พรรณไม้และสัตว์ป่า..ดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่

 

หัวสิงห์..ยอดสูงสุดของดอยม่อนจอง

บริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่และตาก เดิมเป็นบริเวณที่ดินที่ได้กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตากและเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 1,500,000 ไร่ โดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกาเมื่อ พ.ศ. 2521 ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอน 80 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2521 ต่อมาทางราชการเห็นว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น เป็นพื้นที่ป่าที่กว้างใหญ่ มีเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ไม่สะดวกในการควบคุมดูแลรักษาป่าและ สัตว์ป่า ประกอบกับยังขาดชื่อตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระบาด จังหวัดตาก ซึ่งอาจทำให้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่มีผลบังคับตามกฎหมายจึงจำเป็นต้องแก้ไข สมควรกำหนดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่นเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ตอนเหนือกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และทางใต้กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จึงได้ดำเนินการขอตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น พ.ศ.2521 และตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2526 และลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 100 ตอน 135 ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2526

ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย อยู่ในท้องที่ตำบลยางเปียง ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย ตำบลมืดกา อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก อยู่ระหว่างเส้นรุ้งประมาณ 17 องศา 17 ลิปดา – 17 องศา 53 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงประมาณ 98 องศา 25 ลิปดา – 98 องศา 45 ลิปดาตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 1,224 กม.2 หรือ 765,000 ไร่

ทะเลหมอกยามเช้า ณ สนามกอล์ฟช้าง

สภาพภูมิประเทศนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนมีพื้นที่เป็นเนินเขาและที่ราบ บางส่วน พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 300-1,929 เมตร มียอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตรขึ้นไป ตลอดแนวจากเหนือจดใต้คือ ดอยหินฝน ดอยยาว ดอยหลวง ดอยโตน ดอยม้าวิ่ง และดอยม่อนจอง ฯลฯ ดอยที่สูงที่สุดได้แก่ ดอยม่องจอง สูงประมาณ 1,929 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดอยแห่งนี้ยังสำรวจพบสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้จะสูญพันธุ์คือ “กวางผา”

ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(56 ชนิด) กล้วยไม้(3 ชนิด) สัตว์ป่า(6 ชนิด) และนก(4 ชนิด)


ไม้ป่า


มีทั้งหมด 56 ชนิด เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. กระดูกไก่น้อย

ชื่อท้องถิ่น : เขียงพร้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Justicia diffusa Willd.

วงศ์ : ACANTHACEAE

กระดูกไก่น้อย

ไม้ล้มลุก สูง 20-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตั้งขึ้นตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาวราว 6 ซม. ดอกสีขาว สีขาวอมชมพู สีชมพู และสีชมพูอมม่วง ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 700 ชนิด ในเมืองไทยพบ 34 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้าหรือพื้นที่โล่งในป่า ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,600 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณผาช่อ และสันดอยม่อนจอง

กระดูกไก่น้อย

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลย์ ออสเตรเลีย และเขตร้อนในทวีปแอฟริกา อนึ่งชื่อสกุลนี้ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นักพืชสวนชาวสก็อต คือ Mr.Jane Justic

2. ผักหนอกเขา

ชื่อท้องถิ่น : ผักหนอกช้าง , ผักหนอกดอย(เชียงใหม่) ; กะเซดอมีเดาะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ผักหนอกป่า(ยโสธร) ; ผักแว่นเขา(ตราด) ; บัวบกเขา(นครศรีธรรมราช)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrocotyle javanica J. P. Ponten ex Thunb.

วงศ์ : APIACEAE

ผลของผักหนอกเขา

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้น แล้วชูกิ่งก้านตั้งขึ้น สูง 10-40 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่กว้าง ออกดอกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่มกลมตรงข้ามกับใบ ยาวราว 2 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 0.4-0.6 ซม. ดอกสีขาวอมเขียว หรืออาจมีแต้มสีม่วงแดง ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ธ.ค. ผลติดกันอัดเป็นกระจุก ผลย่อยรูปคล้ายโล่ หรือค่อนข้างกลม ขนาด 0.1-0.2 ซม. สีเขียวเข้มถึงน้ำตาลแดง ผลแห้งแตกออกเป็น2ซีก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 100 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่ชื้นแฉะ ชายป่า ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในทวีปเอเชียเขตร้อน จนถึงออสเตรเลีย

3.Peucedanum sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peucedanum sp.

วงศ์ : APIACEAE

Peucedanum sp.

Peucedanum sp.

ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของพืชชนิดนี้ คงรู้แต่ว่าเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 40-100 ซม. ลำต้นสีน้ำตาลแดง ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามปลายยอด และแตกแขนงเป็นช่อย่อยหลายช่อ มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 120 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

4. แอสเตอร์เชียงดาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aster vestitus Franch.

วงศ์ : ASTERACEAE

แอสเตอร์เชียงดาว

แอสเตอร์เชียงดาว

ไม้ล้มลุก สูง 20-40 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกสีขาว ออกดอกในราวกลางเดือน พ.ย. – ม.ค.

พบขึ้นอยู่ตามซอกหินหรือบนไหล่ผาสูงชันบนภูเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,700 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบบนดอยเชียงดาว ดอยอินทนนท์ และดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ รวมทั้งดอยภูแว จ.น่าน เท่านั้น

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แอสเตอร์เชียงดาว

เป็นพรรณไม้เขตอบอุ่นที่แพร่กระจายพันธุ์ลงมาจากซีกโลกเหนือของภูมิภาคอินเดีย-เมียนมาร์ จีนตอนใต้ หรืออินเดีย-หิมาลัย

5. Himalaiell peguensis Raab-Straube

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Himalaiell peguensis (C. B. Clarke) Raab-Straube

วงศ์ : ASTERACEAE

Himalaiella peguensis

Himalaiella peguensis

ไม้ล้มลุก สูงราว 30-120 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายยอด ดอกสีขาวครีม ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามทุ่งหญ้าบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,700 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะบนดอยเชียงดาว และดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ เท่านั้น

Himalaiella peguensis ดอกเหี่ยว

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย จีน และไทย

6.หนาดทอง

ชื่อท้องถิ่น : หนาดคำ , หนาดคำน้อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Laphangium affine (D.Don) Tzvelev

วงศ์ : ASTERACEAE

หนาดทอง

ไม้ล้มลุกมีอายุ2ปี สูง 15-80 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปแถบจนถึงรูปช้อน ใบตอนล่างมีขนาดเล็กกว่าตอนกลางและตอนปลาย ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีเหลืองซีดจนถึงสีเหลืองสด ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 3 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามริมทาง แปลงเพาะปลูก ที่ชื้นแฉะ ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900-2,565 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หนาดทอง

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณผาช่อและสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในทวีปเอเชียจนถึงออสเตรเลีย

7.สุวรรณนภา

ชื่อท้องถิ่น : ไข่ขาง(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senecio craibinnus Hosseus

วงศ์ : ASTERACEAE

สุวรรณนภา

ไม้ล้มลุก สูง 5-10 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นวง รูปแถบ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีเหลือง กลีบดอกแผ่ออกโดยรอบเป็นวงกลมคล้ายดอกดาวเรืองภู และมีเกสรสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียวเป็นกระจุกอยู่ตรงกลาง ออกดอกในราวปลายเดือน ธ.ค. – ต้นเดือน มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 1,500 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7-8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามซอกหินและไหล่ผาสูงชันบนภูเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,800 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะบนดอยเชียงดาวและดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ เท่านั้น

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณริมผาบนสันดอยม่อนจอง

เป็นพรรณไม้เขตอบอุ่นที่แพร่กระจายพันธุ์ลงมาจากซีกโลกเหนือของภูมิภาคอินเดีย-พม่า จีนตอนใต้ หรืออินเดีย-หิมาลัย

8.เทียนน้ำ

ชื่อท้องถิ่น : หญ้าควายหวาน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; หญ้าเทียน(เลย) ; เทียนจีน , เทียนหางงอ(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens chinensis L.

วงศ์ : BALSAMINACEAE

เทียนน้ำ

ไม้ล้มลุกสูง 30-80 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปยาวรี รูปขอบขนานแกมแคบ รูปแถบ หรือรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบและโคนก้านใบบริเวณยอด ขนาดดอก 2-3 ซม. ดอกสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม หรือสีม่วงอมชมพู ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 1,000 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 80 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้าและพื้นที่ที่มีน้ำขัง ทางน้ำไหลผ่าน และตามริมลำห้วยในป่าเต็งรัง และป่าสนเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,600 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

เทียนน้ำ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตั้งแต่ทางเดินขึ้นสันดอยม่อนจองจนถึงบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย ภูฎาน จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

9.Impatiens sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens sp.

วงศ์ : BALSAMINACEAE

Impatiens sp.

Impatiens sp.

ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูลของพืชชนิดนี้ คงรู้แต่ว่าเป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบและโคนก้านใบบริเวณยอด ดอกสีชมพู หรือสีม่วงอมชมพู ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ธ.ค.

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

10.ส้มกุ้ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Begonia palmata D. Don

วงศ์ : BEGONIACEAE

ผลของส้มกุ้ง

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 100 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กว้าง แผ่นใบหยักเป็นพู ปลายใบแหลมยาว ปลายพูแหลม แผ่นใบและก้านใบมีขนยาวสีน้ำตาลแดงปกคลุมประปราย ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงสั้นๆ ดอกแยกเพศแต่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกสีชมพู ดอกเพศผู้มี4กลีบ ส่วนดอกเพศเมียมี 5-6 กลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ต.ค. ผลมีครีบบางๆคล้ายปีก3ครีบ

พืชสกุลนี้พบทั่วโลกประมาณ 1,600 ชนิด ในไทยพบมากกว่า 60 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือบางครั้งพบอิงอาศัยตามซอกหินในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

11. หญ้ากระดิ่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Campanula pallida Wall.

วงศ์ : CAMPANULACEAE

หญ้ากระดิ่ง

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 15-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีแกมรูปดาบ รูปรีแกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบและปลายกิ่งก้าน ดอกสีม่วง หรือสีม่วงอมน้ำเงิน ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ธ.ค.

พืชสกุลนี้เป็นไม้เขตอบอุ่น ทั่วโลกพบ 52 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้าที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบบนดอยเชียงดาว และดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ เท่านั้น

หญ้ากระดิ่ง

หญ้ากระดิ่ง

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ไทย และลาว

12. ขาวปั้น

ชื่อท้องถิ่น: ตุ้มมณี

ชื่อวิทยาศาสตร์: Pterocephalodes siamensis (Craib) V. Mayer & Ehrend.

วงศ์ : CAPRIFOLIACEAE

ขาวปั้น

ขาวปั้น

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 10-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้นหรือปลายกิ่ง รูปใบพาย รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นเกือบกลมตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ดอกสีขาวอมชมพู หรือสีชมพูอ่อน ผลแห้งเมล็ดล่อนติดแน่นกับวงใบประดับ มีเมล็ดเดียว

ดอกร่วงหลานหมดแล้ว คงเหลือแต่ช่อดอกและกลีบเลี้ยงของขาวปั้น

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว(เดิมอยู่ในวงศ์ DIPSACACEAE) เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย พบขึ้นตามพื้นที่เปิดโล่งบริเวณซอกหินบนภูเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900-2,200 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบบนดอยเชียงดาว และดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค. และดอยหัวหมด จ.ตาก ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ต.ค.

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณผาช่อ และบนสันดอยม่อนจอง

13. กระดูกเกลี้ยง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sarcandra glabra subsp. brachystachys (Blume) Verdc.

วงศ์ : CHLORANTHACEAE

ผลของกระดูกเกลี้ยง

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 3 เมตร มีข้อโป่งพอง ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอก จนถึงรูปใบหอกกลับแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะตามยอด ยาว 5 ซม. มีดอกย่อย 10-13 ดอก ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.ย. ผลรูปค่อนข้างกลม ผลสุกสีส้ม ก่อนเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลแก่สีดำ ออกผลในราวเดือน พ.ย. – ธ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามหุบเขา พื้นที่ลาดชัน และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-1,600 เมตร ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนามตอนเหนือ และภูมิภาคมลายู

14.ผักปลาบใบแคบ

ชื่อท้องถิ่น : กินกุ้งน้อย , ผักปลาบขอบใบเรียว(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ผักปราบใบแคบ , ผักปลาบ(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Commelina diffusa Burm.f.

วงศ์ : COMMELINACEAE

ผักปลาบใบแคบ

ไม้ล้มลุกคล้ายกอหญ้า ทอดเลื้อยไปตามพื้นและชูส่วนปลายยอดตั้งขึ้นสูงราว 15-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 2.5-3 ซม. ขนาดดอก 1 ซม. ดอกสีม่วงอ่อน หรือสีน้ำเงินอมฟ้า ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ธ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 231 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ชุ่มชื้นริมลำห้วย หนองน้ำ ท้องนา ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ตลอดจนบนภูเขาสูงทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถฯสู่ตีนดอยม่อนจอง

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจาก…

มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย แล้วกระจายไปทั่วเขตร้อนของทวีปเอเชีย

15.ฝอยหิน

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องหิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyanotis arachnoidea Wight

วงศ์ : COMMELINACEAE

ฝอยหิน

ไม้ล้มลุก แตกกิ่งตั้งขึ้นหรือเกาะเลื้อย และแยกแขนง ใบเดี่ยว ใบที่โคนต้นออกกระจุกเป็นวงรอบ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ใบตามกิ่งก้านออกเรียงสลับ รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีชมพู สีม่วงอมขาว สีม่วงอมน้ำเงิน จนถึงสีม่วง ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นทุ่งตามพื้นที่โล่ง ทุ่งหญ้า และบนลานหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,700 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณผาช่อและบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

16.หญ้าคมบาง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carex baccans Nees

วงศ์ : CYPERACEAE

ผลของหญ้าคมบาง

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูงราว 60-150 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยแตกออกบริเวณโคนกอ รูปขอบขนานแคบยาวเรียว หรือรูปแถบแคบ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงมากมายตามปลายยอด 5-20 ช่อ ในแต่ละช่อนั้นปลายช่อเป็นดอกเพศผู้ ส่วนโคนช่อเป็นดอกเพศเมีย ดอกสีเขียวอ่อนปนม่วง เกสรตัวผู้3อัน ออกดอกตลอดปี ผลรูปค่อนข้างกลม สีแดงเข้ม ติดกันเป็นช่อยาว ผลแก่เป็นสีม่วง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 2,000 ชนิด ในไทยพบ 40 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้า ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

17. ประทัดดอย

ชื่อท้องถิ่น : ข้าวเย็น(ภาคเหนือ , ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Agapetes parishii C.B.Clarke

วงศ์ : ERICACEAE

ดอกตูมของประทัดดอย

ดอกตูมของประทัดดอย

ไม้พุ่มอิงอาศัย สูงได้ถึง 2 เมตร ลักษณะคล้ายไม้บอนไซหรือกล้วยไม้ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปรีแคบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแคบ ออกดอกเป็นช่อเชิงลดและแยกแขนงสั้นๆตามซอกใบและกิ่งก้าน ยาว 0.4-0.8 ซม. มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ดอกสีแดงสด ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 80 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอิงอาศัยบนต้นไม้อื่นตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,600 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันตก

ประทัดดอย

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

18. คำแดง

ชื่อท้องถิ่น : กุหลาบแดง(เลย) ; กุหลาบพันปี(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhododendron delavayi Franch.

วงศ์ : ERICACEAE

คำแดง

คำแดง

ไม้ยืนต้น สูง 1-30 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งก้าน รูปใบหอกกว้าง รูปใบหอกกลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง ช่อละ 4-20 ดอก ขนาดดอก 3-4.5 ซม. ดอกสีแดงเลือดนก หรือสีแดงสด ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – พ.ค.

ดอกตูมของคำแดง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 1,000 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามบริเวณที่โล่งในป่าดิบเขา ตามริมแอ่งน้ำซับที่มีข้าวตอกฤาษี(เป็นมอสส์ชนิดหนึ่ง)ขึ้นทับถมกันหนาแน่น และตามทุ่งหญ้าบนสันเขาไหล่เขาริมผาที่ชุ่มชื้นและมีอากาศหนาวเย็นตลอดปีบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,800 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบที่ จ.เชียงใหม่ เพียงแห่งเดียว

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย อนึ่งชื่อชนิดย่อยนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Père Jean Marie Delavay

คำแดง

19. หย่อง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Archidendron quocense (Pierre) I.C. Nielsen

วงศ์ : FABACEAE

ผลของหย่อง

ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่2ชั้น ออกเรียงสลับ(ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงกันข้าม) รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายกิ่ง ช่อละ 5-6 ดอก ขนาดดอก 2-2.5 ซม. กลิ่นหอม ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ต.ค. ผลเป็นฝักแบนโค้ง สีเขียว ผลสุกจะโค้งเกือบเป็นรูปวงกลม สีเหลือง ผลแก่สีน้ำตาล ขอบเป็นคลื่นและแตกอ้าออกด้านเดียว เปลือกในสีแดง มีเมล็ดจำนวนมาก รูปค่อนข้างกลมแบน และมีลายร่างแห ออกผลในราวเดือน พ.ย. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 101 ชนิด ในเมืองไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในไทย กัมพูชา และเวียดนาม

20.ถั่วเขา

ชื่อท้องถิ่น : ถั่วป่า(ภาคเหนือ , เลย) ; ถั่วดอย(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Campylotropis pinetorium (Kurz) Schindl.

วงศ์ : FABACEAE

ถั่วเขา

ไม้พุ่ม สูงราว 30-200 ซม. ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะและแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 2-10 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวครีม สีขาวอมเหลือง หรือสีขาวอมชมพู ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากสกุล Lespedeza ทั่วโลกพบ 51 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่ลาดชัน พื้นที่โล่งในป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700-2,565 เมตร ทางภาคเหนือ

ถั่วเขา

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

21.ตานฟัก

ชื่อท้องถิ่น : พวนดอย(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crotalaria ferruginea Benth.

วงศ์ : FABACEAE

ตานฟัก

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 20-100 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่จนถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อตั้งตรงตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 3-15 ซม. ช่อละ 1-8 ดอก ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลือง ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ธ.ค. ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 657 ชนิด ในเมืองไทยพบ 39 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าของป่าผลัดใบและป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 350-1,800 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนิวกินี

22.Desmodium ferrugineum Thwaites

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Desmodium ferrugineum Thwaites

วงศ์ : FABACEAE

Desmodium ferrugineum

ไม้ล้มลุกแตกกอคล้ายไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 120 ซม. ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี จนถึงรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อตั้งตามปลายยอด ยาวได้ถึง 7 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วง สีม่วงอมชมพู สีชมพู และสีขาว ดอกทยอยบานจากโคนช่อสู่ปลายช่อ กลีบดอก5กลีบ มีขนาดและรูปร่างไม่เหมือนกัน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 372 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นทุ่งตามป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา และตามไหล่ผาบนภูเขาสูงเขาทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย

23. เถาข้าวปอง

ชื่อท้องถิ่น : หล้าเครือ(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shuteria involucrata (Wall.) Wight & Arn.

วงศ์ : FABACEAE

เถาข้าวปอง

ไม้เลื้อยมีอายุหลายปี ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยตอนปลายมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยคู่ด้านข้าง รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ยาว 5-9 ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวอมชมพู ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 6 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยอยู่ใต้ร่มเงาไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,300 เมตร ขึ้นไป ทั่วทุกภาค

เถาข้าวปอง

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในศรีลังกา อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

24.นางอั้วดอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Exacum sutaepense Hosseus ex Craib

วงศ์ : GENTIANACEAE

นางอั้วดอย

ไม้ล้มลุก สูง 5-16 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีม่วง สีชมพู หรือสีขาวอมม่วง ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ธ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 40 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 5-6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นแทรกอยู่ตามทุ่งหญ้าและพื้นที่โล่งชายป่าบนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อจนถึงบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในเมียนมาร์ และไทย

25.หญ้าดอกลาย

ชื่อท้องถิ่น : หญ้าดีควาย , หญ้าดีแฟน(เชียงใหม่) ; ผักหอมโคก , หูกระต่ายโคก(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Swertia angustifolia Buch.-Ham. ex D. Don

วงศ์ : GENTIANACEAE

หญ้าดอกลาย

หญ้าดอกลาย

ไม้ล้มลุก สูงราว 30-80 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรีแคบ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายยอด ช่อละ 1-4 ดอก หรือมากกว่า ดอกสีขาว หรือสีขาวอมม่วง มีขีดและจุดสีม่วงแกมน้ำเงินจางๆกระจายอยู่ทั่ว ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 135 ชนิดในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่ตามทุ่งหญ้าป่าโปร่ง เขาหินปูน และทุ่งหญ้าป่าสนเขาที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

หญ้าดอกลายกำลังจะเป็นผล

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากตีนดอยม่อนจองจนถึงบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย ภูฎาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

26.สิงขรา

ชื่อท้องถิ่น : ตากะปอ(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Swertia calcicola Kerr

วงศ์ : GENTIANACEAE

สิงขรา

ไม้ล้มลุก สูง 10-30 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่ถึงรูปรี ออกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนง ดอกสีขาวและมีเส้นสีม่วง 4-5 เส้น พาดตามยาว ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ธ.ค.

พบขึ้นอยู่ตามทุ่งหญ้าหรือพื้นที่โล่งของสันเขาบนภูเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,800 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

ดอกตูมของสิงขรา

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากตีนดอยม่อนจองจนถึงบนสันดอยม่อนจอง

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย

27. แพรวไพลิน

ชื่อท้องถิ่น : ฮอมคำ , ฮอมดง , ฮ่อมคำ , ฮ่อมดง(ภาคเหนือ) ; ยายกรัง , ยายคลังใหญ่(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dichroa febrifuga Lour.

วงศ์ : HYDRANGEACEAE

ผลของแพรวไพลิน

ไม้พุ่ม สูงราว 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อเชิงลดและแยกแขนงตามปลายยอด มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ขนาดดอก 1-2 ซม. กลีบดอกด้านนอกสีม่วงอมเทา ส่วนกลีบดอกด้านในสีน้ำเงินอมม่วง สีน้ำเงินอ่อน หรือสีน้ำเงินเข้ม ดอกเมื่อบานเต็มที่..กลีบดอกจะตลบไปด้านหลัง ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ส.ค. ผลย่อยรูปกลม ขนาด 0.5-0.6 ซม. ผลสุกสีน้ำเงินเข้ม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 65 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว พบขึ้นตามริมลำธารหรือพื้นที่ชุ่มชื้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

ผลของแพรวไพลิน

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฎาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

28. บัวทอง

ชื่อท้องถิ่น: บัวคำ(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypericum hookerianum Weight & Arn.

วงศ์ : HYPERICACEAE

บัวทอง

บัวทอง

ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่งก้านและยอด ช่อละ 1-5 ดอก ขนาดดอก 3-6 ซม. ดูคล้ายรูปถ้วย ดอกสีเหลืองทอง หรือสีเหลืองอ่อน ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ต.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ธ.ค. – เม.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 515 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่โล่งแจ้งในป่าดิบเขาที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,600-2,500 เมตร ทางภาคเหนือ

ผลของบัวทอง

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณริมหน้าผาบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฎาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนบน)

29.Hypericum nummularium L.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypericum nummularium L.

วงศ์ : HYPERICACEAE

Hypericum nummularium

Hypericum nummularium

ไม้ล้มลุก สูง 10-70 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อและแยกแขนงตามปลายกิ่งก้านและยอด ช่อละ 1-5 ดอก ดอกสีเหลืองสด กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ธ.ค.

ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะตามทุ่งหญ้าริมไหล่ผาบนดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่

แพร่กระจายในทวีปยุโรป อินเดีย เนปาล ภูฎาน จีนตอนใต้ และไทย

30. กอมก้อห้วย

ชื่อท้องถิ่น : สาบเสือ(สระบุรี) ; หญ้าฝรั่ง(ปราจีนบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anisomeles indica (L.) Kuntze

วงศ์ : LAMIACEAE

กอมกอห้วย

ไม้ล้มลุก ตั้งตรงสูงได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อฉัตรตามซอกใบตลอดปลายกิ่งและปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมากอยู่เป็นวงรอบแกนเป็นชั้นๆ ขนาดดอก 0.5 ซม. ดอกสีขาว สีขาวอมเขียว สีขาวอมชมพู สีน้ำเงินอมม่วง สีม่วงคราม จนถึงสีม่วง ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่โล่งแจ้งริมทาง ชายน้ำ ชายป่าเชิงเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,700 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น

31. ผักล้วน

ชื่อท้องถิ่น : ผักล้วนดอย , ผักเลือน(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elsholtzia blanda (Benth.) Benth.

วงศ์ : LAMIACEAE

ผักล้วน

ผักล้วน

ไม้พุ่ม สูงราว 2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อตามข้อ ปลายกิ่ง และปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลิ่นหอม ดอกตูมสีเขียว เมื่อดอกบานเต็มที่มีสีขาวอมเขียว ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 42 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่รกร้างบนไหล่เขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,700-2,000 เมตร ทางภาคเหนือตอนบน

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

มีถิ่นกำเนิดในอินเดียแล้วแพร่กระจายสู่ไทย

32. หญ้าข้าวตอก

ชื่อท้องถิ่น : คำปองป่า , มุกมังกร(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Isodon lophanthoides (Buch.-Ham. ex D.Don) H.Hara

วงศ์ : LAMIACEAE

หญ้าข้าวตอก

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 50-150 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกว้างจนถึงรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ 11-13 ดอก ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพูระเรื่อๆ ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 113 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7-8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้าบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,500 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

หญ้าข้าวตอก

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

33. หญ้าหัวเสือ

ชื่อท้องถิ่น: ฮังแตน(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucas ciliata Benth.

วงศ์ : LAMIACEAE

หญ้าหัวเสือ

ไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว ตั้งตรงเรียวยาวสูง 30-120 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก ใบด้านล่างมีขนาดใหญ่กว่าด้านบน รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกลมตามปลายกิ่งและปลายยอด ช่อละกว่า20ดอก ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 133 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้าบนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน

หญ้าหัวเสือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่สันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

34. กอมก้อเขา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Teucrium quadrifarium Buch.-Ham.

วงศ์ : LAMIACEAE

กอมก้อเขา

ไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่ม สูง 30-110 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปดาบ จนถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบและปลายกิ่งก้าน ดอกทยอยบานจากโคนสู่ปลายช่อ ขนาดดอก 1.2-1.3 ซม. ดอกสีขาว จนถึงสีขาวอมชมพูอ่อน ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 250 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่เปิดโล่งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-2,400 เมตร ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคเหนือ

กอมก้อเขา

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา

35-38. LAMIACEAE

วงศ์ : LAMIACEAE

LAMIACEAE ชนิด1

LAMIACEAE ชนิด2

LAMIACEAE ชนิด3

LAMIACEAE ชนิด4

พบพืชวงศ์นี้ 4 ชนิด ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่าอยู่ในสกุลและชนิดใด คงรู้แต่ว่าเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

39. หญ้าขัด

ชื่อท้องถิ่น : ขัดมอน , คัดมอน(ภาคกลาง) ; ยุงปัดแม่ม่าย , หญ้ายุงปัดแม่ม่าย(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sida rhombifolia L.

วงศ์ : MALVACEAE

หญ้าขัด

ไม้ล้มลุก ตั้งตรงสูง 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก 2-3 ดอก ตามซอกใบ ดอกสีเหลืองสด ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ม.ค.

พบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง ริมลำน้ำ ตลอดจนบนภูเขาสูงทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

40. ขี้ครอก

ชื่อท้องถิ่น : ขี้คาก , ปอเส้ง , หญ้าผมยุ่ง , หญ้าอียู(ภาคเหนือ) ; บอเทอ , ปะเทาะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; หญ้าหัวยุ่ง(เย้า-แม่ฮ่องสอน) ; ชบาป่า(น่าน) ; ขมงดง(สุโขทัย) ; ขี้หมู(นครสวรรค์) ; ขี้ครอกป่า(ภาคกลาง) ; ปูลู(ภาคใต้) ; เส้ง(นครศรีฯ) ; ปูลุ(มลายู-นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Urena lobata L.

วงศ์ : MALVACEAE

ขี้ครอก

ไม้พุ่ม สูงราว 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบมีรูปร่างและขนาดของใบแตกต่างกันมาก ใบบริเวณโคนต้นค่อนข้างกลม ใบตอนกลางของต้นเป็นรูปไข่ และใบบริเวณยอดเป็นรูปค่อนข้างกลมยาวจนถึงรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยว หรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละ 2-3 ดอก ดอกบานในตอนเช้ามืด เลยเที่ยงมักเริ่มหุบดอก ดอกสีชมพู สีชมพูอมม่วง หรือสีชมพูอมแดง ออกดอกเกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 10 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นดงหนาแน่นตามที่โล่งทั่วไป ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

41. แปร้น้ำเงิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sonerila maculata Roxb.

วงศ์ : MELASTOMATACEAE

แปร้น้ำเงิน

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 20-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีจนถึงรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งและยอด ยาว 3-9 ซม. ช่อละ 7-15 ดอก ดอกสีชมพู หรือสีชมพูอมม่วงอ่อน ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 150 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,400 เมตร ทั่วทุกภาค

แปร้น้ำเงิน

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย ภูฏาน เนปาล จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

42. หว้าอ่างกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium angkae (Craib) Chantaran. & J.Parn.

วงศ์ : MYRTACEAE

หว้าอ่างกา

หว้าอ่างกา

ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 25 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามลำต้น ซอกใบ และปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 2 ซม. ช่อละ 3-4 ดอก ดอกสีขาว หรือสีขาวแกมเขียว ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้แยกมาจากสกุล Eugenia ทั่วโลกพบ 1,157 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 106 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามเขาหินปูน ริมลำธารในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

หว้าอ่างกา

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณแค้มป์เก่าใกล้ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย และลาว พบครั้งแรกของโลกที่อ่างกา อุทยานฯดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์ William Grant Craib นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2472

43. ช่อศิลา

ชื่อท้องถิ่น : คำหิน(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phtheirospermum parishii Hook. f.

วงศ์ : OROBANCHACEAE

ช่อศิลา

ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มักขึ้นรวมกันอยู่เป็นกอ ตั้งตรงสูง 5-15 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ส่วนใหญ่ออกเป็นกระจุกตามโคนต้น ลักษณะคล้ายใบเฟิร์น รูปไข่กว้างถึงรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบใกล้ปลายยอด ขนาดดอก 0.7-1 ซม. ดอกสีเหลืองสด ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ก.พ.

พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในวงศ์ SCROPHULARIACEAE ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามซอกหินโขดหินตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่มีอากาศหนาวเย็น บนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-2,200 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบบนดอยเชียงดาว และดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ และดอยหัวหมด จ.ตาก

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดียตอนเหนือ เมียนมาร์ และไทย

44. Corydalis taliensis var. siamensis (Craib) X.Zhuang

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Corydalis taliensis var. siamensis (Craib) X.Zhuang

วงศ์ : PAPAVERACEAE

Corydalis taliensis var. siamensis

ไม้ล้มลุกสูงราว 10-20 ซม. ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ใบตอนปลายมีขนาดใหญ่สุด แผ่นใบหยักเว้าเป็นพู ปลายพูมีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบแคบ ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด ดอกสีชมพูอมม่วง ดอกเป็นหลอด ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 643 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบเขาทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย

45. ม้าแม่ก่ำ

ชื่อท้องถิ่น : ต่างไก่ป่า(เชียงใหม่ , เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polygala arillata Buch.-Ham. ex D.Don

วงศ์ : POLYGALACEAE

ม้าแม่ก่ำ

ไม้พุ่ม สูง 1-5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกจะเริ่มบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ ดอกตูมสีขาวอมเขียว หรือสีเขียวอมขาว เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีสีเหลืองหรือสีเหลืองแกมส้ม ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมน้ำตาล ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ธ.ค. ผลรูปค่อนข้างกลม หรือรูปขอบขนาน และแบน ผลสดสีเขียว ผลแก่สีม่วงสดและแตกกลางพู

ผลของม้าแม่ก่ำ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 500 ชนิด ในเมืองไทยพบ 17 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่ตามชายป่าและพื้นที่โล่งในป่าดิบเขา หรือตามไหล่ผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-2,300 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

46. ผักไผ่น้ำ

ชื่อท้องถิ่น : ผักบังใบ(ภาคเหนือ) ; พญาดง , เอื้องเพ็ดม้า(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persicaria chinensis (L.) H. Gross

วงศ์ : POLYGONACEAE

ผักไผ่น้ำ

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูงได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาว สีขาวอมชมพู จนถึงสีชมพูแกมขาว ออกดอกตลอดปี มีมากในราวเดือน ธ.ค. – ม.ค. ผลแห้งเมล็ดล่อน รูปเกือบกลม สีน้ำเงินเข้ม หรือสีดำ

ผลของผักไผ่น้ำ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 71 ชนิด ในเมืองไทยพบ 24 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน จีน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

47. ยายจูงหลาน(ดอกตูม)

ชื่อท้องถิ่น : กะซะเลือด(ชุมพร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maesa paniculata A. DC.

วงศ์ : PRIMULACEAE

ยายจูงหลาน

ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของพืชชนิดนี้ คงรู้แต่ว่าเป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อรูปพีระมิดตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวล ออกดอกในราวเดือน ม.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ MYRSINACEAE ทั่วโลกพบ 41 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบเขาทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในเมียนมาร์ และไทย

48. Ixora sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixora sp.

วงศ์ : RUBIACEAE

ดอกตูม Ixora sp.

ดอกตูม Ixora sp.

ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบมนกว้าง ก้านใบสั้น ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงออกเป็นกิ่งๆ มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลิ่นหอมอ่อนๆ ช่วงที่พบยังเป็นดอกตูม สีขาวอมชมพู

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 300 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 30 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

49. เข็มสาวดอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycetia gracilis Craib

วงศ์ : RUBIACEAE

ผลของเข็มสาวดอย

ไม้พุ่ม สูง 1-4 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจน ใบเป็นรูปใบหอกกลับ รูปรี หรือรูปใบหอกแคบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกหลวมๆและแยกแขนงตามซอกใบและปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีเหลือง ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ก.ย. ผลรูปกลม หรือรูปแบนด้านข้าง ขนาด 0.4-0.6 ซม. เป็นผลสด มีเนื้อนุ่ม หลายเมล็ด ออกผลในราวเดือน พ.ย. – ธ.ค.

ผลของเข็มสาวดอย

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 46 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใกล้ริมลำธาร หรือตามพื้นที่ที่ชุ่มชื้นในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย และลาว

50. โพอาศัย

ชื่อท้องถิ่น : โพวาไหสยี , วิรุญจำบัง(เชียงราย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neohymenopogon parasiticus (Wall.) Bennet

วงศ์ : RUBIACEAE

ดอกโพอาศัยเริ่มโรยและกำลังเป็นผล

ไม้พุ่มกึ่งอิงอาศัย สูงราว 1-2 เมตร ใบเดี่ยว โคนต้นออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ปลายต้นออกเป็นวงๆละ4ใบ รูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายกิ่ง ช่อละ 2-5 ดอก ดอกสีขาว มีใบประดับขนาดใหญ่1ใบ ดูเด่นสะดุดตามากกว่าดอก สีขาว สีขาวครีม หรือสีขาวแกมชมพูอ่อน รูปไข่แกมรูปใบหอก ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ธ.ค. ผลรูปหลอดโป่งพอง หรือรูปโคนหัวกลับ ออกผลในราวเดือน พ.ย. – ธ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 3 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามพื้นหรือซอกหินที่ชื้นเฉอะแฉะหรือมีทางน้ำไหลผ่าน บางครั้งพบเป็นพืชอิงอาศัยขึ้นบนต้นไม้หรือบนก้อนหินที่มีมอสส์หนาแน่นในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200-2,500 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถฯสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดียตอนเหนือ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย และเวียดนามตอนบน

51. คนางใบหยก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psychotria lineolata Craib

วงศ์ : RUBIACEAE

ผลของคนางใบหยก

ยังไม่มีรายละเอียดของพืชชนิดนี้ คงรู้แต่ว่าเป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด ดอกสีขาว จนถึงสีเหลือง ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ต.ค. ผลรูปรี ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,921 ชนิด ในเมืองไทยพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย พบขึ้นอยู่ตามป่าดิบเขาทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

52. ยอเทศ

ชื่อท้องถิ่น : สมอเทศ(ยโสธร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psychotria monticola Kurz

วงศ์ : RUBIACEAE

ผลของยอเทศ

ไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีกว้าง ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายยอด ดอกสีเหลือง หรือสีน้ำตาลแดง ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – พ.ย. ผลรูปกลมแกมรูปรี สีเหลือง ออกผลในราวเดือน ธ.ค. – ม.ค.

พบขึ้นอยู่ตามป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และคาบสมุทรมลายู

53. RUBIACEAE

วงศ์ : RUBIACEAE

RUBIACEAE

RUBIACEAE

พบพืชวงศ์นี้ 1 ชนิด ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่าอยู่ในสกุลและชนิดใด คงรู้แต่ว่าเป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ออกดอกเป็นช่อ มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกขนาดเล็ก สีแดง พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

54. ราชาวดีหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Buddleja macrostachya Benth.

วงศ์ : SCROPHULARIACEAE

ราชาวดีหลวง

ราชาวดีหลวง

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดและโค้งงอตั้งขึ้นตามปลายกิ่งก้านดูคล้ายงาช้าง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีชมพูอมม่วง ออกในราวเดือน ธ.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ BUDDLEIACEAE ทั่วโลกพบ 125 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามไหล่ผาบนเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,600-2,250 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะดอยผ้าห่มปก ดอยเชียงดาว และดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่

ช่อดอกราชาวดีหลวงที่เพิ่งผลิตาดอก

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม

55. เมี่ยงดอย

ชื่อท้องถิ่น : เมี่ยงอีอาม(ภาคเหนือ) ; เมี่ยง , เมี่ยงดอง(เชียงใหม่) ; คันโคกต้น , เมี่ยงหลวง , เหมือดเม็ก , เหมือดหมี(เลย) ; เมี่ยงอาม(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Camellia kissii var. confusa (Craib) T.L.Ming

วงศ์ : THEACEAE

เมี่ยงดอย ดอกร่วงหล่นตามพื้น นำมาวางบนต้นอื่น

ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 10 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ขนาดดอก 3.5-5 ซม. กลิ่นหอมเย็น ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 120 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณแค้มป์เก่าใกล้ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตะวันตกเฉียงใต้ เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

56. องุ่นป่า

ชื่อท้องถิ่น : กุ่ย(อุบลราชานี) ; เครืออีโกย(นครราชสีมา) ; ส้มกุ่ย(สระบุรี) ; เถาเปรี้ยว(กทม.) ; เถาวัลย์ขน(ราชบุรี) ; ส้มกุ้ง(ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช) ; ส้มออบ(นครศรีธรรมราช) ; องุ่นเปรี้ยว(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ampelocissus martinii Planch.

วงศ์ : VITACEAE

ผลอ่อนขององุ่นป่า

ไม้เลื้อยมีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปหัวใจ แผ่นใบหยักเว้าลึกเป็น 3-5 พู ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามข้อตรงข้ามกับใบที่ร่วงหล่น ช่อดอกยาวได้ถึง 7.5 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีขาว สีเหลืองอ่อน จนถึงสีชมพูอ่อน ออกดอกในราวเดือน เม.ย. – มิ.ย. ออกผลเป็นช่อกระจุกแน่นตามข้อ ดูคล้ายพวงองุ่น ผลย่อยรูปกลม ขนาด 2-3 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดง เมื่อแก่มีสีม่วงดำ มี 1-2 เมล็ด ออกผลในราวเดือน ส.ค. – ธ.ค.

ผลอ่อนขององุ่นป่า

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 98 ชนิด ในเมืองไทยพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นเลื้อยตามต้นไม้อื่นในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์


กล้วยไม้


มีทั้งหมด 3 ชนิด เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. เอื้องดินสยาม

ชื่อท้องถิ่น : ว่านไหมนา(เชียงราย) ; นกฮูม(นครศรีธรรมราช)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anoectochilus albolineatus E.C.Parish & Rchb.f.

วงศ์ย่อย : NEOTTIOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องดินสยาม

เป็นกล้วยไม้ดิน ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ต้นหนึ่งมี 2-4 ใบ รูปรีจนถึงรูปรีแกมรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรง ช่อละ 3-7 ดอก ขนาดดอก 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงทั้ง3กลีบมีสีน้ำตาลแกมม่วงคล้ำ ปากดอกสีขาวอมน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาล ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 43 ชนิด ในเมืองไทยพบ 8-9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามใต้ร่มเงาไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,200 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

เอื้องดินสยาม

เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย โดยพบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

2. เอื้องเทียนลำเขียว

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องฉุน , เอื้องเทียน(ภาคเหนือ) ; เอื้องลำเทียนปากลาย(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coelogyne lentiginosa Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องเทียนลำเขียว

ลำลูกกล้วยรูปทรงกระบอกแกมรูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีเหลี่ยมมน ต้นหนึ่งมี 1-2 ใบ ชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปรี หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาวราว 8-10 ซม. ช่อละ 2-7 ดอก ขนาดดอก 3-4 ซม. กลิ่นหอม ดอกสีเหลืองอมเขียวอ่อน สีครีม หรือสีเขียวอ่อนแกมเหลือง ปากดอก มีสีขาว และมีจุดสีน้ำตาลจนถึงสีส้มกระจายไปทั่ว ปลายปากดอก มีแต้มขนาดใหญ่สีเหลืองหรือสีเหลืองอมน้ำตาล2แต้ม ขอบปากดอกตั้งแต่โคนถึงกลางปากดอกมีแต้มสีน้ำตาลเข้ม ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ธ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 200 ชนิด ในเมืองไทยพบ 33 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอร์

แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม

3. เอื้องแพนช่อสั้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oberonia brachystachys Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องแพนช่อสั้น

ลำต้นมีขนาดเล็กและสั้น ไม่มีลำลูกกล้วย ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกเรียงตัวคลี่คล้ายพัด ต้นหนึ่งมี 3-5 ใบ  รูปแบนคล้ายใบมีด ออกดอกเป็นช่อห้อยลง ยาวได้ถึง 30 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมากอยู่รอบแกนช่อ ขนาดดอก 0.2-0.3 ซม. ดอกสีเหลือง ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 300 ชนิด ในเมืองไทยพบ 33 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 450 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากจุดจอดรถจนถึงบนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ไทย และมาเลเซีย


สัตว์ป่า


สัตว์ป่าในที่นี้ ยกเว้นนก บันทึกภาพได้ 6 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

  1. ชันโรง

ชื่อสามัญ : แมลงขี้สูด , แมลงขี้ย้าดำ

ชื่อสามัญ : Stingless Bee

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trigona apicalis (Smith, 1857)

วงศ์ : APIDAE

ชันโรง

                        ลำตัวยาว 0.7 ซม. สีน้ำตาลแดง หัวและอกสีดำ หนวดสีสนิมซีด ปากบนสีเหลือง ปากล่างสีสนิม ขาคู่กลางและขาคู่หลังมีสีดำ สร้างรังตามซอกหลืบของต้นไม้

ในประเทศไทย(เมื่อปี 2550)มีรายงานการพบชันโรงประมาณ 9 สกุล(คือ สกุล Geniotrigona , Heterotrigona , Hypotrigona , Lepidotrigona , Lophotrigona , Sundotrigona , Tetragonilla , Tetragonula และสกุล Trigona) 39 ชนิด แพร่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งชนิดที่พบทั่วทุกภาคของไทยและมีมากที่สุด คือ “ชันโรงเล็กแพ็กดินาย”(Trigona pagdeni)

แต่คนทั่วไปมักคิดว่าเป็นชนิดเดียวกันทั้งหมด และมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างกันออกไป

ภาคเหนือเรียกชันโรงตัวเล็กขนาดเท่าแมลงหวี่ว่า“ขี้ตังนี” “ขี้ตัวนี” หรือ“แมลงขี้ตึง”(ชื่อวิทยฯ Trigona laeviceps) คำว่า“ขี้ตึง”ก็คือ“ชันยางพลวง”นั่นเอง เพราะคำว่า“ตึง”หรือ“ตองตึง”เป็นชื่อพื้นบ้านที่เรียกต้นพลวงหรือยางพลวง(Dipterocarpus tuberculatus) เป็นไม้สกุลยางชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเจาะน้ำยางหรือชันมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับยางนา(Dipterocarpus alatus) คือใช้ทำเป็นขี้ไต้เพื่อใช้จุดไฟหรือเชื้อไฟ ถ้าตัวใหญ่ขนาดเท่าแมลงวันเรียกว่า“ขี้ย้าดำ”หรือ“แมลงขี้ย้าดำ”(พบ2ชนิด มีชื่อวิทยฯว่า Trigona apicalis และ T.collina) หากมีขนาดยักษ์ใหญ่เรียกว่า“ขี้ย้าแดง”หรือ“แมลงขี้ย้าแดง”(ชื่อวิทยฯ Trigona fimbriata)

ภาคอีสานเรียกรวมๆว่า“แมลงขี้สูด” ซึ่งชาวบ้านใช้ชันนำไปอุดรูแคน โหวต(เครื่องดนตรีประเภทเป่า) และโปงลาง จนกลายมาเป็นเครื่องดนตรีที่มีความไพเราะอย่างยิ่งและกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอีสานและพี่น้องลาวมาจนถึงปัจจุบัน

ภาคตะวันออกเรียกรวมๆว่า“ชำมะโรง” หรือ“แมลงอีโลม” คำว่า“อีโลม”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแมลงโลมหรือแมลงหวี่ แต่หมายถึงแมลงที่บินมาตอมไต่ตามร่างกายของคนเรา ยังกะเป็นการเล้าโลมประมาณนั้น โดยเฉพาะช่วงที่มีเหงื่อออก

ภาคตะวันตกเรียกรวมๆว่า“ตัวตุ้งติ้ง”หรือ“ตัวติ้ง” ด้วยเห็นว่ามีลักษณะอ่อนช้อย ไม่แข็งแรงองอาจเหมือนผึ้ง

ภาคใต้เรียกชันโรงตัวเล็กๆเท่าแมลงหวี่ว่า“แมลงอุง”หรือ“อุงแมงโลม” คำหลังนี้เพี้ยนมาจากคำว่า“แมลงโลม” ซึ่งคนทางใต้ใช้เรียกแมลงหวี่ ส่วนขนาดใหญ่เท่าแมลงวันก็จะเรียกว่า“อุงแดง”หรือ“อุงดำ”ตามสีของตัวชันโรงแต่ละชนิด และเรียกชันโรงที่ทำรังใต้ดินว่า“อุงดิน”

ส่วนภาคกลางเรียกรวมๆว่า“ชันโรง” ที่มาของคำนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากลักษณะการสร้างรัง เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ได้เก็บหายางไม้และชันของต้นไม้ นำมาอุดยาชันรอบๆปากรังและภายในรัง เพื่อป้องกันน้ำไหลซึมเข้ารัง และยังเป็นการป้องกันศัตรูบริเวณปากรัง

ผู้ที่ศึกษาชันโรงในทวีปเอเชียที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ศจ. ดร.ซาคากามิ(S.F. Sakagami) ชาวญี่ปุ่น และศจ. ดร. C.D. Michener ชาวอเมริกัน โดยทั้งสองท่านศึกษาได้เข้ามาศึกษาชันโรงในประเทศไทย และจำแนกชันโรงในประเทศไทยไว้ถึง 21 ชนิด

ผืนป่าตะวันตกของไทยมีความหลากหลายของชนิดชันโรง สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยมีรายงานการพบ 2 สกุล 16 ชนิด(ได้แก่ สกุล Hypotrigona พบ 3 ชนิด และสกุล Trigona พบ 13 ชนิด) หรือเกือบครึ่งหนึ่งที่พบในเมืองไทย

ชันโรงในธรรมชาติจะพบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีก้อนหิน โขดหิน และจอมปลวก เป็นแมลงที่ปรับตัวเก่ง อาศัยอยู่ในรูตามซอกหลืบโพรงต้นไม้ และโพรงใต้ดิน ส่วนในเมืองใหญ่มักพบตามท่อเหล็ก ท่อประปา รู/รอยแตกของตัวบ้าน ไปจนถึงรูเสาไฟฟ้า

ชันโรงเป็นแมลงสังคม(Social Insect)กลุ่มเดียวกับผึ้ง มีขนาดเล็กกว่าผึ้งราว 2-3 เท่าตัว เป็นแมลงที่เชื่อง ไม่ดุร้าย ไม่มีเหล็กในทำให้คู่ต่อสู้เจ็บปวดหรือบาดเจ็บ แต่หากต้องต่อสู้ ชันโรงจะใช้ปากกัด บางชนิดขี้อาย ชอบหลบอยูในรู หรือโพรงไม้ มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเมื่อเปรียบเทียบกับผึ้ง ชันโรงสามารถบินลอยตัวอยู่ได้นาน โดยไม่ต้องจับเกาะอะไรเลย เพราะกล้ามเนื้ออกและโคนปีกของชันโรงมีความแข็งแรง ทำให้การกระพือปีกได้ถี่ นอกจากนี้ชันโรงมีอายุยืนนานกว่าผึ้ง

ชันโรงเป็นแมลงชนิดเดียวของสังคมแมลงทั่วไป ที่มีการนำระบบการจัดเตรียมอาหารไว้เป็นจำนวนมากมาใช้ ในแต่ละห้องของรังจะเต็มไปด้วยอาหารที่มีมากพอสำหรับตัวอ่อน

กระบวนการในการจัดเตรียมอาหาร และสภาพการวางไข่นั้น มีความแตกต่างจากผึ้งทั่วไปเป็นอย่างมาก ซึ่งผึ้งทุกชนิดมีพฤติกรรมการหาอาหาร หรือการลงตอมดอกไม้ที่มีละอองเกสรและน้ำหวานในปริมาณที่ไม่เท่ากัน แต่ธรรมชาติของชันโรงนั้นต้องการเกสรมากกว่าน้ำหวาน เพื่อไปเตรียมอาหารที่มีความหนาแน่นสูง เมื่อนางพญาวางไข่ลงไปแล้วสามารถฟักอยู่ในผิวอาหารได้ ดังนั้นชันโรงมักจะเก็บเกสรจากดอกไม้ที่มีรูปเป็นดอกเปิด มองเห็นเกสรได้ชัดเจน และมีปริมาณเกสรเป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปชันโรงจะเก็บเกสรคิดเป็นอัตราร้อยละ 80 และเก็บน้ำหวานเพียงร้อยละ 20 การเก็บเกสรของชันโรงบนดอกไม้นั้นจะลงตอมดอกทุกดอก ไม่เลือกชนิด แม้ว่าดอกนั้นจะถูกแมลงผสมเกสรตัวอื่นตอมอยู่แล้วและทิ้งกลิ่นไว้ก็ตาม โดยชันโรงจะลงตอมอย่างนุ่มนวล จึงช่วยทำหน้าที่ผสมเกสรได้เป็นอย่างดี รวมทั้งชันโรงจะหากินในบริเวณไม่ไกลจากรังมากนัก

ต่างจากผึ้งที่ค่อนข้างจู้จี้จองหอง ซึ่งจะเลือกตอมดอกไม้เฉพาะที่มันชื่นชอบ ที่สำคัญต้องมีดอกบานสะพรั่งเป็นจำนวนมากจึงจะลงตอม หากดอกใดเคยถูกผึ้งชนิดอื่นตอมแล้วและทิ้งกลิ่นไว้ก็จะไม่ตอม รวมทั้งผึ้งชอบหากินไกลจากรัง อีกทั้งผึ้งบางชนิด เช่น ผึ้งรวงจะเลือกดูดแต่น้ำต้อย ไม่สนใจเกสร จึงไม่เกิดการถ่ายละอองเกสรในการผสมพันธุ์ เป็นต้น

ความสำคัญของชันโรง

ชัน(Resin)ที่ผลิตมาจากยางไม้ของผึ้งและชันโรงมีประโยชน์ต่อมนุษย์มานานแล้ว ซึ่งในสมัยอียิปต์เมื่อราว 4,000 ปีก่อน พระสอนศาสนาใช้ชันของผึ้งรวง สกุล Apis นำมาทำมัมมี่ และปัจจุบันมีการใช้เป็นยาของแพทย์แผนโบราณผสมในลูกอมแก้เจ็บคอ หรือผสมในน้ำดื่มรักษาแผลในปาก และผสมในเครื่องสำอางรักษาสิว

ส่วนชันที่ผลิตจากชันโรงก็มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนมาอย่างมากมายเช่นกัน เฉพาะในเมืองไทยคนสมัยก่อนรู้จักนำเอารังชันโรงที่ก่อเป็นท่อยาว มาเป็นเชื้อไฟ ไขผึ้ง บ้างนำมาใช้กับครุหาบน้ำที่สานจากไม้ไผ่ โดยนำชันมาทาเคลือบไว้กันน้ำรั่วซึม ชาวอีสานนำมาใช้ติดที่เต้าแคนกับลำแคนที่ทำมาจากต้นอ้อ อุดรูโหวต(เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้เป่า) และโปงลาง เช่นเดียวกับคนภาคกลางที่นำมาอุดรูตามแผ่นไม้ระนาดและหน้ากลอง จนกลายเป็นเครื่องดนตรีไพเราะและเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

ในสมัยโบราณเชื่อกันว่าชันโรงที่สร้างรังอยู่ในโพรงดินเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะจะเลือกทำรังในพื้นที่ที่ค่อนข้างเงียบสงบ ห่างไกลจากผู้คนและสัตว์อื่นๆ เมื่อมันถ่ายออกมาจะมีสีดำเหนียว และมีกลิ่นหอมแปลกๆของยางไม้หรือเกสรดอกไม้ ซึ่งมันก็จะนำมูลของตัวเองกลับเอาไปสร้างรังของตนให้แข็งแรงขึ้นอีก คนสมัยก่อนจึงเชื่อว่าชันของมันสามารถใช้ป้องกันไฟ คุณไสยมนต์ดำ และมหาอุดแคล้วคลาด นักไสยเวทย์จึงนิยมนำมาอุดที่หลังเบี้ยแก้ อุดฐานพระเครื่อง และทำเครื่องรางของขลังต่างๆ

นอกจากนี้ชาวท้องถิ่นหลายพื้นที่ก็รู้จักนำชันมาใช้เป็นสมุนไพร ซึ่งคำว่าสมุนไพรนั้นมักเข้าใจกันว่าหมายถึงพืชเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว“สมุนไพร”หมายถึง“พืช สัตว์ และแร่ธาตุ” โดยสรรพคุณของชัน คือ มีรสเปรี้ยวฝาดหวาน ใช้แก้ปวดบวม รักษาอาการปวดแผลที่มีหนอง บำรุงร่างกาย และสมานแผล

แต่ประโยชน์ของชันโรงที่สร้างความตื่นตะลึงให้ชาวโลกหันมาสนใจ คือ เป็นแมลงมหัศจรรย์ที่มีความสามารถในการผสมเกสรพืชให้เจริญเติบโตออกดอกออกผลได้ดีกว่าแมลงชนิดใดๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า“ชันโรงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ระบบนิเวศน์ของธรรมชาติเกิดความสมดุล เพราะการติดผลของพืชหลายชนิดต้องอาศัยการผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพของชันโรงเท่านั้น”

ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจในกลุ่มผู้รักสุขภาพและทางการแพทย์ คือ “น้ำผึ้งของชันโรง” แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผึ้งชนิดอื่นๆ แต่ความบริสุทธิ์ของน้ำผึ้งเกสรดอกไม้ของชันโรงหรือที่เรียกว่า“น้ำผึ้งอินทรีย์”(Organic Honey) มีคุณค่าทางยาสูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งทั่วไป โดยมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคกระเพาะและระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ทางอุตสาหกรรมยังนำไปเป็นส่วนผสมทำสบู่และยาสระผม จึงทำให้น้ำผึ้งของชันโรงมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไปราว 3-4 เท่าตัว คือมีราคา 700-800 บาท/กก.

ลักษณะน้ำผึ้งของชันโรงนั้นจะมีสีคล้ำกว่าน้ำผึ้งของผึ้งทั่วไป เนื่องจากชันโรงเก็บน้ำหวานจากเกสรดอกไม้หลายชนิด และภายในถ้วยน้ำผึ้งก็มีส่วนผสมของยางไม้ที่มีสีคล้ำ ทำให้น้ำผึ้งชันโรงมีสีเข้ม

2. จักจั่นงวงท้องแดงดำ

ชื่อสามัญ : ไก่ดินปีกหลังแดงธรรมดา

ชื่อสามัญ : Lantern Bugs

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Penthicodes atomaria (Weber, 1801)

วงศ์ : FULGORIDAE

จักจั่นงวงท้องแดงดำ

มีขนาด 2-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ลำตัวมีขนาดยาว 1.5-5.5 ซม. หนวดแบบเส้นขน หัวสั้น หัวและอกปล้องแรกสีน้ำตาลอ่อน ตาสีน้ำตาลอ่อน อกสีดำ ท้องด้านบนสีแดง ท้องด้านล่างสีดำ ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลเข้ม มีจุดสีดำประปราย ขอบปีกมีแต้มสีดำข้างละ2แต้ม และมีจุดสีดำ-สีขาวเล็กๆประปราย ปีกคู่หลังสีแดง มีแต้มสีดำที่ขอบปีกด้านใน ถัดไปเป็นแต้มสีขาว ปลายปีกมีแถบสีดำขนาดใหญ่ข้างละแถบ ขาสีดำ

ชอบเกาะอยู่ตามลำต้นไม้ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้นพืช เมื่อถูกรบกวนจะบินหนีไปไม่ไกล

พบตามป่าดิบ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในไทย ลาว เวียดนาม และอินโดนเซีย โดยพบครั้งแรกของโลกที่อินโดนีเซีย

3. ผีเสื้อฟ้าหนอนกาฝากบนปีกแดง

ชื่อสามัญ : Red-breast Jezebel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Delias acalis Godart, 1819

วงศ์ย่อย : PIERINAE

วงศ์ : PIERIDAE

ผีเสื้อฟ้าหนอนกาฝากบนปีกแดง

ขนาด(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) 8-10 ซม.

ปีกด้านบน(หรือหลังปีก)มีลักษณะคล้ายกับผีเสื้อหนอนกาฝากใต้ปีกแดง(red-base Jezebel) แต่ผีเสื้อชนิดนี้โคนปีกคู่หลังมีสีแดง พื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีแต้มสีขาวในช่องเส้นปีกทั่วทั้งแผ่นปีก

ปีกด้านล่าง(หรือท้องปีก)ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกับปีกบน แต่ปีกคู่หลังมีแถบสีเหลืองแต้มในช่องเส้นปีก

พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ลำห้วย และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนยอดดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ไทย และคาบสมุทรมลายู

4. กิ้งกือเหล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Platyrachus bouvieri Brölemann, 1896

วงศ์ย่อย : PLATYRHACINAE

วงศ์ : PLATYRHACIDAE

กิ้งกือเหล็ก

ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูลของสัตว์ชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นกิ้งกือชนิดหนึ่ง ซึ่งในวงศ์นี้พบในไทยเพียนงสกุลเดียว และชนิดเดียว โดยพบทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย ตามเส้นทางเดินจากผาช่อสู่ตีนดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในไทย และเวียดนาม

กิ้งกือจัดเป็นกลุ่มสัตว์ข้อปล้องที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองมาจากกลุ่มแมลง และแมงมุม โดยมีชนิดที่ได้รับการตั้งชื่อแล้ว 12,000 ชนิด จากจำนวนชนิดทั้งหมดที่คาดว่าจะพบในโลกประมาณ 80,000 ชนิด

กิ้งกือทั่วไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ชอบแสงแดด มักพบตามที่ชื้นแฉะ หลบซ่อนตัวอยู่ตามใต้เปลือกไม้ ใบไม้ ขอนไม้ หรือหินก้อนใหญ่ๆ มีลักษณะลำตัวเรียวยาว หลายชนิดมักมีด้านสันหลังเป็นแผ่นแข็งและโค้งนูน ส่วนด้านล่างแบน ลำตัวส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นปล้องคู่เชื่อมติดกัน(diplosegment) โดยแต่ละปล้องมีขา 2 คู่ ลำตัวปล้องแรกที่อยู่ถัดจากหัว(collum) ไม่มีขา ส่วนปล้องที่ 2 , 3 และ 4 มีขา 1 คู่ ปล้องปลายท้อง 1-5 ปล้อง ไม่มีขา มีขารวมทั้งหมดมากกว่า 30 คู่

กิ้งกือเหล็ก

กิ้งกือเป็นสัตว์กินพืช ส่วนใหญ่เป็น scavengers กินซากพืชที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร บางชนิดทำลายพืชที่ปลูก พวกที่ชอบอาศัยตามซอกหินจะจับแมลง ตะขาบ และไส้เดือนดิน กินเป็นอาหาร กิ้งกือสามารถป้องกันตัวเองจากภยันตรายต่างๆ โดยอาศัยผนังลำตัวที่เป็นเกราะแข็ง หรือโดยการม้วนตัวเป็นก้อนกลม หลายชนิดมีสารพิษลักษณะเหลวใช้ขับไล่ศัตรู โดยผลิตจากต่อมซึ่งอยู่ด้านข้างของลำตัวปล้องละ 1 คู่ สารนี้ถ้าถูกผิวหนังมนุษย์อาจทำให้เกิดอาการผื่นไหม้ได้ เพศเมียสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 10-300 ฟอง บางชนิดวางไข่ในดิน บางชนิดวางไข่แต่ละฟองลงในถุงลักษณะคล้ายแคปซูล แล้วฝังไว้ในดินหรือตามรอยแตก บางชนิดอาจสร้างรังเผื่อวางไข่ แล้วผนึกรูซ่อนไว้ใต้กองหญ้าหรือกองเศษไม้ หรือฝังไว้ในดิน ระยะไข่กินเวลาหลายสัปดาห์ ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ได้ก่อน มักจะกินไข่ที่ยังไม่ฟัก ตัวอ่อนวัยแรกมีขาเพียง 3 คู่ และลำตัวมี 7 ปล้อง ตัวอ่อนมีการลอกคราบหลายครั้ง แต่ละครั้งจะมีปล้องลำตัวและขาเพิ่มขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด

5. มอธผีเสื้อจรวดสีน้ำตาลแดงนายมัวร์

ชื่อสามัญ: Cinnamon Gliding Hawkmoth

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ambulyx moorei Moore, 1858

วงศ์ : SPHINGIDAE

มอธผีเสื้อจรวดสีน้ำตาลแดงนายมัวร์

                        มีขนาด 10-11 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า)  ลำตัวอ้วนกลมยาว ปลายหัวดูคล้ายจมูกวัว ปีกทั้ง2คู่มีพื้นปีกสีน้ำตาลอมเหลือง สีน้ำตาลอมส้ม หรือสีน้ำตาลแดงออกม่วง โดยตัวเมียมีสีเข้มกว่าตัวผู้ แต่บางครั้งก็พบตัวเมียมีสีจางเช่นเดียวกับตัวผู้

มีลายเส้นหยักสีน้ำตาลจางจนถึงเข้มพาดตามแนวนอนหลายเส้น และมีลายแต้มสีดำล้อมรอบสีขาวอมเทาจนถึงสีเทาอยู่บนปีก

พืชอาหารของตัวหนอนผีเสื้อชนิดนี้ คือ พืชสกุล Buchanania , สกุล Lannae ในวงศ์ ANACARDIACEAE และพืชสกุล Canarium ในวงศ์ BURSERACEAE

 

พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 150-2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอ

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไทย เวียดนาม และคาบสมุทรมลายู

6. มอธค้างคาว

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อกลางคืนค้างคาวธรรมดา , มอธค้างคาวธรรมดา

ชื่อสามัญ : Bat Moth ; Giant Uranid Moth ; Long-tailed Moth ; Tropical Swallowtail Moth

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lyssa zampa Butler 1869

วงศ์ : URANIIINAE

วงศ์ : URANIIDAE

มอธค้างคาว

เป็นผีเสื้อกลางคืน มีขนาด 9.5-16 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) หัว อก และลำตัวสีน้ำตาลเทา อกและโคนปีกมีขนสีน้ำตาลปกคลุม พื้นปีกทั้งสองด้านสีน้ำตาลเข้ม สันปีกคู่หน้ามีลายสีดำตลอดแนวสันปีก กลางปีกทั้ง2คู่มีแถบเส้นสีขาวพาดขวางจากสันปีกคู่หน้าลงมามุมล่างของปีกคู่หลัง ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีบางส่วนยื่นยาวคล้ายหาง ปลายหางมีสีขาว

มีลักษณะคล้ายมอธค้างคาวปักษ์ใต้(L. menoetius) แต่ต่างกันที่แถบสีขาวที่พาดขวางปีกของมอธค้างคาวจะแคบกว่า และปีกด้านล่าง(หรือท้องปีก)ของมอธค้างคาวมีขีดประสั้นๆสีน้ำตาลกระจายตั้งแต่แถบสีขาวที่พาดขวางปีกจนถึงปลายปีก

ในเวลากลางคืนมักพบตามบ้านเรือนที่เปิดไฟและบนถนน ด้วยความที่มีปีกยาวทำให้มักพบปีกขาดวิ่นเสมอ โดย ตาของผีเสื้อจะสะท้อนแสงไฟเป็นสีแดง

พืชอาหารของตัวหนอนผีเสื้อชนิดนี้ คือ พืชสกุล Endospermum ในวงศ์ EUPHORBIACEAE

พบตามพื้นที่การเกษตร ป่าโปร่ง และป่าดิบ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงภูเขาสูง ทั่วทุกภาค ตั้งแต่คอคอกระขึ้นมาจะพบมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน ส่วนตั้งแต่คอคอดกระลงไปจะพบมากในช่วงเดือนกรกฎาคม ด้วยเหตุผลที่มีลักษณะภูมิประเทศและพันธุ์พืชที่แตกต่างกัน

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอ

แพร่กระจายตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยทางตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงประเทศฟิลิปปินส์


นก


บันทึกภาพได้ 4 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. นกแซงแซวหงอนขน

ชื่อสามัญ : Hair-crested Drongo

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus hottentottus Linnaeus, 1766

วงศ์ : DICRURIDAE

นกแซงแซวหงอนขน

เป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกอพยพ มีขนาด 29-33 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากยาวโค้งกว่านกแซงแซวชนิดอื่น หางตัด ปลายขนหางคู่นอกแผ่กว้างแล้วม้วนงอนขึ้นด้านบนก่อนตลบข้างหลัง ขนลำตัวสีดำเป็นมัน โดยขนจะเป็นสีดำเหลือบน้ำเงินเขียวสะท้อนแสงที่กระหม่อม ข้างคอ อก ปีกและหาง ลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นที่สุดจนต้องถูกนำมาตั้งชื่อ คือ หน้าผากมีเส้นขนยาวเรียวลู่ไปด้านหลัง ซึ่งถ้าไม่ใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูจะมองแทบไม่เห็น เพราะขนบางมาก แลดูละม้ายคล้ายเส้นผมมากกว่าขนนก

พบเป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ เป็นนกที่มีนิสัยก้าวร้าวเหมือนนกแซงแซวชนิดอื่นๆ ชอบบินขับไล่นกอื่นๆเพื่อแย่งอาหารและปกป้องอาณาเขตหาอาหาร  นอกจากนี้ยังเคยพบพฤติกรรมชอบทำลายรังของชนิดเดียวกันที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการกำจัดคู่แข่งในการหาอาหาร และเพื่อแย่งวัสดุมาทำรังของตัวเองแทน

มักไม่ค่อยเห็นนกแซงแซวหงอนขนโฉบแมลงและสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กมากินบ่อยนัก แต่อาหารโปรดอีกอย่างของมันคือ“น้ำหวานจากดอกไม้” โดยเฉพาะไม้ยืนต้นอย่างต้นทองหลางป่า ในช่วงที่ไม้ดอกซึ่งเป็นแหล่งอาหารของมันกำลังออกดอกบานสะพรั่งไปทั่วทั้งต้น เราจึงมักพบนกแซงแซวหงอนขนรวมฝูงกันเป็นจำนวนมาก

มันจะใช้ปากที่แหลมยาวและโค้งสอดเข้าไปในช่อดอกไม้เพื่อเลียกินน้ำหวาน ต่างจากปากนกแซงแซวอื่นๆที่มีปลายงุ้มสำหรับจับและฉีกสัตว์ขนาดเล็กกิน

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยตามง่ามไม้เกือบปลายกิ่ง ด้วยวัสดุจากกิ่งไม้ รากไม้ และเถาวัลย์ ไม่มีอะไรรองพื้นรัง ออกไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง สีของไข่มีตั้งแต่สีชมพูจนถึงสีครีม รวมทั้งมีลายสีแดงและสีม่วงแดง ทั้งสองเพศช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เสียงร้องดังว่า“ชิด-วิวิวิ”

ชื่อชนิด hottentottus เป็นคำที่มาจากคำว่า Hottentots ซึ่งเป็นชนชาติชาวนามิเบียและแอฟริกาใต้ ซึ่ง2ชนชาตินี้ไม่อยู่กับที่ แต่จะท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ชาวเนเธอร์แลนด์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่นเป็นผู้เรียกชื่อนี้ อันเนื่องจากคนเหล่านี้พูดเสียงขาดเป็นห้วงๆ โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย

นกแซงแซวหงอนขน

ทั่วโลกพบ 31 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย brevirostris Cabanis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน brev,-I หรือ brevis แปลว่า สั้น และ rostr,=um หรือ rostris แปลว่า ปาก ความหมายก็คือ“นกที่มีปากสั้น” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศจีน ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ ในเมืองไทยพบได้ในช่วงฤดูหนาว โดยพบได้ตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

– ชนิดย่อย hottentottus Linnaeus เป็นคำที่มีความหมายเช่นเดียวกับชนิด ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น ในเมืองไทยพบอาศัยตามป่าโปร่งที่ไม่รกทึบเกินไป และพบในระดับความสูงไม่มากนักทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และพบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และวียดนาม) อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จนยถึงออสเตรเลีย

2. นกแซงแซวสีเทา

ชื่อสามัญ : Ashy Drongo

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus leucophaeus Vieillot, 1817

วงศ์ : DICRURIDAE

นกแซงแซวสีเทา

เป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกอพยพ มีขนาด 25.5-29 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีรูปร่างคล้ายนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) ตาหางแฉกไม่ลึกเท่า ทั้งตัวมีสีตั้งแต่สีเทาอ่อนจนถึงสีเทาเข้ม สีเทาเข้มเกือบดำ หรือสีเทาเหลือบฟ้า ใบหน้าสีเข้มกว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดย่อย ลำตัวด้านบนจะสีเข้มกว่าด้านล่าง

พบทั้งโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ มักเกาะตามกิ่งไม้แห้งและกิ่งไม้ทั่วๆไปในระดับที่ค่อนข้างสูง กินแมลงต่างๆด้วยการโฉบจับกลางอากาศบริเวณเรือนยอดไม้หรือระหว่างเรือนยอดไม้ บางครั้งโฉบจับแมลงเกือบถึงพื้นดิน มีนิสัยก้าวร้าวไม่ต่างจากนกแซงแซวชนิดอื่น และป้องกันอาณาเขตที่มันครอบครองอย่างแข็งขัน พร้อมที่จะบินเข้าโจมตีนกล่าเหยื่อจำพวกเหยี่ยวได้ทุกเมื่อ บางครั้งมันก็มีนิสัยเสีย ด้วยการโฉบแมลงที่นกอื่นจับได้มาแย่งกินอีก

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยตื้นๆบนกิ่งไม้ที่สูงพอสมควร ด้วยวัสดุจากกิ่งไม้เล็กๆและใบไม้ มีใบหญ้าฉีกเป็นเส้นเล็กๆรองพื้นรัง ออกไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง สีของไข่คล้ายกับไข่ของนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) แต่มีลายจุดและลายดอกดวงมากกว่า ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เสียงร้องก้องดังว่า“ติ๊ก-วู่-วิด ติ๊ก-วู่-วิด” และเสียงแหบว่า“แอช-แอช” และยังสามารถเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้อีกด้วย

ชื่อชนิด leucophaeus มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และ phae,-o หรือ phaios แปลว่า สีเทา ความหมายก็คือ“นกที่มีสีขาวและสีเทา” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

ทั่วโลกพบ 14 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 6 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย bondi Meyer de Schauensee เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น ในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก

– ชนิดย่อย hopwoodi Stuart Baker เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล ลักษณะของชนิดย่อยนี้ คือ มีลำตัวสีเทาเข้มจนเกือบดำ มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเข้ม โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศบังกลาเทศ ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ ในเมืองไทยพบได้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

– ชนิดย่อย leucogenis Walden มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และ gemi,-o แปลว่า คาง ความหมายก็คือ“คางมีสีขาว” ลักษณะของชนิดย่อยนี้ คือ คางสีขาว มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีขาว โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศจีน ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ ในเมืองไทยพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จนถึง จ.ระนอง

– ชนิดย่อย mouhoti Walden เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น ในเมืองไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และอาจะเป็นนกอพยพที่พบได้เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป

– ชนิดย่อย nigrescens Oates มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ nigrescere แปลว่า สีดำ โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่เมืองพะโค ประเทศเมียนมาร์ ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น ในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออก และตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึง จ.ภูเก็ต โดยมักพบตามป่าชายเลนหรือป่าเสม็ดบริเวณชายฝั่งทะเล

– ชนิดย่อย salangensis Reichenow เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ Salanga คือ หมายถึง “เกาะภูเก็ต” ลักษณะของชนิดย่อยนี้ คือ มีลำตัวสีเทาเข้ม แต่ใบหน้าสีขาวน้อย และมีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเทา โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลก บนเกาะภูเก็ต ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ ในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้

นกประจำถิ่นพบอาศัยตามชายป่า ทุ่งดล่ง ป่าชายเลน ป่าโปร่ง และป่าดิบ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,565 เมตร ทั่วทุกภาค แต่นกอพยพนั้นจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว สามารถพบได้ตามสวนสาธารณะและสวนผลไม้ด้วย

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่อัฟกานิสถานจนถึงจีน และไต้หวัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบได้ทุกประเทศ

3. นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า

ชื่อสามัญ : Mrs.Gould’s Sunbird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aethopyga gouldiae Vigors, 1831

วงศ์ : NECTARINIIDAE

นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า ตัวผู้

เป็นนกอพยพ มีขนาด 11-16.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้นั้นมีหน้าผาก กระหม่อมถึงท้ายทอย ข้างแก้ม และคอสีฟ้าเข้มจนถึงสีน้ำเงินเหลือบเป็นมัน ด้านข้างของหัว อก ลำตัวด้านบน และโคนปีกมีสีแดงจนถึงสีแดงสด ลำตัวด้านล่างสีเหลืองสด ปีกสีเขียวแกมเหลือง ตะโพกมีลายพาดสีเหลืองสด โคนหางสีฟ้า หางยาวสีฟ้าเข้มและเหลือบเป็นมัน ขนหางคู่กลางอาจยาวได้ถึง 4.5 ซม.

ตัวผู้ช่วงผลัดขนและช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์มีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่อกมีสีแดงแซม ท้องสีเหลืองกว่า

ส่วนตัวเมียมีลำตัวด้านบนสีเทาแกมเขียวคล้ำ ลำตัวด้านล่างสีเขียวแกมเหลือง คอมีลายแต้มสีเทา กลางท้องมีลายแต้มสีเหลือง และตะโพกสีเหลือง ซึ่งแตกต่างจากนกกินปลีชนิดอื่นๆ ยกเว้นนกกินปลีหางยาวคอดำ(Black-throated Sunbird) แต่ชนิดนี้ปลายขนหางจนถึงด้านล่างของขนหางจะมีสีขาวมากกว่า

นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า ตัวผู้ผลัดขน

มักพบอาศัยและหากินภายในกิ่งก้านของไม้พุ่มหรือไม้ใหญ่ที่กำลังออกดอก โดยพบอยู่เป็นฝูง หรือหากินร่วมกับนกกินปลีชนิดอื่น จะออกมายังกิ่งแห้งหรือยอดไม้เป็นครั้งคราว เป็นนกที่ค่อนข้างจะไม่อยู่นิ่ง แต่จะกระโดดจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง หรือบินจากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง อาหารได้แก่ น้ำหวานจากดอกไม้ นอกจากนี้ยังกินแมลงและหนอน โดยจิกกินตามกิ่งไม้ ยอดไม้ หรือตามดอกไม้ที่มีแมลงมาตอม

ชื่อชนิด gouldiae เป็นชื่อของ Elizabeth Gould เป็นศิลปินชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นภรรยาของ John Gould นักธรรมชาติวิทยาและศิลปินชาวอังกฤษ โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกบนเทือกเขาหิมาลัย

มีด้วยกัน 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ Aethopyga gouldiae dabryii (J.Verreaux) โดยยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศจีน

นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า ตัวผู้ผลัดขน

พบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ขึ้นไป อพยพเข้ามาในไทยในช่วงฤดูหนาว โดยพบประปรายทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบในเมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

4. นกกระจิ๊ดแถบปีกสีส้ม

ชื่อสามัญ : Buff-barred Warbler ; Orange-barred Leaf Warbler ; Orange-barred Willow Warbler

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phylloscopus pulcher Blyth, 1845

วงศ์ : SYLVIIDAE

นกกระจิ๊ดแถบปีกสีส้ม

เป็นนกอพยพ มีขนาด 11-11.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) คิ้วยาวสีเหลืองอ่อน แถบตาสีคล้ำ แถบกลางกระหม่อมไม่ชัดเจน ปากล่างสีเหลืองแกมน้ำตาล ปลายปากสีเข้ม โคนปากสีอ่อน คอและอกมีลายแต้มสีเทา ลำตัวด้านบนสีเขียวคล้ำหรือสีเขียวแกมน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีเหลือง ปีกมี2แถบ สีส้มแกมเหลือง สีส้มแกมน้ำตาล หรือสีเหลืองแกมน้ำตาลแดง แถบปีกจากปลายขนคลุมปีกแถวล่างกว้างชัดเจนกว่าชนิดอื่น ปลายของขนปลายปีกเส้นที่5เรียวแหลม ตะโพกสีเหลืองแกมขาวแตกต่างจากหลังและหาง อกและสีข้างมีสีเหลืองแกมเทา ขนหางคู่นอกสีขาวเห็นเป็นขอบหางสีขาว มองด้านล่างใต้หางจะเป็นสีขาวทั้งหมด

ชื่อชนิด pulcher เป็นภาษาละตินที่แปลว่า สวยงาม หรือน่ารัก โดยนกชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกที่ประเทศเนปาล

เสียงร้องดังว่า“ชอิ๊ด-ชอิ๊ด”

มีด้วยกัน 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ Phylloscopus pulcher pulcher Blyth

อาศัยและหากินตามกิ่งก้านของต้นไม้มากกว่านกกระจิ๊ดชนิดอื่น อาจพบเป็นฝูงและร่วมหากินกับนกกินแมลงขนาดเล็กตามยอดไม้ระดับสูง อาหารได้แก่ แมลง และหนอน

พบอาศัยตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,370 เมตร ขึ้นไป อพยพเข้ามาในไทยในช่วงฤดูหนาวทางภาคเหนือด้านตะวันตก

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

พบในพื้นที่เขตฯอมก๋อย บนสันดอยม่อนจอง

มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบในเมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม