คู่มือการใช้เป้สะพายหลัง (Used to Backpack)

สมัยยุคเริ่มแรกของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเป้ฯ ของทหาร ซึ่งเป็นเป้ฯ ที่ผลิตผ้าใบที่มีกระเป๋าช่องเล็กๆเพื่อใส่ของกระจุกกระจิกหลายช่อง และสามารถกันน้ำได้ดี แต่ข้อเสียก็คือมีน้ำหนักมาก และเมื่อบรรจุสัมภาระลงในเป้ฯ น้ำหนักจะตกไปอยู่ที่สะโพกและมีแรงกด ทำให้ผู้ใช้เป้ฯ ดังกล่าวรู้สึกหนักและปวดกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ แผ่นหลัง และสะโพก ต่อมามีการพัฒนารูปแบบโดยเสริมโครงนอกเพื่อช่วงรองรับน้ำหนัก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถช่วยกระจายการแบกรับน้ำหนักได้ดีพอ
เมื่อการท่องเที่ยวแนวแค้มปิ้งเริ่มแพร่หลายก็ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงเป้ฯ อย่างไม่หยุดยั้ง ส่วนใหญ่เป้ฯ ในปัจจุบันจะถูกผลิตมาจากผ้าทอโพลีเอสเตอร์ที่มีขนาดเส้นด้ายแตกต่างกันไป ยิ่งมีขนาดเส้นด้ายโตมากเท่าไรก็ยิ่งมีความเหนียวและแข็งแรงทนทานมากขึ้น ผ้าชนิดนี้มีลักษณะเป็นผ้าเนื้อเรียบ ไม่ก่อเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง มีน้ำหนักเบา แข็งแรงและทนทานต่อการขูดขีด และสามารถรับน้ำหนักสัมภาระได้มาก ส่วนรูปแบบเป้ฯ จะแตกต่างกันไปก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ สรีระร่างกายผู้ใช้ สภาพภูมิประเทศที่จะไปเดิน และความต้องการปริมาตร (หรือการบรรจุสัมภาระ) ภายในเป้

เราสามารถแบ่งประเภทของเป้ฯ ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 3 ประเภท คือ เป้ฯ ไม่มีโครง เป้ฯ โครงใน และเป้ฯ โครงนอก

1. เป้ฯ ไม่มีโครง
เป็นเป้ฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีโครง เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวระยะสั้น ๆ ประมาณ 1 – 3 วัน

2. เป้ฯ โครงใน
เป็นเป้ฯ ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีโครงบรรจุอยู่ภายในตัวเป้ฯ บริเวณแผ่นหลัง ลักษณะโครงคล้ายแหนบมีจำนวน 2 อัน เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวระยะยาวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ที่ต้องการความคล่องตัวสูงในสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่ารกทึบ และเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันหรือขรุขระสูง

3. เป้ฯ โครงนอก
เป็นเป้ฯ ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีโครงติดกับตัวเป้ฯ บริเวณแผ่นหลังอยู่ภายนอก เหมาะสำหรับการเดินทางระยะยาวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าโปร่ง ไม่รก และเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันหรือขรุขระน้อย

ข้อแตกต่างระหว่างการใช้ซิป หรือเชือกรูดเป็นตัวปิดเปิดเป้ฯ
การใช้ซิปเป็นตัวปิดเปิดเป้ฯ ทำให้เราสามารถบรรจุสัมภาระและปิดเปิดเป้ได้สะดวก แต่ไม่สามารถรับแรงอัดหรือบรรจุสัมภาระได้มาก ส่วนการใช้เชือกรูดเป็นตัวปิดเปิดเป้ฯ สามารถบรรจุสัมภาระได้มาก แต่เวลาบรรจุหรือต้องการหยิบฉวยสัมภาระกระทำได้ยากและวุ่นวายไม่น้อย โดยปกติมักจะใช้ซิปกับเป้ฯ ที่ไม่มีโครง ส่วนเชือกรูดจะใช้กับเป้ฯ ที่มีโครง (ทั้งโครงในและโครงนอก)

ลักษณะของเป้ฯ ที่ดี
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะเป้ฯ โครงใน ซึ่งเป็นเป้ฯ ที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมใช้มากที่สุด เพราะมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศในเมืองไทย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ตัวเป้ฯ ควรมีลักษณะแคบและยาวตามรูปร่างแผ่นหลังของผู้ใช้ ทำให้น้ำหนักสัมภาระกระจายไปทั่วแผ่นหลัง
2. โครงอลูมิเนียมคล้ายแหนบจำนวน 2 อัน ที่บรรจุอยู่ภายในเป้ฯ บริเวณที่ติดกับแผ่นหลังของผู้สวมสะพาย ซึ่งโครงทั้ง 2 อันควรวางตัวอยู่แต่ละข้างของกระดูกสันหลัง ตัวโครงจะต้อง สามารถดัดเว้าเข้ากับแผ่นหลังตั้งแต่ไหล่ลงมาถึงกระดูกสะโพกของผู้ใช้ได้อย่างแนบเนียน ทำให้สะดวกในการเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว มีความสมดุลย์ในการทรงตัวได้ดี และช่วยกระจายการแบกรับน้ำหนักไปทั่วแผ่นหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจาก นี้ตัวโครงควรสามารถถอดออกได้เพื่อสะดวกแก่การทำความสะอาด
3. ควรมีสายปรับความยาวของแผ่นหลังจำนวน 3 สาย เพื่อให้ผู้ใช้ แต่ละคนสามารถปรับให้เข้ากับสรีระร่างกายของตนเองได้อย่างเหมาะสม
4. ควรมีแผ่นรองหลังช่วงบนและช่วงล่าง ซึ่งภายในบรรจุด้วยโฟมสังเคราะห์พิเศษที่มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อป้องกันสัมภาระและโครงอลูมิเนียมกระแทกหรือเสียดสีกับแผ่นหลัง โดยเฉพาะช่วยป้องกันน้ำหนักสัมภาระกดทับกระดูกสันหลัง และช่วยกระจายน้ำหนักไปทั่วแผ่นหลัง
5. ควรมีสายสะพายไหล่ขนาดใหญ่และหนา ซึ่งภายในบรรจุด้วยโฟมสังเคราะห์พิเศษที่มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักจากไหล่ลงสู่เอว และสามารถปรับสายสะพายไหล่เลื่อนเข้าออกให้กระชับแก่ร่างกายได้อย่างแนบเนียน
6. ควรมีสายรั้งเป้ฯ เพื่อใช้ปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุลย์ขณะเดินขึ้นเขาหรือลงเขา โดยดึงสายรั้งเป้ฯ ให้ตึงขณะเดินขึ้นเขาเพื่อให้ตัวเป้ฯ แนบชิดกับแผ่นหลังและป้องกันไม่ให้ตัวเป้ฯ แกว่งไปมาขนเสียศูนย์หรือขาดความสมดุลย์ขณะเคลื่อนไหว และใช้วิธีการคลายสายรั้งเป้ฯ ให้หย่อนขณะเดินลงเขาเพื่อให้สัมภาระภายในเป้ฯ เป็นตัวถ่วงน้ำหนัก นอกจากนี้ยังช่วยให้มีอากาศถ่ายเทผ่านระหว่างแผ่นหลังกับตัวเป้ฯ เพื่อขจัดเหงื่อได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วย

วิธีการบรรจุสัมภาระลงในเป้ฯ (โครงใน)
ควรเริ่มจากบรรจุถุงนอนไว้ในก้นเป้ฯ แล้วนำเสื้อผ้าและสัมภาระใส่ลงในเป้ฯ โดยให้เสื้อผ้าอยู่รอบ ๆ สัมภาระที่หนักและแข็ง โดยเฉพาะบริเวณแผ่นหลัง เพื่อป้องกันการเสียดสีหรือการกระแทกกับแผ่นหลัง อีกทั้งยังช่วยไม่ให้สัมภาระเคลื่อนไหวไปมาจนเสียศูนย์ ส่วนเต็นท์หรือแผ่นรองนอนก็ให้ผูกไว้กับสายรัดเป้ฯ ด้านนอกหรือด้านข้าง สำหรับอุปกรณ์จำเป็นที่จะต้องหยิบฉวยอยู่เสมอหรือทันท่วงทีควรบรรจุไว้บริเวณหัวเป้ฯ หรือช่องกระเป๋าเล็ก ๆ ทางด้านหน้าหรือด้านข้างของเป้ฯ

หลักการเลือกซื้อเป้ฯ
1. นำเป้ฯ สวมสะพายหลัง แล้วลองปรับสายรัดอก สายรัดเอว และสายสะพายไหล่ดูว่ากระชับกับร่างกายเราหรือไม่ รวมทั้งลองก้ม หน้าเงยหน้า หันซ้ายหันขวา และลองแบกเป้ฯเดินดูภายในร้านจำหน่ายอุปกรณ์แค้มปิ้ง หากเป้ฯ นั้นพอเหมาะกับตัวเราก็จะต้องสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวและกระชับ ที่สำคัญจะต้องไม่รู้สึกเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง
2. ขนาดความยาวของเป้ฯควรพอดีกับผู้ใช้ เพราะหากมีขนาดยาวเกินไป..สายคาดเอวจะไปคาดที่สะโพกทำให้เดินได้ไม่สะดวกและเวลานั่งยอง ๆ ตัวเป้ฯ ก็จะค้ำดันสะโพกจนนั่งไม่ได้หรือไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่ถ้าขนาดเป้ฯ สั้นเกินไป สายคาดเอวก็จะลอยขึ้นมาอยู่ระหว่างเอวและกระดูกซี่โครง ทำให้เดินได้ไม่สะดวกเช่นกัน
3. ขนาดความกว้างของเป้ฯ ควรพอดีกับผู้ใช้ เพราะหากมีขนาดกว้างเกินไป เวลาเดินผ่านไปตามป่ารก ตัวเป้ฯ จะระกิ่งไม้ต้นไม้หรืออาจติดขัดจนทำให้เราเสียศูนย์และหกล้มจนได้รับอันตรายได้
4. สายสะพายไหล่ควรอ่อนนุ่มและอยู่ห่างจากต้นคอพอสมควร เพื่อจะได้ไม่ไปกดชีพจรบริเวณต้นคอเมื่อแบกสัมภาระ ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก
5. เป้ฯ จ ะมีโครงหรือไม่มีโครงก็ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศที่เราจะเดินทางไปท่องเที่ยว ส่วนรูปแบบและสีสันขึ้นอยู่กับจิตใจที่ชื่นชอบของแต่ละคน

การดูแลรักษาและทำความสะอาด
1. สัมภาระที่ใส่ลงในเป้ฯควรมีลักษณะเล็ก เบา และบรรจุได้มาก ไม่ควรที่จะแบกของหนักหรือใหญ่ เกินกว่าเป้ฯใบนั้นจะรับน้ำหนักได้
2. หากเป้ฯ เปื้อนฝุ่นก็ให้ใช้แปรงขนอ่อนปัด
3. ถ้าเป้ฯ สกปรกไม่มากก็ให้ใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาด ๆ แล้วเช็ดถู แต่ถ้าสกปรกมากก็ให้ใช้น้ำเปล่าล้าง หากคราบสกปรกไม่ออกก็ให้ ใช้ยาสระผมหรือสบู่อ่อน ๆ ถูเบา ๆ อย่าใช้ผงซักฟอกหรือสบู่ที่มีกรดมาก ๆ อย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สารเคมีที่เคลือบเนื้อผ้าเพื่อป้องกันน้ำเสื่อมสภาพได้ จากนั้นนำไปผึ่งลมในที่ร่มหรือกึ่งร่มกึ่งแดดให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันกลิ่นอับและเชื้อรา อย่าตากแดดจัด ๆ และควรใช้แป้งทาตัว (อย่างอ่อน) โรยบริเวณซอกมุมของเป้เพื่อช่วยขจัดความชื้นให้หมดไป
4. ควรระมัดระวังอย่าให้น้ำมันเชื้อเพลิงหกรดใส่เป้ฯ เพราะจะทำให้เนื้อผ้าเป้เสียหายได้
5. ถ้านำเป้ฯ ไปท่องเที่ยวตามชายทะเล นอกจากทำความสะอาดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังต้องทำความสะอาดบริเวณซิปเป็นพิเศษด้วยการใช้น้ำฉีดพ่นบริเวณซิป เพื่อขจัดกรวดทรายและคราบไอทะเลที่เกาะอยู่ให้หลุดไป รวมทั้งเป็นการป้องกันฟันของซิปสึกหรอหรือฝืดจนใช้การไม่ได้ นอกจากนี้ควรนำเศษผ้าจุ่มขึ้ผึ้งหรือใช้เทียนไขก็ได้มาขัดถูบริเวณซิปเพื่อยืดอายุการใช้งานของซิป
6. ควรเก็บเป้ฯ ไว้ในสถานที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อบอ้าวจนเกินไป และไม่ควรวางไว้กับพื้น โดยเฉพาะพื้นปูน เพราะบริเวณนั้นจะมีความชื้นสูง และทำให้เป้ฯ เกิดเชื้อราได้ง่าย
7. นาน ๆ ครั้งควรนำเป้ฯออกมาตากแดดอ่อน ๆ เพื่อขจัดกลิ่นอับ