เตรียมตัวไปทะเล

เมืองไทยมีชายฝั่งยาวกว่า 2,500 กม. และมีเกาะน้อยใหญ่กว่า 500 เกาะ โดยสามารถแบ่งเขตน่านน้ำออกได้เป็น 3 ภูมิภาค คือ อ่าวไทยตอนบนหรือแถบชายทะเลภาคตะวันออก อ่าวไทยตอนล่างหรือหรือแถบชายทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออก และทะเลอันดามันหรือแถบชายทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะมีฤดูกาลท่องเที่ยวต่างกัน ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่าน ได้แก่ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นตัวกำหนด ดังนั้นในระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายน-ปลายเดือนเมษายนจึงเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ส่วนในช่วงเดือนมีนาคม-ปลายเดือนพฤศจิกายนจะเป็นเวลาสำหรับท่องเที่ยวทะเลอ่าวไทยตอนล่าง จึงอาจกล่าวได้ว่าเราสามารถที่จะท่องเที่ยวน่านน้ำไทยได้ตลอดทั้งปี โดยหมุนเวียนสลับกันไปตามภูมิภาคต่างๆของท้องทะเล แต่ทั้งนี้จะมีช่วงที่มีอากาศดีทั้งสองฟากฝั่งตรงกันอยู่ 2 เดือน ก็คือ“เดือนมีนาคม-เดือนเมษายน” นับเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะท่องเที่ยวทางทะเลได้ทั่วน่านน้ำไทยอย่างสุขสันต์หรรษา

“อ่าวเกือกม้า เกาะ8 จ.พังงา”

1. การเตรียมตัวก่อนการเดินทาง

ควรยึดหลัก 3 ประการเช่นเดียวกับ“เตรียมตัวท่องไพร” คือ “การหาข้อมูล การวางแผน และการเตรียมตัวเดินทาง” และหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุด เช่น วันปีใหม่ วันตรุษจีน และวันสงกรานต์ เป็นต้น เพราะในช่วงดังกล่าวจะมีผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมหรือได้รับการยอมรับว่ามีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะตะรุเตา เป็นต้น มิฉะนั้นอาจทำให้ผู้ท่องเที่ยวไม่ได้สัมผัสธรรมชาติอันงดงามได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง รวมทั้งอาจไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร เช่น มีผู้จองใช้บ้านพักเต็มทุกหลัง สถานที่ตั้งแค้มป์มีเต็นท์กางอยู่แน่นจนแทบจะเกยกัน เรือซึ่งเป็นพาหนะการเดินทางไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาหารไม่เพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยว เป็นต้น

2. หลักการเตรียมอุปกรณ์ท่องทะเล

หลักการนั้นมีอยู่ง่ายๆ คือ “อยากขนเอาอะไรไปก็ขนไปเท่าที่กำลังของเราจะขนไปได้” ใครจะว่าเราเป็นพวกบ้าหอบฟางก็ไม่ต้องสนใจ ที่สำคัญควรยึดคติที่ว่า“เหลือไว้ดีกว่าขาด” เพราะการท่องเที่ยวประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องแบกสัมภาระให้เหนื่อยยากแต่อย่างใด เพียงนั่งรถไปลงเรือที่ท่าเรือ แล้วออกเดินทางไปยังเกาะแก่งที่ต้องการ แค่นี้เราก็ถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการแล้ว
“เกาะสุรินทร์เหนือ จ.พังงา”

3. อุปกรณ์ท่องทะเล

อาจแบ่งออกเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันกับอุปกรณ์ที่เป็นของใช้ส่วนตัว จึงควรมีการทำรายการสิ่งของที่จำเป็นและต้องนำไปใช้

“เกาะสุรินทร์เหนือ จ.พังงา”

1. เต็นท์/เปลสนาม/ฟลายชีท มีลักษณะเช่นเดียวกับเต็นท์ที่นำไปเดินป่า โดยจะใช้เต็นท์ขนาดใหญ่แค่ไหนก็ได้ แต่หากเป็นขนาดเล็กจะมีความคล่องตัวมากกว่า และหากเป็นเต็นท์ที่ลมสามารถถ่ายเทเข้าออกได้สะดวกก็จะดียิ่งขึ้น ส่วนใหญ่การกางเต็นท์ตามชายหาดมักมีปัญหาในเรื่องสมอบกที่ปักพื้น เพื่อยึดตัวเต็นท์ให้มีความแข็งแรงทนทานต่อแรงลม เนื่องจากพื้นทรายมีความยืดหยุ่นสูงในการปักสมอบก

สำหรับเปลสนามก็มีลักษณะเช่นเดียวกับที่นำไปเดินป่า แต่การนำไปใช้ตามเกาะแก่งกลางท้องทะเลก็อาจจะหาไม้ใหญ่ที่ใช้ผูกเปลสนามตามชายทะเลได้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่มักจะอยู่ลึกเข้าไปจากชายหาด อนึ่งตามชายทะเลและเกาะแก่งบางแห่งจะมียุงชุกชุมมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตามป่าชายเลนหรือบนเกาะที่มีป่าทึบ ดังนั้นหากจะใช้เปลสนามก็ควรเลือกชนิดที่มุ้งเย็บติดอยู่ด้วยจะดีกว่า ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าการนำเต็นท์ไปท่องทะเลตามเกาะแก่งจะสะดวกและคล่องตัวกว่าเปลสนาม

ส่วนฟลายชีทหรือผ้ายางนั้น มีติดตัวไปด้วยก็ดี เพื่อไว้ใช้ปูนั่งเล่นนอนเล่น

 

2. ถุงนอน จริงอยู่ที่การท่องทะเลมักจะมีอากาศค่อนข้างร้อน แต่ในช่วงดึกๆจนถึงเช้าตรู่จะมีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ จึงควรนำติดตัวไปด้วย โดยใช้ขนาดที่ไม่หนาจนเกินไป นอกจากนี้ยังสามารถนำมาดัดแปลงใช้เป็นที่รองนอนกันเจ็บหลังได้อีกด้วย

3. เป้สะพายหลัง แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลมีความสะดวกสบายกว่าเที่ยวป่า หลายคนจึงไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไรนักต่อเป้ฯ ขอให้เป็นกระเป๋าหรือเป้ฯที่มีขนาดพอที่จะบรรจุเสื้อผ้าที่จะขนไปได้เท่านั้นเป็นพอ แต่การรู้จักเลือกใช้เป้ฯให้เหมาะสม จะช่วยให้เรามีความคล่องตัวในการเดินทางได้มากขึ้น

4. เสื้อผ้า แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ชุดปกติ และชุดว่ายน้ำดำน้ำ

(1) ชุดปกติ ควรเป็นเสื้อผ้าชนิดที่สวมใส่สบายๆ ไม่หนา และแห้งได้เร็วหากเปียก นอกจากนี้ควรมีเสื้อแขนยาวกันหนาว(เนื้อผ้าบางๆ)ติดตัวไปด้วย เพราะสภาพอากาศก่อนยามเช้ามักจะหนาวเย็นเป็นพิเศษ

5. หมวก/ผ้าเช็ดหน้า หมวกควรมีขนาดใบใหญ่ที่มีปีกโดยรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้ใบหน้าถูกแดดรบกวน และควรมีสายรัดคล้องคอเพื่อป้องกันลมพัดปลิว หรือจะใช้ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่แทนหมวกก็ได้

6. แว่นกันแดด การท่องทะเลนั้นจะมีแดดค่อนข้างแรง ยิ่งมองไปที่ผืนทรายขาวๆหรือพื้นน้ำทะเลท่ามกลางแสงแดดจ้าก็จะเกิดประกายแวววับแสบตา จึงควรมีแว่นตากันแดดพร้อมสายรัดคล้องคอติดตัวไปด้วยเพื่อป้องกันสายตาเกิดอาการระคายเคือง

7. รองเท้า ควรเลือกรองเท้าที่มีสายรัดส้นเพื่อความสะดวกสบายและคล่องตัว ส่วนรองเท้าสำหรับดำน้ำผิวน้ำนั้นหากไม่มีตีนกบก็ควรสวมรองเท้ายางหรือพลาสติกแบบหุ้มส้น เพื่อป้องกันการเหยียบโดนสัตว์และพืชมีพิษใต้ท้องทะเล

8. มีด และเชือก

(1) มีดเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้นิยมการใช้ชีวิตกลางแจ้ง มักจะมีติดตัวอยู่เสมอ ราวกับเป็น“มีดคู่มือ”หรือ“มีดประจำตัว” มีให้เลือกมากมายหลายแบบหลายขนาด แต่หลักสำคัญในการเลือกซื้อมีดเดินป่านั้น มีข้อควรพิจารณาดังนี้

– ควรเป็นมีดที่ใช้งานได้ทุกประเภท เพราะการไปตั้งแค้มป์แต่ละครั้ง เครื่องมือในการช่วยหาฟืน หากิ่งไม้มาทำขาตั้งหม้อสนามหรือทำเพิงที่พักต่างๆ เราก็ต้องใช้มีดสนามหรือมีดเดินป่า ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมากมาย

– ควรเป็นมีดที่มีขนาดกลาง น้ำหนักพอเหมาะที่จะใช้ฟันกิ่งไม้ท่อนไม้ได้ ไม่ควรใช้มีดที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป และมีดที่เรานำติดตัวไปนั้น ควรต้องมีปลอกมีดด้วย

(2) เชือก ควรมีความเหนียวและแข็งแรงทนทานพอที่จะรับน้ำหนักตัวผู้ใหญ่ได้ และมีความยาวราว 10-20 เมตร เผื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

9. ยาเวชภัณฑ์ นอกจากจะจัดเตรียมยาสามัญประจำบ้านให้พร้อมแล้ว ควรเตรียมยาแก้เมาเรือติดตัวไปด้วย เพราะหากเราเกิดอาการเมาคลื่นแล้วก็จะหมดสนุกทันที ยาแก้เมาจึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้เมาเรือเป็นอย่างมาก โดยจะต้องทานยาก่อนลงเรือประมาณ 5-10 นาที เมื่อทานแล้วจะทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการง่วงนอน ทำให้อดชมทัศนียภาพของน้ำทะเล ท้องฟ้า และเกาะแก่งต่างๆ วิธีป้องกันอาการเมาเรือโดยไม่ทานยาแก้เมาก็คือ

– ควรเลือกที่นั่งในเรือบริเวณชั้นล่างและมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพราะเวลาที่เรือเจอคลื่น ชั้นบนหรือส่วนตอนบนของเรือจะเกิดอาการโยกไกวไปมามากที่สุด ส่วนชั้นล่างของเรือจะเกิดอาการโยกไปมาน้อยที่สุด

– อย่ามองผิวน้ำหรือคลื่นที่เกิดจากหัวเรือวิ่งชนแตกเป็นฟองฟ่อนขาวโพลนนานเกินไป เพราะจะทำให้เราเวียนศีรษะและเมาเรือได้ง่ายขึ้น ทางที่ดีควรมองไปที่โล่งๆและมองไปที่จุดใหญ่ๆ เช่น เกาะแก่งที่อยู่ด้านหน้า มองผืนน้ำและท้องทะเลที่อยู่ไกลๆออกไป เป็นต้น

10. เชื้อเพลิง และไฟฉาย

(1) เชื้อเพลิงในที่นี้ ได้แก่ เตาแก๊สปิกนิก ไฟแช็คแก๊ส ไม้ขีดไฟ เทียนไข ขี้ไต้ หรือเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อกองไฟเพื่อหุงหาอาหาร ให้ความสว่าง รวมทั้งยังช่วยป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้ย่างกรายเข้ามาใกล้

(2) ไฟฉาย ควรเป็นขนาดที่พอเหมาะ ไม่เล็กหรือใหญ่ทะเล่อทะล่าจนเกินไป มีแสงส่องสว่างได้กว้างไกล หากเป็นไฟฉายที่ใช้ดำน้ำได้ก็ยิ่งดีมากๆ และควรมีอะไหล่สำหรับหลอดไฟฉายและถ่านไฟฉายสำรองติดตัวไปด้วย

11. หม้อสนาม ใช้ในการหุงหาอาหาร ไม่ว่าจะเป็นหุงข้าว แกง ต้ม หรือผัด มีขนาดกะทัดรัด และสะดวกต่อการพกพา ปกติหุงข้าวหม้อสนาม 1 ใบ(เต็มหม้อ) สามารถใช้ทานได้ประมาณ 4-6 คน

12. อาหาร การจะท่องเที่ยวให้สนุกนั้นท้องของเราก็ต้องอิ่มด้วย ดั่งคำกล่าวที่ว่า“กองทัพเดินด้วยท้อง” อาหารจะมีจำนวนมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ร่วมเดินทางและระยะเวลาของการท่องทะเลในครั้งนั้น อย่าคิดว่าทะเลที่ใดก็ต้องมีร้านอาหารนะครับ เพราะเกาะแก่งบางแห่งนั้น ความเจริญที่ว่าก็ยังเข้าไปไม่ถึง

อาหารแห้ง เช่น หมูแห้ง เนื้อแห้ง ปลาแห้ง กุนเชียง บะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น อาหารประเภทนี้สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่ต้องกลัวเสียหรือเน่า

– อาหารกระป๋อง มีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบแกง ผัด อบ หรืออย่างแห้ง ปัจจุบันได้มีการผลิตข้าวกระป๋องสำเร็จรูปออกมาขายอีกด้วย เวลาซื้อก็ควรสำรวจดูว่าหมดอายุเมื่อใด แต่การเลือกอาหารประเภทนี้เข้าป่าควรเลือกเป็นตัวสุดท้าย เพราะมีน้ำหนักมากกว่าชนิดใด และยังก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ หากนักท่องเที่ยวไม่ช่วยขนซากกระป๋องออกมาทิ้งลงในภาชนะที่ทางพื้นที่นั้นได้จัดไว้ต่างหาก

– อาหารสด เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผักสด เป็นต้น อาหารประเภทนี้เก็บไว้ไม่ได้นาน แต่ถ้าต้องการนำเข้าป่าก็จะต้องมีเทคนิคที่ทำให้อาหารอยู่ได้นาน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน อาทิเช่น หากเป็นเนื้อสัตว์ทั้งก้อนก็ควรรมควัน หรือย่าง แต่หากเป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกหั่นชิ้นเล็กๆก็ให้คั่วหรือรวนให้สุก ส่วนผักสดก็ควรเลือกผักที่เหี่ยวเฉาได้ค่อนข้างช้า เป็นต้น ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการนำอาหารสดไปทะเลไม่ใช่เรื่องง่ายๆเช่นเดียวกับเข้าป่า และยังเสียเวลาในการประกอบอาหารอีกด้วย

13. นกหวีด และถุงพลาสติก

(1) นกหวีด บางคนอาจจะหัวเราะเยาะแกมขบขันและคิดว่ามันจะมีประโยชน์อะไร? ทั้งๆที่มันนี้แหละคือสิ่งที่เราจะใช้ขอความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะหากสามารถเลือกหาซื้อ“นกหวีดน้ำ”ได้ก็จะดียิ่ง เพราะนกหวีดน้ำจะสามารถเป่าให้ดังลั่นได้ แม้มีน้ำขังอยู่ก็ตาม

(2) ถุงพลาสติก เพื่อไว้ใช้ห่อเสื้อผ้าและสัมภาระที่หากถูกเปียกน้ำแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ไม่ว่าจะเป็นการท่องป่าในฤดูกาลใด เพราะไม่มีใครยืนยันนั่งยันได้ว่าจะไม่มีฝนตกในฤดูหนาวและฤดูร้อน หรือขณะเดินข้ามลำน้ำเราอาจจะลื่นหกล้มจนทำให้สัมภาระภายในเป้ฯเปียกน้ำก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น ใช้เป็นโคมไฟเทียมเพื่อป้องกันลมพัดดับ และยังช่วยให้เปลวเทียนส่องแสงสว่างมากขึ้น หรือใช้บรรจุน้ำจากลำห้วยไปยังแค้มป์ที่พัก ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำอยู่เลย เป็นต้น

ในที่นี้ไม่ขอกล่าวถึงอุปกรณ์ดำน้ำ ซึ่งได้กล่าวไว้อย่างละเอียดแล้วในหัวข้อ“แนะนำการใช้อุปกรณ์แค้มปิ้ง” (http://www.e-travelmart.com/used_camping.html)

4. การเลือกทำเลที่ตั้งแค้มป์ และการตั้งแค้มป์

มีรายละเอียดเช่นเดียวกับ“เตรียมตัวท่องไพร” แต่มีข้อเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ ได้แก่

1. ห้ามก่อกองไฟบริเวณชายหาดหรือหาดทรายเพราะนอกจากจะทำให้หาดทรายขาวละเอียดที่สวยงามเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ อันเป็นการทำลายธรรมชาติแล้ว ซากเศษไม้ที่หลงเหลือจากการถูกเผาไหม้ยังอาจเป็นอันตรายแก่ผู้คนที่เดินมาเหยียบโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

2. ไม่ควรดื่มของมึนเมาขณะลงเรือเดินทาง รวมทั้งก่อนลงดำน้ำ

5. ข้อควรปฏิบัติในการดำน้ำผิวน้ำ

มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

(1) ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีความถนัดและเหมาะแก่ผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งการดำน้ำแบบนี้มักใช้เพียงหน้ากากดำน้ำ ท่อหายใจ และชูชีพ หรืออาจจะมีตีนกบสำหรับผู้ที่ใช้เป็น

(2) เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการดำน้ำ โดยไม่นอนดึก และไม่ดื่มของมึนเมา

(3) ทดลองฝึกอุปกรณ์ดำน้ำตามชายหาดตื้นๆก่อนดำน้ำ เพื่อให้เกิดความเคยชินกับอุปกรณ์

(4) ก่อนลงดำน้ำราว 30 นาที ควรดื่มน้ำมากๆ ที่สำคัญต้องไม่อิ่มจนเกินไป ไม่หิวจนเกินไป และอากาศต้องไม่ร้อนจัดจนเกินไป

(5) นอกจากจะต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงดำน้ำแล้ว ชุดที่จะดำน้ำควรเป็นเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายจากการถูกแดดเผาด้วย

(6) ไม่ควรดำน้ำเพียงลำพัง แต่ควรมีเพื่อนดำน้ำด้วยเสมอ

(7) ขณะว่ายน้ำ ควรใช้สายตามองไปข้างหน้าสลับกับการก้มมองข้างล่าง โดยให้มีระยะห่างจากแนวปะการังพอควร เพื่อป้องกันเมื่อกระแสน้ำพัดพาไปถูกแนวปะการัง

(8) ควรระมัดระวังการใช้ตีนกบขณะอยู่ในแนวปะการัง เพราะอาจทำลายแนวปะการังโดยไม่ตั้งใจได้ และแม้แต่บริเวณแนวปะการังที่มีพื้นทรายก็ไม่ควรเตะตีนกบ เพราะจะทำให้ทรายตามพื้นฟุ้งกระจายขึ้นมาจนปกคลุมปะการัง เป็นผลให้ปะการังตายในที่สุด

ทั้งนี้ควรพึงระลึกอยู่เสมอว่ากิจกรรมการดำน้ำอาจทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลต้องพังทลายและตายจากไปด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้นนักดำน้ำ(ทั้งแบบดำน้ำผิวน้ำ และดำน้ำลึก)ทุกคนจึงควรรู้ข้อห้าม 3 ประการ ได้แก่

– ห้ามสัมผัสหรือจับต้องสัตว์น้ำทุกชนิด อย่าดำน้ำไล่ต้อน แต่ควรเฝ้าชมอยู่ในระยะที่ห่างพอควร

– ห้ามแตะต้องปะการัง และห้ามยืนพักบนปะการัง แม้ว่าจะเป็นโขดปะการังสมองที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรง แต่ในตัวของมันนั้นมีชีวิตเล็กๆที่อาศัยอยู่ที่อาจจะตายได้เพียงแค่เราสัมผัส

– ห้ามเก็บสิ่งของจากท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นปะการัง กัลปังหา หรือแม้แต่เปลือกหอย