั้งแค้มป์ตามลาดเขาหรือที่มีทุ่งหญ้าแห้ง เพราะในช่วงฤดูกาลนี้จะเกิดไฟไหม้ป่าได้ง่าย แต่ควรหาที่ตั้งแค้มป์ในพื้นที่ที่ไฟป่าได้เผาผลาญไปแล้ว จึงจะปลอดภัยที่สุด

– อย่าตั้งแค้มป์ในบริเวณที่ไฟป่ายังไม่ได้เผา เพราะบริเวณนั้นอาจจะมีใบไม้เน่าที่ทับถมกันอยู่เป็นพะเนิน ซึ่งนอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานทีมีพิษร้ายแรงแล้ว ซากใบไม้เน่ายังจะส่งกลิ่นและแก๊สเหม็นอบอวลเวียนหัวอีกด้วย

“ไฟป่าบนสันดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่”

– อย่าตั้งแค้มป์ในลำธารที่แม้ว่าขณะนั้นจะแห้งขอดแล้วก็ตามอย่างเด็ดขาด เพราะเราไม่สามารถจะคาดการณ์ได้ว่าจะไม่มีฝนตกในช่วงหน้าร้อนหรือหน้าหนาวอย่าง 100% หากเกิดฝนตกขึ้นมา น้ำป่าก็จะไหลบ่าลงมาในลำธารจนเต็มไปหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรระลึกอยู่เสมอว่า“ลำธารเป็นที่นอนของน้ำ หาใช่ของคนไม่”

“ป่าสันยาวเมืองคอง จ.เชียงใหม่”

8. ก่อนเดินป่า

ก่อนเดินป่า ควรสอบถามผู้นำทางเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศของการเดินทาง สภาพป่า และจุดหมายปลายทางของวันนั้นๆ รวมทั้งระยะเวลาในการเดินทาง จากนั้นก่อนจะเริ่มเดินป่าประมาณ 30 นาที ควรดื่มน้ำให้อิ่ม เติมน้ำให้เต็มกระติกน้ำสนาม แบ่งอาหารสำเร็จรูปพร้อมหยูกยาและอุปกรณ์การยังชีพในป่าแจกจ่ายให้ทุกคนติดตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีลูกหาบหรือไม่ก็ตาม เผื่อกรณีเกิดการพลัดหลงกลางป่า และที่สำคัญควรทำความรู้จักกับกฎ 2 ข้อ ของการเดินป่า ได้แก่

1. ตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นการเรียนรู้มาจากสัตว์ป่าที่สามารถป้องกันตนเองได้ ด้วยความตื่นตัวฉับไว แต่จงจำไว้ว่าเป็นการตื่นตัว ไม่ใช่กระต่ายตื่นตูมหรือหวาดระแวงจนเกินเหตุ และควรฝึกสายตาให้ไวในการมองและจดจำ ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

(1) การมองแบบกว้างๆ เป็นการมองรอบๆตัวเพื่อจดจำสภาพทั่วๆไปของป่าบริเวณนั้น เช่น ลักษณะของภูเขา ลักษณะของแม่น้ำลำธาร และทิศทางของแนวเส้นทางเดินป่า เป็นต้น

(2) การมองเฉพาะจุด เป็นการมองแบบพิจารณายังจุดเด่นๆที่น่าสนใจ เช่น ไม้ยืนต้นที่มีลักษณะพิเศษ ยอดเขาหรือเสาหินหรือก้อนหินที่มีรูปร่างแปลกตา หน้าผาที่มีร่องรอยดินถล่มลงมา ทิศทางการไหลของสายน้ำ รอยเท้า หรือมูลสัตว์ป่าที่ปรากฏอยู่บนพื้น จุดทิศทางที่เรากำลังจะมุ่งไป เป็นต้น

2. รักษาความเงียบ ขณะเดินป่าต้องมีความระมัดระวังอยู่เสมอ จึงไม่ควรส่งเสียงดัง หากจำเป็นก็ขอให้เป็นเสียงที่เบาที่สุดและน้อยครั้งที่สุด เพราะการส่งเสียงดังจะทำให้เราพบเห็นสัตว์ป่าได้ยาก เป็นการรบกวนคณะอื่น และเป็นการกลบเสียงนกและสัตว์ป่าซึ่งจะร้องเตือนให้เราได้รับรู้ถึงภัยอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น

อาจกล่าวสรุปได้ว่าขณะเดินป่าควรใช้ประสาททั้งหมดในการจดจ่ออยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก และผิวหนัง

มีข้อควรพึงปฏิบัติ ดังนี้

1. ควรใช้เส้นทางเดินที่ชัดเจน บางครั้งเราอาจพบทางเดินเส้นเก่าหรือเลิกราใช้ไปแล้วซึ่งมีวัชพืชขึ้นปกคลุมรกเรื้อ เราก็ควรเสียเวลาหาทางเดินเส้นใหม่ที่ชัดเจน ดีกว่าที่จะเดินลุยแหวกเข้าไป เพราะอาจได้รับอันตรายได้ อีกทั้งทางเดินเส้นใหม่มักอยู่ห่างจากเส้นเก่าเพียงเล็กน้อย บ้างก็ขนานกัน

2. ควรเดินด้วยความเร็วสม่ำเสมอ พร้อมๆกับใช้สายตาตรวจดูสภาพแวดล้อมรอบๆตัวในลักษณะการมองแบบกว้างและการมองเฉพาะจุด ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาเดินตามคนข้างหน้าอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเดินป่า นานๆครั้งก็หันกลับไปมองข้างหลังสักครั้งหนึ่งเพื่อมองทิศทางและลักษณะภูมิประเทศที่ผ่านมา และดูว่าเพื่อนๆเดินตามมากันครบทุกคนหรือไม่ รวมทั้งต้องตรวจสอบทิศทางอยู่เสมอว่าเราเดินมาถูกทางที่จะไปเป้าหมายข้างหน้าหรือไม่

3. การเดินป่าเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะควรเดินเป็นแถวเรียงเดี่ยว และทิ้งระยะห่างกันราวช่วงตัว เพื่อป้องกันกิ่งไม้น้อยใหญ่ตามป่ารกที่คนข้างหน้าเดินแหวกแล้วปล่อยดีดกลับตีโดนใส่คนข้างหลังที่ตามมาจนได้รับบาดเจ็บได้

4. เมื่อพบสิ่งกีดขวาง ควรเดินอ้อม อย่าใช้กำลังบุกฝ่าฟันออกไป เพื่อถนอมกำลังเอาไว้ให้นานที่สุด

5. อย่าเดินชนหรือกระแทกต้นไม้แห้งที่ยืนตายซาก เพราะอาจทำให้กิ่งไม้ผุๆที่อยู่ข้างบนหักหล่นลงมาเป็นอันตรายได้

6. อย่าเหยียบหรือนั่งลงบนขอนไม้ผุ เพราะมักเป็นที่อยู่อาศัยของเห็บ มด แมงป่อง และงู

7. ขณะเดินตามลำห้วยหรือลานหินที่ลื่นๆจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และไม่ควรถอดรองเท้าเพื่อเดินเท้าเปล่าอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เท้าของเราได้รับบาดเจ็บได้ ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งสำหรับการเดินทาง

8. การเดินข้ามลำน้ำลำห้วยควรหาจุดข้ามที่แคบที่สุด ระดับน้ำไม่ลึก ไม่มีสิ่งกีดขวางตามลำน้ำ และไม่อยู่เหนือน้ำตกใหญ่ จากนั้นจึงหาจุดขึ้น ณ ฝั่งตรงข้ามว่ามีความลาดชันและยากง่ายแค่ไหน ปลอดภัยหรือไม่ เมื่อข้ามไปแล้วมีทางเดินต่อไปสะดวกหรือไม่ และถูกทิศทางตามจุดหมายของเราหรือเปล่า กรณีจำเป็นต้องเดินข้ามลำน้ำที่ค่อนข้างกว้างและมีกระแสน้ำเชี่ยว ควรใช้ปลายเชือกด้านหนึ่งผูกกับต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงเอาไว้ แล้วปลายเชือกอีกด้านหนึ่งก็ให้ผู้ที่แข็งแรงและว่ายน้ำเป็น นำไปผูกขึงข้ามลำธารไว้กับต้นไม้ใหญ่ฝั่งตรงข้าม โดยขณะข้ามให้ใช้เชือกผูกเอวหรือบริเวณรักแร้เอาไว้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อนๆจะได้ช่วยฉุดรั้งขึ้นมาได้ เมื่อผูกเชือกขึงเสร็จเรียบร้อยก็ให้นำสัมภาระข้ามไปก่อน แล้วจึงทยอยข้ามกันไปทีละคู่ๆระหว่างผู้ที่ว่ายน้ำเป็นกับไม่เป็นเพื่อสามารถช่วยเหลือดูแลกันได้ โดยให้เดินจับเชือกพยุงตัวไปทีละก้าวๆ ทั้งนี้จะต้องอยู่ด้านหลังของเชือกที่กระแสน้ำพัดมา และทำตัวเฉียงหรือหันด้านข้างให้กระแสน้ำเพื่อลดแรงเสียดทานจากสายน้ำ

“ห้วยชะแนน จ.บึงกาฬ”

9. การเดินขึ้นลงตามทางที่ลาดชันหรือเดินขึ้นเขาลงเขา ควรเดินสลับฟันปลาไปมา อย่าเดินขึ้นลงตรงๆ เพื่อลดความชันและแรงโน้มถ่วงของโลก และทุกย่างก้าวควรเดินแบบย่อเข่าเล็กน้อยเพื่อให้กล้ามเนื้อขามีความยืดหยุ่น โดยให้พื้นเท้าที่ก้าวออกไปสัมผัสกับพื้นดินอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักตัวเราและสัมภาระที่แบกมา หากพื้นที่ดังกล่าวมีก้อนหินน้อยใหญ่มากมาย ควรระมัดระวังการเดินที่จะทำให้ก้อนหินร่วงหล่นไปโดนคนข้างหลังที่กำลังเดินตามมา และหากจำเป็นต้องเดินบนก้อนหินก็ต้องตรวจสอบดูว่าก้อนหินนั้นโยกคลอนหรือไม่ และรับน้ำหนักเราได้หรือเปล่า อนึ่งการเดินขึ้นเขาควรเดินในลักษณะโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย หากจะล้มก็ให้รีบทิ้งตัวนอนราบกับพื้น และการเดินลงเขาควรเดินตัวตรงหรือแอ่นไปข้างหลังเล็กน้อย หากจะล้มก็ให้รีบทิ้งตัวนั่งหรือนอนหงายกับพื้น เพื่อป้องกันการกลิ้งไถลตกเขา

“พักเหนื่อย ก่อนเดินขึ้นสู่ยอดภูเมี่ยง จ.อุตรดิตถ์”

10. ควรเดินป่าแบบสบายๆ โดยเดินราว 1 ชั่วโมง แล้วหยุดพัก 5-10 นาที ทั้งนี้แล้วแต่ความยากง่ายของการเดินทางในครั้งนั้นๆ

11. หากเป็นการหยุดพักชั่วครู่ซึ่งยังไม่ถึงจุดกำหนดพักระหว่างทาง ควรยืนพักหรือยืนพิงต้นไม้ใหญ่ๆที่สามารถรองรับน้ำหนักเราได้ในละแวกนั้น แต่ต้องตรวจดูว่าไม่เป็นต้นไม้มีพิษหรือมีสัตว์มีพิษอาศัยอยู่ เหตุที่ไม่ควรนั่งพักก็เพราะว่าจะทำให้แข้งขาอ่อนล้าและรู้สึกปวดเมื่อยมากขึ้นเมื่อต้องเดินช่วงต่อไป สำหรับการหยุดพักใหญ่ที่เดินมานานแล้ว ควรนั่งพักในท่าสบายๆด้วยการเหยียดแข้งเหยียดขาพร้อมทั้งสำรวจตามร่างกายว่ามีบาดแผลและรอยขีดข่วนต่างๆหรือไม่ หากมีก็จัดการทำแผลและใส่ยาให้เรียบร้อย

 

12. หากเดินหลงทางควรหยุดพักและทำจิตใจให้สงบ แล้วเริ่มทบทวนความจำถึงจุดเริ่มต้นหรือจุดที่หลง โดยเฉพาะบริเวณทางแยกที่ผ่านมา จากนั้นเดินย้อนกลับไปยังจุดนั้นใหม่พร้อมกับดูรอบๆตัวว่าใช่เป็นทางที่เราเดินผ่านมาหรือไม่ จนกระทั่งถึงทางแยกที่เราคิดว่าหลงจากจุดนี้ ก็ดูว่าอีกแยกหนึ่งมีร่องรอยเพื่อนๆเดินไปหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจก็ให้นั่งรออยู่ที่เดิมและก่อกองไฟ

13. ไม่ควรเดินทางในเวลากลางคืน เพราะอาจได้รับอันตรายจากสัตว์ป่า หลงป่าได้ง่าย และการที่เรามองเห็นไม่ชัดเจนเท่ากลางวัน ย่อมอาจเดินตกเขา ตกหลุม หรือชนสิ่งใดจนได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

14. การดื่มน้ำแก้กระหายขณะเดินทาง ควรจิบน้ำทีละนิดๆ อย่ารีบดื่มโดยเร็วทันที เพราะอาจทำให้สำลักได้ง่ายๆ และควรดื่มน้ำเพียงเล็กน้อยหากยังไม่ถึงจุดตั้งแค้มป์ เนื่องจากการดื่มน้ำมากๆไม่ได้ ช่วยให้หายเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ยิ่งจะทำให้เกิดการจุกเสียดแน่นท้อง แถมน้ำที่เราดื่มเข้าไปจะไหลลงสู่เท้าขณะเดิน เป็นผลให้เกิดเม็ดหรือตุ่มน้ำใสๆตามเท้า และหากตุ่มน้ำใสๆแตกก็จะทำให้เนื้อบริเวณนั้นฉีกขาดเป็นแผลอักเสบ ซึ่งจะรู้สึกเจ็บปวดทรมานมาก นักเดินป่ามักเรียกอาการเช่นนี้ว่า“ยางแตก”