ลองภูมิชาวแค้มป์

โดย…หนอนหนังสือ…

                             ช่วงนี้หลายพื้นที่ในเมืองไทยย่อมเจอกับมลภาวะฝุ่น PM 2.5 ซึ่งก็คือฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดอนุภาคเล็กมากๆ โดยมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือไมโครเมตร โดยคำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นฝุ่นขนาดที่เล็กมาก จึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ถ้าฝุ่นนี้มีปริมาณสูงมากๆในอากาศ จะดูคล้ายกับมีหมอกหรือควัน ขนาดของฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดของรูขุมขนของเรา จึงสามารถซึมผ่านเข้าผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ มีอาการแดงคัน ระคายเคืองผิว โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาผิวแพ้ง่าย โรคภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีผื่นกำเริบได้ง่าย ผิวหน้ามันขึ้น น้ำมันบนหน้าและฝุ่นจะทำให้เกิดการอุดตันของผิว และก่อให้เกิดสิว กระตุ้นการเกิดอนุมูลอิสระที่จะทำลายผิว ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย และจุดด่างดำ

                             นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถรวมตัวกับสารมลพิษ เช่นสารไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนัก และด้วยขนาดที่เล็กมากจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกไปยังหลอดลม และลงลึกจนถึงถุงลมปอดและซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย คือ ระบบทางเดินหายใจ โดยเมือหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป ก็จะรู้สึกแสบจมูก ไม่สบาย ไอ และมีเสมหะ ยิ่งหากเป็นคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคปอด(เช่น หอบหืด, ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น) ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากฝุ่นนี้จะทำให้โรคกำเริบได้ง่าย ซึ่งในระยะยาวมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้

                             เมื่ออากาศที่เราจำเป็นต้องสูดหายใจเข้าไปทุกวันๆนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นมลพิษทำลายร่างกาย เราจำต้องป้องกันและดูแลตนเองด้วย 5 วิธี ที่ทางราชการแนะนำมา ได้แก่

                             – การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรอยู่ในบ้านหรือในอาคารที่มีเครื่องฟอกอากาศชนิดที่มี HEPA filter

                             – เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมใส่หน้ากากชนิดที่สามารถกันฝุ่น PM2.5 ได้ และใส่ให้ถูกวิธี รวมทั้งใส่เสื้อผ้าแขนยาว เพื่อปกป้องผิวไม่ให้ระคายเคือง และลดการเห่อของผื่น

                             – ควรทำความสะอาดผิว/ล้างหน้าให้สะอาดทันที ภายหลังจากต้องสัมผัสกับฝุ่นมลพิษ

                             – ทาครีมบำรุงผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นและทำให้เกราะป้องกันของผิวแข็งแรงขึ้น หากป้องกันผิวดีแล้ว แต่ยังเกิดปัญหาผิวหนัง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

                             – รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ5หมู่ ทานผลไม้ หรือวิตามินที่สารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidant) เช่น วิตามินซี ดื่มน้ำสะอาด เพื่อช่วยในการขับสารพิษจากร่างกาย

                             เหล่านี้เป็นการแก้ไขปลายเหตุที่ใช้ได้เพียงป้องกันตนเองเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาการขจัดฝุ่น PM 2.5 ได้ ดังนั้นเราควรรู้ว่าฝุ่น PM 2.5 เกิดมาจากกิจกรรมใดบ้าง เพื่อช่วยกันงดเว้นหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมนั้นๆที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5

                             ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั้งสิ้น โดยกิจกรรมเหล่านี้ ได้แก่

                             ไฟป่า/เผาป่า แม้ว่าไฟป่าสามารถเกิดเองทางธรรมชาติ แต่ 90% ของไฟป่าในประเทศไทย เกิดจากการเผาป่าโดยมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมเผาเพื่อทำทางเดินเก็บหาของป่า เผาเพื่อกระตุ้นการงอกหรือการแตกใบใหม่ของพืชเศรษฐกิจทำเงิน และเผาเพื่อทำการเกษตร

                             การก่อสร้าง ประเทศไทยยังคงมีโครงการก่อสร้างใหญ่ๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรถไฟฟ้า อาคารพาณิชย์ และที่พักอาศัย สิ่งที่ตามมาก็คือฝุ่นละเอียดที่เกิดจากการขุดเจาะ

                             การผลิตไฟฟ้าและการทำอุตสาหกรรม พื้นที่ที่ปล่อยมลพิษมากที่สุด คือ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และการเผาปิโตรเลียมและถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไอเสียที่เกิดจากการเผาไหม้นี้ปล่อยก๊าซพิษออกมามากมาย เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์(NOX) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO2) รวมไปถึงฝุ่นละอองต่างๆด้วย

                             การคมนาคม ควันจากท่อไอเสีย และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ก็เป็นอีกแหล่งกำเนิดใหญ่ของ PM 2.5 โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น การจราจรที่หนาแน่นทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 เป็นจำนวนมาก

                             กิจกรรมอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ จุดธูป เผากระดาษ จุดพลุ ทำอาหารประเภทปิ้งย่าง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศเช่นกัน

                             ปัจจัยเหล่านี้ที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทางราชการก็ได้มีการออกกฎระเบียบต่างๆเพื่อป้องกันและควบคุม รวมทั้งมีบทลงโทษ แต่ก็มีไม่น้อยที่ผู้คนยังปล่อยปะละเลย ไม่สนใจให้ความร่วมมือ ส่วนตัวของผู้เขียนแล้วก็ชักชวนเพื่อนๆร่วมด้วยช่วยกันลดการสร้างฝุ่นมลพิษนี้ โดยพยายามลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้บริการขนส่งสาธารณะแทน หรือหากจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว ก็พยายามเดินทางไปพร้อมๆกันหลายๆคน ลดการเผาขยะ/กระดาษ/หญ้า รวมทั้งช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับฝุ่นมลพิษ

                             แล้วเพื่อนๆมีส่วนร่วมช่วยกันลดการสร้างฝุ่นมลพิษนี้เช่นใดครับ?

เครือพุงหมู


                             เฉลยคำตอบฉบับที่186 ได้แก่ ข. เครือพุงหมู เป็นแกะดำ เนื่องจากเป็นพืชที่ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.มุกดาหาร และ จ.อุบลราชธานี เท่านั้น ส่วนอีก3ชนิดมีรายงานการพบทั่วทุกภาค

                             เครือพุงหมู (ชื่อท้องถิ่น : จิงจ้อขนดก) ชื่อวิทยาศาสตร์ Argyreia leucantha Traiperm & Staples เป็นไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นและกิ่งก้านมีขนยาวสีน้ำตาลกระจาย ทุกส่วนของต้นเมื่อหักหรือฉีกจะมียางสีขาวไหลออกมา ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาว 6-12 ซม. ปลายใบแหลม แหลมยาว มน หรือกลม ขอบใบพับงอเข้าหากัน โคนใบมน กลม หรือเรียวแคบ เส้นแขนงใบ 7-10 คู่ แผ่นใบบาง มีขนยาวสีน้ำตาลกระจายทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 0.5-0.8 ซม.

เครือพุงหมู

                             ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้นๆตามซอกใบ ดูคล้ายช่อกระจุก ช่อละ 2-9 ดอก ดอกสีขาว จนถึงสีเขียวจาง ดอกเป็นหลอดรูประฆัง ยาว 5-6 ซม. ปลายดอกแผ่ออกและเป็นหยักตื้นๆ มีริ้วสีเขียวอ่อนเป็นแถบกลางกลีบ โคนกลีบบางครั้งมีสีเข้ม ผิวด้านนอกบริเวณกลางกลีบมีขนยาวสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น เกสรตัวผู้ยาวราว 3 ซม. ไม่ยื่นพ้นปากดอก โคนก้านเกสรฯมีขนยาว อับเรณูเป็นหนามละเอียด ยาว 0.5-0.6 ซม. รังไข่มี2ช่อง ผิวเกลี้ยง ฐานดอกรูปวงแหวน เกสรตัวเมียยาว 3-3.3 ซม. ติดคงทน ปลายเกสรตัวเมียแยกออกเป็น2พู กลีบเลี้ยง5กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กลีบคู่นอกยาว 2.5-2.8 ซม. กลีบใน3กลีบมีขนาดสั้นกว่าเล็กน้อย ผิวด้านนอกทั้ง5กลีบมีขนยาวสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ใบประดับรูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 1.5-2 ซม. ติดคงทน และมีขนยาวสีน้ำตาลปกคลุม ก้านดอกย่อยยาว 0.3-0.9 ซม. ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม ในไทยพบขึ้นตามป่าเต็งรังที่เป็นหินทรายในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 150-300 เมตร บริเวณริมน้ำโขงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.มุกดาหาร และ จ.อุบลราชธานี เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย แต่อาจพบได้ตามริมลำน้ำโขงในลาว และกัมพูชา ซึ่งยังไม่มีการสำรวจ

                             ผู้โชคดีที่ตอบถูกและได้รับรางวัล คือ “ตะเกียง 28 ซม.” รหัส 503-126 มูลค่า 350 บาท จำนวน 5 ท่าน ได้แก่ TM1647 , TM1922 , คุณอนุชิต จันทร์สุก , คุณไพโรจน์ รุ่งเรืองกิจ และคุณสาวิตรี บุปผาหอม


                            คำถามฉบับที่187 สัตว์ทะเลชนิดใด?ที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“แตงกวาทะเล”


ก. ปลิงทะเล

ข. หมึกกล้วย

ค. เพรียงหัวหอม

ง. ทากทะเล

                             เชิญร่วมสนุกลุ้นรับโชค 5 รางวัล ด้วยการร่วมสนุกทางเว็บไซต์ของบริษัทฯเท่านั้น หมดเขตรับคำตอบภายในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2566

                             ทั้งนี้ขอความกรุณากรอกชื่อ-นามสกุล ที่อยู่อย่างละเอียด พร้อมรหัสไปรษณีย์ โทรศัพท์ และอีเมล์ มีหลายท่านที่ตอบมาถูกต้อง แต่เราคงไม่สามารถจัดส่งรางวัลให้ได้ เพราะบอกแค่ชื่อ-นามสกุล แต่ที่อยู่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอ รวมทั้งไม่ได้ระบุเบอร์โทรหรืออีเมล์ เพื่อให้ทางเราสอบถามขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ดังนั้นเพื่อเป็นกติกาเดียวกัน เราขอกำหนดว่าผู้นั้นสละสิทธิ์ในการลุ้นรางวัล หากมีรายละเอียดไม่ชัดเจนดังกล่าว

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

    ก. ปลิงทะเลข. หมึกกล้วยค. เพรียงหัวหอมง. ทากทะเล