คู่มือการใช้กล้องส่องทางไกลแบบสองตา (Used to Binocular)

กล้อง ส่องทางไกลแบบสองตาทุกรุ่นทุกยี่ห้อไม่ว่าจะประดิษฐ์จากวัสดุอะไรหรือออกแบบ ไหนก็ตามจะมีลักษณะง่ายๆ คือ เป็นกระบอกเลนส์สองอันเชื่อมติดประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อการมองเห็นเป็นจุดรวมกัน เป็นกล้องที่มีพลังการขยายต่ำที่ให้ภาพตั้งตรงตามความจริง ไม่ใช่ภาพกลับหัว สาเหตุที่กล้องส่องทางไกลออกแบบมาในลักษณะเป็นกระบอกเลนส์ 2 อัน มีแกนกลางเป็นตัวเชื่อมติดกัน สามารถปรับระดับของกระบอกเลนส์ทั้งสองได้ตามระยะห่างของตาทั้งสองข้างนั้นก็ เพื่อความสะดวกสบายในการมองของทั้งสองตา ดูภาพให้เห็นเด่นอย่างของจริง แสงที่สะท้อนจากวัตถุที่มองจะผ่านเข้ามาในกล้องไปยังเลนส์ทั้งสองข้าง ทะลุไปยัง
กลุ่มเลนส์ที่บรรจุอยู่จนสุดที่เลนส์ชิ้นสุดท้ายแล้วออกมายังสายตาของเรา แต่ก่อนจะมาถึงยังสายตาของผู้มองภาพนั้นจะต้องผ่านชุดของปริซึมที่กลับภาพ ให้ถูกต้องตามความจริงก่อน แล้วภาพจึงค่อยพุ่งไปยังเลนส์ตา (Eye Piece) ขยายให้เราสามารถเห็นวัตถุนั้นได้เด่นชัดตรงกับสภาพความจริงในระยะที่ใกล้ กว่าระยะห่างจริงๆ ของเรากับวัตถุนั้น กำลังขยาย (Magnification) และเลนส์ตัวหน้า( Obijective Lens Diameter)

คำถามแรกในการเลือกกล้องส่องทางไกลแบบสองตาก็คือ มีกำลังขยายกี่เท่าเมื่อเทียบกับการมองด้วยตาเปล่า ซึ่งเราสามารถดูได้จากตัวเลข 2 ชุด ที่แยกจากกันด้วยเครื่องหมาย X (เอ็กซ์) ที่พิมพ์อยู่บนสะพานระหว่างบาเรลหรือลำกล้องทั้งคู่ บางรุ่นก็อาจเขียนบอกไว้ที่ตัวกล้องตรงบริเวณด้านที่เราเอาตามองหรือที่เรียกว่า “ชุดเลนส์ตา” (Eye Piece) นั่นเอง กล้องส่องทางไกลทุกตัวจะต้องมีหมายเลข 2 ชุดนี้กำกับอยู่ เช่น 8X23 6.3, 10X30 Field6, 7X50S (S ตั้งแต่ 51-59), 7X35, 10X24 เป็นต้น ตัวเลขเหล่านี้จะแทนคุณสมบัติของกล้องดังนี้

1. ตัวเลขหน้าX คือ กำลังขยายของกล้อง เช่น 7X หรือ 10X แสดงว่าเราสามารถเห็นวัตถุในระยะไกลใกล้เข้ามา 7 เท่าตัว หรือ 10 เท่าตัวตามลำดับ ตัวอย่างเช่น ส่องดูวัตถุในระยะ 140 หลา ภาพที่เห็นจะเหมือนกับว่าวัตถุนั้นตั้งอยู่ในระยะ 20 และ 14 หลา ตามลำดับ โดยทั่วไปมักคิดว่ากำลังขยายยิ่งมากคุณภาพของกล้องยิ่งดีที่สามารถเห็นวัตถุ ที่ไกลๆได้ชัดขึ้น ความจริงแล้วไม่ใช่กำลังขยาย 10 เท่า (หรือ 10X) เป็นกำลังขยายที่เหมาะสมสำหรับกล้องสองตา ซึ่งต้องใช้มือถือ เพราะหากมีกำลังขยายมากกว่านี้ ตัวกล้องก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เพิ่มความลำบากในการใช้มือถือส่องดู เพราะมือคนเราไม่เที่ยง ย่อมจะทำให้เกิดภาพสั่นไหวและเกิดอาการเวียนศีรษะได้ง่าย ดังนั้นหากจำเป็นต้องการใช้กล้องสองตาที่มีกำลังขยายมากกว่า 10X ก็ควรที่จะหาอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น ขาตั้งกล้อง และอเด็ปเตอร์ เป็นต้น
ข้อสังเกต แสงสว่างจะมีผลต่อการมองเห็นสีของวัตถุและความชัดเจนของภาพด้วย ดังนั้นกล้องที่มีกำลังขยายที่มากขึ้นเท่าใด การดูดกลืนแสงก็จะมากกว่าตัวที่มีกำลังขยายที่ต่ำกว่า

2. ตัวเลขหลังX คือ ความกว้างของหน้ากล้อง (aperture) หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์ตัวหน้า (Objective Lens Diameter) มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ทำหน้าที่ในการอนุญาตให้แสงผ่านเข้ากล้องซึ่งความกว้างของหน้ากล้องมีขนาด ใหญ่จะยอมให้แสงผ่านเข้าได้มากกว่าและทำให้ภาพที่ส่องดูมีความสว่างกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบผลิตกล้องเพื่อใช้ในงานในสภาวะต่างๆกัน เช่น กล้อง 6X15 ไม่เหมาะสำหรับใช้มองในสภาพที่มีแสงอ่อนหรือในที่ร่มเงาของป่าไม้ ทำนองเดียวกันกับกล้องที่มีขนาดเลนส์ตัวหน้า 60 มม. เป็นกล้องส่องทางไกลที่ใช้มองผ่านความมืด (Night Glass) อาศัยเพียงแสงดาวก็มองเห็นได้ชัดเจน แต่กล้องที่มีขนาดเลนส์ตัวหน้าหรือความกว้างของหน้ากล้องใหญ่ก็จะมีน้ำหนัก มาก เนื่องจากต้องใช้เลนส์ขนาดใหญ่ ทำให้รูปทรงมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายต่อสายตาของผู้ใช้หากนำไปมองย้อนแสงแดดที่แรงจัด

 

 

ขอบเขตของภาพหรือสนามความกว้าง (Field of view)
กล้องที่มีลำลังขยายสูงมากๆจะทำให้ขอบเขตของภาพที่จะมองเห็นจากกล้องแคบลงตามไปด้วย บนกล้องสองตาทุกตัวจะต้องมีตัวเลขบอกความกว้างของจอภาพหรือขอบเขตภาพ เช่น 367 ฟุต ต่อ 1,000 หลา หรือ 120 เมตร ต่อ 1,000 เมตร ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกว่าสามารถมองทิวทัศน์ระยะห่าง 1,000 หลา หรือ 1,000 เมตร ได้กว้างถึง 367 ฟุต และ 120 เมตร ตามลำดับ

ปกติมักนิยมใช้มุมองศาเป็นตัวกำหนดแทนระยะฟุตหรือเมตร กล้องสองตาส่วนใหญ่จะมีมุมกว้างเท่ากับ 7º ยกเว้นรุ่นที่มีกำลังขยายสูงๆจะมีมุมกว้างเพียง 3-5º แต่ทั้งนี้ก็มีกล้องสองตาที่มีมุมกว้างมากๆ ถึง 8º และ 10º

ถ้ากล้องส่องทางไกลตัวใดระบุแต่เพียงองศาการรับภาพ เราก็สามารถคำนวณขอบเขตความกว้างของพื้นที่ในภาพได้ โดยนำค่าองศามาคูณ 17.5 แต่ถ้ากล้องตัวนั้นไม่บอกองศาและขนาดขอบเขตของภาพ ก็ให้ทำการเปลี่ยนค่าระยะทางฟุต/1,000 หลา หรือ เมตร/1,000 เมตร เป็นองศา โดยการนำค่าระยะทางเป็นฟุตหารด้วย 52.5 และค่าระยะทางเมตรหารด้วย 17 ก็จะได้ค่าองศา จากนั้นนำมาคูณ 17.5 จะทราบขนาดขอบเขตของภาพว่ากว้างมากน้อยเท่าไร

นกนางนวลธรรมดา

รูรับแสงหรือม่านตา (Exit pupils)
คือ เส้นผ่าศูนย์กลางของลำแสงที่ผ่านเลนส์ตาเข้าสู่ตาของผู้ส่องกล้อง เมื่อยกกล้องส่องวัตถุบนท้องฟ้าหรือผนังสีอ่อนๆ เราจะเห็นจุดเล็กๆ 2 จุด อยู่กลางเลนส์ตาหรือเลนส์ตัวหลัง ขนาดของจุดแสดงถึงความสามารถในการรับแสงจึงเรียกว่า “รูรับแสง” หรือ “ม่านตา” รูรับแสงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับม่านตาของคนเรา คือขณะที่อยู่ในที่มืดหรือร่มครึ้ม ม่านตาของคนเราจะเปิดออกได้กว้างถึง 7 มม. ดังนั้นกล้องสองตาที่ใช้ในเวลากลางคืนหรือร่มครึ้มจึงต้องมีขนาดรูรับแสง 7 มม. หรือมากกว่านี้ เพื่อที่จะสามารถส่งผ่านแสงเข้าสู่รูม่านตาของคนเราได้ทั้งหมด
โดยไม่ตกหล่น ภาพที่ปรากฎจึงจะคมชัดที่สุด แต่ในเวลากลางวัน..รูม่านตาของคนเราจะเปิดกว้างไม่ถึง 7 มม. ขนาดของรูรับแสงก็ไม่จำเป็นต้องให้กว้างถึง 7 มม. เช่นกัน อนึ่ง ขนาดของรูรับแสงที่มีขนาดใหญ่ก็หมายความว่ากล้องตัวนั้นมีน้ำหนักมาก

ขนาดของรูรับแสงหาได้จากผลหารระหว่างขนาดของเลนส์ตัวหน้ากับกำลังขยาย เช่น 8X20 และ 7X35 จะได้ขนาดของรูรับแสงเท่ากับ 2.5 และ 5 มม.ตามลำดับ มีทฤษฎีมากมายหลายแบบที่ใช้ในการคำนวนเปรียบเทียบถึงความสามารถในการใช้งานในสภาพแสงที่ต่างกัน ในที่นี้ขอกล่าวเพียง 3 ทฤษฎี ได้แก่

1. relative brightness หรือ brightness index โดยให้เอาความกว้างของหน้ากล้องหารด้วยกำลังขยาย จากนั้นเอาผลลัพธ์มายกกำลังสองแล้ว นำมาเปรียบเทียบกัน เช่น 7X35 และ 15X60 จะได้ขนาดรูที่ว่าออกมาเท่ากับ 5 และ 4 มม.ตามลำดับ นำไปยกกำลังสองทั้ง 2 ตัวจะได้ค่าเท่ากับ 25 และ 16 เมื่อนำมาเปรียบเทียบค่าตัวเลขกันแล้วจะเห็นว่าเลข 25 มีมากกว่าเลข 16 ราวๆ 1 ใน 3 หรือ 30% นั่นคือ เป็นความสามารถในการรับแสงที่ต่างกัน
2. twilight factor โดยให้เอาตัวเลข 2 ชุด บนกล้องแต่ละตัวคูณกันเข้าไป แล้วนำไปถอดสแควร์รูธ เช่น 7X35 = 245 เมื่อถอดสแควร์รูธก็จะได้ค่าเท่ากับ 15.6 หมายความว่าในเวลาที่แสงเลวมากๆ กล้องส่องทางไกลจะมองวัตถุได้ในระยะประมาณ 15.6 หลา
3. วิธีนี้เป็นทฤษฎีสุดท้าย ซึ่งมีรูปแบบที่ง่ายๆ โดยเอาตัวเลข 2 ชุดบนกล้องแต่ละตัวคูณกันเข้าไป แล้วนำมาเปรียบเทียบดูกับตารางข้างล่างว่า กล้องตัวไหนคือกล้องที่เราต้องการ

0-100 –       ใช้ในสภาพกลางวันที่มีแดดดี
100-150 –   ใช้ในสภาพแสงทั่วๆไป
150-200 –   ใช้ในสภาพที่ร่มเงาภูเขา ในป่า หรือครึ้มฝน
200-250 –   ใช้ในสภาพแสงเช้ามืดหรือย่ำค่ำ
250-300 –   ใช้ได้อย่างดีมากในสภาพแสงเช้ามืดหรือย่ำค่ำ
300-400 –   ใช้ในสภาพแสงจันทร์กระจ่าง
400 ขึ้นไป – ใช้ในสภาพที่มีแสงดาวหรือกลางคืน

กล้อง สองตาที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในสภาพแสงน้อย มักจะมีขนาดรูรับแสงเท่ากับ 7 มม.เสมอ จริงอยู่ที่มีผู้สูงอายุจะมีรูม่านตาหดแคบลง เช่น อายุ 30 ปีขึ้นไป รูม่านตากว้างสุดเพียง 6 มม. ส่วนคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป รูม่านตาจะลดเหลือเพียง 4.5-5 มม. เป็นต้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กล้องที่มีขนาดรูรับแสงเท่ากับ 7 มม. เพราะแสงที่เกินมาไม่สามารถผ่านเข้าตาเราได้ แต่การเลือกซื้อกล้องสองตาที่มีขนาดรูรับแสงสูงเอาไว้ก่อนก็จะใช้ประโยชน์ ได้กว้างขึ้น หากไม่มีความแตกต่างในเรื่องราคามากนัก

นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า(ตัวผู้)

นกกินปลีอกเหลือง(ตัวเมีย)

การโฟกัสภาพ
การปรับความคมชัดของภาพสำหรับกล้องส่องทางไกลนั้น ในทางปฏิบัติจะมีมากกว่าหนึ่งวิธีดังนี้

1. วิธีแรกเรียกว่า “ระบบโฟกัสเดียว” เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และนิยมใช้กันมากที่สุด คือ การปรับโฟกัสบริเวณตรงกลางกล้อง (Center Focus) หรือแกนกลางของกล้องระหว่างที่เรามองอยู่ กล้องบางตัวจะใช้วงล้อหมุน แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็มีหลักการเดียวกัน คือ ปรับเคลื่อนเลนส์ตาให้ไปข้างหน้าหรือถอยหลังเพื่อหาจุดชัด รูปทรงของกล้องที่ปรับโฟกัสด้วยวิธีนี้เป็นรูปแบบที่หมดความกังวลในเรื่อง ของความสกปรกและความชื้นได้เป็นอย่างดี
2. วิธีที่สอง เป็นวิธีที่ค่อนข้างจะยากสักหน่อย คือ การปรับโฟกัสที่เลนส์ โดยปรับโฟกัสแยกในแต่ละข้าง (Individual Focus) เป็นการปรับเพื่อให้เกิดความชัดเจนและสมดุลย์ในการมองภาพของทั้งสองตา คือ ถ้าตาขวาชัด ตาซ้ายก็ต้องชัดด้วย ในขณะที่ความยาว-สั้นของสายตาขวา-ซ้าย อาจจะไม่เท่ากัน จุดปรับจะอยู่ตรงเลนส์ตา (Eye piece) ที่เราใช้แนบกับตาเมื่อส่องกล้อง โดยปกติจะอยู่ที่เลนส์ตาข้างขวาโดยหมุนได้ซ้ายขวาเพื่อหาจุดชัด (แต่กล้องบางรุ่น อาจมีเลนส์ตาอยู่ข้างซ้ายก็ได้) ส่วนเลนส์ด้านซ้ายอาจใช้หมุนได้ แต่ไม่ใช่หมุนเพื่อปรับอะไรนอกจากการถอดเลนส์ออก หน่วยที่เป็นค่าให้ปรับนั้นจะติดไว้ที่เลนส์ตาข้างใดข้างหนึ่ง (ที่อยู่ตรงกันข้ามกับเลนส์ตาที่ใช้ปรับโฟกัส) โดยมีค่าเป็น + 0 – ส่วนตัวขีดตั้ง ( ) จะเป็นตัวบอกว่า ขณะนี้เลนส์ตาข้างขวา (หรือซ้าย) ที่ปรับอยู่ เป็น + 0 หรือ – ระบบการปรับโฟกัสประเภทนี้มักเป็นรุ่นที่ป้องกันการซึมของน้ำและป้องกันความชื้นได้ดีกว่า
วิธี การปรับก็โดยการหาวัตถุที่นิ่งชัดเจน มีระยะห่าง 15-30 เมตร จากนั้นก็หลับตาข้างขวา (กรณีเลนส์ตาอยู่ข้างขวา) แล้วมองด้วยตาข้างซ้ายเพียงข้างเดียว หมุนที่ปรับโฟกัสปรับให้ชัดเจนที่สุด เมื่อชัดเจนดีแล้วก็หลับตาข้างซ้ายลง แล้วใช้ตาข้างขวามองบ้าง (มองจากเลนส์ตาข้างขวา) โดยมองวัตถุอันเดียวกัน ดูว่าชัดเจนเท่ากับที่เห็นจากข้างซ้ายหรือไม่ ห้ามหมุนที่ปรับโฟกัสไม่ว่าชัดเจนหรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่ชัดเจนเหมือนข้างซ้ายก็ให้หมุนเลนส์ตาข้างขวาจนได้ภาพที่ชัดเจน หยุดการปรับหมุน แล้วลืมตาซ้ายดูว่าภาพที่เห็นพร้อมกันทั้งสองตา ชัดเจนดีหรือไม่ ถ้ายังไม่ถูกใจก็หลับตาข้างซ้ายใหม่ แล้วหมุนปรับที่หมุนนี้ต่อจนกว่าจะหาจุดพอดีที่พอใจได้ แต่ถ้าปรับเท่าไรก็ไม่ได้ก็ดูว่าเราจ่ายเงินซื้อหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ซื้อก็ให้เลือกอันใหม่ แต่ถ้าเราได้ซื้อมาแล้วก็ควรส่งให้ช่างนำไปซ่อม เพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนของเลนส์หรืออุปกรณ์บางอย่างก็เป็นไปได้

ข้อ สำคัญในการปรับขั้นตอนนี้ก็คือ ต้องปรับตาข้างซ้ายให้ชัดเจนที่สุดด้วยที่หมุนปรับโฟกัส และระหว่างการปรับตาข้างขวาห้ามหมุนปรับโฟกัส มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถปรับกล้องส่องทางไกลแบบสองตาให้มีความสมดุลในการมอง ของภาพให้ดูภาพที่ดีๆได้

อนึ่งเมื่อปรับจนสมดุลย์กันเรียบร้อยดีแล้ว ควรดูค่าของเลนส์ตาว่าชี้บอกอยู่ในตำแหน่งใดแล้วจำไว้หากมีใครมาปรับเลนส์ตานี้ เราก็จะสามารถปรับคืนกลับมาได้ จะได้ไม่เสียเวลาในการมาปรับหาจุดโฟกัสใหม่

3. วิธีที่สาม เป็นกล้องส่องทางไกลที่ไม่ต้องปรับความคมชัดเลย นั่นคือ เป็นกล้องส่องทางไกลแบบระยะชัดตายตัว (Fixed Focus) มีความชัดลึกสูง แต่ข้อเสียของกล้องประเภทนี้ คือ ระยะโฟกัสโดยทั่วไปจะจำกัดไว้ที่มากกว่า 40 ฟุต เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งที่เราต้องการจะดูอยู่ใกล้กว่านั้น ก็เห็นทีว่าโชคร้ายแน่นอน
4. วิธีที่สี่ เป็นระบบออโต้โฟกัส (Auto Focus) ที่มีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีเดียวกันกับระบบออโต้โฟกัสในกล้องถ่ายรูประบบ SLR ที่ต้องใช้แบตเตอรี่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ให้ความสะดวกสบายกว่าระบบแมนน่วลอยู่มาก
หมายเหตุ กล้องสองตาที่มีกำลังสูงๆควรมีช่องเสียบต่อกับขาตั้งกล้องประเภทสามขาเอาไว้ด้วย หรือไม่ก็สามารถใส่แถบหรือตัวล็อคกับขาตั้งกล้องสามขาได้ ส่วนกล้องที่ต้องใช้กับงานภาคสนามที่ต้องผจญกับน้ำก็ควรพิจารณารุ่นที่กันน้ำได้ด้วย

ปัญหาเรื่องสายตากับการส่องกล้อง
สำหรับผู้ที่ต้องใส่แว่นสายตา ก่อนจะเลือกซื้อกล้องต้องตรวจสอบดู “ระยะสบายตา” (Eye relief) หรือระยะที่เราต้องจรดลูกตาของเราห่างจากเลนส์ตาใกล้แค่ไหน จึงจะสามารถมองภาพได้เต็มจอ ระยะสบายตานี้สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องสวมใส่แว่นตาเป็นอันมาก แม้ว่าคนใส่แว่นตาจะสามารถถอดแว่นและใช้กล้องสองตาได้เหมือนเช่นคนสายตาปกติ โดยการปรับระยะชัดใหม่ที่ตัวกล้องได้ก็ตาม แต่จะก่อความรำคาญมากเพราะต้องใส่ๆถอดๆอยู่บ่อยๆ

ในกรณีที่ไม่ต้องการถอดแว่นโดยใช้กล้องสองตาเห็นได้เต็มจอต้องเลือกระยะสบายตาที่มีค่าอย่างน้อยที่สุด 14-15 มม. วัดจากขอบเลนส์ใกล้ตาออกมา

กล้องสองตาบางรุ่นมีค่าระยะสายตาถึง 18 มม.หรือ 23 มม. สามารถดูห่างๆตาได้สบายๆ ขณะที่บางรุ่นมีระยะสบายตาแค่ 8-9 มม. ซึ่งจะต้องเอาตาจ่อติดเลนส์จึงจะเห็นเต็มจอ ทำให้ปวดตาและขนตาอาจจะไปขีดข่วนเลนส์ให้มีรอยได้ง่ายอีกด้วย

กล้องสองทางไกล

เลนส์ดีต้องมีเคลือบ
การ สะท้อนกลับของแสงเป็นตัวการสำคัญของเลนส์ทุกชนิดในเลนส์กล้องส่องทางไกลหรือ กล้องถ่ายรูป ซึ่งประกอบตัวเลนส์ราวๆ 5-15 ชิ้น แต่ละชิ้นอาจสะท้อนแสงกลับไป 4-5% แล้วแต่สภาพแสง กล้องห่วยๆบางตัวจากแสงที่ผ่านเข้ามาทางเลนส์ตัวหน้ากว่าจะรอดมาถึงเลนส์ตา ก็เหลือไม่ถึงครึ่ง ถ้าเราใส่แว่นตา (กระจกใสธรรมดา) ก็อาจหายไปอีก 7-8% แสงบางส่วนที่สะท้อนก็ไม่ยอมกลับไปหมด แต่จะไปสะท้อนเลนส์ตัวหน้าแล้ววกกลับมาอีก เพราะระหว่างเลนส์บางตัวหรือบางชุดที่เป็นช่องอากาศว่างอยู่ แสงที่เด้งไปเด้งมาอยู่นี่ คือ ตัวการของภาพซ้อนหรืออย่างน้อยก็ทำให้มีอาการพร่ามัว

เพื่อเป็นการแก้อาการดังกล่าวและอนุญาตให้แสงผ่านได้มากขึ้น การเคลือบผิวเลนส์จึงถูกนำมาใช้ในเลนส์สมัยใหม่ทั่วไป ซึ่งช่วยให้แสงผ่านได้มากกว่า 90% ให้สีและคอนทราสท์ในส่วนมืด สว่าง และโทนกลางได้ชัดเจน รวมทั้งรายละเอียด ความคมชัด และรูปทรง ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับเกรดของการเคลือบและคุณภาพของเลนส์

เลนส์ของกล้องสองตาส่วนใหญ่จะต้องเคลือบ “สารแมกนีเซียมฟลูออไรด์” อย่างน้อยๆ 1 ชั้น เพื่อลดการสะท้อนกลับภายในเนื้อแก้ว และให้แสงผ่านเข้ากล้องได้มากสุด

ในกล้องสองตาที่เป็นรุ่นราคาต่ำอาจเคลือบสารเฉพาะผิวหน้าของเลนส์วัตถุ แต่ในรุ่นที่มีราคาสูง การเคลือบเลนส์มักจะทำทุกชิ้นทั้งผิวนอกและผิวใน บางรุ่นที่ดีๆการเคลือบจะเคลือบทั้งตัวเลนส์และปริซึมและเคลือบหลายชั้นที่เรียกว่า “Multilayer Coating” หรือ “Multi Coat” ซึ่งแสงจะสะท้อนกลับเพียง 5% เท่านั้น ทำให้มองเห็นภาพวัตถุสมจริงสมจังและสวยงามคมชัดมากกว่าเลนส์ที่ไม่ได้เคลือบ หรือเคลือบน้อยชั้นกว่า จริงอยู่ที่เลนส์ตาของมนุษย์มีคุณสมบัติที่วิเศษในการปรับตัวเองให้เข้ากับ แหล่งกำเนิดของแสงต่างๆได้ เช่น เรามองเห็นกระดาษสีขาวในเวลาที่มีแสงจ้านอกอาคาร แต่ถ้าเรานำกระดาษเข้ามาในอาคารที่มีแสงไฟฟ้า เราจะเห็นกระดาษเป็นสีแดง และสักครู่ก็จะเป็นสีขาวเช่นเดิม ดังนั้นการใช้กล้องส่องทางไกลที่ไม่เคลือบน้ำยากันแสงกับตามนุษย์ก็มีผลแตก ต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นกล้องถ่ายรูปภาพที่ออกมาจะแตกต่างกันมากทีเดียว แสงและรังสีหลายชนิดที่ไม่มีผลต่อตาคนก็จริง แต่จะมีผลต่อเลนส์จับภาพของกล้อง อาจทำให้วัตถุที่เห็นสีผิดเพี้ยนไปไม่ชัดเจน ดังนั้นเลนส์ที่มีการเคลือบน้ำยากันแสงหลายชนิด อาจทำให้เรามองเห็นภาพวัตถุได้ดี มีสีสันสมจริงกว่าเลนส์ที่ไม่ได้เคลือบน้ำยาอย่างแน่นอน

การตรวจสอบว่าเลนส์ของกล้องผ่านการเคลือบสารหรือไม่ สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอย่างง่ายๆได้โดยวิธีการดังนี้ นำกล้องไปไว้ใต้แสงไฟนีออน แล้วก้มดูแสงสะท้อนของดวงไฟ ซึ่งจะมีอยู่หลายจุดตามจำนวนชิ้นเลนส์ และมีสีต่างๆกัน สีฟ้าอมม่วงแสดงว่าใช้ได้ สีน้ำเงินแสดงว่าเคลือบหนาเกินไป สีเหลืองหรือค่อนข้างเหลืองแสดงว่าเคลือบบาง แต่ถ้ามีสีขาวปนอยู่แสดงว่าเลนส์ชนิดนั้นไม่ได้เคลือบอะไรไว้เลย

สิ่งที่มีผลต่อการมองเห็นความคมชัด สีสันของวัตถุในกล้องส่องทางไกลอีกอย่างก็คือ “การเคลือบน้ำยากันแสง” เลนส์จับภาพที่เคลือบน้ำยากันแสงหลายชนิด (Multi Coated Lense) จะให้ภาพวัตถุที่มองเห็นสมจริง สวยงามมากกว่าเลนส์ที่ไม่ได้เคลือบหรือเคลือบน้อยชนิดกว่า

โครงสร้างของกล้อง
ทุกชิ้นส่วนที่ปรับเลื่อนได้ควรมีปะเก็นหรือแหวนยางแทนการซีลด้วยน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งจะอาบเยิ้มเข้าสู่เลนส์เมื่อถูกแดดส่องโดยตรงเป็นเวลานานๆ ความชื้นเพียงเล็กน้อยจากเหงื่อของเราก็อาจทำให้เลนส์ภายในพร่ามัว ซึ่งไม่สามารถจะแก้ไขได้ ถ้าเราพบเช่นนั้นหมายถึงความบกพร่องและเกรดของการผลิตที่ด้อย

กล้องหุ้มยางจะช่วยลดแรงกระทบและเก็บเสียงได้ดี ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการส่องสัตว์ กล้องกันน้ำทุกแบบจะหุ้มด้วยยาง แต่ไม่ได้หมายความว่ากล้องหุ้มยางจะกันน้ำ ควรเช็คดูคำประกัน “waterproof” บนตัวเรือนของกล้องหรือคู่มือที่แนบมากับกล้องว่ามีหรือไม่ นอกจากนี้ดูว่ายี่ห้อของกล้องเป็นยี่ห้อที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีพอเชื่อถือได้หรือไม่

สำคัญที่สุดสำหรับคนที่ใช้แว่นตาเป็นประจำ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากล้องตัวนั้นถูกออกแบบมาสำหรับใช้ “ถ้วยยาง” (Rubber cups) ได้แทนการดูชัดแต่เพียงส่วนกลางหรือถอดแว่นแล้วดูไม่ชัด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแสดงว่ากล้องแบบนี้ดีไซน์เผื่อเลนส์แว่นตาไว้ด้วย ขณะที่กล้องเกรดต่ำบางตัวเพียงเพิ่มถ้วยยางลงไปเฉยๆ ซึ่งเราอาจสังเกตดูเครื่องหมายอักษร B ที่ติดมาด้วย เช่น 8X20B เป็นต้น

 

ดูนกบนดอยอินทนนท์

ขนาดและแบบกับการใช้งาน
กล้องส่องทางไกลเป็นอุปกรณ์ที่มีอายุยืนยาวและไม่สึกหรอจากการใช้งานตามปกติ สิ่งสำคัญอยู่ที่การเลือกขนาดและแบบของกล้องนั้นควรให้เหมาะแก่งานที่มีโอกาสได้ใช้บ่อยที่สุด ซึ่งเราต้องรู้ว่าจะนำไปใช้กับอะไรบ่อยที่สุด เช่น

– ถ้าวัตถุที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็ว เช่น สัตว์ป่าในทุ่งราบหรือกีฬาประเภทความเร็ว กล้องส่องทางไกลควรเป็นขนาด 6X หรือ 7X จึงจะเหมาะสมที่สุด เพราะมันมีกำลังขยายที่ต่ำ และภาพที่กว้างจะทำให้เราใช้กล้องโดยการแพนตามวัตถุให้คงอยู่ในสายตาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ต้องคำนึงระยะทางด้วยว่ายิ่งใกล้เท่าไรความเร็วที่ผ่านจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น
– สำหรับการดูนกหรือสัตว์ ควรเลือกกล้องที่มีกำลังขยายสูง เท่าที่เราจะถือรับน้ำหนักได้
– สำหรับหมอผ่าตัดหรือช่างทำทอง ควรใช้กล้องที่มีกำลังขยายสูงขนาด 10X
– ในป่าทึบเมืองร้อน จะให้แสงน้อยโดยเฉลี่ย กล้องที่มีเลนส์กล้องขนาดใหญ่ประมาณ 30 มม. หรือมากกว่านั้นจะช่วยได้มาก (กล้องขนาด 7X35 ให้รูรับแสง 5 มม. เหมาะสำหรับใช้ในป่าบ้านเรา)
– ถ้าอยู่บนรถไฟหรือเรือที่โยกเยกอยู่ตลอดเวลา ควรเลือกกล้องที่มีกำลังขยายต่ำ มีเลนส์ตัวหน้าใหญ่เข้าไว้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงน้ำหนัก เพราะจะช่วยสายตาของเราไม่ให้ระคายเคืองได้มาก
– ในป่าทึบ..การมองเห็นในสภาพแสงน้อยสำคัญกว่ากำลังขยาย ตรงกันข้ามกับเขตทุ่งราบและภูเขา อย่างไรก็ตามกล้องที่มีกำลังขยายต่ำจะให้ขอบเขตของภาพกว้าง และสามารถเก็บภาพเพียงปลายหางสัตว์เล็กที่โผล่เรี่ยยอดหญ้าได้อย่างชัดเจน การที่ให้มันอยู่ในสายตาตลอดเวลานั้นสำคัญกว่าการรู้ว่ามันเป็นตัวผู้หรือมีเขางามขนาดไหน จึงควรเลือกกล้องจากระยะ 7X หรือไม่เกิน 9X ตัวใดตัวหนึ่ง โดยคำนึงถึงเงื่อนไขอื่นๆประกอบด้วย
– กล้องส่องทางไกลขนาด 8X20 แบบกันน้ำ ชนิด roof prism มีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับการนำติดตัวไปเดินทางไกล และสามารถใช้งานในการตรวจสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ
– กล้องส่องทางไกลชนิด “ไลท์เวท” และ “คอมแพค” เป็นกล้องขนาดมินิที่ให้กำลังขยายสนามความกว้าง และคุณภาพเลนส์ทัดเทียมกับกล้องมาตรฐานในขนาดเดียวกัน แต่มีข้อเสียเพียงอย่างเดียวตรงที่มันจะสูญเสียความสามารถในการรับแสงไปราว 30% เพื่อแลกกับน้ำหนักและขนาดที่ลดลงมา แต่ก็ยังดีพอสำหรับแสงกลางวันทั่วไป รวมถึงการนำไปดูดนตรีหรือกีฬากลางคืนในอินดอร์สเตเดี้ยม
– เวลาย่ำรุ่ง ยามโพล้เพล้ หรือคืนเดือนหงายที่เหมาะสำหรับการตกปลาบางประเภทเช่นเดียวกับการเห็นความ เคลื่อนไหวบางอย่างบนผิวน้ำหรือการแตกตื่นของฝูงปลาเล็ก รวมไปถึงการรู้ว่าเรือบางลำกำลังวัดปลาอะไรขึ้นมา ด้วยเหยื่อชนิดไหน เป็นข้อได้เปรียบของนักตกปลาคนนั้นที่จะใช้กล้องส่องทางไกลตัวที่มีรูรับแสง ขนาดใหญ่ ซึ่งมันมีประโยชน์ในทุกสภาพแสง

ลักษณะอาการผิดปกติของกล้องส่องทางไกล มีมากมายหลายประการ อาทิเช่น
1. อาการบิดโค้ง (Distortion) หมายถึง ถ้ากำลังขยายมีไม่เท่ากันตลอดเฟรม หรือลำแสงถูกบังคับให้โค้งเข้าหรือโค้งออกจากศูนย์กลาง ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้โดยลองโฟกัสวัตถุที่เป็นเส้นตรงทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยกำหนดให้ตั้งฉากกัน เช่น ขอบประตู หรือชั้นวางของ เป็นต้น แล้วสังเกตอาการเหล่านี้ตามขอบภาพที่มองเห็น
2. Flatness of Field ตรวจสอบได้โดยนำหนังสือพิมพ์สักเล่มมาแปะไว้ข้างฝา โดยให้มีระยะห่างราวๆ 10 เมตร จากนั้นปรับจุดโฟกัสให้ชัดตรงกลาง แล้วส่องไปที่ขอบหนังสือหรือทำกลับกัน ถ้าปรากฎว่าเราต้องเปลี่ยนโฟกัสใหม่ให้วุ่นวายทุกครั้ง แสดงว่าเลนส์ไม่ดีพอที่จะให้ความชัดในแนวระนาบเดียวกัน
3. Color Fringing นอกจากการคลาดสีด้วยระบบของเลนส์ที่ไม่อาจนำคลื่นแสงที่ต่างกันให้ตาในระนาบเดียวกันได้สมบูรณ์ การเกิดแสงจ้ารอบๆขอบวัตถุเมื่อมองในแบคกราวด์ (Back ground) ที่สว่างจัดก็เป็นอาการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน เราสามารถตรวจสอบได้โดยลองโฟกัสวัตถุที่มีท้องฟ้าเป็นฉากหลัง เช่น ต้นไม้ ถ้าเกิดมีแสงตามขอบใบไม้ที่ตัดกับท้องฟ้า นั่นแหละคือ อาการของ Color Fringing เป็นต้น
หมายเหตุ ไม่มีกล้องส่องทางไกลชนิดไหนที่สามารถหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ได้ทั้งหมด อาจเป็นอย่างใดอย่างหนี่ง หรือหลายๆอย่างรวมกัน แต่ดีกรีของความมากน้อยและความสมดุลย์ของอาการเหล่านั้น คือ ตัวที่แยกว่ากล้องชนิดไหนดีหรือเลว

เป็ดแดง

เป็ดผีเล็ก(ช่วงฤดูผสมพันธุ์)

หลักการเลือกซื้อกล้องส่องทางไกล ปัจจัย ที่สำคัญที่สุดในการเลือกซื้อกล้องส่องทางไกลที่ถูกต้องเหมาะกับแต่ละคน คือ การเลือกซื้อใช้ให้เหมาะกับความจำเป็นหรือความต้องการในการใช้งาน เราจะต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการแบบใด พยายามตัดสินใจว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่สุดโดยเฉพาะ เพราะว่าเมื่อเราพกพามันติดตัวออกไปใช้ เราไม่สามารถจะหิ้วไปหลายๆตัวได้และคงจะไม่ได้ใช้งานทุกตัวแน่นอน ดังนั้นควรจะเลือกกล้องที่มีระบบที่จะได้ใช้งานมันได้มากที่สุดและชอบที่สุด จากนั้นทดสอบส่องดูวัตถุในระยะต่างๆ สีสันสมจริงแค่ไหน มีความชัดเจนดีไหม ดูว่าตัวไหนที่เข้ากับสายตาเราได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับตัวอื่นๆ กำลังขยายควรให้เป็นเรื่องรองลงมา เพราะกล้องส่องทางไกลจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้ามีกำลังขยายสูงๆแต่เมื่อดู แล้วเป็นวัตถุที่ไม่ชัดเจน สั่นไหว โดยปกติจะพิจารณา 8 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ตรวจชนิดของปริซึม ชนิดของปริซึมใช้บอกคุณภาพของกล้องได้ กล้องที่ดีมีราคาสูงมักจะมีปริซึมที่ทำจากแก้ว BAK-4 ส่วนกล้องราคาต่ำมักจะใช้ปริซึมที่ทำจากแก้ว BAK-7 ทดลองได้โดยยกกล้องสองตาขึ้นส่องห่างจากตาพอสมควร มองที่เลนส์ตา หากเห็นแสงค่อนข้างทึบไม่สุกสว่างมากนักและช่องแสงเป็นรูปเหลี่ยม แสดงว่าใช้ปริซึมคุณภาพต่ำทำจากแก้ว BAK-7 แต่หากช่องแสงเป็นรูกลมสว่างแสดงว่ากล้องดังกล่าวใช้ปริซึมคุณภาพดีทำจาก แก้ว BAK-4
2. ตรวจการเคลือบเลนส์ ให้มองเข้าไปที่เลนส์วัตถุ (เลนส์หน้ากล้อง) มองแสงสะท้อนที่เกิดจากหลอดไฟในร้านหรือแสงจากหน้าต่าง ถ้าเห็นเป็นสีขาวและใสแสดงว่าเลนส์ไม่ได้รับการเคลือบสารหรือเคลือบน้อยมาก หากเลนส์เคลือบสารหลายชั้นจะต้องมองเห็นแสงสะท้อนเป็นสีเขียวหรือน้ำเงินอมม่วงและค่อนข้างทึบแสง และสำหรับกล้องที่เคลือบสารทั้งเลนส์และปริซึมที่เรียกว่า “Fully muticoated” จะเหมือนกับว่าเรามองเข้าไปในท่อมืดๆทีเดียว
3. ตรวจความคลาดเคลื่อนของกล้อง (Collimation) ใช้มือปิดหน้ากล้องข้างหนึ่ง แล้วปรับกล้องสายตาส่องวัตถุอย่างหนึ่ง ปรับโฟกัสให้ชัด จากนั้นเอามือออกถ้ากล้องวางตำแหน่งของเลนส์ดี ภาพจากสองตาจะกลายเป็นภาพเดียวกันทันที มองดูไม่ปวดตา แต่ถ้ามีความคลาดเคลื่อนของการวางเลนส์หรือระบบแสง ภาพจะไม่ซ้อนกันทันที สังเกตได้ว่ากล้ามเนื้อตาต้องทำงานมากเพื่อพยายามให้ภาพซ้อนเหลื่อมกัน กล้องที่มีลักษณะดังกล่าวจัดเป็นกล้องที่คลาดเคลื่อน ไม่ควรซื้อมาใช้ เพราะจะทำให้เมื่อยตาและปวดศีรษะตามมา
4. ตรวจสอบระยะคมชัด โดยใช้กล้องสองตาส่องไปยังรายละเอียดเล็กๆในระยะไกลดูว่ากล้องแยกความละเอียดได้หรือไม่ ก่อนตรวจสอบต้องแน่ใจว่าได้ปรับแก้ค่าสายตาที่เลนส์ตาข้างขวาดีแล้ว และสำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ ลองตรวจสอบระยะคมชัดที่ระยะอนันต์ของกล้องดู โดยเลื่อนโฟกัสไปที่ระยะอนันต์ ถ้าเป็นระยะอนันต์ที่ถูกต้องไม่ว่าคุณจะมองผ่านแว่นหรือถอดแว่น ภาพจะต้องคมชัดเหมือนกันเพราะเป็นระยะอนันต์
5. ตรวจสอบความคมชัดของเลนส์ เมื่อจับรายละเอียดของวัตถุไกลได้แล้ว ให้เคลื่อนสายตามาที่ขอบจอ แล้วสังเกตว่าภาพมัวลงหรือไม่ กล้องสองตาที่ดีต้องให้ภาพคมชัดตลอดไปไม่ว่าจะที่ตรงกลางหรือที่ขอบเลนส์ แต่ถ้าเป็นกล้องคุณภาพต่ำบางรุ่น ภาพที่เห็นอาจมัวได้
6. ตรวจสอบระยะสบายตา สำหรับผู้ใส่แว่นตาสามารถทดสอบได้โดยตรง ลองใช้กล้องสองตาส่องทาบกับแว่นตา แล้วดูว่ายังเห็นภาพได้เต็มจอหรือไม่ วิธีวัดระยะสบายตาอีกแบบหนึ่ง คือให้กล้องสองตารับแสงสว่าง แล้วหาฉากมารับภาพโฟกัส ระยะที่ปรากฎบนฉากถ้าห่างจากขอบเลนส์ตาเกิน 1.5 มม. ถือว่าเป็นกล้องที่มีระยะสบายตาได้มาตรฐาน
7. ตรวจสอบเสถียรภาพของระยะโฟกัส โดยวางมือทาบลงบนฝาเปิดเลนส์ตาเบาๆ หากกล้องยุบตัวลงเนื่องเพราะระบบโฟกัสเลื่อนตกลงได้ง่าย แสดงว่าเสถียรภาพของระบบโฟกัสไม่ดี หากถูกกระแทกหรือชนเข้าเล็กน้อย ระยะโฟกัสจะเปลี่ยนไปทันที
8. ตรวจสอบความคล่องตัว เนื่องจากกล้องสองตาเป็นกล้องที่ต้องติดตัวและห้อยคออยู่ตลอดเวลา ความเหมาะมือ น้ำหนักที่เหมาะสม สายคล้องคอที่นุ่มสบายแต่ทนทาน การควบคุมระบบโฟกัสทุกสิ่งทุกอย่างต้องสะดวกกับการใช้งาน
เหล่า นี้คือหัวใจสำคัญ 8 ขั้นตอนของการเลือกซื้อกล้องส่องทางไกล นอกจากนี้กระเป๋ากล้องก็มีความสำคัญที่ต้องพิจารณาไม่แพ้กัน กล้องควรถูกเก็บบรรจุในกระเป๋าที่ได้มาตรฐาน โดยใส่กล้องไว้ในแนวตั้ง สะดวกต่อการหยิบใช้งาน กระเป๋าโดยทั่วไปที่ใช้สำหรับกล้องแบบนี้จะต้องปิดผนึกกันฝุ่นละอองและความ สกปรกต่างๆได้ดี แต่กรณีที่ต้องอยู่บนเรือ เราก็จะต้องมีกระเป๋ากล้องชนิดที่กันน้ำได้อีกด้วย นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำแนะนำที่จะช่วยให้ตัวเราได้ตัดสินใจว่า จะเลือกกล้องแบบใดดี หรือจะซื้อหรือไม่