พรรณไม้และสัตว์ป่า..ผาตั้ง ภูชี้ดาว ภูชี้ฟ้า ภูลังกา และแม่ยม

ภูชี้ดาว

                             ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนและทีมงานได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ จ.เชียงราย จ.พะเยา และ จ.แพร่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ผาตั้ง ภูชี้ดาว ภูชี้ฟ้า วนอุทยานภูลังกา และอุทยานฯแม่ยม

ภูชี้ฟ้า

ผาตั้ง

                             ภูชี้ดาว..เป็นจุดชมวิวธรรมชาติ ตั้งอยู่ที่ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ระหว่างภูชี้ฟ้าและดอยผาตั้ง(ตามทางหลวงหมายเลข 1093) มีความสูงจากระดับทะเลฯประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งสูงกว่าภูชี้ฟ้า(สูงจากระดับทะเลฯ 1,628 เมตร) และดอยผาตั้ง(สูงจากระดับทะเลฯ 1,635 เมตร) สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบตัว ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว ที่นี่มีจุดชมวิวที่สวยงามกว่าภูชี้ฟ้าและผาตั้ง

วนอุทยานภูลังกา

                             วนอุทยานภูลังกา ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา เป็นเทือกเขาสลับซ้อนกันอยู่ในเทือกเขาสันปันน้ำ มีความสูงจากระดับทะเลฯ 900-1,720 เมตร

แก่งเสือเต้น อุทยานฯแม่ยม

                             อุทยานแห่งชาติแม่ยม เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ ครอบคลุมพื้นที่ระหว่าง อำเภองาว จังหวัดลำปาง และ อำเภอสอง จังหวัดแพร่

ตลอดการเดินทาง4วัน3คืน ทีมงานได้บันทึกภาพพรรณไม้ป่า(13 ชนิด) สัตว์ป่า(1 ชนิด) ผีเสื้อกลางวัน(6 ชนิด) แมลงปอ/แมลงปอเข็ม(4 ชนิด) และนก(4 ชนิด)


พรรณไม้ป่า


บันทึกภาพได้ 13 ชนิด(เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผล/ต้นที่เด่นสะดุดตา) ได้แก่

1. หญ้าก้านพวง

ชื่อท้องถิ่น : กระจุกไก่ , ขาไก่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rostellularia procumbens (L.) Nees

วงศ์ : Acanthaceae

หญ้าก้านพวง

                             ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 50-80 ซม. บางครั้งพบทอดนอนแล้วชูยอดสูงขึ้น ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบตอนบนและปลายยอด ช่อละ 10-15 ดอก ขนาดอก 0.6-0.7 ซม. ดอกสีชมพูอมม่วง สีม่วง หรือสีขาว ออกดอกเกือบตลอดปี พบมากในราวเดือนตุลาคม – เดือนมีนาคมฃ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 28 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งในป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 700 เมตร ขึ้นไป ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

2. สารเงิน

ชื่อท้องถิ่น : หนาดฝอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acilepis divergens (DC.) H.Rob. & Skvarla

วงศ์ : Asteraceae

สารเงิน

                             ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่งมีขนนุ่มหนาแน่น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นตามซอกใบและปลายกิ่ง มี 6-10 ช่อย่อย ช่อย่อยรูประฆัง ยาว 1-1.1 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็ก 6-10 ดอก รวมกันเป็นช่อกระจุกแน่น ดอกสีม่วง ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายหลอดดอกแยกเป็น5แฉก ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนเมษายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 38 ชนิด ในไทยพบ 18 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,850 เมตร ทางภาคเหนือ , จ.เลย และ จ.กาญจนบุรี

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม

3. ขางเชียงดาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Synotis cappa var. parishii (Hook.f.) H.Koyama

วงศ์ : Asteraceae

ขางเชียงดาว

                             ไม้พุ่ม สูงได้กว่า 1 เมตร ลำต้นมีขนสั้นหนานุ่มสีขาวหนาแน่น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งและยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีเหลือง ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 61 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่โล่งในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,500-2,300 เมตร ทางภาคเหนือ ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ แต่ผู้เขียนพบที่ จ.พะเยา(ซึ่งคิดว่าน่าจะใช่)

แพร่กระจายในเมียนมา และไทย

4. ข้าวสารค่าง

ชื่อท้องถิ่น : ตุ๊กตู่(เชียงใหม่ , ชลบุรี) ; อีบี้(สุโขทัย) ; ตุ๊กตู่(ชลบุรี) ; วิวี่ , อีหวี่(ปราจีนบุรี) ; ผักแต๋นแต้(ลพบุรี) ; หวี่หวี่(สระบุรี) ; ขะล๊านข่าง(ชุมพร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cardiopteris quinqueloba (Hassk.) Hassk.

วงศ์ : Cardiopteridaceae

ผลของข้าวสารค่าง

                             ไม้เลื้อยอายุฤดูเดียว พาดพันต้นไม้อื่น ลำต้นกลมหรือค่อนข้างแบน แตกกิ่งก้านมากมายและทอดยาวได้ 2-5 เมตร ทุกส่วนของต้นเมื่อฉีกขาดมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กว้าง หรือค่อนข้างกลม ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงห้อยโค้งลงตามซอกใบ ยาว 3-5 ซม. บางครั้งพบช่อดอกยาวได้ถึง 25 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมากเรียงด้านเดียว มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้อยู่ในต้นเดียวกันหรือต่างต้น ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน

ผลรูปไข่กลับแกมรูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ และแบน ปลายผลเว้าตื้นและมียอดเกสรตัวเมียติดคงทน1อันเป็นติ่ง ขอบผลแผ่เป็นครีบตามยาว มีปีก2ปีก ออกผลในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามที่รกร้าง ชายป่า ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 600 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว

5. หญ้าน้ำหมึก

ชื่อท้องถิ่น : หญ้าหมู่ดาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dinetus truncatus (Kurz) Staples

วงศ์ : Convolvulaceae

ผลของหญ้าน้ำหมึก

                             ไม้เลื้อยมีอายุฤดูเดียว ทอดยาวไปได้ไกลถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจแกมรูปไข่กว้าง ออกดอกเป็นช่อกระจะหรือช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายยอด ใบประดับรูปหัวใจแกมรูป โคนใบประดับแผ่ออกหุ้มลำต้น ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน

ผลเป็นช่อยาว 15-23 ซม. ผลย่อยเป็นถุงหรือกระเปาะเล็กๆ รูปไข่กว้าง หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สีฟางข้าว หรือสีน้ำตาลเข้ม ขนาด 0.4-0.8 ซม. มักมี5เหลี่ยม กลีบเลี้ยงติดคงทนและขยายใหญ่หุ้มผล รูปรี หรือรูปขอบขนาน สีม่วงจนถึงสีน้ำตาล ใบประดับขยายใหญ่ สีม่วง ออกผลในราวเดือนธันวาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 8 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 700-2,500 เมตร ทางภาคเหนือ

แพร่กระจายในจีน เมียนมา ไทย และเวียดนาม

6. แปบผี

ชื่อท้องถิ่น : มะเยืองดอย , มะแฮะนก(ภาคเหนือ) ; เครือเขาขน(เชียงใหม่) ; ขมิ้นพระ(ภาคตะวันออก) ; ขมิ้นลิง , สามใบ(ภาคกลาง) ; แลแง(นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cajanus goensis Dalzell

วงศ์ : Fabaceae

แปบผี

                             ไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ทอดยาวได้ไกลถึง 10 เมตร ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปรีแกมรูปหัวใจ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 3 ซม. ดอกสีเหลือง ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนธันวาคม – เดือนมีนาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 34 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่โล่งในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,000-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

7. หมาเหยือง

ชื่อท้องถิ่น : บ่าเหยื่อง(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mucuna bracteata DC. ex Kurz

วงศ์ : Fabaceae

ช่อดอกอ่อนของหมาเหยือง

                             ไม้เลื้อย เมื่อต้นโตเต็มที่กิ่งก้านจะพาดไปตามไม้อื่น ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยตอนปลายมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยคู่ด้านข้างเล็กน้อย รูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด หรือรูปไข่กว้าง ออกดอกเป็นช่อกระจะห้อยลงตามซอกใบและปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 3.5-4.5 ซม. ดอกสีม่วงเข้ม จนถึงสีม่วงอมดำ ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนมกราคม – เดือนกุมภาพันธ์

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 114 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า ทุ่งหญ้า ริมลำน้ำในป่าเบญจพรรณ พื้นที่โล่งในป่าดิบแล้งและดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 600-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และอินโดนีเซีย

ชื่อสกุล Mucuna เป็นภาษาบราซิเลียนที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้

8. ระย้าแก้ว

ชื่อท้องถิ่น : แป้งพวง(นครศรีธรรมราช) ; ยายกลั้งดอกขาว(ตรัง) ; ดังควาย(ยะลา) ; ตุ้มหูพระอินทร์ , พวงระย้า , สังวาลพระอินทร์(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum laevifolium Blume

วงศ์ : Lamiaceae

ระย้าแก้ว

                             ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 2-4 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งและยอด รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงและห้อยลงตามยอดและปลายกิ่ง ก้านช่อดอกสีเขียวจนถึงสีแดงเข้ม มีดอกย่อยจำนวนมาก กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาว ดอกตูมเป็นรูปคล้ายหลอดไฟ ดอกบานเต็มที่เป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนกันยายน – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 248 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้และไหล่เขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,200 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมา ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ชื่อสกุล Clerodendrum มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า kleros แปลว่า โอกาส หรือโชคชะตา และคำว่า dendron แปลว่า ต้นไม้ ความหมายก็คือ“ต้นไม้แห่งโอกาสที่หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร”

9. ลำพูป่า

ชื่อท้องถิ่น : กาลา , ตุ้มเต๋น , ตุ้มบก , ตุ้มลาง , ตุ้มอ้า , เต๋น , ลาง , ลูกลาง , ลูกอ้า , อ้า(ภาคเหนือ) ; คอเหนียง(เชียงใหม่) ; กู , ซังกะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; สะบันงาช้าง(แพร่) ; โก(กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร) ; เยี่ยวแมว(เลย) ; กาปลอง(ซอง-จันทบุรี) ; ลิ้นควาย(ปราจีนบุรี) ;  กระดังงาป่า(กาญจนบุรี) ; หงอนไก่(ประจวบฯ) ; ตะกาย , ตะกายโปรง , ตะกูกา , โปรง(ภาคใต้) ; ขาเขียด(ชุมพร) ; ลำพูขี้แมว(ระนอง) ; ลำแพน(ตรัง) ; ลำพูควน(ปัตตานี) ; บะกูแม(มลายู-นราธิวาส) ; ลำแพนเขา(ยะลา) ; บ่อแมะ(มลายู-ยะลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Duabanga grandiflora (Roxb. ex DC.) Walp.

วงศ์ : Lythraceae

ลำพูป่า

                             ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ตั้งตรงสูง 15-40 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปขอบขนาน จนถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดหลั่นห้อยลงตามปลายกิ่ง ช่อละ 15-30 ดอก ดอกบานยามเย็นจนถึงช่วงเช้า ขนาดดอก 5-10 ซม. กลิ่นหอมแรง ดอกสีขาว กลีบดอก 5-7 กลีบ ออกดอกในราวเดือนมกราคม – เดือนเมษายน บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาล

พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในวงศ์ Sonneratiaceae ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว พบตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณ หรือในหุบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล จีน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

ชื่อสกุล Duabanga มาจากภาษาเบงกาลีคำว่า duyabanga ที่ใช้เรียกลำพูป่า

10. งิ้วป่า

ชื่อท้องถิ่น : งิ้วดอกขาว , งิ้วป่าดอกขาว , งิ้วผา(ภาคเหนือ) ; ไกร่(เชียงใหม่) ; ไก๊(กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ) ; เก๊ย(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ง้าว , ง้าวป่า , นุ่นป่า(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombax anceps Pierre

วงศ์ : Malvaceae

งิ้วป่า

                             ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 8-30 เมตร มีหนามตามลำต้นอ่อนและกิ่งก้าน เมื่อต้นเติบโตขึ้นจะมีหนามลดลง ส่วนกิ่งก้านยังคงมีหนามอยู่ ใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกกันเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง มีใบย่อย 5-7 ใบ รูปใบหอก รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ผลัดใบร่วงหล่นก่อนออกดอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกๆละ 2-4 ดอก ตามปลายกิ่งและกิ่งก้านเหนือรอยแผลใบที่หลุดร่วง ขนาดดอก 6-8 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีครีมอมม่วงอ่อน สีครีมอมชมพูอ่อน สีครีมอมเขียว หรือสีขาวครีม กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้แต่เดิมอยู่ในวงศ์ Bombacaceae ทั่วโลกพบ 8 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และเขาหินปูนบริเวณเชิงเขาและไหล่เขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 400-1,000 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ชื่อสกุล Bombax มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า bombyx แปลว่า เส้นไหม ตามลักษณะปุยนุ่นคล้ายเส้นไหมที่หุ้มเมล็ด

11. เอื้องช้างสารภีน้อย

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องตีนตุ๊กแก(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acampe praemorsa (Roxb.) Blatt. & Mc Cann

วงศ์ย่อย : Vandoideae

วงศ์ : Orchidaceae

เอื้องช้างสารภีน้อย

                             ลำต้นแตกหน่ออยู่รวมกันเป็นกอใหญ่ สูง 10-30 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนานคล้ายรางน้ำ ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบ 2-5 ช่อๆละ 8-15 ดอก ขนาดดอก 0.8-1.2 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีเขียวอมเหลือง หรือสีเหลืองอมน้ำตาล และมีขีดสีน้ำตาลแดงพาดตามขวาง ปากดอกรูปขอบขนาน สีขาว และอาจมีจุดแต้มสีม่วงกระจายทั่วปาก ผิวด้านบนมีตุ่มเล็กๆจำนวนมาก โคนปากมีเดือยขนาดเล็ก ออกดอกในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 7 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้และลานหินในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 400-1,100 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

พืชชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ var. longepedunculata (Trimen) Govaerts แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีน ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

สกุลนี้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1853 โดย Sir John Lindley นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อสกุล Acampe มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า akampes แปลว่า ยึดติดแน่นและแข็งแรง ความหมายก็คือ“ดอกขนาดเล็กที่ยึดติดแน่นกับช่อดอก”

12. เอื้องเคราสิงห์แก้มลาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pelatantheria ctenoglossum Ridl.

วงศ์ย่อย : Vandoideae

วงศ์ : Orchidaceae

เอื้องเคราสิงห์แก้มลาย

                             ลำต้นมีขนาด 0.6-0.7 ซม. เจริญเติบโตทางปลายยอด ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามข้างลำต้น ช่อละ 1-3 ดอก ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกสีเหลืองอ่อนแกมน้ำตาล กลีบเลี้ยงรูปรี หรือรูปไข่ มีลายเส้นสีน้ำตาลแดงตามยาว กลีบดอกรูปรี หรือรูปขอบขนาน ปลายกลีบและขอบกลีบหยักเป็นซี่ฟันถี่ ปากดอกสีขาว แยกเป็น3แฉก แฉกคู่ด้านข้างรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ปลายกลีบมน แฉกกลางเป็นรูปกึ่งหัวใจ ปลายกลีบแหลมคล้ายเป็นรยางค์ ขอบกลีบเป็นขนครุย กลางกลีบมีตุ่มสีเหลืองเข้ม ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 8 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 700 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สกุลนี้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1825 โดย Carl Ludwing von Blume นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน

ชื่อสกุล Phalaenopsis มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า phalaina แปลว่า ผีเสื้อกลางคืน และคำว่า opsis แปลว่า เหมือน ความหมายก็คือ“ดอกมีรูปทรงคล้ายผีเสื้อกลางคืน”

13. นางพญาเสือโคร่ง

ชื่อท้องถิ่น : ฉวีวรรณ , ชมพูภูพิงค์(ภาคเหนือ) ; เส่คาแว่ , เส่แผ่ , เส่สาแหล่(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; ซากุระดอย , ซากุระเมืองไทย(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prunus cerasoides Buch.-Ham. ex D.Don

วงศ์ : Rosaceae

นางพญาเสือโคร่ง

                             ไม้ยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบ สูง 5-25 เมตร หรืออาจสูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกต้นและกิ่งก้านแตกลายคล้ายลายเสือโคร่ง จึงเป็นที่มาของชื่อ“นางพญาเสือโคร่ง” ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกหรือช่อซี่ร่มตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อละ 1-4 ดอก ขนาดดอก 1-2.5 ซม. ดอกบานราว2สัปดาห์ก็ร่วงโรย ดอกสีชมพู หรือสีแดง ส่วนสีขาวหายากมาก กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนธันวาคม – เดือนกุมภาพันธ์

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 340 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่โล่งในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,000-1,900 เมตร ทางภาคเหนือ ปัจจุบันมีการนำมาปลูกตามภูทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนิอ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน เมียนมา ไทย ลาวตอนเหนือ และเวียดนามตอนเหนือ

ชื่อสกุล Prunus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า proume หมายถึงพืชพวกพลัม


สัตว์ป่าทั่วไป


บันทึกภาพได้เพียงชนิดเดียว ได้แก่

1. กระเล็นขนปลายหูสั้น

ชื่อท้องถิ่น : กระถิกปลายขนหูสั้น , กระเล็นตะวันตก , กระเล็นปลายขนหูสั้น

ชื่อสามัญ : Himalayan striped squirrel

ชื่ออื่นๆ : Burmese striped squirrel , Western striped squirrel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tamiops mcclellandii Horsfield, 1840
วงศ์ย่อย : Sciurinae

วงศ์ : Sciuridae

กระเล็นขนปลายหูสั้น

                             เป็นกระรอกที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย มีขนาด 11-12.5 ซม.(วัดจากปลายจมูกถึงรูทวาร) หางยาว 11-13 ซม. ขาหลังยาว 2-3.2 ซม. ปลายหูสีขาวหรือสีจาง หลังหูมีขนยาวสีขาวเป็นกระจุกคล้ายพู่ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมเทา บนหลังมีแถบสีขาวอมเหลืองจนถึงสีเหลือง4แถบสลับกับแถบสีดำ5แถบ เป็นแนวยาวขนานไปกับความยาวของลำตัว แถบสีขาวอมเหลืองจนถึงสีเหลืองที่อยู่ด้านนอกสุดมักจะกว้างและยาวกว่าแถบที่อยู่ด้านใน ลำตัวด้านข้างและขามีสีเทา ขนที่ท้องมีสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมส้ม หางเรียว มีจุดประสีเทา สีน้ำตาล และสีดำ ขนหางสั้นและเรียบ ไม่พองฟูเป็นพวงเหมือนกระรอกทั่วไป เพศเมียมีเต้านม6เต้า

ออกหากินในเวลากลางวัน โดยมักมีพฤติกรรมหากินเพียงตัวเดียว หรืออาจเป็นกลุ่มที่เป็นครอบครัวเดียวกัน ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก ลายแถบบนหลังช่วยพรางตัวจากศัตรูได้เป็นอย่างดี อาหารได้แก่ ใบไม้ ผลไม้ เมล็ดพืช และแมลง เป็นต้น เสียงร้องมี2แบบ คือ เสียงสั้นๆดังว่า“จี้ดๆ”คล้ายนก แต่แหลมดังบาดหู และอีกเสียงเป็นเสียงแหลมยาวสั่นระรัวที่ค่อยๆผ่อนเสียงลง

                             ทั่วโลกพบสกุลนี้ 4 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามสวนสาธารณะ เรือกไร่สวน ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้

                             แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฎาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาวตอนเหนือ กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย


ผีเสื้อกลางวัน


บันทึกภาพได้ 6 ชนิด ได้แก่

1. ผีเสื้อปีกเว้าธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Courtesan

ชื่ออื่นๆ : The Courtesan

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euripus nyctelius Doubleday, 1845

วงศ์ย่อย : Apaturinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อปีกเว้าธรรมดา เพศผู้

                             มีขนาด 6.5-8.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ตาสีเหลือง ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลดำแกมน้ำเงินเข้ม ตามช่องเส้นปีกมีแถบสีขาว คล้ายผีเสื้อหนอนใบรัก แต่ชนิดนี้มีขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังหยักเว้า ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า

เพศเมียมีด้วยกัน 5 แบบ รูปร่างคล้ายผีเสื้อในกลุ่มจรกา บางแบบมีลักษณะคล้ายผีเสื้อจรกาดำขาว(The Magpie Crow) และผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ(The Common Indian Crow) แต่ชนิดนี้บริเวณขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังหยักเว้า ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า

ระยะหนอนกินใบพังแหรใหญ่[Trema orientale (L.) Blume] วงศ์ Cannabaceae

ทั่วโลกพบ 13 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย euploeoides Felder & Felder, 1867 แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

– ชนิดย่อย nyctelius Doubleday, 1845 แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีนตอนใต้ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

ทั่วโลกพบผีเสื้อสกุลนี้ 5 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามริมลำน้ำในป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

2. ผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Cruiser

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vindula erota Fabricius, 1793

วงศ์ย่อย : Heliconiinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา เพศผู้

                             มีขนาด 9-11 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เพศผู้มีพื้นปีกด้านบนสีเหลืองแกมส้ม จนถึงสีน้ำตาลแกมส้ม มีลวดลายสีน้ำตาลหรือออกดำตามแนวเส้นปีก ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่มีเส้นสีดำหยักเป็นคลื่น2เส้น ปีกคู่หลังมีวงกลมข้างละ2วง ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมเล็กน้อย ทำให้มีลักษณะแตกต่างจากผีเสื้อสีอิฐธรรมดา(Common Yeoman) ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียวขี้ม้า มีลวดลายคล้ายเพศผู้ แต่กลางปีกทั้งสองคู่มีแถบสีขาว

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า ปลายขอบปีกคู่หน้ามีจุดสีขาวข้างละ1จุด

ขณะเกาะมักกางปีกแผ่ราบ พบเพศผู้บ่อยกว่าเพศเมีย มักหากินในป่าลึก แต่บางครั้งก็พบกินน้ำหวานดอกไม้ตามชายป่า เป็นผีเสื้อที่บินได้ว่องไว โดยเฉพาะยามกลางวันที่แสงแดดจัด

พืชอาหารของหนอน ได้แก่ ใบของผักสาบป่าหรือนางนูน[Adenia heterophylla (Blume) Koord. วงศ์ Passifloraceae] , ใบของผักสาบ[Adenia viridiflora Craib วงศ์ Passifloraceae] และใบของกะทกรก[Passiflora foetida L.วงศ์ Passifloraceae]

ทั่วโลกพบ 43 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย chersonesia Pendlebyry, 1939 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในไทยพบเฉพาะใน จ.ยะลา

– ชนิดย่อย erota Fabricius, 1793 แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในไทยพบเกือบทั่วทุกจังหวัด ยกเว้น จ.ยะลา

ทั่วโลกพบผีเสื้อกลางวันสกุลนี้ 5 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามริมลำห้วย ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ

3. ผีเสื้อแพนซีเทา

ชื่อสามัญ : Grey Pansy
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Junonia atlites Linnaeus, 1763
วงศ์ย่อย : Nymphalinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อแพนซีเทา

                             มีขนาด 5.5-6.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเทา หรือสีเทาอมชมพู มีลวดลายสีเทาเข้มทั่วทั้งปีก ตามแนวขอบปีกด้านข้างมีจุดวงกลมสีดำ-สีส้มเรียงกัน ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า

ระยะหนอนกินใบพืชวงศ์ Acanthaceae เช่น อังกาบ[Barleria cristata Linn.] หญ้าสามชั้น[Hygrophila erecta (Burm.f.) Hochr.] หญ้าขนไก่[Lepidagathis incurva Buch.-Ham. ex D. Don] เสลดพังพอน[Nelsonia canescens (Lam.) Spreng.] ขาไก่ไทย[Strobilanthes schomburgkii (Craib) J.R.I.Wood] เป็นต้น , ใบพืชวงศ์ Amaranthaceae ได้แก่ ผักเป็ดไทย[Alternanthera sessilis (L.) R.Br. ex DC.] , ใบพืชวงศ์ Poaceae ได้แก่ ข้าวเอเชีย[Oryza sativa Linn.] และพืชวงศ์ Verbenaceae ได้แก่ หญ้าเกล็ดปลา[Phyla nodiflora (L.) Greene]

ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ atlites Linnaeus, 1763

ผีเสื้อสกุลนี้ทั่วโลกพบ 36 ชนิด ในไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยตามชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าเสื่อมโทรม ป่าโปร่ง และป่าชายเลน ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะบอร์เนียว และอินโดนีเซีย

4. ผีเสื้อแพนซีสีตาล

ชื่อสามัญ : Lemon Pansy

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Junonia lemonias Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : Nymphalinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อแพนซีสีตาล

                             มีขนาด 4.5-5.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลค่อนข้างเข้ม ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หน้ามีแถบสีขาว ปีกคู่หน้ามีจุดวงกลมขนาดเล็ก(สีดำล้อมรอบด้วยสีส้ม)1จุดอยู่ใกล้มุมปีกตอนบน และมีจุดวงกลมขนาดใหญ่1จุด(สีดำล้อมรอบด้วยสีส้ม)ใกล้ขอบปีกตอนกลาง ปีกคู่หลังมีจุดวงกลมขนาดใหญ่1จุด(สีดำล้อมรอบด้วยสีส้ม)ใกล้ขอบปีกตอนบน ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่พื้นปีกสีน้ำตาลอ่อน และมีลวดลายจางๆ

วงจรชีวิตของผีเสื้อชนิดนี้ คือ ระยะไข่ 4-6 วัน ระยะหนอน 13-60 วัน และระยะดักแด้ 7-38 วัน

ระยะหนอนกินใบพืชวงศ์ Acanthaceae เช่น อังกาบ[Barleria cristata Linn.] หญ้าสามชั้น[Hygrophila erecta (Burm.f.) Hochr.] หญ้าขนไก่[Lepidagathis incurva Buch.-Ham. ex D. Don] เสลดพังพอน[Nelsonia canescens (Lam.) Spreng.] ขาไก่ไทย[Strobilanthes schomburgkii (Craib) J.R.I.Wood] เป็นต้น , ใบพืชวงศ์ Amaranthaceae ได้แก่ ผักเป็ดไทย[Alternanthera sessilis (L.) R.Br. ex DC.] , ใบพืชวงศ์ Malvaceae เช่น ปอเส้ง[Corchorus capsularis L.] หญ้าขัด[Sida rhombifolia L.] เป็นต้น และพืชวงศ์ Verbenaceae ได้แก่ หญ้าเกล็ดปลา[Phyla nodiflora (L.) Greene]

ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ lemonias Linnaeus, 1758

พบตามสวนไม้ดอกในชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง และป่าชายเลน ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

5. ผีเสื้อลายตลกธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Jester

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Symbrenthia lilaea Hewitson, 1864

วงศ์ย่อย : Nymphalinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อลายตลกธรรมดา

                             มีขนาด 4.5-5.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีดำ มีแถบสีส้มแนวขวางของปักทั้งสองคู่ ดูคล้ายผีเสื้อกะลาสีแดงธรรมดา(Common Lascar) แต่ชนิดนี้บริเวณปลายปีกคู่หลังยื่นแหลมเล็กน้อย ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลอมเหลือง มีลายเส้นสีน้ำตาลทั่วปีก บริเวณขอบปีกด้านในมีเกล็ดสีเงิน สำหรับปีกด้านล่างของผีเสื้อกะลาสีแดงธรรมดาจะมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

วงจรชีวิตของผีเสื้อชนิดนี้ คือ ระยะไข่ 5-12 วัน ระยะหนอน 15-51 วัน และระยะดักแด้ 7-48 วัน

พืชอาหารระยะหนอน ได้แก่ ใบของพืชวงศ์ Urticaceae ได้แก่ ไข่ปลา[Debregeasia sp.] และตำแยช้าง[Dendrocnide stimulans (L.f.) Chew]

ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย lilaea Hewitson, 1864 แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

– ชนิดย่อย luciana Frushtorfer, 1907 แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

ทั่วโลกพบผีเสื้อสกุลนี้ 13 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นผีเสื้อที่หาพบได้บ่อย โดยพบได้ตามลำห้วย ป่าโปร่ง และพื้นที่โล่งในป่าดิบเขา

6. ผีเสื้อสีตาลจุดตาห้าสีจาง

ชื่อสามัญ : Eastern Five-Ring

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ypthima similis  Elwes & Edwards, 1893

วงศ์ย่อย : Satyrinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อสีตาลจุดตาห้าสีจาง

                             มีขนาด 2.5-3 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดวงกลมที่ปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้า1จุด และปีกคู่หลังมีจุดวงกลมขนาดเล็กที่ขอบปีกด้านข้าง2จุด ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลและมีลายหยาบๆ มีจุดวงกลมขนาดใหญ่ที่ปีกคู่หน้า ปีกคู่หลังตามแนวขอบปีกด้านข้างมีจุดขนาดเล็กเรียงติดกันเป็นคู่จำนวน3คู่

ชอบเกาะตามพื้นในที่ร่ม โดยพบมากในป่าไผ่

ทั่วโลกพบผีเสื้อสกุลนี้กว่า 200 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามทุ่งหญ้า และป่าโปร่ง ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แพร่กระจายในเมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม


แมลงปอ/แมลงปอเข็ม


บันทึกภาพได้ 4 ชนิด ได้แก่

1. แมลงปอเข็มปลายตุ้มฟ้า

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอเข็มเล็กหางตุ้ม

ชื่อสามัญ : Red-tipped Shadefly

ชื่ออื่นๆ : Tiny Midget ; Variable Shadowfly ; Variable Sprite

ชื่อวิทยาศาสตร์Argiocnemis rubescens Selys, 1877
วงศ์ : Coenagrionidae

แมลงปอเข็มปลายตุ้มฟ้า

                             เป็นแมลงปอเข็มขนาดกลาง ความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 1.7-1.8 ซม. จุดหลังตากลมและมีสีฟ้า ปีกใส ปลายรยางค์ปลายท้องขยายออกคล้ายกับลูกตุ้ม สีของอกและท้องมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุทั้งในเพศผู้และเพศเมีย ในช่วงอายุน้อยหรือเพิ่งออกจากคราบได้ไม่นาน อกจะมีสีเหลืองคาดด้วยแถบสีดำ ท้องสีแดงอมส้ม อกเพศผู้ที่โตเต็มที่จะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีเขียวและสีฟ้าในที่สุด ปลายท้องจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีฟ้า รยางค์สีดำ ส่วนเพศเมียที่โตเต็มที่นั้นอกมีสีฟ้าและปลายท้องจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเช่นเดียวกับเพศผู้

มักพบตามแหล่งน้ำนิ่งหรือไหลเอื่อยที่ใสสะอาด โดยพบได้ตลอดทั้งปี ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคใต้

ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ rubeola Selys, 1877

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย นิวกินี และออสเตรเลีย

2. แมลงปอบ้านใหม่กลม

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านตาลปลายปีกใส

ชื่อสามัญ : Fulvous Forest Skimmer

ชื่ออื่นๆ : Cleartip Widow ; Russet Percher

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neurothemis fulvia Drury, 1773

วงศ์ : Libellulidae

แมลงปอบ้านใหม่กลม เพศผู้

                             เป็นแมลงปอบ้านขนาดกลาง ลำตัวยาว 4.9 ซม. ตาเดี่ยวมี3ตา ตารวมมี2ตา หนวดเป็นแบบเส้นขน ปากเป็นแบบกัดกิน ท้องค่อนข้างแบน เพศผู้มีความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 2.7-3.3 ซม. ความยาวส่วนท้อง(วัดจากโคนท้องถึงปลายท้อง) 2.1-2.6 ซม. อกและท้องสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาลแดง จนถึงสีแดงเข้ม ซึ่งสีจะเข้มขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ปีกมีแถบสีแดงคลุมเกือบทั้งหมด ยกเว้นปลายปีกที่ใสและมีลักษณะคล้ายวงกลม ขอบปีกด้านบนใกล้ปลายปีกมีแถบ1แถบ ระหว่างรอยต่อแต่ละปล้องท้องมีสีเข้ม รยางค์ปลายท้องสีแดง ขาเป็นแบบขาเดิน

ส่วนเพศเมียมีลักษณะคล้ายเพศผู้ ความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 2.6-3.2 ซม. ความยาวส่วนท้อง(วัดจากโคนท้องถึงปลายท้อง) 2-2.4 ซม. อกและท้องสีน้ำตาลแกมเหลือง ปีกมีแถบสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดงคลุมเกือบทั้งหมด ยกเว้นปลายปีกที่ใส

ทั่วโลกพบสกุลนี้ 14 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบเกาะข้างลำธารที่แสงแดดส่องถึงตามป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค โดยพบได้ตลอดทั้งปี

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฎาน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

3. แมลงปอบ่านเสืออกม่วง

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านสีหม่นท้องแดง , แมลงปอบ้านเสือผู้ม่วง , แมลงปอบ้านเสือผู้ม่วงแดง

ชื่อสามัญ : Crimson-tailed Marsh Hawk

ชื่ออื่นๆ : Common Red Skimmer ; Black-bodied Skimmer ; Pink Skimmer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthetrum pruinosum Burmeister, 1839

วงศ์ : Libellulidae

แมลงปอบ้านเสืออกม่วง เพศผู้

                             เป็นแมลงปอขนาดกลาง ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 3.2-3.7 ซม. ตัวผู้มีอกสีเทาเข้มเกือบดำ ท้องสีแดงอมม่วง ปีกใส โคนปีกคู่หลังมีแต้มสีน้ำตาล ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่อกและท้องมีสีเหลือง ปีกใส

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย neglectum Rambur, 1842 มีชื่อไทยว่า“แมลงปอบ้านเสืออกม่วงท้องแดง” อกมีสีเข้มออกเทา ท้องสีแดงม่วง ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ และบรูไน

– ชนิดย่อย schneideri Foerster, 1903 มีชื่อไทยว่า“แมลงปอบ้านเสืออกม่วงโคนท้องฟ้า” โคนท้องมีสีฟ้าตามชื่อ ในไทยมีรายงานการพบเฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

สกุลนี้ทั่วโลกพบ 63 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามลำห้วยลำธารในป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ

4. แมลงปอบ้านไตรมิตรสีชมพู

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านแดงเหลืองเล็ก , แมลงปอบ้านไตรมิตรผู้ม่วง , แมลงปอบ้านใต้ผู้ม่วง

ชื่อสามัญ : Crimson Marsh Glider

ชื่ออื่นๆ : Crimson Dropwing ; Red Top Skimmer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trithemis aurora Burmeister, 1839

วงศ์ : Libellulidae

แมลงปอบ้านไตรมิตรสีชมพู เพศผู้

                             เป็นแมลงปอบ้านขนาดเล็ก ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 2.4-3.4 ซม. ตาสีแดงสด ตัวผู้วัยอ่อนมีอกและท้องมีสีเหลืองเหมือนตัวเมีย เมื่อมีอายุมากจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมชมพูหรือสีชมพูอมม่วง อกมีลายเส้นสีดำคาด ท้องสีชมพูอมม่วง โคนปีกทั้งสองคู่มีสีเหลืองหรือสีแดง ปีกใส เส้นปีกสีชมพู มุมปลายปีกมีแต้มสีดำ ส่วนตัวเมียมีอกและท้องสีเหลือง อกมีลายเส้นสีเข้มคาด ท้องมีสีเหลืองสลับสีดำ โคนปีกมีสีน้ำตาลอ่อน

ขณะเกาะมักยกส่วนปลายท้องชี้ขึ้นสูง

สกุลนี้ทั่วโลกพบ 47 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามลำธารที่มีน้ำไหลในพื้นที่เปิดโล่ง ป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค โดยพบได้ตลอดปี

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว และติมอร์-เลสเต


นก


บันทึกภาพได้ 4 ชนิด ได้แก่

1. นกแซงแซวสีเทา

ชื่อสามัญ : Ashy Drongo

ชื่ออื่นๆ : Pale Ashy Drongo

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus leucophaeus Vieillot, 1817

วงศ์ : Dicruridae

นกแซงแววสีเทา

                             เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 25.5-29 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) นกแซงแซวทั้ง7ชนิดที่พบในไทย ส่วนใหญ่มีสีดำ ยกเว้นนกแซงแซวสีเทาเพียงชนิดเดียวที่ลำตัวมีสีเทา แต่มีความหลากหลายทางสีสันมาก ตั้งแต่สีเทาอ่อนจนถึงสีเทาเข้ม สีเทาเข้มเกือบดำ หรือสีเทาเหลือบฟ้า ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดย่อย ลำตัวด้านบนจะสีเข้มกว่าด้านล่าง บางชนิดย่อยมีลายพาดที่ด้านข้างของหัว ซึ่งอาจเป็นสีขาว สีเทา สีเข้ม หรือไม่มีลายใดๆ

หากดูเฉพาะรูปร่างจะมีลักษณะคล้ายนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) แต่หางแฉกไม่ลึกเท่า

พบทั้งโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ มักเกาะตามกิ่งไม้แห้งและกิ่งไม้ทั่วๆไปในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่านกแซงแซวชนิดอื่น กินแมลงต่างๆด้วยการโฉบจับกลางอากาศบริเวณเรือนยอดไม้หรือระหว่างเรือนยอดไม้ บางครั้งโฉบจับแมลงเกือบถึงพื้นดิน มีนิสัยก้าวร้าวไม่ต่างจากนกแซงแซวชนิดอื่น และป้องกันอาณาเขตที่มันครอบครองอย่างแข็งขัน พร้อมที่จะบินเข้าโจมตีนกล่าเหยื่อจำพวกเหยี่ยวได้ทุกเมื่อ บางครั้งมันก็มีนิสัยเสีย ด้วยการโฉบแมลงที่นกอื่นจับได้มาแย่งกินอีก

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้เกือบปลายกิ่งและอยู่สูงจากพื้นดินราว 10-20 เมตร รังเป็นรูปถ้วยตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ใบไม้ ไลเคนส์ และเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม มีใบหญ้าฉีกเป็นเส้นเล็กๆรองพื้นรัง วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ขนาด 1.82 x 2.36 ซม. สีของไข่คล้ายกับไข่ของนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) คือ มีสีขาว หรือสีครีมอมชมพู แต่มีลายจุดและลายดอกดวงมากกว่า ทั้งเพศผู้และเพศเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เสียงร้องก้องดังว่า“ติ๊ก-วู่-วิด ติ๊ก-วู่-วิด” และเสียงแหบว่า“แอช-แอช” และยังสามารถเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้อีกด้วย

ชื่อชนิด leucophaeus มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และ phae,-o หรือ phaios แปลว่า สีเทา ความหมายก็คือ“นกที่มีสีขาวและสีเทา” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

ทั่วโลกพบ 14 ชนิดย่อย ในไทยพบ 6 ชนิดย่อย ได้แก่

– subsp. bondi Schauensee, 1937 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่ จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาวตอนใต้ กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้) สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก

– subsp. hopwoodi Baker, 1918 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกในประเทศบังกลาเทศ ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีลำตัวสีเทาเข้มจนเกือบดำ มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเข้ม แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ภูฎาน จีน เมียนมา ไทย ลาวตอนใต้ และเวียดนามตอนเหนือ สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบได้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

– subsp. leucogenis Walden, 1870 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และคำว่า geni,-o หรือ genus แปลว่า คาง ความหมายก็คือ“บริเวณคางมีสีขาว” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกในประเทศจีน ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาอ่อนที่สุด บริเวณหัวตาและคางมีสีขาว มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีขาว แพร่กระจายในจีน ไทย ลาวตอนเหนือ และกัมพูชา สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จนถึงคอคอดกระ

– subsp. mouhoti Walden, 1870 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แพร่กระจายในเมียนมา ไทย และกัมพูชา สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และอาจจะเป็นนกอพยพที่พบได้เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป

– subsp. nigrescens Oates, 1889 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า nig,-el,=er,-ra,-resc,-ri,-ro แปลว่า สีดำ และคำว่า -escens เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีสีออกดำ” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่เมืองพะโค ประเทศเมียนมา ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาจางกว่าชนิดย่อย hopwoodi แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันออก และตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึง จ.ภูเก็ต โดยมักพบตามป่าชายเลนหรือป่าเสม็ดบริเวณชายฝั่งทะเล

– subsp. salangensis Reichenow, 1890 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ Salanga หมายถึง “เกาะภูเก็ต” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกบนเกาะภูเก็ต ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาเข้มกว่าชนิดย่อย leucogenis แต่ใบหน้ามีสีขาวน้อยกว่า และมีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเทา แพร่กระจายในจีน ไทย และมาเลเซีย สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 29 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดที่เป็นนกประจำถิ่นพบอาศัยตามชายป่า ทุ่งโล่ง ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,565 เมตร ส่วนนกอพยพนั้นจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว สามารถพบได้ตามสวนสาธารณะและสวนผลไม้ด้วย

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

2. นกหัวขวานด่างแคระ

ชื่อสามัญ : Grey-capped Pygmy Woodpecker

ชื่ออื่นๆ : Grey-crowned Pygmy Woodpecker ; Grey-headed Pygmy Woodpecker ; Pygmy Pied Woodpecker

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Yungipicus canicapillus Blyth, 1845

วงศ์ : Picidae

นกหัวขวานด่างแคระ

นกหัวขวานด่างแคระ

                     เดิมถูกจัดอยู่ในสกุล Dendrocopos เช่นเดียวกับนกหัวขวานด่างส่วนใหญ่ในเอเชีย แต่ผลวิเคราะห์ทางชีวเคมีเผยว่าจริงๆแล้วเจ้าด่างแคระและญาติตัวจิ๋วมีเชื้อสายใกล้ชิดกับนกหัวขวานด่างในสกุล Picoides มากกว่า(ซึ่งสกุลนี้ไม่มีรายงานการพบในเมืองไทย) จึงถูกแยกออกมาจากสกุลเดิม

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 13-15.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผากถึงกระหม่อมมีสีเทา ใบหน้าสีน้ำตาล หลังตาถึงท้ายทอยมีแถบสีขาว ลำตัวด้านบนสีดำและมีลายขวางสีขาว ปีกสีดำและมีจุดสีขาวเรียงกันเป็นแถบปีก ขนคลุมโคนขนหางด้านบนและขนหางคู่กลาง2คู่มีสีดำ ขนหางคู่อื่นๆมีลายพาดสีขาว ซึ่งบางตัวมีมาก บางตัวมีน้อย คางและคอสีขาวหม่นและมีลายขีดสีเทา ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมเทา และมีลายขีดสีดำกระจาย

เพศผู้มีแถบสีแดงขนาดเล็กทางด้านข้างของหัว ซึ่งบางครั้งมองเห็นแถบนี้ได้ยากมาก ส่วนเพศเมียมีลักษณะคล้ายเพศผู้ แต่แถบสีแดงขนาดเล็กทางด้านข้างของหัวเปลี่ยนเป็นสีดำ

มักพบเป็นคู่ แต่อาจพบอยู่ร่วมกับนกกินแมลงต่างๆ พฤติกรรมทั่วไปคล้ายกับนกไต่ไม้มาก ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนกไต่ไม้(Nuthatch)หากดูจากพฤติกรรม ชอบเกาะตามลำต้นไม้พุ่มที่ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก จนกระทั่งถึงยอดไม้สูง เคลื่อนไหวไปรอบๆลำต้นหรือกิ่งไม้ด้วยการกระโดด ขณะเดียวกันก็ใช้ปากจิกและแคะเปลือกไม้ให้หลุดเพื่อหาอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ มด ปลวก ผึ้ง หนอน และแมลง เมื่อพบอาหารก็จะใช้ลิ้นที่ยาวและเหนียวแหย่เข้าไปตามโพรง รู หรือใต้เปลือกไม้ แล้วตวัดเอาแมลงเข้าปากเป็นอาหาร บางครั้งพบกินผลไม้เปลือกอ่อน เช่น ไทร เป็นต้น บ้างพบกินน้ำหวานจากดอกไม้ เช่น งิ้ว ทองกวาว ทองหลางป่า เป็นต้น บ่อยครั้งเราจะพบเห็นในช่วงเช้าที่มันเกาะอยู่ตามยอดไม้เพื่อผึ่งแดด

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงไม้ ซึ่งอาจเป็นลำต้นหรือกิ่งไม้ ทั้งไม้ยืนต้นที่ค่อนข้างผุ ไม้เนื้ออ่อน หรือไม้เนื้อแข็งปานกลางที่อยู่สูงจากพื้นดินราว 5-10 เมตร โดยจะใช้ปากขุดเจาะสร้างโพรงเอง ปากโพรงกว้างราว 3-4 ซม. ลึกตามแนวขนาน 10-20 ซม. และลึกตามแนวลำต้นหรือกิ่งไม้ 20-40 ซม. หากเป็นโพรงตามกิ่งไม้ ปากโพรงมักจะอยู่ทางด้านล่างของกิ่ง

วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ขนาดไข่ 1.44 x 1.86 ซม. สีขาว ทั้งเพศผู้และเพศเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่(ใช้เวลา 12-13 วัน) และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่ลืมตา ไม่มีขนคลุมร่างกาย และยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อลูกนกมีอายุราว 30 วัน จึงแข็งแรงและบินได้ดี ก่อนแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง และทิ้งรังไป

เสียงร้องแหลมเร็วดังว่า“ชิก-อิ๊ด ชิก-อิ๊ด ชิก-อิ๊ด”

ชื่อชนิด canicapillus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า can หรือ canus แปลว่า สีเทา และคำว่า capill,-a หรือ capillus แปลว่า ขน ความหมายก็คือ“นกที่มีขนเป็นสีเทา” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา

ทั่วโลกพบ 11 ชนิดย่อย ในไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่

– subsp. auritus Eyton, 1845 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า aur,-i,-icul,=is,-it แปลว่า หู และคำว่า -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“บริเวณขนคลุมรูหูมีสีเด่น” พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกในประเทศมาเลเซีย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีเข้มกว่าชนิดย่อย canicapillus และขนหางคู่กลางมีลายจุดจางกว่ามาก แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย ในเมืองไทยพบบริเวณ จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา

– subsp. canicapillus Blyth, 1845 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมา ไทย และลาว ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

– subsp. delacouri Schauensee, 1938 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีจางและลายขีดที่อกไม่ชัดเจน แพร่กระจายในไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก

– subsp. pumilus Hargitt ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ pumil,-io,-o แปลว่า แคระ ความหมายก็คือ“นกที่มีขนาดเล็ก” พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมา ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระจนถึง จ.สตูล

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 7 ชนิด(แยกออกมาจากสกุล Dendrocopos) ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าละเมาะ ป่าชายหาด ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,830 เมตร

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

3. นกปรอดหัวสีเขม่า

ชื่อสามัญ : Sooty-headed Bulbul

ชื่ออื่นๆ : Black-capped Bulbul ; White-eared Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus aurigaster Vieillot, 1818

วงศ์ : Pycnonotidae

นกปรอดหัวสีเขม่า

                     เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 19-21 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวด้านบนสีดำและมีหงอนสั้นเป็นสัน แก้มและคอสีเทาแกมขาว ปากขนาดเล็ก ปลายปากแหลม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทา ตะโพกสีขาว หางสีดำ มีลายพาดสีออกขาวบริเวณขนคลุมโคนขนหางด้านบน ปลายหางสีขาวหรือสีขาวแกมเทา ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเทาจนถึงสีเทา มีภาวะสีขน2แบบ(dimorphic) คือ บางตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีแดง และบางตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง บางตัวอาจดูเป็นสีส้ม

มักพบเป็นคู่หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ ปกติอาศัยหากินตามต้นไม้ ทั้งตามลำต้น กิ่งก้าน และยอดไม้ และบ่อยครั้งลงมายังพื้น อาหารได้แก่เมล็ด ผลไม้ แมลง และหนอน พฤติกรรมการกินอาหารที่เป็นผลไม้นั้น จะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล เช่น ไทร หว้า ตะขบ อบเชย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น มะละกอ ชมพู่ มะม่วง เป็นต้น จะใช้ปากจิกกินผลไม้สุกคาต้นทีละชิ้น โดยไม่มีการเด็ดผลออกจากขั้ว หากเป็นอาหารที่เป็นแมลงและหนอนจะจิกกินตามลำต้น กิ่งก้าน และบนพื้น บางครั้งโฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ

ชนิดที่มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีแดง อาจพบอยู่ร่วมกับชนิดที่มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีผลกำลังสุก แต่ปกติมักจะแยกฝูงกัน ไม่ค่อยจะอยู่ในฝูงเดียวกัน

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยตามกิ่งก้านของไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือกอไผ่ วัสดุทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า แล้วรองพื้นรังด้วยใบไม้และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่ง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาดไข่ 1.55 x 2.11 ซม. สีขาวแกมชมพู มีลวดลายต่างๆสีน้ำตาลแกมม่วงทั่วฟองไข่ เพศเมียจะวางไข่ในตอนเช้าตรู่ และวางทุกๆ 24 ชั่วโมง จนกระทั่งครบรัง ระยะเวลาฟักไข่ราว 13-14 วัน ทั้งเพศผู้และเพศเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

เสียงร้องแหบแห้งว่า“แอ่-แอ่ด”หรือ“วิ-วิ-วี่-วี่” คล้ายเสียงคนบ่นหรือพูดคุยตลอดเวลา

ชื่อชนิด aurigaster เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ 2 คำ คือ คำว่า aur,-ar,-at,-e,-ro หรือ aurum เป็นรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่า สีทอง และคำว่า gast,=er,-ero,-r,-ro เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่า ท้อง ความหมายก็คือ“นกที่มีบริเวณท้องเป็นสีทองหรือสีเหลือง” ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศจีน

ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในไทยพบ 5 ชนิดย่อย ได้แก่

– subsp. germani Oustalet, 1878 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในเมืองโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม ในไทยพบชนิดย่อยนี้ในจังหวัดอุบลราชธานี แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

– subsp. klossi Gyldenstolpe, 1920 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในจังหวัดลำพูน ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แพร่กระจายในเมียนมาด้านตะวันออกเฉียงใต้ และไทย

– subsp. latouchei Deignan, 1949 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในประเทศลาว ในไทยพบชนิดย่อยนี้บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนเหนือในจังหวัดเชียงราย แพร่กระจายในจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ไทย ลาวตอนเหนือ และเวียดนามตอนเหนือ

– subsp. schauenseei Delacour, 1943 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในจังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก แพร่กระจายในเมียนมาตอนใต้ และไทย

– subsp. thais Boden Kloss, 1924 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรก คือ ประเทศไทย โดยพบในจังหวัดจันทบุรี ชนิดย่อยนี้ทุกตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก แพร่กระจายในไทย และลาว

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 32 ชนิด ในไทยพบ 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่เกษตรกรรม ชายป่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และพื้นที่เปิดโล่งตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,830 เมตร

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

4. นกปรอดเหลืองหัวจุก

ชื่อสามัญ : Black-crested Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rubigula flaviventris Tickell, 1833

วงศ์ : Pycnonotidae

นกปรอดเหลืองหัวจุก

                     เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพในฤดูหนาว มีขนาด 18.5-19.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและคอสีดำ(ยกเว้นชนิดย่อย johnsoni คอมีสีแดง) มีหงอนขนยาวสีดำ ตาสีดำ รอบวงตาสีขาวหรือสีครีม ลำตัวด้านบนสีเหลืองแกมน้ำตาล สีน้ำตาลแกมเขียว หรือสีเขียวมะกอก ลำตัวด้านล่างสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองสด หางสีเหลือง ปลายหางสีเหลืองแกมดำ

ตัวไม่เต็มวัยมีหงอนสั้น หัวสีน้ำตาลอมเขียว และลำตัวสีเทา

นกชนิดนี้มีชุกชุมตามป่า มักหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆและส่งเสียงร้องสื่อสารกันตลอดเวลา เราจึงได้ยินเสียงร้องของมันก่อนเห็นตัวอยู่เสมอ หากินตามพุ่มไม้และยอดไม้ต่างๆทั้งในระดับสูงและในระดับปานกลาง กินอาหารได้หลายประเภททั้งแมลงและผลไม้ โดยเฉพาะไทร หว้า ตะขบ ตาเสือเล็ก อบเชย และไม้เถาบางชนิด โดยจะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้ยังเคยพบเห็นกินกลีบดอกไม้ น้ำหวานจากดอกไม้ โดยเฉพาะดอกทองหลางป่า และกินหนอนและแมลงต่างๆ ซึ่งจะจิกกินตามกิ่งก้านและยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับแมลงกลางอากาศ แต่ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะมากนัก

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน คือระหว่างเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยตามง่ามของต้นไม้ที่สูงจากพื้นประมาณ 1-3 เมตร หรือมากกว่า โดยใช้กิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า ตรงกลางแอ่งมักรองด้วยใบไม้ และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่งเพื่อรองรับไข่ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ขนาดไข่ 1.57 x 2.09 ซม. สีชมพู มีลายดอกดวงสีน้ำตาลแดงบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งเพศผู้และเพศเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เสียงร้องสั้นและแหลมเร็วว่า“วิด-วิด-ตี้-วิด” หรือ“วิด-วีด-ติ-วีด”

ชื่อชนิด flaviventris เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า melan,-o หรือ melas แปลว่า สีดำ และคำว่า icter,-i,-o,=us แปลว่า นกขมิ้น หรือสีเหลือง ความหมายก็คือ“นกที่มีสีดำและสีเหลือง” ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศศรีลังกา

ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในไทยพบ 7 ชนิดย่อย ได้แก่

– subsp. auratus Deignan, 1948 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า aur,-ar,-at,-e,-i หรือ aurum แปลว่า สีทอง และคำว่า -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีสีเป็นสีทอง” พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แพร่กระจายในไทย และลาว

– subsp. caecilii Deignan, 1948 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปถึงภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

– subsp. elbeli Deignan, 1954 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่จังหวัดตราด ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออก แพร่กระจายในไทย และกัมพูชา

– subsp. johnsoni Gyldenstolpe,1913 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ คอมีสีแดง ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคกลาง แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

– subsp. negatus Deignan, 1954 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือคำว่า nega แปลว่า คำปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ และคำว่า –tus เป็นคำลงท้าย อาจจะหมายถึงนกที่ยังไม่มีใครยอมรับการเป็นชนิดย่อย พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก แพร่กระจายในเมียนมา และไทย

– subsp. vantynei Deignan, 1948 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกทางตอนเหนือประเทศลาว ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือตอนบน แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาวตอนเหนือ และเวียดนามตอนเหนือ

– subsp. xanthops Deignan, 1948 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือคำว่า xanth,-o หรือ xanthos แปลว่า สีเหลือง และคำว่า op.=s แปลว่า การปรากฏ หรือใบหน้า ความหมายก็คือนกที่มีสีเป็นสีเหลือง พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ แพร่กระจายในเมียนมา และไทย

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 8 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าละเมาะ ชายป่า ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 2,565 เมตร

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..