แนะนำแหล่งท่องเที่ยว

วสันตฤดู..ดอยอินทนทท์-แม่วาง จ.เชียงใหม่

เพลิดเพลินกับการดูนก

ตลอดชีวิตของคนรักการผจญภัยเพื่อแสวงหาธรรมชาติที่ตนชื่นชอบ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นกับคำว่า“การเดินทาง” แม้ว่าตลอดการเดินทางนั้นจะเป็นแบบสบายๆหรือเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจนแทบหมดเรี่ยวแรง โดยไม่คำนึงถึงฤดูกาลว่าจะหนาวเย็นยะเยือก ร้อนจัดแทบหลอมละลาย หรือมีสายฝนตกชุกอย่างไม่ลืมหูลืมตา รวมทั้งไม่สนใจว่าสภาพภูมิประเทศนั้นจะสูงชันหรือเตี้ยต่ำสักเพียงใด ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่างหรือคราใดที่ร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้าจากการงาน หัวใจของผู้เขียนย่อมใฝ่ถวิลหาแต่ความเงียบสงบอันงดงามของธรรมชาติ ซึ่งการเดินทางทุกครั้งก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องเป็นสถานที่แปลกใหม่ อาจจะเป็นสถานที่เก่าที่เคยไปมาแล้วนับสิบๆครั้งก็ได้ เพราะแต่ละครั้งย่อมได้พานพบประสบการณ์ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ที่สำคัญแค่ขอให้ร่างกายและจิตใจได้อิงแอบแนบสัมผัสกับธรรมชาติอันเป็นที่รักก็เพียงพอแล้ว เฉกเช่นการเดินทางครั้งนี้ที่เราเดินทางมาท่องเที่ยวดอยอินทนนท์ในช่วงฤดูฝน

จากสภาพภูมิศาสตร์ของโลกจะเห็นว่า“ดอยอินทนนท์”..หรือภูเขาที่สูงที่สุดของเมืองไทยลูกนี้เป็นเชิงเขาของเทือกเขาหิมาลัยที่เริ่มต้นมาจากประเทศอินเดีย แล้วพาดผ่านเนปาล ภูฎาน เมียนมาร์ และมาสิ้นสุดที่ภาคเหนือของไทย ณ ที่แห่งนี้ ทำให้ยอดดอยอินทนนท์มีผืนป่าดิบดึกดำบรรพ์อันกว้างใหญ่สมบูรณ์ปกคลุมราวพรมกำมะหยี่ชั้นดีผืนใหญ่ ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ถึงธรรมชาติที่สวยงดงามเช่นนี้ ปกติผู้คนทั่วไปมักจะเดินทางเพียงเพื่อขึ้นมาถ่ายรูปคู่กับป้ายสูงสุดที่อยู่บริเวณยอด โดยหารู้ไม่ว่าผืนป่าอินทนนท์ที่ชุ่มชื้นจนเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำที่ไหลรินลงไปเป็นลำห้วยลำธารหลายๆสาย บ้างก็หลั่งล้นจากโตรกผาสูงก่อเกิดเป็นน้ำตกที่งดงามยิ่งใหญ่นั้น ยังมีพันธุ์ไม้ที่แปลกตาและหายากยิ่ง อาทิเช่น “รองเท้านารีอินทนนท์”พบบนดอยนี้เป็นแห่งแรกในเมืองไทย กุหลาบพันปีที่มีลำต้นสูงใหญ่กว่าที่แห่งใด อีกทั้งดอกไม้ป่าหลากหลายชนิดที่ขึ้นดารดาษอยู่ทั่วขุนเขา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งดูนกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นนกประจำถิ่น เช่น นกกินปลีหางยาวเขียวชนิดย่อยอ่างกาเนนซีส ซึ่งพบได้ที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลกใบนี้ นกกระจิ๊ดคอสีเทาที่มีที่นี่เพียงแห่งเดียวในเมืองไทย เป็นต้น หรือนกย้ายถิ่นเข้ามาในฤดูหนาว เป็นนกที่หนีความหนาวเย็นมาจากไซบีเรีย จีน ญี่ปุ่น และเมียนมาร์ มาอาศัยอยู่บนดอยอินทนนท์เฉพาะฤดูหนาว พอถึงฤดูร้อนก็จะบินกลับถิ่นเดิม เช่น นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า นกกาฝากท้องเหลือง และนกปากซ่อมดง เป็นต้น และนกอพยพผ่านที่แวะหยุดพักบนดอยอินทนนท์เพียงระยะสั้นๆเพื่อหยุดพักผ่อนและหาอาหารเพิ่มพลังงาน ก่อนบินลงทางใต้ต่อไป เช่น นกจับแมลงสีฟ้าท้องขาว เป็นต้น

นกกินปลีหางยาวเขียว ชนิดย่อย ankanensis ตัวผู้

ทางขึ้นดอยอินทนนท์ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข108(สายเชียงใหม่-แม่สะเรียง) หรือก่อนถึงตลาดจอมทองเล็กน้อย ประมาณ กม.58 จะมีทางแยกขวามือไปตามทางหลวงหมายเลข1009 เป็นถนนลาดยางที่ตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ด้วยระยะทาง 48 กม. จากแยกจอมทองมา 8 กม. ก็จะผ่านทางเข้าน้ำตกแม่กลางที่ตั้งอยู่ตรงเชิงเขาด้านซ้ายมือ เลยไปอีกหน่อยก็จะเป็นด่านตรวจแรกของอุทยานฯดอยอินทนนท์ จากนั้นเส้นทางก็จะเริ่มลัดเลาะไต่เขาสูงชัน สภาพป่าสองข้างทางจะมีความงดงามแตกต่างกันไปตามระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ความสูงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 100 เมตร จะทำให้อุณหภูมิลดลงประมาณ 0.6-1 °C

กม.10-15 สูงจากระดับน้ำทะเล 427-529 เมตร สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ซึ่งในช่วงที่สายลมหนาวมาเยือนราวเดือนธันวาคม – เดือนกุมภาพันธ์ ป่าจะทำการเปลี่ยนสีผลัดใบเป็นสีแดง สีเหลือง สีแสด บ้างก็สีเลือดหมู ทำให้เราได้ยลโฉมป่าเปลี่ยนสีอย่างงดงาม ก่อนทิ้งใบร่วงหล่น แล้วผลิใบอ่อนสีเขียวสดเมื่อฝนแรกมาเยือน

 ไม่ต้องมีคำบรรยายใต้ภาพ

หนทางลัดเลาะคดเคี้ยวไต่ขึ้นเขาสูง โดยทวนลำน้ำแม่กลางที่ไหลเซาะมาตามแนวโตรกธารอยู่เป็นช่วงๆ บางช่วงถนนก็จะผ่านไปตามแนวเทือกเขาที่ตัดเป็นหน้าผาสูงชันขึ้นไปยังยอดเขาลูกแล้วลูกเล่า ผ่านทางแยกเข้าน้ำตกวชิรธารที่อยู่ทางด้านขวามือบริเวณ กม.20.8 จากจุดนี้ระดับความสูงเริ่มเปลี่ยนไป ตามทางถนนด้านซ้ายมือจะเปิดให้เห็นทิวทัศน์ของสันเขาสลับซับซ้อน และมองเห็นหุบเขาหมู่บ้านกะเหรี่ยงขุนกลางที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่บนดอยแห่งนี้ พร้อมๆกับม้งขุนกลางในยุคแรกเริ่ม นับเป็นมุมมองที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งบนถนนสายนี้ โดยเฉพาะภาพของนาขั้นบันไดที่ลดหลั่นกันไปตามระดับความสูงของสันเขา

สภาพป่าสองข้างทางเริ่มเปลี่ยนเป็นไม้เมืองหนาวจำพวกสนสองใบและสนสามใบที่ขึ้นอยู่เป็นทิวตามสันเขา บ่งบอกว่าเรากำลังอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลเกินกว่า 1,000 เมตรขึ้นไป ยิ่งรถไต่สูง หูของเราก็เริ่มอื้อจนต้องลอบกลืนน้ำลายดังเอื้อกๆ เพื่อปรับความดันภายในช่องหูให้เท่ากับอากาศภายนอก

ด้านขวามือของ กม.31 เป็นที่ทำการอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และมีร้านสวัสดิการของอุทยานฯไว้รองรับนักท่องเที่ยว บริเวณนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,271 เมตร หลังจากเรารับกุญแจบ้านพักที่จองไว้ล่วงหน้า 30 วัน ก็เดินทางไปบ้านพักที่ตั้งอยู่ในดงสน ใกล้ๆกับทางเข้าโครงการหลวงขุนกลางและน้ำตกสิริภูมิ

จากที่เราแวะเที่ยวตามรายทางตั้งแต่เช้า ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง และกราบไหว้สักการะ“พระพุทธสิหิงค์” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา ณ วัดพระสิงห์ หรือมีชื่อเต็มว่า“วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร” ตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้เรามาถึงบ้านพักอุทยานฯก็เกือบ4โมงเย็นแล้ว

แทบทุกครั้งที่มาพักบนดอยอินทนนท์ ต้องไปอุดหนุนอาหารที่ร้านลุงแดง ครานี้ก็เช่นกัน ร้านลุงแดงตั้งอยู่ในพื้นที่ของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่กลาง ซึ่งอยู่เลยที่ทำการอุทยานฯไปราว 200 เมตร ที่นี่เป็นแหล่งชุมนุมของนักดูนกมากว่า 30 ปี บางครั้งที่ขึ้นมาเที่ยวดอยอินทนนท์เพียงคนเดียวก็อาศัยกางเต็นท์บริเวณด้านหลังร้านลุงแดง ซึ่งติดกับลำธาร และมีห้องน้ำสะดวกสบาย

พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

ด้วยความที่สนิทสนมคุ้นเคยกับลุงแดงเป็นเวลานาน ทำให้ได้รับรู้ว่าลุงแดงมีพื้นเพเป็นคน จ.ชลบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.2524 ลุงแดงและป้าน้อย(ภรรยา)ได้มาเที่ยวสงกรานต์ที่เชียงใหม่ ก็มีญาติติดต่อให้ไปทำงานชั่วคราวบนดอยอินททนท์ 1 เดือน แต่เพราะหลงใหลความหนาวเย็นและอากาศบริสุทธิ์บนดอย ทำให้ลุงแดงอยู่ต่อมาอีก 4 ปี ช่วงนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขึ้นมาดูนกบนดอยอยู่บ่อยๆ ทำให้เริ่มหัดดูนกและเกิดความรู้สึกชื่นชอบในอิริยาบถและชีวิตอิสระของเหล่าสกุณา จึงตั้งรกรากเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อิ่มอาหารและได้อรรถรสจากการพูดคุยกับลุงแดงจนฟ้าเริ่มแผ่คลุมไปทั่วดอย เราจึงกลับบ้านพักที่ตั้งอยู่ในดงสนเขา ไม่นานนักสายฝนก็เทลงมาปรอยๆ ทำให้อากาศหนาวยะเยือกยิ่งขึ้นกว่าเดิม ค่ำคืนนี้เรานอนฟังเสียงสายฝนสลับกับเสียงสนเขาที่ต้องลมดังหวีดหวิวช่วยกล่อมให้นิทราอย่างสุขอารมณ์

ราว8โมงเศษ หลังอาหารเช้าที่เราฝากท้องไว้ร้านลุงแดงดังเดิม จึงออกเดินทางสู่พระมหาธาตุฯ เป็นหนทางขึ้นไปตามสันเขาที่สูงชัน บางช่วงผ่านป่าสนเขาสลับกับเทือกเขาหัวโล้นที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจี บางช่วงด้านหนึ่งเป็นสันเขา ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาเปิดที่มองลึกลงไปในหุบเขาก็จะเห็นผืนป่าเป็นลอนสูงต่ำขึ้นปกคลุมอยู่แน่นขนัด ไกลออกไปเป็นขุนเขาน้อยใหญ่ที่วางตัวสลับซับซ้อน โดยมีดอยเสือมูบหรือดอยหัวเสือโผล่ยอดขึ้นมาอย่างเด่นชัดตามแนวสันเขาที่ทอดตัวยาวขนานไปกับเส้นทางสายนี้

ยิ่งขึ้นสูง อากาศก็ยิ่งหนาวเย็นทวีคูณ นกป่าที่แปลกตาเริ่มบินโฉบไปมาให้เราได้ตื่นตาตื่นใจ บ้างก็เกาะอยู่ตามกิ่งไม้ใบหญ้าให้เห็นสีสันอันสวยงามของลักษณะนกชนิดนั้นๆ ผ่านด่านตรวจฯที่2 บริเวณ กม.38 อันเป็นด่านตรวจร่วมของอุทยานฯและเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศเพื่อคอยตรวจตราดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งป้องกันการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่าอีกด้วย บริเวณนี้นับเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการดูนกโดยเฉพาะในช่วงยามเช้าและยามเย็น เนื่องจากสภาพป่าเป็นป่าดิบเขาที่ขึ้นเบียดเสียดจนแทบไม่มีที่ว่างให้เดินผ่านเข้าไปได้ ประกอบกับอากาศที่เย็นชื้นตลอดทั้งปี ทำให้มีนกหลายชนิดทั้งนกท้องถิ่นและนกอพยพ

บริเวณด่านฯนี้จะมีทางแยกซ้ายมือไปตามทางหลวงหมายเลข1192 อีก 22 กม. ก็จะถึง อ.แม่แจ่ม และสามารถเดินทางจากแม่แจ่มลงไปทาง อ.ฮอด บริเวณ บ.ออบหลวง ตามทางหลวงหมายเลข1088 โดยไม่ต้องกลับมาลงตามทางเดิมที่ขึ้นมาจาก อ.จอมทอง ก็ได้ แต่เป็นทางที่แคบและหักศอกไปมา แถมชันอีกต่างหาก จึงไม่เหมาะแก่ผู้ที่ไม่ชำนาญทาง

ไม่ต้องมีคำบรรยายใต้ภาพ

แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเดินป่าชมน้ำตก ขอแนะนำให้แวะไปเที่ยวชมตามทางหลวงหมายเลข1192 ซึ่งเลยหลัก กม.6 ไปเล็กน้อย ก็จะพบทางแยกขวามือลงเขาลาดชันไปราว 2 กม. ก็จะถึงหน่วยฯน้ำตกแม่ปาน(แม่แจ่ม) บริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำแม่แจ่ม..ก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำแม่ปิง ใกล้ๆกับหน่วยฯจะเป็นที่ตั้งของน้ำตกห้วยทรายเหลือง น้ำตกแม่ปานที่มีขนาดสูงใหญ่เป็นอันดับ3ของขุนน้ำดอยอินทนนท์ น้ำตกผาสำราญ และน้ำตกสองพี่น้อง

จากด่านฯ2 ทางช่วงต่อไปสู่ยอดดอยค่อนข้างชันและคดเคี้ยวมากขึ้นกว่าเดิม บางช่วงของถนนเป็นหน้าผาเปิดโล่งยาวไกลเป็นกิโลฯ มีจุดชมวิวด้านซ้ายมือบริเวณ กม.41 ซึ่งเป็นจุดชมทะเลหมอกยามเช้าเหนือหุบเขาแม่แจ่มที่สวยงามยิ่ง ยามฟ้าเปิดจะมองเห็นลำน้ำแม่แจ่มไหลคดเคี้ยวไปมาดั่งงูเลื้อย เลยขึ้นไปอีกราว 500 เมตร ก็จะพบทางแยกซ้ายมือเข้าสู่พระมหาธาตุฯ2องค์ที่ตั้งตระหง่านตระการตาอยู่เคียงคู่กัน องค์แรกที่สูงใหญ่(อยู่ด้านขวามือ)มีชื่อว่า“พระมหาธาตุนภเมทนีดล” ส่วนองค์ที่สอง(อยู่ด้านซ้ายมือ)ที่มีรูปร่างคล้ายกันมีชื่อว่า“พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ” ซึ่งทางกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศได้ร่วมใจสร้างเป็นอนุสรณ์น้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาศที่ในหลวงฯและพระบรมราชินีนาถฯทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ5รอบ ในปี พ.ศ.2530 และปี พ.ศ.2535 ตามลำดับ ตัวพระมหาธาตุฯทั้ง2ประดับประดาไปด้วยโมเสดสีทองงามอลังการ จนกล่าวกันว่าในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสอาจมองเห็นได้ชัดเจนจากตัว อ.จอมทอง เลยทีเดียว

พระมหาธาตุนภเมทนีดล

หากเลยจากนี้ไปอีก 500 เมตร หรือบริเวณ กม.42 ด้านขวามือเป็นลาน ฮ. อันเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมารอชมกันตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง ส่วนด้านซ้ายมือของถนนเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ระยะทางราว 3 กม. ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปเดินชม ต้องติดต่อขออนุญาตจากที่ทำการอุทยานฯเสียก่อน และหากเป็นไปได้ก็ควรที่จะมีเจ้าหน้าที่นำทาง ไม่เพียงเพื่อเป็นการป้องกันรักษามิให้ธรรมชาติบุบสลายแล้ว ยังเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ถึงคุณค่าของธรรมชาติอีกด้วย แต่ในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ ทางอุทยานฯประกาศปิด เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวได้รับอันตรายจากการเดินลื่นตกหน้าผา อีกทั้งต้องการให้ธรรมชาติได้พักฟื้น หลังจากรองรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นฤดูหนาวยันถึงฤดูร้อน หากท่านใดมีโอกาสได้มาเยือนดอยอินทนนท์ในช่วงฤดูหนาวก็อย่าลืมหาเวลาแวะเข้าไปชม นอกจากทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว ยังมีพรรณไม้เด่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยเฉพาะกุหลาบพันปีที่พบที่นี่ถึง 4 ชนิด จากรายงานที่พบในเมืองไทย 13 ชนิด ได้แก่ คำแดง(Rhododendron delavayi Franch.) กุหลาบพันปีลังกาหลวง(Rhododrndron microphyton Franch.) คำขาว(Rhododendron moulmeinense Hook.f.) และกายอม(Rhododendron veitchianum Hook.)

กุหลาบพันปีเป็นไม้สกุล Rhododendron วงศ์ERICACEAE ทั่วโลกมีไม้สกุลนี้อยู่ประมาณ 1,000 ชนิด กระจายพันธุ์กว้างขวางทั้งในเขตอบอุ่น เขตกึ่งร้อน และเขตร้อน มีทั้งที่เป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้พุ่มอิงอาศัย ส่วนใหญ่มักขึ้นเจริญเติบโตบริเวณพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นและมีความชื้นในอากาศสูง สำหรับกุหลาบพันปีชนิดที่พบในเขตร้อนจะมีถิ่นอาศัยอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป อนึ่ง“กุหลาบ”ซึ่งเป็นไม้ตัดดอกที่รู้จักกันทั่วไปนั้นเป็นพันธุ์ไม้ในสกุล Rosa อยู่ในวงศ์ ROSACEAE มิได้เกี่ยวข้องกับกุหลาบพันปีแต่อย่างใด เพียงมีชื่อไทยเรียกพ้องกันหรือมีคำนำหน้าว่า“กุหลาบ”เหมือนกันเท่านั้น

รอบๆบริเวณพระมหาธาตุฯทั้ง2องค์จะถูกตกแต่งประดับประดาด้วยไม้ดอกเมืองหนาวที่มีสีสันสดใสงดงาม หากเดินไปขึ้นบนพระมหาธาตุฯหรือเดินออกไปด้านหลังทางทิศตะวันตกก็จะเป็นจุดชมทิวทัศน์ได้กว้างไกล ในโมงยามนี้เหนือหุบเขาแม่แจ่มถูกปกคลุมไปด้วยทะเลหมอกที่ลอยฟูฟ่อง เมื่อสายลมหอบเอาความชื้นของหมอกมาปะทะกายก็เล่นเอาเสื้อผ้าชุ่มฉ่ำและเย็นยะเยือกไปด้วยหยาดน้ำ นอกจากนี้เรายังเพลิดเพลินกับการบันทึกภาพนก กล้วยไม้ และสัตว์ป่าจำพวกกระรอก

พระมหาธาตุนภภูมิสิริ

ยิ่งอยู่เนิ่นนาน อากาศที่หนาวเย็น ผสมผสานกับสายลมที่ค่อนข้างแรง ทำให้มือเริ่มยะเยือกจนกดชัตเตอร์กล้องฯไม่ไหว จากนี้เราจึงเดินทางสู่ยอดดอยสูงสุด ความสูงช่วงนี้จะเกินกว่า 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พืชพันธุ์ไม้ตามข้างทางจะเปลี่ยนไปเป็นป่าดิบเขาที่หนาทึบ รวมทั้งสัตว์ป่าและนกที่อาศัยอยู่ก็จะแตกต่างชนิดกัน ระยะทางเพียง 7 กม. ก็มาถึงยอดดอยซึ่งมีลานจอดรถกว้างใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศ ซึ่งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปหรือแม้แต่ถ่ายภาพจากด้านนอกก็ตาม อีกด้านหนึ่งจะเป็นที่ตั้งของสถูปบรรจุอัฐิเจ้าอินทรวิชยานนท์(เป็นพระบิดาของ“เจ้าดารารัศมี” พระราชชายา ร.5)อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่ และมีป้ายขนาดใหญ่บอกว่า ณ จุดนี้เป็นจุดสูงสุดของเมืองไทย สูง 2,565.3341 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณยอดดอยไม่มีหน้าผาเปิดโล่งให้มองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของป่า เราจึงเดินย้อนลงมาตามถนนราว 300 เมตร ก็จะพบหน่วยพิทักษ์ฯยอดดอยและศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือ ภายในศูนย์ฯแห่งนี้จะมีภาพธรรมชาติและประวัติของดอยอินทนนท์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สถานภาพของสัตว์ป่าและนกบนดอย นอกจากนี้ก็มีประวัติของ“ไมเคิล แมคมิลแลนด์ วอลซ์”นักสัตววิทยาจากเมืองคาลเกอรี ประเทศแคนาดา ซึ่งมาเป็นอาสาสมัครประจำอุทยานฯแห่งนี้ ได้เป็นผู้สำรวจวางแนวและออกแบบเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอ่างกาและกิ่วแม่ปาน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ฯนี้ขึ้นมา

ชมทะเลหมอกทางด้านหลังพระมหาธาตุนภภูมิสิริ

ฝั่งตรงข้ามเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอ่างกา ที่ต้องเดินลงไปในหุบที่เรียกว่า“อ่างกา” คำว่า“อ่างกา”หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ“อ่างกาหลวง” เป็นคำเรียกขานภูเขาที่สูงที่สุดของเมืองไทยลูกนี้ ก่อนเปลี่ยนมาใช้คำว่า“ดอยอินทนนท์”ตามพระราชนามของกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งนครเชียงใหม่ คือ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ภายหลังที่ได้อัญเชิญพระราชอัฐิขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่ยอดเขาแห่งนี้ ซึ่งพระองค์ทรงรักและหวงแหนธรรมชาติป่าดงพงไพรบนดอยอ่างกายิ่งนัก อ่างกาชื่อเดิมนั้นเรียกตามลักษณะเด่นที่ปรากฏอยู่บริเวณยอดเขา นั่นคือมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของยอดสูงสุด ห่างออกมาราว 30 เมตร และลึกลงไปราว 70 เมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,500 เมตร อาจกล่าวได้ว่าเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติที่อยู่สูงที่สุดของแผ่นดินไทยก็ว่าได้

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอ่างกาเป็นวงกลม มีระยะทาง 360 เมตร  ตลอดทางเดินทำด้วยสะพานไม้ยกสูงขึ้นจากพื้น และมีราวไม้กั้น รวมทั้งขึงลวดหนามเอาไว้ เพื่อป้องกันสิ่งที่อันตรายที่สุดแก่ธรรมชาตินั่นก็คือ“มนุษย์”จะเล็ดลอดลงไปเดินเหยียบย่ำสิ่งมีชีวิตบนดิน และเพื่อป้องกันการพังทลายหรือดินอัดแน่นจนเกินไป

เพียงย่างก้าวแรกที่เราเหยียบย่างไปตามทางเดินบนสะพานไม้ ก็รู้สึกราวกับว่าตัวเองได้หลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง พืชพันธุ์ที่ขึ้นอยู่บริเวณนี้ได้ถูกธรรมชาติคัดเลือกสรรแล้วว่าสามารถทนทานต่ออากาศที่หนาวเย็นและกระแสลมที่พัดผ่านอยู่ตลอดเวลาได้เป็นอย่างดี ปกติพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่บนยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลเกินกว่า 2,000 เมตร มักจะถูกธรรมชาติกำหนดให้เป็นไม้แคระแกร็นและมีความสูงไม่มากนัก แต่ที่นี่..ไม้แต่ละต้นกลับมีขนาดสูงใหญ่และขึ้นอยู่หนาแน่นอย่างไม่มีที่ใดเหมือน โดยเฉพาะแต่ละต้นจะถูกห่อหุ้มด้วยมอสส์ เฟิน ตะไคร่น้ำ และไลเคนส์ ดุจดั่งต้นไม้ใส่เสื้อ นับเป็นสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ ยากที่จะหาที่ใดเหมือน จนมีคำกล่าวเปรียบเทียบว่าเป็น“ป่าดึกดำบรรพ์”หรือ“ป่าหิมพานต์”เฉกเช่นนิยายปรัมปราที่เคยได้ยินเล่าขานกันมานาน นอกจากนี้ตามทางเดินจะมีป้ายชื่ออธิบายลักษณะธรรมชาติแต่ละจุด รวมทั้งหมด 11 จุด ให้ผู้ที่เข้ามาชมได้รับรู้และเข้าใจถึงลักษณะและคุณค่าความสำคัญของธรรมชาติ

ป่าด้านหลังสถูปบรรจุอัฐิเจ้าอินทรวิชยานนท์

เสียงนกหลากหลายชนิดร้องระงมไปทั่วราวไพร อากาศที่เย็นชื้น สายหมอกที่โรยเรี่ยต่ำอยู่ตามยอดไม้ และธรรมชาติอันงดงามของผืนป่าแห่งนี้ ทำให้เราเดินชื่นชมอย่างสุขใจ บริเวณพื้นเบื้องล่างของดงกุหลาบพันปีที่ไร้ดอกในช่วงนี้จะเต็มไปด้วยพืชไร้ดอกจำพวกมอสส์ขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า“ข้าวตอกฤาษี”(Sphagnum Moss) เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและมีความหนาวเย็นตลอดปี ตามทางเดินบางช่วงจะมีม้านั่งให้พักผ่อน เราใช้เวลากว่าชั่วโมงในการดื่มด่ำกับธรรมชาติบนเส้นทางสายนี้และบริเวณโดยรอบ

เมื่อลงจากยอดดอย ทีแรกเราจะแวะเข้าไปชมโครงการหลวงขุนกลาง แต่พอรู้ว่ามีการซ่อมแซมปรับปรุงหลายพื้นที่ จึงตัดสินใจไม่เข้าไปชม แต่ลงไปตีนดอยเพื่อชมน้ำตกแม่ยะ ซึ่งกะว่าจะแวะพรุ่งนี้ก่อนกลับกรุงเทพฯ ส่วนพรุ่งนี้จะแวะเที่ยวไหน ค่อยวางแผนกันต่อ

นั่งรถย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิมจนถึงตัวอำเภอจอมทองก็จะมีทางแยกซ้ายมือตรงหน้าวัดพระบรมธาตุศรีจอมทองไปน้ำตกแม่ยะอีก 14 กม. ทางเข้าน้ำตกมีทางแยกมากมาย ซึ่งต้องคอยมองป้ายลูกศรให้ดี หนทางลัดเลาะไปมาราวครึ่งชั่วโมงก็ถึงลานจอดรถ จากนั้นเดินเท้าไปอีกราวกิโลเศษก็ถึงน้ำตกแม่ยะ..เป็นน้ำตกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขุนน้ำอินทนนท์ และนับเป็นน้ำตกที่ใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของบรรดาน้ำตกในเมืองไทย น้ำตกแม่ยะไหลมาจากขุนดอยแม่ยะ ซึ่งสายน้ำใหญ่ของห้วยแม่ยะทั้งสายจะไหลตกลงมาจากหน้าผาที่สูงชันราว 280 เมตร กว้างราว 100 เมตร แล้วไหลลดหลั่นลงมากระทบโขดหินเป็นชั้นๆลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างอย่างสวยงาม

ทางเดินในอ่างกา

ยามเย็น ณ ดงสนที่เป็นลานกางเต็นท์และบ้านพักของอุทยานฯ จากจุดนี้จะมองเห็นน้ำตกสิริภูมิไหลตกลงมาจากโตรกผาเป็นเส้นสีขาววาววับ2สายดูคล้ายงาช้างได้อย่างชัดเจน แต่เดิมน้ำตกแห่งนี้มีชื่อว่า“น้ำตกเล่าลึ” ซึ่งชาวม้งที่เป็นคนท้องถิ่นเรียกตามชื่อของหัวหน้าหมู่บ้านคนแรกในยุคที่เข้ามาบุกเบิกตั้งรกราก ก่อนเปลี่ยนมาเป็นชื่อน้ำตกสิริภูมิเมื่อในหลวงฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ผอ.โครงการหลวงทางภาคเหนือ(ม.จ.ภีศเดช รัชนี)เข้ามาสำรวจจัดตั้งสถานีเกษตรหลวงดอยขุนกลาง เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับชาวเขาเผ่าม้งแทนการปลูกฝิ่น ภายหลังสถานีเกษตรฯแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น“โครงการหลวงขุนกลาง”เช่นทุกวันนี้

มื้อเย็นวันนี้ยังคงฝากท้องไว้ที่ร้านลุงแดงเช่นเดิม ก่อนกล่าวคำล่ำลาหลังท้องเริ่มตึง หนังตาเริ่มหย่อน ส่วนอาหารเช้าพรุ่งนี้เราจะไปหาทานกันข้างล่าง โดยวางแผนว่าจะแวะไปชมผาช่อที่อุทยานแห่งชาติแม่วาง ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ไปเยือนมาร่วม10ปีแล้ว หรือตั้งแต่ก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

ป่าใส่เสื้อในอ่างกา

รุ่งเช้า อากาศยังคงเย็นยะเยียบเช่นวันวาน ท้องฟ้าเกลื่อนไปด้วยเมฆฝนน้อยใหญ่ ไม่รู้ว่าจะเทลงมาสร้างความชุ่มฉ่ำอีกเมื่อใด เมื่อเดินทางลงมาถึง อ.จอมทอง จึงแยกซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข108(สายฮอด-เชียงใหม่) ราว 8 กม. ก็จะพบป้ายแหล่งท่องเที่ยวผาช่อ จึงแยกซ้ายไปตามถนน รพช.สายห้วยน้ำดิบ พอถึง กม.8 จะพบด่านตรวจฯเล็กๆของอุทยานฯแม่วางอยู่ด้านซ้ายมือ หลังจากเสียค่าธรรมเนียมฯก็ตรงต่อไปตามทางที่เป็นถนนลูกรังอีกราว30นาทีก็จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวผาช่อที่ตั้งอยู่บนเนินสูง มองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัวและกว้างไกลสุดสายตา ที่นี่ยังไม่มีบ้านพักและร้านอาหาร คงมีแต่ร้านค้าสวัสดิการและห้องน้ำ

อุทยานฯแม่วางครอบคลุมพื้นที่ป่าจอมทอง ป่าแม่ขาน และป่าแม่วาง อยู่ในเขตท้องที่ตำบลสันติสุข ตำบลยางคราม ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ , ตำบลบ้านหลวง ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง และตำบลทุ่งปี้ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 112 ของประเทศไทย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 86 ก ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2552

น้ำตกแม่ยะ

สภาพพื้นที่ของอุทยานฯแม่วางเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาถนนธงชัยตอนกลางที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้เช่นเดียวกับดอยอินทนนท์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 400-1,909 เมตร โดยมีดอยผาตั้งเป็นดอยที่สูงที่สุด แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานฯแห่งนี้มีมากมาย โดยเฉพาะน้ำตกมีมากถึง 9 แห่ง ได้แก่ น้ำตกขุนป๊วย น้ำตกตาดหมอก น้ำตกปลาดุกแดง น้ำตกโป่งน้อย น้ำตกโป่งสมิต น้ำตกผาหม่น น้ำตกเมืองอาง น้ำตกแม่ป๋วย และน้ำตกแม่วาง แต่เป้าหมายของเราในวันนี้คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของภูผาที่มี่ชื่อว่า“ผาช่อ” จากศูนย์ฯมองเห็นได้ชัดเจน หากวัดทางตรงจากสายตาก็ร่วมๆ 400-500 เมตร ซึ่งสมัยก่อนผู้เขียนเคยเดินลัดเลาะแนวป่าบนเนินเขาไปป่ายปีนลงที่ยอดผาช่อ แต่วันนี้มีทางเดินใหม่ โดยทำเป็นบันไดจากศูนย์ฯลงไปยังหุบเขา แล้วแยกขวาลัดเลาะคดเคี้ยวไปตามโตรกผา มีป้ายบอกทางชัดเจน ร่วม10นาทีก็เปลี่ยนเป็นทางขึ้นเนินชันพอควร เมื่อขึ้นมาถึงเนินก็จะมองเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า“ผาช่อ” สูงราว 30 เมตร และมีขนาดกว้างกว่า 100 เมตร มองเห็นลวดลายของตะกอนที่ก่อตัวเป็นชั้นๆอย่างงดงามตา และยังพบรังผึ้งหลวงขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากอยู่ตามหน้าผา

ไม่ต้องใส่คำบรรยาย

บริเวณนี้เคยเป็นเส้นทางเดินของแม่น้ำแม่ปิงมาก่อน สังเกตได้จากกรวดหินกลมมนที่กระจัดกระจายอยู่ในเนื้อดินเป็นจำนวนมาก ได้มีการสะสมตัวของตะกอนเป็นชั้นๆบริเวณขอบแอ่งและเชิงเขาของแนวเทือกเขาถนนธงชัยตอนกลางตั้งแต่ช่วงปลายยุคเทอร์เชียรี ซึ่งเป็นช่วงที่แผ่นทวีปเคลื่อนที่เข้าสู่ตำแหน่งปัจจุบัน(หรือประมาณ 5 ล้านปีก่อน) ต่อมาเกิดการแปรสัณฐานของธรณีทำให้เส้นทางเดินของแม่น้ำแม่ปิงเปลี่ยนไป บริเวณนี้ถูกดันตัวขึ้นกลายเป็นพื้นที่เนินเขาและเนื่องจากว่าตะกอนยุคเทอร์เชียรีมีอายุไม่มากนักจึงยังไม่เปลี่ยนสภาพเป็นหินแข็ง แต่ชั้นของตะกอน หินกรวด และหินทรายที่วางตัวเป็นชั้นสลับกันซึ่งมีคุณสมบัติคงทนต่อการสึกกร่อนต่างกัน เมื่อถูกน้ำกัดเซาะชะล้างหน้าดินทำให้เกิดเป็นหน้าผาและแท่งเสาดินที่มีลวดลายวิจิตรพิสดารสวยงาม เราต่างชื่นชมกับธรรมชาติที่รังสรรค์ขึ้นมาอยู่เนิ่นนานหลายชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ผาช่อ

ความในใจ

แม้ป่าและสัตว์ป่าแฝงอันตรายอยู่บ้าง หากคิดในมุมกลับ มนุษย์ก็เป็นมรดกเฉกเช่นสัตว์ป่าไม่คำรามโฮกงึ่มงั่มดั่งเสือหรือหมีก็จริง แต่ก็ซ่อนความดุร้ายไว้ในคารมปากหวาน หัวใจเชือดเฉือนและรอยยิ้มนิ่มๆอันน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าสัตว์ป่า ในความเป็นจริงคนก็ไม่แตกต่างไปจากสัตว์ ทว่านับถือตัวเองเป็นมนุษย์เดินสองขา มีมันสมองอยู่สูงกว่าทวารหนัก มีวัฒนธรรมในหมู่มนุษย์ด้วยกัน มนุษย์หรือสัตว์เศรษฐกิจอาศัยอยู่ในโพรงแท่งปูน วันเดือนปีผ่านไปบวกกับตัวเลขของจำนวนมนุษย์สูงขึ้น สัตว์มนุษย์ได้ขยายพันธุ์บุกรุกดงหนาป่าแน่น เพื่อแย่งถิ่นของมวลสัตว์อย่างมิได้หยุดยั้ง สัตว์ป่าถูกตามล่าจนหมดสิ้น เพียงเพื่อต้องการเอาเขี้ยว งา เขา หนัง และอื่นๆ ที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลัง เป็นยาบำรุงกามตัณหา หรือนำไปตกแต่งประดับประดาเพื่อเสริมบารมี

คล้ายเสาปราสาทโรมัน

ผาช่อ

บัดนี้ถึงเวลาที่เราควรเปลี่ยนค่านิยมและรู้จักหวงแหนรักษาธรรมชาติไว้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน และจงพึงจำไว้เสมอว่า“ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่กำเนิด หรือ เชื้อชาติ แต่อยู่ที่การกระทำของคนมากกว่า”