เสน่ห์แห่งขุนเขา..ดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่
“ทิวทัศน์ยามเช้าบนยอดดอยหลวงเชียงดาว”
ในช่วงเวลาหนึ่งของความรู้สึกที่เราต้องการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติบนขุนเขาที่สูงเสียดฟ้าซึ่งแฝงไว้ด้วยความสันโดษ..สงบ..และอ่อนโยนเมื่อได้ใกล้ชิด แต่ละคนต่างนึกถึงขุนเขาที่ตนชื่นชอบ และอยากจะขึ้นไปอิงแอบแนบสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ขุนเขาแดนดอยแต่ละแห่งย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีมนต์เสน่ห์ของธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งใครบางคนเมื่อเลือกเป็นคนเดินทาง รอยเท้าของเขาย่อมย่ำผ่านเรื่องราวมากมาย อาจผ่านเขาสูงเสียดฟ้าหรือป่าดงดิบ เพียงเพื่อกลับมาพร้อมคำเล่าขานคล้ายบทตำนานที่ยิ่งใหญ่ หลายคนอาจเงี่ยหูแอบฟังและโหยหาเก็บไว้ฝันใฝ่ คล้ายนั่นคือความหมายอันยิ่งใหญ่ แต่แท้จริงชีวิตผู้คนต่างก็เป็นคนเดินทาง ย่อมพบรอยยิ้มหวานชื่นและรู้รสคราบกรังหยดน้ำตา อีกทั้งผ่านสัมผัสสัจธรรมมากมายจนเกินกว่าจะเป็นตำนาน
ส่วนใหญ่คนทั่วไปรู้จักดอยเชียงดาวว่าต้องขึ้นไปพิชิตยอดดอยหลวงเชียงดาวสักครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยเป็นดอยที่สูงสุดเป็นอันดับ3ของเมืองไทย รองจากดอยอินทนนท์ และดอยผ้าห่มปก รถฯขึ้นไม่ถึงยอดฯ ต้องเดินเท้าด้วยสองขาของตนเองเท่านั้น บนดอยแห่งนี้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ ไม่มีร้านอาหาร ต้องตระเตรียมขนกันไป ไม่มีแหล่งน้ำบนดอย ต้องขนน้ำขึ้นไปและรู้จักใช้อย่างประหยัด ห้องส้วมเป็นแบบส้วมหลุมที่จำต้องใช้ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นยะเยือก บางวันอุณหภูมิก็ติดลบจนหนาวเหน็บปวดกระดูก
“ทุ่งดอกไม้บนดอยกิ่วลม”
ครานี้ข้าพเจ้าจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักเทือกดอยเชียงดาวในอีกมุมมองหนึ่ง คือ เป็นแหล่งรวมพฤกษาจำนวนมากที่หายาก และพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย โดยเฉพาะตามสันเขาและยอดดอยที่มีความสูงกว่า 1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นสังคมพืชแบบกึ่งอัลไพน์(sub-alpine)ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย รวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น กวางผา เลียงผา เป็นต้น
1. นั่งรถฯไต่เขาสู่หน่วยฯขุนห้วยแม่กอก
การเดินทางขึ้นสู่ดอยเชียงดาวในครั้งนี้ เราใช้เส้นทางเดิมเหมือนทุกๆครั้งที่ขึ้นมา คือ เส้นทางสายบ้านแม่นะ ตั้งอยู่บริเวณ กม.70 ของทางหลวงหมายเลข107(สายเชียงใหม่-ฝาง) ทางสายนี้รถจะไต่ลัดเลาะขึ้นสู่ขุนเขาที่คดเคี้ยววกวนไปมาด้วยระยะทาง 27 กม. ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไร อากาศก็ยิ่งหนาวขึ้นกว่าเดิม ร่วม2ชั่วโมงจากถนนใหญ่ หนทางก็มาสิ้นสุดที่หน่วยฯเด่นหญ้าขัด ปัจจุบันหน่วยฯนี้ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น“หน่วยฯขุนห้วยแม่กอก” แต่ชื่อเด่นหญ้าขัดก็ยังคงเป็นชื่อเรียกติดปากของคนท้องถิ่น หน่วยแห่งนี้ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าสนเขา และป่าดิบเขา อันเป็นแหล่งดูนกที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเมืองไทย
“หน่วยฯขุนห้วยแม่กอก”
ณ จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเท้าสู่อ่างสลุง อันเป็นจุดตั้งแค้มป์ที่ทางเขตฯกำหนดไว้เพียงจุดเดียว ระยะทางประมาณ 8.5 กม. ที่สำคัญอ่างสลุงยังเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจะขนน้ำเท่าที่ขนได้จากบ่อน้ำที่ทางหน่วยฯขุดไว้ เพื่อนำขึ้นไปใช้บนดอยเชียงดาวที่ระหว่างทางไม่มีแหล่งน้ำอยู่เลย สำหรับพวกเรานับว่าโชคดีที่“เต”..ไกด์ท้องถิ่นที่มีอัธยาศัยดี และพี่ๆลูกหาบอีกหลายคน ช่วยกันขนน้ำและสัมภาระหนักๆจำพวกเต็นท์และอาหาร ไม่อย่างนั้นเราก็คงได้เดินหลังแอ่นกันแน่
2. เดินเท้าสู่อ่างสลุง
แม้จะเป็นเวลา11โมงเช้า แต่เราก็ทานข้าวห่อมื้อเที่ยงกันที่นี่ เพื่อกำจัดน้ำหนักที่ต้องแบกติดตัวไป สู้ให้ลงไปอยู่ในท้องดีกว่า เดี๋ยวมันก็ย่อยไปเอง ก่อนเที่ยงเราก็เริ่มออกเดินมุ่งหน้าสู่อ่างสลุง ระยะทาง 8.5 กม. หนทางเลียบเลาะไปตามไหล่เขาทางด้านทิศเหนือของหน่วยฯ พบว่ามีการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง(Prunus cerasoides Buch.-Ham. ex D.Don)ไว้ตามสองข้างทางตลอดแนว อีกสัก 5-6 ปี ก็เติบโตสูงใหญ่และออกดอกสีชมพูพร่างพราวงามตา
“เดินเท้าจากหน่วยฯสู่อ่างสลุง”
ตามรายทางจะพบไม้ล้มลุกหลากชนิดที่ออกดอก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกไก่น้อย(Justicia diffusa Willd.)ดอกสีขาว สีขาวอมชมพู สีชมพู หรือสีชมพูอมม่วง มะแหลบ(Peucedanum dhana Buch.-Ham. ex C.B.Clarke)ดอกสีขาวถึงสีเหลืองจางอมเขียว นางจอย(Aster ageratoides Turcz subsp. alato-petiolata Kitamura)ดอกสีขาวแซมเหลือง ต่างหูขาว(Duhaldea nervosa A. Anderb)ดอกสีขาว พู่ม่วง(Koyamasia calcarea H.Rob.)ดอกสีม่วง สีชมพู หรือสีขาว หนาดทอง(Laphangium affine Tzvelev)ดอกสีเหลืองสด หรือสีเหลืองทอง คำยอด(Youngia japonica DC.)ดอกสีเหลืองสด หญ้าข้าวตอก(Isodon lophanthoides H.Hara)ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพูระเรื่อๆ เป็นต้น
ราว15นาทีต่อมาก็ถึงแนวสันเขาที่เชื่อมต่อระหว่างหน่วยฯเด่นหญ้าขัดกับดอยสามพี่น้อง บริเวณนี้เต็มไปด้วยสนสามใบ(Pinus kesiya Royle ex Gordon)ขึ้นอยู่เรียงราย แซมด้วยต้นสารภีป่า(Anneslea fragrans Wall.)ดอกสีขาว สีขาวครีม หรือสีขาวแกมชมพู และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ
คนท้องถิ่นเรียกแนวสันเขานี้ว่า“สันป่าเกี๊ยะ” คำว่า“เกี๊ยะ”เป็นคำพื้นเมืองที่หมายถึงสนเขานั่นเอง สิ่งที่เห็นจะดูสะดุดตามากที่สุดตามทางช่วงนี้คงจะเป็นต้นสนสามใบขนาดใหญ่ต้นหนึ่งที่บริเวณลำต้นใกล้พื้นดิน มีลักษณะบวมพองโตรอบลำต้น ดูราวกับต้นไม้ท้องยังไงยังงั้น ซึ่งแท้ที่จริงมันเกิดจากแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิดที่ทำให้เกิดปุ่มปมดังกล่าวขึ้นมา
“ทิวทัศน์ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสันป่าเกี๊ยะ”
ตามลำต้นสนสามใบจะมีกล้วยไม้หลายชนิดเกาะอาศัยอยู่มากมาย แต่ไม่มีชนิดใดเลยที่ออกดอก แม้แต่เอื้องแซะดอยปุยหรือเอื้องแซะหม่น(Dendrobium bellatulum)ที่เคยพบออกดอกปีที่แล้ว ก็ไม่มีให้เห็น
ไม้พื้นล่างบริเวณสันป่าเกี๊ยะที่ออกดอกในช่วงนี้ก็มีวนารมย์(Campylotropis sulcata Schindl.)ดอกสีชมพูอมม่วง หรือสีม่วงอมชมพู หนาดคำ(Desmodium oblongum Benth.)ดอกสีม่วง หรือสีม่วงอมขาวแกมชมพู Himalaiell peguensis ไม้ล้มลุกวงศ์ ASTERACEAE ที่ไม่มีชื่อไทย ดอกสีขาวครีม หนาดคำ(Senecio sp.)ดอกสีเหลือง และ Campylotropis decora (Kurz) Schindl. ไม้พุ่มวงศ์ FABACEAE ที่ไม่มีชื่อไทย ดอกสีฟ้าอมม่วง หรือสีน้ำเงินอมม่วง
“ดอยสามพี่น้อง ลูกใต้สุด สูง 2,060 เมตรจากระดับน้ำทะเล”
สายลมที่พัดรวยรินมาเบาๆประกอบกับอากาศที่ค่อนข้างเย็นสบาย ทำให้เรารู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าไม่น้อย ด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางที่ค่อยๆลาดลงไป ส่วนด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นหน้าผาตัดชันดิก มองเห็นป่าสนเบื้องล่างขึ้นอยู่เป็นดงแน่นขนัด ไกลออกไปเป็นภูเขาที่ตรงส่วนยอดมีลักษณะเว้าๆแหว่งๆราวกับถูกตัด ชาวบ้านเรียกว่า“กิ่วแว่น” หากมองไปทางเบื้องหน้าตามแนวสันเขาที่ทอดยาวก็จะเห็นภูเขาหัวโล้นลูกหนึ่งชูยอดสูงเด่นตระหง่านตา นั่นแหละคือยอดดอยลูกหนึ่งของดอยสามพี่น้อง ดูๆแล้วใกล้ตา แต่แท้จริงแล้วมันยังอีกไกลพอสมควร ดั่งคำพูดที่ว่า“ใกล้ตา..ไกลตีน”
จากสันป่าเกี๊ยะ เส้นทางเลาะไปตามทางแคบๆของไหล่เขาที่ค่อยๆลาดชันขึ้นไปๆ หลายคนหยุดเป็นระยะๆเพื่อคลายเหนื่อยและปรับลมหายใจให้เข้ากับสภาพอากาศที่เริ่มเบาบางลง พบมะแปบวอ(Haymondia wallichii A.N.Egan & B.Pan)ดอกสีขาวอมชมพู ขึ้นอยู่หนาแน่น และมีปรงเขา(Cycas pectinata Buch.-Ham.)ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย พืชชนิดนี้เป็นปาล์มดึกดำบรรพ์ที่ทนแล้งทนร้อนได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะไฟป่า การนับอายุของปรงเขาก็นับตามข้อรอบลำต้น ขนาดต้นเล็กๆที่สูงเพียง1เมตรก็มีอายุร่วมร้อยปีแล้ว
“บัวตอง ไม้ต่างประเทศที่แพร่กระจายไปทั่ว”
ราวชั่วโมงครึ่งของการเดินทางเราก็มาถึงดงหินที่เป็นแหล่งอาศัยหนาแน่นของเทียนนกแก้ว(Impatiens psittacina Hook.f.) ดอกมีรูปร่างคล้ายนกแก้วกำลังกางปีกบินดูสวยงามสะดุดตา ดอกสีม่วงแกมแดงและขาว หรือสีชมพูเข้มแกมแดงและขาว ปัจจุบันมีรายงานการพบในเมืองไทยเฉพาะบนดอยแห่งนี้เท่านั้น
ทุกคนต่างเพลิดเพลินกับการบันทึกภาพอย่างมิรู้เหนื่อย แต่ก็ต้องคอยระวังไม่ให้ร่างกายสัมผัสต้นตำแยช้าง(Girardinia diversifolia Friis)ที่ขึ้นกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณนี้ เพราะ“ขนที่ปกคลุมทุกส่วนของต้น” ชาวบ้านเรียกว่า“ขนขวาก” มีพิษ หากเราสัมผัสจะก่อให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ซึ่งจะปวดมากหรือปวดน้อยขึ้นอยู่กับว่าผิวหนังของเราถูกมากน้อยแค่ไหน บริเวณผิวหนังนั้นเป็นส่วนอ่อนหรือส่วนหนา และแต่ละคนย่อมมีภูมิแพ้และภูมิป้องกันที่ต่างกันไป เมื่อได้รับพิษจากไม้ชนิดนี้ควรป้องกันไม่ให้บาดแผลถูกน้ำ เพราะน้ำจะช่วยทำให้พิษกระจายไปได้รวดเร็วและเจ็บปวดมากขึ้น วิธีรักษาก็ใช้ยาทาแก้คันแบบขี้ผึ้ง แบบครีม แบบน้ำ หรือไอโอดีนอย่างแรงทาบริเวณแผลให้ทั่ว อาการเจ็บปวดจะค่อยทุเลาลง แต่หากใช้ปูนที่กินกับหมากพอกลงบนแผลจะทำให้อาการเจ็บปวดหายเร็วขึ้น
“ซ้ายคือดอยนาเลา ขวาคือดอยเหนือ”
จากนี้เดินผ่านดงทานตะวันที่ขึ้นรกเรื้ออยู่สองข้างทางไปอีกเล็กน้อยก็ถึงพื้นที่ราบตรงตีนดอยสามพี่น้อง ซึ่งจะพบร่องรอยการทำไร่ของชาวม้งบนดอยแห่งนี้จากต้นท้อ(Prunus persica)ที่ขึ้นอยู่ประปราย สมัยก่อนเราเคยใช้บริเวณนี้เป็นที่พักแรม แต่เดี๋ยวนี้ทางเขตฯคงอนุญาตให้พักแรมได้เฉพาะบริเวณอ่างสลุงเท่านั้น ซึ่งยังมีเวลาอีกมากโขกว่าตะวันจะลับฟ้า เราจึงเดินมุ่งหน้าต่อไปทางทิศเหนือ
ตามทางพบพรรณไม้ป่าให้ได้ชื่นชมหลากชนิด ทั้งอังกาบ(Barleria cristata L.)ดอกสีม่วง เครือข้าวตอก(Aerva sanguinolenta Bl.)ดอกสีขาวนวลถึงสีม่วงอ่อน Bupleurum longifolium L. พืชวงศ์เดียวกับผักชีที่ไม่มีชื่อไทย ดอกสีเขียวอมเหลือง ผักเบี้ยดิน(Lobelia angulata G.Forst.)ดอกสีม่วง ผักปลาบใบกว้าง(Commelina benghalensis L.)ดอกสีม่วง ฝอยหิน(Cyanotis arachnoidea Wight)ดอกสีชมพู สีม่วงอมขาว สีม่วงอมน้ำเงิน จนถึงสีม่วง ผักปราบเขียว(Rhopalephora scaberrima R. B. Faden)ดอกสีม่วง หรือสีฟ้าอมม่วง มันฤาษี(Argyreia splendens Sweet)ดอกม่วงอมชมพู เครือเขาคำ(Cuscuta reflexa Roxb.)ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมในตอนเช้า พุงเครือแดง(Dinetus racemosus Sweet)ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตานฟัก(Crotalaria ferruginea Benth.)ดอกสีเหลือง เถาข้าวปอง(Shuteria involucrata Wight & Arn.)ดอกสีขาวอมชมพู หญ้าปลวกดิน(Isodon lophanthoides var. graciliflorus H.Hara)ดอกสีขาวอมชมพู หรือสีขาวอมม่วง หญ้าหัวเสือ(Leucas ciliata Benth.)ดอกสีขาว เป็นต้น
“แยกปางวัว”
ครู่ใหญ่เราก็ถึงแยกปางวัวที่เป็นแยกด้านซ้ายมือ ซึ่งทางเขตฯกำหนดให้ใช้เป็นทางขึ้นลงได้อีกจุดหนึ่ง ทางขึ้นด้านนี้จะใกล้กว่าจากหน่วยฯขุนห้วยแม่กอกประมาณ 2 กม. แต่เป็นทางขึ้นลงที่ค่อนข้างชัน ส่วนทางลงบ้านถ้ำที่อยู่บนดอยกิ่วลมนั้น ทางเขตฯประกาศยกเลิก ห้ามใช้แล้ว
พบนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มที่เดินขึ้นมาทางปางวัวในสภาพมอมแมมไปด้วยดิน เนื่องจากทางขึ้นบางช่วงชุ่มไปด้วยน้ำค้าง ทำให้พื้นดินเปียกแฉะและลื่น หลายคนคงจะใช้มือช่วยปีนป่ายขึ้นมา มีไม่น้อยที่ก้นเปื้อนดินเป็นปื้นทีเดียว ก็ได้อรรถรสไปอีกแบบ ส่วนคณะของเราขอขึ้นลงทางหน่วยฯเด่นหญ้าขัดดีกว่า เพราะต้องเซฟหัวเข่าและข้อเท้าไว้ใช้เดินป่าให้นานแสนนานเท่าที่จะทำได้
บริเวณนี้จะพบมหากาฬน้อย(Scutellaria discolor Wall. ex Benth.)ดอกสีม่วง และสาวสนม(Sonerila sp.)ดอกสีชมพู ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย โดยเฉพาะหูเสือกาบใหญ่(Plectranthus bracteatus Suddee)ขึ้นอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ดอกสีม่วงอมขาว จนถึงสีม่วง
ทางเดินช่วงต่อมา แม้จะเป็นช่วงเวลาเกือบบ่าย2โมงแล้ว แต่ทางเดินและพุ่มไม้สองข้างทาง โดยเฉพาะวัชพืชจำพวกสาบหมาหรือหญ้าตรงดำ(Ageratina adenophora R.M.King & H.Rob.)ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นก็ยังชื้นแฉะไปด้วยน้ำค้าง ทำให้ทางเดินค่อนข้างลื่น และเสื้อผ้าของเราก็ชุ่มเปียกไปตามๆกันจากน้ำค้าง ยิ่งยามนี้อากาศลดลงมาเหลือเพียง 12-13 องศาฯ จึงทำให้รู้สึกหนาวสั่นไม่น้อย
“ลัดเลาะราวป่าสู่ทิศเหนือ”
ในช่วงฤดูร้อนสาบหมาจะออกดอกสีขาว ทำให้ทั่วทั้งดอยดูขาวโพลนไปหมด แต่ก่อนสาบหมาบนดอยแห่งนี้มีน้อยมาก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศบนดอยแห่งนี้ ทำให้มันแพร่พันธุ์กระจัดกระจายไปทั่วทั้งดอย ซึ่งจากบทความเรื่อง“การอนุรักษ์พรรณไม้เขตอบอุ่นและสังคมพืชภูเขากึ่งอัลไพน์บนดอยเชียงดาว”ของ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ได้กล่าวไว้ว่า“ผลกระทบจาการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา โดยเฉพาะการทำไร่ฝิ่น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมพืชภูเขาและพรรณพฤกษชาติดั้งเดิมไปเป็นสังคมวัชพืชภูเขาหรือทุ่งวัชพืชส่วนพรรณไม้เขตอบอุ่นและกึ่งอัลไพน์หลายชนิดได้เริ่มสาปสูญหรือพบเห็นน้อยมาก สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ระยะออกดอก ผล และเมล็ดของพรรณไม้สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ อยู่ในช่วงเวลาที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม อันเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ชาวเขามักทำการจุดไฟเผาไร่หรือป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย การแพร่พันธุ์ของพรรณไม้เหล่านี้จึงมีขีดจำกัด อีกทั้งพื้นดินที่ร่วนซุยเมื่อปราศจากสิ่งปกคลุมภายหลังจากการเผาไร่ จึงถูกน้ำชะล้างได้ง่าย ทำให้ดินและหินบนที่ลาดชันพังทลายต่อเนื่องกัน ส่งผลกระทบไปถึงการเปลี่ยนสภาพสังคมพืชอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
หลายคนอาจจะสงสัยคำว่า“พรรณไม้กึ่งอัลไพน์”ก็ขออธิบายชี้แจงให้เข้าใจกันเสียก่อนว่า สังคมพืชอัลไพน์ คือ สังคมพืชที่ไม่มีไม้ยืนต้น นอกจากพืชล้มลุก เป็นสังคมพืชที่อยู่เหนือแนวเขตป่าไม้หรือเหนือเส้นรุ้งที่ประมาณ 60 องศาเหนือ และ 60 องศาใต้ สังคมพืชอัลไพน์มีลักษณะคล้ายสวนหินธรรมชาติ(Rock Garden) แต่ทั้งนี้ประเทศในภูมิภาคเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตรที่มียอดเขาสูงประมาณ 4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ก็สามารถมีสังคมพืชอัลไพน์ได้เช่นกัน เนื่องจากบนพื้นที่สูงๆ อุณหภูมิจะลดลงสัมพันธ์กับระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยความสูงของยอดเขาจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์แล้ว บรรดาภูเขาสูงๆในประเทศไทยยังคงอยู่ในแนวเขตป่าไม้ทั้งสิ้น ดังนั้นบริเวณยอดเขาจึงจะถูกปกคลุมด้วยสังคมพืชป่าดิบเขา มีลักษณะโครงสร้างของไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีเรือนยอดชิดติดกัน เช่น บนยอดดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก ทั้งสองเป็นภูเขา(หินแกรนิต)ที่สูงเป็นอันดับ1และ2ของเมืองไทยตามลำดับ แต่สังคมพืชบนดอยเชียงดาวที่สูงเพียงอันดับ3ของเมืองไทย กลับแสดงลักษณะคล้ายกับสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ประกอบด้วยพืชล้มลุกและไม้พุ่มเตี้ยเป็นส่วนใหญ่ มีไม้ใหญ่เพียงน้อยชนิดขึ้นอยู่ห่างๆกระจัดกระจาย ได้แก่ ค้อเชียงดาว(Trachycarpus oreophilus Gibbons & Spanner) และชมพูพาน(Wightia speciosissima Merr.) ทั้งนี้เนื่องจากสภาพื้นที่ที่เป็นหินปูนในระดับสูงประกอบกับสภาพภูมิอากาศบริเวณยอดเขาที่แปรปรวนตลอดปี เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดลักษณะสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ดังกล่าว
“ดอยเหนือ สูงจากระดับน้ำทะเล 2,175 เมตร”
อาจกล่าวได้ว่าสังคมพืชกึ่งอัลไพน์บนดอยเชียงดาวเป็นสังคมพืชที่อยู่ในภาวะสมดุลของปัจจัยต่างๆร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยเกี่ยวกับดิน ภูมิอากาศ และสภาพภูมิประเทศ ซึ่งสังคมพืชเช่นนี้มีแนวโน้มเปลี่ยนหรือหมดสภาพได้ง่ายกว่าสังคมพืชแบบอื่นๆเมื่อถูกรบกวนหรือได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆจนเป็นสาเหตุให้สังคมพืชกึ่งอัลไพน์เสียภาวะสมดุลดั่งเช่นสภาพการณ์บนดอยเชียงดาวในปัจจุบัน
นอกจากนี้บนพื้นที่ดอยเชียงดาวตั้งแต่ความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป จะพบพรรณไม้เขตอบอุ่นหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นพรรณไม้เขตอบอุ่นที่แพร่พันธุ์ลงมาจากซีกโลกตอนเหนือของภูมิภาค Indo-Burmese และ South Chinese หรือ Indo-Himalayan ซึ่งบางชนิดยังได้แพร่กระจายต่อลงไปทางตอนใต้ เช่น ดอยสุเทพ-ดอยปุย ดอยอินทนนท์ ฯลฯ แต่บางชนิดมีเขตการกระจายพันธุ์ลงมาสิ้นสุดที่ดอยเชียงดาวเท่านั้น และยังมีพรรณไม้เขตอบอุ่นและอัลไพน์อีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นไม้ประจำถิ่น ซึ่งพบขึ้นอยู่บนดอยเชียงดาวเท่านั้น
“ดอยนาเลา”
หนทางยังคงพาเราลัดเลาะขึ้นๆลงๆมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ โดยมีภูเขาโอบล้อมอยู่เกือบทุกด้าน ขวามือเป็นดอยสามพี่น้อง(ที่มียอดดอย3ลูก มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,150 เมตร 2,080 เมตร และ 2,060 เมตร ตามลำดับไล่เรียงลงมาจากทิศเหนือ) ซ้ายมือเป็นดอยนาเลาที่มีป่าดิบเขาขึ้นอยู่หนาแน่นตรงบริเวณตีนเขา โดยมีต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอกสีชมพูแซมไปทั่ว ส่วนข้างหน้าเป็นดอยเหนือหรือดอยพีระมิด สูง 2,175 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพราะมองจากมุมนี้จะมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมพีระมิดกำลังอวดชูยอดเด่นตระหง่านตา
เกือบชั่วโมงเราก็มาหยุดพักเหนื่อยที่ดงน้อย บริเวณนี้ร่มรื่นไปด้วยเงาของดอยสามพี่น้องลูกซ้ายมือและเคยใช้เป็นจุดพักแรมในอดีต ตามทางเบื้องหน้าจะเห็นหนทางลาดชันหายไปในทุ่งหญ้าคาที่สูงท่วมหัว มีแนวเขาหินปูนขนาดใหญ่โอบล้อมดูราวกับเป็นปราการขวางกั้น คนท้องถิ่นเรียกว่า“หัวรถบัส” ซึ่งดูอย่างไรก็ไม่เหมือน แต่อย่างน้อยก็ทำให้มีชื่อเรียกขานและรู้ว่าถึงจุดไหนของการเดินทางสู่อ่างสลุงอันเป็นจุดหมาย เพียงข้ามกิ่วเขาลูกนี้ไปก็ใกล้ถึงแล้ว แต่กว่าจะเดินข้ามได้ ต้องใช้แรงกายแรงใจไม่ใช่น้อย เราจึงหยุดพักออมแรง
ลมบริสุทธิ์ที่โชยพัดพามาแผ่วๆ ยินเสียงนกหลากหลายชนิดร้องขับขานกันดังเซ็งแซ่ ทำให้เรารู้สึกสดชื่นและมีความสุขที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางแดนดอยพงไพรแห่งนี้ แต่ยิ่งนั่งนานก็ยิ่งหนาวจากอากาศที่ลดลง เพียง10นาทีเราก็จำต้องเดินเท้าแบกเป้สัมภาระกันต่อไป
“ขึ้นกิ่วหัวรถบัส”
หนทางที่ลาดชัน และน้ำหนักของสัมภาระบนหลัง ทำให้เราต้องใช้มือทั้งสองข้างจับเป้ฯให้กระชับกับตัว แล้วก้าวย่างเท้าขึ้นไปทีละช่วงๆ ส่วนใบหน้าก็คอยหลบหลีกใบหญ้าคาคมกริบที่ขึ้นปกคลุมท่วมหัวตลอดสองข้างทางแต่ก็ไม่วายที่จะโดนประปรายพอแสบๆคันๆ ตามทางช่วงนี้จะพบชมพูพิมพ์ใจ(Luculia gratissima Sweet)อยู่เป็นระยะๆ เป็นไม้พุ่ม สูง 1.5-2.5 เมตร กำลังออกดอกสีชมพู หรือสีชมพูอ่อน และส่งกลิ่นหอมเย้ายวนใจ แต่กว่าจะบันทึกภาพได้ก็ต้องหยุดพักให้หายเหนื่อยเสียก่อน
“ซากฟอสซิลของหอยงวงช้าง”
ร่วม20นาทีก็ถึงไหล่เขา มีลักษณะเป็นที่ราบเล็กๆ มีก้อนหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด ก้อนที่เตี้ยๆก็มีนักท่องเที่ยวใช้เป็นที่นั่งพักเหนื่อย ซึ่งมีอยู่ก้อนหนึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่าดินแดนแห่งนี้เคยอยู่ใต้ท้องทะเลมาก่อน เพราะมีซากฟอสซิลของหอยงวงช้างอยู่ในก้อนหิน เกิดจากการทับถมของตะกอนทะเลและซากสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูนเมื่อเนิ่นนานราว 230-250 ล้านปี ในยุคเพอร์เมียน(Permian) จนเมื่อหินปูนเหล่านั้นถูกแรงบีบอัดและเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกครั้งรุนแรงหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งรุนแรงหลังสุดในยุคเทอร์เทียรี(Tertiary)หรือเมื่อประมาณ 80 ล้านปีมาแล้ว ทำให้พื้นที่บางส่วนยกตัวขึ้นมากลายเป็นภูเขา แอ่งที่ราบ และหุบเขาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้
![]() “พักเหนื่อยใต้ต้นชมพูพาน” |
![]() “ค้อเชียงดาวขึ้นกระจัดกระจายตามไหล่ผา” |
เมื่อพักหายเหนื่อยดีแล้ว เราก็เดินฝ่าความสูงชันกันต่อไป เขาหินปูนแต่ละลูกนั้นมองมุมหนึ่งก็เป็นรูปร่างหนึ่ง แต่เมื่อเดินผ่านไปแล้วหันกลับมาก็เป็นอีกรูปหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือตามไหล่ผาที่ลาดชันมีไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม คือ ค้อเชียงดาว(Trachycarpus oreophilus Gibbons & Spanner) เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย พบขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนตามโขดหินปูนริมทางเดิน หากสังเกตให้ดีก็จะพบไม้ล้มลุกขนาดเล็กชูช่อดอกสีเหลืองสดใสอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นฟองหินเหลือง(Sedum susannae Raym.-Hamet) ช่อศิลา(Phtheirospermum parishii Hook. f.) ต่างไก่แจ้(Polygala umbonata W. G. Craib) ส่วนไม้ใหญ่ที่ออกดอกช่วงนี้และเด่นสะดุดตามากๆก็คือชมพูพาน(Wightia speciosissima Merr.) ดอกสีชมพู หรือสีชมพูอมม่วง ซึ่งยามนี้มีนกหลายชนิดกำลังสนุกสนานกับการกินน้ำหวานในดอกอย่างเอร็ดอร่อย ราวกับงานเลี้ยงบุฟเฟ่ต์
|
![]() “ตามไหล่ดอยเป็นพื้นที่ลาดชัน ประกอบด้วยหินขรุขระและ |
ผ่านช่องกิ่วเขาก็พบบัวทอง(Hypericum hookerianum Weight & Arn.) ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ออกดอกสีเหลืองทองบานสะพรั่งเต็มต้น ส่วนตามพื้นจะพบนางอั้วดอย(Exacum sutaepense Hosseus ex Craib) ดอกสีม่วง สีชมพู หรือสีขาวอมม่วง และดอกดินแดง(Aeginetia indica L.) เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝาก กำลังเริ่มผลิดอกสีชมพูอมแดง จากทุ่งหญ้าโล่งเข้าสู่“ดงเย็น” มีลักษณะเป็นป่าดิบเขาร่มครึ้มที่แทบจะไม่มีแสงตะวันเล็ดลอดผ่านลงมา ตามกิ่งก้านและลำต้นของไม้น้อยใหญ่จะมีมอสส์ เฟิน และพืชอิงอาศัยจับเกาะหนาแน่นราวกับต้นไม้ใส่เสื้อ สภาพอากาศก็ลดลงกว่าเดิม เหงื่อที่ชุ่มกายราวกับเพิ่งอาบน้ำมาทำให้เรารู้สึกยะเยือกหนาวสั่น พบดอกตัวผู้และดอกตัวเมียของกากหมากตาฤาษี(Balanophora fungosa J.R. et G.Forst. subsp. indica B.Hansen) เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝากที่อาศัยเกาะกินน้ำและอาหารอยู่บนรากพืชในวงศ์ LEGUMINOSAEและวงศ์ VITIDACEAE
ทะลุออกจากป่าดิบเข้าสู่ทุ่งหญ้า มองเห็นดอยกิ่วลมอยู่ด้านขวามือ ส่วนเบื้องหน้าเป็นยอดดอยหลวงเชียงดาวอวดยอดตัดกับท้องฟ้าสีเข้มเด่นสะดุดตา มีนักท่องเที่ยวหลายคนอยู่บนยอด และอีกไม่น้อยที่กำลังเดินทยอยขึ้นไปสู่ยอด เพื่อชมทิวทัศน์ โดยเฉพาะช่วงตะวันลาลับฟ้า
“ทะลุออกจากดงเย็น”
ไม่กี่นาทีต่อมาก็พบทางแยกซ้ายขวา ทางขวาเป็นทางไปดอยกิ่วลม เราเดินไปทางซ้ายเพียงเล็กน้อยก็ถึงจุดที่เรียกว่า“อ่างสลุง” เป็นลานโล่งกว้างที่ใช้เป็นจุดพักแรม ซึ่งมีเต็นท์หลากสีสันกางอยู่เต็มไปหมด ส่วนแค้มป์ของเรานั้นน้องเต(ไกด์ท้องถิ่น)ได้เลือกทำเลเลยไปอีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นลานเล็กๆเหมาะสำหรับกลุ่มของเรา
อ่างสลุง(เป็นคำพื้นเมืองที่ใช้เรียกภาชนะทีมีลักษณะปากกลมก้นลึก) หมายถึง หลุมบ่อที่เกิดจากการที่น้ำฝนซึ่งเจือด้วยกรดคาร์บอนิคไหลผ่านหินปูนและละลายหินเหล่านั้นไปจนเกิดเป็นหลุมเป็นบ่อ กล่าวได้ว่าเป็นระบบลุ่มน้ำภายในของดอยเชียงดาวที่ทางน้ำจะไม่ปรากฏบนพื้นผิว หากแต่ไหลซึมลงสู่ใต้ดิน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหินปูน ทำให้พื้นดินไม่สามารถรองรับน้ำไว้ได้ ดอยเชียงดาวจึงไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำหรับนักเดินทางที่ขึ้นมาตั้งแค้มป์ คงมีแต่แหล่งน้ำซึมน้ำซับเท่านั้น ส่วนลำห้วยลำธารจะอยู่รอบๆบริเวณป่าด้านล่างที่มีลักษณะเป็นภูเขาหินทราย หินดินดาน และหินแกรนิต
อ่างสลุงบนดอยแห่งนี้มีอยู่2แห่ง แห่งหนึ่งอยู่บริเวณนี้ อีกแห่งหนึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของดอย ซึ่งแต่ละแห่งจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 หลุม
3. ตะวันลาลับบนยอดดอยหลวงเชียงดาว
จากจุดตั้งแค้มป์ มองเห็นยอดดอยหลวงเชียงดาวสูงเด่นท้าทายจิตใจของนักเดินทางให้ขึ้นไปพิชิต ท่ามกลางท้องฟ้าสีครามเข้มไร้ขี้เมฆสักก้อน ซึ่งลักษณะของท้องฟ้าเช่นนี้บ่งบอกให้เรารู้ว่าคืนนี้อากาศจะหนาวจัดเป็นพิเศษ แต่ก็เอาอะไรแน่นอนไม่ได้ ณ ดินแดนแห่งนี้ ด้วยบ่อยครั้งที่มีหมอกลงหนาจัดจนมองไม่เห็นพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น บางปีก็มีหมอกปกคลุมทั้งวันทั้งคืน ลืมเรื่องชมตะวันตกตะวันขึ้นไปได้เลย
“ยอดดอยหลวงเชียงดาว”
ราว5โมงเย็นหลังจากเตรียมชุดกันหนาว ไฟฉาย และเติมน้ำให้เต็มกระติกแล้ว พวกเราก็เริ่มเดินขึ้นสู่ยอดดอยหลวงฯ หนทางจะเลียบเลาะตีนดอยหลวงฯไปทางทิศตะวันออกประมาณ 300-400 เมตร จากนั้นก็ไต่เขาขึ้นไปตามทางที่ชันตลอด ทางขึ้นค่อนข้างแคบ พื้นเป็นดินร่วนซุย และบางช่วงมีก้อนหินขนาดใหญ่ให้ปีนป่าย ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างช้าๆ และระมัดระวัง ถึงกระนั้นก็ยังมีคนลื่นหกล้ม บ้างก็ถูกหินปูนเกี่ยวกางเกงยีนส์ที่ว่าหนาๆขาดเป็นรูโหว่
ตามทางเดินขึ้นจะพบพรรณไม้ออกดอกบานสะพรั่งหลากสีสันให้ชื่นชมคลายเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นแอสเตอร์เชียงดาว(Aster vestitus Franch.) ดอกสีขาว ขาวปั้น(Pterocephalodes siamensis V. Mayer & Ehrend.) เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย ดอกสีขาวอมชมพู หรือสีชมพูอ่อน ฟองหินเหลือง(Sedum susannae Raym.-Hamet) ดอกสีเหลืองสด สะเภาลม(Agapetes hosseana Diels.) ดอกสีแดงเข้ม ฉัตรประทัดแดง(Colquhounia coccinea var. mollis Prain) ดอกสีแดงอมส้ม หญ้าข้าวตอก(Isodon lophanthoides H.Hara) ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพูระเรื่อๆ ชมพูเชียงดาว(Pedicularis siamensis P.C.Tsoong) ดอกสีชมพู สีชมพูแกมม่วง หรือสีม่วงเข้ม ช่อศิลา(Phtheirospermum parishii Hook. f.) ดอกสีเหลืองสด ชมพูพิมพ์ใจ(Luculia gratissima Sweet) ดอกสีชมพู หรือสีชมพูอ่อน กลิ่นหอม และราชาวดีหลวง(Buddleja macrostachya Benth.) ดอกสีชมพูอมม่วง
“แค้มป์เล็กๆของพวกเรา”
ความสูงชันราว 60-75 องศาฯ ทำให้เราต้องเดินๆหยุดๆเป็นช่วงๆเพื่อปรับสภาพร่างกาย ยิ่งสูง..หูก็ยิ่งอื้อ จนต้องลอบกลืนน้ำลายเพื่อไล่ลมออกจากหู ในที่สุดเราก็ขึ้นมาถึงยอดดอยหลวงเชียงดาวที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,225 เมตร บนยอดมีที่ราบผืนเล็กๆทอดตัวจากทิศตะวันออกไปทางทิศเหนือ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัวและกว้างไกล ท่ามกลางลมหนาวที่พัดกรรโชกอย่างรุนแรงจนหูอื้อและหน้าชาไปหมด
บนดอยมีค้อเชียงดาวขึ้นอยู่ประปราย และมีไม้พุ่มเตี้ยๆขึ้นอยู่ตามแนวขอบผาทางด้านทิศเหนือจนถึงด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้เขียนเคยใช้เป็นที่กำบังลมด้วยการมุดเข้าไปนอนค้างคืนบนยอดดอยในสมัยก่อน
“ตะวันใกล้ลาลับ แต่สายหมอกยังฟุ้งกระจาย”
ด้านทิศเหนือของดอยหลวงฯเป็นดอยนาง ไกลออกไปเป็นดอยผ้าห่มปกที่ชูยอดสูงเสียดฟ้า ด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นดอยเหนือ ไกลออกไปเป็นดอยอินทนนท์ที่มีเมฆหมอกปกคลุมยอดเขา ด้านตะวันตกเป็นดอยสามพี่น้องที่อวด3ยอดเด่นเป็นสง่าดูน่าเกรงขาม และด้านตะวันออกเป็นดอยกิ่วลม ไกลออกไปเป็นเทือกเขาผีปันน้ำ
เวลาคืบคลานผ่านไปทีละนิดๆ จากท้องฟ้าแจ่มใสไร้ขี้เมฆ เริ่มมีสายหมอกลอยขึ้นมาเป็นสายและฟุ้งไปทั่ว ได้แต่ภาวนาว่าจะมีลมแรงมาหอบเอาสายหมอกให้จางหายไป ส่วนขอบฟ้าด้านตะวันตกเริ่มมีก้อนเมฆเคลื่อนคล้อยเข้ามา ตะวันก็เริ่มทอแสงอ่อนลงและสาดแสงส่องกระทบหินปูนและทุ่งหญ้าตามไหล่ผาของยอดดอยเป็นหน้าผาสีทองที่งดงาม ราว6โมงเย็นเศษๆดวงอาทิตย์ก็เริ่มคล้อยต่ำลับฟ้าทีละนิดๆเหนือยอดดอยสามพี่น้อง จนกระทั่งแสงตะวันแทบจะหมดสิ้นไปจากผืนป่าแห่งนี้ พวกเราต่างรีบทยอยเดินลงเขากลับสู่แค้มป์ก่อนที่จะมืดค่ำจนมองอะไรไม่เห็น แม้ว่าจะมีไฟฉายติดตัวทุกคนก็ตามเถอะ แต่การเดินป่าในที่มืดๆไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยิ่งเป็นการลงเขาที่ชันแสนชันเช่นนี้ด้วยแล้ว อย่าริพยายามจะดีกว่า
“วันนี้ขอบฟ้าไม่สวยงามเหมือนคราก่อน”
เพียงแค่หัวค่ำ..อากาศก็เริ่มหนาวสั่นลดลงเหลือ 2 องศาฯ ครั้นจะพึ่งพาไออุ่นจากกองไฟก็ทำไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันทางเขตฯไม่อนุญาตให้ก่อกองไฟแล้ว ยิ่งดึกอากาศก็ยิ่งลดลงเรื่อยๆจนปวดตามข้อกระดูกไปหมด ตามใบหน้าและมือก็เย็นชาจนเจ็บไปหมด นี่แหละที่เขาเรียกกันว่าหนาวจนกัดกระดูก ขนาดสวมเสื้อกางเกงคนละ 2-3 ชั้น ก็ยังเอาแทบไม่อยู่ ต่างจึงหนีลมหนาว เข้าไปนอนหลับในเต็นท์และใช้ถุงนอนห่มคลุมอีกชั้นหนึ่ง ส่วนตัวข้าพเจ้าที่ชินชากับปูผ้านอนใต้เพิง ไม่ชอบนอนในเต็นท์ ก็นอนมองดูทะเลดาวที่เจิดจรัสอยู่เต็มท้องฟ้า ก่อนจะหลับผล็อยไปในที่สุด
4. ชมตะวันขึ้นและกวางผาบนยอดดอยหลวงเชียงดาว
![]() “ส่องไฟขึ้นยอดดอยฯ” |
![]() “หนาวแค่ไหนก็ต้องทน” |
ก่อนตี5เล็กน้อยก็ตื่นขึ้นมาด้วยความเคยชิน ซึ่งน้องเต..ไกด์ท้องถิ่นที่ตื่นมาก่อนล่วงหน้านานแล้วก็ยกกาน้ำร้อนมาให้ เขารู้ว่าข้าพเจ้าเป็นคนชอบดื่มกาแฟแทบจะทุกเวลา ไม่นานเพื่อนผองน้องพี่ก็ทยอยออกมาจากเต็นท์ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า“หนาวมากๆ” บ้างก็บอกว่า“หลับๆตื่นๆด้วยความหนาว” หลังจากได้รองท้องด้วยเครื่องดื่มร้อนๆและขนมปัง ราวตี5ครึ่งก็เดินขึ้นสู่ยอดดอยหลวงฯกันอีกครั้งเพื่อชมตะวันขึ้น และหากโชคดีอาจได้พบทะเลหมอก โดยปกตินักท่องเที่ยวจะไปชมตะวันขึ้นและทะเลหมอกบนดอยกิ่วลมที่อยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งยามนี้มองเห็นแสงไฟฉายสาดส่องเป็นทางยาวเหยียดจากทุ่งหญ้าแนวป่าในอ่างสลุงไปจนถึงยอดกิ่วลม แสดงว่ามีนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมกันเป็นจำนวนมาก แต่พวกเราเห็นว่านอนที่นี่2คืน พรุ่งนี้เช้าค่อยไปชมบนดอยกิ่วลมก็ได้ อีกทั้งบนยอดดอยหลวงฯในยามเช้ามีโอกาสสูงที่จะได้พบเห็นกวางผาหรือม้าเทวดาออกมากินใบไม้ยอดไม้อ่อนบนกิ่วป่าคาที่อยู่ใกล้กับดอยเหนือ
![]() “ส่วนขอบฟ้าที่สว่างที่สุดคือบริเวณที่ตะวันขึ้น“ |
![]() “ตะวันขึ้น“ |
หัวรุ่งเช่นนี้การเดินขึ้นยอดดอยหลวงฯค่อนข้างเหนื่อยง่ายเป็นพิเศษ เพราะอากาศที่หนาวแห้งประกอบกับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่กันหนาวหนามากจนดูอุ้ยอ้ายเชื่องช้า มีนักท่องเที่ยวไม่น้อยที่คิดเช่นเดียวกับเรา ต่างขึ้นมาบนยอดดอยหลวงฯเช่นเดียวกัน เท่าที่พูดคุยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่นอนค้าง2คืน กว่า20นาทีเล็กน้อยก็ถึงยอดดอยฯ ลมหนาวพัดรุนแรงยิ่งกว่าข้างล่าง มองดูขอบฟ้าด้านตะวันออกแล้วคงอีกนานกว่าดวงตะวันจะโผล่แรกแย้ม เราจึงนำเตาแก๊สแค้มปิ้งขนาดเล็กที่แบกขึ้นมา นำมาต้มน้ำชงเครื่องดื่มร้อนๆแก้หนาว แต่กว่าจะเดือดก็ใช้เวลามากกว่าที่อ่างสลุงร่วม 2-3 เท่าตัว ทันทีที่น้ำเดือด ต่างก็ชงเครื่องดื่มร้อนๆไปจิบแก้หนาว บ้างก็นำไปแนบตามร่างกายให้คลายหนาว เป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมงที่ทนหนาวเหน็บของลมหนาว ดวงตะวันสีแดงส้มก็ค่อยๆลอยตัวขึ้นสูงเหนือเทือกเขาผีปันน้ำ พอพ้นขอบฟ้าก็สว่างจ้าเรืองรอง โดยมีสายหมอกฟุ้งกระจายปกคลุมไปทั่ว
![]() “อรุณสวัสดิ์ยามเช้า“ |
![]() “สายหมอกปกคลุมไปทั่วดอย“ |
แสงตะวันที่สาดส่องค่อยๆไล่สายหมอกที่ฟุ้งกระจายให้หายไป ทำให้เรามองเห็นยอดดอยโดยรอบได้ชัดขึ้น มองเห็นทะเลหมอกขาวโพลนหนาแน่นขึ้นอยู่รายรอบตามหุบเขาช่องเขา เมื่อเพ็งมองไปที่ดอยหนอกที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(หรืออยู่ด้านหน้าของดอยเหนือเมื่อมองจากยอดดอยหลวงฯ) แรกๆก็ไม่แน่ใจว่าใช่กวางผาหรือไม่ ใช้กล้องฯติดซูม300ก็ยังไม่ชัดพอ ต้องใช้กล้องส่องทางๆไกลส่องดูจึงรู้ว่าใช่แน่ กวางผา(Chinese Goral) 2 ตัว กำลังเดินกินยอดอ่อนของไม้พุ่มอย่างเอร็ดอร่อยบนยอดดอย เสียงชัตเตอร์ของนักถ่ายภาพที่เฝ้ารอคอยดังลั่นระรัว ส่วนของข้าพเจ้านั้นมีซูมฯยาวสุดเพียงแค่ 300 ก็ได้ภาพไม่ชัดนัก ถึงกระนั้นก็เป็นความภูมิใจที่สามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ได้
![]() “ทะเลหมอกเหนือตัวเมืองเชียงดาว“ |
![]() “ตากล้องฯกำลังบันทึกภาพกวางผา“ |
เวลาแห่งความสุขผ่านไปอย่างรวดเร็ว เกือบ9โมงเช้าพวกเราก็เดินลงดอยกลับสู่แค้มป์ ซึ่งกว่าจะถึงแค้มป์ เสื้อผ้าแต่ละคนต่างก็ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำค้างตามสุมทุมพุ่มไม้สองข้างทาง หลังทานอาหารเช้า เราก็เดินย่อยๆด้วยการเดินชมนกรอบๆอ่างสลุง ซึ่งยามนี้เหล่านกวิหคต่างออกมาเริงร่ารับแสงแดดด้วยการส่งเสียงร้องอย่างเริงร่า บ้างก็เพลิดเพลินกับการหาอาหารรองท้องในยามเช้า นกที่พบก็มีทั้งนกจาบปีกอ่อนสีกุหลาบ(Common Rosefinch) นกจับแมลงสีฟ้า(Verditer Flycatcher) นกปรอดหงอนปากหนา(Crested Finchbill) นกหางรำดำ(Dark-backed Sibia) นกแว่นตาข้าวสีข้างแดง(Chestnut-flanked White-eye) โดยเฉพาะนกปรอดเทาหัวขาว(White-headed Bulbul)ที่พบอยู่เป็นฝูงใหญ่ เวลาบินร่อนก็ไปเป็นฝูง โฉบเฉี่ยวไปมาดูสวยงามเพลินตา
![]() “ซ้ายคือดอยสามพี่น้อง ขวาด้านหน้าคือดอยหนอก และขวาด้านหลังคือดอยเหนือ“ |
![]() “ลงจากยอดดอยหลวงฯสู่แค้มป์“ |
5. สวนพฤกษาบนดอยกิ่วลม
10โมงครึ่ง เราก็เดินทางสู่ดอยกิ่วลม อันเป็นแหล่งที่มีพรรณไม้กึ่งอัลไพน์ที่ค่อนข้างมีมากเป็นพิเศษอีกแห่งหนึ่งบนดอย โดยเดินเลาะไปตามทางเล็กๆสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากชมพูพิมพ์ใจที่ขึ้นกระจัดกระจายและส่งกลิ่นหอมไปทั่วป่าแล้ว เรายังพบครามป่า(Indigofera dosua Buch.-Ham. ex D. Don) ออกดอกสีชมพูอมม่วง เจอราเนียมเชียงดาว(Geranium lambertii ssp. siamensis) ดอกสีม่วง สีชมพูอ่อน หรือสีชมพูอมม่วง โดยเฉพาะพืชวงศ์ GENTIANACEAE พบถึง 3 ชนิด ได้แก่ หรีดเชียงดาว(Gentiana leptoclada subsp. australis Halda) ดอกสีม่วง สีม่วงอมน้ำเงิน หรือสีม่วงอมฟ้า หญ้าดอกลายเชียงดาว(Swertia chiangdaoensis P. Suksathan) ดอกสีม่วงอ่อน และหญ้าดาวลาย(Swertia striata Collett & Hemsl.) ดอกสีขาวและมีลายเส้นสีม่วงเข้มเป็นขีดๆตามความยาวของกลีบดอก
![]() “นักท่องเที่ยวบางกลุ่มทยอยเดินลงดอย“ |
![]() “ดอยกิ่วลมลูกเหนือและลูกใต้“ |
ทางเดินค่อนข้างราบเรียบพาเรามาถึงตีนดอยกิ่วลม อันเป็นบริเวณที่มีป่าดิบเขาผืนใหญ่แน่นขนัด ไม้แต่ละต้นต่างถูกปกคลุมหนาแน่นไปด้วยมอสส์ เฟิน และพืชอิงอาศัย บ่งบอกได้ดีถึงความชุ่มชื้นสูง จากนี้เป็นทางป่ายปีนขึ้นกิ่วเขา ที่ใช้คำว่าป่ายปีนก็เพราะทางขึ้นชื้นแฉะไปด้วยน้ำค้าง และมีร่องรอยลื่นไถลจากการเดินขึ้นลงเมื่อเช้านี้ ดังนั้นเราต้องใช้มือแต่ละข้างให้เป็นประโยชน์ในการเกาะต้นไม้รากไม้ดึงเหนี่ยวรั้งพาตัวขึ้นไป ระยะทางจากตีนดอยถึงกิ่วเขาไม่เกิน 300 เมตร แต่ด้วยหนทางที่ลำบากไม่น้อย ทำให้ต่างต้องช่วยเหลือกันและกันค่อยๆไต่ขึ้นไป ตามคาคบไม้จะพบเอื้องหงอนไก่(Aeschynanthus fulgens Wall. ex R. Br.)ออกผลห้อยระย้า และผลของพืชสกุล Hedychium วงศ์ ZINGIBERACEAE
ใช้เวลาราว 15 นาที ก็ถึงกิ่วเขาหรือช่องเขาที่เชื่อมต่อระหว่างดอยกิ่วลมลูกเหนือและลูกใต้ บริเวณนี้ดาษดื่นไปด้วยดอกสีคราม สีฟ้าเข้มแกมน้ำเงินอ่อน สีครามขาว หรือสีขาวแกมฟ้าของต้นฟ้าคราม(Ceratostigma stapfianum Hosseus)ที่ขึ้นหนาแน่นเป็นพิเศษ แซมด้วยดอกสีขาว สีขาวแกมเหลืองอ่อน หรือสีครีมของเหยื่อเลียงผา(Impatiens kerriae Craib) และดอกสีม่วงของ Strobilanthes falconeri T.Anderson ซึ่งไม่มีชื่อไทย
จากจุดนี้ทางด้านตะวันออกจะมองเห็นตัวเมืองเชียงดาวอยู่เบื้องล่าง และหากสังเกตให้ดีจะพบทางเดินเล็กๆตัดลงสู่หุบเขาเบื้องล่าง แม้ว่าวันนี้จะมีไม้ขึ้นรกเรื้อหนาแน่น แต่ก็ยังพอมองเห็นร่องรอยเก่าได้ อันเป็นทางลงสู่บ้านถ้ำที่เราเคยใช้มากว่า20ครั้ง
![]() “ดอยกิ่วลมลูกใต้“ |
![]() “จากซ้ายไปขวา..ดอยเหนือ ดอยหนอก และยอดดอยหลวงฯ“ |
เราตัดสินใจแยกขึ้นดอยกิ่วลมลูกใต้ก่อน แล้วค่อยกลับมาขึ้นลูกเหนือ ทางเดินขึ้นลูกใต้ค่อนข้างชันและลื่น แต่ทุกคนก็ขึ้นมากันจนได้ บนดอยเต็มไปด้วยก้อนหินปูนน้อยใหญ่ ตามซอกหินมีพรรณไม้นานาชนิด ทั้งแอสเตอร์เชียงดาว ขาวปั้น เทียนเชียงดาว หนาดคำ ฟองหินเหลือง ช่อศิลา หรีดเชียงดาว หญ้าดอกลายเชียงดาว หญ้าดาวลาย เจอราเนียมเชียงดาว ฉัตรประทัดแดง หญ้าข้าวตอก และต่างไก่แจ้ คงมีเพียงชนิดเดียวที่เพิ่งพบนอกเหนือจากเมื่อวานนี้และเช้าวันนี้ คือ บั้งม่วงเชียงดาว(Cicerbita chiangdaoensis H. Koyama) ดอกแรกบานมีสีฟ้าอ่อน แล้วเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเข้ม สีฟ้าอมม่วง และสีม่วงในที่สุด และสะพ้านก้น(Sigesbeckia orientalis Linn.) ออกดอกสีเหลืองสด ส่วนไม้พุ่มและไม้ยืนต้นที่ออกดอกก็มีสะเภาลม ส่วนกุหลาบเชียงดาว(Rhododendron ludwigianum Hosseus)นั้น เพิ่งผลิดอกตูมขนาดเล็ก ราวๆกลางเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จึงจะบานเต็มต้น
![]() “ลานโล่งบนดอยกิ่วลมลูกใต้“ |
![]() “อำเภอเชียงดาว“ |
ลัดเลาะกันมาก็ถึงพื้นที่ราบเล็กๆบนยอดกิ่วลมลูกใต้ ตามไม้ใหญ่จะพบเอื้องตาเหิน(Dendrobium infundibulum Lindl.) ออกดอกสีขาว ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ ส่วนตามพื้นป่าจะพบฮ่อมดอย(Strobilanthes dimorphotricha Hance) ออกดอกสีม่วงอ่อน
แต่เดิมลานแห่งนี้มีไม้ใหญ่แผ่เรือนยอดหนาแน่นช่วยกำบังลมเป็นอย่างดี แต่จากการท่องเที่ยวที่ไร้การควบคุมดูแลที่ดีพอ ต่างตัดกิ่งไม้ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้มาทำกองไฟหุงหาอาหารและให้ความอบอุ่นเมื่อขึ้นมาตั้งแค้มป์บนดอยนี้ นั่นเป็นเหตุผลที่ทางเขตฯประกาศห้ามตั้งแค้มป์บนดอยกิ่วลม เวลาผ่านไปกว่า10ปี ไม้ใหญ่บนดอยที่เติบโตค่อนข้างช้ายังแผ่เรือนยอดไม่เท่าในอดีต แต่เชื่อว่าเมื่อปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ อีกไม่นานก็คงกลับมาดั่งเดิม ขอเพียงแต่ไม่ลักลอบขึ้นไปทำลายกันอีกก็พอ
![]() “มื้อเที่ยงที่แสนอร่อย“ |
![]() “จากลูกใต้สู่ลูกเหนือที่อยู่ด้านหน้า“ |
เราเดินไปตามทางเล็กสู่ทิศตะวันตก อันเป็นยอดดอยลูกเล็กๆของดอยกิ่วลมลูกใต้ ก็จะพบทุ่งดอกไม้หลากสีสันละลานตา โดยเฉพาะชมพูเชียงดาวออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งอยู่หนาแน่นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ก็ยังได้พบเอื้องน้ำต้นเชียงดาว(Calanthe simplex Seidenf.) ออกดอกสีเหลืองอมเขียว สีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวอ่อน เป็นกล้วยไม้ดินที่มีรายงานการพบเฉพาะบนดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เท่านั้น
เกือบเที่ยงน้องเต..ไกด์ท้องถิ่นผู้น่ารักก็แบกข้าวห่อมื้อเที่ยงพร้อมน้ำดื่มมาให้เราทานกันบนดอย เป็นมื้อเที่ยงที่อร่อยมาก ได้ชมวิวทิวทัศน์รอบตัว ภายใต้ท้องฟ้าสีคราม และลมหนาวที่ยังคงพร่างพรูไม่หยุดนิ่ง ครู่ใหญ่เราก็ลงดอยกิ่วลมลูกใต้ไปที่กิ่วเขาแล้วขึ้นดอยกิ่วลมลูกเหนือ เพื่อเสาะหาพรรณไม้ที่ชื่นชอบ พบว่าบนดอยลูกนี้ก็มีคล้ายๆลูกใต้ แต่ที่ต่างไปก็คือ พบอังกาบเชียงดาว(Strobilanthes chiangdaoensiss H. Terao) ขึ้นอยู่เป็นกอใหญ่ ออกดอกสีม่วง และพบเอื้องน้ำต้น(Calanthe cardioglossa Schltr.) อิงอาศัยอยู่ตามโคนต้นไม้ ดอกสีแดงเข้ม สีแดงค่อนข้างม่วง สีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม สีบานเย็น หรือสีขาวอมชมพู ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีเหลืองอ่อนเมื่อใกล้โรย
![]() “ริมผาบนดอยกิ่วลมลูกเหนือ“ |
![]() “ลงจากดอยกิ่วลมสู่อ่างสลุง“ |
6. สำรวจพรรณไม้รอบๆอ่างสลุง
ร่วมบ่าย2โมงจึงเดินลงดอยกลับสู่แค้มป์ ดื่มน้ำทานขนมและนั่งคุยสักพัก หลายคนก็หลับไปด้วยความอ่อนเพลีย ส่วนข้าพเจ้าไม่เคยชินกับการนอนกลางวัน จึงเดินสำรวจพรรณไม้รอบๆพื้นที่ ก็พบพรรณไม้ที่แตกต่างจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นไม้เลื้อยอย่างบุกเลื้อย(Arisaema sp.) ที่ออกผลสีสันสดใส ถั่วเพรียว(Dolichos tenuicaulis Craib) ออกดอกสีม่วง หรือสีม่วงอมชมพู และพริกไทยป่า(Piper sp.)ที่ออกผลสีสด ไม้ล้มลุกก็มีช้างผา(Koyamasia curtisii Bunwong, Chantar. & S. C. Keeley var. curtisii) แต่กลีบดอกร่วงโรยและกำลังเป็นผล และดอกสีม่วงอ่อนของจอกฤาษี(Paraboea strobilacea C. Puglisi) พบพืชเบียนหรือพืชกาฝากวงศ์ OROBANCHACEAE อาศัยเกาะกินน้ำและอาหารอยู่บนรากไม้อื่นในทุ่งหญ้า 2 ชนิด ได้แก่ มะหิ่งดอย(Alectra arvensis Merr.) ดอกสีเหลือง และโสภา(Sopubia trifida Buch.-Ham. ex D. Don) ดอกสีเหลือง หรือสีม่วงอมชมพู ไม้พุ่มที่พบก็มีหมักก้ากดอยสุเทพ(Zanthoxylum acanthopodium DC.) ดอกสีเขียวซีดอมเหลือง ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยง ป่านตำแย(Boehmeria clidemioides Miq.)ที่ออกผลคล้ายวุ้น ดูสะดุดตา และไข่ปลา(Debregeasia longifolia Wedd.) ออกผลติดกันแน่นเป็นก้อน สีแสด หรือสีส้มอมแดง ส่วนไม้ยืนต้นก็มีมะขม(Pittosporum kerrii W. G. Craib) ออกผลรูปกลมแป้น ซึ่งหากมาในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม จะพบดอกสีเหลืองอ่อน ส่งกลิ่นหอม
“ป่าตีนดอยกิ่วลม”
นอกจากนี้ยังได้พบไม้ต่างประเทศหลากชนิดที่แพร่กระจายไปทั่วบนดอยแห่งนี้ เช่น ปืนนกไส้(Bidens pilosa L.) ตีนตุ๊กแก(Tridax procumbens L.) ผักเผ็ดแม้ว(Crassocephalum crepidioides S.Moore) สาบเสือ(Chromolaena odorata R.M.King & H.Rob.) สาบแร้งสาบกา(Ageratum conyzoides L.) สาบหมา(Ageratina adenophora R.M.King & H.Rob.) หนาดขาว(Anaphalis margaritacea Benth. & Hook.f.) และบัวตอง(Tithonia diversifolia A.Gray)
7. อีกครั้งกับทิวทัศน์บนยอดดอยหลวงเชียงดาว
ก่อน5โมงเย็นเล็กน้อย พวกเราก็ตกลงที่จะขึ้นไปชมทิวทัศน์บนยอดดอยหลวงเชียงดาวกันอีกครั้ง ด้วยหวังว่าจะมีโอกาสได้ยลโฉมกวางผาอีกสักครา ยามนี้แสงแดดยังสว่างไสว แต่อากาศเยือกเย็น เพราะเป็นภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในที่สูง ทุกอย่างค่อนข้างเงียบสงัด เพราะมีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มเดินทางลงไปตั้งแต่ยามสายแล้ว คงเหลือบนดอยไม่ถึง 30 คน และที่เดินขึ้นมาบนยอดดอยก็เพียง10กว่าคน ท้องฟ้ายังคงสีฟ้าเข้ม ไร้ก้อนเมฆ และลมก็ไม่รุนแรงเหมือนวันวาน หากสภาพอากาศยังเป็นเช่นนี้บ่งบอกว่าคืนนี้มีน้ำค้างตกหนักแน่นอน
![]() “แค้มป์อ่างสลุง ด้านหลังคือดอยกิ่วลมลูกเหนือและลูกใต้“ |
![]() “ยามเย็นบนไหล่เขายอดดอยหลวงฯ“ |
แต่แล้วสิ่งที่แน่นอนก็ไม่แน่นอน เมื่อท้องฟ้าที่สดใสกระจ่างก็เริ่มมีหมู่เมฆเคลื่อนคล้อยมาบดบังตามยอดดอยต่างๆ ลมหอบเอาสายหมอกขาวฟุ้งกระจายไปทั่ว ขณะดวงตะวันที่อยู่ในก้อนเมฆกำลังเคลื่อนคล้อยต่ำลง หมดหวังเสียแล้วกับการได้ชมตะวันลับฟ้าในวันนี้ ช่วงที่กำลังตัดสินใจว่าจะลงจากยอดดอยหรือรอคอยชมแสงขอบฟ้า ก็ได้ยินเสียงผองเพื่อนเรียกให้หันไปดูทางดอยกิ่วลมลูกเหนือ พบว่าเป็นกวางผากำลังเดินอยู่บนสันดอยแคบๆ ชั่วอึดใจกวางผาก็เดินลับสันเขาไปทางหน้าผาอีกด้าน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่ก็สร้างความอิ่มเอมในใจให้แก่ผู้เขียนที่ได้พบเห็นอีกครั้ง หวังว่าเจ้าจะมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข และมีลูกหลานออกมาเคียงคู่ดอยแห่งนี้ไปอีกนานเท่านาน
![]() “ก่อนตะวันลับหายไปในก้อนเมฆ“ |
![]() “มื้อค่ำใต้แสงเทียน“ |
ลงมาถึงตีนยอดดอย ดวงตะวันอัสดงไปแล้ว คงทิ้งไว้แต่ริ้วรอยของเส้นขอบฟ้าที่มีสีสันสวยงามเกินคำบรรยาย เพียงหัวค่ำดวงดาวก็เฉิดฉายกระจ่างนภา ไม่นานทุกอย่างก็ตกอยู่ในความมืดดำสนิท อาหารเย็นมื้อนี้ไม่รู้ว่าอร่อยหรือหิวโหยหนักหนา เพราะต่างทานกันคนละ 2-3 จาน ก่อนตบท้ายด้วยเครื่องดื่มร้อนๆเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น จากนั้นส่วนใหญ่ก็ขอแยกตัวไปนอนพักผ่อน คงเหลือเพียงไม่กี่คนที่นั่งพูดคุยสัพเพเหระไปทั่ว เวลาล่วงเลยผ่านไปนานหลายชั่วโมง เมื่อมองดูท้องฟ้าก็เต็มไปด้วยความสุกสกาวของดวงดาวที่มีอยู่เกลื่อนกลาดละลานตา มันดูใกล้ราวกับว่าสามารถเอื้อมมือคว้าเอามาได้ นี่กระมังที่เป็นที่มาของคำว่า“ดอยเปียงดาว” เป็นคำพื้นเมืองที่หมายถึงดอยเพียงดาว หรือดอยที่มีความสูงเพียงดาว ก่อนจะเพี้ยนกลายมาเป็นดอยเชียงดาวในที่สุด
8. แล้วพบกันใหม่..ดอยหลวงเชียงดาว
รุ่งสางตื่นขึ้นมาด้วยความหนาวจัดของอากาศ เพียงเดินออกไปนอกเพิงก็พบ“เหมยขาบ”ปกคลุมขาวโพลนตามยอดหญ้าและใบไม้ โดยเฉพาะตามพื้น เหมยขาบเป็นภาษาคนเหนือที่เรียกน้ำค้างแข็ง ส่วนคำว่า“แม่คะนิ้ง”เป็นคำท้องถิ่นของคน จ.เลย นั่นแสดงว่าอุณหภูมิยอดหญ้าต่ำกว่า 0 องศาฯ หลายคนดีใจต่างลุกมาถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน
“เหมยขาบหรือน้ำค้างแข็งตามยอดหญ้า”
ข้าพเจ้ามองทิวทัศน์รอบๆตัวอีกครั้งอย่างดื่มด่ำกับบรรยากาศของอ้อมกอดขุนเขาที่ยิ่งใหญ่อย่างสุขใจ ท่ามกลางสายลมหนาวที่พัดผ่านบาดผิวกายจนสะท้านยะเยือก วันนี้แล้วซินะที่เราจะเดินลงจากเทือกเขาที่เป็นดินแดนของพรรณไม้กึ่งอัลไพน์เพียงแห่งเดียวในเมืองไทย แต่ไม่รู้ว่าพรรณไม้เหล่านี้จะคงอยู่คู่กับดอยเชียงดาวอีกนานแค่ไหน ในเมื่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่ขึ้นดอยเชียงดาวมีจำนวนมาก แต่มีคุณภาพน้อย หรือไม่รู้จักการท่องเที่ยวอย่างอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งขยะที่ทิ้งเรี่ยราดตามรายทางเดิน บริเวณแค้มป์ และการเดินลุยแหวกดงไม้เข้าไปถ่ายพรรณไม้ที่ต้องการ หารู้ไม่ว่าได้เหยียบพรรณไม้พื้นล่างที่หายากจนตายสนิท คงได้แต่วาดหวังว่าเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ฯเชียงดาวทุกท่านที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่แห่งนี้จะรีบวางมาตรการควบคุมและแก้ไขให้ทันท่วงที ก่อนที่มันจะกลายเป็นเพียงตำนานบทหนึ่งของประวัติศาสตร์พรรณไม้แห่งเมืองไทย ซึ่งบันทึกไว้ว่าเคยมีพรรณไม้ที่หายากอยู่บนดอยเชียงดาว แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว
“จากอ่างสลุงเข้าสู่ดงเย็น”
ราว7โมงครึ่ง เมื่อแสงตะวันสาดส่องไปทั่วผืนป่า พวกเราก็เก็บแค้มป์และเดินทางย้อนกลับสู่หน่วยฯขุนห้วยแม่กอกตามทางเดิมที่เดินมาในวันแรก ไม่ได้ลงเขาตามทางปางวัวเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วๆไป ขากลับทำเวลาได้ดีกว่าขามา เนื่องจากเป็นทางลงซะส่วนใหญ่ มีขึ้นก็แถวสันป่าเกี๊ยะที่พอเรียกเหงื่อชุ่มหลังได้ไม่น้อย
9. เรื่องน่ารู้ของดอยเชียงดาว
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว(เป็นเขตรักษาพันธุ์ฯลำดับที่19ของเมืองไทย แต่เป็นเขตรักษาพันธุ์ฯแห่งแรกของ จ.เชียงใหม่) ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง ต.เมืองงาย ต.เมืองคอง ต.เชียงดาว และ ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 521 ตร.กม. หรือ 325,3625 ไร่ เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์และสำคัญของแม่น้ำปิง
“ดอยสามพี่น้อง..มองจากกิ่วหัวรถบัส”
ยอดดอยสูงในพื้นที่แห่งนี้ก็มีดอยเชียงดาว สูงจากระดับน้ำทะเล 2,225 เมตร(สูงเป็นอันดับ3ของเมืองไทย รองจากดอยอินทนนท์ และดอยผ้าห่มปก แต่หากนับความสูงเฉพาะภูเขาหินปูน ดอยเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในเมืองไทย) ดอยกิ่วลมมีความสูง 2,140 เมตร ดอยเหนือ(หรือดอยพีระมิด)มีความสูง 2,175 เมตร ดอยหนอกมีความสูง 2,000 เมตร และดอยสามพี่น้องมีความสูง 2,150 เมตร 2,080 เมตร และ 2,060 เมตร ตามลำดับ
ในสมัยโบราณชาวบ้านเรียกดอยเชียงดาวว่า“อ่างสลุง” เชื่อกันตามตำนานเมืองเชียงใหม่ว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อมพระอรหันต์ 8 รูป ทรงลงสรงน้ำในสลุงทองคำหรือบริเวณอ่างสลุงนั่นเอง ชาวบ้านในอดีตมักมีคำกล่าวถึงดอยอ่างสลุงว่า“มีความสูงเพียงเดือนเพียงดาว” บ้างเรียกดอยแห่งนี้ว่า“ดอยหลวง” เนื่องจากเป็นดอยที่มีขนาดสูงใหญ่ ต่อมามีการประสมคำกันใหม่เป็น“ดอยหลวงเพียงดาว” ก่อนกลายมาเป็น“ดอยหลวงเชียงดาว”ในปัจจุบัน
![]() “ดวงตะวันกับสายหมอกในยามเช้า“ |
![]() “ทะเลหมอกเหนือหุบเขาเมืองคอง“ |
ในอดีตเกือบ30ปีมาแล้ว ดอยเชียงดาวถูกคุกคามอย่างหนักมาโดยตลอดจากการทำไร่ฝิ่น การหาของป่า และจากนักท่องเที่ยว สำหรับการทำไร่ฝิ่นและการหาของป่านั้นขอไม่กล่าวถึง เพราะปัจจุบันไม่มีการกระทำเช่นนั้นแล้ว คงเหลือแต่การกระทำของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อชมความสวยงามทิวทัศน์บนดอย และสัมผัสความหนาวเหน็บของอากาศ แม้ว่าทางเขตฯจะห้ามก่อกองไฟ เพื่อป้องกันการตัดไม้ยืนต้นมาทำเชื้อเพลิงให้ความอบอุ่นและหุงหาอาหาร แต่ปัญหาขยะที่แม้จะควบคุมกวดขันแล้ว ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้สำเร็จ คงพบเห็นเศษขยะสิ่งปฏิกูลต่างๆได้เป็นระยะๆตามเส้นทางเดิน โดยเฉพาะบริเวณแค้มป์ที่อ่างสลุง และนักท่องเที่ยวไม่น้อยที่ยังขาดจิตสำนึกในการท่องเที่ยว เดินเหยียบย่ำพรรณไม้เพื่อเข้าไปให้ใกล้ชิดได้มากที่สุด บ้างก็เด็ดดอกไม้ไปเป็นของที่ระลึก เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการทำลายระบบนิเวศดอยเชียงดาว และมีผลโดยตรงต่อการลดลงของจำนวนประชากรพรรณพืชและสัตว์ป่า
10. การเดินทาง และสิ่งอำนวยความสะดวก
จากเชียงใหม่เดินทางสู่ อ.เชียงดาว ตามทางหลวงหมายเลข 107 ผ่าน อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว ระยะทาง 72 กม. ก็จะพบทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ถ้ำเชียงดาวอีกราว 5 กม. ผ่านถ้ำเชียงดาวให้ตรงต่อไปตามทางสู่สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง เพียงแค่ 2 กม. ก็จะพบที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ฯเชียงดาวตั้งอยู่เนินด้านขวามือ
![]() “เกือบ10โมงเช้า ยอดหญ้ายังชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำค้าง“ |
![]() “สันป่าเกี๊ยะ หลังดอยลูกข้างหน้าคือหน่วยฯขุนห้วยแม่กอก“ |
ปกติทางเขตฯจะเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เขตรักษาพันธุ์ฯเชียงดาว ตู้ ปณ.12 อ.เชียงดาว เชียงใหม่ 50170 หรือทาง Facebook เพียงพิมพ์คำว่า..เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ก็จะพบแล้ว
ขอย้ำว่าบนดอยแห่งนี้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีร้านอาหารไว้รองรับ ต้องตระเตรียมไปให้พอเพียง โดยเฉพาะเตาแก๊ส เนื่องจากทางเขตฯห้ามก่อกองไฟอย่างเด็ดขาด ไม่มีแหล่งน้ำบนดอย ทำให้ต้องขนน้ำขึ้นไปและต้องรู้จักใช้อย่างประหยัด อากาศที่หนาวเย็นยะเยือกนั้นบางครั้งก็หนาวจนปวดกระดูก จึงจำต้องเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้ครบครัน รวมทั้งหยูกยาและไฟฉาย และควรออกกำลังกายล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์
![]() “นั่งรถลงดอยฯสู่ตัวเมืองเชียงดาว“ |
![]() “ดอยเชียงดาว มองจากถนนสายเชียงใหม่-เชียงดาว |
ส่วนการติดต่อคนนำทาง ลูกหาบ รวมทั้งรถกระบะที่ใช้เดินทางจากอำเภอเชียงดาวขึ้นหน่วยฯขุนห้วยแม่กอก หรือจะไปเริ่มต้นเดินที่ปางวัว สามารถติดต่อได้ที่เขตฯเช่นเดียวกัน หรือจะติดต่อ“เต” เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว เป็นคนนำทางที่ข้าพเจ้าใช้เป็นประจำมากว่า 20 ปี ก็ได้ โทร.08-5720-2179 หรือติดต่อทาง Facebook โดยพิมพ์คำว่า..เต สัตว์ป่า