พรรณไม้และสัตว์ป่า..นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี
ในช่วงวันที่ 12-15 กรกฎาคม 2561
เมื่อเดินทางถึงสนามบินนราธิวาส เราก็เดินทางสู่ค่ายจุฬาภรณ์ กองพันทหารราบที่9 รักษาพระองค์ จ.นราธิวาส เพื่อทานอาหารเที่ยงแสนอร่อย ณ ร้านศาลาเกยหาด ตั้งอยู่ริมหาดบ้านทอน เป็นหาดทรายขาวยาวเหยียดไปจนถึงหมู่บ้านประมงบ้านทอน อันเป็นแหล่งผลิตเรือกอและที่มีชื่อเสียงของ จ.นราธิวาส ซึ่งหลังอาหารเที่ยงเราก็ได้เดินทางไปชมด้วยความทึ่งในความงดงามวิจิตรพิสดารสมคำร่ำลือ ก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวที่วัดชลธาราสิงเห สะพานคอย100ปี และศาลเจ้าแม่โต๊โม๊ะ
เรือกอและ ราคาลำละกว่าแสนบาท
โบสถ์วัดชลธาราสิงเห
สะพาน(ไม้)คอย100ปี
วันที่สองของการเดินทางไปท่องเที่ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส ที่ศูนย์ฯแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ให้เที่ยวทั้งวันก็ยังได้ โดยเฉพาะมีพรรณไม้และสัตว์ป่าน่าสนใจมากมาย น่าเสียดายที่เรามีเวลาจำกัด จำต้องเดินทางสู่ จ.ยะลา เพื่อชมผ้าปะลางิง เป็นผ้าเก่าแก่พื้นเมืองที่มีเทคนิคการพิมพ์ลายผ้าด้วยบล็อกไม้แกะสลัก
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
ศูนย์ทอผ้าปะลางิง
วันที่สามฯออกจากที่พักก่อนรุ่งสาง เพื่อชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวงบนยอดเขาไมโครเวฟ อ.เบตง จ.ยะลา สูงจากระดับน้ำทะเล 2,038 ฟุต หรือ 621.1824 เมตร สามารถชมทะเลหมอกได้ตลอดปี แต่จะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความชื้นในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ยังมีทางเดินเท้าขึ้นยอดเขาฆูนุงซีลีปัตที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ในมุมมองกว้าง 360 องศา
ทิวทัศน์ยามเช้าบนยอดเขาไมโครเวฟ
หลังอาหารเช้ากับติ่มซำสุดอร่อยใน อ.เบตง เราก็เดินทางไปชมบ่อเลี้ยงปลาจีนที่ชาวบ้านส่งขายให้แก่ภัตตาคารใหญ่ๆใน อ.เบตง เพื่อนำไปทำอาหารประเภทปลาจีนทอดกรอบ ปลาจีนนึ่งบ๊วย หรือแกงส้มปลาจีน เหตุที่เรียกว่าปลาจีนเพราะเป็นปลามาจากประเทศจีนที่ส่งมาขายในประเทศมาเลเซีย ภายหลังชาวเบตงได้ซื้อลูกปลาจากแหล่งขายพันธุ์ปลาบริเวณชายแดน และนำมาเลี้ยงจนแพร่หลายในที่สุด เท่าที่สังเกตจะพบว่าปลาจีนที่ชาวบ้านเรียกนั้นไม่ได้เป็นชนิดเดียวกัน แต่มีด้วยกัน 3 ชนิด อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน คือ วงศ์ CYPRINIDAE ปลาจีนทั้ง3ชนิด ได้แก่ ปลาเฉาฮื้อ หรือปลากินหญ้า ชื่อสามัญ Grass Carp ชื่อวิทยาศาสตร์ Ctenopharyngodon idellus ชนิดที่2คือปลาลิ่น ปลาลิ่นฮื้อ หรือปลาเกล็ดเงิน ชื่อสามัญ Silver Carp ชื่อวิทยาศาสตร์ Hypophthalmichtys molitrix และชนิดที่3คือปลาซ่งฮื้อ หรือปลาหัวโต ชื่อสามัญ Bighead Carp ชื่อวิทยาศาสตร์ Aristichthys hobillis ผู้ที่ได้รับประทานปลาจีนจะติดใจในรสหวาน และความนุ่มอร่อยของเนื้อปลาจีน
ปลาจีน
จากนั้นก็เดินทางไปชมแปลงปลูกผักน้ำเบตงบนภูเขา เป็นผักน้ำที่อยู่ในวงศ์ BRASSICACEAE ซึ่งพืชวงศ์นี้ที่เรารู้จักกันดีก็มีคะน้า กวางตุ้ง และผักกาด สำหรับผักน้ำเบตงมีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส แล้วนำมาปลูกในประเทศจีน ประเทศไทยได้นำเข้ามาปลูกทางภาคเหนือและภาคใต้โดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาในสมัยก่อน ลักษณะของผักน้ำเบตงนั้นคล้ายผักชีล้อม แต่มีการเจริญเติบโตคล้ายผักบุ้ง ลำต้นอวบน้ำ ใบเล็ก ชอบขึ้นในที่ที่มีอากาศเย็น มีการเจริญเติบโตได้ดีในหน้าฝนและหน้าหนาว หรือที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา และต้องเป็นน้ำที่ไหลมาจากภูเขา โดยเฉพาะน้ำที่ไหลมาจากซอกหิน ชาวเบตงนิยมนำมาประกอบอาหารหลายอย่าง เช่น ผัดผักน้ำ แกงจืด ต้มจิ้มกับน้ำพริก ต้มกับกระดูกหมู เป็นต้น นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในอีกด้วย
แปลงปลูกพืชน้ำเบตง
ก่อนเที่ยงแวะชมอุโมงค์ปิยะมิตร แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีตเป็นแหล่งหลบภัยทางอากาศและสะสมเสบียงของโจรจีนคอมมิวนิสต์ สภาพป่าโดยรอบยังค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เสียงนกที่ร้องแซ่ซ้องอยู่รอบๆทำให้ใจไขว้เขว้ อยากจะเดินชมนกให้สาแก่ใจ แต่ด้วยที่มาเป็นหมู่คณะ ก็จำต้องยอมไปกับคณะ ทำให้โชคดีได้พบเมร็งเบตง..พืชวงศ์ปาล์มที่เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เท่านั้น
อุโมงค์ปิยะมิตร
บ่ายแก่ๆก็มาย่ำบนถนน3สายย่านเมืองเก่าของ จ.ปัตตานี ชมสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบชิโนยูโรเปียน และค่ำคืนชมความสวยงามของมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี
เช้าของวันที่สี่ฯเรามาเดินชมวิวทิวทัศน์ตามทางเดินสกายวอล์ค ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จ.ปัตตานี สร้างด้วยสะพานเหล็กที่มีความสูงราวตึก4ชั้น ระยะทางราว 400 เมตร มีศาลาพัก5จตุดไว้นั่งพักผ่อนชมวิว และมีทางขึ้นลง2จุด นอกจากจะเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลจนถึงทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะแหลมตาชีเป็นแหลมที่ยาวที่สุดในประเทศไทยและมีความสวยงามจนถูกขนามนามว่า“อัญมณีแห่งท้องทะเลอ่าวไทย”อย่างสวยงามแล้ว ช่วงยามเย็นยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่งดงามอีกด้วย ในอนาคตเทศบาลเมืองปัตตานีจะสร้างทางเดินให้ทอดยาวเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างหอกระโดดสูง และศาลาลอยฟ้า
sky walk ปัตตานี
sky walk ปัตตานี
ด้านล่างยังมีทางเดินชมป่าชายเลนในระยะทางกิโลฯเศษ ซึ่งมีพรรณไม้ป่าชายเลนและนกน้ำให้ศึกษา
จากนั้นเดินทางไปชมวิถีชีวิตของชุมชนท่องเที่ยวบ้านทรายขาว และสักการะหลวงปู่ทวดที่วัดช้างให้ ก่อนเดินทางกลับ
ในการเดินทางครั้งนี้ได้บันทึกภาพพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบเห็นตามรายทางได้พอสมควร โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(20 ชนิด) เฟินและเห็ด(5 ชนิด) และสัตว์ป่า(9 ชนิด)
ไม้ป่า
มีทั้งหมด 20 ชนิด เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด
- พญาสัตบรรณ
ชื่อท้องถิ่น : กะโน้ะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ยางขาว(ลำปาง) ; ตีนเป็ด(ปราจีนบุรี-สระแก้ว , ภาคกลาง) ; ชบา , สัตบรรณ(ภาคกลาง) ; จะบัน(เขมร-ปราจีนบุรี) ; หัสบรรณ(กาญจนบุรี) ; บะซา , ปูลา , ปูแล(มลายู-ปัตตานี) ; ตีนเป็ดดำ(นราธิวาส) ; ตีนเป็ดขาว(ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alstonia scholaris (L). R. Br.
วงศ์ : APOCYNACEAE
พญาสัตบรรณ
เป็นไม้ยืนต้น สูง 15-40 เมตร เรือนยอดทรงพุ่ม กิ่งก้านแผ่ออกเป็นชั้นๆคล้ายร่มและมีช่องอากาศ เปลือกต้นสีเทา หรือสีเทาปนดำ และแตกเป็นสะเก็ด โคนต้นเป็นพูพอน ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางมาก สีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม ใบเดี่ยว ออกเป็นวงๆละ 4-10 ใบ ส่วนมากมักมี7ใบ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปใบพาย
ออกดอกเป็นช่อซี่ร่มและแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 1-1.2 ซม. กลิ่นหอมฉุน ดอกแรกแย้มมีสีขาว สีขาวอมเหลือง หรือสีขาวอมเขียว ดอกแก่สีน้ำตาลอ่อน ดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น5กลีบ รูปรี กลีบดอกเรียงซ้อนทับกันทางด้านซ้าย
พืชสกุลนี้พบทั่วโลก 40 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าละเมาะ ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,200 เมตร ทั่วทุกภาค
พญาสัตบรรณ
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และตามที่พักที่เราพัก ซึ่งปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
แพร่กระจายในแอฟริกาและเอเชียเขตร้อน จนถึงทวีปออสเตรเลีย
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ รักษาแผลเน่าเปื่อย แก้โรคลักปิดลักเปิด อุดฟันแก้ปวดฟัน โรคบิด ขับพยาธิไส้เดือน แก้ไข้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ รวมทั้งใช้เนื้อไม้นำมาทำอุปกรณ์ทางการเกษตร ไม้อัด กระดานในโรงเรียน และฝักดาบ
- ขลู่
ชื่อท้องถิ่น : หนาดงัว , หนาดงั่ว , หนาดงิ้ว , หนาดวัว(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ขลู(ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica Less.
วงศ์ : ASTERACEAE
ขลู่
เป็นไม้พุ่ม ลำต้นค่อนข้างกลม สูง 1-2 เมตร สีเขียวแกมม่วง แตกกิ่งก้านมาก ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนละเอียด ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หรือรูปรี ใบมีกลิ่นหอมฉุนเมื่อนำมาขยี้ดม
ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยนกแขนงตามซอกใบและปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วงอ่อน หรือสีม่วงแดงอมชมพู ดอกมี2แบบ ดอกบริเวณกลางช่อเป็นดอกเพศผู้ มี 3-7 ดอก และมีขนาดดอกใหญ่กว่าดอกย่อยโดยรอบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็นรูปเส้นด้าย5เส้น สำหรับดอกย่อยโดยรอบเป็นดอกเพศเมียมีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ ปลายหลอดดอกแยกเป็นรูปเส้นด้าย3เส้น
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 56 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ลุ่ม ที่ชื้นแฉะ บริเวณแหล่งน้ำกร่อย และตอนบนของป่าชายเลนในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 เมตร ทั่วทุกภาค
ขลู่
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และทางเดินป่าชายเลน ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จ.ปัตตานี
แพร่กระจายในอินเดีย จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และภูมิภาคมาเลเซีย อนึ่งชื่อสกุล Pluchea ตั้งตามนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส Noël-Antoine Pluche
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคริดสีดวงทวาร โรคริดสีดวงจมูก ขับเหงื่อ โรคบิด แผลอักเสบแผลเรื้อรัง ปวดเอว โรคไขข้ออักเสบ โรคหิด ดับกลิ่นปาก ระงับกลิ่นตัว รวมทั้งใช้ใบอ่อนทานเป็นผักสดกับน้ำพริก
- ฝาดดอกขาว
ชื่อท้องถิ่น : ลำแพนหิน(จันทบุรี-ตราด) ; ฝาด(ภาคกลาง , ภาคใต้) ; ขวาด(สมุทรสาคร) ; กะลูง(ชุมพร) ; ลำแพน(สตูล) ; ตำเสาหนู(ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lumnitzera racemosa Willd
วงศ์ : COMBRETACEAE
ฝาดดอกขาว
เป็นไม้ยืนต้น สูง 5-25 เมตร ส่วนใหญ่มักสูงไม่เกิน 10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านต่ำ เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแดง ผิวขรุขระ มีช่องระบายอากาศตามขวาง กิ่งก้านส่วนมากมีสีน้ำตาลแดงหรือสีดำ แต่ไม่มีรากหายใจเหมือนฝาดดอกแดง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกตลอดกิ่งก้าน รูปไข่กลับ รูปใบพาย หรือรูปใบพายแกมรูปไข่กลับ
ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามปลายกิ่งและซอกใบบริเวณปลายยอด ขนาดดอก 1-1.5 ซม. ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าฝาดดอกแดง กลิ่นหอม ดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลีบดอก5กลีบ รูปรีแคบถึงรูปใบหอก
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในไทยพบทั้ง 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและบริเวณปากแม่น้ำริมชายฝั่งทะเลที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเป็นครั้งคราวทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
ฝาดดอกขาว
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย นิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ออสเตรเลีย และแอฟริกาด้านตะวันออก
พบบริเวณทางเดินป่าชายเลน ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จ.ปัตตานี
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร รวมทั้งใช้เนื้อไม้สร้างบ้านเรือน ทำฟืน เผาถ่าน และใช้เปลือกไม้ย้อมจีวรพระสงฆ์
- เครือพูเงินขน
ชื่อท้องถิ่น : กอแลกาเยาะ(มลายู-นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argyreia ooststroomii Hoogland
วงศ์ : CONVOLVULACEAE
เครือพูเงินขน
เป็นไม้เลื้อย ทอดเลื้อยไปได้ไกลถึง 6 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี หรือรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ตามปลายกิ่งจะมีช่อดอกยาวกว่าช่อดอกที่ออกตามซอกใบ ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอดรูปปากแตร ภายในหลอดดอกมีแต้มสีม่วงจากโคนถึงปากหลอดดอก ปลายหลอดดอกแยกเป็นหยักตื้นๆ5กลีบ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 90 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 35 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่าหรือป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-200 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส
เครือพูเงินขน
พบตามทางเดินป่าพรุป่าเสม็ดในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส
แพร่กระจายในไทย และภูมิภาคมาเลเซีย
- ผักบุ้งทะเลขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea imperati (Vahl) Griseb.
วงศ์ : CONVOLVULACEAE
ผักบุ้งทะเลขาว
เป็นไม้เลื้อยมีอายุหลายปี ทอดยาวตามพื้นได้ไกลถึง 5 เมตร มีรากออกตามข้อ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปแถบ บางครั้งพบแผ่นใบแยกเป็น 3-5 แฉก โดยแฉกตอนปลายมีขนาดใหญ่กว่าแฉกด้านข้าง
ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ หรือบางครั้งพบออกเป็นช่อๆละ 2-3 ดอก ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอดรูปกรวยปากแตร หรือรูปลำโพง ภายในหลอดดอกด้านในสีเหลืองอ่อน บริเวณปากหลอดดอกอาจมีสีแดงเข้ม ปลายดอกผายบานและหยักหลายหยักดูคล้ายแยกออกเป็นกลีบๆมากมาย
ผักบุ้งทะเลขาว
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 468 ชนิด ในไทยพบประมาณ 30 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยไปตามเนินทรายริมทะเลและชายหาดริมทะเลที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 100 เมตร ทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
พบบริเวณหาดบ้านทอน จ.นราธิวาส
แพร่กระจายในศรีลังกา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะแปซิฟิก ออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกา ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ
- ผักบุ้งทะเล
ชื่อท้องถิ่น : ผักบุ้งขัน(ทั่วไป) ; ละบูเลาะห์(มลายู-นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br.
วงศ์ : CONVOLVULACEAE
ผักบุ้งทะเล
เป็นไม้เลื้อยติดพื้น ลำต้นเป็นสัน มองเห็นข้อปล้องได้ชัดเจน ทอดเลื้อยไปได้ไกลถึง 50 ซม. เถาจะเหนียวกว่าผักบุ้งทั่วไป สีเขียว และมีสีม่วงแดงติดอยู่เล็กน้อย รากออกตามข้อ เมื่อหักลำต้นจะมียางสีขาวขุ่นไหลออกมา ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบไม่เหมือนผักบุ้งทั่วไป แต่จะมีรูปค่อนข้างกลม รูปรี รูปไต หรือรูปไข่ สีเขียว
ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบ ช่อละ 3-10 ดอก แต่จะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกจะบานเฉพาะตอนเช้าถึงเที่ยง และหุบดอกในช่วงบ่าย ขนาดดอก 5-8 ซม. ดอกค่อนข้างเหี่ยวง่าย ดอกสีม่วงอ่อน สีม่วงอมชมพู สีม่วงอมแดง หรือสีชมพู ดอกคล้ายดอกผักบุ้ง ดอกเป็นหลอดรูปกรวยปากแตร หรือรูปลำโพง ปลายดอกผายบานและหยักหลายหยักดูคล้ายแยกออกเป็นกลีบๆมากมาย มีแถบกลางสีเข้ม โคนหลอดดอกด้านในสีม่วงเข้ม
ผักบุ้งทะเล
พบทอดเลื้อยไปตามเนินทราย พื้นดินทรายที่มีความชื้นสูง หรือตามชายฝั่งทะเลทั่วๆไปทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
พบบริเวณหาดบ้านทอน จ.นราธิวาส
แพร่กระจายตามชายทะเลทั่วโลกในเขตร้อน
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้แก้อาการบวม ช่วยเจริญอาหาร ยาระบาย แก้อาการคันตามผิวหนัง แก้พิษแมงกะพรุนไฟ ช่วยขับปัสสาวะ โรคไขข้ออักเสบ อาการจุกเสียด และตะคริว
- Ipomoea sp.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea sp.
วงศ์ : CONVOLVULACEAE
Ipomoea sp.
ไม้เลื้อยสกุลเดียวกับผักบุ้งทะเล แต่ยังไม่รู้ชนิด
พบตามทางเดินป่าพรุป่าเสม็ดในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส
- ถอบแถบน้ำ
ชื่อท้องถิ่น : แควบทะเล , ถอบแถบเครือ , เถาถอบแถบ , ผักแถบ(ภาคกลาง) ; ทับแถบ(สมุทรสงคราม) ; ถอบแถบทะเล(เพชรบุรี) ; ถั่วน้ำ(นราธิวส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Derris trifoliata Lour.
วงศ์ : FABACEAE
ถอบแถบน้ำ
เป็นไม้เลื้อย ทอดเลื้อยตามพื้นหรือเกี่ยวพันต้นไม้อื่นไปได้ไกล 5-10 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มีใบย่อย 1-3 คู่ ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ
ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว ก่อนเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน กลีบดอก5กลีบ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 87 ชนิด ในเมืองไทยพบ 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองที่มีดินเลนค่อนข้างแข็งและน้ำท่วมถึง ป่าชายเลนที่อยู่บนพื้นที่ดอนค่อนข้างสูง และพื้นที่ป่าพรุ ทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
พบตามทางเดินป่าพรุป่าเสม็ดในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส
ถอบแถบน้ำ
แพร่กระจายในเขตร้อนในเอเชีย เขตร้อนในออสเตรเลีย และเขตร้อนในแอฟริกา
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยาระบาย แก้พิษตานซาง และขับเสมหะ “เถา”มีความเหนียวทนทาน ใช้แทนเชือกได้ ส่วน“ใบ” คนภาคใต้ใช้ทานเป็นผักสดกับข้าวยำ หรือนำไปเป็นส่วนผสมในการทำแชมพูสมุนไพรกำจัดเหา
- ใบไม้สีทอง
ชื่อท้องถิ่น : ย่านดาโอ๊ะ(มลายู-นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phanera aureifolia (K. Larsen & S. S. Larsen) Bandyop., P. P. Ghoshal & M. K. Pathak
วงศ์ : FABACEAE
ใบไม้สีทอง
เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ทอดยาวได้ไกลถึง 50 เมตร มีมือเกาะเป็นรูปตะขอ ซึ่งตอนปลายตะขอจะกางแยกออกเป็น2อัน มือเกาะนี้หากพบสิ่งยึดเกาะก็จะกลายเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ยึดเกาะก็จะหลุดร่วงไปเอง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่ค่อนข้างกลมคล้ายใบต้นชงโค แต่มีขนาดใหญ่กว่า ใบอ่อนมีขนสีเหลืองทอง สีเหลืองเหลือบสีเงิน สีน้ำตาลแดง หรือสีทองแดงเหลือบรุ้งปกคลุมหนาแน่นทั่วทั้งใบ โดยจะมีมากเป็นพิเศษในช่วงออกดอก ซึ่งจะเกิดเป็นประกายงดงามยามต้องแสงอาทิตย์ เมื่อใบแก่..สีของขนที่ปกคลุมจะเปลี่ยนเป็นสีบรอนซ์เงินหรือสีเขียว ใบที่ร่วงหล่นสามารถเก็บไว้ในสภาพเดิมได้เป็นเวลานาน โดยสีของใบไม่เปลี่ยนแปลง
ออกดอกเป็นช่อกระจะและแยกแขนงสั้นๆตามปลายกิ่ง และมีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลหนาแน่น ช่อละกว่า10ดอก แต่จะทยอยบานทีละ 2-3 ดอก ขนาดดอก 2-3.5 ซม. กลิ่นหอมเย็นชื่นใจคล้ายกลิ่นหอมดอกพิกุล ดอกรูปคล้ายดอกเสี้ยวหรือชงโค ดอกสีเหลืองนวล ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีขาวครีม กลีบดอก5กลีบ รูปช้อน หรือรูปใบพาย
ใบไม้สีทอง
พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในสกุล Bauhinia ทั่วโลกพบ 84 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชหายากชนิดหนึ่งของเมืองไทย พบทอดเลื้อยพันต้นไม้อื่นตามป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-300 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะในป่าของ จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา เท่านั้น
เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย โดยเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก ค้นพบในเมืองไทย(บริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี)เป็นแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ.2532โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์กชื่อ“Dr.KAI LASERN” เดิมอยู่ในสกุล Bauhinia
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และยังพบตามที่พักหลายแห่ง โดยปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
- ฉัตรฟ้า(ดอกเพศเมีย)
ชื่อท้องถิ่น : ปิ้งแดง(ภาคเหนือ) ; พวงพีเหลือง(เลย) ; เข็มฉัตร , เข็มชาด , พนมสวรรค์(นครพนม) ; สาวสวรรค์(นครราชสีมา) ; หัวลิง(สระบุรี) ; นมสวรรค์ , มาลี(ภาคกลาง-ภาคใต้) ; พนมสวรรค์ป่า(ยะลา) ; นมหวัน , น้ำนมสวรรค์(มลายู-นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum paniculatum L.
วงศ์ : LAMIACEAE
ฉัตรฟ้า ดอกเพศเมีย
เป็นไม้พุ่มแตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นกอใหญ่ สูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปฝ่ามือ รูปไข่ หรือค่อนข้างกลม ออกดอกเป็นช่อกระจุกตั้งตรงและแยกแขนงเป็นรูปฉัตรหรือรูปพีระมิดขนาดใหญ่ตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกแยกเพศและบานทนนานราว1สัปดาห์ ดอกเพศเมียมีสีแดง สีส้ม หรือสีส้มแดง ส่วนดอกเพศผู้มีสีขาวหรือสีซีดจางเกือบขาว ดอกคล้ายดอกเข็ม ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขนาดไม่เท่ากัน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 308 ชนิด ในเมืองไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่รกร้าง ริมลำน้ำ ชายป่า เชิงเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร ทั่วทุกภาค
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และอุโมงค์ปิยมิตร จ.ยะลา
ฉัตรฟ้า ดอกเพศเมีย
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ใช้แก้ไข้มาลาเรีย ขับลม แก้วัณโรค ผื่นตามผิวหนัง แก้พิษฝีฝักบัว ถ่ายเหลว อาเจียนเป็นเลือด แก้อักเสบเนื่องจากถูกแมงป่องหรือตะขาบกัดต่อย รักษาอาการแน่นหน้าอก และโรคปวดข้อ
- โคลงเคลงขนต่อม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clidemia hirta (L.) D.Don
วงศ์ : MELASTOMATACEAE
โคลงเคลงขนต่อม
เป็นไม้พุ่ม หรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูง 0.5-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่กว้าง หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบ ช่อละ 10-15 ดอก ดอกสีขาว กลีบดอก5กลีบ รูปไข่
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 173 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามชายบป่าดิบชื้นที่เปิดโล่งและสวนยางในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ทางภาคใต้
ผลของโคลงเคลงขนต่อม
พบตามทางเดินป่าพรุป่าเสม็ดในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส
แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก อนึ่งชื่อสกุล Clidemia ตั้งชื่อตามนักพฤกษศาสตร์กรีกโบราณ คือ Clidemus
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้“ใบสด”ขยี้แล้วนำมาพอกแผลสด เพื่อห้ามเลือด
- โคลงเคลงขน
ชื่อท้องถิ่น : เอ็นอ้าขน(อุบลฯ) ; ม่ายะ(ตราด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Desmoscelis villosa (Aubl.) Naudin
วงศ์ : MELASTOMATACEAE
โคลงเคลงขน
เป็นไม้พุ่ม ตั้งตรงสูง 1-4 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปใบหอก รูปวงรีแกมรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง ช่อละ 3-6 ดอก ขนาดดอก 4-6 ซม. ดอกสีชมพู หรือสีม่วงแดงเข้ม กลีบดอก5กลีบ
พืชสกุลนี้ย้ายมาจากสกุล Melastoma ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามพื้นที่โล่งแจ้งบริเวณทุ่งหญ้าและในป่าดิบ รวมทั้งตามป่าชายเลนบริเวณที่ดอนหรือป่าชายเลนที่ถูกทำลายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
โคลงเคลงขน
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และทางเดินป่าชายเลน ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จ.ปัตตานี
แพร่กระจายในเมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้แก้อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด และแก้ไข้
- เอื้องหวายตะมอย
ชื่อท้องถิ่น : บวบกลางหาว , บัวกลางหาว(เชียงใหม่) ; ดอกไม้ไหว(ภาคตะวันออก) ; แส้พระอินทร์ , เอื้องแส้พระอินทร์(จันทบุรี) ; นกกระยาง(ชลบุรี) ; เอื้องมะลิ(ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium crumenatum Sw.
วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE
วงศ์ : ORCHIDACEAE
เอื้องหวายตะมอย
เป็นกล้วยไม้ที่มีลำต้นรูปแท่งดินสอทรงกระบอกเรียวยาว หรือรูปรี ทอดเอนหรือห้อยลง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยออกตามช่วงบนของลำต้น และอาจลดรูปลงในช่วงปลายต้น รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน
ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อตามข้อลำต้นที่ไม่มีใบ ช่อละ 1-2 ดอก ขนาดดอก 1.5-4 ซม. กลิ่นหอมฉุน ดอกบานพร้อมกันทุกต้นที่อยู่ในกอเดียวกัน แต่บานเพียงวันเดียวก็จะร่วงหล่น ดอกสีขาว หรือสีขาวนวล
เอื้องหวายตะมอย ดอกโรย
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,575 ชนิด ในเมืองไทยพบ 165 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าชายหาดหรือป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เอื้องกะเรกะร่อนปากเป็ด
ชื่อท้องถิ่น : กะเรกะร่อนดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbidium finlaysonianum Lindl.
วงศ์ย่อย : VANDOIDEAE
วงศ์ : ORCHIDACEAE
เอื้องกะเรกะร่อนปากเป็ด
เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยรูปรีขนาดใหญ่ โดยขึ้นอยู่ชิดติดกันเป็นกอขนาดใหญ่ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปแถบ หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะห้อยลงตามข้างลำต้น ช่อละ 25-40 ดอก ขนาดดอก 3-5.7 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีเหลืองเข้ม สีเหลืองอมน้ำตาลระเรื่อ จนถึงสีน้ำตาลอมเขียว มีแถบสีแดงจางๆหรือสีม่วงแดงที่กลางกลีบ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 45 ชนิด ในเมืองไทยพบ 19-21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามก่อนหินและบนต้นไม้ตามทุ่งนา ชายป่า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
เอื้องกะเรกะร่อนปากเป็ด
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส
แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และภูมิภาคมาเลเซีย
- หมากแดง
ชื่อท้องถิ่น : กะแด็ง , กับแดง , หมากก้นแดง(นครศรีฯ) ; หมากวิง , หมากหวิง(ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrtostachys renda Blume
วงศ์ : PALMACEAE
หมากแดง
ไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม แตกหน่อเป็นกอ สูงได้ถึง 45 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลอ่อนและมีข้อปล้องเห็นได้ชัดเจน ปลายยอดเป็นลำแหลม นับเป็นไม้ปาล์มเพียงสกุลเดียวที่มีหน่อ กาบใบ ก้านใบรวม และก้านใบย่อยเป็นสีแดงสดสะดุดตา ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว(ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงกันข้าม) ใบย่อยรูปเรียวยาว ออกดอกเป็นช่อตามข้อลำต้นบริเวณใต้กาบใบ ช่อดอกยาว 30-60 ซม. และมีกาบหุ้มช่อดอก2ชั้น มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีแดง
หมากแดง
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 7 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว พบขึ้นในป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส เพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดย พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส
แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และหมู่เกาะในแปซิฟิก
- เมร็งเบตง
ชื่อท้องถิ่น : หมากตอก , หมากตอกใบยาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Iguanura divergens Hodel
วงศ์ : PALMACEAE
ผลของเมร็งเบตง
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กจำพวกปาล์ม สูง 0.5-3 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว(ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงกันข้าม 4-5 คู่) ตั้งขึ้นและแผ่ออก 7 ทาง ใบย่อยรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ด้านข้างจะไม่ขนานกัน ออกดอกเป็นช่อตั้งขึ้นระหว่างกาบใบ 1-2 ช่อ ขนาดดอก 0.15-0.175 ซม. ผลรูปค่อนข้างกลม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 22 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส
พบบริเวณอุโมงค์ปิยมิตร จ.ยะลา
เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย
- โกงกางใบใหญ่
ชื่อท้องถิ่น : กงเกง(นครปฐม) ; กงกอน(เพชรบุรี-ชุมพร) ; กงกางนอก , โกงกางนอก(เพชรบุรี) ; กางเกง , พังกา , พังกาใบใหญ่(ภาคใต้) ; ลาน(กระบี่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhizophora mucronata Lam.
วงศ์ : RHIZOPHORACEAE
ผลของโกงกางใบใหญ่
เป็นไม้ยืนต้น สูง 25-40 เมตร เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบๆ เปลือกต้นหยาบสีเทาปนน้ำตาลเหลืองหรือสีเทาคล้ำจนถึงดำ มีรากค้ำยันอยู่สูงเหนือโคนต้นราว 2-7 เมตร และแตกแขนงระเกะระกะ โดยรากนี้จะค่อยๆโค้งจรดดิน ไม่หักเป็นมุมฉากเหมือนโกงกางใบเล็ก
ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก โดยออกเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง คู่ใบด้านล่างหลุดร่วงง่าย คงเหลือแต่คู่ใบไม่กี่คู่ที่ปลายกิ่ง รูปรีถึงรูปรีกว้าง ออกดอกเป็นช่อกระจุกในพุ่มเรือนใบบริเวณซอกใบที่มีใบติดอยู่หรือหลุดร่วงไปในเวลาต่อมา ช่อละ 2-12 ดอก ขนาดดอก 2-2.5 ซม. ดอกตูมรูปไข่ ดอกเมื่อบานเต็มที่มีขนาดเล็ก สีขาว หรือสีเหลืองอ่อน กลีบดอก4กลีบ รูปใบหอก
ผลรูปไข่ ปลายคอด สีน้ำตาลอมเขียว ผิวหยาบ ลำต้นใหม่ใต้ใบเลี้ยงเป็นฝักรูปทรงกระบอก เรียว และค่อนข้างตรง ปลายเรียวแหลมยาว โคนแหลม สีเขียว ผิวเป็นมันและมีตุ่มขรุขระทั่วไป
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 7 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นบริเวณปากแม่น้ำริมทะเลและป่าชายเลนบริเวณดินเลนอ่อนและลึกที่มีน้ำทะเลท่วมถึงตลอดเวลาตามชายฝั่งทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
พบบริเวณทางเดินป่าชายเลน ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จ.ปัตตานี
แพร่กระจายในภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงหมู่เกาะตองกา
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยาสมาน แก้ท้องร่วง คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดเรื้อรัง และห้ามเลือด นอกจากนี้“เนื้อไม้”ใช้ทำเสาและหลักในพื้นที่ที่มีน้ำทะเลขึ้นถึง ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานได้ราว 2-3 ปี ใช้ทำเยื่อกระดาษ หรือใช้ทำกลอนหลังคาจาก รอด ตง อกไก่บ้านตามชายทะเล และโดยเฉพาะการนำไปทำฟืนและเผาถ่าน ซึ่งถือว่าเป็นถ่านไม้ที่ให้ความร้อนสูงได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับถ่านไม้ชนิดอื่น และ“เปลือก”ให้น้ำฝาดสีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า แห อวน หนัง และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งจะให้ความเหนียวทนทาน
- พิกุล
ชื่อท้องถิ่น : แก้ว(ภาคเหนือ) ; ซางดง(ลำปาง) ; กุน(ภาคใต้) ; พิกุลเขา , พิกุลเถื่อน(นครศรีธรรมราช) ; พิกุลป่า(สตูล)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi Linn.
วงศ์ : SAPOTACEAE
พิกุล
เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ สูง 5-20 เมตร เรือนยอดทรงกลมหนาทึบ แตกกิ่งจำนวนมาก ลำต้นและกิ่งมักคดงอเป็นปุ่มปม เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา จนถึงสีเทาปนดำ ส่วนต่างๆมีน้ำยางสีขาว โคนต้นบางครั้งมีพูพอน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่
ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ 2-6 ดอก ขนาดดอก 0.7-1 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆในช่วงเย็น ดอกบานเพียงวันเดียวก็ร่วงโรย ดอกสีขาวครีม ก่อนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล และหลุดร่วง กลีบดอก8กลีบ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 57 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าชายหาดทั่วทุกภาค พบมากทางภาคตะวันออก และภาคใต้ ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส
พิกุล
แพร่กระจายในเอเชียเขตร้อน หมู่เกาะมหาสมุทรในแปซิฟิก และออสเตรเลีย
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้บำรุงโลหิต ละลายเสมหะ แก้ปากเปื่อย เหงือกอักเสบ และขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังใช้“เนื้อไม้”มีความแข็งแรงทนทาน สีแดงเข้ม มีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล เพื่อใช้ทำเสาบ้าน พื้น ฝา ด้ามภาชนะ กระดูกเรือ เกวียน คันธนู และหมอนรางรถไฟ ใช้“ดอก”เป็นส่วนประกอบของยาหอม ยานัตถุ์ แก้ปวดศีรษะ และใช้บำรุงโลหิต “ผลสุก”มีรสหวานอมฝาด รับประทานได้
- เถาคันขาว
ชื่อท้องถิ่น : เครือพัดสาม , เถาคัน , หุนแปขาว(ภาคกลาง) ; เขาคันขาว(ปัตตานี) ; ลูกเถาคัน , ส้มเค้า , ส้มน้ำออบ , ส้มอ๊อบแอ๊บ(ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cayratia trifolia (Linn.) Domin.
วงศ์ : VITACEAE
ผลอ่อนของเถาคันขาว
เป็นไม้เลื้อย ทอดเลื้อยไปตามต้นไม้อื่นได้ไกล 2-20 เมตร ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับ ระหว่างก้านใบประกอบมีหนวดที่ใช้เกี่ยวพันต้นไม้อื่น ใบย่อยรูปรี รูปใบหอก หรือรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตามข้อใกล้ซอกใบ ดอกสีขาวแกมเขียว หรือสีเขียวอ่อน รูปรี ผลรูปกลมแป้น ขนาด 0.7-2 ซม. ผลสดสีเขียวใส ผลสุกสีดำ มี 2-3 เมล็ด รูปสามเหลี่ยม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 67 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่ารกร้าง ริมลำคลอง และป่าชายเลนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ทั่วทุกภาค
พบตามทางเดินป่าพรุป่าเสม็ดในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส
ผลสุกของเถาคันขาว
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยาลดไข้ ขับเสมหะ แก้วิงเวียนหน้ามืด ขับลม ฟอกเลือด อาการเลือดออกตามไรฟัน แผลในจมูก ปวดเมื่อย นอกจากนี้“ผล”มีรสเปรี้ยว คนภาคใต้ใช้ตำน้ำพริกหรือใส่ในแกงส้มขณะน้ำเดือด ทั้งนี้ต้องระมัดระวังการใช้ผล เพราะหากถูกน้ำในผลที่แตก จะเกิดอาการระคายเคือง
- ดาหลา
ชื่อท้องถิ่น : กาหลา , กาหลาขาว(ภาคใต้) ; กะลา(นครศรีฯ) ; กือแต(ยะลา-ปัตตานี) ; จินตะหลา , ดาหลาขาว , ดาหลาแดง(ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Etlingera elatior (Jack) R.M.Sm.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
ดาหลา
เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่มีรูปกลม เกิดจากกาบใบที่ห่อหุ้มซ้อนทับกันแน่นอยู่หลายชั้น สีเขียวเข้ม สูง 2-6 เมตร ขึ้นอยู่เป็นกอ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก
ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน สูงราว 30-200 ซม. ดอกสีแดงสด สีแดงอมชมพู หรือสีชมพู ดอกบานทนนานหลายวัน ผลรูปไข่กว้าง ขนาด 1-2.5 ซม. มีขนนุ่มละเอียดปกคลุม เมล็ดมีขนาดเล็ก
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 110 ชนิด ในเมืองไทยพบ 15 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นบริเวณใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-400 เมตร ทางภาคใต้ โดยพบมีมากที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.นราธิวาส ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
ผลของดาหลา
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และอุโมงค์ปิยมิตร จ.ยะลา
มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะอินเดีย แล้วแพร่กระจายไปยังพื้นที่ที่ชุ่มชื้นของเขตร้อนทั่วไป
เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ขับลม แก้ลมพิษ และแก้โรคผิวหนัง นอกจากนี้ใช้“ดอกตูมและหน่ออ่อน”ทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มน้ำพริก หรือแกงเผ็ด หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆผสมในข้าวยำ หรือใช้ยำ มีรสชาติเผ็ดร้อน
เฟิน และเห็ด
พบมากมาย แต่บันทึกภาพมาได้เพียง 5 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด
- เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
ชื่อท้องถิ่น : เห็ดกระโดงตีนต่ำครีบเขียว , เห็ดหัวกรวดครีบเขียวหม่น , เห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน
ชื่อสามัญ : Green-spored Pparasol
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chlorophyllum molybdites Massee 1898
วงศ์ : AGARICACEAE
เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
หมวกเห็ดสีขาว มีขนาด 9-20 ซม. โค้งนูนคล้ายกระทะคว่ำแล้วแบน ผิวแห้ง มีเกล็ดใหญ่และเกล็ดเล็กรูปสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู
ครีบไม่ติดก้าน กว้าง เรียงถี่ สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียวหม่นปนเทาเมื่อสปอร์แก่
เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
ก้านรูปทรงกระบอก กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 6-20 ซม. สีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน เมื่อช้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนปนเทา โคนก้านมีขนาดใหญ่ มีวงแหวนสีขาว2ชั้นพันที่ส่วนบยของก้าน ขอบล่างมีสีน้ำตาล วงแหวนนี้เคลื่อนที่ขึ้นลงได้เมื่อดอกแก่
เนื้อเห็ดสีขาว เมื่อช้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง
สปอร์รูปรียาว เรียบ ผนังหนา และมีสีเขียวอมเทาบนกระดาษพิมพ์
เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
พบเกิดดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มคล้ายวงกลมบนสนามหญ้า ทุ่งหญ้า และบริเวณที่มีการทับถมของใบไม้ ขยะ หรืออินทรียวัตถุสูง เป็นเห็ดมีพิษ ทานไม่ได้
พบบริเวณสนามหญ้าของวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส
- ข้าหลวงหลังลาย
ชื่อท้องถิ่น : กระแตไต่หิน(เลย) ; กระปรอกหางสิงห์(ตราด) ; กระปรอกหัวลง , เฟินรังนก(ชลบุรี) ; ช้องนาง , หางนกยูง(สุราษฎร์ธานี) ; หางนกหว้า(ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Asplenium nidus L.
วงศ์ : ASPLENIACEAE
ข้าหลวงหลังลาย
เป็นเฟินอิงอาศัย เหง้าสั้น ตั้งตรง อวบหนา ตอนล่างมีรากสีน้ำตาลและมีขน ปลายยอดของเหง้ามีเกล็ดสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลดำหนาแน่น เกล็ดเป็นแผ่นบาง กว้าง 0.2-0.3 ซม. ยาวราว 2 ซม.
ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกรอบแกนของเหง้า ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 10-30 ซม. ยาว 0.5-1.5 เมตร ตอนกลางใบกว้างที่สุด ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น โคนใบแคบ แผ่นใบหนาและเรียบ เส้นกลางใบนูนเป็นสันทางท้องใบ เห็นได้ชัด เส้นแขนงใบแยกสาขาเป็นคู่ 1-2 ครั้ง สาขาแรกเกิดใกล้เส้นกลางใบ ขนานกับเส้นใบอื่นๆไปยังขอบใบ และจรดกันเป็นแนวขนานไปกับขอบใบ
กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็นแถบยาวตามแนวเส้นแขนงใบ(บริเวณหลังใบ) แต่ไม่ถึงขอบใบ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เป็นแผ่นบางๆ กว้างราว 0.5 มม.
ออกแผ่เป็นกลุ่มใหญ่ตามต้นไม้หรือบนก้อนหินบริเวณที่ร่มหรือค่อนข้างร่ม แต่มีความชุ่มชื้นสูง ในป่าชายเลน ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส และอุโมงค์ปิยมิตร จ.ยะลา
แพร่กระจายในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เขตร้อนในออสเตรเลีย และเขตร้อนในทวีปแอฟริกา
- โชน
ชื่อท้องถิ่น : รือแซ(มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicranopteris curranii Copel.
วงศ์ : GLEICHENIACEAE
โชน
เป็นเฟินขึ้นตามพื้น เง้าทอดนอนแยกเป็น2แฉก ขนาด 0.3-0.5 ซม. ปลายเหง้ามีเกล็ดรูปโล่ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบแตกออกจากลำต้นห่างๆกัน ก้านใบส่วนมากยาวมากกว่า 1 เมตร โคนก้านใบอวบอ้วนและแยกเป็น2แฉก ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 0.5 ซม. ยาวได้ถึง 7 ซม. ปลายใบมน กลม หรือเว้าตื้น ขอบใบเรียบ โคนใบตัด มีเส้นใบแตกเป็นง่าม กลุ่มอับสปอร์รูปกลมเรียงเป็นแถวระหว่างเส้นใบข้างละแถว
เฟินสกุลนี้พบทั่วโลก 20 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า ป่าดิบชื้น ป่าพรุ และที่โล่งข้างถนน ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคใต้
โชน
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และอุโมงค์ปิยมิตร จ.ยะลา
แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อนึ่งชื่อสกุล Dicranopteris มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า dikranos แปลว่า แยกเป็น2ง่าม และคำว่า pteris แปลว่า เฟิน ความหมายก็คือเฟินที่แยกเป็น2ง่าม
- ชายผ้าสีดาปักษ์ใต้
ชื่อท้องถิ่น : กระปรอกกระจาด , สายผ้าม่าน , หัวสีดา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Platycerium coronarium (Konig ex Mull) Desv.
วงศ์ : POLYPODIACEAE
ชายผ้าสีดาปักษ์ใต้
เป็นเฟินชายผ้าฯชนิดหนึ่งที่นักเล่นเฟินส่วนใหญ่กล่าวว่าเป็นเฟินชายผ้าสีดาที่สวยที่สุดในโลก เหง้าของเฟินชนิดนี้เลื้อยยาวแทรกไปตามราก มีแผ่นสีทองปกคลุม และรอบๆเหง้ามีใบลักษณะเป็นจีบล้อมรอบเหง้า
ใบกาบหุ้มลำต้นหรือใบโล่เมื่ออ่อนมีสีเขียวสดใสและเป็นมันเงา เมื่อแก่มีสีเขียวเข้มขึ้น ชูตั้งขึ้นสูงได้ถึง 2 เมตร แผ่นใบหนา แข็ง และแผ่ออกเหมือนเป็นมงกุฎ โคนใบหนาและแข็งกว่าชายผ้าสีดาชนิดอื่นๆ ปลายใบแตกริ้วเป็นชายครุยหรือพูลึก การเกิดแฉกของใบกาบเกิดได้หลายชั้น โดยมีแฉกหลักที่มีเว้าค่อนข้างลึก หลังจากแฉกแรกจะเกิดแฉกต่อเนื่องได้อีก 3-4 ชั้น ซึ่งแฉกสุดท้ายไม่เรียวแหลม มีลักษณะเป็นรอยตัดหรืออาจโค้งมน ส่วนบนของใบกาบเป็นรอยเว้าตื้นลึกไม่สม่ำเสมอ เส้นของใบกาบเป็นสีดำ เห็นได้ชัดเจน ลักษณะเป็นสันนูนหลายๆเส้น ยาวไปตามความยาวของใบกาบ และแยกเป็นสาขาไปตามสาขาของแฉก และค่อยๆจางลงไปเรื่อยๆจนถึงปลายใบ เนื่องจากใบมีสันนูนทำให้ใบมีลักษณะเป็นจีบ ในธรรมชาติเฟินชนิดนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกมด แมลง หรืออาจมีสัตว์อื่นทำรังอยู่ในใบกาบที่แผ่กว้างเหมือนกระจาดหรือมงกุฎ
ชายผ้าสีดาปักษ์ใต้
ส่วนใบชายผ้ามีสีเขียวอมเหลือง แยกเป็น2แขนงสั้นและยาว โคนใบแคบ ปลายใบแตกแขนงแผ่ออกหลายชั้น ริ้วใบบิดเป็นเกลียวและห้อยเป็นพวงระย้ายาวได้ 2-3 เมตร ใบชายผ้าในหนึ่งข้างแบ่งแยกออกเป็น2ส่วน ส่วนแรกที่อยู่ด้านริมนอกมีลักษณะสั้นและตั้งขึ้นเล็กน้อย เกิดสาขาและแฉกได้ 2-4 ชั้น ใบอีกส่วนหนึ่งห้อยย้อยยาวลงมาและจากนั้นก็เกิดแฉกต่อเนื่องได้ 7-8 ครั้ง การเกิดแฉกจะกางออกทุกชั้น เส้นใบสีดำเป็นสันนูนตลอดความยาวของใบทั้งสองด้าน เห็นได้ชัดเจน
มีกลุ่มอับสปอร์เกิดในส่วนของใบชายผ้าที่ห้อยย้อยเป็นรูปไตคว่ำหรือรูปถ้วยคว่ำ สปอร์เมื่อแก่จะหลุดร่วงลงมาทั้งหมด และปลิวไปตามลม
เฟินชนิดนี้สามารถแตกหน่อได้ โดยแตกจากเหง้าในลักษณะเวียนเป็นวงโอบรอบต้นไม้ที่อิงอาศัยอยู่
ชายผ้าสีดาปักษ์ใต้
เฟินสกุลนี้พบทั่วโลก 18 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง สวนยาง สวนผลไม้ ป่าชายเลน และป่าพรุทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และพบมากทางภาคใต้
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และอุโมงค์ปิยมิตร จ.ยะลา
แพร่กระจายในเมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
- เฟินสกุลตีนตุ๊กแก สกุลพ่อค้าตีเมีย หรือสกุลหญ้ารังไก่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Selaginella sp.
วงศ์ : SELAGINELLACEAE
เฟินสกุลตีนตุ๊กแก
ไม่ทราบชนิดครับ เพราะค่อนข้างจะแยกยากมาก รู้แต่เพียงว่าเฟินสกุลนี้นั้นส่วนใหญ่เจริญเติบโตอยู่ตามพื้นดิน มีบางชนิดที่อิงอาศัยตามต้นไม้ ปกติมีอายุหลายฤดู มีรูปร่างหลายแบบ ทั้งต้นตั้งขึ้น แผ่คลุมดิน มักแตกกิ่งก้านสาขาเลื้อยไป และออกรากขยายขนาดกอต่อไปเรื่อยๆ ใบละเอียดแผ่คลุมพื้น โดยออกเรียงเวียนรอบลำต้นหรือเป็นเกลียวขึ้นสู่ยอด อับสปอร์มีก้านและแยกเพศ
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส
เฟินวงศ์นี้มีเพียงสกุลเดียว พบทั่วโลกประมาณ 800 ชนิด ในไทยพบ 30 ชนิด โดยมักพบตามพื้นป่าที่มีความชื้นสูง ส่วนใหญ่แพร่กระจายในเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก คงมี 2-3 ชนิด ที่แพร่กระจายถึงเขตอาร์กติกและเขตอัลไพน์ของขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
สัตว์ป่า
พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 9 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด
- นกกาเหว่า ชนิดย่อย malayana
ชื่อท้องถิ่น : นกดุเหว่า
ชื่อสามัญ : Asian Koel ; Common Koel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eudynamys scolopacea Linnaeus, 1758
วงศ์ : CUCULIDAE
นกกาเหว่า ชนิดย่อย malayana ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 40-44 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากหนาสีเขียวอ่อน ตาแดง ปีกสั้น ปลายปีกกลม หางยาว ขาและนิ้วเท้าสีเทา
ตัวผู้มีขนลำตัวสีดำเป็นมันเหลือบเขียว หรือเหลือบน้ำเงิน ตาสีแดงเข้ม ส่วนตัวเมียมีขนลำตัวสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลดำ มีลายจุดและลายขวางสีขาวและสีเนื้อหรือสีน้ำตาลอ่อน
เสียงตัวผู้ร้องเป็นคำ 2 พยางค์ ดังก้องว่า“กา-เว้า กา-เว้า” หรือ“โก-เอว โก-เอว” ส่วนตัวเมียจะร้องรัวและเร็ว ดังว่า“กิก-กิก-กิก-กิก”
มักพบโดดเดี่ยว ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะอยู่เป็นคู่ มักเกาะตามพุ่มไม้หรือกิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบ จึงสังเกตเห็นตัวได้ยาก นอกจากได้ยินเสียงร้อง หรือช่วงที่บินจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
บินได้ดี เร็ว และตรง การกระพือปีกลักษณะคล้ายเหยี่ยว ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะได้ยินเสียงร้องดังบ่อยกว่าเดิม ส่วนใหญ่จะร้องในตอนเช้าตรู่และใกล้ค่ำ บางครั้งก็ร้องเกือบตลอดทั้งวัน เป็นนกชนิดแรกที่เริ่มร้องในตอนเช้าของแต่ละวัน เสียงร้องก้องกังวานได้ยินไปไกล เมื่อตัวใดตัวหนึ่งร้อง ตัวอื่นก็จะร้องตอบ เพื่อเป็นการประกาศอาณาเขตที่ครอบครอง และร้องเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม สำหรับตัวเมียจะร้องขณะกระโดดจากกิ่งไม้หนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง เป็นการร้องตอบการเกี้ยวพาราสีของตัวผู้ หรือร้องเพื่อหนีความก้าวร้าวและรุนแรงของตัวผู้
กินผลไม้เปลือกอ่อน โดยเฉพาะลูกโพธิ์ ไทร กร่าง และหว้า เป็นอาหาร ส่วนผลไม้เปลือกแข็งก็บางชนิด เช่น ปาล์ม รวมทั้งกินหนอน แมง แมลง และไข่ของนกเล็กๆอีกหลายชนิดเป็นอาหารด้วย เช่น นกขมิ้นน้อย และนกปรอด เป็นต้น
ช่วงฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มในเดือนธันวาคม – เดือนพฤษภาคม เป็นนกที่ไม่สร้างของตัวเองเช่นเดียวกับนกคัคคูต่างๆ แต่จะไปวางไข่ในรังของนกอื่นๆ โดยเฉพาะรังของอีกา ปกติตัวเมียจะเข้าไปวางไข่ในรังของอีกาในตอนสาย หลังจากอีกาออกไปหากิน
ไข่ของนกกาเหว่ามีลักษณะคล้ายไข่ของอีกา แต่มีขนาดเล็กกว่า มีสีเทาแกมเขียว และมีลายขีดหรือดอกดวงสีน้ำตาลแกมแดง
ในรังของอีกา อาจพบไข่ของนกกาเหว่าได้มากถึง 11 ฟอง แต่ละรังของอีกาจึงมีทั้งไขจ่ของอีกาและไข่ของนกกาเหว่า ปกติก่อนนกากาเหว่าวางไข่ในรังอีกา มันจะทำลายไข่ของอีกาเสียก่อน แล้วจึงวางไข่ของตนแทนที่ แต่ก็มีบางครั้งที่มันไม่ทำลายไข่ของอีกาแต่อย่างใด เมื่อวางไข่เรียบร้อยก็จะทิ้งให้อีกาฟักไข่ให้
ระยะเวลาที่ไข่ของนกกาเหว่าฟักออกมาเป็นตัวประมาณ 18-20 วัน ซึ่งใช้เวลาพอๆกับลูกนกอีกา พ่อและแม่อีกาจะหาอาหารมาป้อนลูกนกกาเหว่าและลูกนกของตนเอง ซึ่งแม่กาเหว่าจะช่วยหาอาหารมาป้อนลูกของตัวเองเมื่ออีกาออกไปหาอาหาร ไม่อยู่เฝ้ารัง ซึ่งแตกต่างจากนกคัคคูต่างๆที่ไม่สนใจไข่และลูกของตนเองเลย
เมื่อลูกอีกาออกจากไข่แล้ว พ่อแม่อีกาก็ต้องทำหน้าที่หาอาหารหนักขึ้น แต่ยังดีที่แม่กาเหว่ายังช่วยหาอาหารด้วย และลูกกาเหว่าก็ไม่ทำร้ายลูกอีกา ต่างจากลูกนกคัคคูต่างๆที่จะทำร้ายลูกอีกา เพราะแม่คัคคูไม่ได้ช่วยหาอาหาร จึงต้องทำร้ายลูกอีกาเพื่อตนเองจะได้อาหารมากตามต้องการ หรืออาจเป็นเพราะว่าลูกกาเหว่ามีขนาดเล็กกว่าลูกอีกาก็ได้ มันจึงไม่ทำร้ายลูกอีกา
ไม่เพียงแต่อีกาเท่านั้นที่กาเหว่าไปแอบวางไข่ในรัง นกอื่นๆ เช่น นกเอี้ยง และนกกิ้งโครง เป็นต้น กาเหว่าก็แอบไปวางไข่ในรังของนกชนิดนั้นเช่นกัน บางครั้งพบว่าลูกนกอีกาในรังของชนิดหลังนี้ เมื่อออกจากไข่แล้ว มักจะเบียดลูกนกเจ้าของรังให้ตกจากรังลงพื้นจนตาย เพื่อที่ตัวเองจะได้อาหารมากตามต้องการ
นกกาเหว่า ชนิดย่อย malayana ตัวเมีย และตัวผู้
ชื่อชนิด scolopacea มาจากคำว่า Scolopax เป็นชื่อสกุลของนกปากซ่อมดง และ -aceus เป็นรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่า คล้าย ความหมายก็คือ“ลักษณะคล้ายนกปากซ่อมดง” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในเมือง Malabar ประเทศอินเดีย
ทั่วโลกมี 18 ชนิดย่อย แต่พบในเมืองไทยเพียง 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย chinensis ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก คือ เมืองกวางตุ้ง ประเทศจีน ชนิดย่อยนี้พบในเมืองไทยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– ชนิดย่อย malayana ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก คือ ประเทศมาเลเซีย ชนิดย่อยนี้พบในเมืองไทยทางภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้
พบอาศัยตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ พื้นที่กสิกรรม ป่าละเมาะ ป่าชายเลน ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,220 เมตร
โดยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้
พบบริเวณตัวเมือง จ.นราธิวาส
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เกาะไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย
- มดตะลานยักษ์ปักษ์ใต้
ชื่อท้องถิ่น : มดไม้ยักษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Camponotus gigas Latreille, 1802
วงศ์ : FORMICIDAE
มดตะลานยักษ์ปักษ์ใต้
เป็นมดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย มีความยาว 2.5-3.5 ซม. ตารวมขนาดเล็กทั้งที่มีหัวขนาดใหญ่ หนวดค่อนข้างยาว มี 12 ปล้อง กรามขนาดใหญ่และคม ลำตัวเรียบและมีขนอ่อนสั้นปกคลุม ส่วนหัว อก และเอวมีสีดำ อกโค้งนูนและมีร่องคั่นระหว่างอกปล้องที่1และ2อย่างชัดเจน ท้องสีน้ำตาลแดง มีขนาดใหญ่และไม่ได้ยื่นมาปกคลุมเอว มีลักษณะกลม ไม่มีเหล็กใน
หากเป็นมดงานมีรูปร่างหลายรูปแบบ
มดชนิดนี้ตื่นตัวมาก ปกติออกหากินเดี่ยวๆในตอนกลางคืน แต่ก็มีโอกาสพบในตอนกลางวันได้ เป็นมดที่ชอบกินน้ำหวาน แต่ก็กินแมลงและลูกนกได้ด้วย เป็นมดที่ค่อนข้างฉลาดในการล่าเหยื่อ ใช้ทั้งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการรวมกลุ่มกัน
เป็นมดที่มีนิสัยดุร้าย กัดเจ็บมากจนทำให้เลือดไหลได้ เนื่องจากกรามมีขนาดใหญ่ คม และแข็งแรง นอกจากนี้ยังสามารถปล่อยสารกรดส้มได้ หากถูกตาจะทำให้ระคายเคือง
สร้างรังในดินบริเวณโคนต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ตอไม้ หรือขอนไม้ เป็นรังขนาดใหญ่และซับซ้อนมาก มีหลายๆรังแบบเป็นเครือข่าย มีจำนวนประชากรมาก
พบอาศัยตามพื้นดินในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ และใช้เป็นดัชนีบ่งชี้สภาพป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์อีกด้วย
พบบริเวณอุโมงค์ปิยมิตร จ.ยะลา
แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- นกกินปลีคอสีน้ำตาล (ตัวเมียในวัยเด็ก)
ชื่อสามัญ : Brown-throated Sunbird ; Plain-throated Sunbird
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthreptes malacensis Scopoli, 1786
วงศ์ : NECTARINIIDAE
นกกินปลีคอสีน้ำตาล ตัวเมียในวัยเด็ก
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 13.5-14 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้ด้านข้างของหัวถึงหลังตอนบนมีสีเขียวแกมเหลืองจนถึงสีเขียวเข้มเหลือบเป็นมัน ข้างแก้มและคอสีน้ำตาล กลางคอจางหรือแกมขาวกว่าส่วนอื่น แถบหนวดและไหล่มีสีม่วงเหลือบเป็นมัน โคนปีกสีน้ำตาลแดง ตะโพกและขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีน้ำเงินแกมม่วงเหลือบเป็นมัน และมีลายแต้มเล็กน้อยสีเขียวบริเวณขนคลุมปีก ลำตัวด้านล่างสีเหลืองเข้ม หางสีเขียวคล้ำ นกตัวผู้ในช่วงเวลาที่ถูกแสงแดดจะมีสีสันสวยงาม แต่หากเกาะในที่ร่มครึ้มจะเห็นเป็นสีมืดๆที่มีท้องเหลืองเท่านั้น
ส่วนตัวเมียมีขนาดใหญ่ว่านกกินปลีอกเหลือง(Olive-backed Sunbird) ลำตัวด้านบนสีเหลืองแกมเขียว ลำตัวด้านล่างสีเหลืองแกมเขียวสด เหนือตาและใต้ตามีเส้นสีเหลืองอ่อนคล้ายวงตา แต่ไม่ต่อเนื่องกัน ปลายหางไม่มีสีจาง อาจมีสีขาวบริเวณขอบตอนปลายขนหาง
นกกินปลีคอสีน้ำตาล ตัวเมียในวัยเด็ก
มักพบเป็นคู่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแมลง นอกจากนี้ยังกินน้ำหวานจากดอกไม้ต่างๆอีกด้วย โดยเฉพาะน้ำหวานจากดอกมะพร้าว มันจะใช้ปากที่หนาและสั้น(เมื่อเทียบกับนกกินปลีชนิดอื่น)ง้างกลีบดอกมะพร้าวที่หนาออก แล้วใช้ลิ้นยาวๆของมันเลียกินน้ำหวาน หาอาหารด้วยการบินไปกะตามยอดไม้หรือดอกไม้ คอยจิกแมลงต่างๆที่มาตอมดอกไม้นั้น หรือใช้ปากสอดเข้าไปในดอกไม้เพื่อดูดกินน้ำหวาน
เสียงร้องแหลมก้องดัง ว่า“ชิป” และ“ชิป-ชิป-ชิป-ชิป-ชิป”
นกกินปลีคอสีน้ำตาล ตัวเมียในวัยเด็ก
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปกระเปาะตามกิ่งก้านของพุ่มไม้ที่อยู่สูงจากพื้นดินไม่มากนัก โดยรังด้านหัวและท้ายเรียว ตรงกลางป่อง ตอนท้ายอาจมีลักษณะคล้ายหางยื่นยาวออกไป มีทางเข้าออกรังอยู่ทางด้านข้าง วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยต้นหญ้า ใบหญ้า และใบไม้ โดยเชื่อมเข้ากันด้วยใยแมงมุม ภายในรังอาจรองพื้นด้วยดอกหญ้าและวัสดุอ่อนนุ่มต่างๆเพื่อรองรับไข่ วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ไข่สีชมพู มีลายขีดสีเทาและลายจุดสีดำค่อนข้างหนาแน่น ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 1.40 x 1.80 ซม. เฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่หาวัสดุและสร้างรังทั้งหมด ส่วนตัวผู้จะคอยป้องกันอาณาเขตไม่ให้ตัวอื่นๆเข้าไปรบกวนหรือแย่งวัสดุทำรัง แต่ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
ชื่อชนิด malacensis เป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ เมือง Malacca ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก
นกกินปลีคอสีน้ำตาล ตัวเมียในวัยเด็ก
ทั่วโลกพบ 17 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ Anthreptes malacensis malacensis Scopoli ชื่อชนิดย่อยมีที่มาเช่นเดียวกับชื่อชนิด
พบอาศัยอยู่ตามพื้นราบ สวนสาธารณะ สวนผลไม้ พื้นที่เกษตรกรรม ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าชายหาด และป่าละเมาะ ในอดีตพบเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่ปัจจุบันพบได้ทุกภาค โดยพบประปรายในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก
พบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในจีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. ผีเสื้อสีตาลจุดตาสี่ธรรมดา
ชื่อสามัญ : Common Four-ring
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Yphtma huebneri Kirby, 1871
วงศ์ย่อย : SATYRINAE
วงศ์ : NYMPHALIDAE
ผีเสื้อสีตาลจุดตาสี่ธรรมดา
ขนาด(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) 2.5-3 ซม.
ปีกด้านบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดวงกลมที่มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้า 1 จุด และมีจุดวงกลมขนาดเล็กแต่ต่างขนาดกันที่ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลัง 2 จุด
ปีกด้านล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาล มีลายหยาบๆ มีจุดวงกลมขนาดใหญ่ที่ปีกคู่หน้า 1 จุด ในตำแหน่งเดียวกับปีกบน(แต่มีขนาดใหญ่กว่า) และในปีกคู่หลังบริเวณตามแนวขอบปีกด้านข้างมีจุดขนาดเล็กเรียงติดกัน 3 จุด และห่างออกไปอีก 1 จุด
ช่วงระยะตัวหนอนจะกินใบหญ้าเป็นอาหาร
ชอบเกาะตามพื้นในที่ร่ม โดยพบมากในป่าไผ่
พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค
พบบริเวณริมแปลงปลูกผักน้ำเบตง จ.ยะลา
แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
- นกกาน้ำเล็ก
ชื่อสามัญ : Little Cormorant
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microcarbo niger Vieillot, 1817
ชื่อพ้อง : Phalacrocorax niger Vieillot, 1817
วงศ์ : PHALACROCORACIDAE
นกกาน้ำเล็ก
ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น มีบางส่วนเป็นนกอพยพ มีขนาด 50-54.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีขนาดเล็กกว่านกกาน้ำชนิดอื่น ปากยาวเพียง 3-4 ซม. สีเทาแกมเนื้อ ปลายปากเป็นขอเล็กน้อย บริเวณรอบตามีจุดสีขาวขนาดเล็ก คอสั้น มีถุงใต้คางขนาดเล็กสีขาวหรือสีครีม ขนลำตัวสีน้ำตาลดำเหลือบน้ำเงิน ปีกสั้นกว้างแต่แข็งแรง ปีกและขอบขนปีกสีน้ำตาลแกมเทา ปีกยาวไม่เกิน 23 ซม. ปลายปีกมน หางค่อนข้างยาว สีน้ำตาลแกมดำ ปลายหางมน ขาค่อนข้างสั้น เท้ามีพังผืดยึดระหว่างนิ้วคล้ายกับเป็ด โดยยึดตลอดทั้ง4นิ้ว(เป็ดมีพังผืดเพียง3นิ้ว)
ตัวไม่เต็มวัยนั้นลำตัวมีสีจางออกไปทางน้ำตาล คอจนถึงอกตอนบนมีสีขาว ขนคลุมขนปีกสีเทา และปากสีเหลืองปนเทา
ช่วงฤดูผสมพันธุ์บริเวณหัว คอ และลำตัวด้านบนมีสีดำเหลือบน้ำเงินและเขียวเป็นมัน กระหม่อม ขนคลุมหู ท้ายทอย และลำตัวด้านบนมีขนสีขาวแซมเป็นเส้นเล็กๆ ปากเปลี่ยนเป็นสีดำ ถุงใต้คางเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม
บินออกจากรังหรือกลับรังจะบินเป็นฝูง โดยรูปแบบบินจะเป็นรูปหัวลูกศร รูปแถวหน้ากระดาน หรือรูปแถวตอน เป็นนกที่บินได้เก่งและแข็งแรง ขณะบินจะเหยียดคอตรงไปข้างหน้า
ช่วงหาอาหารอาจพบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูง สามารถว่ายน้ำได้คล่องแคล่ว ชอบดำน้ำไล่จับปลาเป็นอาหารโดยใช้ปาก เมื่อจับปลาได้ก็จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อจัดตัวปลาให้อยู่ในลักษณะที่กลืนกินปลาทั้งตัวได้ง่าย เมื่อหาปลาจนอิ่มแล้วก็จะขึ้นมายืนเกาะตามตอไม้หรือกิ่งไม้ แล้วกางปีกผึ่งแดดและไซร้ขนให้แห้ง เพราะไม่มีต่อมน้ำมันที่ขนเหมือนเป็ด ขณะที่เกาะนั้นถุงใต้คางมักจะสั่นอยู่ตลอดเวลา
นอกจากปลาที่เป็นอาหารหลักแล้ว ยังพบกินกบ เขียด กุ้ง แมลง และพืชน้ำบางชนิด โดยเฉพาะสาหร่าย
แต่จะเป็นนกที่งุ่มมากเมื่อเดินตามพื้นดิน
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม ทำรังรวมกันเป็นฝูงใหญ่บนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งอาจจะทำรังร่วมกับนกอื่นๆ เช่น นกยางเปีย นกกาน้ำปากยาว นกอ้ายงั่ว และนกแขวก เป็นต้น รังสร้างขึ้นอย่างหยาบๆ ด้วยกิ่งไม้เล็กๆและกิ่งไผ่มาเรียงซ้อนทับกันคล้ายถ้วย ปูพื้นรองรังด้วยใบไม้หรือหญ้าสด รังมีขนาด 10-15 ซม. แอ่งตรงกลางรังลึกราว 4-7 ซม. รังอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากนกจะคอยเสริมสร้างรังเรื่อยๆเมื่อวัสดุเก่าผุพังลง วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ไข่รูปรียาว สีเขียวอมฟ้าจางๆจนเกือบเป็นสีขาว และมักมีผงขาวคล้ายผงชอล์กปกคลุม ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่(ใช้เวลาราว 22-26 วัน) และเลี้ยงดูลูกอ่อน
ลูกนกจะเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง ด้วยการใช้ฟันเจาะออกมา เมื่อออกมาจากไข่ใหม่ๆ ยังไม่มีขนคลุมตัว ยังไม่ลืมตา และขายังไม่แข็งแรง ผิวหนังตามลำตัวและขามีสีน้ำตาลเข้ม หัว ปาก และผังพืดนิ้วมีสีชมพูปนเหลืองอ่อน เมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ จะเริ่มมีขนอุยตามลำตัวด้านบน เมื่ออายุได้ 5 สัปดาห์ จะเริ่มมีขนอุยขึ้นที่หัวและมีขนแข็งปกคลุมร่างกาย พร้อมทั้งเริ่มหัดบินระยะใกล้ๆ
นกกาน้ำเล็ก
ช่วงที่ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่นกจะหาอาหารมาป้อน ด้วยการสำรอกอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาที่ย่อยแล้วมาไว้ที่โคนปากของตนแล้วอ้าขึ้น ลูกนกก็จะสอดปากหรือมุดหัวเข้าไปในปากพ่อแม่เพื่อจิกกินอาหาร จวบจนลูกนกเดินหรือยืนได้แล้ว พ่อแม่นกก็จะสำรอกอาหารทิ้งไว้ที่พื้นรัง บางครั้งก็เป็นปลาทั้งตัว เพื่อให้ลูกๆจิกกินเอง เมื่อมีอายุได้ 1 ปี ก็จะเป็นตัวเต็มวัยที่สามารถผสมพันธุ์ได้
พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีนั้น นกตัวเมียจะเลือกทำเลที่สร้างรัง แล้วกางปีกทั้งสองข้างออกเล็กน้อย แต่ปีกจะตกลงทางด้านข้างของลำตัว ขนหางแผ่กว้างและยกตั้งขึ้น ส่วนคอยืดตั้งตรงแล้วผงกหัวลงพร้อมกับเปล่งเสียงร้อง เมื่อนกตัวผู้บินเข้ามาหาตัวเมียแล้วใช้ปากไซร้ขนให้ตัวเมีย หากตัวเมียไซร้ขนตอบให้ตัวผู้ก็เป็นอันตกลง ตัวผู้ก็จะบินจากไปชั่วครู่ แล้วบินกลับมาข้างตัวเมีย ก่อนทำการผสมพันธุ์กันหลายครั้ง จากนั้นตัวผู้ก็จะบินออกไปหาวัสดุมาทำรัง ส่วนตัวเมียจะรออยู่ที่เดิมราวกับทำการจับจองพื้นที่เพื่อไม่ให้นกตัวอื่นมาแย่ง เมื่อตัวผู้นำวัสดุสร้างรังกลับมาก็จะช่วยกันสร้างรัง
ชื่อชนิด niger เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า nig,-el,=er,-ra,-resc,-ri,-ro แปลว่า สีดำ ความหมายก็คือ“นกที่มีลักษณะคล้ายอีกาที่มีสีดำ” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
พบอาศัยตามหนอง บึง แม่น้ำ ทะเลสาบ แหล่งน้ำต่างๆ ท้องนา และป่าชายเลน ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคกลาง
พบบริเวณทางเดินป่าชายเลน ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จ.ปัตตานี
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
6. นกปรอดหัวโขน ชนิดย่อย pattani
ชื่อท้องถิ่น : นกกรงหัวจุก , นกปรอดหัวโขนเคราแดง , นกพิชหลิว
ชื่อสามัญ : Red-whiskered Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus jocosus Linnaeus, 1758
วงศ์ : PYCNONOTIDAE
นกปรอดหัวโขน ชนิดย่อย pattani
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 18-20.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวสีดำและมีหงอนขนสีดำเป็นพุ่มตั้งบนหัว แก้มสีขาวและมีแต้มสีแดงที่หลังตา แถบหนวดและข้างอกสีดำ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมดำ คอและลำตัวด้านล่างสีขาว อกด้านข้างมีลายแถบสีน้ำตาล หางสีน้ำตาลดำ ปลายหางสีขาว ก้นสีแดง
ตัวเต็มวัยของชนิดนี้ต่างจากนกปรอดหัวสีเขม่า(Sooty-headed Bulbul) ตรงที่มีหงอนเป็นพุ่มตั้งบนหัว แก้มสีขาว มีแต้มสีแดงที่หลังตา ไม่มีลายพาดสีจางบริเวณขนคลุมโคนขนหางด้านบน ขนหางคู่นอกมีลายแถบสีขาวตอนปลาย
นกวัยอ่อนมีหงอนสั้น หัวและคอสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีแต้มสีแดงที่หลังตา และก้นสีชมพู
ปกติพบเป็นคู่ แต่ก็อาจพบเป็นฝูงได้ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ อาจพบอยู่รวมกับนกปรอดชนิดอื่น หากินตามกิ่งก้านและยอดไม้ บางครั้งก็ลงมายังพื้นดิน อาหารได้แก่ ผลไม้ หนอน และแมลงต่างๆ สำหรับผลไม้ที่มีขนาดเล็ก เช่น ไทร หว้า และตะขบ จะใช้ปากเด็ดจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล แต่หากเป็นผลไม้ขนาดใหญ่เกินกว่าจะกลืนกินทั้งผลได้ ก็จะใช้ปากจิกกินผลไม้สุก โดยจิกกินทีละชิ้น ส่วนหนอนและแมลงจะจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม แต่อาจพบได้เกือบตลอดทั้งปี ทำรังตามง่ามไม้ของพุ่มไม้เตี้ยๆ ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก แต่บางครั้งก็พบทำรังตามต้นไม้ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ รังเป็นรูปถ้วยเล็กๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ขนาดเล็ก ใบไม้แห้ง ต้นหญ้า และใบหญ้า อาจเชื่อวัสดุให้ติดกันด้วยใยแมงมุม ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
นกปรอดหัวโขน ชนิดย่อย pattani
วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง โดยวางไข่แต่ละฟองในทุกๆ 24 ชั่วโมง ปกติจะวางไข่ในตอนเช้าตรู่ ไข่สีชมพู มีลายจุด ลายขีด และลายดอกดวงสีม่วง สีแดง และสีน้ำตาลแดง โดยเฉพาะบริเวณไข่ด้านป้าน ใช้เวลาฟักไข่ 12-14 วัน ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆจะไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อนกและแม่นกจะช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อมีอายุได้ 14-16 วัน ก็จะเริ่มบินได้ จากนั้นจะทิ้งรังไป แต่ยังคงอาศัยและหากินร่วมกับพ่อแม่อยู่อีกระยะหนึ่ง ก่อนแยกจากไปหากินเอง
เสียงร้องไพเราะก้องกังวาน ดังว่า“วิ่ดวิ่ด-ปิ๊ด-จะลิ่ว” หรือ“วิด-ตี-วีด” หรือ“พิช-หลิว” โดยร้องซ้ำๆกัน จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก และมีการประกวดเสียงร้องของนกชนิดนี้เสมอในภาคใต้ของไทย โดยจะมีการประกวดในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม แล้วแต่พื้นที่ นอกจากนี้ก็เริ่มมีการประกวดฯในพื้นที่บางแห่งของภาคเหนือด้วย
ชื่อชนิด jocosus เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ iocosus แปลว่า รื่นเริง สนุกสนาน หรือตลกขบขัน ความหมายก็คือ“นกที่ไม่ชอบอยู่นิ่งกับที่” หรือ“นกที่มีแก้มสีแดงคล้ายกับตัวตลก” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศจีน
นกปรอดหัวโขน ชนิดย่อย pattani
ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย emeria Linnaeus ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ emer,-o แปลว่า สัตว์เลี้ยง หรือทำให้เชื่อง ความหมายก็คือ“นกที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองเบงกอล ประเทศอินเดีย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้เฉพาะภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย pattani Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ จังหวัดปัตตานี ประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบครั้งแรกของโลก ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตก
พบอาศัยตามสวนผลไม้ สวนใกล้ชุมชน ชายป่า พื้นที่เกษตรกรรม ป่าเบญจพรรณ พื้นที่เปิดโล่งในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,800 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
- นกตีนเทียน
ชื่อสามัญ : Black-winged Stilt
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Himantopus himantopus Linnaeus, 1758
วงศ์ : RECURVIROSTRIDAE
นกตีนเทียน
ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีบ้างที่เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 35-40 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากบางและยาวเรียวแหลม มีสีดำ คอยาวปานกลาง ปีกยาวแหลมสีดำ หางยาวปานกลาง ขายาวมากเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว ขาและนิ้วตีนสีแดง สีชมพู หรือสีชมพูอมแดง แต่ละขามี4นิ้ว เหยียดไปข้างหน้า3นิ้ว และข้างหลัง1นิ้ว ซึ่งนิ้วหลังจะมีขนาดสั้นและมักอยู่ในระดับที่สูงกว่านิ้วหน้าทั้ง3นิ้ว ขณะบินจะเห็นสีขาวของขนคลุมโคนขนหางด้านบนและตะโพกเป็นรูปลิ่ม ตัดกับสีของปีกที่มีสีดำ ขาและนิ้วตีนเหยียดตรงยื่นยาวออกไปจากปลายหางมาก
ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันต่างกันเล็กน้อย โดยตัวผู้มีหัว คอ และลำตัวสีขาว บางตัวอาจมีสีดำที่หัวและท้ายทอยในรูปแบบแตกต่างกัน ในช่วงฤดูหนาวจะมีกระหม่อมและใบหน้ามีสีเทาเข้ม ตัวผู้ที่ยังไม่เต็มวัยนั้นส่วนท้ายของกระหม่อมและคอด้านบนเป็นสีดำ
ส่วนตัวเมียมีลำตัวด้านบนสีดำแกมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลเข้ม หัวและท้ายทอยมีสีเทาหม่น ช่วงวัยอ่อนมีกระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำตาลแกมเทา ลำตัวด้านบนและปีกสีน้ำตาลแกมเทา และมีลายเกล็ดจากขอบบนเป็นสีน้ำตาลอ่อน
ตัวไม่เต็มวัยทั่วๆไปมีลักษณะคล้ายกับตัวเมีย แต่กระหม่อมและคอตอนท้ายเป็นสีเทา ปลายของขนกลางปีกมีลายแถบสีขาว ขาและนิ้วตีนสีทึบ ไม่เป็นสีแดงหรือสีชมพูเหมือนตัวเต็มวัย
ช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้นตัวผู้มักมีหัวสีขาวโพลน ส่วนตัวเมียมีหลังสีอ่อนกว่าตัวผู้เล็กน้อย
เป็นนกที่หากินและมีกิจกรรมต่างๆในตอนกลางวัน ปกติมักพบโดดเดี่ยว ในช่วงฤดูผสมพันธุ์อาจพบเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม พบหากินทั้งบนบก ดินเลน ชายน้ำ หรือในแอ่งน้ำที่น้ำลึกถึงท้อง อาหารได้แก่ ปลา กุ้ง ปู หอย แมลง และหนอน ด้วยการเดินไล่จิก หรือใช้ปากชอนไชไปตามน้ำ เป็นนกที่บินได้ดี เมื่อมีศัตรูหรือสิ่งรบกวนจะบินหนี และส่งเสียงร้อง
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน ทำรังอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆบนหญ้าหรือเนินดินใกล้ๆกับแหล่งน้ำ ด้วยการขุดดินเป็นแอ่งตื้นๆ แล้วปูด้วยเศษหญ้าตรงกลางแอ่งเพื่อรองรับไข่ แต่ละรังจะอยู่ห่างกันประมาณ 5-7 เมตร วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ไข่รูปร่างเรียยาว ขนาดไข่โดยเฉลี่ย 3.10 x 4.40 ซม. ไข่มีสีพื้นเป็นสีเขียวเข้มหรือสีน้ำตาล มีจุดหรือลายสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงทั่วทั้งฟองไข่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ระยะเวลาฟักไข่ 25-26 วัน ลูกนกที่ออกมาใหม่ๆจะมีขนอุยคลุมตัว เมื่อขนแห้งก็สามารถยืนและเดินได้ พอลูกนกออกจากไข่ครบทั้งรังแล้ว พ่อแม่นกก็จะพาเดินหาอาหาร เมื่อลูกนกมีอายุได้ 30-40 วัน ก็จะแข็งแรงหรือบินได้ดี ก่อนแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง หรือรวมกับนกตัวอื่นๆเป็นฝูง
มีพฤติกรรมน่าสนใจในการหลอกล่อสัตว์นักล่าที่เข้ามาใกล้รังให้ถอยออกไป โดยมันจะบินวนเวียนไปมาและส่งเสียงร้อง ก่อนแกล้งร่อนลงมาเอาปีกฟาดกับพื้นราวกับว่า“ปีกหัก”ในจุดที่ห่างออกไปจากรัง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจศัตรูให้ตามไป พฤติกรรมแกล้งบาดเจ็บแบบที่ว่านี้ยังพบได้ในเครือญาตินกชายเลนอีกหลายชนิดด้วย
เสียงร้องซ้ำๆหลายครั้ง ดังว่า“กิก-กิก-กิก” หรือ“กิ๊ก-กิ๊ก-กิ๊ก”
ชื่อชนิด himantopus มีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อสกุล โดยพบครั้งแรกของโลกบริเวณยุโรปตอนใต้
พบอาศัยตามทุ่งนา นาเกลือ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน และชายฝั่งทะเล ชนิดที่เป้นนกอพยพจะพบทางทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนชนิดที่เป็นนกประจำถิ่นจะพบทางภาคภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
พบบริเวณทางเดินป่าชายเลน ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จ.ปัตตานี
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกา
- กระรอกข้างลายท้องแดง
ชื่อสามัญ : Plantain Squirrel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Callosciurus notatus Boddaert, 1785
วงศ์ย่อย : SCIURINAE
วงศ์ : SCIURIDAE
กระรอกข้างลายท้องแดง
เป็นกระรอกขนาดค่อนข้างเล็ก มีขนาด 17.5-22.5 ซม.(วัดจากปลายจมูกถึงรูทวาร) เท้าหลังยาว 4.2-5.2 ซม. หางยาว 16-21 ซม. น้ำหนัก 150-280 กรัม เพศเมียมีเต้านม 3 คู่ ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว มีอายุประมาณ 9 ปี
กระรอกข้างลายท้องแดง
ลำตัวสีน้ำตาลแกมสีเขียว และมีแถบแคบสีเนื้อออกขาวและสีดำอยู่ข้างลำตัวค่อนไปทางท้อง และต่างจากกระรอกข้างลายท้องเทา(Black-striped Squirrel) คือ มีท้องเป็นสีแดง หางมีจุดด่างสีดำและสีเขียวไพร ปลายหางสีแดง ซึ่งจะมองเห็นชัดเจนถ้ามองจากด้านล่าง
ปกติออกหากินในเวลากลางวัน มีกิจกรรมมากในช่วงเวลาเช้ามืดและบ่ายแก่ๆ อาศัยอยู่บนต้นไม้มากกว่าพื้นดิน
กระรอกข้างลายท้องแดง
เสียงร้องแหลมดังเป็นจังหวะถี่ๆว่า“จิ๊บๆ” พร้อมกระดกหางขึ้นลงถี่ๆตามจังหวะการร้อง
อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ นอกจากนี้ยังกินไข่นก และแมลงขนาดเล็ก ทั้งนี้มีรายงานของนักวิชาการบางท่านระบุว่าพบแทะเปลือกไม้เพื่อกินยางของต้นไม้บางชนิดด้วย
กระรอกข้างลายท้องแดง
พบอาศัยอยู่ตามสวนผลไม้ ป่ารุ่นสอง สวนป่า ชายป่าดิบชื้น และป่าชายเลน ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา
พบบริเวณวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส
แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
9. นกเอี้ยงสาริกา
ชื่อสามัญ : Common Myna
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acridotheres tristis Linnaeus, 1766
ชื่อพ้อง : Sturnus tristis ssp. tristis Christidis and Boles 2008
วงศ์ : STURNIDAE
นกเอี้ยงสาริกา
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 24.5-27 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) เป็นนกชนิดเดียวในสกุลนี้ที่ขนคลุมขนปีกด้านล่างมีสีขาว
หัว คอหอย และอกตอนบนสีดำแกมน้ำตาล ปากและหนังรอบตาสีเหลือง ตาสีแดงจนถึงสีน้ำตาลแดง ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม กลางท้องและก้นสีขาว ขนปีกบินสีดำและมีแถบสีขาว ขณะบินใต้ปีกสีขาว ปีกบนมีแถบสีขาวเป็นวงใหญ่ ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างมีสีขาว แข้งและตีนสีเหลือง ในช่วงวัยอ่อนนั้นหัวและอกมีสีน้ำตาล บางตัวหัวอาจล้านจนเห็นหนังสีเหลือง
เสียงร้องแหบดังก้องกังวาน และร้องเสียงสูงต่ำได้หลายแบบเช่นเดียวกับนกเอี้ยงหงอน
มักพบเป็นคู่ หรืออยู่เป็นฝูง มักพบอยู่ร่วมกับนกกิ้งโครงคอดำ นกเอี้ยงด่าง และนกเอี้ยงหงอน โดยเกาะตามสายไฟฟ้า หลังคาบ้าน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ มักหากินในตอนเช้าก่อนเที่ยง และในช่วงบ่ายๆ ส่วนกลางวันจะเกาะพักผ่อนหรือหลบซ่อนตามกิ่งไม้ที่มีใบไม้หนาแน่น
หากินส่วนใหญ่ตามพื้นดินและตามกิ่งก้านบนต้นไม้ มักเดินตามพื้น กระโดด หรือเกาะบนหลังสัตว์เลี้ยงจำพวกวัวควาย เมื่อตกใจหรือมีสิ่งรบกวนจะบินไปทั้งฝูงแล้วกลับมาเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้หรือพื้นดินที่เดิม
อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ หนอน แมลง สัตว์ขนาดเล็ก และธัญพืช นอกจากนี้ยังกินผลไม้อีกด้วย ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์มักพบหาที่หลับนอนตอนค่ำตามต้นไม้ ชายคาบ้าน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งกว่าจะหลับนอนกันได้ จะเกิดการแก่งแย่งที่เกาะกัน ด้วยการส่งเสียงร้องดังเซ็งแซ่ แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์เสียงเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่มากนัก เพราะต่างแยกย้ายกันไปทำรัง การแก่งแย่งที่หลับนอนจึงมีน้อย
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน นกคู่หนึ่งจะทำรังวางไข่ 2-3 รัง ในแต่ละปี ซึ่งพฤติกรรมนี้เหมือนกับนกกิ้งโครงคอดำ และนกเอี้ยงด่าง ทำรังในสถานที่เดิมๆทุกปีตามชายคาบ้าน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ง่ามไม้ หรือตามโพรงไม้ วัสดุทำรังได้แก่กิ่งไม้ขนาดเล็ก ใบไม้ ใบหญ้า และอื่นๆ มาวางซ้อนทับกัน หรือแทรกเข้าไปในหลืบ หรือแทรกเข้าไปในโพรง
วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ไข่สีน้ำเงิน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 17-18 วัน ลูกนกแข็งแรงและบินได้ใช้เวลา 22-24 วัน จากนั้นจะแยกจากพ่อและแม่ไปหากินตามลำพัง ส่วนพ่อนกแม่นกก็จะวางไข่ครั้งใหม่ในรังเก่าหรือรังใหม่
ชื่อชนิด tristis เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ trist,-i แปลว่า เศร้า หรือมัวหมอง หรือสีไม่สดใส ความหมายก็คือ“นกที่มีสีไม่สดใส” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย tristis Linnaeus ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด
พบได้ตามชุมชน สวนสาธารณะ พื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งหญ้า สองข้างทางริมถนน พื้นที่เปิดโล่ง ตลอดจนในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,525 เมตร ทั่วทุกภาค เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยมาก
พบบริเวณวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอัฟกานิสถานจนถึงจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้